พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 119


    ตอนที่ ๑๑๙

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    คุณอุไรวรรณ คำว่า “ประกอบด้วยความเห็นผิด” แค่ที่เราบอกว่าดอกไม้สวย แล้วเราก็ชื่นชมยินดีว่าดอกไม้สวย อันนี้เป็นโลมูลจิตดวงนี้หรือยัง

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นอะไรบ้างหรือไม่

    คุณอุไรวรรณ ไม่มี ขณะนั้นเราไม่มีความเห็น

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์

    คุณอุไรวรรณ คือขณะนั้นต้องมีความเห็นอย่างแน่นอนว่าเป็นโน่นเป็นนี่ คือต้องมีความเห็นผิดประกอบด้วยจึงจะต้องเป็นโลภมูลจิต

    ท่านอาจารย์ มีความเชื่อในความเห็นผิดๆ นั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นความเชื่อในลักษณะใด แต่จะเห็นได้ว่าเรากล่าวถึงธรรมทั้งหมด พอถึงจุดนี้เราเริ่มเข้าใจถูกว่าเพียงชื่อไม่สามารถทำให้เราเข้าถึงความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาขั้นฟัง ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง ยังจะต้องมีปัญญาที่จะค่อยๆ อบรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่เราได้ยินได้ฟังแล้ว ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น จึงต้องถามว่าขณะนั้นที่เป็นโลภะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยไหม ถ้าโลภะเกิดขึ้นแม้ขณะนั้น ศึกษามาว่าความติดข้อง ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงามเป็นอกุศล เพราะเหตุว่ากำลังติดข้อง กำลังต้องการ ซึ่งจะต้องขวนขวายต่อไปในสิ่งที่พอใจนั้น ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นมูลเหตุของความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง แม้ว่าขณะที่โลภะเกิดดูเหมือนเป็นสุข ดูเหมือนเพลิดเพลิน ดูเหมือนพอใจ แต่ว่าความทุกข์ก็จะติดตามมา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะใดก็ตามที่เป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ความถูกต้องในสิ่งที่เป็นความจริงในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษา ขณะที่ศึกษา และมีความเข้าใจเปลี่ยนสภาพจากความติดข้องคือโลภมูลจิตมาเป็นกุศลจิตที่ดีงาม และขณะใดที่มีความเห็นถูกเกิดร่วมด้วยก็ประกอบด้วยปัญญาเจตสิก ซึ่งตรงกันข้ามกับฝ่ายอกุศล ฝ่ายอกุศลโลภะติดข้อง ฝ่ายกุศลปัญญาละคลาย แม้ว่าโลภมูลจิตจะมีอุเบกขาเวทนาเกิดร่วมด้วยได้ โสมนัสเวทนาเกิดร่วมด้วยได้ ฝ่ายกุศลคือปัญญาก็มีที่เป็นกามาวจรเป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็มีอุเบกขาเกิดร่วมด้วยก็ได้ โสมนัสเกิดร่วมด้วยก็ได้ สำหรับโลภะจะเกิดมีกำลังกล้า ไม่มีการลังเลสงสัย ไม่มีใครชักจูงด้วยประการใดๆ ก็ตาม แต่ก็สะสมมาที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้ฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็จะเป็นกุศลที่มีการสะสมมาที่จะมีกำลังที่จะเกิดขึ้นแม้ไม่อาศัยคำของบุคคลอื่น แต่แม้แต่ความคิดถูก ความเห็นถูกก็สามารถจะเกิดขึ้นได้ตามลำดับขั้นของการสะสมของสังขารขันธ์

    เพราะฉะนั้นธรรมที่ตรงกันข้ามกันก็คือฝ่ายอกุศลเป็นโลภมูลจิต ฝ่ายกุศลเป็นกุศลจิต ฝ่ายโลภะมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยก็ได้ ฝ่ายกุศลจิตก็มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ และทางฝ่ายโลภะมีอุเบกขาความรู้สึกเฉยๆ เกิดร่วมด้วยก็ได้ โสมนัสเกิดร่วมด้วยก็ได้ ทางฝ่ายกุศลก็มีโสมนัสเกิดร่วมด้วยก็ได้ มีอุเบกขาเกิดร่วมด้วยก็ได้ ทางฝ่ายอกุศลโลภะมีกำลังเกิดขึ้นก็ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องลังเลสงสัยชักจูงใดๆ ทั้งสิ้น ทางฝ่ายกุศลก็สามารถที่จะเป็นกุศลประกอบด้วยปัญญาที่เกิดขึ้น โดยที่ว่าจากการสะสมมาเป็นกุศลที่มีกำลังก็ได้ แต่ขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่สามารถจะเข้าใจอะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่ขณะที่กำลังเข้าใจขณะนี้ก็เป็นปัญญา

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกันของวันหนึ่งๆ ซึ่งขณะใดเป็นอกุศล ถามกันไปเรื่องโลภะ ถามกันไปเรื่องทิฏฐิ แต่ก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของโลภะ และทิฏฐิด้วยอกุศลจิตได้ แต่ว่าเมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็เริ่มตามลำดับขั้นว่าปัญญาขั้นฟังก็คือสามารถที่จะเข้าใจถูก และก็พิจารณาไตร่ตรอง เป็นหนทางที่จะทำให้ปัญญาที่สามารถจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในภายหลังได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าธรรมเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องทิฏฐิเจตสิก ถ้าเกิดร่วมกับอกุศลจิตก็ไม่มีทางรู้ว่าขณะนั้นเป็นความเห็นผิดหรือว่าเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เราจะเกื้อกูลเขาอย่างไร ถ้าเขาสะสมในสิ่งที่เห็นผิดแล้วนึกว่าเห็นผิดนั้นเป็นเห็นถูก แล้วเขาก็ไปคบคนเห็นผิดต่อไปอีก เป็นสิ่งที่น่ากลัว กรุณาขยายตรงนี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนนั้นไม่มีฉันทะที่จะต้องการความจริง หรือความรู้ถูก ก็คงจะสงเคราะห์ไม่ได้ แต่ถ้ายังมีฉันทะมีความพอใจที่จะเข้าใจถูก คำใดที่ได้ยินได้ฟังก็ไตร่ตรองจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้นในความถูกต้องอันนั้นก็จะเกื้อกูลได้

    ผู้ฟัง ความเห็นผิดนี่จะหมายถึงการมองคือการใช้ตา และการฟังด้วย จะรวมหมดทั้งอายตนะทั้ง ๖ ทางหรือไม่

    อ.ธิดารัตน์ ความเห็นในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงว่าเห็นด้วยตาหรือว่าฟัง แต่เป็นความเชื่อที่ผิดๆ จากความเป็นจริงที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดง

    อ.กุลวิไล อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวมาแล้วว่าถ้าเกิดมีความเห็นผิดแล้วย่อมมีโทษมากด้วย เพราะถ้าเราลองมาเทียบดูอย่างในชีวิตประจำวัน ถ้าเราแค่มีโลภะติดข้องในรูป รส กลิ่น เสียง ธรรมดา ยินดีที่จะเห็น ได้ยิน หรือว่าพอใจที่จะลิ้มรส อย่างนั้นก็แค่โลภะที่มีกำลังไม่เท่ากับขณะที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะว่าถ้ามีความเห็นผิดเมื่อไหร่ การกระทำทางกายทางวาจา เราคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และมีปัจจัยให้ทำอกุศลกรรมบทได้ง่ายมาก มีความเห็นผิดที่ดิ่งมาก

    อ.วิชัย เมื่อโลภะเกิดขึ้นก็มีสภาพธรรมหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ทรงแสดงในธรรมสังคณีปกรณ์ กล่าวถึงอกุศลธรรมที่เกิดขึ้น ดวงที่ ๑ ก็จะมีสภาพธรรมหลายอย่างเกิดขึ้น และแน่นอนก็ต้องมีมูล คือ โลภมูล และโมหมูลด้วย คือต้องมีในขณะนั้นด้วย และก็เมื่อกล่าวถึงโลภมูลจิต ขณะใดก็ตามที่มีความเห็นเกิดขึ้นพร้อมกัน ขณะนั้นก็เป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ฉะนั้นความเห็นผิดก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นความรู้ผิด เป็นความเข้าใจผิดจากความเป็นจริงอย่าง เช่น เห็นว่าเที่ยงซึ่งจริงๆ ก็คือทุกอย่างมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แต่สำคัญว่าสิ่งนี้เที่ยง เช่นจักษุ โสต ฆาน ชิวหา กาย และ จิต เห็นสำคัญว่าเที่ยง ไม่เกิดดับ ก็เป็นความเห็นผิด เป็นความเข้าใจผิดจากความเป็นจริง หรือ เห็นว่าขาดสูญ คือ เมื่อตายแล้วก็ไม่เกิดอีก อย่างนี้ก็คือเข้าใจผิด คือ เห็นผิด เพราะเหตุว่าทุกอย่างเมื่อมีปัจจัยก็ย่อมเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ในขณะที่ฟังธรรมก็ดูเหมือนว่าปัญญาจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน แต่คล้อยหลังไปไม่นานความเห็นผิดที่เชื่อว่ามันมีตัวตนเกิดขึ้น จะเรียกว่าต่อกันทันทีทันใดก็ได้ และก็เป็นอย่างนี้เกิดขึ้นมาก และเป็นเรื่องเป็นราวไปเลย ก็ยากมาก เหมือนไม่มีทางเลยที่ปัญญาจะเจริญได้ ในขณะนั้นปัญญารู้อะไร

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่าต้องพิจารณาสภาพธรรมโดยละเอียด มิฉะนั้นเราก็จะคิดแต่เพียงว่ามีโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ทุกครั้งที่เป็นอกุศลประเภทโลภะ เพราะฉะนั้น เวลาที่บอกว่าเวลาฟังก็มีความคิดที่ค่อยๆ เข้าใจว่าไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิตก็เป็นสภาพรู้เป็นใหญ่เป็นประธาน สามารถเห็น กำลังได้ยินเหล่านี้ก็เป็นจิต ส่วนเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิตมีลักษณะต่างๆ กันไป ในขณะที่ฟังมีความเข้าใจอย่างนี้ แล้วที่บอกว่า เมื่อไม่ได้ฟังก็มีความเป็นเราในทันทีตลอด นี่แสดงให้เห็นว่า เรายังไม่ได้พิจารณาโดยละเอียดว่าจริงๆ แล้วความเห็นที่ว่าเป็นเราเมื่อไหร่ เช่น ขณะที่เรากำลังเห็นสิ่งที่สวยงาม กำลังติดข้อง กำลังพอใจ ลักษณะของความพอใจปรากฏเลย เราชอบสิ่งนี้เหลือเกิน สมมติว่าเป็นผ้าไหมสีสวย เราก็เห็นว่าสีนี้ยาก ไม่ค่อยจะมี ถูกใจ ความแก่ความอ่อนของสี ลักษณะของผ้าไหมก็เบาบางลึกแล้วแต่จะเป็นเนื้อยังไง นั่นคือความพอใจปรากฏ ขณะนั้นมีความเห็นอะไรที่เกี่ยวกับความเป็นเราหรือไม่ หรือว่าลักษณะของความพอใจกำลังปรากฏให้รู้ว่ากำลังพอใจในสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ก็มีลักษณะของความพอใจ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นไม่มีความเห็นใดๆ ที่เกิดร่วมกับจิตที่กำลังพอใจในขณะนั้น ต่างกับที่บางคราว บางขณะ บางคน ก็จะมีความเห็นว่าเป็นเราที่ทำได้ ทำกุศลฉันก็ทำได้ ทำอกุศลฉันก็ทำได้ ฉันสามารถที่จะทำอะไรก็ได้โดยที่ไม่เข้าใจว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือว่า “ฉันอยู่ที่ไหน” “เราอยู่ที่ไหน” ในเมื่อเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะที่มีความเห็นอย่างนั้น ก็ขณะที่เป็นความเห็นในเรื่องของความเห็น ในเรื่องของความเป็นตัวตน แต่ขณะที่กำลังพอใจก็ไม่มีความเห็นอย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นเพียงหนึ่งขณะ ทีละขณะ แล้วก็ดับไปอย่างเร็วมาก เมื่อจิตขณะนี้ดับไปแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น หรือว่าบางคนก็อาจจะเชื่อว่าคนอื่นสามารถจะดลบันดาลให้เราได้ ให้เขาได้ ให้ฉันได้ หรือใครก็ตาม ก็คิดว่าคนอื่นสามารถจะกระทำได้ ขณะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนั้น มีความเชื่ออย่างนั้น ถูกหรือผิด นี่ก็แสดงให้เห็นว่าขณะนั้นมีความเห็นเกิดขึ้น ซึ่งเวลาที่มีความเห็นเกิดขึ้นจะต้องมีความพอใจในความเห็นนั้นด้วยจึงเชื่อในความเห็นนั้น แต่ลักษณะของความเห็นปรากฏ แต่ลักษณะความติดข้องในความเห็นนั้นไม่ปรากฏเหมือนกับความเห็นที่กำลังปรากฏ เช่นเดียวกับเวลาที่กำลังพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วย เมื่อไม่มีความเห็นผิดใดๆ เกิดร่วมด้วยก็จะมีลักษณะของความเห็นผิดปรากฏไม่ได้ในขณะที่กำลังพอใจใ นรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยจึงไม่มีลักษณะของความเห็นผิด แต่เวลาที่มีความเห็นผิดว่าคนอื่นสามารถบันดาลได้ หรือว่าเรานี่เองสามารถจะบันดาลได้ทุกอย่างให้เกิดขึ้นในชีวิตของเรา ทำได้ทุกอย่าง ไม่รู้เรื่องเหตุ เรื่องปัจจัย เรื่องขณะที่จิตแต่ละขณะจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่ และจิตประเภทนี้จะไปมีเจตสิกประเภทอื่นมาเกิดร่วมด้วยไม่ได้ ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างนี้ขณะนั้นก็มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ขณะที่เห็นถูกคือความเข้าใจ แต่ขณะที่ไม่มีความเข้าใจในขณะนั้นแล้วเป็นอกุศล ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องมีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    ผู้ฟัง หมายถึงว่าขณะที่รู้ลักษณะทางรูป รส กลิ่น เสียง หมายถึงขณะที่ปัญญารู้ก็คือมีลักษณะใช่ไหม ตรงนี้ก็คือขณะหนึ่ง ในขณะที่หากว่ามีความคิดเห็นก็อีกขณะหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ก็แสดงให้เห็นว่าเพียงขั้นฟังไม่สามารถที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน และความเห็นผิดใดๆ ได้เลย ขณะที่กำลังฟังธรรม ขณะนี้กำลังพูดเรื่องธรรม สิ่งที่มีจริงๆ เช่น ที่กล่าวถึง เห็น กำลังเห็น และก็พูดให้เข้าใจความจริงว่าเห็น ไม่ใช่รูปธรรม เพราะว่ารูปธรรมไม่สามารถเห็นอะไรเลยได้ทั้งสิ้น เป็นรูปธาตุเป็นธาตุที่มีจริง สิ่งที่มีจริง แต่สิ่งที่มีจริงไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปธาตุ ยังมีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นนามธาตุ ขณะที่กำลังฟังอย่างนี้ก็จะเห็นว่านามธาตุขณะนี้คือเห็น ถ้าสามารถจะเข้าใจถูกต้องในขณะที่กำลังเห็นว่าเป็นนามธาตุที่ไม่มีรูปร่างเลย แต่กำลังเห็น และก็สามารถเห็น ซึ่งในขณะที่เสียงปรากฏ เสียงไม่ใช่สภาพรู้ แต่เสียงปรากฏกับสภาพที่ได้ยินเสียง ลักษณะที่ได้ยินไม่มีรูปร่างสัณฐานเลย แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถรู้เสียง คือ ได้ยินนั่นเอง ขณะที่กำลังฟังธรรมคือเข้าใจเรื่องสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ให้เป็นความเห็นที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แต่ไม่มั่นคง ยังไม่สามารถจะดับการยึดถือ ที่เคยเข้าใจถูกว่าเป็นเพียงธรรม และเป็นจิตเป็นเจตสิกซึ่งเกิดแล้วก็ดับ ยังเป็นเพียงความรู้เพียงขั้นฟัง แต่ให้รู้ว่าความเข้าใจธรรมคือให้เข้าใจสิ่งที่มี โดยอาศัยปริยัติ คือ พระธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นแนวทางที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ถ้าไม่คำสอนที่ทรงแสดง ไม่มีคำหลากหลายที่จะชี้ให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมี ความเข้าใจธรรมคือสภาพที่กำลังมีในขณะนี้ก็เกิดไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะรู้ความต่างของปัญญาระดับขั้นฟังเพียงเรื่องราว เข้าใจเรื่องราว แต่ยังไม่ถึงระดับที่สัมผัสหรือกระทบ หรือรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในความเป็นจริงของสภาพนั้น ซึ่งสามารถเป็นไปได้เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ปัญญาอีกระดับหนึ่ง เช่น กำลังเห็นขณะนี้ ก็สามารถค่อยๆ เข้าใจในลักษณะที่เห็นได้ เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่ใช่ความเข้าใจอย่างนี้เป็นโลภะเกิดขึ้น ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนั้นมีความเห็นผิดหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็จะต้องเป็นโลภมูลจิตที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิด

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าในส่วนตรงนี้ก็ต้องค่อยๆ สังเกตตามความเป็นจริงว่ามีสภาพความเห็นผิดเกิดขึ้น หรือไม่เห็นผิดเกิดขึ้นร่วมด้วย ก็โดยส่วนตัวดูเหมือนเห็นผิดจะเกิดขึ้นมาก

    ท่านอาจารย์ จะมากตอนไหน ตอนกำลังชอบ เห็นผิดมีปรากฏหรือไม่ กำลังชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเห็นอย่างเมื่อสักครู่หรือไม่

    ผู้ฟัง อย่างขณะนี้ฟังธรรมอยู่ก็ไม่เห็นผิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเวลาที่ไม่ได้ฟังแล้วเกิดชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นมีความเห็นผิดปรากฏให้รู้ว่าเป็นความเห็นผิดเกิดขึ้นหรือไม่

    ผู้ฟัง ถ้าหากจากเดิมๆ ที่พอจำได้ก็มีสลับด้วยว่าเป็นเราเห็น เราชอบ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมเลยแล้วก็ชอบเกิดขึ้น ถ้าไม่มีใครถามเรื่องว่าเป็นเราหรือไม่ จะคิดไหมว่าเรากำลังชอบสิ่งนั้น หรือว่าไม่ได้คิด มีแต่เป็นลักษณะของความพอใจติดข้องในสิ่งนั้น ที่กำลังพอใจในสิ่งนั้น

    ผู้ฟัง ก็แค่ว่าชอบ

    ท่านอาจารย์ ก็แค่ว่าชอบ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเป็นโลภมูลจิตที่ไม่มีสักกายทิฏฐิหรือทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    เพราะแม้สักกายทิฏฐิก็จะละเอียดไปอีก ขณะใดที่มีความคิดว่าเป็นเราแน่นอน ขณะนั้นก็เป็นสักกายทิฏฐิที่เกิดร่วมด้วย อย่างเราทำได้ มีเราที่ทำได้ เราบันดาลได้ หรือคิดว่าคนอื่นสามารถทำให้เราได้ ก็มีความเป็นตัวตน ซึ่งในขณะที่กำลังชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด อาหารอร่อยก็ไม่ได้มีความคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจึงจำแนก แม้โลภะความติดข้องว่าต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือโลภะที่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย พอใจในความเห็นนั้น ขณะนั้นเชื่อมั่นในความเห็นนั้น ลักษณะของโลภะไม่ได้ปรากฏ มีแต่ลักษณะของความเห็นปรากฏ แต่เวลาที่ไม่มีลักษณะของความเห็นใดๆ เกิดร่วมด้วยก็จะมีลักษณะของความพอใจความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิได้จริงๆ ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานรู้ไม่ได้เลย แต่ต้องเป็นขณะใดก็ตามซึ่งกำลังมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดปรากฏ แล้วก็มีลักษณะของสภาพธรรมที่ยึดถือ ติดข้องว่าสิ่งนั้นเป็นเรา มิฉะนั้นเราจะไม่สามารถละสักกายทิฏฐิได้ ถ้าปัญญาไม่รู้ลักษณะของสักกายทิฏฐิในขณะนั้นว่ามีอยู่เมื่อไหร่ ขณะไหน และกำลังเกิดขึ้นปรากฏให้รู้ ซึ่งขณะหนึ่งขณะใดก็ตามแม้สักกายทิฏฐิจะเกิดหรือทิฏฐิอื่นใดจะเกิดก็ตาม ไม่ได้ปรากฏให้รู้ลักษณะเพียงแต่จำชื่อ เหมือนอยู่ในความมืด เราจำชื่อเรื่องต่างๆ ไว้หมดเลย แต่ยังไม่ได้กระทบสัมผัส ไม่ได้ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งลักษณะสภาพธรรมใด เพราะฉะนั้นเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด และก็มีลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งลักษณะสภาพธรรมใด ขณะนั้นเป็นขณะที่จะรู้ว่าจิตเป็นอะไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลในขณะไหน และกุศลอกุศลในขณะนั้นมีลักษณะต่างกันอย่างไร แล้วก็ถ้าเป็นอกุศลที่เป็นโลภะความติดข้อง เป็นความติดข้องที่ยึดถืออะไรที่กำลังเป็นอารมณ์ในขณะนั้นว่าเป็นเรา ต้องมีความชัดเจน

    ผู้ฟัง สงสัยว่าถ้ามีความเป็นเราเกิดขึ้นมาก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมหมายถึงปัญญาก็ต้องรู้ลักษณะของความที่มีความเป็นตัวตนเกิดขึ้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาจะค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เจริญตั้งแต่ขั้นฟังเข้าใจ และก็รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วแม้ว่าขณะนี้เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ ของจิต เจตสิก รูป แต่ละอย่างเลยทั้งสิ้น หรือแม้แต่เราจะพูดเรื่องโลภะ เราก็พูดได้เป็นความติดข้อง แต่ขณะที่โลภะกำลังติดข้องในสิ่งใดเราไม่ได้กล่าวถึง เพราะว่าสติสัมปชัญญะไม่ได้เกิดในขณะนั้นที่จะรู้ว่าขณะนั้นโลภะติดข้องอะไร ติดข้องรูป หรือติดข้องเสียง หรือติดข้องกลิ่น หรือติดข้องเรื่องราวต่างๆ นี่ก็แสดงว่าเรากล่าวถึงธรรมโดยที่สติสัมปชัญญะซึ่งเป็นสติปัฏฐานไม่ได้เกิดระลึกรู้ในขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดปรากฏ และกว่าจะรู้จริงๆ ประการแรกที่สุดก็คือว่าต้องรู้ในสภาพที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรมเท่านั้น เพราะอะไร เกิดแล้ว ดับแล้ว เร็วมาก แล้วจะไปตามรู้ว่าเมื่อกี้นี้มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ปัญญาขั้นแรกของวิปัสสนาญาณจึงเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ เป็นการรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งปกติก็เกิดดับเร็วมาก เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณหรือเมื่อไหร่ก็ตาม ก็ไม่ได้เปลี่ยนลักษณะว่าช้าลง ก็เป็นการเกิดดับนั่นเอง แต่ว่าความรู้ในขั้นต้นก็จะประจักษ์ถ้าเป็นวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ขณะที่เป็นสติเพิ่งเริ่มจะเกิดเป็นสติปัฏฐาน แต่ต้องเป็นความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น แล้วขณะนั้นก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏความเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ก็เป็นนามธรรมต่างๆ เป็นรูปธรรมต่างๆ แต่ลักษณะนั้นไม่ได้ปรากฏในความเป็นรูปธรรม ในความเป็นนามธรรมที่ต่างกัน

    ผู้ฟัง วินิจฉัยถึงคำ เช่น ดอกไม้สวยนี่ อาจจะไม่มีทิฏฐิ แต่ถ้าคนสวยโดยคำนี่ต้องมี คนสวยนี่มีไหม

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นความคิด ถ้าจะเป็นทางตา เวลานี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง แล้วจะมีการยึดถือที่เป็นทิฏฐิหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ละเอียด ไม่ใช่เมื่อเห็นแล้วก็จะมีการยึดถือเกิดขึ้นได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นรูปหรือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือว่าธรรมใดๆ ก็ตามเป็นที่ตั้งของขณะจิตนั้นที่เกิดขึ้นร่วมกับความเห็นผิด เราจึงจะกล่าวได้ว่าขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยก็แล้วแต่ว่าจิตขณะนั้นจะเป็นอะไร และจิตก็เกิดดับเร็วแสนเร็ว เร็วมาก เรากำลังเรียนเรื่องราวของสิ่งซึ่งกำลังเกิดดับไปในความมืด เพราะว่าไม่ปรากฏเลย แต่กำลังเรียนให้รู้เรื่องราวของสิ่งที่มีจริงๆ ในความมืดว่ามีอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น จนกว่าสติสัมปชัญญะจะเกิด และก็ระลึกตรงสภาพธรรมใดก็รู้ว่านี่เป็นลักษณะนั้น เช่น ลักษณะของนามธรรม เรารู้ว่ามี แต่ถ้าสติสัมปชัญญะยังไม่เกิด ก็อยู่ในความมืดแล้ว แต่ขณะใดก็ตามที่กำลังรู้ลักษณะของสภาพนั้น ขณะนั้น รู้ว่ามีแต่ไม่ใช่เป็นแต่เพียงเรื่องราวมีลักษณะนั้นจริงๆ แต่ว่าสิ่งที่มีจริงนี่ก็เกิดดับเร็วมาก มีแล้วหามีไม่ ทั้งหมดตลอดชีวิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    27 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ