พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 82


    ตอนที่ ๘๒

    ณ สำนักงานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

    ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง มนายตนะคือจิตต่อกับอะไร

    ท่านอาจารย์ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ต้องมี ขาดไม่ได้เลย จักขายตนะเป็นจักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับ อยู่ตรงนั้นขณะที่กระทบกับรูปารมณ์ และรูปารมณ์ก็ต้องยังไม่ดับ ขณะนั้นเมื่อมีจิตเห็นก็ต้องมีจิตเห็นในขณะที่รูปยังไม่ดับ เจตสิกก็ต้องเกิดร่วมกัน คือเราไปติดที่ภาษาหรือศัพท์ แล้วเราก็ไปคิดว่าอายตนะต้องเป็นที่ต่อ ที่ประชุมอะไรๆ ก็ตามซึ่งถูกต้อง แต่ขณะนั้นเราลองคิดดูว่า หนึ่งขณะที่เห็นต้องมีจิตแน่นอน จิตนั้นก็จะต้องมีสภาพธรรมอื่นที่อยู่ตรงนั้นด้วย ไม่ได้หายไปหรือไม่ได้อยู่ที่นั่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ขณะที่มีจิตต้องมีเจตสิก เนื่องจากทั้ง ๒ อย่างมีอยู่ ประชุมอยู่ รวมกันอยู่ตรงนั้น จึงชื่อว่าจิตขณะนั้นเป็น "มนายตนะ" และก็เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็น "ธัมมายตนะ" และถ้าเป็นจิตเห็นก็ยังต้องเป็นจักขุปสาทรูปที่ยังไม่ดับด้วยที่ต้องมีอยู่ขณะนั้น ถ้าปสาทรูปดับจิตที่จะเห็นที่จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ได้เลย แต่ต้องอาศัยปสาทรูป ฉะนั้นปสาทรูปจึงเป็นจักขายตนะ แล้วรูปารมณ์เมื่อเกิดกระทบแล้วยังไม่ดับด้วย ต้องมีอยู่ในขณะนั้นด้วยจึงเป็น "รูปายตนะ"

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่ที่อธิบายถึงภวังค์ ก็ยังไม่เข้าใจ ภวังค์ก็ยังมีอายตนะอยู่หรือ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกับคำถามว่า เมื่อรูปกับจักขุปสาทกระทบกันจึงมีจิตใช่ไหม แต่ความจริงจิตก็มีก่อนนั้นแล้ว เพราะว่าทุกขณะจิตจะต้องเกิดสืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่น

    อเหตุกจิตเป็นอายตนะอะไร มนายตนะ แล้วสเหตุกจิตเป็นอายตนะอะไร ต้องมั่นใจ จิตทุกประเภท ทุกดวง ทุกขณะ เป็นอายตนะเดียวจะเป็นอื่นไม่ได้ คือเป็น "มนายตนะ" จิตเห็น คือ จักขุวิญญาณเป็นอายตนะอะไร มนายตนะ จิตได้ยินเป็นมนายตนะ เสียงเป็นอายตนะอะไร "สัททายตนะ" ตา (จักขุปสาท) เป็น "จักขวายตนะ" เป็นภาษาบาลี หู (โสตปสาท) เป็น "โสตายตนะ" จะให้หูไปเป็นเสียงไม่ได้ ฆานปสาท คือ จมูก เป็นอายตนะอะไร "ฆานายตนะ" เท่านี้เอง ลิ้น ขณะใดที่กำลังลิ้มรส ขณะที่มีรสปรากฏ ชิวหาปสาท เกิดแล้วยังไม่ดับด้วยเพราะปกติธรรมดาทุกรูปเกิดแล้วก็ต้องดับ แต่ขณะใดที่รูปนั้นเป็นปสาทรูปที่เกิด แล้วก็กระทบกับรสแล้วยังไม่ดับ ชิวหาปสาทนั้นเป็นอายตนะอะไร "ชิวหายตนะ" แล้วก็ทางกายกระทบขณะนี้เองเป็นอะไร กายปสาทเป็น "กายายตนะ" และสิ่งที่ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้สิ่งที่กระทบ สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็น "โผฏฐัพพายตนะ" ไม่ว่าจะอ่อน หรือจะแข็ง หรือจะเย็น หรือจะร้อน กล่าวมาถึง ๑๐ อายตนะแล้ว ใส่ชื่อเป็นภาษาบาลีเพื่อไม่สับสนด้วย เหลืออีก ๒ คือ จิต เป็น "มนายตนะ" ส่วนธรรมอื่นๆ ที่เหลือก็เป็น "ธัมมายตนะ" เพราะฉะนั้นจะมีใครถามอย่างไร เมื่อไหร่ ตรงไหน ก็จะรู้ใช่ไหม โวฏฐัพพนจิต เป็นอายตนะอะไร มนายตนะ เสียงที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอายตนะอะไร สัททายตนะ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิตเป็นอะไร ธัมมายตนะ รวมครบอายตนะ ๑๒ ไม่ลืมไม่ว่าจะพบคำนี้ที่ไหน เมื่อไหร่ หรือสนทนากันที่ไหน อย่างไร ก็เข้าใจความหมายของอายตนะ

    อ.วิชัย ได้กล่าวถึงเหตุ จิตที่เป็นสเหตุกะ และ อเหตุกะ คำว่า “เหตุ” เหตุคืออายตนะอะไร ธัมมายตนะ ธัมมายตนะเป็นเหตุต้องหมายถึงเจตสิก ๖ ธัมมายตนะจะมีกว้างเพราะรวมถึงเจตสิกอื่นๆ ทั้งหมดเลย ดังนั้นถ้าให้กล่าวถึงธรรมที่เป็นธัมมายตนะ ก็จะรวมถึงนิพพานด้วยขณะที่เป็นอารมณ์แก่จิตเพราะเหตุว่าขณะนั้นมีอยู่ แล้วก็กำลังเป็นอารมณ์แก่จิต ขณะนั้นนิพพานก็เป็นธัมมายตนะด้วย

    ท่านอาจารย์ ฟัน เป็นอายตนะหรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่เป็น เพราะเป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่สภาวะที่เราเคยยึดถือว่าเป็นฟันมีใช่ไหม เป็นอายตนะอะไร เราเคยยึดถือว่าเป็นฟันแต่ความจริงต้องมีลักษณะสภาวะของสิ่งที่เรายึดถือเป็นฟัน ลักษณะสภาวะอย่างไร ชนิดไหนที่เรายึดถือว่าเป็นฟัน ก่อนอื่น คิดก่อนว่า รูปหรือนามที่เป็นฟัน

    ผู้ฟัง รูป

    ท่านอาจารย์ แล้วรูปอะไรที่เรายึดถือว่าเป็นฟัน

    ผู้ฟัง มีลักษณะแข็ง

    ท่านอาจารย์ "แข็ง" เป็นอายตนะอะไร เป็นอายตนะหรือไม่ เวลาที่กำลังกระทบสัมผัส

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ เป็นอายตนะอะไร

    ผู้ฟัง มนายตนะ

    ท่านอาจารย์ มนายตนะเป็นจิต ฟันเป็นรูป เพราะฉะนั้นที่แข็งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ที่เหลือเป็นธัมมายตนะ

    ท่านอาจารย์ แต่ว่า "แข็ง" ไม่ใช่ที่เหลือ รู้ได้ ๕ ทางใช่ไหม แข็งรู้ได้ทางกาย ฉะนั้นเป็นโผฏฐัพพายตนะ ชื่อเท่านั้นเอง แทนที่จะบอกว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เรียกว่าโผฏฐัพพะ แล้วเวลาที่มียังไม่ดับ แล้วกำลังประชุมอยู่ตรงนั้น จิตกำลังรู้ลักษณะนั้น โผฏฐัพพะนั้นก็เป็นโผฏฐัพพายตนะ

    ผู้ฟัง โผฏฐัพพะกับแข็งไม่เหมือนกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โผฏฐัพพะรวม ๓ อย่างที่สามารถปรากฏกระทบกับกายปสาทได้ เพราะว่าเวลานี้ที่ตัว และเวลาที่ไปกระทบสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็จะมีลักษณะที่ปรากฏ เย็นหรือร้อน ๑ อ่อนหรือแข็ง ๑ ตึงหรือไหว ๑ ถ้าเย็นหรือร้อนก็เป็นธาตุไฟ อ่อนหรือแข็งก็เป็นธาตุดิน ถ้าตึงหรือไหวก็เป็นธาตุลม รวม ๓ อย่างนี้ที่สามารถกระทบกายปสาทได้ ชื่อว่าโผฏฐัพพายตนะ เพราะเป็นธาตุที่สามารถกระทบกายปสาท เรียก ๓ อย่างรวมกันโดยที่ไม่เจาะจงว่าจะหมายความถึงแข็ง หรือเย็น หรือไหว

    ผู้ฟัง แต่แข็งนี่เป็นธาตุหนึ่ง โผฏฐัพพะก็คือการกระทบ

    ท่านอาจารย์ โผฏฐัพพะคือทั้ง ๓ คือธาตุหนึ่งธาตุใดที่เราไม่ได้เจาะจง เพราะว่าแข็งก็เป็นโผฏฐัพพะเพราะว่ากระทบกายปสาท ไหวก็เป็นโผฏฐัพพะเพราะว่ากระทบกายปสาท ร้อนก็เป็นโผฏฐัพพะเพราะว่ากระทบกายปสาท สภาพธรรมใดที่กระทบกายปสาทได้เป็นโผฏฐัพพะทั้ง ๓ ทั้งหมด เพราะฉะนั้นรูปที่ปรากฏในวันหนึ่งๆ มีกี่รูป ๗ รูป สิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ เสียง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ โผฏฐัพพะ ๓ รวมเป็น ๗ รูป

    ผู้ฟัง กรุณาอธิบายโผฏฐัพพายตนะ และกายายตนะ คือยังไม่เข้าใจ

    อ.อรรณพ ถ้าใช้คำว่า “กาย” เราเข้าใจใช่ไหม กายปสาทมีอยู่ แต่ในขณะที่รู้อารมณ์ทางกายเช่น ขณะที่รู้แข็ง "แข็ง" เป็นอย่างหนึ่ง แข็งเป็นโผฏฐัพพะ ซึ่งแข็งก็มีอยู่ทั่วไป แต่ว่าปรากฏหรือไม่ แต่ในขณะที่แข็งปรากฏ กล่าวว่าเป็นโผฏฐัพพายตนะ คำว่า “อายตนะ” คือสภาพธรรมที่กำลังประชุมกันอยู่ในขณะนั้น เย็น ร้อน อ่อน แข็งคือโผฏฐัพพายตนะที่ปรากฏทางกาย กายายตนะก็คือกายปสาทในขณะที่กายปสาทนั้นกำลังประชุมกันในขณะที่จิตรู้แข็งทางกายเกิดขึ้น จิตเป็นมนายตนะ

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมก็คือการศึกษาให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ทุกชื่อ หมายความถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มจากการที่ว่าถ้ามีคำถามว่ากายอยู่ไหน กายก็คือสิ่งที่มีอยู่ ถูกต้องไหม ที่ทุกคนยึดถือว่าเป็นร่างกายของเรา แต่ยังไม่ได้รู้จริงเลยว่าสิ่งนั้นคืออะไร จะเข้าใจความหมายของคำว่า “กาย” ที่จะรู้ได้ว่ามีกาย ก็เมื่อกระทบสัมผัส เพราะเหตุว่าไม่ใช่ไปคิดเฉยๆ แต่หาดูกายตั้งแต่ศรีษะตลอดเท้า จรดเท้า กระทบตรงไหนก็คือแข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ถูกต้องไหม แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วสภาพธรรมที่มีที่กายจริงๆ มีแข็งหรืออ่อน แต่ต้องกระทบกายปสาทจึงปรากฏ นี่ก็เป็นทางที่จะให้เข้าใจความหมายของ “อายตนะ” ได้ว่าจริงๆ แล้วเราไปยึดถือว่าเรามีกายตั้งแต่ศรีษะตลอดเท้า แต่ขณะที่เป็นภวังค์มีไหม กายตั้งแต่ศรีษะตลอดเท้าอยู่ที่ไหน ไม่อยู่เลยใช่ไหม และเมื่อไม่มีการกระทบส่วนหนึ่งส่วนใด เราก็จะไม่รู้ว่ากายกำลังมีอยู่ตรงนั้น ถูกต้องไหม แต่เราจำไว้ก่อนเท่านั้นเองว่าเรามีกายตั้งแต่ศรีษะตลอดเท้าโดยที่ลักษณะของกายจริงๆ ไม่ได้ปรากฏเลย แต่ธรรมคือสิ่งที่มีจริงที่พิสูจน์ได้ ถ้าจะรู้จักกาย ก็เมื่อมีสิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นกายนั้นปรากฏ เช่นกระทบสัมผัสส่วนหนึ่งส่วนใด เรายึดถือทั้งหมดว่าเหมือนไม่ได้ดับไปเลย ยังมีอยู่ให้กระทบอยู่ แต่ความจริงชั่วขณะที่กระทบตรงไหน แล้วก็สิ่งที่ถูกกระทบนั้นปรากฏเท่านั้นที่มีจริงๆ ในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้ามีการกระทบเดี๋ยวนี้ มีแข็งตรงไหนปรากฏ มีใช่ไหม จริงใช่ไหม?ขณะนั้นถ้าไม่มีกายปสาทรูป สิ่งนั้นปรากฏไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่แข็งปรากฏ เราก็จะเข้าใจได้ว่าขณะนั้นต้องมีกายปสาทรูปที่กระทบกับแข็ง แข็งจึงปรากฏได้ ขณะนั้นก็คือ กายายตนะกับโผฏฐัพพายตนะ จิตก็คือ กายวิญญาณซึ่งก็เป็นมนายตนะ และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นธัมมายตนะ นี่คือชั่วขณะหนึ่งๆ ที่สภาพธรรมเป็นอย่างนี้จริงๆ เกิดดับอย่างนี้จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เราเลยจริงๆ รูปก็เป็นเพียงรูป นามธรรมก็เป็นนามธรรม นามธรรมก็เกิดดับเร็วมาก รูปก็เกิดดับเร็วด้วย แต่จิตอายุสั้นกว่ารูป เพราะว่าจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ แล้วเราอยู่ที่ไหนที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ที่เป็นอัตตา ที่เป็นของเรา แท้ที่จริงๆ ก็ไม่มีเลย มีเพียงชั่วขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ จึงจะเห็นกายในกาย เห็นกายว่าเป็นกาย แล้วก็ละการยึดถือกายว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่ามีการได้ยินได้ฟัง มีการพิจารณา มีการไตร่ตรอง มีการเข้าใจจนกระทั่งสติสัมปชัญญะสามารถจะรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏไม่ว่าจะเป็นทางทวารไหน

    ฟังเรื่องอายตนะแล้วมีประโยชน์ไหม ทำให้เราเข้าใจได้ว่าจริงๆ แล้วไม่มีอะไรที่ยั่งยืนเลย แต่ละอย่างซึ่งเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เพราะฉะนั้นทรงแสดงแม้เพียงขณะ "เห็น" ว่าเป็นอายตนะอะไร และยังทรงแสดงถึงปัจจัยของสภาพธรรมแต่ละอย่างด้วยในขณะนั้น ซึ่งถ้าศึกษาละเอียดขึ้นจะทำให้ค่อยๆ คล้อยไปสู่ความจริงว่าไม่มีเราแต่มีสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏแต่ละทาง

    ผู้ฟัง ฟันหรือลิ้นที่อยู่ในร่างกายเรา ขณะที่กระทบแล้วเรามีความรู้สึกว่าแข็ง นี้คือโผฏฐัพพายตนะ ในขณะที่กระทบก็ต้องมีกายายตนะด้วยถูกหรือไม่ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่รู้โผฏฐัพพายตนะ

    ท่านอาจารย์ โผฏฐัพพายตนะคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คือลักษณะของธาตุดินที่กระทบก็เป็นโผฏฐัพพายตนะ

    ท่านอาจารย์ กระทบกับอะไรจึงได้ปรากฏ

    ผู้ฟัง ต้องกระทบกับกายายตนะ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง คือกายปสาทรูป ไม่มีอะไรเลย ขณะนั้นตัวตน สัตว์ บุคคล แม้สิ่งอื่นก็ไม่มีเพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ และขณะนั้นกำลังรู้สิ่งนั้นเท่านั้นที่ปรากฏ แม้รูปจะเกิดเพราะสมุฏฐานต่างๆ รูปนั้นก็เกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลาโดยที่ไม่รู้ไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็เป็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ปัญญาอย่างเราที่จะไปรู้ขณะนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงถ้าไม่รู้ จะละการยึดถือว่าเป็นเราไม่ได้ แต่ปัญญาของผู้รู้มีหลายระดับ ระดับของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ของท่านพระสารีบุตร และพระมหาสาวกต่างๆ เพราะฉะนั้นแต่ละคนจะไม่สามารถรู้เลยว่าสะสมปัญญาหรือกิเลสหรือกุศลมามากน้อยอย่างไร ต่อเมื่อใดสิ่งนั้นเกิดขึ้นจึงจะรู้ว่าต้องมีปัจจัย เพราะฉะนั้นเราจะไม่รู้เลยว่าปัญญาของเราระดับไหน แต่ก็ไม่ต้องไปถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านพระสารีบุตร หรือมหาสาวกต่างๆ เลยใช่ไหม แต่สิ่งที่มีจริง ถ้าไม่รู้ถูกต้อง ไม่สามารถที่จะละความเป็นตัวตนได้ ด้วยเหตุนี้ขณะนี้เรากำลังเรียนเรื่องสภาพธรรม แต่ถึงกาละที่ได้อบรมเจริญปัญญาโดยสติสัมปชัญญะเกิด จะรู้ความต่างว่าขณะใดที่สติสัมปชัญญะเกิด ขณะนั้นกำลังมีลักษณะจริงๆ ซึ่งไม่เป็นอะไรเลย ไม่เป็นเรา ไม่เป็นนิ้ว ไม่เป็นมือ ไม่เป็นอะไรทั้งหมด ถ้าเป็นลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่แข็งปรากฏ ขณะนั้นจะเข้าใจความต่างของขณะที่เราเคยอยู่ในทะเลชื่อ และทะเลภาพ เพราะว่าไม่มีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏในขณะนั้น แต่ขณะใดที่สภาพธรรมปรากฏ ขณะนั้นเห็นความต่างเลยว่านี่เป็นหนทางเดียว สภาพธรรมขณะนั้นไม่มีชื่อจะเรียก แต่ว่ากำลังรู้กำลังค่อยๆ เข้าใจความจริงว่าขณะนั้นอย่างอื่นไม่มี นี้คือขั้นฟัง แต่ว่าลึกๆ ลงไปถ้ายังไม่ได้ดับอนุสัยกิเลสคือการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก็ยังมีเราในขณะต่อไป หรือแฝงอยู่มากน้อยต่างกัน ตามกำลังของกิเลสในขณะนั้น จนกว่าสิ่งที่เรากำลังกล่าวในขณะนี้เป็นจริงกับปัญญาที่ได้อบรมแล้ว เพราะว่าถ้าเป็นปัญญาจะรู้อย่างอื่นไม่ใช่อย่างนี้ได้ไหม ในเมื่อสิ่งนี้จริงอย่างนี้ เพราะฉะนั้นปัญญาที่จะรู้จริงๆ อย่างนี้ต้องเป็นระดับขั้นของวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ว่าจะไม่รู้เลย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะนี้เรากำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรมที่มีเกิดขึ้นจริง วันหนึ่ง สังขารขันธ์จะปรุงแต่ง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ที่รู้ว่าความจริงแท้คืออย่างนี้ เมื่อความจริงแท้เป็นอย่างนี้ ปัญญาก็ต้องประจักษ์แจ้งอย่างนี้

    ผู้ฟัง อายตนะภายในกับภายนอก ลิ้นมันดุนกับฟันในปากเรา ทั้งสองอย่างนี้ภายในทั้งคู่อันไหนเป็นภายในภายนอก

    ท่านอาจารย์ ถ้าจำกัดความได้ว่าอายตนะภายในมี ๖ คือปสาทรูป ๕ รูปอื่นที่ตัวทั้งหมดไม่ใช่รูปภายในเลย รูปภายในที่ใช้คำว่า “ภายใน” เพราะเหตุว่าสามารถที่จะให้จิตอาศัยเกิดขึ้นรู้อารมณ์ต่างๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยที่ว่ารูปอื่นไม่ได้มาใกล้ชิด ไม่ได้มาอยู่ ไม่ได้เป็นทางที่จะทำให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใดเลย แต่รูป ๕ รูปนี้เป็นภายใน เพราะเหตุว่าเป็นทางให้จิตอาศัยติดต่อหรือว่าประชุม หรือว่าสามารถที่จะรู้สิ่งที่เป็นภายนอกได้ เพราะฉะนั้นรูปภายในมี ๕ นอกจากนี้ทั้งหมดไม่ใช่รูปภายใน จะชื่อว่ารูปอะไรก็ตาม จะชื่อว่าเสียง จะชื่อว่าสี จะชื่อว่ากลิ่น จะชื่อว่าอะไรทั้งหมดไม่ใช่รูปภายใน ในรูป ๒๘ รูปมีเพียง ๕ รูปเท่านั้นที่เป็นรูปภายใน เพราะฉะนั้นคำถามของคุณเด่นพงศ์ก็ให้ค่อยๆ คิดว่าอะไรเป็นรูปภายใน ขณะที่แข็งปรากฏ

    ผู้ฟัง กำลังคิดว่าในกรณีของลิ้นกับฟันเมื่อสักครู่นี้ ลิ้นน่าจะเป็นภายใน

    ท่านอาจารย์ แข็งต้องกระทบอะไรจึงปรากฏ

    ผู้ฟัง กระทบกับฟัน

    ท่านอาจารย์ แข็งเป็นฟันใช่ไหม ที่เราเคยยึดถือว่าเป็นฟัน แท้ที่จริงคือแข็ง แล้วที่เราเคยยึดถือว่าเป็นลิ้นถ้าไม่มีกายปสาทรูปเลยจะกระทบกับแข็งได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วที่เราเข้าใจว่าเป็นลิ้นกระทบฟันก็คือกายปสาทรูปกระทบกับธาตุภายนอกที่เป็นโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเรา ไม่มีลิ้น ไม่มีฟัน ไม่มีอะไรเลย มีแต่ธรรม

    ผู้ฟัง เข้าใจง่ายๆ ว่าภายในก็คือภายใน ภายนอกก็คือภายนอก

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ต้องรูป ๕ รูปเท่านั้นที่เป็นรูปภายใน รูปอื่นทั้งหมดนอกจากนี้เป็นรูปภายนอก

    ผู้ฟัง การที่เรารู้อายตนะ ๑๒ เกี่ยวข้องกับการอบรมเจริญปัญญาอย่างไร เท่าที่ศึกษามาการอบรมเจริญปัญญาก็เพื่อที่จะรู้ลักษณะของรูปธรรม และนามธรรม คราวนี้มีชื่อถึง ๑๒ ชื่อ แล้วจะเป็นชื่อมากกว่าไม่เข้าใจลักษณะที่เป็นรูปธรรม และนามธรรม

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมไม่มีชื่อ ข้อนี้คงไม่ลืม แต่ต้องใช้ชื่อเพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎก และอรรถกถาทั้งหมดเป็นชื่อที่ส่องถึงหมายถึงสภาพธรรมอะไรซึ่งมีจริงๆ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าอายตนะหมายความถึงอะไรที่เราจะต้องรู้ว่าเป็นรูปเท่าไหร่ เพราะเหตุว่าอายตนะภายในมี ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่บอกว่าเป็นประโยชน์ต่อการที่จะเข้าใจหรือเจริญสติปัฏฐานให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมก็คือว่าสิ่งที่กำลังฟังในขณะนี้ทำให้เห็นว่า " ไม่มีเรา "แม้แต่ที่เคยเป็นลิ้นก็คือสภาพธรรมที่เมื่อกระทบกับแข็ง และแข็งปรากฏ ไม่ใช่แข็งที่เป็นไม่ใช่ปสาทไปกระทบแข็ง แล้วจิตที่รู้แข็งจึงจะปรากฏได้ แต่ต้องเป็นปสาทรูปที่เป็นกายปสาทรูปด้วย ไม่ใช่จักขุปสาทรูป ตัวจริงๆ ก็คือกายปสาทรูปกระทบกับรูปที่อาจจะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว จะใช้คำว่านุ่ม จะใช้คำว่าเหลว จะใช้คำว่าเหนอะหนะ จะใช้คำอะไรได้หมด แต่ลักษณะนั้นสามารถกระทบกับกายปสาท

    ให้เราเข้าใจว่าจริงๆ แล้วไม่มีเรา ไม่มีเราเลย ขณะที่กำลังนั่งอยู่ ขณะนี้ ไม่มีใครเลยนอกจากนามธรรมกับรูปธรรม และนามธรรมก็ไม่ได้รู้ไปทั้งหมดทุกอย่างในขณะจิตเดียว แต่ต้องอาศัยว่าอาศัยรูปอะไร รู้อะไร อาศัยทวารไหน รู้อะไร คือให้เห็นความเป็นอนัตตาซึ่งเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ ปัญญาที่จะรู้จริง รู้ไม่ต่างจากอย่างนี้จึงสามารถที่จะสละความเป็นเราได้ ความเป็นเราทั้งหมดนี่ต้องไม่มี เพิกอิริยาบถซึ่งเป็นกายตั้งแต่ศรีษะจรดเท้าที่กำลังนั่ง

    ความจริงก็คือขณะใดก็ตาม รูปใดปรากฏ ขณะนั้นรูปอื่นที่เคยยึดถือว่าเป็นกายโดยสมุฏฐานที่เกิดต่างๆ เกิดแล้วดับแล้วหมด แต่รูปที่ยังไม่ดับคือรูปที่กระทบจักขุปสาท และปสาทรูปขณะนั้นก็ยังไม่ดับด้วย แล้วลองคิดถึงจักขุปสาทว่ามองก็ไม่เห็นแต่ว่ามี แล้วความน่าอัศจรรย์ของสภาพธรรมเป็นปัจจัยคือเมื่อเป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เป็นปัจจัยให้จิตเห็นขณะนี้เกิดขึ้นโดยที่ว่าสิ่งอื่นในโลกทั้งหมดไม่มีเลยในขณะนั้น นี่คือการที่จะรู้ว่านี่คืออนัตตา จะเอาอัตตามาจากไหน ในเมื่อขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงธาตุรู้ซึ่งกำลังเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเองแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมทั้งหมด คือให้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่มีจริง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 149
    20 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ