พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 86


    ตอนที่ ๘๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะมีการฟังเรื่องราวก่อน แล้วก็รู้ว่าฟังอย่างไร ต่อไปอย่างไรก็ไม่พ้นจากการที่จะเข้าใจตัวจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนี้ก็เป็นการฟังเรื่องสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ให้เข้าใจขึ้นว่าเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของใคร มีจริงๆ เกิดแล้วปรากฏ แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    ผู้ฟัง ขอคำอธิบายเกี่ยวกับธาตุ เท่าที่เคยทราบว่า ธรรมก็คือธาตุ ที่พอจะรู้จักก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ แต่คิดว่าน่าจะมีธาตุอื่นอีกมากกว่านี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความเข้าใจที่แท้จริงว่า คำว่า “ธาตุ” กับคำว่า “ธรรม” หมายถึงสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะอย่าง สภาพธรรมที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เลือกไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ว่าธาตุกับธรรมก็คืออย่างเดียวกัน เพียงแต่ว่าจะใช้คำไหนให้เข้าใจลักษณะนั้น คุณสุกัญญากล่าวว่ารู้จักธาตุ จำนวนเท่าไร

    ผู้ฟัง ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธาตุ โลภะธาตุ โทสะธาตุ จักขุธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โทสะธาตุ ผัสสธาตุ เวทนาธาตุ ทุกอย่างเป็นธาตุเหมือนกันหมด มีแสดงในพระไตรปิฎกครบถ้วน กล่าวถึงธาตุทุกอย่างโดยทุกชื่อได้ ทางตามีธาตุอะไรบ้าง ทางหูมีธาตุอะไรบ้าง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผู้ฟัง จักขุธาตุยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นธาตุได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ แต่มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง อยู่ที่ตา

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ เกิดดับหรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ เป็นธาตุที่เกิดดับ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็ คือ "สังขตธาตุ" ทุกอย่างที่เราเข้าใจ และได้ยินคำนั้นไม่เปลี่ยน คำว่า “สังขต” คือ สภาพธรรมซึ่งเกิดดับก็เป็นธรรม สังขตธรรม สังขตธาตุ ทุกอย่างที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นจักขุมีจริง เกิดดับด้วย จักขุเป็นธาตุหรือไม่

    ผู้ฟัง มีจริง ก็คือธาตุ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทุกอย่างเป็นความรู้ความเข้าใจของเราที่ต้องมั่นคง มิฉะนั้นแล้วเวลาที่ไปพบข้อความอื่น ก็อาจจะเกิดความสงสัยว่า เป็นธาตุหรือไม่ ความจริงทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม ก็คือเป็นธาตุนั่นเอง

    ผู้ฟัง ปรมัตถธรรม ๔ ก็เป็นธาตุทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ปรมัตถธรรม ๔ ที่ไม่ใช่ธาตุมีไหม อาจมีการศึกษาชื่อกับจำนวนแต่ไม่ได้เข้าใจอรรถ หรือความหมาย หรือลักษณะของสภาพธรรมของคำนั้นเลย แต่ถ้าเข้าใจสภาพธรรมของธรรมนั้นว่าเป็นสิ่งซึ่งมี ปฏิเสธไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ จะใช้คำว่าอะไร ทรงใช้คำว่าธาตุ (ธา + ตุ) เพื่อให้รู้ว่าเป็นธรรมซึ่งมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ จะใช้คำว่าธรรมก็ได้ หรือธาตุก็ได้

    ผู้ฟัง เวทนาก็มีจริง จะเรียกได้ไหมว่าเวทนาธาตุ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แล้วถ้าโดยนัยของธาตุ ๑๘ เป็นอะไร ธาตุ ๑๘ จักขุเป็นธาตุหนึ่ง รูปธาตุที่กำลังปรากฏมีจริงๆ เป็นอีกธาตุหนึ่ง จักขุวิญญาณเป็นธาตุที่เห็น ถึงแม้สีสันวัณณะมี แต่ถ้าไม่มีจักขุวิญญาณ สีสันวัณณะจะปรากฏไหม ไม่ปรากฏเลย ที่ทุกคนรู้ว่ามีเพราะกำลังปรากฏโดยจักขุวิญญาณธาตุ เห็น ไม่ใช่เราเห็น และก็ต้องอาศัยจักขุธาตุซึ่งเป็นจักขุปสาทรูปด้วย ๓ ธาตุทางตา ส่วนทางหู ก็มี ๓ ธาตุเหมือนกัน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รวมเป็น ๑๕ ธาตุ แต่จิตไม่ได้มีเพียงแค่จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ยังมีจิตอื่นอีกเป็นมโนธาตุ ๓ สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ จักขุวิญญาณเป็นธาตุที่สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา โสตวิญญาณก็สามารถได้ยินเสียง ฆานวิญญาณก็ทำอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากได้กลิ่น ชิวหาวิญญาณก็ทำกิจลิ้มรส กายวิญญาณก็รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส บางคนบอกว่าไม่ชอบภาษาบาลี ไม่คุ้นเคยกับภาษาบาลี ไม่ใช้ภาษาบาลีก็ได้ แต่ยากเพียงไหนที่จะจำเพียงคำว่า จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ ค่อยๆ จำไปทีละน้อย จักขุวิญญาณ (จิตเห็น) โสตวิญญาณ (จิตได้ยิน) ฆานวิญญาณ (จิตได้กลิ่น) ชิวหาวิญญาณ (จิตลิ้มรส) กายวิญญาณ (จิตรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัส)

    สำหรับมโนธาตุ ๓ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ และ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ โดยที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต ๑ สัมปฏิจฉันนะเป็นวิบากจิต ๒ คือกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ สามารถจะรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ นี่ก็คือความต่างของจิตซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานเป็นปกติในชีวิตประจำวันเป็นมโนธาตุ ๓ เพราะต่างกับจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ เพราะสามารถจะรู้อารมณ์ได้ ๕ และยังมีจิตที่สามารถจะรู้อารมณ์ทางใจด้วย เพราะว่าสำหรับปัญจทวาราวัชชนจิต กับสัมปฏิจฉันนจิตสามารถจะรู้อารมณ์ทางปัญจทวารเท่านั้น ไม่สามารถจะรู้อารมณ์ทางใจได้เลย แต่จิตที่รู้อารมณ์ทางใจด้วยเป็น" มโนวิญญาณธาตุ" รวม ๑๗ ธาตุแล้ว ยังมีอีกหนึ่ง คือ ธรรมอื่นที่เหลือทั้งหมด เช่น เวทนา สัญญา หรืออะไรก็ตาม เป็น "ธัมมธาตุ" ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่าเมื่อเป็นธรรมแล้วก็ต้องเป็นธาตุ ถ้าไม่ใช่ธาตุที่กล่าวมาแล้ว ก็เป็นธัมมธาตุ คือประมวลไว้หมดเลยที่เหลือ นี่คือความเข้าใจของเราที่จะต้องเป็นความเข้าใจที่มั่นคง ว่าธาตุกับธรรมก็คืออย่างเดียวกัน แล้วแต่ว่าจะแสดงโดยนัยไหน

    ผู้ฟัง มโนวิญญาณธาตุคือ

    ท่านอาจารย์ คือ จิตที่เหลือจากจิตที่กล่าวแล้ว จิตที่กล่าวแล้วทั้งหมดมี ๑๓ แล้ว คือ จักขุวิญญาณ ๒ โสตวิญญาณ ๒ ฆานวิญญาณ ๒ ชิวหาวิญญาณ ๒ กายวิญญาณ ๒ มโนธาตุ ๓ ที่เหลือนอกจากนี้ คือ มโนวิญญาณธาตุ

    ผู้ฟัง เจตสิกต้องเป็นธัมมธาตุ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง พระธรรมคืออย่างนี้ จริงอย่างนี้ แสดงไว้อย่างนี้ จะไปดูในพระไตรปิฎกทั้งหมดไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น อาจจะขยายความโดยนัยต่างๆ เพิ่มเติมให้เข้าใจขึ้น แต่พื้นฐานต้องเป็นความเข้าใจของเราที่มั่นคงจริงๆ

    นิพพานเป็นธาตุอะไรใน ๑๘ อย่าง ธรรมธาตุ เป็นจักขุธาตุไม่ได้ โสตธาตุไม่ได้ ฆานธาตุไม่ได้ เป็นมโนธาตุไม่ได้ มโนธาตุได้แก่จิต ๓ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ เพราะสามารถที่จะรู้อารมณ์ทางปัญจทวารได้ แต่เกิดที่หทยวัตถุ และรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์

    ความต่างของธาตุที่ทรงแสดงว่าต่างกันโดยนัยนี้ จักขุวิญญาณคือเห็นเท่านั้นเอง ทำอะไรก็ไม่ได้ กุศลจิต อกุศลจิต ไม่ใช่จิตเห็น จิตเห็นทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป

    กุศลจิตเป็นธาตุอะไร มโนวิญญาณธาตุ จิตที่รู้อารมณ์ได้อย่างเดียว จักขุวิญญาณ ๒ (เห็นอย่างเดียว) โสตวิญญาณ ๒ (ได้ยินอย่างเดียว) ฆานวิญญาณ ๒ (ได้กลิ่นเท่านั้น) ชิวหาวิญญาณ ๒ (ลิ้มรสอย่างเดียว) กายวิญญาณ ๒ (รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสอย่างเดียว) เท่านั้นเอง อย่างละหนึ่งๆ กิจ แต่สำหรับมโนธาตุมี ๓ ดวง หรือ ๓ ประเภทที่รู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ทาง ๕ ทวาร คือปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ จิตที่เหลือทั้งหมดเป็นมโนวิญญาณธาตุ

    ทุกอย่างเป็นธาตุจริง แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมคือจิต สำหรับจิตจะมีกี่ธาตุนับแล้ว ๗ ธาตุ เพราะฉะนั้นจะใช้คำวิญญาณธาตุ ๗ ก็ไม่ผิด เพราะนับแล้วคือ จักขุวิญญาณ ๑ โสตวิญญาณ ๑ ฆานวิญญาณ ๑ ชิวหาวิญญาณ ๑ กายวิญญาณ ๑ มโนธาตุ ๑ และมโนวิญญาณธาตุ ๑ รวมวิญญาณธาตุ ๗ ถ้ามีความเข้าใจจะกล่าวโดยนัยอะไรก็ไม่ได้เข้าใจผิดหรือว่าคลาดเคลื่อน

    ผู้ฟัง ความหมายของคำว่า “ธาตุ” ในชีวิตประจำวัน มีลักษณะใดบ้างที่กล่าวว่าเป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ แม้ว่าเราจะได้ฟังคำแปลในภาษาบาลี คำอธิบายในภาษาไทย ให้เข้าใจว่าปรมัตถธรรมมี ๔ เป็นธาตุ ศึกษาธรรมกับศึกษาเรื่องธาตุเหมือนกันไหม เหมือนกัน นี่คือความเข้าใจของเราจริงๆ ซึ่งจะไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ากล่าวถึงรูปธาตุมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ นามธาตุ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีธาตุอะไร เราอาจจะไปหาชื่อ เพราะเราได้ยินมา แต่ความจริงถ้าเราเข้าใจว่าไม่มีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุเลย ถ้ามีลักษณะจริงๆ เกิดขึ้นปรากฏก็คือธาตุแต่ละชนิดนั่นเอง ก็ไม่ต้องไปหาธาตุที่ไหนถ้าเข้าใจอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ก็มี เรากำลังฟังเรื่องธรรม เรากำลังฟังเรื่องธาตุ เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ว่า ขณะนี้จักขุวิญญาณ จิตเห็นประเภทหนึ่ง ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต ไม่ใช่สัมปฏิจฉันนจิต ไม่ใช่มโนวิญญาณธาตุ เพราะว่าจิตนี้เกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป จะเข้าใจธาตุที่เห็นก็คือเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง ธาตุต่างก็ทำหน้าที่ของแต่ละธาตุที่กำลังปรากฏ สิ่งที่จะเข้าใจหรือพิจารณาปรมัตถธรรมจริงๆ มีน้อยนิดมาก

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ข้ามไปถึงการพิจารณา แต่ต้องเข้าใจเสียก่อน ขณะนี้กำลังเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยใช่ไหม ก็ค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย เพิ่มขึ้นก็จะมากเอง แต่ละคนก็พิสูจน์ตัวเองเข้าใจตัวเองได้ อยู่ในโลกของความจริง ไม่ใช่โลกของความต้องการ ที่ครอบครองเรามานานแสนนาน เราอาจจะเคยต้องการรูป เสียง กลิ่น รสที่น่าพอใจ แต่ ณ บัดนี้ที่จะได้เห็นคุณประโยชน์ของความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ เราก็จะสนใจศึกษาค่อยๆ เพิ่มความรู้ความเข้าใจขึ้น ไม่ต้องไปหวังจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม แต่ต้องมีความเข้าใจถูก เพราะอะไรจะสามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมได้ ถ้าไม่ใช่ปัญญา

    เพราะฉะนั้น เราก็สามารถที่จะรู้จักตัวเราว่าขณะนี้ปัญญาของเรากำลังอยู่ตรงไหน ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นในขั้นของการฟัง จนกว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการระลึกได้ตรงลักษณะของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจที่ได้ฟังมาแล้ว ความเข้าใจที่ได้ฟังมา และกำลังฟังอยู่ไม่สูญหายเลย แต่จะทำให้เราสามารถเข้าใจความเป็นจริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน

    โทสะเป็นธาตุอะไร ธัมมธาตุ ถ้าไม่ใช่วิญญาณธาตุ รูปธาตุที่กล่าวถึงแล้ว ที่เหลือทั้งหมดเป็นธัมมธาตุ

    ผู้ฟัง ธาตุ ๑๘ ถ้าจะแยกเป็นรูปธาตุกับนามธาตุ คือรูปธาตุ ๑๐ และนามธาตุ ๘ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ธัมมธาตุมีทั้งนามธรรม และรูปธรรมที่เหลือทั้งหมด รูปธาตุ ๑ รูปปรากฏทางตา เสียงคือ สัททธาตุ ๑ รูป ปรากฏทางหู คันธธาตุ ๑ ธาตุ ปรากฏทางจมูก รส ๑ ธาตุปรากฏทางลิ้น เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหว ๓ ธาตุปรากฏทางกาย แล้วรูปอื่นก็เป็นธาตุ จิตเป็นธาตุแต่ไม่ใช่ธัมมธาตุ จิตต้องเป็นธาตุหนึ่งธาตุใดในวิญญาณธาตุ ๗ เจตสิกเป็นธาตุ เป็นมโนวิญญาณธาตุหรือไม่ เป็นมโนธาตุหรือไม่ ต้องมั่นคง เจตสิกเป็นมโนธาตุหรือไม่ "มโน" ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นอะไรไม่ได้นอกจากจิต ผัสสะ เป็นธาตุอะไร ผัสสะธาตุเป็นอะไร เป็นธัมมธาตุ หทยวัตถุรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตเป็นธาตุอะไร ธัมมธาตุ อะไรๆ ก็เป็นธัมมธาตุทั้งหมด นอกจากที่ได้กล่าวถึงแล้ว

    ผู้ฟัง คำว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และอีกวรรคหนึ่งบังคับบัญชาไม่ได้เป็น ๒ ความหมายใช่ไหม ไม่ใช่รวมๆ กัน

    อ.ธิดารัตน์ แสดงไว้ในวิภังค์มี ๔ ประการ ๑. คือ ความหมายของอนัตตาโดยความเป็นของสูญ ๒. โดยความไม่มีเจ้าของ ๓. โดยเป็นสิ่งที่ควรกระทำชอบใจไม่ได้ ๔. โดยปฏิเสธต่ออัตตา ท่านแสดงไว้ ๔ ประการเช่นนี้

    ท่านอาจารย์ ความหมายของคำว่า "อนัตตา"ไม่ใช่ "อัตตา" ไม่ใช่ของใคร ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เพียงได้ยินเท่านี้เราสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะที่เป็นอนัตตาซึ่งไม่ใช่เราในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยินอย่างนี้ได้ไหม ถ้าเรายังไม่สามารถที่จะเข้าใจโดยคำนี้ แล้วเราคิดว่าจะมีคำอื่นที่จะทำให้เราสามารถจะเข้าใจได้ก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราจะรู้คำมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ทำให้เราสามารถที่จะรู้ว่าขณะนี้สภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน การรู้คำต่างๆ มากมายเหล่านั้นจะมีประโยชน์เกื้อกูล หรือว่าคำหนึ่งคำใดก็ตามที่สามารถทำให้เราเข้าถึงความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้ว จึงเห็นว่าสิ่งนั้นไม่มีสาระ เพราะขณะนี้ทุกอย่าง (ยังรู้สึกว่า) มีสาระ บ้านก็มีสาระ ต้นไม้ก็มีสาระ ถ้วยชามทุกสิ่งทุกอย่างมีสาระหมดใช่ไหม เพราะเหตุว่ายังมีเรา แต่ถ้าสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นสิ่งที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ รู้ว่าเป็นธรรม รู้ว่าเป็นธาตุ เพราะว่าลักษณะนั้นเป็นใคร แข็งเป็นใคร จะเป็นใครไม่ได้เลย ได้ยินเป็นใคร ก็เป็นใครไม่ได้ ก็เป็นชั่วขณะที่ได้ยินเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

    ถ้ามีการเข้าถึงลักษณะของธรรม ก็จะเห็นความไม่เป็นสาระของธรรมซึ่งเกิดดับ เราค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีด้วยปัญญาของเราเอง ไม่ใช่ว่าเราไปจดจำชื่อต่างๆ มากมาย เพราะเหตุว่าคำที่มีในพระไตรปิฎกมีมาก แต่ปัญญาของเราสามารถที่จะเข้าถึงหรือยัง แม้แต่เพียงคำเดียวคือธาตุหรือธรรม ถ้าเราสามารถจะเข้าถึงคำว่าธาตุหรือธรรม ก็จะมีความเข้าใจในสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นถึงความไม่มีสาระ และเราก็จะพบว่าข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก และปัญญาของเราที่ถึงก็เป็นเครื่องยืนยันสิ่งที่มี เพราะเหตุว่าเราสามารถที่จะรู้ด้วยตัวเอง ก็จะเป็นประโยชน์ ซึ่งหากเราจะจำเพียงคำแปลหรือชื่อ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม หรืออาจจะทำให้ไขว้เขว แล้วก็แยกไม่ออก เช่น บัญญัติ กับ ปรมัตถ์ ธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม และเป็นสิ่งที่มีจริงเป็นธาตุ แต่บัญญัติเป็นคำเป็นเรื่องราวที่คิดนึก หรือสิ่งใดก็ตามที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม สิ่งนั้นก็เป็นบัญญัติ แต่ถ้าศึกษาละเอียดต่อไปอีกก็จะรู้อีกหลายความหมายทีเดียว

    ผู้ฟัง เพราะยังไม่รู้ จึงถามให้เข้าใจเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพียงพยัญชนะเดียวว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ขณะนี้จะพอไหม และก็ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยปัญญาของเรา

    ผู้ฟัง คำว่า “พอ”นั้นไม่มี

    ท่านอาจารย์ พอที่จะทำให้เราสามารถระลึกได้บ่อยๆ พอที่จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่หมายความว่ารู้แค่นี้แล้วพอ ไม่ต้องมีการที่ต้องศึกษาอีกในพระไตรปิฎก ไม่ใช่อย่างนั้น แต่หมายความว่า พอที่จะทำให้เราเกิดความเข้าใจทีละเล็ก ทีละน้อย พอที่จะทำให้เราไม่หลงลืม พอที่จะทำให้สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของธาตุ ซึ่งขณะนี้ทุกคนกล่าวเมื่อครู่นี้ว่า แข็งเป็นธาตุ แต่แข็งกำลังปรากฏ ไม่ได้รู้ในลักษณะแข็งที่จะเข้าใจว่าเป็นธาตุ เพราะฉะนั้นถ้าฟังบ่อยๆ ก็จะพอที่จะทำให้เกิดการระลึกได้ และเข้าใจถูกต้อง

    ผู้ฟัง ตรงนี้ที่สติไม่ได้ระลึกถึงลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ระลึกก็บังคับไม่ได้

    ผู้ฟัง ก็ได้แต่ระลึกถึงบัญญัติเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ จะต้องเป็นอย่างนี้ไปจนกว่ามีเหตุปัจจัยที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิด

    ผู้ฟัง ก็พยายามอยู่

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิดก็คือไม่เกิด ไม่เกิดแล้วจะทำอย่างไร เพราะว่าต้องเป็นปัญญาที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นปัจจัยให้สติสัมปชัญญะเกิดระลึกได้ ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ตรงนี้ยากมากๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องฟังจนกว่าจะเข้าใจ เราก็กล่าวแล้วว่าเราฟังธรรม ฟังเรื่องธาตุ ฟังเรื่องสภาพธรรมก่อนที่จะได้ฟังเป็นเรื่องราวมากมายตั้งแต่เช้า แต่เวลานี้กำลังฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงให้เข้าใจถูกต้องขึ้นว่า เป็นธาตุเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ยังไม่ค่อยเข้าใจในส่วนที่เป็นรูปธรรม เพราะด้วยความที่มีชื่อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นจักขุวิญญาณธาตุ ธัมมมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ โดยส่วนตัวแล้วก็ค่อยๆ พิจารณาไป ตรงนี้มันก็เป็นลักษณะนามธรรมทั้งนั้นเลย พิจารณาไม่ได้ว่าในส่วนตรงไหนที่เป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา กำลังมีแท้ๆ เห็นชัดๆ เลย จะแจ้งอย่างนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าไม่มี

    ผู้ฟัง หาชื่อไม่ได้ว่าเป็นธาตุอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องใส่ชื่อก่อนที่จะต้องเข้าใจ คือยังไม่ต้องใส่ชื่อ

    ผู้ฟัง ตอนนี้เราเรียนชื่ออยู่

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจ ให้เข้าใจสิ่งที่มี เราต้องใช้ชื่อสำหรับให้เข้าใจสิ่งที่มี แต่ต้องมีสิ่งที่มีจริงๆ ก่อน เราจะไปใช้ชื่ออะไรถ้าไม่มีสิ่งอะไรเลย จะไปใช้ชื่ออะไร แต่เพราะว่า มีสิ่งที่มีแล้วก็ต้องใช้ชื่อเพื่อให้เข้าใจว่าหมายความถึงสิ่งใด ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตามีแน่นอนใช่ไหม

    ผู้ฟัง มีแน่นอน

    ท่านอาจารย์ มีแน่ เพียงเท่านี้ก่อน มีแน่ๆ ของจริงแน่ๆ ตอนนี้จะใช้ชื่อ และเรียกชื่อแล้ว จะเรียกสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะชื่ออะไรดี จะคิดเองหรือจะเข้าใจตามพระไตรปิฎก

    ผู้ฟัง ไม่คิดเอง เท่าที่ฟังมาก็เป็นรูปารมณ์หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือวัณณะ

    ท่านอาจารย์ เป็นธาตุหรือไม่

    ผู้ฟัง เป็นธาตุ

    ท่านอาจารย์ ๑ รูปแล้ว ที่เป็นธาตุ

    ผู้ฟัง ไม่รู้ว่าจะไปจัดอยู่ที่ธาตุตรงไหน เพราะเรียนมา ๑๘ ธาตุ

    ท่านอาจารย์ ทางตาจักขุธาตุคือจักขุปสาทรูป จักขุปสาทรูปเมื่อเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าใช้คำว่าจักขุธาตุจะไม่หมายความว่ารูปอื่นเลยทั้งสิ้น หมายความถึงเฉพาะจักขุปสาทรูป รูปเดียวที่ใช้คำว่าจักขุธาตุ หูเป็นจักขุธาตุหรือไม่

    ผู้ฟัง หูไม่ใช่จักขุธาตุ

    ท่านอาจารย์ จมูกเป็นจักขุธาตุหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจักขุธาตุหมายความถึงอะไร

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ