ปกิณณกธรรม ตอนที่ 979


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๙๗๙

    สนทนาธรรม ที่ สำนักงานเขตพระโขนง

    วันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙


    ท่านอาจารย์ อกุสลา ธัมมา อกุศลทั้งหมดก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นอกุศลธรรม แล้วอะไรมาจากไหน อัพยากตา ธัมมา ธรรมที่ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล อ แปลว่าไม่ อัพยากตะ ไม่พยากรณ์ เพราะสิ่งนั้นไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล จะบอกว่าเป็นกุศลก็ไม่ได้ จะบอกว่าเป็นอกุศลก็ไม่ได้ อย่างเสียงอย่างนี้ เสียงดี เสียงหวาน เสียงเพราะ ดีไหม เป็นกุศลหรือเปล่า เสียงเป็นกุศลไม่ได้เลย เสียงต้องเป็นธรรมที่ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล จึงเป็นอัพยากตธรรม นี่ชาวพุทธ ไม่ใช่ว่าไม่ไตร่ตรอง แล้วก็ข้ามอยากจะรู้ไม่ได้เลย อยากเมื่อใดให้รู้ว่าปัญญาเท่านั้น จึงสามารถจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพที่ติดข้อง เป็นโลภะซึ่งมีทั้งวันเลย แต่ต้องเป็นปัญญาจึงเห็นว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง ติดข้องนิดๆ หน่อยๆ ก็ดูจะไม่น่าเกลียดใช่ไหม ติดข้องมากๆ เริ่มอยากได้โน่นอยากได้นี่ ได้ในทางที่ไม่สุจริต เป็นทุจริตต่างๆ ก็เพราะโลภะ ธรรมที่เป็นฝ่ายไม่ดี ก็ต้องไม่ดีตลอด จะดีไม่ได้เลย นี่คือให้ชาวพุทธได้เริ่มเห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นใคร ผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริงที่ละเอียดยิ่งโดยประการทั้งปวง และถ้าจะเป็นชาวพุทธก็คือว่า ผู้ที่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยความไม่ประมาทที่จะเริ่มเข้าใจถูกเห็นถูกว่านี่เป็นคำที่จริง ตรงรู้ได้จากการที่ผู้ตรัสรู้ได้ทรงแสดงไว้ แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ละคำเห็นไหม จะกล่าวถึงลักษณะของอุบาสกมีตั้งหลายคำ แต่ว่าแต่ละคำต้องเริ่มต้นจากคำว่า ธรรมไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง คือปัจจุบันผมเห็นว่า หลายวัด หลายสำนัก ที่มี

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ก่อน หลายวัดหลายสำนัก วัดคืออะไร เห็นไหม แค่นี้ต้องถามด้วยหรือ ชาวพุทธ วัดไม่ใช่ภาษาบาลี ไม่ใช่ชาวมคธเขาพูดกัน แต่ละเมืองก็มีภาษาของตนของตน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงธรรมเป็นภาษาไทย แต่ทรงแสดงกับชาวมคธ เขาใช้ภาษาของเขา ก็ต้องใช้ภาษาของเขาด้วย เพราะฉะนั้นคำว่าวัดเป็นภาษาไทย ถ้าเป็นภาษาบาลีใช้คำว่า "อารามะ" คนไทยเรียกว่าอารามที่ที่รื่นรมย์ด้วยความสงบ ไม่ใช่รื่นรมย์ด้วยมหรสพ คึกคัก ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่รื่นรมย์ แต่ต้องรื่นรมย์ด้วยความสงบ ถ้าสงบไม่มีอะไรกวนเลย สบายไหม เห็นไหม ไม่มีอะไรรบกวนเลย ให้เดือดร้อน สบายไหม เพราะฉะนั้นไม่เดือดร้อนไม่มีใครรบกวน เพราะกำลังฟังธรรม กำลังเข้าใจธรรม กำลังเจริญอบรมปัญญา นั่นคือความหมายของอาราม ภาษาไทยใช้คำว่าวัด เพราะฉะนั้นรู้ว่าวัดคืออะไร ที่อยู่ของผู้สงบจากกิเลส โดยได้รับการอุปสมบท โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานอนุญาตให้ผู้ที่มีศรัทธาที่เข้าใจธรรม จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตได้อยู่อาศัย เพราะผู้นั้นเป็นผู้ที่ละอาคารบ้านเรือนแล้ว พระภิกษุอยู่บ้านได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ที่เราใช้คำว่าวัด คือที่อยู่ของผู้ที่ละอาคารบ้านเรือน เพื่อขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ต้องเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เพราะฉะนั้นวัดไหนมีมหรสพเป็นอารามหรือเปล่า เป็นที่อยู่ของพระภิกษุหรือเปล่า ไม่ นี่คือชาวพุทธผู้รู้ที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง และเป็นผู้ที่ตรงด้วย สิ่งใดที่ไม่ถูกก็ต้องไม่ถูก จะกล่าวว่าถูกไม่ได้เลย ถ้าได้ยินคำว่าสำนักปฏิบัติเข้าใจว่าอย่างไร บ่อยเลยใช่ไหม สำนักปฏิบัติเข้าใจว่าอย่างไร ใครไม่เคยได้ยินคำนี้บ้าง ได้ยินแต่เข้าใจว่าอย่างไร แล้วถูกหรือผิด นี่เป็นสิ่งซึ่งชาวพุทธผู้ที่ศึกษาธรรมต้องรู้ถูกต้อง จึงจะเป็นชาวพุทธได้ เพราะฉะนั้นสำนักปฏิบัติเข้าใจว่าอย่างไร และความเข้าใจนั้น ถูกหรือผิด เพราะอะไร

    ผู้ฟัง คือแต่ก่อนผมเข้าใจว่า เป็นสถานที่ให้อุบาสกอุบาสิกาที่มีความใฝ่ทาง

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน แม้แต่อุบาสกอุบาสิกาคือใคร เห็นไหม ทุกคำขาดไม่ได้เลย เป็นการที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า พระศาสนาลึกซึ้งละเอียด และก็ตรง คนตั้งมากมายไม่ฟังพระธรรมเลย เป็นอุบาสกอุบาสิกาหรือเปล่า ไม่เป็น เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่าชาวพุทธต้องเป็นผู้ตรง แม้แต่คำว่าอุบาสกอุบาสิกาก็ต้องเป็นผู้ตรง ตอนเป็นเด็กๆ ใครบอกว่าเป็นอุบาสิกา รู้สึกอย่างไร โบร่ำโบราณ แต่ความจริงไม่ใช่อุบาสิกา ก็ไม่รู้จักธรรม ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้เข้าใกล้คำสอนเลย แล้วจะเป็นอุบาสิกาได้อย่างไร เพราะฉะนั้นอุบาสกอุบาสิกา ต้องหมายความถึงผู้ที่มีศรัทธา เห็นไหม ๒ คำ ที่จะเห็นคุณประโยชน์ของคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเข้าไปนั่งใกล้เพื่อฟังให้เข้าใจ จึงจะเป็นอุบาสก หรืออุบาสิกา ทุกคำต้องเข้าใจให้ชัดเจน

    ผู้ฟัง เป็นผู้เข้าไป เหมือนกับมีความใฝ่ที่จะรู้ธรรม แล้วก็เข้าไปปฏิบัติ ณ สถานที่นั้นๆ

    ท่านอาจารย์ ก็ใช้คำที่ไม่รู้จัก

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าถามว่าปฏิบัติคืออะไร ตอบว่าอย่างไร สำนักปฏิบัติ สำนักคือที่อยู่ ไม่ว่าใครอยู่ที่ไหน สำนักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับที่ไหนที่นั่นเป็นสำนัก เพราะฉะนั้นสำนักคือที่อยู่ เพราะฉะนั้นสำนักปฏิบัติ หมายความว่าอย่างไร ไม่รู้ใช่ไหม ชาวพุทธหรือเปล่า เห็นไหม เริ่มรู้ตัวว่าเป็นชาวพุทธหรือเปล่า เมื่อได้ฟังแล้วเป็นผู้ที่ตรงว่า เป็นชาวพุทธต้องเข้าใจถูกต้องในแต่ละคำ ไม่อย่างนั้นไม่ใช่ชาวพุทธ เรียกตัวเองว่าชาวพุทธ แต่ไม่ใช่เพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะใช้คำที่ไม่รู้ต่อไปไหม ถ้าใช้ก็ผิดใช่ไหม เพราะไม่รู้ ก็ใช้คำที่ไม่รู้ แล้วจะมีประโยชน์อะไร เพราะฉะนั้นเริ่มเป็นชาวพุทธจริงๆ

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจของผม สำนักปฏิบัติธรรม ก็คือสถานที่ที่เราไปทำความดี ประพฤติปฏิบัติให้ดี

    ท่านอาจารย์ ทำอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็อาจจะไปนั่งสมาธิหรือว่า

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน สมาธิคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คือทำจิต ให้นิ่ง ให้นิ่ง แล้วก็อย่าไปวอกแวก

    ท่านอาจารย์ แค่นี้ ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระองค์ตรัสว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    ผู้ฟัง ครับ

    ท่านอาจารย์ ใครทำได้ เวลานี้เห็นใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ทำให้เห็นเกิดหรือเปล่า หรือเห็นเกิดแล้ว ต้องตรงเห็นไหม ชาวพุทธต้องรู้ตรง ขณะนี้เห็น ทำเห็นให้เกิด หรือว่าเห็นเกิดแล้วไม่ได้ทำ แต่มีปัจจัยที่จะเห็น เห็นจึงเกิดได้ ถ้าตาบอดเดี๋ยวนี้ เห็นเกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเราหลับตา เราก็ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตหรือธาตุรู้ ที่เข้าใจว่าเป็นเรา ตาจะหลับได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็หลับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราไม่ได้รู้เลย เข้าใจว่าสิ่งที่มีเป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่ง ตาของใคร เกิดมี เราทำให้เกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิดมาตั้งแต่ท้องแม่

    ท่านอาจารย์ เราไม่ได้ทำใช่ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ทำ

    ท่านอาจารย์ แล้วมี แล้วเป็นของเราหรือ ดับไปแล้ว ตาบอดแล้ว ของเราหรือเปล่า เรายึดถือสิ่งที่ไม่ใช่ของเรา เพราะไม่รู้ว่าเป็นเรา และเป็นของเรา และอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา เช่น จะหลับตาไม่ให้เห็น เข้าใจว่าอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าอย่างนั้น บังคับได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเริ่มพื้นฐานที่มั่นคงที่สุด คือเข้าใจธรรมว่ามีจริงๆ แต่เกิดจึงปรากฏว่ามี ถ้าไม่มีเสียง ไม่มีได้ยิน ไม่มีอะไร ใช่ไหม แต่เวลาที่เสียงปรากฏ ต้องมีได้ยิน ถ้าไม่มีได้ยิน เสียงปรากฏไม่ได้ และถ้าไม่มีของแข็งกระทบกัน เสียงก็ปรากฏไม่ได้ อยู่ดีๆ เดี๋ยวนี้ทำให้เสียงเกิด เป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อมีปัจจัยที่จะเกิดจึงเกิดได้ เริ่มเป็นคนที่มีเหตุผล เริ่มเป็นคนที่เข้าใจความจริง เริ่มเป็นผู้ที่รู้ว่าความรู้เป็นสิ่งที่รู้ สิ่งที่มีนี่เอง แต่ต้องโดยการฟังคำของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ ซึ่งเพราะพระปัญญานั้นทำให้ทุกคนมีพระองค์ คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เพราะทรงแสดงพระธรรมเป็นที่พึ่ง เพื่อให้ถึงการดับกิเลสเป็นที่พึ่ง พระรัตนตรัย ต้องละเอียดมาก และต้องตรงตั้งแต่ต้น

    สนทนาธรรมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙

    อ.คำปั่น ความสำคัญของการมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมว่า จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างไรกับทุกชีวิต แม้จะเป็นนักศึกษา เป็นเบื้องต้น

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่าพระพุทธศาสนา มีใครสงสัยไหม หรือไม่สงสัยเลย ได้ยินคำว่า พุทธศาสนาไม่สงสัยเลย แต่เข้าใจไหม ไม่เข้าใจใช่ไหม เพราะฉะนั้นศาสนา หมายความถึงคำสอนของใครก็ได้ เพราะฉะนั้นไม่ได้มีศาสนาเดียว แล้วแต่ว่าใครคิดว่าเขาเข้าใจอะไร อะไรจะเป็นประโยชน์ และเขากล่าวคำที่มีประโยชน์กับคนอื่น และคนอื่นเห็นว่ามีประโยชน์ ก็คล้อยตามกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นแต่ละศาสนาต่างๆ กัน แต่สำหรับคนไทยเราที่ชินหูมากก็คือพระพุทธศาสนา แสดงว่าได้ยินคำว่ามีคำว่าพุทธะ แต่ว่าเข้าใจไหมว่า พุทธะคืออะไร พุทธะคือผู้รู้ ผู้ทรงตรัสรู้ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าใครๆ ก็ไม่รู้ ถูกต้องไหม ถ้าใครๆ รู้หมดเป็นผู้รู้ ก็ไม่ต้องมีผู้ที่ตรัสรู้หรือผู้รู้ แต่พอใช้คำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่คนธรรมดาเหมือนคนอื่นซึ่งไม่รู้ แต่ต้องเป็นคนที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่ทุกคนกราบไหว้ตั้งแต่เด็กจนตาย ไม่ว่าใครที่ไหน แสดงว่าต้องมีสิ่งที่พิเศษ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำอย่างนั้นเพราะอะไร ได้แต่ทำตามๆ กันไป ถูกต้องไหม ถ้าถามว่าพระพุทธศาสนาคืออะไร จะตอบได้ไหม ศาสนาคือคำสอน พุทธะของผู้ที่รู้ จนกระทั่งถึงดับกิเลสเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้แค่นี้ ยังไม่ชื่อว่ารู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพียงแค่ได้ยินชื่อ และความหมายของคำว่าพุทธะ

    เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจอะไร ไม่ว่าจะศึกษาอะไรทั้งหมด ต้องเป็นผู้ที่รู้จริง งูๆ ปลาๆ นิดๆ หน่อยๆ เป็นอันตรายอย่างยิ่ง แต่ว่าถ้ามีความเข้าใจจริงๆ สามารถที่จะพ้นจากภัยอันตรายได้ แม้พระพุทธศาสนา ถ้าฟังเพียงผิวเผินหรือว่าคิดว่า พระพุทธศาสนาคงไม่มีอะไร แค่เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องธรรมดาๆ ที่ได้ยินกัน นั่นไม่ใช่ผู้ที่เป็นผู้ที่ทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้นต้องมีความเข้าใจตั้งแต่ขณะนี้ว่า ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีใครเปรียบได้เลย สมควรแก่การที่จะใช้คำว่าพระพุทธเจ้า พุทธะคือผู้รู้ พุทธเจ้าคือผู้ที่รู้ยิ่งกว่าบุคคลใด และก็เป็นพระอรหันต์ด้วย ความรู้นั้นไม่เหมือนความรู้ทางวิชาการทางโลกที่เราเข้ามหาวิทยาลัย รู้แล้วก็ไปทำมาหากิน แต่ความรู้จักพระสัมมาพระพุทธเจ้า รู้ในความเป็นผู้รู้ จะทำให้เราสามารถที่จะมีความสุขกว่าคนที่จบมหาวิทยาลัย มีการงานที่มั่นคง มีอาชีพ มีทุกอย่าง แต่เป็นผู้ที่ทุจริต หรือว่าเป็นผู้ที่มีความทุกข์ มีมากมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เรียนแล้วเป็นทุกข์ หรือว่าเรียนแล้ว ก็เพียงแต่ไปหาเงินทำมาหากิน มีอาชีพต่างๆ แต่คำใดที่รู้แล้ว จะทำให้บุคคลนั้นพ้นจากความไม่รู้ และทำให้เห็นประโยชน์ว่า ทุกอย่างไม่มีอะไรมีประโยชน์เท่าพระพุทธศาสนา แค่นี้ฟังอย่างนี้ก็เผินมากแล้ว เพียงแต่ให้เราเริ่มตระหนักในคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และคำสอนของพระองค์คือพระพุทธศาสนา

    เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าเราไปรู้แล้ว แต่ว่าเราต้องศึกษาด้วยความเคารพแต่ละคำที่จะเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นคำถามซ้ำ รู้จักพระพุทธศาสนาไหม รู้จักหรือ ถ้าอย่างนั้นขอเชิญผู้ที่รู้จักช่วยตอบว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนอะไร เพราะเป็นพระบรมศาสดา เป็นผู้ที่ทรงตรัสรู้ เป็นผู้ที่ทรงแสดงความจริง ที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้วให้คนอื่นได้รู้ตามด้วย เพราะฉะนั้นผู้ที่บอกว่า รู้จักพระพุทธศาสนาแล้ว ตอบ พระพุทธศาสนาสอนอะไร จะได้รู้ว่ารู้จริงๆ รู้มากน้อยแค่ไหน เพราะคำว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งหมดแม้มนุษย์กี่โลก เทวดา พรหม ไม่สามารถที่จะรู้อย่างที่พระองค์ทรงตรัสรู้ เหนือบุคคลใดทั้งสิ้น นี่เป็นสิ่งที่จะต้องตระหนัก แล้วก็มีโอกาสที่จะได้ฟังคำที่พระองค์ทรงแสดงจากการที่ทรงตรัสรู้ด้วย เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่ไม่ประมาท ที่จะไม่ใช่ว่ารู้จักพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ต้องรู้ว่าถ้ารู้จักพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาสอนให้เข้าใจอะไร เห็นไหม เผินไม่ได้เลย ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้น จะเป็นคนดี เผินได้ไหม จะเป็นคนดีดีเผินได้ไหม ต้องมาจากดีแล้วจึงจะดีขึ้น จนกระทั่งถึงดีดีได้

    เพราะฉะนั้นทุกอย่างประมาทไม่ได้เลย การที่เราเห็นคนที่ได้รับโทษภัยต่างๆ เพราะความประมาททั้งหมด ประมาทที่จะคิดว่ายาเสพติดเป็นเรื่องเล็ก แค่ครั้งเดียวสองครั้งคงไม่เป็นไร แต่ก็จะเห็นได้ว่าโทษมากมายเพราะความประมาท เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น ถ้าเป็นไปด้วยความประมาท สิ่งนั้นเป็นอันตราย ถ้าประมาทในพระพุทธศาสนา ไม่ศึกษาให้ลึกซึ้ง ไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ก็เป็นอันตราย เพราะฉะนั้นจะมีใครตอบไหมตอนนี้ พระพุทธศาสนาคืออะไร แล้วรู้จักพระพุทธศาสนาแล้วหรือยัง หรือว่าได้ยินคำนี้บ่อยๆ แล้วบอกว่า นับถือพระพุทธศาสนาเป็นชาวพุทธ ยังไม่ได้เข้าใจพระพุทธศาสนา แต่ถ้าเข้าใจจะรู้ว่าแม้แต่ทุกคำที่พูด ต้องตรง และจริง ถ้ากล่าวว่ารู้จักพระพุทธศาสนาเพียงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงแสดงพระธรรม จึงเป็นพุทธศาสนา แค่นี้ไม่พอ แล้วก็เพียงผิวเผิน คิดว่ารู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิดๆ หน่อยๆ ก็ยังไม่พอ เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว รู้จักแค่ไหน ตอนนี้เริ่มรู้หรือยัง รู้จักพระพุทธศาสนาแค่ไหน เริ่มรู้สึกตัวหรือยัง รู้จักมากไหม ไม่รู้จัก ถูกต้อง

    เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ไม่รู้ ก็รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่รู้ เพราะฉะนั้นควรรู้ไหม ที่สำคัญที่สุด เรียนจบชีวิตดีดี ต่างตรงไหน ดีตรงไหน เห็นไหม ไม่ใช่ว่าต้องการเพียงแต่จะตอบ แต่ต้องเป็นเรื่องไตร่ตรอง ทั้งหมดที่ฟังไม่ใช่ความรู้ของคนอื่น แต่ต้องจากการได้ยินได้ฟัง ประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจของตนเอง มิฉะนั้นจะเสียเวลาแต่ละนาทีไป โดยที่ว่าฟังแล้วก็ไม่ได้เข้าใจอะไรของตนเอง เพราะฉะนั้นทั้งหมดต้องเป็นการไตร่ตรอง เดี๋ยวนี้ดีดีหรือเปล่า ยังใช่ไหม เพิ่งก้าวเข้ามาเป็นนักศึกษาปีที่ ๑ ยังไม่ดีดีหรือ เพราะฉะนั้นเรียนจนจบแล้วดีดีหรือยัง เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปีที่ ๑ จนถึงจบ จนถึงทำงานดีดีตอนไหน อย่างที่ท่านที่กล่าวเมื่อสักครู่นี้ มีบ้านใหญ่กลางเมือง มีทุกสิ่งทุกอย่างเพียบพร้อม แล้วก็ดีจริงๆ หรือเปล่า แล้วก็ดีตอนไหน ถ้าเป็นคนทุจริต เพียงแค่เป็นคนไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นใคร วัยไหนอยู่ที่ไหนก็ตาม ทุกคนก็ตราหน้าว่าไม่ดี คนนี้ไม่ดีเพราะการกระทำที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นดีดีไม่ใช่ไปอยู่ที่เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อยู่ที่คุณความดี

    อ.คำปั่น ขออนุญาตกล่าวถึงความหมายของบัณฑิต บัณฑิตหมายถึงผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่ดำเนินไปด้วยปัญญา ปัญญาก็คือความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นความเป็นบัณฑิต ก็คือความเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ผู้ที่เป็นบัณฑิต เมื่อคิดก็คิดแต่สิ่งที่ดี เมื่อพูดก็พูดสิ่งที่ดี มีประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้อื่น เมื่อกระทำก็กระทำในสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ แค่คำเดียวก็จะต้องไตร่ตรองว่าเข้าใจจริงๆ หรือเปล่า เพื่อที่จะรู้ความต่างกันของผู้รู้ ผู้ทรงตรัสรู้ กับผู้ไม่รู้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าถ้าไม่ได้มีการฟัง ความละเอียดคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีผู้ที่คิดว่าเขารู้ แต่ว่าตามความเป็นจริง แต่ละคนก็ต้องไตร่ตรอง เพื่อประโยชน์ของตนเองว่า รู้อะไร แล้วก็แม้แต่แต่ละคำที่พูดตั้งแต่เกิดจนตายเลย เข้าใจหรือเปล่าว่าคืออะไร ง่ายๆ เช่น คำว่าดี ไม่มีใครไม่รู้ใช่ไหม เคยได้ยินกันทุกคน แต่บอกว่าดีคืออะไร และเมื่อไหร่ดี ดูเหมือนคำถามง่ายๆ ใช่ไหม แต่เป็นความจริง เพราะเหตุว่าทุกคนเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ของความดี แล้วจะดีหรือไม่ดีได้อย่างไร ทุกคนคิดว่าดีนะดี แต่ว่าจะดีได้อย่างไร ถ้าไม่รู้ว่าดีคืออะไร เพราะฉะนั้นก่อนอื่นต้องเป็นคนที่ละเอียดจริงๆ ที่จะเริ่มแต่ละคำ จึงจะเป็นบัณฑิตหรือผู้รู้จริง ไม่ใช่เพียงผู้ฟังเผินๆ แล้วก็คิดว่ารู้แล้ว เพราะฉะนั้นแต่ละคำต้องเข้าใจ ดีคืออะไร ยกตัวอย่างได้ไหม วันนี้ดีหรือยัง เห็นไหม ถ้าเราไม่พูดถึงสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน แล้วเราจะพูดถึงอะไร เพราะว่าสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละวันแต่ละวัน ยังไม่รู้แล้วจะไปรู้อะไร

    เพราะฉะนั้นแต่ละคำที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน เราก็ควรที่จะเข้าใจยิ่งขึ้น เช่น ดี พูดถึงเรื่องดีแค่คำเดียว วันนี้ตั้งแต่เช้ามาดีหรือยัง เห็นไหม จะเป็นคนดี จะเป็นบัณฑิต แต่ว่ารู้หรือเปล่าว่า ตั้งแต่เช้ามาดีบ้างหรือยัง ถ้าตอบตามตรง หมายความว่ารู้จักคำว่าดี แต่ถ้ายังตอบไม่ได้ ก็คือว่าพูดทั้งวันเรื่องดี แต่ไม่เข้าใจว่าดีคืออะไร ก็ไม่มีประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นการศึกษาทุกอย่างต้องเข้าใจจริงๆ โดยเฉพาะการศึกษา เรื่องของแต่ละคนจริงๆ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ให้แต่ละคนได้มีความเห็นถูก ได้มีความเข้าใจถูกในชีวิตซึ่งเกิดมาแสนสั้น ไม่มีใครรู้ว่าจะจากโลกนี้ไปเมื่อใดเลย เด็กๆ ก็จากโลกนี้ไปได้ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่มีใครบอกล่วงหน้าเลย จะอยู่ยืนยาวไปถึงร้อยปีก็ได้ ไม่ถึงก็ได้ แล้วระหว่างนั้นดีคืออะไร และดีหรือเปล่า เพราะว่าชีวิตก็คือหนึ่งขณะ ค่อยๆ พ้นไปทีละหนึ่งขณะ แล้วขณะไหนดี แค่นี้ แค่เกิดมาได้ยินคำนี้ แต่บอกได้ไหมว่า วันนี้ดีแล้วหรือยัง ดีหรือไม่ดี เห็นไหม เพราะไม่รู้ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำธรรมดา แม้เพียงคำง่ายๆ คำเดียวก็ยังไม่รู้ แล้วจะรู้ได้อย่างไร รู้ได้จากผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ผู้เดียวคือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่สามารถจะมีคนอื่นบอกได้เลย แต่ว่าเราผ่านคำนี้เหมือนกับว่าเรารู้จักพระสัมมาพระสัมพุทธเจ้า แต่ความจริงไม่รู้เลย แม้แต่คำว่าดีคำเดียว ยังไม่รู้เลย แล้วจะรู้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอะไรบ้างได้ไหม ทุกคนเห็นประโยชน์ของความเป็นคนดี แล้วคำถามนี้ไม่น่าสนใจหรือ ที่จะคิดว่าตั้งแต่เช้ามาดีบ้างไหม ตั้งแต่เช้ามาไม่ดีตลอดมาใช่ไหม ก็ไม่มีคำตอบ เพราะไม่รู้ ตั้งแต่เช้าดีบ้างไหม ตั้งแต่เช้าไม่ดีบ้างไหม ก็ยังไม่รู้เลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 180
    26 ธ.ค. 2567