พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 76


    ตอนที่ ๗๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง พิจารณาแล้วอกุศลมากจริงๆ แล้วจะอบรมอย่างไร คือ กุศลไม่เกิดเลย ระยะแรกก็หยาบกระด้าง ระยะหลังๆ ก็กลายเป็นโลภะมากมาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็อบรมเจริญปัญญาด้วยการฟังให้เข้าใจขึ้น เพราะไม่มีเราที่จะไปบังคับ หรือจะไปทำอะไรได้ นอกจากปัญญาทำหน้าที่ของปัญญา

    ผู้ฟัง หากอกุศลเกิดมากๆ ก็ยอมรับไปใช่ไหมว่าเป็นการสะสม

    ท่านอาจารย์ ยอมรับ หมายถึงคุณศุภัสสรไม่รู้ว่าเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ไม่รู้จักอนัตตา

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่ฟังทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจความเป็นอนัตตาของธรรม ประโยชน์สูงสุดคือเช่นนี้ และไม่ใช่เพียงแค่ฟังเท่านั้น ฟังอย่างไร อบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น จึงมีคำว่า "รู้ทั่วถึงธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วหรือ" ฟังๆ จริงแต่รู้ทั่วหรือไม่ เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่ฟัง ยังต้องรู้ด้วย รู้จริงๆ แล้วต้องทั่วด้วย

    ผู้ฟัง เมื่อพิจารณาถึงอเหตุกจิตที่ว่าเป็นจิตไม่ประกอบด้วยเหตุ การเห็น การได้ยิน การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็เป็นผลของอดีตกรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่เราได้ฟังมาเป็นเรื่องที่ท่านผู้รู้ ท่านได้กล่าว และได้แสดงโดยละเอียด แม้แต่ขณะที่เห็น ขณะนี้ก็เป็นผลของกรรม แต่จริงๆ แล้วความรู้ของเราต้องเริ่มที่เมื่อเราได้ยินได้ฟังอะไรก็ตาม สิ่งนั้นกำลังมีให้เข้าใจ เช่น เรื่องของอเหตุกจิต สเหตุกจิต ไม่ใช่ขณะอื่นเลย ขณะเดี๋ยวนี้เอง มีทั้งจิตที่เป็นอเหตุกะที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ และมีทั้งจิตที่เป็นสเหตุกะที่ประกอบด้วยเหตุ เพียงแต่เราไม่ทราบแล้วก็แยกไม่ออก จนกระทั่งเราได้ศึกษา และได้ฟัง เราจึงสามารถที่จะเข้าใจได้ว่าแท้ที่จริงการกล่าวถึงจิตโดยชาติต่างๆ หรือว่าโดยเหตุที่เกิดร่วมด้วยก็คือขณะนี้นั่นเอง

    เพราะฉะนั้น ถ้ามาถึงขณะนี้เดี๋ยวนี้ ที่ทุกคนเห็น มีใช่ไหม เราเรียนแล้วใช่ไหมว่าไม่ใช่เราแต่เป็นจิต และเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกันทำกิจหนึ่ง เพราะว่าจิต และเจตสิกทำกิจหน้าที่แล้วก็ดับไป ไม่มีใครทำ แต่มีความหลงเข้าใจผิดว่าเป็นเรามาตลอด นานมาก จนกระทั่งว่าเป็นธรรมที่เป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ ที่กำลังเห็นขณะนี้เป็นอเหตุกจิต เพราะว่าแค่เห็นใช่ไหม แค่เห็นจริงๆ คือเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วดับ นั่นคือ จักขุวิญญาณเป็นจิตชาติวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรม เพราะเหตุว่าเราเลือกไม่ได้ ไม่มีใครเลือกเลยว่าจะเห็นอะไรใช่ไหม แต่ถึงกาละที่กรรมใดจะให้ผลทางไหน จะให้ผลทางตา ก็คือ จิตเห็นเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นผลของอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นผลคือ "วิปากะ" ในภาษาบาลี แต่ภาษาไทยก็ใช้คำว่าวิบาก เมื่อที่ได้ยินคำว่าวิบากก็เข้าใจได้ทันทีว่า หมายความถึงจิต และเจตสิกซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ต้องเรียกชื่อเต็มว่า "กุศลวิบาก" ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมต้องเรียกจิตที่เป็นผลของอกุศลกรรมว่า "อกุศลวิบาก" ขณะนี้เป็นวิบากจิตหรือไม่ขณะที่กำลังเห็น "เป็น" เป็นอเหตุกะด้วย เพราะเหตุว่าเพียงแค่เห็นแล้วดับ ยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เกิดร่วมด้วยเลย แต่หลังจากนั้นแล้วทรงแสดงไว้โดยละเอียดโดยนัยของพระอภิธรรมว่า ขณะที่จิตเห็นจะเกิดขึ้น ต้องมีกิริยาจิตซึ่งเป็นอเหตุกะด้วย คือ ไม่ประกอบด้วยเหตุ เพียงแต่รู้ว่ามีอารมณ์กระทบทางทวารไหน เช่น ทางตา จักขุทวาราวัชชนจิต หมายความถึง จิตขณะแรกที่เป็นวิถีเกิดรู้ว่าอารมณ์กระทบแต่ว่ายังไม่เห็น จึงเป็นกิริยาจิต เพราะว่าสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ ทาง ไม่ใช่ว่าเฉพาะวิบาก

    ถ้าเป็นอกุศลวิบากก็รู้เฉพาะอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจ ถ้าเป็นกุศลวิบากก็รู้เฉพาะอารมณ์ที่น่าพอใจ อกุศลวิบากเกิดขึ้นจะไปรู้อารมณ์ที่น่าพอใจไม่ได้ และเมื่อกุศลวิบากเกิดขึ้นก็จะไปรู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลยทั้งสิ้น แม้แต่อารมณ์ที่เกิดที่เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าพอใจกระทบกับจักขุปสาท ผู้นั้นมีกรรมที่เป็นเหตุที่ได้กระทำแล้วที่จะทำให้ผลคือจิตเห็นเกิดขึ้น หรือจิตได้ยินเกิดขึ้น หรือจิตได้กลิ่นเกิดขึ้น หรือ จิตลิ้มรสเกิดขึ้น หรือ จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้น ตลอดทั้งวันมีทั้งอเหตุกะ และสเหตุกะ ถ้ามีความเข้าใจจิตที่เป็นประเภทอเหตุกะ ๑๘ ประเภท ต่อไปจะเข้าใจง่ายว่า จิตอื่นทั้งหมดเป็นสเหตุกะ ต้องประกอบด้วยอกุศลเหตุหรือกุศลเหตุ ซึ่งจะเป็นเหตุต่อไปไม่ใช่จิตที่เป็นผล เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นผลของกรรมในวันหนึ่ง ต้องไม่ลืมว่าขณะใดที่เห็นก็เลือกไม่ได้ มีกรรมเป็นปัจจัยที่จะทำให้จิตเห็นเกิดขึ้น เมื่อได้ยินขณะนี้เลือกได้หรือไม่ จะได้ยินเสียงนกเลือกได้หรือไม่ เลือกไม่ได้เลย จะได้ยินเสียงพัดลมก็เลือกไม่ได้เลย แล้วก็ผ่านไปอย่างรวดเร็วคือเกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย

    ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดไม่รู้ ขณะนั้นก็จะไม่เห็นความเป็นธรรมที่เป็นเพียงธาตุที่เกิดขึ้นได้ยิน เกิดขึ้นเห็น เกิดขึ้นรู้กลิ่น เกิดขึ้นลิ้มรส เกิดขึ้นรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เพราะว่าเร็วมากสั้นมากกับผลของกรรมที่เป็นวิบาก

    จักขุวิญญาณ ๒ คือกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ โสตวิญญาณ ๒ ฆานวิญญาณ ๒ ชิวหาวิญญาณ ๒ กายวิญญาณ ๒ รวมเป็น ๑๐ แล้ว มีใครไม่รู้ เหลืออีก ๕ ก็ไม่ยากเลย จิตที่เกิดต่อคือสัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เป็น ๑๒ แล้ว เหลืออีก ๓ ก็คือสันตีรณะที่เป็นอกุศลวิบาก ๑ เป็นกุศลวิบาก ๒ จบเรื่องของอเหตุกวิบาก ในวันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้ต่อจากนั้นแล้วเป็นสเหตุกะทั้งหมด คือ เป็นสเหตุกวิบาก หรือ เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล ถ้าไม่กล่าวถึงกิริยา เพราะว่าจริงๆ แล้ว อเหตุกกิริยาคือกิริยาจิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ คือเกิดต่อจากภวังคุปัจเฉทะซึ่งก่อนที่วิถีจิตจะเกิด จิตจะต้องเป็นภวังค์ก่อน เพราะฉะนั้นภวังค์ทั้งหมดไม่ใช่วิถีจิต

    แต่หลังจากภวังคุปัจเฉทะ คือ ภวังค์สุดท้ายดับแล้ว วิถีจิตต้องเกิด เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตที่เกิดไม่ใช่วิบากเลย เพราะสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทางทวารทั้ง ๕ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกิริยาจิต ซึ่งยังไม่ได้เห็น ยังไม่ได้ยิน เกิดแล้ว รู้แล้วว่าอารมณ์กระทบ นั่นคือกิริยาจิต ๑ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และ มโนทวาราวัชชนจิตอีก ๑ เป็นจิตที่คิดนึกทางใจ เพราะถึงแม้ว่าเราไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เราคิดนึก แต่ไม่ใช่เรา ถ้าจิตนี้ไม่เกิดก็เป็นภวังค์ แต่ถ้าเกิดรู้อารมณ์ทางใจเมื่อใด วิถีจิตแรกต้องเป็นกิริยาจิตที่เป็นมโนทวาราวัชชนจิต

    เพราะฉะนั้นกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะมี ๓ ดวง เพื่อที่จะให้ไม่ลืมจำนวนของอเหตุกะ แล้วก็รู้ว่าเรามีเท่าไหร่ เรามีอเหตุกวิบากครบไหม ๑๕ ดวง ๑๕ ประเภท ใครขาดอันไหนบ้างไหม ๑๐ ดวงนี่ไม่ขาดแน่ เมื่อ ๑๐ ดวงไม่ขาด สัมปฏิจฉันนะต้องมีเกิดต่อ ๒ ดวง สันตีรณะ ๓ ดวงก็ต้องเกิดต่อ แต่ทีละหนึ่งไม่ใช่ ๓ ดวงมาเกิดพร้อมกัน เพราะฉะนั้นทุกคนมีอเหตุกวิบากครบ ๑๕ แต่สำหรับอเหตุกกิริยา ๓ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแรกก่อนจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ต้องมีทุกคนใช่ไหม พระอรหันต์มีไหม เรามีไหม สัตว์มีไหม เปรตมีไหม ก็ต้องมีทั้งนั้น

    ถ้ากล่าวถึงธรรม ไม่มีชื่อเลย ไม่ต้องเรียกอะไรเลย เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างไร ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงตามประเภทของธรรมนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า แม้ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ต้องมีกิริยาจิตที่เป็นปัญจทวาราวัชชนจิตกับมโนทวาราวัชชนจิต และสำหรับมโนทวาราวัชชนจิต จริงๆ แล้วเป็นจิตประเภทเดียวกับจิตที่เกิดต่อจากสันตีรณจิต เพราะเหตุว่าเพียงแค่เห็นแต่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่เห็นเลยใช่ไหม หลังจากเห็นแล้วก็จะมีโลภะ หรือ โทสะ หรือ โมหะ เป็นอกุศลเกิดขึ้น หรือเป็นกุศล แล้วแต่การสะสมเลือกไม่ได้เอง เพราะฉะนั้นเมื่อสันตีรณจิตดับไปแล้ว จิตที่เกิดสืบต่อทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร จะใช้คำว่าตัดสิน หรือจะใช้คำว่ากระทำทาง หรือทำให้กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดต่อ สำหรับผู้ที่ไม่ใช่เพระอรหันต์ แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว หลังเห็นแล้วจิตก็เป็นกิริยา จะไม่เป็นกุศล และอกุศลเลย นี่คือความต่างกันของผู้ที่ดับกิเลสหมดเป็นสมุทเฉท กับผู้ที่แม้เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอริยบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคลก็ยังเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับอกุศลหมด

    แต่สำหรับพระอรหันต์ หลังจากเห็นแล้วจะต่างกับบุคคลอื่นๆ โดยสิ้นเชิง ไม่มีเชื้อของกิเลสที่จะทำให้อกุศล และกุศลเกิดได้เลย เพราะฉะนั้นหลังจากที่ปรินิพพานคือจิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วดับไป จึงไม่มีภพชาติอีกต่อไป แต่สำหรับเราต้องทราบจิตประเภทวิบาก อเหตุกะ ๑๕ แล้วก็กิริยาจิตเรามีเพียง ๒ คือปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่าอเหตุกจิตอีกหนึ่งซึ่งเป็นกิริยาจิตเป็นเฉพาะพระอรหันต์ คือจิตที่ทำให้พระอรหันต์มีการแย้มหรือการยิ้ม ซึ่งต่างกับปุถุชน เช่นเรา ยิ้มเมื่อใด ส่วนใหญ่ยิ้มเมื่อชอบใจ ใช่ไหม และถ้าเป็นกุศลเราก็เบิกบานด้วยเหมือนกัน แต่ให้สังเกตดูความเบิกบานในทางกุศลของเรากับในทางอกุศล ลักษณะต่างกัน เบิกบานในทางอกุศล สนุก ติด แล้วก็สวย อะไรๆ ทุกอย่าง เพราะ อะไรทุกอย่างที่เป็นเรื่องของขณะนั้นเราไม่รู้เลยว่าแท้ที่จริงประกอบด้วยอกุศลเจตสิก แต่ว่าเบิกบานอยู่ในอกุศล เพราะว่าเราคุ้นเคย และชินมาก

    ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ความละเอียดของจิต เพราะว่าเป็นชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตประจำวันก็มีทั้งอเหตุกจิต สเหตุกจิต แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง และก็แม่นยำที่จะเข้าใจได้ไม่คลาดเคลื่อนว่าอกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะมีเพียง ๗ กุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะมี ๘ รวมเป็น ๑๕ กิริยาจิต ๓ เราก็มีเพียง ๒ คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และมโนทวาราวัชชนจิต เพราะว่าเราไม่ใช่พระอรหันต์จึงไม่มีหสิตุปาทจิต ยิ้มได้แต่ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน อาการภายนอกเหมือนกันได้ความเบิกบาน แต่จิตต่างกันมาก นี่ก็แสดงให้เห็นว่าถ้าเราเข้าใจชีวิตประจำวันก็จะไม่ลืมเลย เมื่อถามว่า เห็นเป็นจิตที่ประกอบด้วยเหตุหรือไม่ประกอบด้วยเหตุ ตอบได้แล้วใช่ไหม ยังไม่ประกอบด้วยเหตุแค่เห็น จิตได้ยินประกอบด้วยเหตุหรือไม่ ยังไม่ประกอบด้วยเหตุ แค่ได้ยินใช่ไหม และก็ตามมาด้วยวิบากที่เป็นสัมปฏิจฉันนะ และสันตีรณะ แล้วก็เข้าใจเรื่องของกิริยาจิต ก็จบเรื่องของอเหตุกจิต ๑๘ ดวง

    แต่หลังจากนั้นสำคัญกว่า เพราะว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ซึ่งขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิดหรืออกุศลจิตเกิด ดับไปแล้ว แต่เก็บสะสมสืบต่อ ทำให้แต่ละคนมีอัธยาศัยแตกต่างกัน ถ้าสะสมอกุศลประเภทใดมาก ก็จะปรากฏการเกิดเพราะมีปัจจัยที่ได้สะสมมามากที่จะให้เป็นอย่างนั้น บางคนขี้โกรธใช่ไหม บางคนก็ไม่ค่อยโกรธแต่โลภ ติดไปหมดเลยต้องการทุกอย่าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าเราไปในห้างสรรพสินค้าหรือไปตลาดนัด หรือไปที่ไหนจะสังเกตได้เลย มีใครชอบทุกอย่างบ้าง สิ่งนั้นก็สวย สิ่งนี้ก็ดี อยากได้ไปหมดทุกสิ่ง แต่บางคนก็น้อยกว่านั้นใช่ไหม ไม่ถึงกับว่าอยากได้ไปทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง นี่ก็แสดงให้เห็นอัธยาศัยที่ต่างกัน

    ทำไมเราจึงอยู่ตรงนี้ เราไม่ไปที่อื่น ก็ตามการสะสมในอดีตที่ได้เคยกระทำมาแล้ว คือ การสนใจ ใส่ใจ ที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องเข้าใจจริงๆ ว่าศึกษาเพื่ออะไร ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่นทั้งหมด นอกจากเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะการที่จะได้เข้าใจเช่นนี้ไม่ง่าย ไม่มีเหตุปัจจัยที่เคยสะสมมาแล้วก็จะไม่ฟัง และจะไม่เห็นประโยชน์ และจะไม่ศึกษาต่อไป แต่ว่าผู้ที่ได้สะสมศรัทธามาแล้ว และสะสมปัญญามาในอดีต ก็ได้เห็นประโยชน์ แม้การฟังเรื่องเห็นมีจริง เป็นสภาพธรรม ไม่ใช่เรา และก็แค่เห็นอย่างเดียว หรือว่าได้ยินทางตา หู จมูก ลิ้น กายทั้งหมด เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งเราผ่านมาแล้วมากมายในอดีต หลายชาติ มากมายในชาตินี้ แต่ความละเอียด และก็ความลึกซึ้งของสิ่งที่เราคิดว่าเป็นธรรมดามากมาย เช่นทรงแสดงสิ่งที่มี ที่กำลังปรากฏอย่างรวดเร็วในขณะนี้ สลับกันทางตา ทางหู ทางใจ แสดงให้เห็นว่าเป็นขันธ์ เริ่มมีคำใหม่ที่จะแสดงให้เห็นว่าเพราะอะไร เพราะว่าสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏไม่ใช่ของเก่าเลย เราคิดว่าเหมือนเห็นสิ่งที่ปรากฏตลอดเวลา แต่ความจริงสิ่งนั้นมีถ้าเป็นรูปที่เป็นสภาวรูปจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ดับแล้วหมดแล้ว หลากหลายมากมาย แต่ทั้งหมดที่เป็นรูปก็เป็นรูป จะเป็นอื่นไปไม่ได้ นี่ก็แสดงถึงสิ่งที่มีที่ทรงแสดงโดยนัยประการต่างๆ ทั้ง ๔๕ พรรษา จากสิ่งซึ่งดูเหมือนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น ก็เริ่มเข้าใจชีวิตจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อย จากอเหตุกจิตมาถึงสเหตุกจิต

    คำถามครั้งก่อน ถามว่า วิบากจิตที่เป็นอเหตุกะกับวิบากจิตที่เป็นสเหตุกะ ประเภทใดดีกว่ากัน มีวิบากจิต ๒ ประเภท วิบากจิตที่เป็นอเหตุกะหมายความว่าไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย เพราะกรรมใดที่ได้กระทำแล้วต้องให้ผล แต่สำหรับอกุศลกรรมให้ผลได้เพียงแค่อกุศลวิบากที่เป็นอเหตุกะทั้ง ๗ ไม่ประกอบด้วยเหตุเลยสักเหตุเดียว ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ถ้าไม่คิดถึงสถานที่ ปลาเห็นกับคนเห็น เทวดาเห็น เห็นเป็นเห็น แต่ถ้ารูปร่างปลา เราบอกว่าปลาเห็น ถ้ารูปร่างคน เราบอกว่าคนเห็น ถ้าเทวดาเราก็บอกว่าเทวดาเห็น แต่เห็นเป็นเห็น เป็นอเหตุกะ ไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมไม่ได้เลย ขณะใดที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นอเหตุกะ ยังไม่ประกอบด้วยเหตุใดๆ แต่หลังจากนั้นแล้วจึงจะมีเหตุเกิดร่วมด้วยเป็นสเหตุกะทั้งหมด นอกจากอเหตุกจิต ๑๘ จิตที่เหลือทั้งหมดกล่าวได้ว่าเป็นสเหตุกะทั้งหมด เช่นนี้ก็ไม่ยากใช่ไหมที่จะจำ แล้วคำตอบว่าอย่างไร ที่ถามว่าวิบากจิตเป็นผลของกรรม เมื่อกรรมกระทำไปแล้วถ้าเป็นอกุศลกรรมให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ๗ ดวงเท่านั้น แต่ถ้าเป็นทางฝ่ายกุศลกรรมให้ผล ๒ อย่าง คือให้ผลเป็นอเหตุกวิบากกับสเหตุกวิบาก นี่เริ่มมีความต่างที่จะเข้าใจได้ว่าเหตุใดต่าง ต่างเพราะอะไร แล้วก็ต่างเมื่อใด แต่ก็จะค่อยๆ เข้าใจไปเพื่อที่จะเป็นการทบทวน เพื่อที่จะเป็นการรู้ว่า ความจริงแล้วอะไรเป็นอะไร เช่น อเหตุกวิบากกับสเหตุกวิบาก ประเภทใดดีกว่ากัน สเหตุกวิบากดีกว่าเพราะเหตุใด

    ผู้ฟัง เพราะว่ามีเหตุ

    ท่านอาจารย์ เหตุอะไร

    ผู้ฟัง อโลภะ อโทสะ อโมหะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง มีโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นแม้แต่เพียงวิบากซึ่งต่างกัน ก็เพราะว่าวิบากประเภทหนึ่งซึ่งเป็นอกุศลวิบากทั้งหมดไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่สำหรับผลของกุศลกรรมที่เป็นอเหตุกะไม่มีเหตุร่วมด้วยก็มี และที่มีเหตุร่วมด้วยก็มี และภายหลังจะรู้ว่าที่ต่างกัน และดีกว่ากันเมื่อใด เพราะเหตุใด

    ผู้ฟัง การเห็นดี เห็นไม่ดี ได้ยินดี ได้ยินไม่ดี ได้กลิ่นดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสดี ลิ้มรสไม่ดี กระทบสัมผัสดี และกระทบสัมผัสไม่ดี ล้วนมาจากเหตุใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ผู้ฟัง และย่อมมีเหตุมาก่อนในอดีตถึงจะให้ผลเป็นวิบาก

    ท่านอาจารย์ กุศลกรรม และอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิดซึ่งเป็นอเหตุกะด้วย เพราะว่ากรรมที่ได้กระทำแล้วต้องทำให้วิบากเกิด แม้วิบากนั้นไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็เกิดได้เป็นผลของกรรม ส่วนวิบากที่มีเหตุเกิดร่วมด้วยก็มี

    อ.กุลวิไล เรียนถามท่านอาจารย์ถึงความต่างกันระหว่างสันตีรณกิจที่เป็นอุเบกขาสันตีรณกิจที่เป็นฝ่ายกุศลที่ปฏิสนธิเป็นมนุษย์ที่พิการแต่กำเนิด หรือว่าโสมนัสสันตีรณกิจที่ทำกิจเพียง๒ กิจเท่านั้นก็คือสันตีรณกิจ และตทาลัมพนกิจ แต่ถ้าเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำได้ถึง ๕ กิจซึ่งรวมทั้งปฏิสนธิ ภวังค์ จุติด้วย จะเรียนถามท่านอาจารย์ถึงเหตุใดอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจึงทำได้ ๕ กิจ แต่โสมนัสสันตีรณะจึงทำได้เพียง ๒ กิจ

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นก็ต้องทราบว่า เวลาที่อกุศลกรรมให้ผลทำให้อกุศลวิบาก ๗ ประเภทเกิดคือ จักขุวิญญาณอกุศลวิบาก โสตวิญญาณอกุศลวิบาก ฆานวิญญาณอกุศลวิบาก ชิวหาวิญญาณอกุศลวิบาก กายวิญญาณอกุศลวิบาก ๕ ประเภทแล้วใช่ไหม เหลืออีก ๒ จิต ๕ ดวงทำปฏิสนธิกิจได้ไหม เพราะว่าผลของกรรมต้องทำให้เกิดด้วย ต่างกับเวลาที่เป็นมนุษย์หรือเกิดในภูมิที่สูงขึ้นไปก็จะประณีตขึ้น แต่ว่าสำหรับกรรมที่เป็นอกุศลที่ทำแล้ว ถ้าไม่ให้ผลทำให้เกิดก็ดีใช่ไหม แต่เพราะว่ามีภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของอกุศลกรรม เกิดเป็นเปรต เกิดในนรก เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นอสูรกาย ชื่อว่าอบายภูมิ ๔ เป็นผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นต้องมีจิตหนึ่งซึ่งเป็นวิบากทำปฏิสนธิกิจ ในบรรดาอกุศลวิบาก ๗ ดวง ๕ดวงนี้ทำไม่ได้แล้วใช่ไหม และสำหรับสัมปฏิจฉันนะก็เกิดสืบต่อจากจิต ๕ ดวงนี้ เมื่อจักขุวิญญาณเกิดทำกิจเห็น เกิดที่จักขุปสาทรูป แล้วมีสัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ เกิดที่หทยวัตถุ สันตีรณะก็เกิดที่หทยวัตถุด้วย ไม่ใช่เกิดเป็นจักขุวิญญาณ เพราะฉะนั้นในบรรดาอกุศลวิบาก ๗ ดวง เฉพาะสันตีรณอกุศลวิบากที่ทำปฏิสนธิกิจ เพราะว่าเกิดที่ฐานที่ได้มีกำลังแล้ว เพราะได้เกิดเป็นขณะที่ไม่ใช่ต่อจากจิตที่เกิดทางจักขุปสาท หรือโสตปสาท เป็นต้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ