ปกิณณกธรรม ตอนที่ 1019


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ปกิณณกธรรม ตอนที่ ๑๐๑๙

    สนทนาธรรม ที่ นิกันติ กอล์ฟคลับ จ.นครปฐม

    วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๐


    ผู้ฟัง ผมคิดว่าปัญหาน่าจะเกิดจากคำว่า ปฏิบัติ ก็ได้ยินกันบ่อยไปปฏิบัติธรรม ก็เลยคิดว่าต้องมีตัวตนที่จะไปทำถึงทำได้ ผมเพิ่งได้ฟังเรื่องๆ หนึ่ง ซึ่งมีเทวดามาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า อะไรยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงตอบว่า อำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ถ้าฟังเพียงเท่านี้ ก็เลยคิดว่าคนจะต้องมีอำนาจถึงจะทำอะไรได้สำเร็จ เริ่มแล้วตัวตน อยากจะมีอำนาจ แต่เป็นโวหารเทศนาที่ลึกซึ้งมาก ที่เริ่มต้นจากว่าอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แต่อำนาจนั้นหมายถึงสภาพหนึ่งที่ทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยกำลังของตนเอง นั่นน่าจะเป็นคำตอบว่า อย่าไปทำอะไรเลย ไม่สำเร็จหรอก แต่ตามรู้ตามเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา ตรงนี้น่าจะช่วยตอบเรื่องการจะมีตัวตนไปทำ ยกตัวอย่าง ลืมตาขึ้นมา ไม่ให้เห็นได้ไหม สภาพธรรมทำหน้าที่ของเขาอยู่แล้วทุกขณะ เห็นปรากฏแล้วไม่ให้ดับได้ไหม ตรงนี้เป็นคำตอบอยู่ ทุกอย่างเป็นอนัตตา อย่างที่ท่านอาจารย์ได้พร่ำบอกพวกเรามาตลอดว่า ไม่มีเราที่จะไปทำอะไรได้เลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าลองคิดดู ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจของจิต แสดงให้เห็นว่า แม้แต่คำเดียว เรารู้จริงๆ หรือเปล่า ถ้าเรายังไม่รู้ว่าจิตคืออะไร แล้วตอบว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจของจิต นั่นไม่ใช่การที่เข้าใจถึงที่สุดว่า แล้วจิตคืออะไร ด้วยเหตุนี้ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจของจิต ก็ต้องรู้ว่าจิตคืออะไร แข็งมีจริงไหม เป็นธรรมหรือเปล่า เป็นธาตุหรือเปล่า เป็น เปลี่ยนแปลงเป็นลักษณะอื่นได้ไหม เป็นกลิ่นได้ไหม ไม่ได้ แต่แข็งทำอะไรใครได้ไหม แข็งทำอะไรใครได้ไหม ไม่มีทางเลย แข็งเกิดขึ้นเป็นแข็งแล้วดับทำอะไรได้ แต่จิตเห็นไหม ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ พอเราใช้คำว่า จิต เราคุ้นเคยกับการที่ฟังเผินๆ คร่าวๆ ก็คิดว่าทุกคนก็มีจิตสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดมีจิต แมลงเล็กๆ ก็มีจิตบินได้ เดินได้ ก็เป็นสิ่งที่มีจิต แต่ว่าเราก็ยังไม่ได้เข้าใจถึงที่สุดว่าแล้วจิตคืออะไร จิตเองเป็นธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เราไม่สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนี้ได้ยินเกิดขึ้นเพราะมีหู และก็ต้องมีเสียงด้วย ถ้ามีหูแต่ไม่มีเสียง ได้ยินก็เกิดไม่ได้ ถ้ามีเสียงเท่านั้น ก็ไม่มีใครรู้ว่ามีเสียง ถ้าไม่มีการได้ยิน เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างแต่ละขณะละเอียดมาก แต่ให้ทราบว่าธรรมทั้งหมดในสากลจักรวาล ไม่ว่าจะโลกไหน ภพไหน ภูมิไหนก็ตาม เป็นสิ่งที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง ธรรมประเภทหนึ่ง หรืออย่างหนึ่งไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกธรรมนั้นว่า รูปธรรม มาจากคำว่า รูปะกับธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เป็นรูปธรรมคือเป็นสิ่งที่แม้มีจริงเกิดดับ แต่ก็ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แข็งโกรธไม่ได้ แข็งชอบไม่ได้ แข็งหิวไม่ได้ แข็งจำไม่ได้

    เพราะฉะนั้นธรรมที่มีจริงต่างกัน ประเภทใหญ่ๆ เป็น ๒ อย่างคืออย่างหนึ่งมีจริงเกิดขึ้น ดับไป แต่ไม่รู้อะไรเลยเป็นรูปธรรม แต่ว่าถ้าไม่มีธรรมอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่มีรูปร่างเลยทั้งสิ้น แต่เป็นธาตุรู้ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ไม่ได้เลย สภาพรู้หรือธาตุรู้นั้น ใช้คำว่า นามธรรม เราไม่ได้คุ้นเคยกับความเข้าใจในภาษาเดิม คือธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่เราใช้คำด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นสมัยนี้ มีคำว่าโครงการนี้ยังไม่เป็นรูปธรรม หมายความว่าอะไร ยังเป็นนามธรรมอยู่หรืออย่างไร นี่คือสิ่งที่เราเป็นผู้ที่เผิน ตราบใดที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่สามารถที่จะเข้าใจความละเอียดถึงที่สุดของแต่ละสิ่งซึ่งมีจริงในโลก เพราะฉะนั้นแต่ละครั้งต้องรู้ว่าถ้าเป็นภาษาไทย หมายความอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสในภาษามคธี ซึ่งเป็นภาษาบาลี ความหมายนั้นต่างกัน

    เพราะฉะนั้นรูปธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แข็งเป็นธรรม เป็นธาตุ เป็นรูปธรรม เสียงเป็นรูปธรรม กลิ่นเป็นอะไร รูปธรรมเพราะกลิ่นไม่รู้อะไรเลย อะไรทั้งหมดที่มีแต่ไม่รู้เป็นรูปธรรม แต่ว่าถ้าไม่มีธาตุรู้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นปรากฏไม่ได้เลย แม้มี มีคนบอกเราว่าที่โน่นแข็ง แต่ว่าเรายังไม่ได้กระทบสิ่งนั้น จะรู้ได้ไหมว่า มีจริงๆ เขาบอกว่าทั้งนั้น แต่ว่าขณะใดก็ตามที่สิ่งนั้นปรากฏ ไม่ใช่เขาบอกว่า แต่มีธาตุที่รู้ตรงสิ่งนั้น ใครจะบอกว่าหรือไม่บอกว่า ก็เปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นไม่ได้ เช่น ลองกระทบแข็งที่นิ้วนี่แข็ง ต้องมีใครบอกว่าไหม แต่ว่าถ้ารู้เกิดขึ้นรู้แข็งตรงนั้น ธาตุรู้มี ๒ อย่างคือ จิต และเจตสิก แต่ที่เราคุ้นหูทั่วไปเลย ไม่ว่าเด็กว่าเล็กก็คือรู้ว่ามีจิต แต่ไม่มีใครพูดถึงเจตสิกเลย แต่จิต และเจตสิกเป็นธาตุซึ่งเป็นนามธรรมต้องรู้ แต่ว่าลักษณะของธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งเป็นจิต ไม่ทำหน้าที่อะไรเลยทั้งสิ้น เกิดขึ้นก็รู้สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น เดี๋ยวนี้เสียงปรากฏ ใครรู้บ้างว่า จิตเกิดขึ้นได้ยินเสียง จิตไม่ได้คิด ไม่ได้รัก ไม่ได้ชัง อะไรเลยทั้งสิ้น แต่รู้เฉพาะเสียง รู้แจ้งเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้ารู้สึกเย็น ใครมองเห็นเย็นบ้าง เห็นไม่ได้ก็ต้องไม่ได้ แต่เย็นมีจริงไหม เป็นธรรมหรือเปล่า เป็น เป็นธาตุหรือเปล่า เป็นธรรมประเภทไหน รูปธรรม นี่คือเริ่มเข้าใจความจริงในโลกนี้ ซึ่งรู้ว่าไม่ใช่เรา เย็นชั่วคราวปรากฏแล้วหมดไป เป็นสิ่งที่มีจริงชั่วคราว และเป็นธรรมที่เป็นรูปธรรม แต่ถ้าไม่มีนามธรรม คือธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานรู้แจ้ง เย็นมากไหม หรือนิดหน่อย จิตเป็นธาตุรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สำหรับธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ แต่ไม่ใช่จิตที่รู้แจ้ง แต่เกิดกับจิต เป็นปัจจัยที่อาศัยทำให้จิตเกิดขึ้นเป็นเจตสิก ธรรมทุกอย่างที่มี เราไม่เคยรู้เลยว่า ต้องมีหลายอย่าง เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น ถ้ารับประทานแกงอร่อย มีอะไรบ้าง มีอะไรบ้างที่จะเป็นแกง อย่างเดียวเป็นแกงไหม แค่เนื้อไก่เป็นแกงไหม ก็ไม่เป็น แต่ต้องมีหลายๆ อย่างที่รวมกัน เอาพริก กระเทียม หอม กะปิ เกลือตำให้ละเอียดยิบรวมกัน ละลายลงไปในกะทิ ตักออกมา ไหนส่วนไหน ไหนพริก ไหนกระเทียม ไหนกะปิ ไหนตะไคร้ รวมกันแล้ว ปรากฏเป็นเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และแกงก็นานาชนิด เพราะฉะนั้นจิตก็หลากหลายมาก เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหลากหลาย จำแนกเป็นจิตที่ดีเป็นกุศลธรรม ที่ไม่ดีเป็นอกุศลธรรม

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างทั้งหมดเป็นธรรม โดยไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม แต่ในบรรดาธรรมซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งตอนนี้คำแรกได้ยินคือธรรม แต่ธรรมหลากหลาย จำแนกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือรูปธรรมไม่รู้อะไรเลยอย่างหนึ่ง และก็นามธรรม ซึ่งธาตุรู้ซึ่งเป็นนามธรรมไม่เกิด โลกไม่ปรากฏ อะไรก็ไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้มีนามธรรม และรูปธรรม พิสูจน์ได้ทุกขณะ ไม่ว่าจะกล่าวถึงคำอะไร เพราะว่าเป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้จากธรรม ๑ เป็น ๒ คือนามธรรม และรูปธรรม แล้วก็เป็น ๓ คือรูปธรรมไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น จะเป็นเย็นที่ภูเขาหิมาลัย หรือว่าจะเป็นเย็นที่โลกอื่นโลกใด นอกจากโลกนี้เย็นก็คงเป็นเย็นซึ่งไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเป็นรูปธรรม แต่นามธรรมมี ๒ อย่างคือจิต และเจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เดี๋ยวนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ชอบไหม อีกอย่างหนึ่ง ชอบ มีเสียงที่กำลังปรากฏ ไม่ชอบไหม ไม่ชอบเป็นธรรมอีกอย่างหนึ่งปรากฏ

    เพราะฉะนั้นแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มีสิ่งที่ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นโดยเราไม่รู้ เหมือนแกงมัสมั่น น้ำแกงไม่รู้เลยว่าในนั้นเกิดขึ้นมาได้เป็นน้ำแกงมัสมั่นไม่ใช่แกงเผ็ดได้อย่างไร เพราะเครื่องปรุงต่างกันฉันใด ทุกขณะที่ปรากฏก็หลากหลายมาก เพราะส่วนประกอบที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นเป็นไป แม้แต่แต่ละคนหลากหลายสุดที่จะประมาณได้ เพียงคนเดียวก็แยกออกมาในความหลากหลายแล้ว ส่วนที่เป็นตาก็มี เป็นหูก็มี เป็นผมก็มี เป็นคิ้วก็มี ทั้งหมดก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่หลากหลายมาก แต่ต้องไม่ลืม ธรรมทุกอย่างไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มีจริง รูปธรรมไม่ใช่นามธรรม รูปธรรมสักรูปหนึ่งจะเป็นนามธรรมไม่ได้ นามธรรมเป็นธาตุรู้จะให้เป็นแข็ง เป็นอ่อน เป็นเย็น เป็นร้อนก็ไม่ได้เลยทั้งสิ้น นามธรรมก็เป็นนามธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม เราอยู่ไหน หาเรา นั่นก็รูป นี่ก็นาม แล้วไหนเรา ไม่มีเราใช่ไหม และในบรรดาธรรมทั้งหมด เป็นไปตามอำนาจของจิต คือธรรมอย่างหนึ่ง คือจิต เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่าธาตุรู้ รู้ไปหมดเลยตั้งแต่เริ่ม ไม่มีวิทยุ แล้วก็มีวิทยุ แล้วก็มีโทรทัศน์ แล้วก็มีโทรศัพท์ แล้วก็มีทุกอย่าง เพราะธาตุรู้วิจิตรมาก ตามเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วย

    เพราะฉะนั้นธาตุรู้มีหนึ่ง แต่ว่าสภาพนามธรรมซึ่งไม่ใช่จิต แต่เกิดพร้อมจิตดับพร้อมจิต รู้สิ่งเดียวกับจิต ซึ่งใช้คำว่าเจตสิก หลากหลายมากมาย แต่ประมวลไว้ก็คือเป็น ๕๒ ประเภท ด้วยเหตุนี้จึงมี จิต ๑ เจตสิก ๕๒ ถ้ารวมกันเป็นนามธรรมก็คือ นามธรรม ๕๓ มี เดี๋ยวนี้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถที่จะรู้แจ้งได้ ในขณะที่ฟังธรรมแล้วเข้าใจ เข้าใจรูปแล้ว เข้าใจจิตแล้ว เข้าใจเจตสิกแล้ว เดี๋ยวนี้คือจิตเจตสิกรูป ซึ่งเป็นธรรมคือสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงเป็นไปตามอำนาจของจิต เพราะเหตุว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง ส่วนเจตสิกทั้งหลายก็หลากหลายไป เช่น ความติดข้อง ความต้องการ ความเพลิดเพลิน ความพอใจ ไม่ใช่ความโกรธ ความขุ่นเคือง ความริษยา หรือความพยาบาท แต่ละหนึ่งก็เป็นธรรมแต่ละหนึ่งแต่ละหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มีจิต จะมีธรรมเหล่านี้ไหม ไม่มี

    ด้วยเหตุนี้เวลากล่าวถึงจิต และเราก็กล่าวรวมเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้นจึงมีคำหนึ่งในภาษาบาลี ใช้คำว่า จิตตุปาท เป็นคำ ๒ คำรวมกันคือคำว่า จิต กับ คำว่า อุปาทะ อุปาทะ แปลว่าการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจิตตุปาท หมายความถึงจิตเกิดพร้อมเจตสิก แต่ว่าจาระไนอย่างไร เจตสิกตั้งหลายเจตสิกที่เกิดกับจิต ก็รวมเรียกว่าจิตนั้นประกอบด้วยเจตสิกหลากหลาย ต่างกันเป็นจิตที่ดีบ้าง จิตที่ไม่ดีบ้าง ก็เป็นธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ทั้งหมด ที่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เราทีละเล็กทีละน้อย ทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจของจิต ซึ่งประกอบด้วยเจตสิก เวลาโกรธ จิตทำอะไรบ้าง เพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยปรุงแต่ง พูดดีหรือเปล่า ปกติเวลาไม่โกรธก็พูดธรรมดาใช่ไหม แต่เวลาที่เจตสิกที่โกรธเกิดขึ้นพร้อมจิตในขณะนั้น รูปพูดไม่ได้ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไม่ได้เลย รูปที่ไม่มีจิตมีไหม คนตาย ทันทีที่ไม่มีจิตเกิดที่รูปนั้น รูปนั้นเคลื่อนไหวทำอะไรไม่ได้เลย ลืมตาไม่ได้ กระดุกกระดิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจจิต ที่รูปจะมีการกระทำดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ทุจริต ฆ่า ประทุษร้ายหรือว่าทำคุณงามความดีต่างๆ ช่วยเหลือคนอื่น ทุกอย่างเป็นไปตามอำนาจของจิต

    ผู้ฟัง เท่าที่ทราบมาก็คือว่าจิตเรามักจะไหลลงสู่ที่ต่ำ เราก็มักจะคิดในสิ่งที่ไม่ดี อย่างที่ผ่านมาก็รู้ตัวว่า เรามักจะเพลิดเพลินกับความคิดเหล่านั้น จะมีวิธีใดบ้าง ที่จะยุติการคิดเหล่านั้น แล้วก็มีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ เพื่อที่จะให้เรารู้ตัว แล้วก็พ้นจากสิ่งเหล่านั้นได้ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ที่จะกล่าวว่าฟังธรรมแล้วก็ลืม เป็นธรรมดา ลืมว่าธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ถ้าไม่มีธรรมจะมีเราไหม ถ้าสุขไม่เกิดจะเป็นเราสุขไหม สภาพธรรมที่เป็นทุกข์มีจริงๆ คืออะไรก็ยังไม่รู้เลย เป็นความรู้สึก เพราะฉะนั้นเมื่อมีธาตุรู้ ก็มีความรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏอย่างหนึ่งอย่างใด เห็นบางอย่างแล้วเป็นสุข เห็นบางอย่างแล้วเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเห็นเป็นเห็น แต่ความรู้สึกเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นฟังว่าทุกอย่างเป็นสิ่งที่มีจริง มีปัจจัยเกิดขึ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ลืมจึงเป็นเราที่หาวิธีที่จะสุข และทุกข์ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมไม่ใช่ฟังครั้งเดียว ลืมเสมอ เพราะว่าเราชินกับการที่จะคิดถึงสิ่งอื่น มากกว่าที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังซึ่งกำลังมีในขณะนี้

    ด้วยเหตุนี้หาทางที่จะหมดทุกข์ ทุกข์เพราะอะไรต้องรู้ เพราะฉะนั้นจะหมดทุกข์ต่อเมื่อไม่มีเหตุที่จะให้เกิดทุกข์ ทุกข์เพราะไม่รู้ว่าความจริงไม่มีเรา แต่มีสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ถ้ามีความเป็นเรา ก็พยายามหาทางหาไปเถิด เขาหามาก่อนเรา ๔ อสงไขยแสนกัป แล้วก็ไม่พบ จนกว่าจะมีผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีตรัสรู้ความจริงว่า ทั้งหมดเป็นสิ่งที่มีจริงชั่วคราวแสนสั้น แล้วก็ไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่ดับแล้วจะเป็นใคร หรือจะเป็นของใคร ได้ยินดับแล้ว ก่อนฟังธรรมเราได้ยิน แต่ถ้าได้ยินไม่เกิด ก็ไม่ไปยึดถือได้ยินว่าเป็นเรา แต่พอได้ยินเกิด ลืมเลยเป็นเราได้ยิน ไม่ได้เข้าใจถูกต้องว่า ได้ยินไม่ใช่เราฉันใด สุข และทุกข์ก็ต้องไม่ใช่เราฉันนั้น มีปัจจัยก็เกิดขึ้น ถ้าไม่มีปัจจัยก็เกิดไม่ได้ ทำไมคนนั้นคิดดี เสียสละ เป็นประโยชน์ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วทำไมอีกคนหนึ่งคิดไม่ดี เป็นธรรมทั้งหมด ซึ่งบังคับบัญชาไม่ได้

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องมีเหตุ ถ้าอยากจะหมดทุกข์ ก็ต้องรู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นเพราะอะไร และก็ต้องรู้ด้วยว่าอะไรคือทุกข์ เดี๋ยวนี้มีทุกข์ไหม บอกว่าไม่มี แต่ทุกข์คืออะไรเห็นไหมเพราะไม่รู้ ต้องรู้ก่อน เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่จะมีค่าเท่ากับความเข้าใจถูกความเห็นถูก ซึ่งเกิดจากการได้ฟังคำจริง คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครจะไม่ให้ทุกข์เกิดได้ ทุกข์มีเหตุที่จะต้องเกิดทุกข์ก็เกิด เพราะฉะนั้นไม่มีใครจะไปไม่ให้ทุกข์เกิดขึ้นได้เลย แล้วทำไมเราต้องรู้อย่างนี้ เพราะทุกข์เกิดตลอดเวลาที่ได้สิ่งที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้นอะไรเป็นเหตุของทุกข์ เห็นไหม ค่อยๆ คิด ถ้าไม่มีกิเลสเลย อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ต้องทุกข์เลย ไม่มีความพอใจ ไม่พอใจ เพราะว่ารู้แจ้งว่าเป็นสิ่งที่เพียงเกิดขึ้น แล้วดับไป แล้วไม่เหลือเลย แล้วก็ไม่กลับมาอีก เห็นไหม ติดข้องในสิ่งที่ไม่มีตลอดทุกชาติ จนกว่าจะรู้ความจริง ซึ่งมาจากการที่ฟังพระธรรม แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง จริงๆ อย่างที่กราบเรียนว่า เป็นสิ่งที่ยากที่จะรู้ตัวเองว่าขณะที่คิดมีปัจจัยให้คิด

    ท่านอาจารย์ มีใครเป็นที่พึ่ง

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ พึ่งอวิชชาความไม่รู้ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ควรจะพึ่ง

    ท่านอาจารย์ พึ่งไม่ได้ ไม่ใช่ไม่ควรพึ่ง แต่พึ่งความจริง ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นี่คือโลก มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย มีสุข มีทุกข์ ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีใครต้องการทุกข์ แต่ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แม้สุขก็ชั่วคราวแสนสั้น ให้สุขยั่งยืนต่อไปก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาความเห็นที่ถูกต้อง คลายความติดข้อง ทำให้ความติดข้องนั้นน้อยลง ทุกข์ก็น้อยลงด้วย

    ผู้ฟัง เราคลายความติดข้องนั้น ไม่ใช่ง่ายที่จะไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราคลาย เห็นไหม เราคลายก็ผิดแล้ว ลืมคำแรกอีกแล้ว ธรรม ปัญญาความเห็นถูกต้อง ไม่ใช่ความไม่รู้ ความไม่รู้จะไปละกิเลสใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น ต้องเป็นความเข้าใจถูกความเห็นถูก จึงสามารถที่จะรู้ว่าเกิดแล้วต้องตาย แล้วจะทุกข์ทำไม ทุกข์ทำไม เสียเวลาทุกข์ไหม ก็หมดแล้ว แล้วก็จากโลกนี้ไปแล้ว จะทุกข์ทำไม แต่ห้ามไม่ได้ใช่ไหม เพราะมีปัจจัยก็ต้องเกิดขึ้น ปัจจัยทั้งหมดเกิดเพราะความไม่รู้ ที่จะปรุงแต่งให้ชอบบ้าง ทุกข์บ้าง สุขบ้างเพราะความไม่รู้ แต่ความไม่รู้ก็จะเปลี่ยนให้เป็นความรู้ไม่ได้ ความไม่รู้มีจริงๆ ทุกคนได้ยินคำว่า อวิชชา ไม่รู้ วิชชาคือรู้ อวิชชาคือไม่รู้ โมหะ มืดไม่สามารถที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ ก็เป็นสภาพธรรมที่เพราะไม่รู้ ทุกสิ่งทุกอย่างก็มืดหมดเลย หลงเข้าใจว่ามีเรา แต่ความจริงเป็นธรรม ซึ่งกำลังเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ค่อยๆ เข้าใจ แล้วทุกข์ก็จะค่อยๆ คลายลงตามลำดับ จนถึงดับหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ จากความเป็นปุถุชนผู้ไม่เคยฟังธรรม แล้วก็เป็นปุถุชนที่ได้มีความเข้าใจจากการฟังธรรม เป็นกัลยาณปุถุชน ปุถุชนที่รู้ว่าดีคืออย่างไร ความเข้าใจถูกไม่ใช่ความเข้าใจผิด ความรู้ดีกว่าความไม่รู้ ก็ค่อยๆ สะสมไป แต่ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ที่เรียนถามตั้งแต่ต้นว่าเรามักจะอยู่ในวังวนของความคิด เราก็เพลิดเพลินไปกับสิ่งอะไรต่างๆ ที่บางครั้งเราก็หมกมุ่น อยู่ในความรู้สึกอย่างนั้น แล้วเราก็จะไม่รู้ตัว จะเพลินไปเรื่อยๆ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะหยุดได้ แต่หาวิธีหยุดไม่ค่อยได้

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ความเพลิดเพลินเป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    12 ก.พ. 2568