พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 117


    ตอนที่ ๑๑๗

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แต่ให้ทราบว่าสำหรับโลภมูลจิต เราจะค่อยๆ เข้าใจไปทีละประเภท อย่างประเภทที่ ๑ เป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เพราะว่าเวทนาก็ต้องเกิดกับจิตตามควรแก่จิตนั้นๆ เช่น ความรู้สึกที่ไม่สบายใจจะเกิดกับโลภเจตสิกที่เป็นความติดข้องในสิ่งนั้นไม่ได้ เพราะว่าถ้าไม่สบายใจ ไม่ชอบ จะติดข้องในสิ่งนั้นไม่ได้ ฉะนั้นเวลาที่ความไม่สบายใจเกิดขึ้น ก็ต้องเกิดกับอกุศลที่เป็นประเภทโทสะเท่านั้น แต่สำหรับโลภมูลจิต ถ้ากล่าวโดยเวทนา จะมีเวทนาเกิดร่วมด้วย ๒ ประเภท คือบางขณะโลภะก็เกิดร่วมกับอทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์) ซึ่งอีกคำหนึ่งที่ใช้ก็คืออุเบกขาเวทนา เพราะฉะนั้นโลภะบางขณะก็เกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ แต่โลภะบางขณะก็เกิดร่วมกับความโสมนัส ความยินดี ความสบายใจ ความสุขใจ เป็นอย่างนี้หรือไม่ ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เช้ามาถ้าโลภะเกิดก็ไม่พ้นจากเวทนาประเภทหนึ่งประเภทใด คือบางขณะก็เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา และบางขณะก็เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แค่นี้รู้หรือยัง หรือว่าถึงรู้โดยชื่อโดยเรื่อง แต่ว่าเวลาที่สภาพธรรมเกิดจริงๆ รู้ไหมว่าขณะนั้นเป็นอกุศลประเภทใด แต่ลักษณะของเวทนาจะทำให้เราสามารถรู้ถึงประเภทของอกุศลจิตในขณะนั้นได้ เพราะเหตุว่าสำหรับโสมนัสเวทนา ถ้าเป็นอกุศลจะเกิดกับโลภมูลจิตประเภทเดียว จะไม่เกิดกับโทสมูลจิต และไม่เกิดกับโมหมูลจิตเลย สำหรับโสมนัสเวทนา

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ถ้าโสมนัสเวทนาเกิดเป็นอกุศล รู้ได้ไหมว่าจิตขณะนั้นเป็นอะไร เป็นโลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต ไม่ใช่โมหมูลจิต แต่จะมีความติดข้องจนถึงโสมนัส ยินดี มีความสุขในอารมณ์นั้น ขณะนั้นก็คือโลภะที่มีกำลังเพราะเหตุว่าเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้นโลภะก็จะจำแนกโดยการที่ว่าบางประเภทเกิดร่วมกับความรู้สึกเฉยๆ บางประเภทเกิดร่วมกับความรู้สึกโสมนัสซึ่งแยกออกได้คือเกิดร่วมกับอุเบกขา ๔ ประเภท และเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ๔ ประเภท แต่สำหรับโลภมูลจิตประเภทแรกที่จะกล่าวถึง ก็คือโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และเกิดร่วมกับความเห็นผิดด้วย ทีละอย่าง และต่อไปก็จะมีกำลังด้วย แต่ว่าขอกล่าวถึงเพียงโลภมูลจิตประเภทที่ ๑ เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา และเกิดร่วมกับความเห็นผิด

    ผู้ฟัง ชวนะทางปัญจทวาร เช่น ตาเห็นรูปแล้วเกิดโลภะชวนะ ๗ ขณะ ตรงนี้ยังไม่เห็นโทษ รบกวนให้อาจารย์ช่วยขยายตรงนี้

    ท่านอาจารย์ การติดข้องเกิดขึ้นแล้ว ดีหรือไม่ดี เมื่อเทียบกับความไม่ติดข้อง ลักษณะของโลภะเป็นสภาพที่ติดข้องต้องการ ไม่สละ ไม่ละ ถ้าเกิดความติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นทุกข์หรือไม่ แม้จะรู้สึกเพลิดเพลินเพราะว่าโสมนัสเวทนาก็ได้หรือว่าอุเบกขาเวทนาก็ได้ เกิดร่วมกับโลภมูลจิต หรือจะกล่าวว่าเกิดร่วมกับโลภเจตสิกซึ่งก็ต้องเกิดร่วมกับจิตนั่นเอง ลักษณะที่เราพอจะรู้ได้ในวันหนึ่ง ก็คือว่าขณะใดก็ตามที่เกิดโสมนัสพอใจอย่างมากในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้ทราบว่าในขณะนั้นกำลังติดข้องในสิ่งนั้นอย่างมาก รายการโทรทัศน์ก็มีหลายรายการ จะดูรายการไหน ดูแล้วก็สนุก โสมนัส ขณะนั้นเป็นลักษณะของความติดข้อง ต้องดู ถ้าเพียงแต่อุเบกขาไม่ดูก็ยังได้ ก็อยากดูเหมือนกัน แต่ถ้าว่ารายการนั้นทำให้เราเกิดโสมนัสมากๆ เราก็ต้องคอยแล้วใช่ไหม เมื่อไหร่จะถึงเวลานั้น ต้องทำอะไรบ้างที่จะทำให้ไม่พลาดการดู ที่จะทำให้เกิดโสมนัสในในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นชีวิตประจำวัน แต่ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นอกุศลที่มีกำลังเพราะว่าเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แต่ว่าสำหรับประเภทที่หนึ่ง เป็นโลภะที่เกิดร่วมกับโสมนัสในความเห็นผิด แต่เวลาที่เราดูโทรทัศน์ขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่เวลาอื่นที่มีทิฏฐิความเห็นต่างๆ คลาดเคลื่อนไม่ตรงตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็เป็นความติดข้อง เชื่อ ยึดถือในความเห็นนั้น และบางขณะบางกาละก็ด้วยความโสมนัสด้วย บางคนเขาก็จะบอกว่าเขาชอบการปฏิบัติแบบนี้ทำให้เขารู้สึกสบาย มีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่ เป็นกุศลหรือไม่ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่โลภะก็ต้องไม่ปนกับสภาพธรรมอื่น เพราะว่าอาจจะหลงผิดคิดว่าขณะนั้นเป็นปัญญา แต่หลงผิดขณะใดก็เป็นโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้กว่าจะพ้นจากความเห็นผิดหลายประการตั้งแต่เกิดมา ตอนเป็นเด็กก็คงจะมีนักเรียนซึ่งพอได้ยินว่าใครเสกปากกาแล้วสอบได้ก็ไปหาบุคคลนั้นแล้ว เพราะว่าเป็นเด็กแล้วก็ไม่รู้ว่ามีเหตุมีผลหรือไม่ เป็นความจริงหรือไม่ แต่ก็มีความติดข้องมีความต้องการที่จะให้สอบได้ หรือว่าบางคนก็อาจจะทำอะไรก็แล้วแต่มีหลายๆ สี ถ้าทำอย่างนี้ก็จะเข้ามหาวิทยาลัยคณะนั้นได้ สีนั้นต่างๆ นี่ก็เป็นความเห็นที่มีตั้งแต่เด็ก แล้วแต่ว่าจะเห็นผิดอย่างไหน จนกระทั่งโตขึ้นก็ยังมีความเห็นผิดติดตามมาได้ ถ้าขณะนั้นเป็นความยึดถือในสิ่งที่ผิด เพราะฉะนั้นสำหรับเรื่องความเห็นผิด เราจะต้องบอกหรือจะต้องยกตัวอย่างไหม ในเมื่อชีวิตประจำวันก็มี ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่เคยกล่าวถึงโลภมูลจิตครั้งหนึ่งก็คือกล่าวถึงกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความเชื่อว่า ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วเห็นดอกประดู่ แล้วก็เอาดอกประดู่นั้นมาทัดหู วันนั้นก็จะเป็นวันดีหมายความว่าจะได้สิ่งที่ดี ได้ลาภ ได้อะไรต่างๆ ขณะนั้นเป็นความเห็นผิดหรือไม่ ถ้าเป็นความเห็นผิด จิตขณะนั้นต้องเป็นโลภมูลจิต

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นผิดก็สามารถที่จะรู้จากการศึกษา แต่เวลาที่ความเห็นผิดเกิดขึ้นจริงๆ จะรู้ไหม ไม่รู้เลยเพราะขณะนั้นเห็นผิด แต่จากการศึกษาเราก็พอที่จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้นมีการร้องเพลง สรรเสริญหรือตื่นเต้นหรือดีใจกับความเห็นนั้นๆ หรือไม่ ถ้ามีขณะนั้นก็ประกอบด้วยความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา หรือแม้แต่เข้าใจผิดว่าวิปัสสนาญาณเกิด นามรูปปริจเฉทญาณเกิดแล้วก็ตาม โดยชื่อโดยความเข้าใจผิด แต่ขณะนั้นเกิดดีใจปิติ ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับความเห็นผิด แล้วก็เกิดร่วมกับความรู้สึกโสมนัส นี่คือการที่เราจะเข้าใจโลภมูลจิต ๘ ประเภท ทีละประเภท ประเภทที่หนึ่งก็คือความติดข้องในความเห็นผิดเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แล้วก็มีกำลังจากการที่ได้สะสมมาในอดีตชาติ พอได้ยินอะไรที่ผิดดีใจมากเชื่อทันทีเพราะว่าสะสมมา ไม่มีใครชักชวนด้วย แต่จากการสะสมก็เป็นปัจจัยให้ความเห็นผิดนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง ก็จะเห็นได้ว่าใครมีอัธยาศัยที่สะสมในการที่จะเห็นผิดมากน้อยแค่ไหน และเกิดร่วมกับเวทนาอะไร

    ผู้ฟัง เท่าที่ท่านอาจารย์อธิบายวันนี้ ดูจะมีกำลังกว่าทุกๆ ดวงใน ๘ ดวงหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเกิดร่วมกับความเห็นผิดประกอบด้วยโสมนัสเวทนา และมีกำลังกล้าไม่ต้องมีการลังเลเลย ใครพูดอะไรก็เชื่อทันทีในสิ่งที่ผิด นั่นก็เป็นโลภมูลจิตที่มีกำลังเพราะว่าเกิดร่วมกับโสมนัส และไม่ต้องอาศัยการชักจูง ไม่มีการลังเลเลย เชื่อทันที

    ผู้ฟัง ทุกวันนี้มีโทสะมากมาย เราคิดว่าโทสะเป็นตัวร้าย ที่ทุกคนไม่ต้องการมี แต่จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจผิด เพราะสิ่งที่น่ากลัวก็คือโลภะมากกว่าซึ่งยากที่จะรู้ได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดมีมากมายตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียดที่สุดคือสักกายทิฏฐิซึ่งไม่กั้นสวรรค์ ไม่กั้นมรรคผล แต่ความเห็นผิดบางประการกั้นมรรคผล และกั้นสวรรค์ด้วย

    ผู้ฟัง ลักษณะของโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิดในชีวิตประจำวัน เช่นลักษณะของความรักของแม่ที่มีต่อลูก อย่างนี้ใช่ความเห็นผิดหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีความเห็น

    ผู้ฟัง ก็ยังเห็นว่าเป็นลูกของเรา

    ท่านอาจารย์ เข้าใจโดยการที่ยังมีความเป็นเรา แต่ขณะนั้นต้องรู้ว่าทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าฟังแล้วเข้าใจ ขณะที่เข้าใจก็ยังเป็นลูกของเราเวลาคิด แต่ขณะที่เข้าใจขณะนั้นก็มีความเห็นที่ถูกต้อง ต่างขณะกัน แต่ขณะที่มีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้ากล่าวว่าประกอบด้วยความเห็นผิด ก็จะไม่พ้นจากความเห็นผิดเลยสักขณะเดียว แต่ต้องคิดถึงความละเอียดว่า ขณะนั้นทิฏฐิเจตสิกความเห็นผิดเกิดกับจิตในขณะนั้นหรือไม่ ต้องเป็นการยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่าเป็นเรา เป็นสักกายทิฏฐิ แต่ว่าถ้ามีความเห็นผิดมากกว่านั้นอีก เพราะเมื่อมีสักกายทิฏฐิมีความเห็นว่าเป็นเรา ซึ่งไม่จริง ไม่ถูก ก็จะเป็นปัจจัยให้เห็นผิดในสิ่งอื่นๆ ต่อไปอีกได้

    ผู้ฟัง การรักลูกเป็นโลภะไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นโลภะ ขณะใดที่ติดข้องในสภาพธรรมใดสิ่งใด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นต้องไม่รักลูกหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ห้ามได้ไหม

    ผู้ฟัง ห้ามไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใครไม่มีโลภะ ต้องรู้ตามความเป็นจริง

    ธรรมเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เป็นเรื่องเราจะทำหรือจะพยายาม นั่นคือตัวตนแล้ว สักกายทิฏฐิเกิดแล้ว มีความเป็นเราเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง ไม่รักก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะมีอกุศล ยังไม่ได้ดับเป็นสมุทเฉท

    ผู้ฟัง อย่างนี้นับเป็นโมหะด้วยหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่มีอกุศลประเภทใดเกิดขึ้น ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    อ.ธิดารัตน์ ถ้ามีการยึดถือว่าเป็นลูกหรือใครก็ตามที่เป็นญาติเรา เป็นเขาแน่ๆ อย่างนั้นจะเป็นความเห็นผิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากอยากจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมโดยที่สภาพธรรมนั้นไม่ได้ปรากฏกับสติ เพราะฉะนั้นก็จะเป็นเรื่องอยู่ตลอด ฉะนั้นเวลาที่จะกล่าวว่าขณะใดเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิตต้องกล่าวถึงอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งที่จิตขณะนั้นกำลังรู้ด้วย เช่นเห็นดอกไม้เห็นสีสันวัณณะ ชอบไหม ต้องมีสิ่งที่ปรากฏ เราใช้คำว่า “ดอกไม้” จริง แต่ต้องมีสิ่งที่ปรากฏที่เราจะเรียกว่าดอกไม้ ถ้าไม่มีสีเลยสักอย่างเดียว เราจะจำแนกออกได้ไหมว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นดอกไม้ เป็นอะไร ฉะนั้นในขณะที่เรากำลังบอกว่าเราชอบดอกกุหลาบ เราชอบดอกกล้วยไม้ แท้ที่จริงก็มีสีที่ปรากฏหลากหลายต่างกัน ซึ่งขณะนั้นโลภะกำลังพอใจติดข้องในสิ่งที่ปรากฏคือในสี เพราะฉะนั้นในขณะนั้นจะมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไหม ถ้ามีไม่แคล้วเลย ทุกขณะจิตต้องมี แต่นี่ไม่ใช่อย่างนั้นเลย โลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี โลภะที่ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี เพราะฉะนั้นเพียงการฟังเราไม่สามารถที่จะรู้ได้หรือกล่าวได้ จนกว่าเมื่อสิ่งนั้นกำลังเป็นอารมณ์ของสติ มีลักษณะปรากฏ แล้วถึงจะรู้ว่าในขณะที่กำลังมีสิ่งนั้นเป็นอารมณ์ ปัญญาซึ่งเกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะสามารถจะรู้ลักษณะของสภาพจิตนั้นได้ว่ามีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย หรือว่าไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะว่าขณะที่กำลังพอใจสีสันวัณณะต่างๆ ขณะนั้นมีสีรูปหนึ่งที่ปรากฏทางตากำลังเป็นที่พอใจของโลภะ ขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไหม (ไม่มี) นี่ก็คือต้องพิจารณาแต่ละขณะอย่างละเอียด แต่ถ้าโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือเลยนอกจากรูปที่ปรากฏ รูปนั้นยังเป็นเรา แม้ขณะนั้นก็ตาม ต้องมีสิ่งที่เป็นที่ตั้งของความเห็นผิดที่ยึดถือว่ายังมีเราอยู่ รูปนั้นยังเป็นเรา

    เพราะฉะนั้น เราก็จะเข้าใจความหมายว่ายึดถือรูปว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นเรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เพียงแต่เรากล่าวโดยประเภท ว่า โลภมูลจิต ๘ ก็มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ๔ ไม่มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ๔ แต่จริงๆ แล้วต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าขณะนั้นโลภะกำลังติดข้องในอารมณ์อะไร จึงจะรู้ว่าขณะนั้นจริงๆ มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่มี หรือว่าเป็นเพียงโลภะอย่างที่เราชอบดอกไม้ต่างๆ ชอบขนมอร่อยๆ ขณะนั้นกำลังพอใจในรส กำลังติดข้องในรส ขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ก็จะรู้ได้ แต่ขณะอื่นที่ไม่ใช่ขณะนั้น กำลังมีความเห็นผิดไหม เราจะถามได้ สนทนากันได้กับผู้ที่มีความเห็นต่างๆ ก็จะรู้ว่าคำใดที่กล่าวออกมาด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นจิตจะต้องยึดถือความเห็นนั้นจึงมีความติดข้องในความเห็นนั้น

    ด้วยเหตุนี้จึงมีหลักคำสอนหลากหลาย และก็มีผู้ที่สะสมเหตุปัจจัยที่จะมีความเห็นผิด และมีความเห็นถูกต่างๆ กัน ถ้าเป็นความเห็นผิดก็หลากหลายมาก อย่างร่ายมนต์เมื่อวานนี้ เห็นผิดหรือไม่ มนต์คืออะไรก็ไม่รู้ คำนั้นหมายความอะไรก็ไม่รู้ แต่พอใครร่ายมนต์ก็คิดว่าเขารู้ และก็ถูกหรือผิดขณะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด และถ้าเขากล่าวถึงมนต์นั้นยิ่งจะเห็นได้ชัดว่าคำกล่าวนั้นกล่าวโดยความเข้าใจผิดหรือความเข้าใจถูก เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็แสดงว่ามีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ซึ่งต่างกับขณะที่กำลังมีความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ตามปกติ เพราะฉะนั้นโลภะจึงมี ๘ มิฉะนั้นก็จะต้องมีเพียง ๔

    ถ้ากล่าวถึงจิต ก็คือสิ่งที่ทุกคนมีโดยตลอด และก็เวลาที่กล่าวถึงโลภมูลจิต ก็น่าจะคิดว่าวันนี้มีหรือยัง ยังไม่กล่าวถึงทิฏฐิ เพียงแค่โลภมูลจิต วันนี้มีหรือยัง (มีแล้ว) เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนาหรือเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา เพราะว่าความรู้สึกที่จะเกิดกับโลภมูลจิตจะมีได้เพียง ๒ อย่าง คือ ความรู้สึกที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ อุเบกขาเวทนา หรือว่าเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา

    เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ อกุศลจิตที่มี ยากที่จะรู้โดยเฉพาะโลภะ เพราะว่าคุ้นเคยมาก วันนี้จริงๆ แล้วโลภมูลจิตมีแล้วมาก แต่ว่าเกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา จึงไม่รู้สึกว่าขณะนั้นเป็นความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้ววันนี้เมื่อเช้านี้จนถึงเดี๋ยวนี้มีโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ความรู้สึกเป็นสุขโสมนัสมีไหม บางท่านก็บอกไม่มี บางท่านก็บอกว่ามี แต่จริงๆ เราสามารถที่จะรู้ลักษณะของจิตได้โดยเวทนา มิฉะนั้นเราจะบอกไม่ได้ว่าขณะนั้นเป็นจิตประเภทไหน เพราะเหตุว่าถ้าไม่ใช่กุศลจิตแต่เวทนาก็ยังเป็นโสมนัสได้ เวลาที่เวทนาเป็นโสมนัสจะเกิดกับอกุศลจิตประเภทเดียวคือโลภมูลจิต

    เมื่อเช้านี้ก็เห็นดอกไม้สีแสดสวยสะอาด ทันทีที่เห็นเป็นอย่างไร มีผู้ที่นำดอกไม้สีแสดๆ และก็สะอาดมาให้ พอเห็นรู้สึกชอบไหม ชอบ รู้สึกสวยดีใจไหมที่ดอกไม้นี้สะอาดแล้วก็สด ขณะนั้นก็เป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา ดูไปทุกแจกันที่เป็นเครื่องบูชา ดอกไม้ที่บูชา สวย ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ต้องไม่เข้าข้างตัวเอง ถ้าเป็นอกุศลก็คืออกุศล เพราะฉะนั้นต้องตรง และก็ต้องรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    การที่เราศึกษาเรื่องจิตโดยเฉพาะอกุศลจิตก็เพื่อที่จะให้รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่จะต้องละ แต่ละยากมาก และต้องรู้ตามความเป็นจริงจึงสามารถที่จะละได้ ไม่ใช่มีความเป็นเราไปพยายามบังคับ ไม่มอง ไม่ดู ไม่เห็น เห็นแล้วก็ให้เฉยๆ ไม่ให้โสมนัสก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะขณะนั้นก็เป็นเราอีกนั่นเองที่กำลังเพิ่มเติมความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเราโดยที่ไม่รู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็เมื่อศึกษาเรื่องจิตจะได้รู้จักจิตที่มีอยู่ที่ตนเอง และก็เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล

    สำหรับโลภมูลจิตมี ๒ ประเภท คือ เกิดร่วมกับทิฏฐิความเห็นผิดประเภทหนึ่ง และไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดประเภทหนึ่ง โดยนัยที่กล่าวถึงความเห็นผิด แต่ถ้าโดยนัยของเวทนาก็มี ๒ คือ เกิดร่วมกับโสมนัสหรือว่าเกิดร่วมกับอุเบกขา อย่างไหนดี โลภมูลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา อาหารก็อร่อย รูปก็สวย กลิ่นก็หอม เสียงก็เพราะ โลภมูลจิตประเภทไหนดีเกิดร่วมกับอุเบกขาหรือเกิดร่วมกับโสมนัส เราชอบอะไร เราก็รู้สึกว่าสิ่งนั้นดีตามความรู้สึกทั่วๆ ไป ยังไม่ได้กล่าวถึงความเป็นจริงว่าไม่ดีทั้งนั้น ถ้าเป็นอกุศลแล้วดีไม่ได้ แต่ว่าสำหรับโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุเบกขากับโลภมูลจิตที่เกิดกับโสมนัสชอบอย่างไหน ชอบโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา แสวงหาทั้งวันเพื่อโสมนัสเวทนาที่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีใครไม่แสวงหาบ้าง ตามความเป็นจริง มีไหม ผู้ที่ดับกิเลสคือความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็ไม่แสวงหารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ด้วยความติดข้อง ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยความพอใจ

    เพราะฉะนั้น ถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล พอจะมองเห็นความต่างของการที่จากปุถุชนไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคล จะรวดเร็ว จะเล็กน้อย หรือจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ด้วยเหตุว่าถ้าปัญญาไม่เจริญ ไม่มีทางที่จะดับอกุศลเลย และเป็นอกุศลประเภทที่คนไม่เห็นโทษ แต่ว่าต้องการมากๆ อยู่เสมอ ไม่เหมือนกับโทสมูลจิตซึ่งเกิดขึ้นขณะใดก็เดือดร้อนไม่ต้องการ แล้วก็คิดหาทางที่จะไม่ให้โทสมูลจิตเกิด แต่ไม่ได้คิดหาทางที่จะละโลภมูลจิต ถ้าฟังอย่างนี้แล้วพอที่จะค่อยๆ คลายสักนิดหน่อยไหม เรื่องของโลภะ

    แต่สำหรับโลภมูลจิตที่ไม่มีทิฏฐิความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็ยังมีโทษน้อยกว่าโลภมูลจิตที่มีทิฏฐิความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ความเห็นผิดจากความเป็นจริง จากการรู้แจ้งหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเหตุว่าถึงแม้จะได้ศึกษาธรรมแล้ว แต่ถ้าไม่รู้หนทางที่ถูกต้องก็ไม่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะละความเห็นผิดได้


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    27 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ