พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 118


    ตอนที่ ๑๑๘

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ถึงแม้จะได้ศึกษาธรรมแล้ว แต่ถ้าไม่รู้หนทางที่ถูกต้องก็ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะละความเห็นผิดได้

    เพราะฉะนั้นเรื่องของความเห็นผิดก็เป็นเรื่องที่ควรจะรู้ตามความเป็นจริงว่ามีความเห็นผิดมากมายหลายอย่าง และแต่ละวันเรามีความเห็นผิดประเภทไหนบ้าง

    ผู้ฟัง เห็นผิดในทาน ในศีล ก็มีใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เช่น เห็นผิดว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เห็นผิด ว่าโลภมูลจิตที่เกิดขึ้น คือ จะไปทำบุญ จะไปเอาบุญเยอะๆ ทำอย่างนี้จะได้อย่างนี้ อย่างนั้นจะเป็นโลภมูลจิตเหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่จะเกิดร่วมกับความเห็นผิดใช่หรือไม่ เพราะตอนนี้เรากำลังพิจารณาถึงอกุศลที่เป็นโทษมากที่สุดคือทิฏฐิความเห็นผิด

    ผู้ฟัง และกรณีอย่างนั้นจะไม่ใช่ความเห็นผิด ในทาน ในศีลอย่างนี้ ใช่ไหม

    อ.วิชัย เห็นผิดในที่นี้ คือ เห็นผิดจากความเป็นจริง เช่น ให้ทาน รักษาศีล ไม่มีผล

    ผู้ฟัง แต่นี่ให้ผลเกินคาด ถ้าไปอย่างนี้สัก ๑๐ วัน จะต้องได้ผลอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ถ้าทำทานแบบนี้ สร้างพระหน้าตักร้อยนิ้ว พันนิ้ว จะมีผลมาก เราต้องไปขวนขวายทำ

    อ.วิชัย ต้องแยกระหว่างขณะที่มีความติดข้องเป็นโลภะ กับความเห็นผิดเป็นทิฏฐิ ขณะที่มีความเห็นผิดต้องเกิดกับโลภะ แต่ขณะที่เป็นโลภะบางครั้งก็ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็มี ฉะนั้น ความเห็นผิดหมายความถึงเห็นไม่ถูกตามความเป็นจริง เห็นผิดจากความเป็นจริง อย่างเช่นการให้ทาน คือกุศลจิตที่เป็นไปในทาน เห็นว่าไม่มีผล แต่ตามความเป็นจริงแล้วให้ผลในภายหลัง

    ผู้ฟัง แต่ในกรณีที่ทุกวันนี้เป็นอยู่ก็คือว่าไม่ใช่ว่าไม่มีผล แต่อยากได้ผลมากๆ เลย มันเป็นอย่างนั้นมากกว่า เขาคงไม่ได้คิดว่าไม่มีผล

    อ.วิชัย ถ้าเป็นเพียงความต้องการก็เป็นโลภะ

    ผู้ฟัง อันนั้นก็โลภะใช่ไหม

    อ.วิชัย ใช่

    ผู้ฟัง ไม่ใช่มหากุศลสัมปยุตต์ หรือวิปปยุตต์แล้ว

    อ.วิชัย ก็เป็นคนละขณะกัน ขณะที่ให้ทานมีเจตนาเป็นไปในการสละวัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น อย่างนั้นก็เป็นกุศลจิต แต่ถ้ามีความติดข้องในผล หวังผล ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศล

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่าสลับกันไปสลับกันมาตลอดเวลา

    อ.วิชัย ก็สามารถเกิดสลับกันได้

    ผู้ฟัง แล้วในการเห็นผิดก็จะเป็นอย่างนั้นเหมือนกัน บางครั้งก็เห็นผิดไปชั่วนิดหนึ่งแล้วก็กลับมาใหม่ อย่างนี้ใช่ไหม

    อ.วิชัย ก็แล้วแต่ขณะจิตว่าขณะนั้นมีทิฏฐิเกิดร่วมกับโลภะหรือไม่

    ผู้ฟัง หมายความว่าการปฏิบัติในชีวิตประจำวันจะต้องมีแต่ละขณะๆ อาจจะชั่วขณะหนึ่งถูก ขณะหนึ่งผิดอย่างนั้น ถูกต้องไหม

    อ.วิชัย ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยให้เกิดทั้งหมดเลย ฉะนั้นความเห็นผิดตราบใดยังไม่เป็นพระอริยบุคคลที่เป็นขั้นพระโสดาบันขึ้นไปก็ยังมีทิฏฐิอยู่ คือยังไม่ดับทิฏฐิเมื่อได้เหตุปัจจัย ทิฏฐิก็สามารถจะเกิดขึ้นร่วมกับโลภะได้

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่านึกอยากจะมีกุศลจิตเกิดขึ้นเมื่อไหร่แล้ว ก็มีความต้องการ และติดข้องในสิ่งนั้น นั่นก็หมายความว่าเป็นโลภมูลจิต แต่ไม่ถึงกับเห็นผิดทั้งหมด อย่างนี้ใช่ไหม

    อ.วิชัย โลภะกับทิฏฐิเป็นคนละสภาพธรรมกัน เป็นคนละลักษณะกัน แต่ทิฏฐิต้องเกิดกับโลภะ ฉะนั้นความเห็นผิดจากความเป็นจริงกับความติดข้องต่างกัน ขณะใดมีเพียงความติดข้อง เช่นเห็นดอกไม้สวย ขณะนั้นก็ไม่มีความเห็นผิดอะไร แต่ขณะใดก็ตามที่มีความเห็นว่าเที่ยงหรือขาดสูญ ขณะนี้ก็มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย คือมีความติดข้องพร้อมกับมีทิฏฐิคือความเห็นผิดด้วย

    ผู้ฟัง ฉะนั้นบุคคลที่ไม่ได้รู้เรื่องของจิตคงไม่ทราบเรื่องของการเห็นผิด ก็อยู่ที่เหตุปัจจัยที่สร้างสมมาว่ามีความคิดอย่างไร ทำมาอย่างไร ฟังเขาแล้วไตร่ตรองได้แค่ไหนแล้วก็ทำไปตามนั้น แล้วก็ไม่สามารถที่จะรู้เลย

    อ.วิชัย เพราะขณะที่จะรู้ต้องเป็นปัญญา ปัญญาจะรู้ตามความเป็นจริงว่าขณะใดเป็นโลภะหรือว่าขณะใดเป็นทิฏฐิได้

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดมีจริง แต่ว่าเป็นเรื่องที่ละเอียด ที่เราจะต้องพิจารณาถึงความต่างของโลภมูลจิตที่มีทิฏฐิคือความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย กับโลภมูลจิตที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เป็นแต่ละขณะจิตด้วย

    ผู้ฟัง สรุปก็คือต้องแต่ละขณะจิต เพราะเขาจะปนกัน แม้เราทุกคนที่ไม่ได้เรียน ใจเขาอาจจะบริสุทธิ์ที่จะเป็นกุศลขณะจิตหนึ่ง แต่ขณะจิตหนึ่งเขารู้ว่าถือศีลแล้วเป็นนางฟ้า ขณะจิตตรงนั้นก็เห็นผิดแล้วด้วยความเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ ถือศีลแล้วเป็นนางฟ้า ผิดหรือไม่

    ผู้ฟัง คืออานิสงส์ที่ท่านแสดงเป็นอย่างนั้น แต่ทีนี้พอเราไปรู้อย่างนั้น ความเป็นตัวตนคือความเห็นผิดก็จะมาก่อน

    ท่านอาจารย์ มาว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง มาว่า เราอยากเป็นนางฟ้า คือ โลภะ

    ท่านอาจารย์ เราอยาก เราเสมอ แต่ในขณะนั้นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ นี่คือสิ่งที่สำคัญ

    ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นที่จะถึงสักกายทิฏฐิ ลองพิจารณาว่าวันหนึ่งๆ ยังไม่ต้องกล่าวถึงสักกายทิฏฐิ แต่จะมีความเห็นผิดอะไรบ้างหรือไม่ ในทางไหนบ้าง เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้รู้จริงๆ ว่า มีความเห็นผิดจากความเป็นจริง แต่เกิดกับจิตเมื่อไหร่ ขณะไหน เช่นอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน

    อ.กุลวิไล สำหรับโลภมูลจิตในชีวิตประจำวันแล้ว ถ้าเรามีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแน่นอน ขณะนั้นเป็นโลภะที่ไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นผิด แต่ถ้าเป็นความคิดเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แม้แต่คิดว่าการบริโภคกามไม่มีโทษ อย่างนี้ก็ผิดจากความเป็นจริง เพราะความเป็นจริงแล้วการที่เราบริโภคหรือว่าติดข้องในกามเป็นโทษแน่นอน เช่นนี้ก็เป็นความเห็นผิดอย่างหนึ่ง ซึ่งคงจะไม่ต้องพูดถึงความเห็นผิดอื่นๆ ที่เป็นทาง พระธรรมที่ทรงแสดงลุ่มลึกถึงสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ เพราะเราก็ยังยึดถือว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน แต่ถ้าเรายังมีความเห็นคลาดเคลื่อนอยู่ว่ามีคน มีโต๊ะ มีสัตว์ สิ่งของ ขณะที่มีความคิดเช่นนั้น ขณะนั้นมีความเห็นผิด แต่ถ้าเรายังมีความติดในรูป เสียง กลิ่น รส ขณะนั้นเป็นโลภะที่ไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นผิด

    ผู้ฟัง ช่วยอธิบายการที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ ควรเป็นความเข้าใจในระดับใด

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมไม่รีบร้อน ไม่รีบร้อนเลย แต่หมายความว่าเมื่อได้ยินคำอะไร จากความไม่รู้ความเป็นจริง หรือความจริงของสภาพธรรมนั้น ต้องฟังแล้วก็ต้องพิจารณา ต้องไตร่ตรองจนกระทั่งเป็นความรู้ถูก ความเห็นถูกของเราเอง ไม่ใช่ไปจำว่าข้อความนั้นมีปรากฏอย่างนี้ๆ แต่ว่าความเข้าใจของเราเป็นอย่างไร เช่น ในเรื่องของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น โลภะมีจริง ทิฏฐิความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิมีจริง กุศลมีจริง ทั้งหมดจริง และเราก็จะผ่านข้อความไปเร็วๆ ทั้งหมดก็คืออย่างนี้อย่างนั้น อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ใช่ความรู้อะไรของเราเลย คงไม่ลืมที่ว่าขณะใดก็ตามที่เรากำลังกล่าวถึงเรื่องของธรรมทั้งๆ ที่ตัวธรรมก็มีจริงๆ กำลังเป็นจริง เช่น ข้อความที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมด แต่ว่ายังอยู่ในความมืด เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้รู้ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ในขณะที่สภาพธรรมนั้นมี เช่นขณะนี้จักขุวิญญาณ จิตเห็นทุกคนมี และเราก็กล่าวถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท อยู่ในความมืดหรืออยู่ในความสว่าง เจตสิกทั้ง ๗ ไม่ว่าจะเป็นผัสสเจตสิก หรือเวทนาที่เป็นอุเบกขาเวทนา สัญญาเจตสิก เจตนาเจตสิกที่เกิดร่วมกับจักขุวิญญาณ อยู่ในความมืด หรือว่าสติสัมปชัญญะรู้ลักษณะนั้น ค่อยๆ รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าทุกคนเข้าใจถูกว่าอวิชชาเป็นความมืดสนิทที่ไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรม แม้ว่าสภาพธรรมมี ถ้าเราทุกคนอยู่ในความมืดเวลานี้ เราจะรู้ไหมว่าในความมืดมีอะไรบ้าง ไม่รู้เลย แต่จากการฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้นก็รู้ว่าในความมืดนั้นมีอะไร มีจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังรู้ในขณะนี้ แต่จิตก็ยังมืดสำหรับผู้ที่สติสัมปชัญญะไม่ได้ระลึกลักษณะของจิต เจตสิกทั้งหมดก็ยังมืดไม่ได้แสดงลักษณะที่ต่างๆ กันของเจตสิกนั้นๆ เลย

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมไม่รีบร้อนเลย แต่ต้องพิจารณาเข้าใจความละเอียดของสภาพธรรมนั้นว่าเราอยู่ในระดับไหน เรากำลังอยู่ในระดับที่ฟังเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ตัวสภาพธรรมจริงๆ ยังไม่ได้ปรากฏกับสติสัมปชัญญะ ที่จะแสดงว่าลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้นตามที่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้นในขณะนี้หรือในขณะไหนก็ตาม ได้ยินคำว่า “ธรรม” ได้ยินคำว่า “จิต” ได้ยินคำว่า “เจตสิก” ได้ยินคำอะไรก็ตามทั้งหมดที่เราได้สนทนากันมาแล้วเป็นความเข้าใจของเราจริงๆ ว่าเป็นธรรมโดยนัยต่างๆ เวทนาโดยนัยของเวทนา โดยนัยของเหตุหรืออะไรก็ตาม

    และขณะนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องธรรม คือ ทิฏฐิเจตสิก เพราะเหตุว่าความเห็นผิดต้องมี ถ้าไม่มีความเห็นผิดเราไม่ต้องฟังธรรมเพื่อที่จะอบรมเจริญความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าความเห็นผิดมีมากมาย คือ มีการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา ซึ่งเป็นสามัญทิฏฐิเพราะเหตุว่าทั่วไปกับสัตว์โลกในขณะที่ไม่มีความเห็นผิดอื่นคือเจตสิกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิไม่ได้เกิดร่วมด้วยกับโลภะในขณะนั้นๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบจริงๆ ว่าขณะไหนบ้างในชีวิตประจำวันที่พอจะเห็นว่าเป็นความเห็นผิดอื่นที่นอกไปจากสักกายทิฏฐิ ขณะที่อาหารกำลังอร่อย และรับประทานอาหารด้วยความรู้สึกโสมนัส ดีใจ ชอบอาหารนั้นขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิต ที่ไม่ได้มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นเลย

    เพราะฉะนั้น จึงต้องแยกว่าขณะใดเป็นโลภมูลจิตที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย และขณะใดมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยในเรื่องของความเข้าใจผิดความเห็นผิด ซึ่งก็เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าความเห็นผิดอย่างนี้เพิ่มขึ้น มีกำลังเพิ่มขึ้น คือไม่รู้ในเหตุ ไม่รู้ในผล เข้าใจว่าสิ่งที่ได้รับไม่มีเหตุเลย เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้ทำอะไรสักหน่อย ทำไมเป็นอย่างนี้ไปได้ ก็แสดงให้เห็นว่าถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้มั่นคงเพิ่มขึ้น คนนั้นจะทำทุจริตกรรมได้มากขึ้นไหม นี่ก็แสดงให้เห็นว่าชีวิตประจำวันจริงๆ ที่กล่าวถึงจิตประเภทใดก็ขอให้เริ่มที่จะเข้าใจถูกในจิตประเภทนั้นๆ ว่าขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือว่าไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คงจะมีความเห็นผิดอีกหลายอย่าง ซึ่งสามารถที่จะฟังแล้วก็รู้ได้ว่าขณะนั้นเป็นความเชื่อในความคิด ในความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ไม่ทราบว่ายังมีความเห็นผิดอื่นๆ ไหมที่ปรากฏในชีวิตประจำวันที่จะยังสงสัยว่าเป็นความเห็นผิดหรือไม่ เพราะว่าความเห็นผิดที่ชัดเจนก็มี แต่ว่าบางคนที่มีความเห็นผิดจะไม่เข้าใจเลยว่าขณะนั้นเป็นความเห็นผิด นี่ก็แสดงให้เห็นโทษ แม้ว่าความเห็นผิดมี แต่ผู้ที่กำลังเห็นผิดไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าเป็นผู้ที่เห็นผิด

    ผู้ฟัง ขอเล่าเหตุการณ์ที่ดิฉันนั่งแท็กซี่ ก็มีรถจักรยานยนต์ขี่ปาดหน้า คนขับแท็กซี่โกรธมาก ฮึดฮัด ดิฉันก็ตกใจด้วยบอกว่าไปเลยๆ ดิฉันก็มีอารมณ์ร่วมก็บอกให้เขาขับไปเลย พอเขาขับไปได้สักหน่อย เขาบอกว่าผมจะกลับไป ดิฉันก็บอกเขาว่า หนู เราทำมาหากิน เรากลับไปแล้วเราก็หมดเวลาทำมาหากิน กล่อมเขาจนกระทั่งถึงบ้าน พอมาถึงบ้าน ทุกอย่างที่เราพูดตั้งแต่ต้นก็คือรักตัว กลัวลำบากที่พูดอย่างนั้น แต่เราไม่รู้ตัว นี่คือความเห็นผิดซึ่งไม่รู้ตัวเลย

    ท่านอาจารย์ แต่บางคนรู้ แล้วก็ยังทำด้วยเพราะความรักตัวก็มี เพราะฉะนั้น จะมีธรรมเครื่องหลอกลวงหลายอย่าง ซึ่งเครื่องหลอกลวงนั้นก็คือโลภะนั่นเอง จะหลอกทุกอย่างเหมือนกับว่าเราสนใจอยากจะเข้าใจตรงนั้นตรงนี้ แต่เพื่อเรา ก็เป็นได้ แสดงให้เห็นว่าเราต้องการที่จะมีความรู้อย่างนั้นก็ได้ ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ไม่สามารถจะเห็นโลภะ ถ้าไม่สามารถจะเห็นโลภะ ก็ละโลภะไม่ได้ เพราะฉะนั้นธรรมต้องเป็นเรื่องที่ตรงแล้วก็จริง ถ้าเข้าใจก็คือเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ แล้วก็ต้องอบรมเจริญจนกว่าจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น

    คุณวีณา ถ้ารถคันนั้นไปชนคน คุณวีณาจะบอกให้แท็กซี่รีบไปเลยหรือไม่

    ผู้ฟัง บางทีเราก็รักตัว ก็อยากให้เขาไปๆ กับเรา

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอย่างนี้โลกก็คงลำบากเพราะเหตุว่าทุกคนก็รักตัว แต่จะรักตัวถึงขนาดไหนด้วย รักตัวถึงขนาดที่เมินเฉยต่อความทุกข์ของคนอื่น หรือว่ารักตัวจนกระทั่งต้องการความสุขของตัวเพียงฝ่ายเดียว หรือว่าถึงจนกระทั่งสามารถที่จะทำร้ายทำลายบุคคลอื่นได้ ต้องการไหม รักตัว

    ผู้ฟัง อย่างนี้มากไป

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตามกุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ต้องตรง เรายังคงมีอกุศลจิตอยู่แน่นอน แต่หนทางเดียวที่จะทำให้อกุศลนั้นลดน้อยลงก็คือว่ามีความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังทำไม่ได้ หรือว่าขณะนั้นไม่มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นกุศล แต่ก็ยังมีความเข้าใจถูกเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ในกาลต่อไปก็จะปรุงแต่งให้ฝ่ายกุศลจิตเกิดขึ้นได้

    ผู้ฟัง รู้สึกว่าความเข้าใจในขั้นการฟังธรรม ไหนๆ พุทธบริษัทที่ศึกษาธรรมแล้ว เหมือนกับสภาพธรรมรวมๆ กันอยู่ แล้วก็ไม่รู้ว่าตรงไหนที่เป็นกุศล ตรงไหนที่เป็นอกุศล ความเข้าใจของผู้ศึกษาควรเข้าใจที่ละเอียดมากกว่านี้หรือแค่นี้ก็พอ

    ท่านอาจารย์ ที่เราก็พูดกัน ทุกคนตายแล้วเกิด ใช้คำนี้ แต่ความเข้าใจของเรา เราเข้าใจถูกไหมในเรื่องจิต ในเรื่องเจตสิก ในเรื่องสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ถ้าเป็นความเข้าใจที่ถูกแม้เราจะกล่าวอย่างนั้นก็ไม่ได้กล่าวด้วยความเห็นผิด เพราะเหตุว่าเรามีความเข้าใจถูก แต่เป็นเรื่องของคำ เป็นเรื่องของภาษา แต่ถ้าในพระไตรปิฎกจะมีคำที่แสดงว่า “ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล” เพื่อที่จะให้บุคคลที่เคยยึดถือว่ามีสัตว์ มีบุคคล ได้รู้ว่าไม่มีสัตว์ที่ตายแล้วเกิด เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วคือจิต เจตสิก รูป สำหรับผู้ที่ไม่รู้เรื่องนี้ก็แสดงอย่างนั้น แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องจิต เจตสิก จะใช้คำว่าเราตายแล้วเกิดก็ได้เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ไปมีความเชื่อว่ามีเรา เพราะว่าเราศึกษาแล้ว เรามีความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็เป็นจิตอะไรที่กำลังกล่าวอย่างนั้น ก็แล้วแต่เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก อย่างที่บอกแล้วว่าเหมือนในความมืด จะเห็นอะไร สิ่งใด เกิดแล้วหมดแล้วเหมือนในความมืด จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจ และค่อยๆ รู้ว่าในขณะนั้นมีสภาพธรรมอะไรโดยสติสัมปชัญญะเกิดระลึก จึงรู้จริงๆ ว่าขณะนั้น ลักษณะนั้นเป็นธรรมอย่างนั้น เริ่มเข้าใจถูก เริ่มเห็นถูกได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ก็ต้องแล้วแต่บุคคลที่สนทนากันว่าเป็นใครที่สนทนา

    ผู้ฟัง ควรที่จะเข้าใจในระดับใด และระดับใดที่เป็นในทานก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าจะรู้ตรงลักษณะก็จะต้องเป็นความรู้อีกระดับหนึ่งซึ่งสะสมการฟังมาพอสมควร แล้วก็เริ่มรู้ตรงลักษณะที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ถ้าอย่างนั้นเราจะกล่าวถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งคือคนที่มีความเชื่ออย่างอื่น มีความเห็นอย่างอื่น แล้วพูดว่าสัตว์ตายแล้วเกิด เราตายแล้วเกิด ขณะนั้นเป็นความเห็นผิดหรือไม่ อีกสถานการณ์หนึ่ง ไม่รู้เรื่องจิต ไม่รู้เรื่องเจตสิก ไม่รู้เรื่องรูป ไม่รู้อะไรเลย แต่กล่าวว่าสัตว์หรือเรานี่ตายแล้วเกิด ขณะนั้นเป็นความเห็นผิดหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าหากไม่ได้ศึกษา ไม่ได้เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงธรรม หรือว่าเป็นจิตเจตสิก รูปซึ่งเกิดดับ ก็ย่อมคิดว่าคำว่าสัตว์ บุคคล เขาก็ต้องมีความยึดถือว่าเป็นสัตว์อย่างนั้นจริงๆ เป็นคนอย่างนั้นจริงๆ ซึ่งไปเกิดใหม่ ตรงนี้ก็จะเป็นความเห็นผิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สักกายทิฏฐิอยู่ตรงไหน เห็นไหม เราเรียกแต่ชื่อ สักกายทิฏฐิคือการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แต่ในขณะที่รู้ว่าไม่มีเรา ไม่มีตัวตน มีแต่จิต เจตสิก รูป แต่ขณะนั้นไม่รู้ เพราะฉะนั้นขณะนั้นเขาก็มีความเชื่อ มีการยึดมั่นว่ามีสัตว์ มีบุคคลจริงๆ ขณะนั้นก็มีความเห็นว่ามีสัตว์มีบุคคลจริงๆ ขณะนั้นก็ต้องเป็นสักกายทิฏฐิ

    ผู้ฟัง เราเชื่อเรื่องกรรม คือในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าเราจะได้รับสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เราก็เชื่อว่าอันนี้เป็นผลแห่งกรรมของเราที่เราได้ทำมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นชาตินี้หรือชาติที่ผ่านๆ มา เช่นนี้เป็นความเห็นผิดด้วยหรือไม่

    อ.ธีรพันธ์ ต้องมีการศึกษาจึงจะทราบ แล้วก็มีการพิจารณาด้วยเพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ในเมื่อมีกรรมเมื่อสำเร็จแล้ว สามารถที่จะให้ผลได้ เช่นนี้เป็นความเห็นถูก ในพุทธศาสนาธรรมทั้งหลาย ไหลมาแต่เหตุ เป็นการรู้ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการเห็นในขณะนี้ก็ดี หรือว่าการได้ยินในขณะนี้ก็ดี ก็มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น เนื่องมาจากกรรมเท่านั้นเองที่สามารถจะสำเร็จผลเป็นวิบากให้มีการเห็นในขณะนี้ ได้ยินในขณะนี้ เป็นต้น ก็เป็นการค่อยๆ ศึกษารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน มีแต่จิต เจตสิก รูป แต่เรามีความรู้สึกว่าเป็นกรรมของเราในอดีต คำว่า “ของเรา” เราก็ยังยึดมั่นถึงกรรมนั้นว่ามันเป็นของๆ เรา ในความคิด ถ้าพิจารณาจริงๆ ให้ลึกซึ้งก็น่าจะเป็นความเห็นผิด

    อ.ธิดารัตน์ ขณะที่เข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรม ขณะนั้นเป็นความเห็นถูก แต่ในขณะที่โลภะยึด และเป็นของเราด้วย ตรงนี้ก็เป็นความเห็นผิด

    ผู้ฟัง คำว่า “ทิฏฐิ” ยิ่งโดยเฉพาะมิจฉา กับสัมมาทิฏฐิ ถ้าจะพิจารณาจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ยังสับสนอยู่มาก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่ใช้คำว่า “กรรม” ไม่ได้กล่าวถึงอะไรเลย นอกจากการกระทำ เพราะฉะนั้นการกระทำเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล

    ผู้ฟัง เมื่อเราได้ผล มันจะหนักแน่นมากว่ามันเป็นกรรมของเราจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เข้าใจว่าเพราะได้กระทำกรรมดี สิ่งที่ดีก็เกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ผิดใช่ไหม แต่ถ้าถามแล้วใครทำล่ะ ถ้ามีความยึดถือว่าเป็นเราทำ ก็มาแล้ว เพราะฉะนั้นสภาพธรรมก็เป็นแต่ละขณะ แล้วก็เป็นสิ่งซึ่งมีปัจจัยที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเร็วเหมือนฟ้าแลบ

    เพราะฉะนั้น การที่จะไปรู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างได้จริงๆ ที่ละเอียดขึ้นๆ ก็ต้องในขณะที่สภาพธรรมเกิดแล้วสติสัมปชัญญะกำลังรู้ลักษณะหนึ่งลักษณะใด ก็จะรู้เฉพาะลักษณะนั้นด้วย เช่น ในจิตขณะหนึ่งจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายประเภท ถ้าสติไม่ระลึกลักษณะของเจตสิกอื่นๆ เลย เจตสิกอื่นๆ ก็ไม่ปรากฏ แต่เฉพาะเจตสิกที่สติสัมปชัญญะกำลังระลึกเท่านั้นที่สามารถจะเข้าใจถูกในลักษณะนั้นได้ เพราะว่าจิตทุกขณะมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าจะระลึกลักษณะของความรู้สึกว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นลักษณะจะเป็นกุศลหรืออกุศลที่เกิดร่วมกับเวทนานั้นก็ไม่ได้ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นจะไปกล่าวว่ารู้ว่าขณะนั้นเป็นกุศล ขณะนั้นเป็นอกุศล หรือว่าขณะนั้นมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็เป็นการที่กล่าวโดยรวมจากการศึกษา แต่ถ้าจะรู้จริงๆ ธรรมนั้นไม่ได้อยู่เฉพาะในความมืด แต่ก็ยังปรากฏลักษณะว่าในความมืดนั้นมีสภาพธรรมอะไรที่เป็นจริงอย่างนั้น โดยสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด ก็จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น แล้วก็สะสมความเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะ


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    27 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ