พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 93


    ตอนที่ ๙๓

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ สำหรับทางกายทางเดียวเท่านั้นซึ่งเมื่อกระทบสัมผัสแล้วจะต้องเป็นปัจจัยให้เกิดสุขเวทนา ความรู้สึกสบาย หรือ ทุกขเวทนาซึ่งไม่สบาย นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้นว่าความจริงเป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง ภวังคจิต ปฏิสนธิจิต จุติจิต ซึ่งไม่ได้เป็นจิตที่เป็นวิถี เวทนาที่เกิดร่วมด้วยเป็นอุเบกขา หรือไม่

    ท่านอาจารย์ นี้ก็คือความสงสัย แต่ผู้ที่เริ่มฟัง หรืออาจจะมาวันนี้ก็คงจะมี จึงจะต้องพูดถึงเรื่องของภวังค์ก่อน ถ้าพูดถึงภวังค์ก็หมายความถึงจิตแน่นอน รูปไม่เป็นภวังค์ เพราะว่าคำว่า “ภวังค์” หมายความถึงสภาพที่ดำรงภพชาติ มาจากคำว่า “ภวะ” กับ “อังคะ” จิตซึ่งเกิดขึ้น และทำกิจดำรงภพชาติจนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้ายซึ่งจะทำให้เคลื่อนพ้นจากการเป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าสำหรับภวังคจิต ถ้าพูดถึงภวังค์หมายความถึงกิจของจิต เพราะว่าการที่จะกล่าวถึงจิตกล่าวได้โดยหลายนัย กล่าวโดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ได้ เช่น โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ถ้ากล่าวแบบนี้ก็แสดงว่าจิตมีโลภะเป็นมูล เป็นเหตุ เป็นรากที่มั่นคงที่ทำให้จิตนั้นเกิดขึ้น คือ โลภมูลจิต แต่ถ้ากล่าวถึงจักขุวิญญาณ (จิตเห็น) หมายความว่าขณะนั้นมีจักขุปสาท แล้วก็มีวิญญาณคือสภาพที่รู้โดยต้องอาศัยจักขุปสาท

    เพราะฉะนั้นเมื่อที่กล่าวถึงภวังคจิตหมายความถึงกิจหน้าที่ของจิต เพราะว่าจริงๆ แล้วไม่มีเราทำงาน ไม่มีเลย เพราะว่าไม่มีเราสักขณะหนึ่ง มีแต่จิต เจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงานเฉพาะจิตนั้นๆ ที่มีเจตสิกประเภทนั้นๆ เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวถึงปฏิสนธิจิตเป็นจิตขณะแรก เรียกจิตนี้ตามกิจคือเกิดขึ้นสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน การที่ปฏิสนธิจิตขณะแรกเกิดขึ้นในชาตินี้ได้ต้องมีจุติจิตของชาติก่อนดับไป เคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้น และกรรมที่เป็นชนกกรรรมคือกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิก็ทำให้วิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมนั้นเกิดขึ้นทำกิจแรกในภพหนึ่งชาติหนึ่ง คือ ปฏิสนธิกิจ ในชาติหนึ่งๆ จะมีปฏิสนธิจิตหลายขณะได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ต้องมีขณะเดียว ชาติหนึ่งจะมีจุติจิตหลายๆ ขณะได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ชาติหนึ่งจะมีภวังคจิตหลายๆ ขณะได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าดำรงภพชาติระหว่างที่ยังไม่มีการเห็น ยังไม่มีการได้ยิน ยังไม่มีการได้กลิ่น ยังไม่มีการลิ้มรส ยังไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังไม่มีการคิดนึกใดๆ เลย ในขณะนั้นรู้ตัวไหมว่าเป็นใคร ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการลิ้มรส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึกใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่จิตกำลังเกิดดับทำภวังคกิจดำรงภพชาติ ขณะนั้นรู้ไหมว่าเป็นใคร

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ชื่ออะไรรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ อยู่ที่ไหนรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ มีญาติพี่น้อง

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ มีทรัพย์สมบัติ

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีเมื่อคิด แต่ขณะที่จิตไม่ได้เกิดขึ้นเลยจะมีอะไรนอกจาก “เรา” ก็ไม่มี แต่มีจิตเกิดขึ้นเกิดดับดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะเห็นเมื่อใด ได้ยินเมื่อใด ได้กลิ่นเมื่อใด ลิ้มรสเมื่อไหร่ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเมื่อใด คิดนึกเมื่อใด ขณะนั้นไม่ใช่ภวังคจิต เพราะฉะนั้นในขณะที่เป็นภวังคจิตต้องเป็นจิตชาติวิบากเป็นผลของกรรมที่ทำให้ยังไม่ตาย เกิดแล้วก็ยังตายไม่ได้ เกิดมาแล้วก็ตายไปจะมีประโยชน์อะไร กรรมยังไม่ได้ให้ผลเพียงพอ เพราะฉะนั้นก็จะไม่ได้ทำให้เพียงแค่ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ ยังทำให้ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อ ปฏิสนธิจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม

    ผู้ฟัง มี เพราะว่าจิตทุกดวงต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ จิตใดไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ต้องยืนยันว่าไม่มี จิตใดไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องบอกว่าไม่มี แล้วเวลาที่จิตเกิดขึ้นกำลังรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จิตนั้นมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่ปฏิสนธิ ไม่มีใครรู้สึกตัวเลย ขณะแรกไม่มีใครรู้สึกตัวเลย ขณะที่จุติก็อย่างนั้นเลย ไม่มีใครรู้สึกตัว สบายมาก เห็นอย่างนี้ จุติจิตเกิดก็ได้ ไม่ทันต้องตกใจเกรงกลัวอะไรเลยแล้วแต่กรรมว่าจะทำให้จุติจิตเกิดเมื่อใด ฉะนั้นผู้ที่เข้าใจธรรมก็จะไม่หวั่นไหว กำลังปวดกำลังเจ็บเข้าใจว่าจะตายก็ไม่ตายก็เป็นแค่ปวดเจ็บเพราะว่าจุติจิตไม่เกิด ฉันใด ถ้าใครคิดว่ากำลังใกล้จะตายทรมานมากเป็นโรคภัยไข้เจ็บปวดอย่างนี้ แต่เมื่อจุติจิตเกิดจริงๆ ก็คือไม่รู้ตัว ก็เกิดแล้วในชาติต่อไป ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกรงกลัวหวั่นเกรงเลย ถ้าคิดว่าจะสูญเสีย มาอีกแล้วต้องเป็นคนใหม่ มีเห็น มีได้ยิน มีทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนชาตินี้ที่จากชาติก่อนมาก็มาสู่การเป็นบุคคลนี้ เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกเกิดร่วมกับปฏิสนธิจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ เกิดร่วมกับภวังคจิต หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ เกิดร่วมกับจิตได้ยิน หรือไม่

    ผู้ฟัง เกิดร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิดกับจิตใด

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี แน่นอน เพราะว่าต้องเป็นสังขารขันธ์ซึ่งมีเจตสิกปรุงแต่งเกิดขึ้น คำถามของคุณสุกัญญาหมายความว่าปฏิสนธิจิตจะมีเวทนาอะไร?จะเป็นอุเบกขา หรือไม่ ในความเป็นจริง ความรู้สึกที่เป็นอุเบกขาเป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นวิบากผลของกุศล อกุศลก็ได้ เป็นกิริยาก็ได้ จิตมี ๔ ชาติ เพราะว่าจิตที่เกิดมาต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ไม่ใช่ชาติจีนชาติไทย แต่เป็นชาติของจิตว่าเป็นกุศล เกิดขึ้นเป็นกุศล จะเปลี่ยนให้เป็นอกุศลไม่ได้ เกิดแล้วเป็นกุศลแล้วดับ ถ้าเกิดขึ้นเป็นอกุศล ก็จะเปลี่ยนอกุศลนั้นให้เป็นวิบากก็ไม่ได้ เพราะว่าเกิดแล้วเป็นอกุศลแล้วก็ดับ ถ้าจิตที่เกิดขึ้นแล้วเป็นผลของกรรมไม่ว่าจะนานแสนนานมา แต่กรรมก็เป็นสภาพที่มีพลังแรงจริงๆ จะทำให้วิบากจิต และกัมมชรูปเกิดได้ไม่ว่าจากแสนโกฏิกัปป์ที่กรรมนั้นดับไปแล้วก็ได้ ถ้ากรรมนั้นยังสามารถเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด วิบากจิตนั้นก็เกิดเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นสำหรับอุเบกขาเวทนาเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ อกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ สำหรับกิริยาจิตส่วนใหญ่เป็นของพระอรหันต์ สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็มีกิริยาจิตซึ่งเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาเท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ โสมนัสก็มี พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงมีโสมนัสเวทนา และมีอุเบกขาเวทนา มีทุกขเวทนาเพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีกายอยู่ ทุกข์กายก็ต้องเกิด สุขกายก็มี แต่ไม่มีโทมนัสเวทนา เพราะเหตุว่าโทมนัสเวทนาเกิดกับโทสมูลจิต คือ จิตที่เกิดร่วมกับความหยาบกระด้างที่เป็นโทสะ ทุกคนก็คงรู้จักลักษณะของโทสะ ขณะนั้นเวทนาไม่สบายแน่ๆ ที่เกิดร่วมกับโทสะ เพราะฉะนั้น คนส่วนใหญ่จะไม่ชอบโทสะ เพราะเหตุว่าเกิดร่วมกับโทมนัสเวทนา

    สำหรับโทมนัสเวทนาเวทนาเดียวเท่านั้น ที่เป็นอกุศลจะไม่เกิดกับวิบากจิต ต่อไปก็จะทราบว่าเวทนาที่เกิดกับวิบาก เช่น ทุกขเวทนา สุขเวทนาทางกาย หรืออุเบกขาเวทนาซึ่งเป็นวิบากเพราะเกิดกับจิตเห็น จิตได้ยินพวกนี้ก็แยกไปละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต เป็นวิบากจิต จะไม่มีโทมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วยเลย แต่จะมีโสมนัสก็ได้ อุเบกขาก็ได้ ถ้าแยกทุกข์ทางกายกับทุกข์ทางใจ ทุกข์ทางใจก็เป็นโทมนัสเวทนาเป็นชาติอกุศล สำหรับทางกายก็เป็นวิบาก ปฏิสนธิจิตไม่ใช่วิบากจิตที่รู้อารมณ์ทางกาย เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตก็ไม่มีทุกขเวทนา ไม่มีสุขเวทนา ไม่มีโทมนัสเวทนาเลย จะเหลือเพียงอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนาเท่านั้น

    ผู้ฟัง ปัจจุบันคนที่เรียนสูงจนกระทั่งถึงปริญญาเอก หรือว่าเรียนแพทย์เรียนวิศวะ จำเป็นไหมว่าคนพวกนี้จะต้องเป็นติเหตุกปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าเหตุ ๓ คืออะไร ที่ว่าเป็นอเหตุกะ เป็นทวิเหตุกะ เป็นติเหตุกะ เพราะสภาพธรรมมีจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้นเหตุ ได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ ถ้ากล่าวโดยปรมัตถธรรม ๓ เหตุนี้เป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิกทั้ง ๓ เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราเลย ขณะที่โกรธเมื่อไหร่ก็คือโทสเจตสิกเกิด ขณะที่ติดข้องเมื่อไหร่ก็โลภเจตสิกเกิด ขณะที่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงขณะนั้นก็โมหเจตสิกเกิด ทั้ง ๓ เหตุเป็นอกุศลชาติเดียว เป็นวิบากไม่ได้ ถ้าโลภะเกิดเมื่อใดเป็นเหตุที่เป็นอกุศล ถ้าโทสะเกิดเมื่อใดก็เป็นเหตุที่เป็นอกุศล ถ้าโมหะเกิดเมื่อใดก็เป็นเหตุที่เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นขณะปฏิสนธิเป็นผลของอกุศลกรรมซึ่งอกุศลกรรมก็ต้องมีอกุศลเหตุ คือโลภเหตุ โมหเหตุ หรือโทสเหตุ โมหเหตุ ทำให้เกิดอกุศลกรรมนั้นๆ เป็นเหตุ เกิดแล้วดับแล้ว แต่เมื่อเป็นปัจจัยให้เกิดผล โลภะ โทสะ โมหะ จะเกิดร่วมกับวิบากไม่ได้เลย เป็นได้ชาติเดียวคือเป็นอกุศล เป็นกุศลไม่ได้ เป็นกิริยาไม่ได้ เป็นวิบากไม่ได้ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นผลของอกุศลกรรม แต่อกุศลเจตสิกจะเกิดกับวิบากจิตไม่ได้ เพราะเหตุว่าทั้ง ๓ เหตุนี้เกิดเมื่อใดเป็นเหตุ คือ เป็นอกุศลเหตุเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ผลของอกุศลกรรมทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นอกุศลวิบากเกิด ถ้าเราศึกษาโดยชื่อเพราะว่าอกุศลวิบากจะมีบอกไว้เลยว่ามีเท่าไหร่ ไม่มากเลย เพียง ๗ ประเภทเท่านั้นเอง และประเภทหนึ่งก็คืออุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำปฏิสนธิกิจ ไม่มีเหตุใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นอเหตุกปฏิสนธิ เริ่มจากการที่ว่าปฏิสนธิก็หลากหลาย ปฏิสนธิที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยเลย และก็ปฏิสนธิที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ หรือ ๓ เหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินว่าปฏิสนธิไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ทราบเลยว่าต้องเป็นอกุศลวิบากปฏิสนธิเป็นผลของอกุศลกรรม ปฏิสนธิจิตของนกเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอกุศลวิบาก

    ท่านอาจารย์ ประเภทไหน อเหตุกะ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะถ้ากล่าวโดยเหตุ ยังไม่กล่าวโดยประเภทของจิตที่ทำกิจนั้นก็ทราบว่าเป็นอเหตุกะ ปฏิสนธิจิตของช้างเป็นอะไร

    ผู้ฟัง อเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ อเหตุกปฏิสนธิอกุศลวิบาก มด งู ช้าง นก หรือรูปร่างน่ารักสวยงาม เป็นสุนัขพันธุ์ต่างๆ หรืออะไร ก็คือปฏิสนธิทั้งหมดของภูมินั้นคือภูมิของสัตว์เดรัจฉานก็เป็นอเหตุกะ ถามว่า ในนรก จิตอะไรทำปฏิสนธิ อเหตุกอกุศลวิบาก คือ อกุศลวิบาก และเป็นอเหตุกะด้วย เพราะเหตุว่าจะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับอกุศลวิบาก เปรต ปฏิสนธิจิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง อเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ ทุกคนที่จากโลกนี้ไปแล้ว ถ้ายังไม่ใช่พระโสดาบันบุคคล มีสิทธิ์ไหม ที่อกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วจะทำให้เกิดในอบายภูมิได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นภูมิใด แต่ที่ได้มาเกิดในภูมิมนุษย์ก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรม สำหรับเหตุที่เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากมีเฉพาะทางฝ่ายที่เป็นผลของกุศลกรรมเท่านั้น แต่กุศลกรรมก็ต่างกัน บางกรรมก็จะมีอโลภะ อโทสะเกิดร่วมด้วย แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย หากได้พิจารณาถึงกุศลในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าไม่ประกอบด้วยอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก จะเป็นกุศลไม่ได้เลย แต่ขณะใดที่เป็นกุศลแม้ว่าจะเล็กน้อยสักเท่าไหร่ ขณะนั้นก็ต้องมีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณเจตสิกอื่นๆ แต่โสภณเจตสิกอื่นไม่ใช่เหตุ เพราะว่าเหตุจะมีเพียง ๖ เท่านั้น ทางฝ่ายอกุศล คือ โลภเจตสิก โทสเจตสิก โมหเจตสิก เป็นอกุศลเหตุ แต่ทางฝ่ายดีงาม คือฝ่ายกุศลที่เป็นเหตุ จะมีอโลภเจตสิก คือไม่โลภ ไม่ติดข้อง อโทสเจตสิก ไม่ขุ่นเคือง ไม่หยาบกระด้าง และอโมหเจตสิก คือ ปัญญาเจตสิก นี่เป็นเหตุฝ่ายดี

    เพราะฉะนั้น สำหรับทางกุศล เวลาที่ได้กระทำกรรมซึ่งเป็นเหตุ เราก็สามารถที่จะรู้ตัวของเราได้ ว่ากรรมที่เรากระทำในขณะนั้นประกอบด้วยเหตุ ๒ หรือเหตุ ๓ ถ้าเป็นการให้ทาน การช่วยเหลือบุคคลอื่น การอนุโมทนาในกุศล หรือ การที่จะเป็นผู้ที่มีกิริยาวาจาที่อ่อนน้อม เหล่านี้ก็เป็นกุศล ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบก็ตาม แต่ต้องประกอบด้วย ๒ เหตุคือ อโลภเจตสิก และ อโทสเจตสิก แน่นอน เพราะฉะนั้นเวลาที่วิบากจิตเกิดขึ้นเพราะผลของกรรมประเภทที่ประกอบด้วยเพียงอโลภะ และอโทสะ กรรมนั้นไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ดังนั้นผลเกิดขึ้นจากกรรมนั้นจะเอาปัญญามาแต่ไหนที่จะเป็นผลของกรรมนั้น ที่จะทำให้วิบากนั้นเกิดร่วมกับปัญญา เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผลของกรรมที่เป็นทวิเหตุกะ คือ ทวิ แปลว่า ๒ และจะใช้คำว่า “ทุ” ก็ ๒ เหมือนกัน ทวิเหตุกะ คือ กรรมใดที่ประกอบด้วยเหตุเพียง ๒ เหตุคือ อโลภะ อโทสะ เวลาที่เป็นผลของกรรมนั้นเกิดขึ้น กุศลวิบากนั้นก็ประกอบด้วยอโลภะ และอโทสะ แต่เป็นชาติวิบาก เพราะเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    แต่ถ้ากรรมใดเป็นกรรมที่ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และปัญญาเจตสิกที่มีกำลังพอสมควร ก็จะทำให้ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ และอโมหะ คือ ปัญญาเจตสิก แต่ถ้าเป็นปัญญาอ่อนๆ เกือบจะไม่ใช่ปัญญาที่สามารถจะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม หรือเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม เพียงแต่เข้าใจเพียงเหตุผล เช่น ความกตัญญูเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งเข้าใจถูก หรือเห็นว่าการเข้าใจธรรมแม้ว่ายังไม่ได้ศึกษาเลยแต่ก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่จริงๆ แล้วมีก็เพียงแต่น้อยมากที่จะเห็นถูกว่าการศึกษาธรรมจะทำให้เกิดความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสภาพธรรม แต่ยังไม่ได้ศึกษาจนกระทั่งเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นกุศลเล็กๆ น้อยๆ ที่มีปัญญาเพียงขั้นเข้าใจแบบนั้น ถ้ากรรมนั้นให้ผลก็จะทำให้ปฏิสนธิเป็นทวิเหตุกะได้ สำหรับกรรมที่เป็นติเหตุกะก็จะให้ผลตั้งแต่เป็นอเหตุกะ ทวิเหตุกะ และติเหตุกะ ก็เป็นเรื่องที่ว่าเราก็พิจารณาชีวิตของเรา และก็สามารถที่จะเข้าใจเหตุ และผลของสิ่งที่ได้กระทำแล้ว และผลที่จะเกิดขึ้น เพียงแต่ไม่รู้ว่ากรรมที่ได้กระทำในชาติหนึ่งๆ ไม่ใช่กรรมเดียว แต่มากมายหลายกรรม รวมทั้งกรรมในชาติก่อนๆ ด้วย ก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่ากรรมไหนพร้อมที่จะให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ก็ให้ทราบว่าถึงอย่างไรก็ต้องมีผล ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็ต้องให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ถ้าเป็นกุศลกรรมก็ให้ผลเป็นกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง แล้วจะสรุปได้ไหมว่าคนที่เรียนถึงปริญญาระดับสูงเป็นดอกเตอร์ เรียนวิศวะ เรียนแพทย์ ปฏิสนธิด้วยติเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ เกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นผลของกุศลกรรม ไม่ว่าจะจบปริญญาเอก หรือไม่จบปริญญาเอก จะศึกษาจะเรียนระดับอนุบาล หรือประถม หรือมัธยมก็ตามแต่ การเกิดเป็นมนุษย์เป็นผลของกุศลกรรม แล้วหากเรากล่าวว่ากรรมที่ประกอบด้วยปัญญาให้ผลเป็นวิบากที่ประกอบด้วยปัญญาพร้อมด้วยเหตุ ๓ คืออโลภะ อโทสะ อโมหะ คือปัญญาเจตสิก ต้องค่อยๆ เข้าใจว่าปัญญาเจตสิกคืออะไร ไม่ใช่ปัญญาที่เราเรียกว่าปัญญา เราเรียกได้ เราพูดได้ ในสมุดพกก็มีทั้งสติ ทั้งปัญญา เด็กคนนี้ นักเรียนคนนี้สติปัญญาดี แต่เราพูดในภาษาไทย แต่ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นเจตสิกที่เป็นปัญญาเจตสิก คือ ความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในสภาพธรรม เช่น ขณะที่กำลังฟังธรรม เข้าใจว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา คนที่เรียนปริญญาเอกสาขาอื่นสามารถที่จะคิดเองเข้าใจเองได้ไหมว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าปัญญาเจตสิกไม่ใช่เป็นเรื่องสมมติบัญญัติ เพราะการศึกษาทางโลกทั้งหมด ไม่ได้เข้าใจสภาพปรมัตถธรรม ไม่เข้าใจตัวจริงของธรรม แต่เข้าใจว่ามีเราซึ่งมีความรู้ระดับขั้นปริญญาเอก โดยไม่รู้เลยว่าขณะนั้นก็คือจิต และเจตสิกซึ่งเกิดดับตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะเป็นการสำคัญตนซึ่งเป็นอกุศล หรือว่าจะเป็นความติดข้องในความรู้ทางโลก หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ศึกษาสภาพธรรมที่มีภาวะของธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง คนที่ไม่ได้ปริญญาใดๆ เลย แต่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ไหม ถ้าเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นปัญญาเจตสิกไม่ใช่ปัญญาในภาษาไทย คือทั้งหมดเป็นการศึกษาเรื่องบัญญัติ เรื่องราวของสภาพธรรมจากความทรงจำเป็นวิชาการต่างๆ คือเป็นเพียงความคิดนึกเรื่องราวของสภาพธรรมซึ่งเป็นสมมติบัญญัติแต่ไม่ใช่การศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรม ที่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าทุกวิชาการเป็นบัญญัติ ไม่ใช่การรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมเลย ไม่ว่าจะเป็นวิชาแพทย์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม หรือ วรรณคดี หรืออะไรทั้งหมด แม้แต่ในขณะนี้เองที่กำลังฟังเรื่องธรรม ถ้าตราบใดที่ไม่ได้มีการรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นลักษณะแท้จริง เช่น แข็งก็คือแข็ง เสียงก็คือเสียง ไม่ได้รู้ไม่ได้เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็เป็นเพียงการเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ก็ต่างกับทางโลกซึ่งทางโลกเป็นการเข้าใจเรื่องราวของบัญญัติของธรรม แต่การฟังธรรมเป็นการเข้าใจเรื่องราวของปรมัตถธรรม แต่ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจนกว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะรู้ตรงลักษณะธรรมดาๆ อย่างนี้ไม่เปลี่ยนเลย แต่ค่อยๆ มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง หรือแต่ละลักษณะ นั่นจึงจะเป็นการศึกษาลักษณะจริงๆ เพื่อเข้าใจถูกต้อง เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา จนกว่าจะสมบูรณ์ถึงกาละที่รู้แจ้งสัจจธรรม

    ผู้ฟัง ที่สนทนาเรื่องผลของกรรมซึ่งจะทำให้เกิดปฏิสนธิจิต นี่หนึ่งประเด็นซึ่งทุกคนก็เข้าใจแล้ว ประเด็นที่สองก็คือการสะสม เรียนถามว่าเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร ๒ อย่างนี้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ