พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 116


    ตอนที่ ๑๑๖

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ลักษณะได้ยินปรากฏกับสภาพที่กำลังได้ยินเสียงคือรู้เสียงนั้นในขณะนั้นจนกว่าจะค่อยๆ ชินคุ้นเคยกับลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    ก็ไม่ต้องเลือกว่าเป็นกุศลหรืออกุศล แต่เมื่อสติสัมปชัญญะกำลังมีลักษณะใดปรากฏ ลักษณะ เช่น ขณะนี้คนปรากฏ หรือลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ยากกว่ากุศลหรืออกุศล

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครว่าง่าย แต่เราจะต้องรู้ว่า ต้องเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมเช่น ขณะนี้ "เห็น" นี่เรารู้แล้วว่าไม่ใช่ทั้งกุศลจิต และอกุศลจิต ฉะนั้นกุศลจิต และอกุศลจิตซึ่งเกิดต่อจากการเห็น ทั้งๆ ที่เห็นแล้วเราก็ยังไม่รู้เลยว่าขณะนี้ไม่ใช่เรา แล้วเราจะไปรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ได้ทำกิจเห็นในขณะนี้แต่กำลังคิดนึก แม้ว่ามีจริง นั่นก็คิดนึกหลายวาระด้วย

    ผู้ฟัง ขณะนี้มีลักษณะของคนปรากฏด้วย แล้วก็ลักษณะที่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วย แต่เหมือนรวมๆ กันอยู่ เห็นครั้งไรก็เป็นคน และถ้าเข้าใจว่าในขณะที่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาจะต้องมีจริง แล้วจึงมีลักษณะของคนปรากฏอยู่ด้วยท่านอาจารย์จะช่วยตอบให้เข้าใจมากกว่านี้

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริง ทุกคนรับรองเพราะกำลังเห็น แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือไม่ หรือเป็นเพียงธาตุหรือธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเพียงปรากฏแล้วก็หมดไป

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นลักษณะที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงซึ่งเป็นลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งเป็นรูปธรรมตามคำในภาษาบาลี ก็คงไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดแต่มีลักษณะอย่างนั้นจริงๆ แต่ก็เหมือนรวมกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้อย่างไรๆ ก็ตามสิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นอื่นไม่ได้นอกจากเป็นธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง นี่คือการเริ่มที่จะคลายการที่ยึดถือสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งปกติจะเห็นเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง ความเข้าใจในขั้นการฟังขณะนี้ก็เพียงแต่รู้ตามที่ท่านอาจารย์หยิบยกมา

    ท่านอาจารย์ จนกว่าค่อยๆ เข้าใจด้วยสติสัมปชัญญะ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กำลังบอกว่าถ้าจะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา จะต้องเป็นลักษณะของสติสัมปชัญญะที่รู้

    ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เป็นใครแล้ว เป็นธรรมชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง ถ้ายังไม่มีความเข้าใจในขั้นนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็ฟังต่อไป ไม่มีหนทางอื่น ในเมื่อธรรมความจริงก็คืออย่างนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นอื่นไปได้อย่างไร ก็เป็นรูปชนิดหนึ่งสามารถปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาทก็รู้อย่างนี้ ก็กำลังปรากฏอย่างนี้ แต่เพราะความไม่รู้ที่สะสมมามีมาก ก็ต้องฟังจนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าสภาพที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม ไม่ใช่ใครอื่นใดเลย เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ผู้ฟัง ก็ปฏิบัติอยู่ตามที่อาจารย์แนะ รูปหยาบ ๗ รูป ส่วนนามนี่ก็เห็นยากพอจะแนะอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่มีรูปร่างเลย

    ผู้ฟัง ก็ตรงนี้ถึงบอกว่ารู้ยาก

    ท่านอาจารย์ รู้ยากก็ฟังอีก ค่อยๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง ถ้ารู้ทางตา สังเกตดูก็ยังเป็นคิดนึกอยู่

    ท่านอาจารย์ อย่าเอาความเป็นเราไปพยายาม แต่ก็จะยังคงมีเราอยู่นั่นเอง จนกว่าจะดับหมดเป็นสมุทเฉท เพราะฉะนั้นผู้อบรมเจริญปัญญาจึงรู้ว่ายังมีเราเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน เพราะอะไร ต้องมีเหตุที่ทำให้ความเป็นเราลดลง

    ผู้ฟัง ถ้าน้อมเข้าไปแค่สี จะเป็นอัตตาหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง มีธรรมอยู่ ๒ อย่าง สิ่งที่ปรากฏทางตา ธาตุรู้กับสี ช่วงแรกๆ ถ้าจะไปน้อมในธาตุรู้ก็จะยากกว่าน้อมไปที่สี ผมขอถามท่านว่า ถ้าน้อมไปที่สีจะเป็นอัตตาหรือไม่ หรือเป็นอนัตตา

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ค่อยๆ เข้าใจ ขณะนั้นเป็นกุศล เราจะรู้ได้จากภวังค์แล้วก็มาเห็น แล้วก็เป็นอกุศลสะสมไป จากภวังค์มาเป็นได้ยินแล้วก็สะสมเป็นอกุศลสืบๆ ไป นานแสนนานมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็เทียบได้กำลังเห็นแล้วได้ยิน ฟังแล้วเข้าใจ ความเข้าใจก็ค่อยๆ เป็นไปทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ อย่าไปคิดทำหรือคิดน้อม ขณะกำลังเข้าใจ นั่นคือความเข้าใจน้อมไปจะเข้าใจลักษณะนั้น

    ผู้ฟัง ทวารไหนที่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ได้ทั้งหมด แล้วแต่สติสัมปชัญญะระลึกสภาพนั้นปรากฏเมื่อไหร่ก็คือว่าสติระลึกเมื่อนั้น สภาพนั้นจึงปรากฏกับสติ ขณะนี้แข็งปรากฏไหม แต่เวลาปรากฏรู้ไหมว่าขณะนั้นปรากฏกับสติได้ เพราะขณะนั้นลักษณะนั้นแข็ง แล้วถ้ารู้บ่อยๆ ก็จะมีแต่ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละทาง

    ผู้ฟัง ในขั้นทานขั้นศีล อย่างไรจึงจะลดตัวบุคคลว่าเป็นเราทำ เราปฏิบัติในขั้นศีลเป็นต้น เราวิรัติ เราปฏิบัติตามอย่างนี้ จะทำอย่างไร จะละสักกายทิฏฐิหรืออุปาทานที่เป็นเราออก

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่เป็นขั้นทานก็เป็นขั้นทาน ขั้นศีลก็เป็นขั้นศีล ขั้นภาวนาก็เป็นขั้นภาวนา จะเอาทานไปละความเป็นตัวตนไม่ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขั้นทาน ขั้นศีลก็ยังมีตัวตน ยังมีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ดังนั้นจึงต้องให้ขั้นทาน ขั้นศีลเข้มแข็งเสียก่อนหรือไม่ จึงขยับมาถึงขั้นภาวนา

    ท่านอาจารย์ วันไหนจึงจะเข้มแข็ง

    ผู้ฟัง ก็ต้องปฏิบัติไปพร้อมๆ กันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปฏิบัติไม่ใช่เราเลือก ต้องมีความเข้าใจจริงๆ ว่าสติสัมปชัญญะคืออะไร เมื่อไหร่ที่ไม่ใช่ขั้นทานขั้นศีล เป็นกุศลอีกระดับหนึ่งคืออย่างไร ถ้ามีความเข้าใจสติปัฏฐานเกิดก็รู้ว่าขณะนั้นเกิด ถ้าหลงลืมสติคือสติปัฏฐานไม่เกิดก็ให้รู้ว่าขณะนั้นสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่ใช่เราทั้งขณะที่สติปัฏฐานไม่เกิด และสติปัฏฐานเกิด คือทั้งหมดไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง เช่น มหากุศลจิตที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาอยู่ในขั้นทาน ขั้นศีล เราก็ปฏิบัติตามด้วยดีอย่างนี้ เพราะเราใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ พระอรหันต์ไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิต มีกิริยาจิตประกอบด้วยปัญญา และไม่ประกอบด้วยปัญญา แม้แต่พระอรหันต์ที่ดับกิเลสหมดแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครสามารถที่จะไปบังคับบัญชาให้ปัญญาเกิดตลอดไปได้ ถึงเป็นกุศลที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญาก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย กุศลที่ประกอบด้วยปัญญาก็เกิดตามเหตุตามปัจจัย คือทั้งหมดให้ทราบว่าไม่มีเรา ถ้าสนับสนุนให้คุณสุกิจทำ คุณสุกิจคงดีใจได้ทำ คงจะทำได้ หรือทำไม่ได้

    ผู้ฟัง แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นแล้วใช่ไหมว่าเพราะเหตุปัจจัย ต้องมั่นคง

    อ.กุลวิไล กุศลทุกขั้นควรจะเจริญ โดยเฉพาะเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะว่าเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และมีทางให้สภาพธรรมปรากฏทั้ง ๖ ทาง ซึ่งจริงๆ แล้วขณะที่เราให้ทาน และรักษาศีลซึ่งก็มีชีวิตประจำวัน แน่นอนต้องมีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ได้ เพราะว่าเมื่อมีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ เราก็จะมีการให้ การวิรัติที่จะไม่ฆ่าสัตว์ แต่การอบรมเจริญสติปัฏฐานจะเกื้อกูลต่อความเข้าใจถูกในสภาพธรรม ซึ่งในขณะที่ให้ทานหรือรักษาศีลก็มีสภาพธรรมที่ปรากฏ ถ้าหากผู้นั้นมีความเข้าใจในการอบรมสติปัฏฐานแม้ขณะให้ทานหรือรักษาศีล ขณะนั้นก็มีสภาพธรรมปรากฏทั้ง ๖ ทาง ก็มีการรู้ถึงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมบ้างหรือเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าหากมีความเข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว กุศลแม้จะเป็นขั้นทาน ขั้นศีลก็จะเจริญยิ่งขึ้น ก็จะประกอบด้วยปัญญาเพราะว่ามีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ด้วย

    ท่านอาจารย์ อกุศล กำลังมีหรือไม่ ถ้าใครมีก็จะได้รู้

    อ.ธิดารัตน์ สำหรับปุถุชนก็จะต้องมีอกุศล ซึ่งท่านก็แสดง และก็จำแนกไว้ โลภะ โทสะ โมหะ ถ้าจำแนกโดยจิตก็จะมีอยู่ ๑๒ ดวง เป็นโลภะ ๘ ประเภท เป็นโทสะ ๒ ประเภท เป็นโมหะ ๒ ประเภท ซึ่งจิตแต่ละประเภทเป็นอกุศลจิต ซึ่งทำกิจเดียวคือชวนกิจ ในขณะที่หลังจากเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ก็จะมีอกุศลประเภทต่างๆ เกิดขึ้นทำชวนกิจ ก็จะเกิดขึ้นซ้ำๆ กันถึง ๗ ขณะ ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวว่าเวลาเราเห็นแล้วยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น โลภชวนะเกิดซ้ำๆ กันถึง ๗ ดวงในวาระหนึ่ง แล้วไม่ใช่เกิดแค่เพียงวาระเดียว เกิดหลายๆ วาระเลย และก็สะสมเป็นกิเลส สะสมเป็นอุปนิสัยต่างๆ เพื่อที่เราจะเห็นสิ่งนั้นแล้วยินดีพอใจใหม่ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ความไม่รู้ต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสก็ยังต้องมีอกุศลจิตประเภทต่างๆ เกิดดับสืบต่อกันมากน้อยก็ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ถ้าโดยรวมๆ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโลภะเป็นพื้นมากที่สุด เพราะคงไม่มีใครที่จะโกรธมากกว่าโลภะ

    อ.ธีรพันธ์ อกุศลจิตเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก คือเป็นสภาพธรรมที่ติดข้องก็ได้แก่โลภะ ความประทุษร้ายก็ได้แก่โทสะ หรือว่าหลงไม่รู้ตามความเป็นจริง เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ทั้ง ๓ ประเภทเป็นสภาพธรรมที่ก่อให้เกิดทุกข์โทษคือวิบากที่ไม่ดี มีการเห็นที่ไม่ดี มีการได้ยินที่ไม่ดี ได้กลิ่นที่ไม่ดี ลิ้มรสไม่ดีหรือว่ารู้โผฏฐัพพะที่ไม่ดี เพราะสภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว จะมีการยึดถือสภาพธรรมนั้นแล้วก็มีการยึดติด ไม่สละ

    เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตจึงมีหลายประเภท แยกตามสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี แยกเป็นหลายๆ ประเภท มีกำลังก็มี ไม่มีกำลังก็มี มีเวทนาเกิดร่วมด้วยเป็นโสมนัสก็มี เป็นอุเบกขาก็มีในประเภทของโลภมูลจิต สำหรับโทสมูลจิตก็เป็นสภาพธรรมที่ประทุษร้ายอารมณ์ มีกำลังด้วยหรือว่าเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีกำลังด้วยเหมือนกัน มีเวทนาเกิดร่วมด้วยประเภทเดียวคือโทมนัสเวทนาสำหรับโทสมูลจิต ส่วนโมหมูลจิตเป็นสภาพธรรมที่แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทก็ได้แก่ โมหมูลจิตวิจิกิจฉาสัมปยุตต์เกิดร่วมกับความสงสัยไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงก็คือสงสัยในขันธ์ ในธาตุ ในอายตนะ ในธรรม ในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น หรือว่าสงสัยในสภาพธรรมอื่นๆ เช่นจิตเป็นอย่างไร เจตสิกเป็นอย่างไร นามธรรมเป็นอย่างไร รูปเป็นอย่างไร หรือว่ารู้จักจิตโดยชื่อ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง อันนี้ก็ยังเป็นขั้นสงสัยอยู่เหมือนกัน แล้วก็โมหมูลจิตอีกประเภทหนึ่งก็คือเกิดร่วมกับอุทธัจจะคือสภาพธรรมที่หลงเหมือนกัน ไม่รู้ คือฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ยังละไม่ได้ คือมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น ได้แก่อกุศลจิต ๑๒ ดวง เป็นโลภมูลจิต ๘ ดวง โทสมูลจิต ๒ ดวง และโมหมูลจิต ๒ ดวง เป็นสภาพธรรมที่เกิดในชีวิตประจำวันเพราะว่าเป็นไปกับรูปที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางกาย และก็มีการคิดนึกเรื่องราวเป็นไปกับอกุศล เพราะว่าอกุศลสามารถเกิดทั้งปัญจทวาร และก็มโนทวารด้วย เป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษเป็นภัยจริงๆ ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่สามารถที่จะละได้ เหมือนลูกศรที่ยิงไปในความมืด น่ากลัวจริงๆ เพราะมืดจริงๆ และลูกศรนี่อันตรายด้วย ถ้าไม่มีการเห็นโทษของอกุศล ก็จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ภัยในสังสารวัฏฏ์ได้อย่างไม่จบสิ้น ต้องอาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทรงตรัสรู้เท่านั้น

    ผู้ฟัง น่าสนใจมาก แล้วลองพิจารณาตัวเองดูสิว่าท่านมีอกุศลจิตครบทั้ง ๑๒ ประเภทหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต ๘ ประเภท โทสมูลจิต ๒ ประเภท และโมหมูลจิต ๒ ประเภท ในชีวิตประจำวันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรามีอกุศลจิตพร้อมแทบทุกประเภท แต่ไม่ได้เกิดพร้อมกัน แต่เกิดทีละขณะ

    อ.กุลวิไล สำหรับอกุศลจิต โดยจิตทั้ง ๘๙ แล้ว อกุศลจิตนั้นเป็นชาติอกุศล เพราะท่านแสดงกิจโดย ๔ ชาติ คือ ชาติอกุศล กุศล วิบาก กิริยา จะเห็นว่าอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ประเภทนี้เป็นชาติอกุศล ซึ่งจิตที่เป็นอกุศลจิต และกุศลจิตนั้นเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล ส่วนผลก็คือวิบากจิตนั่นเอง เพราะฉะนั้นอกุศลจิตจึงเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า และผลของอกุศลจิตเมื่อทำอกุศลกรรมก็คืออกุศลวิบากนั่นเอง จิตที่เป็นชาติอกุศลโดยภูมิก็เป็นกามาวจรภูมิด้วย เพราะว่าโดยภูมิท่านก็แสดงภูมิทั้ง ๔ ก็มีกามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ สำหรับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ประเภทนี้เป็นกามาวจรภูมิ โดยเหตุท่านแสดงด้วยว่าจิตทั้ง ๘๙ มีอเหตุกะ และสเหตุกะ สำหรับจิตที่เป็นอเหตุกจิตก็ได้แก่จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ มี ๑๘ ประเภท แต่จิตที่ประเกอบด้วยเหตุซึ่งเป็นสเหตุกจิตจะรวมทั้งอกุศลจิตด้วย เพราะว่าจิตที่เป็นสเหตุกจิตทั้ง ๗๑ ประเภท จะมีอกุศลจิต และกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต

    สำหรับอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ประเภทนี้จึงเป็นสเหตุกจิต จิตที่เป็นชาติอกุศลในชีวิตประจำวันทุกคนย่อมมีอยู่แล้ว จิตทั้ง ๑๒ ประเภททำกิจชวนกิจ เพราะฉะนั้นขณะที่ชวนกิจเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตจะเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่ถ้าชีวิตประจำวันแล้ว เราก็พอจะทราบได้ว่า ถ้าไม่ได้เป็นไปในทาน ในศีล ในการอบรมเจริญภาวนาที่เป็นการอบรมความสงบของจิตรึการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ส่วนใหญ่แล้วจิตของเราเป็นไปด้วยอกุศลทั้งนั้น ก็แล้วแต่ว่าจะเป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะ โทสะ ที่มีโมหะเกิดร่วมด้วยทั้งโลภะ และโทสะนั้น ก็แล้วแต่ประเภทของจิตหรือว่าเป็นจิตที่มีเฉพาะโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างเดียว ซึ่งก็ไม่พ้นอกุศลจิตทั้ง ๑๒ ประเภทนั่นเอง เนื่องจากมีมูลหรือมีรากจะเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตนั้นเกิดขึ้น ถ้าหากว่ายังมีโลภะ โทสะ โมหะที่เป็นมูล และเป็นรากจะให้อกุศลจิต หรือมีอกุศลกรรมเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันก็ย่อมทำให้เราวนเวียนไปในวัฏฏะ จึงเห็นว่าการอบรมปัญญาจึงเป็นประโยชน์ และเป็นหนทางเดียวที่จะละกิเลสที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ก่อนที่จะละได้ ก็ต้องละความเห็นผิดก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องของการอบรมปัญญาที่จะต้องอาศัยเวลาที่จะอบรมต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม แม้เรามีอกุศลจิต แต่ก็เป็นปัจจัยให้เราพิจารณาสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นอกุศลจิตนั้นเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

    เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่ว่าผู้ใดจะมีการพิจารณาถึงลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันในขณะนั้นว่าลักษณะที่เป็นนามธรรมขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างไร ที่เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ แต่ขณะรู้อารมณ์ขณะนั้นด้วยความติดข้องหรือว่าด้วยความที่ไม่พอใจในอารมณ์นั้น ก็แยกแตกต่างกันแล้วแต่สภาพของจิตแต่ละอย่าง

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่า “อกุศลจิต ๑๒” และสามารถที่จะรู้ได้ด้วยว่าอกุศลจิต ๑๒ ได้แก่อะไร ประเภทแรก คือ โลภมูลจิตมีถึง ๘ ประเภท โลภมูลจิตในอกุศลจิต ๑๒ เป็นโลภะคือมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๘ ประเภท สำหรับโทสมูลจิต บางคนก็บอกว่าเขาโกรธง่าย และก็โกรธบ่อย เขาเจ้าโทสะ แต่จริงๆ แล้วโทสมูลจิตมีเพียง ๒ ประเภท น้อยกว่าโลภะมาก โลภะมีถึง ๘ แต่ว่าโทสะมี ๒ และอกุศลจิตอีกประเภทหนึ่งก็คือ โมหมูลจิตก็มีแค่ ๒ ประเภทเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าจิตที่ไม่ดีไม่ว่าจะในภพไหนภูมิไหนจะไม่เกิน ๑๒ ประเภท และถ้าเป็นโลภมูลจิตก็ไม่เกิน ๘ แต่มาก และโทสะก็คือ ๒ โมหะก็คือ ๒ เท่าๆ กัน แต่สำหรับโลภะมีถึง ๘

    อกุศลจิตเกิดในสวรรค์ได้ไหม (ได้) ถ้ายังไม่ได้ดับเป็นสมุทเฉท เกิดในรูปพรหมได้ไหม (ได้) เว้นโทสมูลจิต นี่ก็จะเห็นได้ว่าแม้อกุศลประเภทต่างๆ ก็ต้องเว้นตามภูมิต่างๆ ด้วย แม้ว่ายังไม่ได้ดับเป็นสมุทเฉท แต่ว่าไม่มีปัจจัยที่จะเกิดสำหรับโทสมูลจิตในรูปพรหมภูมิเป็นรูปพรหมบุคคล กว่าจะได้กุศลในระดับที่ไม่เกิดในสวรรค์ เกิดเป็นเทพจริงแต่เป็นเทพที่เป็นพรหม เป็นรูปพรหมบุคคล ก็จะเห็นได้ว่าอบรมเจริญกุศลมาก แล้วเวลาที่เกิดในภูมินั้นแล้ว อารมณ์ของพรหมโลกประณีตกว่าอารมณ์ของสวรรค์

    เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้โทสมูลจิตเกิดเลย ลองคิดถึงที่ไหนที่จะไม่มีโทสมูลจิตเกิดเลย คนที่เป็นเจ้าโทสะ และก็ไม่อยากมีโทสะจริงๆ ถ้ายังไม่ถึงพระอนาคามีบุคคลก็ต้องเป็นถึงการเกิดในรูปพรหมบุคคลจึงจะละโทสะได้ชั่วคราวระหว่างที่เกิดเป็นรูปพรหมบุคคล แต่ถ้าเป็นพระอนาคามีบุคคลดับได้เป็นสมุทเฉท ไม่มีเชื้อของโทสะที่จะเกิดแม้เพียงความขุ่นใจเล็กน้อยก็ไม่มี นี่แสดงให้เห็นถึงปัญญาที่ต่างขั้น ปัญญาที่สามารถที่จะทำให้กุศลจิตเกิดมากจนกระทั่งเป็นความสงบที่มั่นคง อกุศลจิตเกิดไม่ได้แม้ว่าเกิดในรูปพรหม เป็นรูปพรหมบุคคล โทสมูลจิตก็ยังเกิดไม่ได้ แต่โลภะเกิดได้ทั้ง ๘ เห็นไหมว่าโลภะนี่ครองจิตใจ ไม่ได้จากพรากไปไหนเลย ไม่ว่าจะอยู่ในภพใดๆ ก็จะไม่ขาดโลภะเลย แต่ถ้าเกิดเป็นรูปพรหมบุคคลไม่มีโทสะ แต่ก็มีทั้งโลภมูลจิต และ โมหมูลจิต

    ผู้ฟัง ดูเหมือนโลภะจะน่ากลัวกว่าโทสะ และโมหะใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โลภะมี ๘ ต้องรู้ด้วยว่าผู้ที่จะดับโลภะได้หมดคือพระอรหันต์ แต่ผู้ที่จะดับโลภะที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดคือพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นก็เป็นระดับขั้นที่ต่างกันตามเหตุตามปัจจัย แต่ให้ทราบว่าสำหรับโลภมูลจิต เราจะค่อยๆ เข้าใจไปทีละประเภท


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    27 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ