พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 97


    ตอนที่ ๙๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับธรรมเลย ก็จะต้องเริ่มจากการที่ว่าเข้าใจจุดประสงค์ของการศึกษาว่าศึกษาเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจธรรม เพื่ออะไร เพื่อละความไม่รู้ เพราะความไม่รู้จึงทำให้เข้าใจผิดเห็นผิด ซึ่งการที่เห็นว่ามีสัตว์ บุคคล มีตัวตน และก็ยังมีความเห็นผิดเรื่องอื่นๆ สืบเนื่องจากความเป็นตัวตนอีกมากมาย นั่นก็แสดงให้เห็นว่าศึกษาเพื่อละความไม่รู้ มีหิริมีโอตตัปปะในความไม่รู้ ไม่ใช่ว่าต้องการรู้อย่างนั้น ต้องการรู้อย่างนี้ ต้องการรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ นั่นคือศึกษาแบบชาวโลก

    เพราะฉะนั้นถ้าศึกษาธรรมก็คือศึกษาสิ่งที่มี ให้เป็นความเข้าใจเพิ่มขึ้นเพื่อละคลายความไม่รู้ และก็จะรู้ได้เลยว่าความไม่รู้ของเรา ยิ่งศึกษายิ่งรู้ว่ามากแค่ไหน เพราะฉะนั้นผู้ที่จะกล่าวเรื่องความไม่รู้ได้คือผู้ที่รู้ว่าไม่รู้แค่ไหน แค่เห็นไม่รู้ความจริง เป็นเรื่องราวต่างๆ ทั้งวันจากสิ่งที่เห็นหรือไม่ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ทะเลชื่อ ทะเลภาพ โอฆะ (ห้วงน้ำใหญ่) เพราะว่าขณะนั้นไม่รู้ลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏเลย และก็ติดตามไปตลอดในเรื่องชื่อจนกว่าขณะไหนที่สติสัมปชัญญะเกิด เมื่อนั้นรู้ว่าทรงแสดงการฟังทั้งหมดเพื่อให้ถึงกาละที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม และขณะนั้นเองจึงมีธรรมเป็นเกาะ เป็นที่พึ่ง เพราะว่ามีลักษณะของสภาพธรรมที่ให้รู้ให้เข้าใจถูกต้องว่าแม้แต่คำที่กล่าวว่าธรรม ก็มีลักษณะจริงๆ แต่ละลักษณะเมื่อสติสัมปชัญญะระลึกได้ ก็เป็นการศึกษาเพื่อที่จะเข้าใจธรรม ไม่ใช่ศึกษาอย่างที่เราเคยศึกษาทางโลก เพราะฉะนั้นทางโลกจะศึกษาแบบหนึ่ง และทางธรรมเพื่อจะเป็นการละความไม่รู้

    ผู้ฟัง ขั้นการฟังสภาพธรรมที่เป็นจริงกับการที่มีปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจริงนั้นย่อมต่างกัน แต่ขณะที่มีลักษณะเกิดนั้น เราก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้เพราะเรายังมีความเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเราเลย เพราะฉะนั้นทั้งหมดในชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด ขณะไม่รู้ก็ไม่ใช่เรา ขณะฟังก็ไม่ใช่เรา ขณะเข้าใจก็ไม่ใช่เรา ให้สามารถเข้าถึงความจริงว่าเป็นธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกคนไม่อยากมีโลภะแต่มี แล้วจะทำอย่างไรกับโลภะ ทำอย่างไรก็ไม่ได้ มีเหตุปัจจัยที่โลภะจะเกิด แต่ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจว่าโลภะไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง แม้ขั้นการฟังก็พอที่จะทราบได้ว่าแม้โลภะก็ไม่ใช่เรา สภาพธรรมนั้นย่อมเกิดเพราะเรามีความเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ เพราะมีปัจจัยที่โลภะจะเกิด

    ผู้ฟัง เพราะเหตุที่เกิดจากการที่เราสะสมมา

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดนี้ สภาพธรรมแต่ละขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ของใครก็ไม่ใช่สักคนเดียว แต่ละคนก็ยึดครองว่าเป็นของเราไปแต่ละคนตามการสะสม แต่จริงๆ ก็คือสภาพธรรมเกิดเพราะมีปัจจัยที่จะเกิด เช่น เวลานี้ถ้าไม่โกรธเพราะไม่มีปัจจัยที่โกรธจะเกิด แต่ถ้ามีปัจจัย แล้วบอกว่าอย่าโกรธหรือไม่ให้โกรธก็บอกไม่ได้เพราะว่าเกิดแล้ว เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเราจะรู้ธรรมเมื่อธรรมเกิดแล้ว ถ้าธรรมยังไม่เกิดจะไปรู้ได้ไหมในลักษณะนั้นที่ยังไม่ได้ปรากฏเลย จะเป็นโทสะระดับไหน เช่น ความขุ่นใจ หรือว่าความกังวล ความไม่สบายใจ รูปแบบต่างๆ เกิดแล้วจึงรู้ว่าขณะนั้นเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนไม่ได้ต้องเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างอื่นไม่ได้ นี่ก็คือค่อยๆ เห็นว่าไม่มีการบังคับบัญชา

    ผู้ฟัง บางครั้งเราก็จะสามารถที่จะรู้ลักษณะของความติดข้อง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเมื่อสภาพธรรมเกิดคิดจะทำอะไรหลายอย่าง แต่ธรรมนั้นดับไปตั้งนานแล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรเลยแม้อย่างหนึ่งอย่างใด เพราะเกิดแล้วก็ดับไปเลย ยังไม่ต้องไปทำอะไรเลย แล้วขณะที่กำลังทำก็คือสภาพธรรมที่เกิดใหม่ แล้วก็คิดว่าเป็นตัวเราทำ ความจริงก็ดับด้วย

    ผู้ฟัง ในความเป็นจริงคือมีการเกิดแล้ว แล้วก็ดับแล้ว แต่เราไม่รู้ว่ามีการเกิด และการดับ

    ท่านอาจารย์ ก็เลยเป็นเรา

    ผู้ฟัง ความติดข้องนั้นก็ยังติดข้องอยู่เรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จนกว่าอะไร

    ผู้ฟัง จนกว่าเรารู้ลักษณะนั้นว่าไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ เริ่มจากการฟังค่อยๆ เข้าใจ จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมก็จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา แต่ถ้าตราบใดยังไม่ถึงระดับนั้นก็ดับไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องฟังๆ ให้เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ก็มีหลายท่านก็บอกว่าเมื่อฟังแล้วก็รู้ว่ามีทางเดียวคือฟังต่อไปให้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

    ท่านอาจารย์ จะทำหรือ ดับไปแล้ว ไม่ต้องทำ ดับแล้ว ขณะเกิดก็บังคับไม่ได้ เกิดแล้ว กำลังคิดตอนนี้เห็นก็ดับไปแล้วด้วย ทุกอย่างเร็วมาก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเราบังคับให้ไม่เกิดก็เป็นไปไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าได้ แบบนั้นก็เป็นอัตตา

    ผู้ฟัง เกิดแล้วก็ต้องดับ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ทุกขณะทั้งนั้นในขณะนี้ กำลังฟังเรื่องสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วสิ่งที่ปรากฏเป็นนิมิต เพราะสิ่งที่เราเข้าใจว่ามีดับอยู่ตลอดเวลา ดับไปแล้วไม่กลับมาอีกเลย ยังเหลือเพียงสิ่งที่เป็นนิมิตให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นมีอยู่เพราะเกิดดับสืบต่อกัน แต่ตัวจริงดับแล้วตลอดทุกขณะ ไม่มีอะไรเหลือเลย

    ผู้ฟัง เราก็ต้องมั่นคงในการฟังต่อไป

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นผู้ที่ได้สะสมบุญในอดีต เพราะว่าคงจะไม่ได้มีหลายคนที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง มีหลายท่านที่สนใจพระพุทธศาสนา แม้ว่าจะเป็นชาวต่างประเทศก็มาสนทนาธรรม ก็รู้สึกว่าพระพุทธศาสนาทั้งละเอียดทั้งลึกซึ้งทั้งน่าอัศจรรย์ แต่ก็พอแล้ว เพียงแค่รู้ว่าเป็นอย่างนั้นแต่ไม่ได้สะสมศรัทธาที่มากกว่านั้น เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าลาภอันประเสริฐก็คือศรัทธาที่จะได้ยินได้ฟังต่อไป ที่จะอบรมเจริญปัญญาต่อไป บางคนตื่นเต้นมากที่ได้ยินได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย เช่น ปรมัตถธรรม จิต เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่มีจริงเกิดดับในขณะนี้ ยอมรับว่าเป็นสิ่งซึ่งไม่ได้ยินได้ฟังแน่นอนถ้าไม่ได้ฟังธรรม แต่ก็เพียงเท่านั้นแล้วก็ไป แล้วเมื่อไหร่จะกลับมาฟังอีกก็ไม่ทราบ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัยซึ่งแต่ละคนได้สะสมมา ก็เป็นเรื่องเฉพาะตัว

    คุณอุไรวรรณ เมื่อสักครู่นี้ได้สนทนาเรื่องชวนจิตที่ทำหน้าที่ชวนกิจมี ๗ ขณะ ขอเชิญคุณอรรณพกล่าวถึงชวนกิจ

    อ.อรรณพ ขณะนี้ก็มีชวนจิตเกิด ขณะที่ฟังพระธรรมเข้าใจ ขณะนั้นชวนจิตก็เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ก็มีการสะสมความเข้าใจให้พอกพูนขึ้นทีละเล็กทีละน้อยซึ่งไม่ใช่ตัวเราเลย แต่เป็นกิจเป็นหน้าที่ของจิตที่เป็นชวนจิตซึ่งทำชวนกิจได้แก่กุศลจิต และอกุศลจิตสำหรับผู้ที่ยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ยังต้องเป็นกุศล และอกุศลอยู่ และมิใช่ว่าจะเกิดแค่เพียงขณะเดียว ในชีวิตประจำวันถ้าไม่ใช่ขณะที่ใกล้ตายหรือเป็นขณะสลบ แต่เป็นขณะทั่วๆ ไป ชวนจิตจะเกิดขึ้น ๗ ขณะ จะสะสมอุปนิสัยทั้งดี และไม่ดี ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะหลับหรือจะตื่น ไม่ใช่เรา เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจตั้งแต่ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ

    อ.ธีรพันธ์ ชวนะจะเกิดซ้ำกันแล่นไปในอารมณ์ ถ้าเป็นกุศลก็ ๗ ขณะ ถ้าเป็นอกุศลก็ ๗ ขณะเหมือนกันคือแล่นไปอย่างรวดเร็วในอารมณ์นั้นไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น หรือโผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย ฉะนั้นจิตแต่ละขณะที่เป็นไปในขณะนี้เกิดจากการสะสมทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นชวนจิตขณะที่จิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์เป็นกุศลหรืออกุศล แต่ผู้ที่ไม่เสพอารมณ์ที่เป็นกุศล และอกุศลก็คือพระอรหันต์เท่านั้นที่เป็นชาติกิริยาจิต เพราะท่านละกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว จึงไม่มีกุศล และอกุศล

    อ.วิชัย การรู้ความหมายหรือการที่จะเข้าใจความหมายใดๆ ก็ทราบในขณะที่เป็นชวนะเพราะเหตุว่ามีจิตเกิดดับซ้ำกันถึง ๗ ขณะ แต่ไม่ใช่ว่าจิตนั้นจะเกิดแล้วเกิดอีก แต่ว่าจิตนั้นเมื่อเกิดขึ้นดับไปแล้วเป็นชวนจิตขณะที่หนึ่ง เมื่อดับไปแล้วเป็นปัจจัย นอกจากเป็นอนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย นัตถิปัจจัย วิคตปัจจัย แล้วยังเป็นอาเสวนปัจจัยด้วย คือเป็นอาเสวนปัจจัยให้จิตประเภทเดียวกันเกิดสืบต่อจิตที่ดับไปแล้ว

    อ.ธิดารัตน์ ขณะที่ฟังธรรม จิตที่เป็นกุศลจิตก็เกิดขึ้นทำกิจ ทำชวนกิจแล้วก็สะสมกุศลจิตนั้นๆ ด้วย สะสมกุศลกรรมด้วย ปัญญาซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ทำชวนวิถีก็จะสะสมแล้วก็สืบต่อไปในจิตขณะต่อไป ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นอุปนิสัยต่างๆ กรรม กิเลสต่างๆ สะสมแล้วในขณะที่จิตนั้นทำชวนกิจ

    อ.กุลวิไล ฉะนั้นในชีวิตประจำวันเราจะเห็นว่าหลังจากเห็น หลังจากได้ยิน เราจะชอบในอารมณ์นั้นหรือไม่ชอบในอารมณ์นั้น ขณะนั้นชวนจิตเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งจิตที่เกิดขึ้นหลังจากเห็น หลังจากได้ยิน หลังจากรู้อารมณ์ทั้ง ๕ ทาง ส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางอกุศลแน่นอนเพราะเราจะติดข้องในสิ่งที่เราเห็นหรือได้ยิน แล้วถ้าเราไม่ได้ในสิ่งนั้น อกุศลจิตก็เกิด เพราะฉะนั้นชวนจิตจึงมีถึง ๔ ชาติ ที่สำคัญคืออกุศลจิตมีทั้ง ๑๒ ประเภทเลย แล้วยังมีชาติกุศล ชาติวิบาก ชาติกิริยา ซึ่งก็ต่างกันตามบุคคลต่างๆ กัน ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วชวนจิตก็ต้องเป็นชาติกิริยาด้วย และหากกล่าวถึงภูมิ ชวนจิตก็มีทั้ง ๔ ภูมิเช่นกัน กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ นี้ก็คือจิตที่ทำกิจชวนะ ซึ่งก็ไม่ใช่ขณะใดก็คือขณะในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ยังสงสัยว่าจะแยกอารมณ์ปรากฏได้ ไม่เข้าใจคำว่า “อารมณ์”

    ท่านอาจารย์ “อารัมมณะ” หรือ “อาลัมพนะ” หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ เสียงในป่าขณะนี้มีใครได้ยินไหม แต่เสียงเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ขณะนั้นเสียงเป็นอารมณ์หรือไม่

    ผู้ฟัง ขณะนั้นเสียงไม่ได้เป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเกิดแล้วดับแล้วโดยที่ว่าเสียงนั้นไม่ได้ปรากฏกับจิตได้ยิน เพราะฉะนั้นสภาพของจิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะจะรู้อารมณ์อย่างหนึ่งๆ ทีละหนึ่งอย่าง จะรู้ ๒ อย่างไม่ได้เลย แล้วก็แล้วแต่ว่าจิตนั้นเป็นจิตประเภทไหนก็รู้เฉพาะอารมณ์นั้น เช่น จิตเห็นจะมีเสียงเป็นอารมณ์ไม่ได้ ขณะใดที่เสียงปรากฏ เช่นในขณะนี้ แสดงว่ามีจิตกำลังได้ยิน เสียงนั้นจึงปรากฏ เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดเมื่อใด ขณะใด ภพใด ภูมิใดก็ตาม เมื่อเป็นจิตซึ่งเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ หรือจิตนั้นกำลังรู้สิ่งนั้นในขณะนั้น จะมีจิตเกิดขึ้นโดยไม่มีอารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้นั้น เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ และต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด มิฉะนั้นจะเรียกว่าสภาพรู้ไม่ได้ แต่ว่าบางกาละอารมณ์ของจิตก็ไม่ได้ปรากฏเช่นในขณะที่หลับสนิท มีใครรู้อารมณ์อะไรไหมขณะที่กำลังหลับสนิทแต่จิตมีหรือไม่ ต้องมี เพราะฉะนั้นขณะนั้นต้องมีอารมณ์ด้วย แต่ว่าอารมณ์นั้นไม่ปรากฏ เพราะเหตุว่าไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใด ไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นจิตที่เกิดขึ้นสืบต่อจากปฏิสนธิดำรงภพชาติระหว่างที่ยังไม่ตายแล้วก็หลับไป เมื่อคืนนี้ก็หลับมาแล้ว ตอนเย็นๆ ค่ำๆ ก็หลับอีก เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็คือจิตที่เป็นวิถีจิต และไม่ใช่วิถีจิตนั่นเอง สลับกันอย่างนี้โดยที่ว่าถ้าไม่รู้ก็เป็นเรา แต่ความจริงก็เป็นจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงานนั้นๆ ซึ่งใครก็บังคับบัญชาไม่ได้ เราจะรู้หรือไม่รู้ อารมณ์จะปรากฏหรือไม่ปรากฏ แต่ข้อสำคัญก็คือต้องมีเหตุผลที่ตายตัวมั่นคง คือ จิตเป็นสภาพรู้ เมื่อเกิดขึ้นขณะใดต้องมีอารมณ์คือมีสิ่งที่จิตนั้นกำลังรู้

    ผู้ฟัง อารมณ์จะแยกเป็นประเภทหรือไม่

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ขณะนี้มีอะไรกำลังปรากฏบ้าง

    ผู้ฟัง ถ้าทางตาก็คือรูปารมณ์

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่ารูปารมณ์ แต่แม้ไม่ต้องเรียกชื่อเลย ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏเมื่อมีจิตเห็นเกิดขึ้น ถูกต้องไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง และอารมณ์ทางมโนทวารคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เคยคิดไหม

    ผู้ฟัง คิด

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิดอาศัยตาหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ได้อาศัยตา

    ท่านอาจารย์ อาศัยหู

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อาศัยจมูก

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ลิ้น

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ กาย

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ แต่คิดได้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าขณะที่คิดไม่ใช่ภวังค์ ไม่ใช่จิตที่ไม่ใช่วิถี เพราะคิดเป็นวิถีจิตแล้ว ถ้าแบ่งจิตออกเป็นประเภทใหญ่จริงๆ ก็มีจิตที่ไม่ใช่วิถีกับจิตที่เป็นวิถี เพราะอาศัยทวารหนึ่งทวารเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางนั้น แล้วก็หมดวาระของวิถีนั้นแล้วก็ดับไป ภวังคจิตก็เกิดคั่น แต่ขณะใดที่คิดขณะนั้นเป็นวิถีจิตหรือว่าไม่ใช่วิถีจิต

    ผู้ฟัง เป็นวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิตแน่นอน ขณะนั้นเมื่อไม่ได้อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย และกำลังเป็นภวังค์อยู่อย่างนี้ ระหว่างที่กำลังเป็นภวังค์อยู่จะเหมือนกับที่ขณะคิดหรือไม่ ไม่เหมือน เพราะฉะนั้นขณะที่เป็นภวังค์ ไม่ใช่วิถีจิต แต่ขณะที่คิดเป็นวิถีจิต และถ้ายังคงเป็นภวังค์อยู่ต่อไป วิถีจิตก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่วิถีจิตจะเกิดได้ต้องไม่ใช่ขณะที่เป็นภวังค์ ก่อนที่วิถีจิตจะเกิด ภวังค์จะต้องสิ้นสุด แต่ภวังค์จะสิ้นสุดทันทีโดยรวดเร็วไม่ได้เพราะกำลังเป็นภวังค์อยู่ เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีภวังคจลนะก่อนที่จะมีอารมณ์ใหม่ หรือจะรู้อารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เกิดขึ้นแล้วดับไปก่อนเป็นปัจจัยให้ภวังค์ขณะสุดท้ายเกิดขึ้นใช้คำว่า “ภวังคุปัจเฉทะ” จะใช้คำว่า “ตัดกระแสภวังค์” ก็ได้ “สิ้นสุดกระแสภวังค์” ก็ได้ แต่หมายความว่าเมื่อภวังคุปัจเฉทะเกิดแล้วดับไปต้องเป็นวิถีจิตเกิดต่อ จะเป็นภวังค์อีกต่อไปไม่ได้ ถ้าเป็นภวังค์ก็ไม่ต้องใช้คำว่าภวังคจลนะหรือภวังคุปัจเฉทะ ก็เป็นภวังค์อยู่แล้ว แต่เวลาที่จะมีอารมณ์อื่นที่ไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ ก็จะต้องสิ้นสุดกระแสภวังค์ก่อนโดยมีภวังคจลนะเกิด ๑ ขณะ แล้วภวังคุปัจเฉทะดับไป วิถีจิตแรกทางใจได้แก่มโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยาจิต ซึ่งกิริยาจิตที่ไม่มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยมี ๓ ประเภท คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ และหสิตุปาทจิต ๑ ซึ่งเฉพาะพระอรหันต์เท่านั้นที่จะมีหสิตุปาทจิตนี้เกิดขึ้นที่เป็นอเหตุกะ ไม่ประกอบด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดใน ๖ เหตุ

    ผู้ฟัง อารมณ์ทางมโนทวารก็คือสภาพคิดนึกที่เรามีอยู่ในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจธรรม ให้เข้าใจสิ่งที่เกิดกับเรา สามารถจะพิสูจน์ได้ เช่นคิด และในขณะนี้ทรงแสดงไว้ด้วยว่าจิตเห็นอาศัยจักขุปสาทเกิด ไม่ใช่ภวังคจิต แต่ก่อนจิตเห็นต้องมีกิริยาจิตคือปัญจทวาราวัชชนะ ถ้าเป็นทางตาก็เรียกชื่อเฉพาะได้ว่าจักขุทวาราวัขชชนะเกิดก่อนดับไปเป็นวิถีจิต และวิถีจิตจะไม่เกิดเพียงขณะเดียวหรือประเภทเดียว แต่จะต้องอาศัยทวารนั้นๆ รู้อารมณ์สืบต่อกันจนกว่าจะสิ้นสุดวิถีจิตจึงเป็นวาระหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อทางตา จักขุทวารวิถีดับไปหมดแล้ว ต่อไปเป็นอะไร

    ผู้ฟัง สัมปฏิจฉันนะ

    ท่านอาจารย์ จักขุทวาราวัชชนะดับแล้ว จักขุวิญญาณดับแล้ว สัมปฏิจฉันนะดับแล้ว สันตีรณะดับแล้ว โวฏฐัพพนะดับแล้ว ชวน ๗ ขณะดับแล้ว ตทาลัมพนะอีก ๒ ขณะ แล้วรูปทางตาซึ่งมีอายุ ๑๗ ขณะดับแล้ว ต่อไปเป็นภวังค์ เมื่อภวังค์เกิดสืบต่อกันดับไปแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตเกิดเพราะอาศัยการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดของปัญจทวาร ทำให้จิตสามารถที่จะเกิดขึ้นทางมโนทวาร รู้อารมณ์นั้นสืบต่อจากทางปัญจทวารโดยรวดเร็ว ซึ่งในขณะนี้มีมโนทวารวิถีจิตเกิดสืบต่อจากทางตาโดยเราไม่รู้เลย เหมือนกับมีเห็นโดยตลอด แต่รู้ได้กำลังเห็นอย่างนี้ก็คิด ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีแต่เฉพาะทางจักขุทวารวิถี แต่มีมโนทวารวิถีด้วย เพราะว่าในขณะที่คิดไม่ใช่จิตที่รู้อารมณ์ทางตา

    ผู้ฟัง ทางจักขุทวาร เมื่อรู้อารมณ์ วิถีจิตทั้งหมดทางจักขุทวารก็ต้องเป็นอารมณ์เดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง นั่นคือวาระหนึ่งๆ ไม่เปลี่ยนอารมณ์เลย

    ผู้ฟัง แล้วเมื่อสิ้นสุดวาระดังกล่าว เป็นภวังค์ก่อน สิ้นสุดกระแสภวังค์ก็เป็นภวังคุปัจเฉทะ

    ท่านอาจารย์ และก็มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง แล้ววิถีจิตทางมโนทวารดังกล่าวจะรู้อารมณ์เดียวกับทวารวิถีที่ดับไป

    ท่านอาจารย์ จริงหรือไม่ พิสูจน์ได้ในขณะนี้ ทางจักขุทวารวิถีเห็นอะไร แล้วก็ทางมโนทวารวิถีก็ต้องมีอารมณ์นั้น ไม่เห็นว่าไม่มีเลยก็สืบต่ออย่างรวดเร็ว โดยที่ว่าไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าจริงๆ แล้วขณะที่กำลังรู้ว่าสิ่งที่กำลังเห็นเป็นอะไรไม่ใช่หน้าที่ของจักขุทวารวิถีจิตเลย เป็นทางมโนทวารวิถีทั้งหมด เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ลองคิดถึงความจริงว่าขณะที่เป็นภวังคจิตมืดหรือสว่าง

    ผู้ฟัง มืด

    ท่านอาจารย์ มืดสนิทไหม ต้องสนิท เพราะเหตุว่าไม่มีอะไรปรากฏเลย แต่เมื่อมีรูปกระทบปสาทรูป เป็นปัจจัยให้ปัญจทวารวิถีทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้น สั้นมาก ชั่วขณะนิดเดียว ต่อจากนั้นภวังค์ก็มืดอีก มโนทวารวิถีก็มืดอีก เพราะฉะนั้นจึงอุปมาว่า กาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เหมือนฟ้าแลบ สั้นแสนสั้น แล้วต่อจากนั้นก็เป็นวิถีจิตทางมโนทวาร วันหนึ่งๆ เราอยู่ในความคิดจากสิ่งที่ปรากฏทั้งๆ ที่สิ่งนั้นก็ดับไปแล้ว เมื่อเช้านี้เห็นอะไร บ้าน ยังมีอยู่ใช่ไหมตอนนี้ แต่จริงๆ แล้วไม่มีเลย หมดแล้ว แต่เราจะสะสมทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นเรื่องเป็นราวทางใจ เหมือนกับว่ายังมีสิ่งนั้นตลอดเวลา นี่คือการที่ใจเราสามารถที่จะคิดนึกได้ทุกอย่างแม้สิ่งนั้นไม่ปรากฏเลย ถามว่าคุณสุกัญญามีฟันไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เมื่อไหร่

    ผู้ฟัง พูดได้ทันที ก็เป็นการจดจำอยู่ในใจตลอดเวลาว่าเรามีฟัน

    ท่านอาจารย์ นี่คือทางใจ ขณะนี้เห็นฟันหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็น แต่บอกว่ามี นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทางใจ จำทุกอย่างทุกเรื่อง ตลอดชีวิตจำได้หมดเลย ตอนเด็กๆ เกิดมาทำอะไรบ้าง พอจำความได้ ไปจนกระทั่งถึงสูงอายุแล้วก็ยังจำได้ เรื่องราวต่างๆ ทั้งๆ ที่เรื่องต่างๆ ก็ไม่มี และสิ่งต่างๆ ที่ได้เคยพบเคยเห็น จริงๆ เกิดขึ้นปรากฏเหมือนฟ้าแลบแล้วไม่เหลือเลย ไม่มีอะไรสักรูปเดียวที่จะยังอยู่เพราะว่ารูปทุกรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้นเอง เท่ากับอยู่ในความว่างเปล่าของความคิดนึก ความทรงจำ ว่ามีสิ่งต่างๆ เป็นอัตตสัญญา แต่ความจริงไม่มีอะไรเหลือเลย

    ผู้ฟัง ขณะที่เรามีโทสมูลจิตที่เกิดขึ้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    21 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ