พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 63


    ตอนที่ ๖๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ และขณะนี้แม้ว่าจิตเกิดดับโดยที่เรายังไม่มีการประจักษ์แจ้งเลย ถ้าขณะนั้นไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ก็จะไม่ใช่ขณะที่กำลังประจักษ์แจ้งลักษณะของจิต แต่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าเมื่อจิตเกิด และเราสามารถที่จะรู้ได้เพราะว่าแม้จิตขณะก่อนดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทำให้สามารถที่จะรู้ได้ว่าอาการที่ปรากฏก็คือการเกิดดับสืบต่อของจิต ใครจะยับยั้งว่าจิตนี้เกิด และดับไปแล้วไม่ให้มีจิตเกิดสืบต่อไม่ได้เลย เพราะว่าจิตทุกขณะเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่า สภาพธรรมของแต่ละอย่างก็มีปัจจัยในตัวของสภาพธรรมนั้นแต่ละอย่างซึ่งต่างๆ กันไป สำหรับจิต และเจตสิกเป็นอนัตรปัจจัย คือทันทีที่จิต และเจตสิกดับ ปราศไปแล้วก็จะเป็นปัจจัยให้จิตเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้นอีก เพราะเป็นอย่างนี้เกิดดับสืบต่อจึงเป็นอาการที่ปรากฏให้รู้ได้ว่าขณะนี้มีจิต จิตที่ไม่มีอนันตรปัจจัยหรือไม่มีปัจจัยใดๆ อีกเลยก็คือ จุติจิตของพระอรหันต์ ซึ่งไม่เป็นปัจจัยให้เกิดในภพชาติต่อไป

    สำหรับปทัฏฐาน (เหตุใกล้ให้เกิด) ถ้าไม่มีเจตสิก จิตเกิดได้ไหม "ไม่ได้เลย" ฉะนั้นจิตจึงมีเจตสิกเป็นเหตุใกล้ ในภูมิที่มีขันธ์๕ ก็จะมีรูปเป็นเหตุใกล้ให้เกิดด้วยเพราะว่าจิตต้องเกิดที่รูป จิตจะเกิดนอกรูปหรือปราศจากรูปไม่ได้เลย ไม่ใช่ไปล่องลอยตามที่ไหนก็ได้ ฉะนั้นในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ซึ่งมีรูป จิตจะต้องเกิดที่รูป เพราะฉนั้น จิตจึงมีนามรูปเป็นเหตุใกล้ให้เกิด นามก็คือเจตสิก ส่วนรูปก็คือในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตทุกประเภทต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด รูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตจะมี ๖ รูป นี่จะแสดงให้รู้ว่าเราเข้าใจหรือไม่เมื่อพูดถึงลักขณาทิตจตุกะ หรือเราเพียงแค่จำชื่อไว้เท่านั้น แต่ถ้าเราเข้าใจก็ต้องมีอยู่ครบในลักขณาทิตจตุกะของจิต

    ผู้ฟัง ได้ฟังเรื่อง สานุสามเณรถูกยักษ์เข้าสิง ท่านอาจารย์ได้บอกว่าขณะนั้นสานุสามเณรมีจิตอ่อนมาก หมายความว่าจิตของสานุสามเณรก็ยังอยู่ แต่มีจิตของยักษ์มาข่ม จิตของสานุสามเณรไม่ได้ไปไหนเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าอาการที่ปรากฏ คือ เกิดดับสืบต่อตามปัจจัยซึ่งเป็นอนันตรปัจจัย เพราะไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ เมื่อจิตขณะใดดับไปต้องมีจิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ

    ผู้ฟัง ก็แสดงว่าจิตของสานุสามเณรก็ยังอยู่ที่รูป

    ท่านอาจารย์ ใช่ จิตหายไปไม่ได้ มีปัจจัยที่จะต้องเกิดดับสืบต่ออยู่เรื่อยๆ

    ผู้ฟัง จิตที่มาข่มมาอาศัยรูปของสานุสามเณรใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สานุสามเณรไม่รู้สึกตัวเลยใช่ไหม แต่อาการที่คนอื่นเห็น ก็เป็นอาการที่จิตอื่นสามารถจะเป็นปัจจัยให้เกิดรูปนั้นๆ ได้

    อ.วิชัย สานุสามเณรคงจะสลบ คือ ไม่รู้สึกตัว จึงมีจิตบุคคลอื่นซึ่งสามารถเป็นปัจจัยให้แสดงกิริยาอาการอย่างนั้นได้

    ท่านอาจารย์ จิตของสามเณรนั้นจะต้องมีอยู่แน่นอน แต่จะเห็นได้ว่ากำลังของจิตสามารถที่จะทำให้รูปเกิดขึ้นได้ เช่น เราเดินไปที่ประตูโดยไม่ต้องใช้มือเปิดเลย ประตูนั้นก็ยังเปิดได้ นี่แสดงให้เห็นว่า สมัยนี้เราก็ยังเห็นสิ่งซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ใช่ด้วยกำลังของจิตด้วยซ้ำไป เพียงแต่ว่าผู้ที่สามารถจะทำสิ่งซึ่งเห็นแล้วดูเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะทำได้ เช่น ประตูเปิดเอง ปิดเองนี้ ก็ยังเป็นจิตของผู้ที่มีกิเลสไม่ใช่เป็นผู้ที่มีความเข้าใจในเรื่องของธรรมเลยก็ยังสามารถกระทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้

    ดังนั้น หากเป็นผู้ที่มีพลังจิตก็สามารถที่จะทำให้รูปเกิดได้ และพลังของจิตก็ตามกำลังสภาพของจิตด้วย ถ้าเป็นสภาพของจิตที่มั่นคงสงบถึงระดับของฌาณจิต ถึงขั้นรูปฌาณ อรูปฌาณ และยังสามารถที่จะมีวสี ความแคล่วคล่อง สามารถที่จะกระทำอิทธิปาฏิหารย์ต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ต้องมีเหตุที่สมควรไม่ใช่ว่าไม่มีความสงบของจิตแล้วจะสามารถที่จะไปทำอย่างนั้นได้ กำลังของสมาธิต้องมีพอสมควร แต่ยังไม่ใช่สัมมาสมาธิถ้ายังไม่เกิดกับกุศลจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าสมาธิสามารถจะกระทำให้เกิดรูปต่างๆ ได้ แต่จะไปทำให้จิตนั้นเปลี่ยนแปลงก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง วิญญาณล่องลอยไม่ได้ แต่ทำไมวิญญาณหรือจิตของยักษ์จึงมาอยู่ที่สานุสามเณร

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้อยู่ ใช้คำว่าสิงไม่ได้หมายความว่าอยู่ ไม่ได้หมายความว่าเข้าไปอยู่เลย เข้าไปไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วคำว่า “สิง” หมายความว่าอย่างไร หรือว่ามาแสดงอิทธิพลยังไง

    ท่านอาจารย์ ขอย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล ถ้ามีอิทธิปาฏิหารย์เกิดขึ้น ใครทำ จิตที่มีพลังที่สามารถจะทำได้ขั้นหนึ่ง ทีนี้คนยุคนี้ทำอะไรได้บ้างไหม ที่ดูเหมือนปาฏิหารย์ หรืออิทธิ เดินใกล้ๆ ประตู ไม่ต้องเปิดประตู ประตูก็เปิดเอง

    ผู้ฟัง เพราะนั่นมีเครื่องเปิด

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงถึงจิตที่ไม่ถึงระดับของผู้ที่มีความสงบขั้นฌาณ ยังทำได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้นให้เห็นพลังของจิต หรือกำลังของจิต หรือสมาธิขั้นต่างๆ ก็สามารถที่จะทำให้เกิดรูปได้ตามกำลังระดับต่างๆ ไม่ใช่คนที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปแสดงอิทธิปาฏิหารย์อย่างพระองค์ได้ แสดงได้ก็มีเหมือนกันที่พอคนอื่นจะทำได้แต่ก็ไม่เท่า จะเห็นได้ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้ามีจิตระดับหนึ่งซึ่งสามารถจะทำให้รูปเกิดขึ้นได้ โดยจิตของยักษ์ต้องเกิดที่รูปของยักษ์ จะออกไปนอกรูปไม่ได้เลย จิตของสานุสามเณรก็ต้องเกิดที่รูปของสานุสามเณร แต่คนที่นอนหลับ เราซึ่งไม่มีอิทธิปาฏิหารย์ ไม่มีกำลังของสมาธิจะไปจับรูปนั้นให้บิด ยกมือ ยกเท้า เราทำได้ไหม หากคนนั้นกำลังนอนหลับ ลองสิ เดี๋ยวนี้ลองก็ได้ คนไหนนั่งเฉยๆ ลองไปจับมือให้ชูขึ้นได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเราไปจับมือก็ชูขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คนที่นอนหลับสนิท หากมีผู้ที่ไปจับทำให้แขนขาเขางอเกร็ง สั่นหรืออะไรแล้วแต่ก็ทำได้ แต่ถ้าคนนั้นมีพลังจิตซึ่งไม่ต้องใช้มือ เหมือนเราเดินไปที่ประตู ไม่ต้องเปิดประตูแต่ประตูก็เปิดได้ แต่นั่นเป็นระดับของจิตที่ไม่สงบเลย ไม่ได้รู้เรื่องของธรรมเลย เพียงแต่เข้าใจเรื่องวิชาการทางโลก ก็สามารถจะกระทำสิ่งซึ่งคนไม่รู้เลยอาจจะเห็นว่าเป็นอิทธิปาฏิหารย์ เช่น คนที่ไม่เคยเห็นไฟ ถ้ามีไม้ขีดไฟไปขีดไฟ เขาก็ตกใจแล้ว ทำไฟขึ้นมาได้อย่างไร นั่นก็แสดงให้เห็นถึงทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัย เพียงแต่ว่าเราสามารถที่จะรู้ หรือสามารถที่จะเข้าใจได้ระดับไหน แต่ที่เราสามารถจะเข้าใจได้ก็คือตามพระธรรมที่ทรงแสดงให้เราค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ พิสูจน์ว่าเป็นความจริงอย่างนั้นหรือไม่ เช่น จิตเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย เมื่อทำกิจของจิตนั้นแล้วดับไปทันทีเร็วมาก เราก็จะค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ เห็นความต่างของจิตขณะที่หลับสนิท จิตขณะที่เห็น จิตขณะที่เป็นกุศล อกุศล จิตที่ทำกุศลกรรม อกุศลกรรม ต่างๆ เหล่านี้ ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    สำหรับการทบทวนที่จะให้เข้าใจธรรมไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขณะไหนก็ตาม ให้ทราบว่าขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด ที่ลืมไม่ได้ก็คือว่าขณะนี้ไม่ว่าจะกล่าวเรื่องกุศลก็มีในขณะนี้ อกุศลก็มี วิบากคือผลของกุศล อกุศลขณะนี้ก็มี กิริยาก็มี นี่คือการที่เราจะไม่ลืม ไม่ใช่ว่าฟังเรื่องชาติ ๔ แล้วก็ลืม ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ขณะไหน สิ่งที่เป็นธรรมที่เราได้ยินได้ฟังก็คือในขณะนี้ทั้งหมด ตาขณะนี้ก็มี หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีหมดทุกอย่างซึ่งมีแสดงไว้ในพระธรรมในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทบทวนในเรื่องของชาติ ขณะนี้มีทั้งกุศล อกุศล วิบาก กิริยา พูดเพื่อเตือน แต่ความละเอียดสามารถจะรู้ได้เอง หลังจากที่ฟังแล้วว่าขณะไหน จิตไหน เป็นชาติอะไร เพราะมีทั้ง ๔ กุศลก็มี อกุศลก็มี วิบากก็มี กิริยาก็มี ซึ่งต้องละเอียดที่จะรู้ว่าแต่ละขณะจิตเกิดดับเร็วมาก ถ้าจะกล่าวรวมๆ โดยไม่เจาะจงว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นวิบาก ขณะไหนเป็นกิริยา ก็แสดงว่ายังไม่มีความเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แต่ละขณะหนึ่งก็ต่างกันหลากหลายโดยมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นซึ่งไม่ใช่เรา

    ขณะนี้ที่ทุกคนกำลังเห็น ได้ยิน และอยู่ที่นี่เป็นกามาวจรจิต ใช้คำว่า “เป็นจิตระดับขั้นต้น” คือเป็นกามภูมิ ยังไม่ใช่เป็นจิตระดับขั้นสูงกว่านี้ ทั้งวันทุกวันก็จะเป็นจิตในระดับนี้จนกว่าเราจะมีความเข้าใจ และมีเหตุเพียงพอที่จะทำให้จิตขั้นอื่นหรือภูมิอื่นเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นก็แน่ใจได้ว่าเป็นกามภูมิทั้งหมด เป็นกามาวจรจิต และโดยชาติก็มีทั้ง ๔ ชาติ ถ้าพูดถึงโดยเหตุ เป็นปรมัตถธรรม ทั้งหมดที่เรากล่าวใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม” เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ แต่ว่าเป็นธรรมซึ่งมีจริง และไม่สามารถที่ใครจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้เลย

    เพราะนั้นถ้าพูดถึงธรรมอะไร กลับไปที่เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก หรือเป็นรูป นั่นเป็นความเข้าใจของเรา เริ่มที่หยั่งลงถึงความเป็นอนัตตา ซึ่งกว่าจะประจักษ์ลักษณะที่เป็นอนัตตาได้ ต้องสะสมความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ได้ยินซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกระทั่งสามารถที่จะถึงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะได้ ซึ่งก็ต้องมาจากการฟัง และการเข้าใจ

    เพราะนั้น ก็ขอทบทวนเหตุด้วยคำถามว่าเป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิกปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ ใช่ "เจตสิกปรมัตถ์" แสดงว่าเข้าใจแล้วว่าเหตุหมายถึงสภาพธรรม ๖ อย่าง ถ้ากล่าวโดยนัยของเหตุ ๖ ก็คือ โลภเจตสิกเป็นโลภเหตุ โทสเจตสิกเป็นโทสเหตุ โมหเจตสิกเป็นโมหเหตุ อโลภเจตสิกเป็นอโลภเหตุ อโทสเจตสิกเป็นอโทสเหตุ อโมหเจตสิกเป็นอโมหเหตุ และอีกชื่อหนึ่งของอโมหะก็คือ ปัญญา เพราะฉะนั้นจะมีจิตต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มี และจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มี และความจริงก็คือขณะนี้นั้นเองไม่พ้นจากชีวิตประจำวันเลย ไม่ว่าจะแสดงธรรมโดยนัยประการใดก็ตาม ก็คือสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้คือมีจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย และมีจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย จึงต้องเข้าใจละเอียดขึ้นว่าขณะไหนเป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ขณะไหนเป็นจิตที่เป็นเหุตเกิดร่วมด้วย

    แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ดวง โลภะเป็นเหตุ ๑ โทสะเป็นเหตุ ๑ โมหะเป็นเหตุ ๑ ทางฝ่ายอกุศล ซึ่งทางฝ่ายดีก็จะตรงกันข้ามกันคือ อโลภะ ขณะที่ไม่ติดข้อง อโทสะขณะที่ไม่ขุ่นเคืองใจ ไม่โกรธ อโมหะขณะที่ไม่มีความหลง ต้องเป็นฝ่ายโสภณเหตุ

    เพราะฉะนั้น จิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย กับจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพียงขั้นต้นลองพิจารณาว่าจิตประเภทใดจะมีกำลังมากกว่ากัน มีจิต ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลยสักเหตุเดียว โลภะก็ไม่มี โทสะก็ไม่มี โมหะก็ไม่มี อโลภะ อโทสะ อโมหะก็ไม่มี กับจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย คือ มีโลภะเกิดเป็นเหตุที่จะให้สภาพธรรมนั้นมั่นคงสามารถจะทำให้งอกงามเจริญเติบโตไปได้ด้วยความติดข้องนั้น กับจิตที่ไม่โลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีอโลภะ ไม่มีอโทสะ ไม่มีอโมหะเกิดร่วมด้วยเลย จิตใดจะมีกำลังมากกว่ากัน จิตที่มีเหตุ ส่วนจิตที่ไม่มีกำลังคือจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    และขณะนี้ก็กำลังมีทั้ง ๒ อย่าง คือมีทั้งจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย และมีจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    ขณะที่เห็น ขณะนี้ทุกคนมี ทำไมเห็น คนตาบอดก็มีซึ่งไม่เห็น ฉะนั้นทำไมเห็น กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นปัจจัยทำให้มีรูปร่างกายทั่วทั้งตัว และมีจักขุปสาทขณะที่เกิด เมื่อมีการเห็นขณะนี้ต้องมีจักขุปสาทเกิด ถ้าไม่มีจักขุปสาทเกิด การเห็นก็เกิดไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทเกิดจึงสามารถที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอุปัตติเหตุ เป็นขันธ์ที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ไม่มีใครสามารถจะสร้างจิตสักขณะเดียวได้เลย ซึ่งจิตก็หลากหลาย และจิตแต่ละขณะก็เกิดเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กันทั้งนั้น

    สำหรับจิตเห็นต้องเป็นอุปัตติเหตุ คือเป็นอุปัตติที่ทำให้เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย คำว่า “ภพ” มีสองอย่าง "กรรมภพ" และ "อุปัตติภพ" กรรมภพได้แก่เจตนาเจตสิก ฉะนั้นเมื่อสำเร็จเป็นกรรมที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น ขันธ์ที่เกิดเพราะกรรมภพ ขันธ์นั้นเป็นอุปัตติภพ ที่กำลังเห็นนี้เกิดขึ้นเพราะกรรม หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้ามีปัจจัยให้เห็นเกิด เห็นก็ต้องเกิด และสำหรับกรรมที่ได้กระทำแล้วก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลเกิดขึ้น จิตที่เป็นผลคือ วิบากจิต ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลยเมื่อกล่าวถึงวิบากคือ ผลของกรรม ต้องรู้ว่าคือจิต และ เจตสิก ซึ่งเกิดเพราะจิต เจตสิกซึ่งได้กระทำกรรม ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เป็นปัจจัยให้จิตเห็นเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏโดยเลือกไม่ได้ จิตเห็นเมื่อเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย กรรมทั้งหลายสามารถจะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นโดยไม่ต้องมีเหตุหนึ่งเหตุใดเกิดร่วมด้วยเลย ฉะนั้นวิบากจิตที่เป็นผลของกรรม ที่เห็นขณะนั้นเป็นอเหตุกจิต คือยังไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วย เพียงแต่ว่าถึงกาลที่กรรมใดจะให้ผลก็เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นภวังค์อยู่เรื่อยๆ สิ้นสุดกระแสภวังค์ โดยก่อนที่จะสิ้นสุดก็มีภวังคจลนะหนึ่งขณะ ต่อจากนั้นก็เป็นภวังคุปัจเฉทะ ซึ่งเป็นกระแสภวังค์สุดท้ายหรือจะชื่อว่าตัดกระแสของภวังค์ก็ได้ โดยกำลังของกรรมที่จะให้ผลทางตา

    เมื่อภวังคุปัจเฉทะซึ่งเป็นวิบากจิตดับ ขณะต่อไปเป็นอะไร คงไม่ลืมเพราะว่าได้กล่าวมามากแล้ว เรื่องจิตที่เป็นวิถีจิตขณะแรก ถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่วิบาก เพราะว่าวิบากขณะนั้นเป็นภวังค์ที่ดับไปแล้ว และจิตต่อไปเป็นกิริยาจิตซึ่งเพียงแต่รู้ว่าอารมณ์กระทบ แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ลิ้มรส ยังไม่ได้กระทบสัมผัส จิตนี้ทำอาวัชชนกิจทางปัญจทวารจึงชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” เป็นกิริยาจิต ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ยังไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย

    วิถีจิตที่เป็นจิตมีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มี ที่เป็นจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มี แต่เป็นวิถีจิตเพราะเหตุว่าไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต แต่เป็นการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งคือขณะนี้นี่เอง เราเรียนธรรม คือ เรียนสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ให้เข้าใจว่าเป็นจิตแต่ละขณะซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นจิตประเภทต่างๆ โดยชาติ โดยภูมิ โดยเหตุ

    สำหรับจิตขณะแรกที่เป็นวิถีจิตก็ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย แต่เป็นกิริยาจิต เพราะฉะนั้นจะเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ไหม คือ “อเหตุกกิริยาจิต” คือเรียกตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าเมื่อบัญญัติอย่างนี้แล้วต้องไปจำไว้เฉยๆ แต่หมายความว่าเราสามารถที่จะเข้าใจว่าทำไมมีคำนี้ บัญญัติลักษณะของสภาพตามที่ขณะนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะว่าเมื่อเป็นจิตที่เป็นวิถีจิตแรก และรู้อารมณ์ที่กระทบทวารจึงเป็นอาวัชชนะ โดยอาศัยทวารจึงเป็นทวาราวัชชนะ แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าเรียกรวมคือ ปัญจทวาราวัชชนะ เมื่อแยกเป็นขณะที่เห็นก็เป็น จักขุทวาราวัชชนะ ทางหูไม่ใช่สิ่งที่ปรากกฎทางตาที่กระทบ ขณะนั้นก็เป็น โสตทวาราวัชชนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนได้กลิ่น ก่อนลิ้มรส ก่อนรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นอเหตุกจิต

    เริ่มที่จะรู้จักอเหตุกจิตที่เป็นกิริยาจิต ๑ ขณะ และถ้าเป็นทางใจไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย เช่น ขณะที่คิด คิดขึ้นมา ขณะนั้นไม่ใช่ภวังค์ แต่เป็นวิถีจิตแรก เพราะว่าไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่อาศัยจิตที่ทำอาวัชชนกิจคือรู้อารมณ์ที่กระทบในขณะนั้น จึงเป็นมโนทวาราวัชชนจิต ทั้ง ๒ จิตนี้เป็นอเหตุกกิริยาจิต เมื่อพูดถึงอเหตุกกิริยาจิตทั้งหมดมี ๓ ดวง แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็จะมีอเหตุกกิริยาจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น คือปัญจทวาราวัชชนจิต กับมโนทวาราวัชชนนจิต อเหตุกกิริยาทั้งหมดมี ๓ ดวง แต่จะยังไม่พูดถึงประเภทสุดท้ายซึ่งเป็นของพระอรหันต์เท่านั้นที่เป็นอเหตุกกิริยา

    ผู้ฟัง ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขณะไหน เกิดก่อนหรือเกิดหลังจักขุวิญญาณเกิด อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลยมีไหม "มี" ขณะนั้นเป็นจิตหรือไม่ "เป็น" จิตประเภทไหน "ภวังคจิต" ขณะที่ไม่รู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลยมีจิตทำภวังคกิจดำรงภพชาติเกิดดับสืบต่อ โดยไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่มีจิตที่กำลังทำภวังคกิจ เป็นชาติอะไร "เป็นชาติวิบาก" ภวังค์ต้องเป็นผลของกรรมเพราะว่าเป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิจิต ซึ่งไม่ใช่จิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย ฉะนั้นเวลาที่เห็น เช่น เรากำลังเห็นขณะนี้ เราไม่ได้รู้เลยถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงว่า จิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดเป็นครั้งแรก ชื่อว่าเป็นวิถีจิตแรก ที่ใช้คำว่า "วิถีจิต" หมายความว่าอาศัยทวารหนึ่งทวารใดเกิดสืบต่อรู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใด โดยที่อารมณ์นั้นยังไม่ได้ดับไป ถ้าเป็นรูป เช่น เสียงมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้นเวลาที่วิถีจิตที่ได้ยินเสียง หรือรู้เสียงทางหูเกิดขึ้นไม่ใช่ขณะเดียว แต่จะมีหลายขณะเกิดดับสืบต่อจนกว่าเสียงดับเรียกว่า วาระหนึ่งๆ ซึ่งเป็นโสตทวารวิถี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ