พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 106


    ตอนที่ ๑๐๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นโสภณจิตก็มีความหมายที่กว้างกว่ากุศลจิต

    อ.กุลวิไล ถ้ากล่าวถึงโสภณในความหมายว่าดีงาม ฉะนั้นถ้ากล่าวถึงโสภณจิตต้องประกอบด้วยโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยซึ่งจะรวมทั้งกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต สำหรับโสภณเจตสิกที่เกิดกับโสภณจิตมีถึง ๒๕ ประเภท เริ่มตั้งแต่ศรัทธาเจตสิก สติเจตสิก ซึ่งเจตสิกเหล่านี้เป็นเจตสิกที่เป็นโสภณเจตสิก ฉะนั้นโสภณเจตสิกถ้าเกิดกับจิตแล้ว จิตนั้นเป็นโสภณจิต ซึ่งก็มีจิตถึง ๓ ชาติตามที่กล่าวมาแล้วก็คือ กุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต

    อ.ธีรพันธ์ ถ้าเป็นกุศลชาติก็จะต้องเป็นกุศลจิต เป็นกุศลธรรม คือสภาพธรรมที่ตัดรอนบาปธรรมเป็นฝ่ายกุศลชาติ แต่ถ้าเป็นโสภณจะมีความหมายที่กว้างมาก เพราะว่าธรรมที่ดีงามไม่ได้เจาะจงสภาพธรรมที่เป็นกุศลจิตอย่างเดียว แต่เป็นสภาพธรรมที่มีอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เกิดร่วมด้วย ซึ่งทั้ง ๓ เหตุนี้เป็นได้ทั้งกุศลชาติ วิบากชาติ ซึ่งวิบากชาติก็จะมีเหตุที่เป็นอย่างน้อย ๒ เหตุ คือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ หรือถ้ามีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็จะมีอโมหเหตุ จึงเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ส่วนกิริยาจิตก็เป็นสภาพธรรมที่มีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วยคือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุที่เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ดังนั้น ถ้าได้ยินคำว่าสภาพธรรมที่ดีงามจะไม่ได้เจาะจงสภาพธรรมที่เป็นกุศลอย่างเดียว จะต้องเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศลชาติ วิบากชาติ และกิริยาชาติที่มีเหตุทั้ง ๓ เหตุเกิดร่วมด้วย

    อ.อรรณพ จิต จำแนกได้อีกนัยหนึ่ง คือ โสภณจิต และ อโสภณจิต โสภณจิต คือ จิตที่มีเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย เช่น ศรัทธาเจตสิก เป็นต้น ส่วนจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เช่น ไม่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นเป็นอโสภณจิต ซึ่งอโสภณจิตได้แก่อกุศลจิตประเภทหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยอกุศลเหตุ ซึ่งกลุ่มของอกุศลจิตจะไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งของอโสภณจิต คือ อเหตุกจิตทั้ง ๑๘ ประเภท หรือ ๑๘ ดวง เพราะฉะนั้น อเหตุกจิต ๑๘ ดวง และ อกุศล ๑๒ ดวง รวมเป็น ๓๐ ดวงนี้ เป็นอโสภณจิต ส่วนจิตที่เหลือทั้งหมดเป็นโสภณจิต ซึ่งจะเป็นชาติใดภูมิใดก็แล้วแต่ระดับของภูมิจิตที่เป็นโสภณจิตนั้น เป็นกุศลชาติก็มี วิบากชาติก็มี หรือกิริยาชาติก็มี ก็เป็นอีกนัยหนึ่งของการจำแนกจิต

    ท่านอาจารย์ กุศลจิต กับ โสภณจิต โดยชื่อต่างกัน ความหมายก็ต้องต่างกันด้วย "โสภณ" หมายความถึงจิตที่ดีงาม ซึ่งมีโสภณเจตสิกเป็นเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วย ไม่เจาะจงชาติเลย เพราะกล่าวว่าโสภณจิต เมื่อกล่าวถึงโสภณจิตก็คือจิตที่มีเจตสิกที่ดีงามเกิดร่วมด้วยเท่านั้น แต่เมื่อกล่าวถึงชาติของจิต กุศลจิตเป็นชาติกุศล เพราะเหตุว่ามีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นกุศลไม่ได้เลย โสภณที่งาม เป็นกุศลก็ต้องงามแน่ อกุศลจิตเป็นโสภณจิตหรือไม่ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นอกุศลจิตเป็นอโสภณจิต สำหรับกุศลจิตที่เป็นอโสภณที่ไม่งาม มีไหม ไม่มี เมื่อเป็นกุศลจิตแล้วก็ต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เมื่อใช้คำว่าโสภณที่งามแล้วไม่ได้เจาะจงชาติ เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งโสภณจิตที่เป็นกุศล ที่เป็นวิบาก ที่เป็นกิริยา แต่เป็นอกุศลไม่ได้ และสำหรับกุศลก็ต้องมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นโสภณที่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล นี่คือความต่างกัน เป็นสภาพของจิตที่เป็นกุศลที่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล ซึ่งกุศลจิตที่เป็นเหตุให้เกิดผลจะให้ผล ๓ อย่าง คือ ให้ผลเป็นวิบากที่เป็นโสภณ กับ วิบากที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย อเหตุกะ ๑๘ ก็จะมีกุศลวิบากเป็นผลของกุศลกรรม แต่กุศลกรรมก็ให้ผลต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือให้ผลเป็นอเหตุกะไม่มีเหตุที่ดีหรือไม่ดีเกิดร่วมด้วยเลย และไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ก็ยังให้ผลเป็นกุศลวิบากที่เป็นโสภณด้วย นี่เป็นความต่างกัน

    สำหรับอกุศลกรรมที่ทำแล้วจะให้ผลเป็นอกุศลวิบากเท่านั้น จะไม่สามารถให้ผลเป็นโสภณได้เลย แต่สำหรับกุศลกรรมให้ผลเป็นอโสภณวิบาก และโสภณวิบาก คงแปลกใจการให้ผลเป็นอโสภณวิบาก คิดออกไหม กุศลกรรมให้ผลเป็นอโสภณวิบาก คือให้ผลเป็นกุศลวิบากอเหตุกะซึ่งไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    อโสภณจิตมี ๓๐ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ เป็นอโสภณ และ อเหตุกะ ๑๘ เป็นอโสภณ จิตทั้ง ๓๐ ประเภทนี้ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นความต่างกัน ซึ่งถ้ามีความเข้าใจชัดเจนว่า โสภณ เป็นได้ทั้งกุศล วิบาก กิริยา และสำหรับกุศล ก็เป็นโสภณชาติที่เป็นเหตุให้เกิดวิบาก แต่ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กิริยา

    คุณอุไรวรรณ โสภณจิตที่เป็นได้ทั้งกุศล วิบาก และกิริยาหมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โสภณจิตเป็นกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี เพราะเหตุว่า กุศลกรรมให้ผลเป็นทั้งอโสภณวิบาก คือ อเหตุกวิบาก และ โสภณวิบากซึ่งเป็นกุศลวิบาก และ กิริยาที่เป็นอโสภณ คือ อเหตุกกิริยา ๓ ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้น จึงเป็นอโสภณกิริยา แต่สำหรับกิริยาจิตที่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็นโสภณกิริยา

    กิริยาจิต เป็นจิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก แต่ก็สามารถที่จะเป็นอโสภณ ๓ คือ อเหตุกกิริยา ๓ และที่เหลือก็เป็นโสภณกิริยา ศึกษาธรรมถ้าเข้าใจแล้วเราอาจจะลืม แต่เมื่อกล่าวถึง ก็นึกออก

    ผู้ฟัง จักขุปสาทกระทบกับสีวัณณะ ก็เกิดเป็นจิตขึ้น เรียกว่าจักขุทวาราวัชชนจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิตแรก

    ผู้ฟัง แต่เมื่อถึงมโน ไม่รู้ว่า อะไรกระทบอะไร จึงเกิดความคิดขึ้นได้

    ท่านอาจารย์ สำหรับทางใจ ไม่ใช่รูปแน่นอน เพราะฉะนั้นการสะสม เวลาที่เราจะคิด เราก็จะคิดถึงเรื่องที่เราเคยพบ เคยได้ยินทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เรื่องราวต่างๆ ก็ได้ ก็เป็นอารมณ์ของใจซึ่งสะสมสืบต่อเป็นปัจจัยทำให้ภวังคจิตไหว และภวังคุปัจเฉทะดับไป มโนทวาราวัชชนจิตก็มีสิ่งนั้นเองเป็นอารมณ์ กุศลจิต และ อกุศลจิตก็มีอารมณ์เดียวกันกับมโนทวาราวัชชนะ

    ผู้ฟัง จิตที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิตเป็นคนละจิตกับที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิต

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะว่าเกิดจากหทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ เกิดที่หทยวัตถุ ปัญจทวาราวัชชนะก็เกิดที่หทยวัตถุ แต่ปัญจทวาราวัชชนะอาศัยทวารที่เป็นรูป แต่มโนทวารไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กายที่เป็นรูป

    ผู้ฟัง จะใช้การอธิบายว่าอายตนะภายในภายนอกเหมือนกับปัญจทวาราวชชันจิตได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ากล่าวถึงอายตนะ ภายในต้องทราบว่าจักขุปสาทเป็นอายตนะ เรียกว่า จักขายตนะ ๑ ในบรรดารูปทั้งหมดที่ตัว รูปที่จะเป็นปสาทหรืออายตนะที่จะกระทบกับรูปที่กระทบได้ก็มีเพียง ๕ รูปเป็นรูปภายใน รูปอื่นไม่ใช่รูปภายใน แม้แต่มหาภูตรูปซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานก็ไม่ใช่ปสาทรูป ไม่ใช่อายตนะด้วย เพราะฉะนั้นขณะใดที่จักขุปสาทเป็นจักขายตนะก็เพราะกระทบกับรูปารมณ์ สำหรับทางมโนทวาร จิตทุกประเภทเป็นมนายตนะ

    ผู้ฟัง ทางมโนทวารจะใช้คำว่ากระทบอะไรได้ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ จิตจึงเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เป็นอายตนะซึ่งมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นธัมมายตนะ คือถ้ากล่าวถึงอายตนะก็หมายความว่าขณะนั้นมีสภาพธรรมอะไรที่ประชุมอยู่ที่นั่นที่จะทำให้สภาพนั้นๆ เกิดขึ้นเป็นไปสืบต่อไปได้

    ผู้ฟัง เมื่อมาถึงทางมโน

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีจิตกับเจตสิก จิตก็เป็นมนายตนะ เจตสิกก็เป็นธัมมายตนะ

    ผู้ฟัง มีความต่างกับปัญจทวาร อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ปัญจทวารก็มีจักขายตนะ รูปายตนะ ภายใน ๖ ภายนอก ๖ กล่าวถึงสภาพที่มีอยู่ในขณะนั้น ที่สภาพธรรมนั้นๆ ปรากฏได้ ถ้ามีจิต ไม่มีเจตสิก เป็นไปไม่ได้เลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นขณะที่มีจิตต้องมีเจตสิกอยู่ด้วย ประชุมด้วย อยู่ตรงนั้นด้วย

    ผู้ฟัง แม้แต่ปัญจทวาราวัชชนจิตก็ต้องมีเจตสิกอยู่ด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ปัญจทวาราวัชชนจิตก็เป็นมนายตนะ จิตทุกประเภทเป็นที่ต่อของเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ต้องมีอยู่ที่นั่นในขณะนั้น ทั้งจิต และเจตสิกก็เป็นสัมปยุตตธรรม หมายความว่าแยกกันไม่ได้เลย ต้องเกิดร่วมกันโดยภาวะที่ต่างก็เป็นสัมปยุตตปัจจัย แต่เมื่อกล่าวถึงโลภมูลจิตประเภทที่ ๑ คือเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ภาษาบาลีก็จะใช้คำว่า “โสมนัสสสหคตัง” และก็มีคำว่า “ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง” แม้ว่ามีเจตสิกอื่นๆ เป็นสัมปยุตตธรรม แต่ขณะนั้นก็มีทิฏฐิเจตสิกเป็นสัมปยุตตธรรมด้วย คือเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ก็เป็นเพียงแต่ว่าแสดงว่าจิตที่เป็นโลภมูลจิตมี ๘ ประเภท หรือ ๘ ดวง จิต ๔ ดวงมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย อีก ๔ ดวงไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ใช้คำแยกให้เห็นว่า ถ้ามีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็น “สัมปยุตต์” ถ้าไม่มีก็ใช้คำว่า “วิปปยุตต์” เพราะฉะนั้นโสมนัสสสหคตัง จิตนั้นมีเจตสิกที่เป็นโสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วย ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง จิตนั้นก็มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นสัมปยุตตธรรม

    ผู้ฟัง ที่ท่านแบ่งเป็นชวนวาระ โมฆวาระ โวฏฐัพพนวาระ หรือตทาลัมพวาระ ท่านใช้อะไรในการแบ่งตรงนี้ การที่จิตรู้อารมณ์ขณะนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดงๆ จากการประจักษ์แจ้งไม่ใช่คิดแบ่ง สภาพธรรมขณะนั้นเป็นอย่างไรก็แสดงตามความเป็นจริงอย่างนั้นว่า ถ้าวาระนั้นรูปดับก่อนที่ตทาลัมพนจิตจะเกิดเพราะว่ารูปดับไปแล้ว ตทาลัมพนจิตที่จะรู้อารมณ์นั้นหลังจากชวนะก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่รูปก็สามารถจะดับก่อนที่ไม่ใช่ ๔ วาระที่กล่าวได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ได้ ก็ไม่มีวิถีจิตที่จะไปรู้รูปนั้น

    ผู้ฟัง สมมติว่ารูปไปดับที่สัมปฏิจฉันนะ เรียกว่า สัมปฏิจฉันนวาระ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลยที่จะเป็นอย่างนั้น จากการทรงตรัสรู้ว่าต้องถึงโวฏฐัพพนะหรือชวนะหรือตทาลัมพนะ ตามกระแสของกำลังของวาระของจิตที่จะเกิดสืบต่อกัน

    ผู้ฟัง ก็จะดับได้ ๓ ประเภทนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มีกำลังพอที่จะเป็นวิถีจิตได้เมื่อถึงโวฏฐัพพนะ หรือถึงชวนะ หรือถึงตทาลัมพนะ

    ขณะนี้วาระไหน

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่สิ่งที่เราจะรู้ได้ แต่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

    ผู้ฟัง โดยธรรมดาเราเข้าใจว่าจิตเกิดขึ้นจะต้องรู้อารมณ์ จะต้องมีอารมณ์มาให้จิตรู้ ไม่อย่างนั้นแล้วจิตจะเกิดไม่ได้ ก็พยายามรู้ไปหมดทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอจะตอบได้ แต่พอมาถึงภวังค์ จะเอาอารมณ์อะไรมาให้จิตรู้ เพราะหลับสนิท ไม่รู้อะไร อะไรคืออารมณ์ของภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วพื้นฐานพระอภิธรรม ก็คือว่าเราต้องฟัง เพราะอะไร เพราะมีสภาพธรรมปรากฏซึ่งเป็นธรรม จนกว่าเราจะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เพราะฉะนั้นตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจ หรือว่ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่เรา เราก็จะฟังให้เป็นพื้นฐานให้เป็นความเข้าใจจนสามารถที่จะรู้ว่าขณะนี้เป็นธรรม และเมื่อที่ได้ฟังธรรมแล้ว ธรรมเป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ อย่างที่คุณเด่นพงศ์กล่าวว่าขณะที่นอนหลับสนิทจิตมีอารมณ์อะไรไม่ปรากฏเลย ก็อยากจะทราบว่าขณะนั้นจิตมีอารมณ์อะไร ข้อสำคัญที่สุดก็คือทราบว่าจิตต้องมีอารมณ์ อันนี้แน่นอน มิฉะนั้นความเข้าใจของเราเรื่องจิตจะคลาดเคลื่อนว่าจิตที่ไม่มีอารมณ์ก็มีเช่นในขณะที่หลับสนิท ซึ่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้แล้ว ต้องมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ในขณะที่จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น แต่ก็ได้เป็นความจริงที่ว่าใครก็เปลี่ยนไม่ได้ว่าขณะที่หลับสนิทมีจิตใช่ไหม หรือว่าขณะหลับสนิทไม่มี หายไปเลย หมดไปเลย มีแต่รูปขณะนั้น นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องพิจารณาไตร่ตรอง ให้เข้าใจว่าขณะที่นอนหลับสนิทมีจิตไหม ขณะหลับสนิทมีจิตไหม มี แต่อารมณ์ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นจึงมีจิต ๒ ประเภท คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ถ้าไม่ใช่วิถีจิตแล้ว แม้จิตเกิดมีอารมณ์ อารมณ์นั้นก็ไม่ปรากฏ เพราะว่าที่อารมณ์ต่างๆ ปรากฏได้ เช่นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้มีจริงๆ แต่ถ้าไม่มีจักขุปสาท และไม่มีจิตเห็น สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ปรากฏไม่ได้เลย นี่คือความจริง ศึกษาให้ทราบว่าที่ในขณะนี้ดูเป็นธรรมดาว่ามีจิตเห็น แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏธรรมดาๆ อย่างนี้ แต่ทั้งหมดต้องมีปัจจัยที่จะทำให้มีธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่ขณะที่หลับสนิท นี่ก็แสดงให้เห็นว่าการที่สิ่งที่สามารถกระทบจักขุปสาทจะปรากฏได้ ต้องปรากฏกับจิตเห็น และจิตอื่นๆ ที่อาศัยตาเป็นปัจจัย นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าเป็นอย่างนี้เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏโดยไม่อาศัยตาได้ไหม (ไม่ได้) เสียงปรากฏโดยไม่อาศัยหูได้ไหม (ไม่ได้) กลิ่นปรากฏโดยไม่อาศัยจมูกได้ไหม (ไม่ได้) รสปรากฏโดยไม่อาศัยลิ้นได้ไหม (ไม่ได้) สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสขณะนี้ปรากฏได้ไหม ถ้าไม่อาศัยกายปสาทก็ไม่ได้ ถ้าไม่มีจิตที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าที่เราเคยชินกับเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เพราะว่าเป็นจิตที่มีทางที่จะรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้นต้องมีอารมณ์แน่นอน แต่ไม่ใช่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงไม่ใช่อารมณ์ที่เราเห็น และสามารถที่จะรู้ได้ฉันใด เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว กรรมก็ทำให้จิตประเภทเดียวกันเกิดขึ้นสืบต่อเป็นผลของกรรมเดียวกันนั่นเอง ดำรงภพชาติโดยที่ว่าไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้นใครก็จะไปรู้อารมณ์ของจิตที่ไม่ใช่วิถีจิตไม่ได้ แม้ว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นต้องมีอารมณ์ เราสามารถจะรู้สิ่งใดได้โดยต้องอาศัยตาเห็น หูได้ยิน

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเป็นอารมณ์ที่ต่อมาจากจุติจิตหรือฏิสนธิจิตอย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน แต่ก่อนที่จุติจิตจะเกิดขึ้นต้องมีกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดก่อน และจิตที่เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตก่อนจุติจิตก็มีอารมณ์ทางหนึ่งทางใดไม่ใช่ภวังค์ ขณะนั้นก่อนจะตายจะเห็น หรือจะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส จะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส หรือจะคิดนึก มีอารมณ์ใดก็ตาม เมื่อจุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตก็รับอารมณ์นั้นต่อ

    ผู้ฟัง แล้วภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ ภวังคจิตมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตแน่นอน เมื่อปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดสืบต่อทำกิจภวังค์มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต และปฏิสนธิจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน แต่ไม่ใช่จุติจิต เพราะว่าจุติจิต ปฏิสนธิจิต ภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต

    ก็ต้องแยกจิตเป็น ๒ ประเภท จิตที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวาร กับจิตที่รู้อารมณ์โดยอาศัยทวาร และเรียกว่าวิถีจิตเพราะเหตุว่าต้องอาศัยทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ตามทวารนั้นๆ จึงเป็นวิถีจิต

    ผู้ฟัง แล้วจิต ๓ ประเภทนี้ ไม่ใช่วิถีจิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง สมมติว่ามีใครจะตายขณะนี้เป็นไปได้ไหม ได้ ก่อนจุติจิตจะเกิด จิตต้องเป็นกุศลหรืออกุศล แล้วแต่กรรมใดจะเป็นชนกกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิเกิด เลือกไม่ได้เลย ใครๆ ก็เลือกไม่ได้ เพราะว่ากรรมนั้นเป็นปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดต่อจากจุติ เพราะฉะนั้นใกล้จะตาย จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศลแล้วแต่กรรมที่จะให้ผลเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม เมื่อจิตก่อนจะจุติดับไปโดยเป็นกุศลหรืออกุศล แล้วจุติจิตก็เกิด ปฏิสนธิจิตก็มีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้นจิตของทุกคนในขณะนี้มีอารมณ์เดียวกับจิตที่ใกล้จุติของชาติก่อน เวลาที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิตเพราะเหตุว่าเป็นภวังคจิตเป็นผลของกรรมเดียวกัน พอถึงจุติจิตก็มีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ ของชาตินั้นๆ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นทุกๆ จิตมีอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพียงแต่ว่าไม่อาศัยทวารก็มี อาศัยทวารก็มี

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    พระคุณเจ้า มหากุศลจิตที่มี ๘ ดวง มีดวงไหนบ้างที่มีกำลัง

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องประกอบด้วยโสมนัสเวทนา และเป็นอสังขาริก

    ผู้ฟัง กรณีที่เป็นอุเบกขา เป็นอสังขาริก ประกอบด้วยปัญญา จะถือว่ามีกำลังมากไหม

    ท่านอาจารย์ เวทนาที่เป็นอุเบกขาก็ต้องน้อยกว่าเวทนาที่เป็นโสมนัส เวลาที่กุศลจิตเกิดขึ้นจะสังเกตได้ว่าเป็นโสมนัสหรือว่าเป็นอุเบกขา แล้วจะรู้สึกได้ด้วยตัวเองว่าขณะไหนมีกำลังมากกว่ากัน

    ผู้ฟัง อุเบกขาในที่นี้เราจะนำไปเปรียบเทียบกับอุเบกขาในปัญจมฌาณได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นระดับของจิตที่ต่างกัน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นกามาวจรจิต โสมนัสมีกำลังกว่าอุเบกขา แต่ถ้าจิตเป็นภูมิอื่น เช่น รูปาวจรจิต อุเบกขามีกำลังมากกว่าโสมนัส

    ผู้ฟัง ต่อจากเมื่อสักครู่นี้เรื่องของวิถีจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    22 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ