พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 120


    ตอนที่ ๑๒๐

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แต่ขณะใดก็ตามที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพนั้น ขณะนั้น รู้ว่ามีแต่ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องราวมีลักษณะนั้นจริงๆ แต่ว่าสิ่งที่มีจริงนี่ก็เกิดดับเร็วมาก มีแล้วหามีไม่ ทั้งหมดตลอดชีวิต เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับเร็ว เหลือแต่เพียงเรื่องราวความทรงจำเช่น ในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เกิดแล้วดับแล้วเร็วมาก แต่มีเรื่องราวของความทรงจำว่าเป็นคน เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ นั่งอยู่ที่นี่ อยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นตลอดชาติสิ่งที่ยังเหลืออยู่ก็คือความทรงจำ ในเมื่อรูปขันธ์ นามขันธ์ก็เกิดแล้วดับแล้วทั้งหมดเลย แต่ว่าความทรงจำเรื่องราวของสิ่งที่มีอยู่ ทำให้ยากที่จะพรากจากความเป็นเราที่ยึดถือด้วยความไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วไม่มี มีแต่ปรมัตถธรรม แต่กลับเข้าใจว่ามีเรื่องราวจริงๆ ไม่รู้เลยว่าปรมัตถธรรมมีเมื่อไหร่ เกิดดับอย่างไร นี่ก็แสดงให้เห็นว่ากว่าเราจะค่อยๆ เข้าใจสภาพธรรมตรงขึ้น และก็รู้จริงๆ ก็ต้องอบรม และเป็นความเห็นที่ต้องตรงด้วย แม้แต่โลภมูลจิตจะกล่าวโดยรวมก็คือว่ามีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็มี ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็มี ไม่ใช่ไปเข้าใจว่า ต้องมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยตลอดเวลา

    อ.กุลวิไล ความทรงจำเรื่องราวของสิ่งที่มีอยู่จะยากที่จะพรากจากความที่เป็นเรา

    ท่านอาจารย์ เช่นขณะนี้เป็นเราใช่ไหม ทรงจำว่ามีเรา แต่จริงๆ แล้วจิต เจตสิก รูป เกิดดับหมดทุกขณะ

    อ.กุลวิไล พูดถึงสักกายทิฏฐิที่เป็นความเห็นผิดว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวตนหรือเป็นเรา ซึ่งขณะนั้นจะต้องเป็นขณะที่มีความคิดว่ารูปก็ดี สัญญา เวทนาซึ่งก็เป็นขันธ์ ๕ ที่ยึดถือว่าเป็นเรา แต่ไม่ใช่ขณะที่ทรงจำว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งใด เพราะว่าถึงท่านพูดถึงวิปลาสยังมีทั้งทิฏฐิวิปลาส สัญญาวิปลาส และก็จิตตวิปลาส ซึ่งพระโสดาบันแน่นอนละทิฏฐิวิปลาส ความคลาดเคลื่อนสำหรับความเห็นผิดนั่นเอง แต่ความจำก็ยังมีสัญญาที่จำว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน

    ท่านอาจารย์ พระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบันยังมีวิปลาสในสภาพที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสภาพที่ไม่งามว่างาม

    อ.กุลวิไล แล้วอย่างในกรณีที่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ขณะนั้นก็ไม่ใช่เป็นขณะที่มีความคิดว่าสิ่งนั้นมีจริง เพราะว่าเป็นการที่รู้จากการทรงจำว่านี้คือสิ่งสิ่งใด ซึ่งเป็นความทรงจำเท่านั้นเอง แต่ไม่ใช่เป็นขณะที่เป็นความคิดหรือยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน ก็คนละขณะกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นแม้แต่ความทรงจำ ความทรงจำของปุถุชน ความทรงจำของพระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน ความทรงจำของพระอรหันต์ซึ่งเป็นอเสกขบุคคลก็ต่างกัน แต่ความทรงจำต้องมี

    ผู้ฟัง เวลาที่เราชื่นชมยินดีกับดอกไม้ที่อยู่ข้างหน้า เมื่อก่อนยังคิดว่าเป็นจิตที่เป็นกุศล เพราะว่าเป็นโสมนัสเวทนาที่เกิดขึ้น แต่พอศึกษาไปเรื่อยๆ ก็พอจะแยกได้ว่าอันนี้เป็นโลภะ แต่ว่ามันก็ยังไม่ชัดเจนถึงขณะที่ว่าจะแยกได้ว่าประกอบด้วยทิฏฐิหรือไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นกุศลอนุโมทนาในผู้จัดไหม มิฉะนั้นจะไม่มีปรากฏสักแจกันเดียว ในวิริยะ ในอุตสาหะของผู้ที่ได้จัด เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าขณะใดเป็นกุศลชื่นชมในอะไร แต่กำลังติดข้องในอะไร

    ผู้ฟัง เรียนถามความต่างกันอย่างคำว่า “สติสัมปชัญญะ” ถ้าสติปัฏฐานเกิดนานๆ จะเกิดครั้งหนึ่ง แต่สติเกิดในขั้นนึกคิดมักจะมี

    ท่านอาจารย์ บ่อย ทุกคนกำลังคิด เดี๋ยวนี้ฟังแล้วก็คิดด้วย

    ผู้ฟัง คำว่า “อยู่ในความมืด” ที่ท่านอาจารย์พูดในที่นี้ มืดเพราะสติเกิดหรือว่ามืดเพราะสติปัฏฐานไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ ในห้องมืดมีการได้ยินได้ฟัง แล้วยังมืดอยู่หรือเปล่า ในห้องมืดนั้น มืดที่นี่ให้เข้าใจด้วยว่าหมายความถึงอวิชชา ปรมัตถธรรมคือโมหเจตสิก ซึ่งไม่สามารถจะเห็นสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงได้ มีการเห็นแต่ไม่ได้รู้ความจริงว่าเห็นเกิดขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วก็ดับไป ในขณะที่ได้ยินไม่ใช่ในขณะที่เห็น เพราะฉะนั้นสภาพธรรมมีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับอย่างรวดเร็วสืบต่อกัน ไม่ใช่หมายความว่าไม่มี เพราะฉะนั้นขณะใดที่มืด และแม้จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏที่สว่าง แต่อวิชชาคือไม่เข้าใจ ไม่เห็นถูกว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นแต่เพียงสภาพธรรม สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่เสียงแต่เป็นสิ่งที่มีจริงชนิดหนึ่งสามารถกระทบกับจักขุปสาทเท่านั้น ไม่กระทบกายปสาท ไม่กระทบหู ไม่กระทบอะไรเลย จะกระทบได้เฉพาะจักขุปสาท และปรากฏแล้วดับไปทันที แต่เหลือความทรงจำในสิ่งที่เห็นโดยไม่ลืมเลยในชาติหนึ่งๆ ว่าเห็นอะไรมาแล้วบ้าง และสิ่งนั้นเป็นอะไร นี่คืออยู่ในความมืด แต่ขณะที่กำลังฟังธรรม ในความมืดนั้นได้ยินเสียง เป็นเรื่องราวของสิ่งที่มีจริงในขณะนั้น แล้วค่อยๆ รู้ว่าในความมืดนั้นมีอะไรบ้าง แต่ว่ายังไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลยจนกว่าสติสัมปชัญญะเกิดรู้ตรงลักษณะ จะปฏิเสธได้ไหมว่าลักษณะนั้นไม่มี และจะเปลี่ยนลักษณะที่ปรากฏให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ ก็เหมือนเดิมแต่ความรู้เพิ่มขึ้น เช่น แข็ง เวลาที่ไม่รู้แข็งก็คือแข็ง แต่เวลาที่รู้มีความเข้าใจถูกว่าแข็งเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางกาย ไม่ปรากฏทางอื่นเลย ค่อยๆ เข้าใจสภาพของจิตซึ่งเกิดดับแล้วก็รู้อารมณ์ทีละอย่าง เห็นขณะหนึ่ง ได้ยินขณะหนึ่ง ได้กลิ่นขณะหนึ่ง ลิ้มรสขณะหนึ่ง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสขณะหนึ่ง ทั้งวันตลอดชาติแล้วก็จากไป โดยที่ไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วก็เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดดับเร็ว เพราะฉะนั้นก็ต้องอบรมจนกว่าจะเป็นความสว่าง สว่างคือรู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง ขณะที่เข้าใจ จิตเราก็ไม่ได้อยู่ในความมืด

    ท่านอาจารย์ สว่างไหมขณะที่กำลังฟัง ได้ยินเสียงแล้วสว่างหรือยัง หรือว่ายังมืดแต่ว่าได้ยิน

    ผู้ฟัง หมายความว่าเราเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะที่เข้าใจยังอยู่ในความมืดหรือว่าสว่างแล้ว สว่างแล้วก็เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง นั่นคือปัญญา แล้วปัญญาก็ยังต่างระดับอีก ตั้งแต่ปัญญินทรีย์จนกระทั่งถึงปัญญาระดับพระโสดาบัน จนกระทั่งถึงระดับของพระอรหันต์จึงอุปมาว่าเหมือนแสงสว่าง ฟ้าแลบบ้าง ฟ้าผ่าบ้าง

    คุณอุไรวรรณ โลภะที่ไม่เกิดพร้อมความเห็นผิดน่าจะเกิดบ่อยกว่าใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมก็คือเพื่อให้เข้าใจธรรมในขณะนี้ แล้วก็ธรรมตลอดชีวิตไม่เคยขาดเลย สำหรับจิตทุกคนก็ทราบว่าเกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตายไม่ขาด แต่จิตก็มีมากมายหลากหลายประเภท จิตที่น่ารู้ก็คืออกุศลจิต สภาพของจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์เท่านั้น แต่ที่จิตหลากหลายไปก็เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และในบรรดาของอกุศลจิต ๑๒ ประเภท โลภมูลจิตมากที่สุดคือ ๘ ชนิด โทสะ ๒ ประเภท และโมหะ ๒ ประเภท นี่คือการฟังเรื่องราวของจิต แต่จริงๆ แล้วการฟังธรรมก็คือให้เข้าใจตัวธรรมจริงๆ

    เวลาที่พูดถึงเรื่องทิฏฐิ หมายความถึงความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิ เราจะเห็นได้ว่าต่างคนต่างคิดแล้วก็ต่างคนก็ต่างเข้าใจ แต่ว่าในความคิดต่างๆ ในวันหนึ่งๆ จะมีทิฏฐิเจตสิกความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เพราะว่าถ้าเราฟังชื่อเรารู้จักชื่อ จิตนี้มีเจตสิกประกอบเท่าไหร่ แต่ขณะนี้เดี๋ยวนี้หรือเมื่อไหร่ มีความเห็นผิดคือทิฏฐิเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    เพราะฉะนั้นสำหรับทิฏฐิเจตสิก ก็ควรที่จะได้เข้าใจเจตสิกนี้ว่าขณะใดก็ตามที่มีความเห็นผิดจริงๆ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ขณะนั้นก็คือเจตสิกชนิดนี้เกิดขึ้นทำกิจการงานของเจตสิกนั้น เพราะฉะนั้นในวันนี้ตั้งแต่ผ่านมา มีความเห็นผิดเกิดร่วมกับจิตบ้างหรือยัง นี่คือการที่ถ้าเราจะกล่าวถึงสภาพธรรมอะไร เราก็ควรที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมนั้นจริงๆ ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะของทิฏฐิเจตสิกจริงๆ เราจะตอบไม่ได้เลยว่าตั้งแต่เช้ามาจนถึงขณะนี้มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เรารู้ว่าตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล ก็ยังมีอนุสัยกิเลสที่เป็นความเห็นผิดนอนเนื่อง เพราะไม่เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อไม่เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ชีวิตก็ดำเนินไปต่างๆ แล้วแต่เหตุปัจจัยที่สะสมมา บางกาละก็เป็นกุศล บางกาละก็เป็นอกุศล บางกาละก็จะเกิดความเห็นผิดคือทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับจิต แต่บางกาละก็ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับจิต เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าการฟังพระธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริงจนถึงสามารถที่จะดับทิฏฐิเจตสิกไม่เกิดอีกเลย เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่าทิฏฐิเจตสิกคืออะไร เมื่อไหร่ ขณะไหน เดี๋ยวนี้มีหรือไม่

    ขณะที่กำลังเห็นเฉพาะจิตเห็นเกิดขึ้นทำกิจเห็น จิตทุกประเภทมีกิจการงาน ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ เปล่าๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดก็ตาม เกิดขึ้นแล้วต้องทำกิจหนึ่งกิจใด เราอาจจะเข้าใจว่าเราเห็น แต่ความจริงถ้าจิตเห็นไม่เกิด เห็นไม่มีเลย จะมีการยึดถือเห็นว่าเป็นเราก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่มีเห็น แต่เมื่อมีสภาพธรรมเกิดแล้ว เราก็จะได้พิจารณาสภาพธรรมด้วยความละเอียดว่าสำหรับจิตที่กำลังเห็น เฉพาะจิตที่ทำกิจเห็น จิตนี้มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าศึกษาทราบว่าไม่มี แต่ถ้าไม่ศึกษาคำตอบอะไรก็ตอบไม่ได้สักอย่างเดียว ไม่รู้ว่ามีหรือเปล่า แล้วก็จะมีเมื่อไหร่ แต่ตามที่ทรงแสดงสภาพของจิตโดยละเอียดก็แสดงลักษณะของจิตทีละหนึ่งขณะโดยชาติที่ต่างกัน โดยกิจการงาน โดยประเภทของจิตนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทุกคนกำลังเห็น ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดกับจิตเห็น และหลังจากเห็นแล้วจิตเห็นต้องดับ และก็มีจิตอื่นเกิดสืบต่อดำรงไปเรื่อยๆ ภพชาตินี่ไม่ขาดเลย แล้วก็ขณะที่จิตเห็นดับแล้ว เราพูดอย่างกว้างโดยนัยของพระสูตร มีโลภะเกิดไหม มีได้แต่ต้องรู้ว่าขณะไหน ขณะที่กุศลจิตเกิด โลภะเกิดไม่ได้ นี่ก็เริ่มเห็นการที่สภาพธรรมเกิดดับสลับรวดเร็วจนไม่สามารถที่จะแยกออกด้วยเพียงปัญญาขั้นฟัง ปัญญาขั้นฟังทราบว่าจิตมีกี่ประเภท และจิตนั้นมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ แต่เวลาที่สภาพธรรมกำลังเป็นจริงในขณะนี้สามารถที่จะแยกได้ไหมว่าขณะนี้มีโลภะเกิดหรือไม่มี เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับเร็วมาก

    ได้ยินเสียงนกไหม ได้ยินไหม ชอบไหม ขณะนี้ทุกคนกำลังนั่งฟังพระธรรมแต่ก็มีเสียงนก และก็รู้ด้วยว่าเสียงนกก็ต่างกับเสียงอื่น สัญญาความจำสามารถที่จะจำ จนกระทั่งรู้ว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอะไร แล้วเสียงนกก็คงจะน่าฟังกว่าเสียงสุนัขเห่า

    เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังได้ยินเสียงนก ขณะนั้นมีความพอใจติดข้องไหม ไม่ชอบเสียงนกหรือ เห็นสั่นหน้า อาจจะไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วการเกิดดับอย่างเร็วมาก ยากจริงๆ ที่จะรู้จนกระทั่งน่าอัศจรรย์ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เกิดสืบต่ออย่างรวดเร็วได้อย่างที่ชัดเจนว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ คนที่ศึกษาแล้ว ฟังแล้ว พอสมควร พอจะตอบได้ไหมว่าเสียงนกมี ขณะที่เสียงนกยังไม่ดับ มีจิตที่ได้ยินเสียงนกด้วย แล้วก็ติดข้องชอบในเสียงนั้นด้วย เพราะว่าเสียงนั้นยังไม่ดับหมายความว่ากำลังที่มีเสียงนั้นปรากฏ มีจิตที่ได้ยิน และเมื่อจิตที่ได้ยินนั้นดับไปแล้วก็มีความติดข้องในเสียงที่ยังไม่ดับ เวลาที่เสียงดับไปแล้ว ความติดข้องในเสียงจะยังอยู่ได้ไหม เสียงดับแล้ว ความพอใจในเสียงเกิดในขณะที่เสียงปรากฏ แล้วพอเสียงหมดแล้ว เราจะเกิดความยินดีพอใจในเสียงได้ไหมในเมื่อเสียงไม่มีแล้ว เสียงไม่มีแล้ว เวลานี้เสียงไม่มีแล้ว พอใจในอะไร ยังพอใจในเสียงที่ดับไปแล้วหรือว่าพอใจในสิ่งอื่นที่เกิดต่อจากเสียง นี่คือการที่จะเข้าใจธรรม ต้องเห็นว่าธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และการฟังก็คือว่าแม้แต่ความเห็นผิด ก่อนจะไปถึงความเห็นผิด แม้แต่ที่กำลังเห็นขณะนี้คงจะไม่ทราบว่าแม้สิ่งที่ปรากฏทางตายังไม่ได้ดับ มีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เวลาที่เสียงเกิดขึ้นปรากฏ เสียงยังไม่ดับ มีความพอใจในเสียงที่ปรากฏ หรือแม้ว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ ขณะนั้นจะไม่รู้เลยว่าปกติธรรมดา ถ้าไม่ใช่กุศลจิตต้องเป็นอกุศลจิต แล้วจะเป็นอกุศลจิตประเภทใด ไม่พ้นจากจิตที่ประกอบด้วยโลภะหรือจิตที่ประกอบด้วยโทสะ หรือว่าแม้ไม่มีโลภะ โทสะเกิดร่วมด้วย ก็มีจิตที่เกิดร่วมกับโมหะ ถ้าขณะนั้นไม่เป็นกุศล นี่คือความละเอียด เราจะรู้จิตหยาบมาก เช่น ในขณะที่กำลังนั่ง เรากำลังฟังพระธรรม ขณะที่มีศรัทธา ฟังด้วยความตั้งใจ ค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต แต่ขณะที่ไม่ใช่ขณะที่กำลังฟังธรรม แต่ได้ยินเสียงอื่น ขณะนั้นก็มีอกุศลจิตเกิดแทรกคั่นอย่างรวดเร็วมาก นี่คือการที่เราศึกษาธรรมเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ซึ่งจะกล่าวได้ว่าจิตเห็นไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ยังไม่มีความเห็นผิดใดๆ เลยเกิดกับจิตที่เพียงเห็น เพราะเพียงแค่เห็น ถ้าเกิดเห็นแล้วก็ไม่ชอบสิ่งที่ปรากฏหรือว่าได้ยินเสียงก็ไม่ชอบเสียงนั้นเลย ขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไหม เรากำลังพูดเรื่องความเห็นผิด ต้องละเอียด ถึงจะละความเห็นผิดได้ ขณะที่กำลังไม่ชอบเสียง มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไหม ตอบตามตำรานี่ตอบได้เลย ไม่มี แต่สลับกันเร็วมากเลย

    เพราะฉะนั้น จึงต้องพยายามเข้าใจว่าขณะที่เป็นวิบากจิตทั้งหมด ทุกประเภทเป็นผลของกรรม จะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดขึ้นทำกิจการงานกับจิตที่เป็นชาติวิบากเลย และอกุศลเจตสิกซึ่งทิฏฐิเจตสิกก็เป็นอกุศลเจตสิกชนิดหนึ่งใน ๑๔ อกุศลเจตสิกก็จะไม่เกิดกับกุศลจิต ไม่เกิดกับกิริยาจิต จะเกิดได้กับเฉพาะจิตที่เป็นอกุศลเท่านั้น และสำหรับอกุศลจิตที่มี ๑๒ ประเภท นี่กล่าวโดยตำราก่อนคือโลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ทิฏฐิเจตสิกก็จะไม่เกิดกับโทสมูลจิต และโมหมูลจิต แต่จะเกิดกับโลภมูลจิต แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่มีโลภะเกิดขึ้น มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย นี่เป็นเรื่องที่ละเอียดมากเพราะว่าถ้าเราไม่พิจารณาโดยละเอียด เราก็อาจจะบอกว่าเวลาที่มีโลภะ เราก็เห็นคลาดเคลื่อนแล้ว ก็น่าจะเป็นทิฏฐิเจตสิก แต่ความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ความไม่รู้ความเป็นจริงมีถึง ๓ อย่าง คือสัญญาวิปลาสด้วยความจำ ๑ จิตตวิปลาส ๑ และทิฏฐิวิปลาส ๑ วิปลาสด้วยความเห็นผิด เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องที่กว้างขวาง และก็ละเอียดมาก บางคนก็อาจจะคิดว่ามากมายเหลือเกิน มากมายเพราะจิต และเจตสิกต่างๆ ละเอียด และก็ลึกซึ้งมาก

    เพราะฉะนั้นที่ว่ามากมายก็คือชีวิตประจำวัน แม้แต่ในขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน เป็นชาติอะไร

    แต่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจ ถ้ากล่าวถึงทิฏฐิเรายังไม่ไปมุ่งว่าเกิดกับจิตกี่ดวง เพียงแต่ให้เข้าใจว่า มีทิฏฐิเจตสิกที่เห็นผิดจากความเป็นจริง แล้วก็จะไม่เกิดกับโทสมูลจิต และโมหมูลจิต แต่จะเกิดกับจิตประเภทเดียวคือโลภมูลจิต แต่บางครั้งโลภะที่เกิดขึ้นก็ไม่มีทิฏฐิความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เช่น ได้ยินเสียงนก พอใจในเสียง กำลังพอใจ ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย มีแต่ความพอใจในเสียงนั้น หรือใครคิดว่ามีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยในขณะที่กำลังพอใจในเสียงที่ยังไม่ดับ เป็นไปได้ไหมที่จะมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยในเสียงที่กำลังปรากฏ เป็นได้แต่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็น นี่ก็ต้องอาศัยปัญญาที่จะรู้ตามความเป็นจริง ละเอียดไหม ขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้น และเรากำลังศึกษาฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจว่าทั้งหมดไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีปัจจัยก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ตามที่อาจารย์ยกตัวอย่าง ได้ยินเสียงนกขณะที่ฟังธรรม ขณะที่เราฟังธรรม เราไม่ได้ใส่ในในเสียงนก แต่เราได้ยิน

    ท่านอาจารย์ แล้วเข้าใจในเสียงที่ได้ยินไหม

    ผู้ฟัง เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คนละขณะกับกำลังได้ยินเสียง ขณะที่เสียงยังไม่ดับ ธรรมดาจะต้องมีกุศลจิตหรืออกุศลจิตในเสียงที่กำลังปรากฏด้วย ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิตได้ยิน ชั่วขณะเสียงที่ปรากฏสั้นแสนสั้นมาก ขณะนั้นจิตเกิดดับหลายขณะ และขณะหนึ่งเป็นจิตได้ยิน เสียงยังไม่ดับเลย หลังจากที่จิตได้ยิน ดับไปแล้วเสียงก็ยังไม่ดับ ฉะนั้นก็ถึงกาละที่จะเกิดกุศล และอกุศลในเสียงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นขณะนั้นจะกล่าวว่ามีแต่เสียงเฉยๆ แล้วก็ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ หรือกุศลใดๆ เลยในเสียงที่กำลังปรากฏไม่ได้ แต่กล่าวเพราะไม่รู้ ใครจะรู้เพราะเร็วแสนเร็ว เพียงแค่ปรากฏแล้วเหมือนกับว่าผ่านไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นทุกอย่างจึงเหมือนกับอยู่ในความมืด เกิดแล้วดับแล้วไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ความจริงว่าขณะนั้นเป็นจิต ต้องมีจิตที่ไม่ใช่เฉพาะจิตได้ยินเท่านั้น จิตอื่นก็เกิดสืบต่อจากจิตได้ยินด้วย และขณะนั้นจะเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นอกุศลไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่ถ้าเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาสามารถที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญปัญญาก็จะมีหลายระดับตั้งแต่การฟังเรื่องราวของธรรม จนกระทั่งการที่สามารถจะรู้ลักษณะต่างๆ ของธรรมต่างๆ นี่คือการที่กว่าเราจะรู้ความจริง เราก็จะอาศัยการฟังพระธรรม และก็เห็นพระปัญญาคุณว่าทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ความจริงนี้ยังไม่ได้ปรากฏกับเรา ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาถึงระดับที่สามารถจะปรากฏว่า ทุกคำที่ทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมเป็นจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นแม้แต่ในเรื่องของโลภมูลจิตหรือเราจะกล่าวเรื่องทิฏฐิก็ได้ ความเห็นผิด เราก็ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เห็นจริงว่าขณะเห็น ไม่มีความเห็นผิดเกิดกับจิตเห็น ไม่ใช่เพียงแต่จำ เขาบอกมา เราก็จำไปว่าขณะนี้ไม่มี แต่ว่าต้องค่อยๆ พิจารณาจริงๆ ว่าจิตเห็นเกิดขึ้นเพียงทำกิจเห็น ไม่มีความเห็นผิดใดๆ ที่จะเกิดร่วมด้วยเพราะเหตุว่าเป็นจิตที่เป็นผลของกรรม เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้จิตนี้เกิดขึ้นเพียงเห็นแล้วดับ แต่ว่าเห็นแล้วไม่ได้สิ้นสุดตรงนั้นเลยจะต้องมีการสืบต่อภพชาติ จนกระทั่งมีสัญญาความทรงจำในสิ่งที่เห็นว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    27 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ