ปกิณณกธรรม ตอนที่ 60


    ตอนที่ ๖๐

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ เวลาที่ปัญญาเกิด ปัญญาสามารถที่จะระลึกลักษณะของโลภะเมื่อเห็นสี หรือว่าโทสะเมื่อเห็นสีก็ได้ เพราะอะไร เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ จากการที่บำเพ็ญพระบารมี ทำให้สามารถที่จะมีโพธิปักขิยธรรมรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อตรัสรู้อย่างไรก็ทรงแสดงอย่างนั้น ไม่ใช่อย่างผู้ที่ไม่ตรัสรู้ นี่เป็นความต่างกันของคำว่า ตรัสรู้ กับ คิดเอา ถ้าเป็นศาสดาอื่นจะสอนเรื่องอะไรก็ตามแต่ ก็คิดเอาหมด แต่ผู้ที่ตรัสรู้ไม่ใช่คิดแล้วสอน แต่เมื่อตรัสรู้คือประจักษ์ลักษณะนั้นตามความเป็นจริงอย่างนั้น จึงได้สอนอย่างนั้น

    ผู้ฟัง การที่พระองค์ทรงตรัสรู้ พระองค์ก็ทรงสะสมปัญญา โดยเฉพาะเรื่อง สุตมยปัญญา มามาก ฉะนั้นจึงรู้เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอกุศล รู้เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดกุศล เหตุปัจจัยใดที่เป็นอกุศลก็ควรละ เหตุของปัจจัยที่เป็นกุศลก็ควรเจริญ

    ท่านอาจารย์ แล้วใครละ แล้วใครเจริญ

    ผู้ฟัง ปัญญาละอกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้น รู้ลักษณะของปัญญาหรือเปล่า หรือว่าเป็นตัวเราที่คิดว่าเรามีปัญญา

    ผู้ฟัง ปัญญาเกิดจากปัจจัย และปัญญาก็ทำหน้าที่

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเกิดจากปัจจัย ไม่มีอะไรเลยที่ไม่ได้เกิดจากปัจจัย สังขารธรรม ธรรมซึ่งมีการปรุงแต่งเกิดขึ้น มีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้นทุกอย่าง

    ผู้ฟัง โดยปกติธรรมดาแล้ว คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่า เรามีปัญญา และไม่รู้ด้วยว่าปัญญาเกิดจากปัจจัยจริงๆ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาอะไรที่คนทั่วไปรู้

    ผู้ฟัง ปัญญาคิดว่าฉันรู้

    ท่านอาจารย์ รู้อะไร

    ผู้ฟัง รู้ว่า นี่คือเรา นั้นคือเขา

    ท่านอาจารย์ นั้นไม่ใช่ปัญญาเลย นั่นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง ปัญญาที่พุทธเจ้าตรัสรู้จึงแตกต่างกับปัญญาของคนทั่วไป

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเจตสิก ไม่ใช่รู้ว่า นั่นคือเรา นั่นคือเขา

    ผู้ฟัง กำลังพูดความแตกต่างของปัญญา

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวถึงไม่ใช่ปัญญา รู้ว่านั้นเป็นเรา นี่เป็นเขา ไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง กำลังกล่าวถึงว่า ปัญญาของพระพุทธเจ้ากับปัญญาคนทั่วไป ที่เข้าใจว่าตัวเองมีปัญญา เข้าใจผิด คนที่เข้าใจผิดอย่างนี้นี่เข้าใจว่าตัวเองมีปัญญา แต่พระพุทธเจ้าไม่เข้าใจอย่างนั้น เข้าใจว่านี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้การดับทุกข์

    ท่านอาจารย์ อะไร เป็นทุกข์ นี้ทุกข์ คืออะไร

    ผู้ฟัง รูป เวทนา สัญญา

    ท่านอาจารย์ รูปเป็นทุกข์อย่างไร

    ผู้ฟัง รูปเป็นทุกข์ เพราะเป็นภัย ไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า รูปเกิดขึ้นแล้วดับไป ประจักษ์การเกิดดับของรูป ไม่ใช่คิดเอาว่ารูปเกิดดับ ทุกคนคิดเอาได้ว่ารูปเกิดดับ เสียงก็เกิดแล้วก็ดับ เราธรรมดาวันนี้แข็งแรงดี พรุ่งนี้ป่วยไข้ ก็ไม่เที่ยง ก็คิดเอาอย่างนั้น แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้เพียงคิด แต่สามารถประจักษ์แจ้ง นี่คือการตรัสรู้ ต้องรู้จริงๆ ว่าการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นคืออย่างไร ไม่ใช่คิดเลย เป็นการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งขณะนี้มี เราเห็นตลอดแต่เราไม่เคยรู้ เพราะไม่สามารถที่จะมีสติ และปัญญารู้ความจริงของเห็น จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เมื่อตรัสรู้อย่างไร ก็ทรงแสดงธรรมตามที่ได้ตรัสรู้ และทรงแสดงหนทางให้อบรม ให้เข้าใจให้ถูกต้อง เป็นจิรกาลภาวนา จึงสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ ไม่ใช่โดยขั้นคิดเอา

    ผู้ฟัง อย่างเช่นว่า ที่ได้ยกพระสูตรจาก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค มาเมื่อวานนี้ว่า พระพุทธองค์ตรัสว่า บุคคลบางคนอาจจะเห็นรูปว่าเที่ยงได้บ้าง แต่รูปจริงๆ ไม่เที่ยง อาจจะเห็นรูปว่าเที่ยงได้บ้าง เพราะว่าตั้งอยู่ ๑ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๑๐ ปีบ้าง

    ท่านอาจารย์ ถึงไม่ทรงแสดงคนอื่นก็รู้

    ผู้ฟัง แล้วพระองค์ตรัสต่อไปว่า จิต ทุกคนไม่พึงเห็นว่าเที่ยง เพราะว่าเกิดแล้วดับ

    ท่านอาจารย์ ใครเป็นคนเห็นจิตเกิดดับ

    ผู้ฟัง พระองค์ตรัสให้ภิกษุ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า พระองค์ตรัสรู้ลักษณะของจิตที่เกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง ใช่ แต่รูป ทรงตรัสให้คิดตาม เหมือนกับว่า รูปนั้นไม่เที่ยง เพราะว่าเมื่อก่อนนี่อายุ ๑๖ ปีต่อมาแก่เฒ่า

    ท่านอาจารย์ นั้น โดยนัยของพระสูตร

    ผู้ฟัง พระสูตร กับ พระอภิธรรม ไม่เนื่องด้วยกันหรือ

    ท่านอาจารย์ ต้องสอดคล้องกัน นัยของโวหารเทศนา ที่จะแสดงให้คนเห็นว่า ที่เราจะเห็นความไม่เที่ยง ต่อเมื่อเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กไปสู่วัยหนุ่มสาว จากวัยหนุ่มสาวไปสู่ความแก่ หรือความเจ็บ ความตาย แต่ว่าโดยนัยของพระอภิธรรมละเอียดกว่านั้นมาก จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะแก่ ไม่ว่าจะเด็ก ไม่ว่าจะหนุ่ม ไม่ว่าจะสาว ถ้าไม่มีรูปก็ไม่สามารถจะปรากฏความแก่ ถ้าไม่มีนามขณะนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่มีชีวิต

    ผู้ฟัง ท่านตรัสว่า ชั่วลัดนิ้วมือหนึ่ง จิตเกิดดับแสนโกฏิขณะ แล้วรูปก็เกิดช้ากว่าจิต แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า แสนโกฎิขณะอยู่ที่ใด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องให้นับ แต่เป็นเรื่องที่ขณะนี้ปัญญาของเราต้องเจริญตามลำดับด้วย เพียงแค่ว่าทุกอย่างเป็นธรรม เรารู้จริงๆ หรือเปล่า ถ้าเรายังไม่รู้จริงๆ ทำไมเรารู้ตอนต้นแล้วเราจะไปรู้แสนโกฎิขณะ

    ผู้ฟัง นี่กำลังจะสาวไปถึงว่า ปัญญาที่รู้ รู้อย่างไร รู้อะไร

    ท่านอาจารย์ การศึกษาพระไตรปิฏกต้องทราบว่า ศึกษาพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ที่ศึกษาสามารถที่จะรู้จักตัวเองว่า ปัญญาของเราระดับไหน ระดับที่จะไปรู้อย่างพระพุทธเจ้าทั้งหมดที่ทรงแสดง หรือว่าระดับที่เราสามารถจะเริ่มฟัง เริ่มพิจารณา เริ่มสะสมความเข้าใจที่ถูกต้องว่า สภาพธรรมนี้ไม่ใช่นึกเอา มีสภาพจริงๆ เป็นธรรมจริงๆ มีลักษณะจริงๆ แต่ละอย่าง ที่ทรงแสดงไว้ไม่ว่าจะเป็นโดยลักขณาทิจตุกะ โดยลักษณะ โดยกิจการงาน โดยอาการปรากฏ หรือว่าโดยเหตุใกล้ให้เกิด ก็คือด้วยพระมหากรุณาที่ทรงแสดงประการทั้งปวง ที่จะให้เห็นว่าสภาพธรรมนั้นมีจริงๆ และมีลักษณะอย่างนั้น เพื่อที่ว่าเราจะได้สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่ขั้นคิด และไม่ใช่ขั้นเข้าใจว่ามีปัญญาแล้ว แต่ว่าแท้ที่จริงขณะนี้จิตก็เกิดดับ เช่น จิตเห็น ก็เกิดดับไปมากมาย จิตคิดก็เกิดดับไปมากมาย เราก็มานั่งคิดถึงจิตคิด มานั่งคิดถึงจิตเห็น โดยที่สติปัฏฐานไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพเห็นซึ่งเกิดแล้วก็ดับจริงๆ

    ผู้ฟัง สภาพเห็นนี่ เป็นรูป หรือเป็นนาม หรือจักขุวิญญาณที่ปัญญาจะไปรู้

    ท่านอาจารย์ เห็น มีรูปร่าง หรือใช่

    ผู้ฟัง เห็น เพราะจักขุวิญญาณเห็น

    ท่านอาจารย์ เห็น มีรูปร่างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็น เกิดจากปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เห็น มีรูปร่างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็น ไม่มีรูปร่าง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็น ไม่ใช่รูปธรรม

    ผู้ฟัง ตอนใส่ใจโดยปัญญา ใส่ใจที่ไหน

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ รู้ว่า ธาตุรู้ มี ธรรมดาเวลาที่เราพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในโลก เรากำลังพูดถึงสิ่งที่ปรากฏ เราไม่ต้องหนีจากตรงนี้ไปหาที่ไหนเลย แต่ว่าสภาพธรรมที่มีจริงขณะนี้ มีจริงๆ ไม่หลอกลวง ไม่ต้องไปอ้างที่โน้นที่นี่ แต่ว่าสภาพธรรมขณะนี้ที่มีจริง เป็นธรรม จะไม่ประจักษ์การดับ และการเกิด เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะนั้นๆ ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเป็นธาตุแต่ละชนิด แต่เข้าใจว่าเป็นเรา ทั้งๆ ที่แข็งตรงนี้ทั้งหมด ก็ยังเข้าใจว่า เป็นแขนเรา เป็นเท้าเรา เป็นมือเรา เป็นศีรษะเรา ทั้งๆ ที่เป็นแข็ง ก็เข้าใจว่าเป็นเรา แต่ถ้ารู้จักความเป็นธาตุ ขณะนั้นไม่ใช่เราเลย ไม่มีเจ้าของ ไม่ใช่ของใคร พระธรรมที่ทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทรงแสดงโดยประการทั้งปวง ให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ จะใช้คำว่าธรรม หรือจะใช้คำว่าธาตุ ก็เหมือนกัน เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ยึดถือธาตุหนึ่งธาตุใดว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นเวลาที่ศึกษาจริงๆ ก็ต้องค่อยๆ เทียบเคียง โลภะมีลักษณะติดข้อง เกิดเมื่อไหร่ก็ติดข้องเมื่อนั้น ไม่ว่าจะเห็นก็ติดข้อง ไม่ว่าจะได้ยินก็ติดข้อง ไม่ว่าจะได้กลิ่นก็ติดข้อง ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ว่าจะคิดนึกก็ติดข้อง นั้นคือโลภะ สัตว์ มนุษย์ เทวดา ถ้าโลภะเกิด เอารูปร่างออกหมดเลย ลักษณะของโลภะก็เป็นอย่างนั้น ซึ่งไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด เป็นธาตุแต่ละชนิด นี่คือการฟังธรรม ใช้คำว่าธรรม ก็คือธาตุ การฟังธรรมก็คือ ฟังเรื่องธาตุต่างๆ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่า ธาตุกับธรรมมีความหมายอย่างเดียวกัน ขณะนี้ที่เคยเป็นเรา เราก็มาศึกษาเรื่องธาตุหรือธรรม ที่ทรงแสดงไว้ว่าธาตุทั้งหมด ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ อย่างหนึ่งเป็นธาตุที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ซึ่งทางภาษาบาลีใช้คำว่า “รูปธาตุ” ถ้ามีแต่เพียงรูปธาตุ ไม่มีการเดือดร้อน ไม่มีทุกข์ ภูเขาไฟจะระเบิด น้ำจะท่วม ก็ไม่มีใครไปรู้ไปเห็น ไม่มีธาตุรู้เลย สิ่งต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นเป็นไปตามอุตุซึ่งเป็นปัจจัย แต่ว่าไม่ใช่ในโลกนี้หรือสากลโลกจะมีแต่เฉพาะรูปธาตุ มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากรูปธาตุ คือ “นามธาตุ” เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งทันทีที่เกิดสามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องรู้ เป็นธาตุรู้ เช่น ขณะนี้กำลังเห็น ไม่ใช่ว่าไม่มีจิตเห็น เราไม่ใช่คนตาย คนที่ตายแล้วสิ้นชีวิตแล้วไม่มีจิต จึงไม่เห็น แต่ขณะนี้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะเหตุว่ามีธาตุซึ่งเป็นจิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นก็รู้ขณะนี้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ลักษณะอย่างนี้ เห็นอย่างนี้ นี่คือลักษณะของธาตุเห็น ถ้าเป็นเสียงที่ปรากฏก็มีธาตุที่ได้ยินเสียง จะกล่าวว่าไม่มีได้ยินไม่ได้ จะกล่าวว่ามีแต่เสียงไม่ได้ แต่ขณะใดที่เสียงปรากฏหมายความว่า ขณะนั้นต้องมีธาตุได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏได้ เพราะฉะนั้นทรงแสดงความเป็นอนัตตาให้เห็นว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็เป็นแต่เพียง นามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ถ้าเรามีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ เราก็จะรู้ได้ว่า ถ้าเราเพียงคิด ละกิเลสใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจะคิดเรื่องสภาพธรรม แต่ตัวสภาพธรรมจริงเกิดดับโดยไม่รู้เลยว่า เป็นธรรมที่มีลักษณะอย่างไร แต่ถ้ามีการอบรมเจริญปัญญาถึงระดับที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ และอบรมเจริญต่อไป ก็สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะเกิดดับ ซึ่งเป็นอนิจจลักษณะซึ่งเป็นทุกขอริยสัจจ์ได้ ก็เป็นเรื่องที่เป็นความจริง แต่ปัญญาจะต้องรู้จริงขึ้น จริงขึ้น จริงขึ้น จนกว่าจะประจักษ์อริยสัจจ์ได้ เพราะเป็นสัจจธรรม

    ผู้ฟัง ขอถามว่า ปัญญารู้ รู้ธาตุ จักขุธาตุหรือรูปธาตุ

    ท่านอาจารย์ แยกเป็น ๒ อย่าง ยังไม่ต้องมีชื่อใดๆ เลย ธาตุทั้งหมด ไม่เรียกชื่อออกเสียง ไม่ต้องเรียกชื่อ เสียงก็มี จะเรียกภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ได้หมด ได้ยินก็มี เป็นธาตุได้ยิน ซึ่งไม่ใช่เสียง เพราะฉะนั้นจะเรียกอะไรก็ได้อีก ไม่เรียกก็ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของธรรม ไม่มีชื่อไปติด ว่านี่เป็นรูปธาตุ ว่านั้นเป็นนามธาตุ แต่ลักษณะของรูปจะเป็นนามธรรมไม่ได้ ลักษณะของนามธรรมก็จะเป็นรูปไม่ได้ เมื่อมีความเข้าใจถูกต้องในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมจริงๆ เป็นสัจจญาณ ที่รู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ จริงๆ ว่า ทุกข์ลักษณะต้องหมายความถึงสภาพธรรมที่มี ที่เกิดแล้วดับ จึงเป็นทุกข์ ถ้ายังไม่ประจักษ์การเกิดดับก็ยังไม่ใช่การที่จะถึงความเป็นพระอริยบุคคล แต่ก่อนที่จะถึงการรู้การเกิดดับเป็นพระอริยบุคคลได้ ต้องอบรมเจริญปัญญาตั้งแต่ขั้นฟัง คือถ้าไม่มีการฟังเข้าใจ ไม่มีทางที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึก เพียงแต่คิดไปเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถที่จะรู้ตัวจริงของสภาพธรรมได้โดยคิด

    ผู้ฟัง โดยปกติธรรมดาแล้ว คนที่จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ก็ต้องรู้ด้วยว่าสภาพนั้นๆ ประกอบด้วยปัจจัยอะไร

    ท่านอาจารย์ นั้นคือคิด ยังไม่ทันรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมเป็นรูปธรรมเลย เพราะฉะนั้นวิปัสสนาญาณขั้นแรก จึงเป็น นามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ใช่ปัจจยปริคคหญาณ

    ผู้ฟัง คนที่ไม่รู้ว่า รูปไม่เที่ยง จักขุไม่เที่ยง จะละอะไร

    ท่านอาจารย์ ละความเป็นเรา ที่กำลังเห็น เพราะรู้ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งเกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง อันนี้ก็คิดหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้คิดถ้าประจักษ์ ขณะนี้สภาพธรรมเกิดดับ ทนต่อการพิสูจน์ สัจจธรรมเป็นความจริงที่ทนต่อการพิสูจน์ ผู้ที่เป็นพุทธบริษัทในครั้งพุทธกาล ฟังธรรมแล้วไม่เป็นโมฆะ เมื่อสามารถที่จะรู้ความจริงตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม เป็นโมฆะ เรียนมากเท่าไหร่ ๗ คัมภีร์ของพระอภิธรรม หรือว่าทั้ง ๓ ปิฏก แต่สติไม่เคยเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็เป็นเพียงขั้นคิด ก็เหมือนกับทัพพีที่ไม่รู้รสแกง ที่ทรงแสดงไว้ และก็เหมือนผู้ที่มีใบลานเปล่า คือพูดได้ บอกได้ อธิบายได้ แต่ว่าไม่รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม เมื่อธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ทำไม่รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ใช้คำว่าปัญญา ควรจะคิดว่าปัญญารู้อะไร ปัญญาเป็นความเห็นถูกเป็นความรู้ถูก เพราะฉะนั้นปัญญารู้ถูกอะไร เห็นถูกอะไร ต้องมีสิ่งที่ปัญญารู้ถูก และเห็นถูก ตามความจริงของสิ่งนั้น ถ้าไม่มีอะไรเลย ปัญญาก็จะไปรู้อะไรก็ไม่ได้ แต่เพราะเหตุว่ามี มีทุกอย่างที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม แล้วไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือความเห็นถูกความรู้ถูกในลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง ที่ว่ารู้ ก็ต้องหมายถึง รู้ โดยความเป็นของไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ รู้ ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก่อน มิฉะนั้นอะไรไม่เที่ยง เพราะเหตุว่าไม่ใช่เราไม่เที่ยง แต่สภาพธรรมธรรม นามธรรมใดที่สติกำลังระลึก อบรมจนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะประจักษ์การไม่เที่ยง คือการเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมนั้น ซึ่งกำลังเกิดดับจริงๆ นั่นคือปัญญา ปัญญาขั้นฟัง สุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ไม่อย่างนั้นในพุทธศาสนาก็ไม่มีภาวนามยปัญญา มีแต่ปัญญาขั้นฟัง และปัญญาขั้นคิด ฉะนั้นการฟังต้องละเอียด และต้องสอดคล้องกันแม้แต่คำว่า ”ปฏิบัติ” ในภาษาไทย แปลว่า ทำ เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ศึกษาก็อยากจะทำ เพราะปฏิบัติ ได้ยินคำว่า ปฏิบัติ ก็จะทำ แต่ปฏิปัตติ “ปัตติ” หมายความว่า ถึง “ปฎิ” หมายความว่า เฉพาะ เพราะฉะนั้น ถึงเฉพาะโดยสติ เป็นสภาพธรรมที่ระลึกตรงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมทีละลักษณะที่ปรากฏ เช่น ทางตา ไม่เคยรู้ว่ามีจิต สภาพรู้หรือธาตุรู้ที่กำลังเห็น ไม่เคย ฟังอย่างนี้ก็ค่อยๆ จะเข้าใจขึ้นมาทีละน้อย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะละความเป็นเราที่เห็น และก็รู้ว่าธาตุรู้ สภาพรู้ เกิดขึ้นเห็น และธาตุรู้ สภาพรู้ อีกชนิดหนึ่งก็เกิดขึ้นได้ยิน คนละขณะ คนละชนิด ธาตุชนิดหนึ่งต้องอาศัยจักขุปสาทกับสิ่งที่ปรากฏทางตากระทบกัน ธาตุอีกชนิดหนึ่งต้องอาศัยโสตปสาทกับเสียง ธาตุได้ยินจึงเกิด เป็นธาตุทั้งหมด เป็นธรรมทั้งหมดไม่ใช่เรา ฟัง และพิจารณาแล้วค่อยๆ เข้าใจ และรู้ว่านี้เป็นปัญญาขั้นฟัง แต่ว่าจะต้องถึงการประจักษ์แจ้งได้ จึงจะถึงความเป็นอริยบุคคล มิฉะนั้นแล้วไม่มีทางเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมี แต่คิดเอา คิดเอา โดยสติไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรม จะกล่าวว่าประจักษ์ลักษณะสภาพธรรม ไม่เที่ยงไม่ได้ เพียงแต่สามารถฟังแล้วเข้าใจในความไม่เที่ยงของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะที่ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนามี ๓ ขั้น ปริยัติศาสนา ปฏิปัตติศาสนา ปฏิเวธศาสนา ทั้ง ๓ ขั้นนี้ไม่ใช่ขั้นเดียวกัน ปริยัติศาสนา คือ ขณะที่กำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรมแล้วก็เข้าใจ ขณะที่กำลังฟัง ใครฟัง เราฟังใช่ไหม แต่ถ้าฟังจนกระทั่งเข้าใจว่าไม่ใช่เราที่ฟัง เป็นธาตุ ซึ่งเป็นจิต และเจตสิก ก็เริ่มจะสนใจว่าลักษณะของจิตต่างกับเจตสิกอย่างไร คือธรรมจริงๆ แล้ว สามารถที่จะเข้าใจโดยพระธรรมที่ทรงแสดงความต่าง เช่นแม้ว่าจิตเจตสิกไม่ใช่รูปธรรม เป็นนามธรรม แต่จิตต่างกับเจตสิก เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการเห็นแจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ขณะนี้อะไรปรากฏให้ทราบเพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น นี่คือลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพที่เห็นแจ้ง เห็นเท่านั้น ถ้าเป็นขณะที่ได้ยินเสียงปรากฏ จิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของเสียง เพราะเสียงต่างกัน เสียงเมื่อสักครู่ เสียงไอ ใช่ไหม ก็ต่างจากปกติ เสียงฟ้าร้อง เสียงพัดลม แต่ละเสียงที่ตลอดชีวิตเราทราบว่ามีเสียงอะไรบ้าง เพราะขณะนั้น จิตเป็นนามธาตุที่เกิดแล้วรู้สิ่งนั้นแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นตลอดชีวิตของเราก็คือจิตเกิดดับ เกิดดับ รู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทีละอย่าง สลับกับจิตที่ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งเป็นภวังคจิต เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าไม่มี เสียงไม่ปรากฏ แล้วมี คือเสียงปรากฏ และเสียงดับก็หามีไม่ นี่คือชีวิตตามความเป็นจริง ที่จะศึกษาจนเข้าใจขั้นปริยัติ ว่าเป็นธรรม นี่คือขั้นปริยัติ แต่เมื่อฟังแล้วมีความเข้าใจที่มั่นคง มีสัญญาความจำด้วยความเข้าใจ เพราะว่าแม้แต่ความจำ จำโดยไม่เข้าใจก็มี จำว่าเป็นโต๊ะ จำว่าเป็นเก้าอี้ ไม่ใช่จำด้วยความเข้าใจเลย แต่ขณะใดที่เข้าใจเกิดพร้อมกับสัญญา ก็เป็นสัญญาความจำในความรู้ที่ถูกต้องมั่นคงว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะมีการระลึก ซึ่งไม่ใช่เรา แต่ขณะนั้นจะเกิดการระลึกได้ว่าสภาพที่เห็น เป็นขณะนี้เองซึ่งไม่มีรูปร่างแต่เป็นธาตุที่สามารถเห็น และขณะที่ได้ยิน ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นนามธาตุซึ่งไม่มีรูปร่างแต่สามารถได้ยิน เพราะฉะนั้นความเป็นเราจากขั้นปริยัติ ก็ค่อยๆ จาง แต่ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เพียงขั้นคิด จะต้องเพราะสติปัฏฐานมีหน้าที่ระลึก พร้อมกับมรรคมีองค์อื่น ซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ เกิดแล้วก็อบรมไปค่อยๆ ระลึกไปค่อยๆ เข้าใจไป ทรงอุปมาไว้ว่าเหมือนน้ำทีละหยด เต็มตุ่ม เต็มโอ่ง เต็มภาชนะได้ฉันใด การที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งตอนแรกก็จะไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจน เพียงรู้ว่าขณะนั้นสติเกิดจึงระลึก ระลึกคือมีสภาพธรรมปรากฏแล้วสติใส่ใจในลักษณะนั้น เพราะความจริงตั้งแต่เช้ามาจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ แข็งปรากฏไหม ตั้งแต่เช้ามีแข็งปรากฏบ้างไหมหรือไม่มีเลย มี แต่ไม่เคยระลึกตรงแข็ง เพราะว่าแข็งก็เป็นแก้วน้ำ เป็นโต๊ะ เป็นช้อนส้อม เป็นทุกอย่าง คิดนึกตามลักษณะที่แข็ง แต่สติปัฏฐานเพราะฟังรู้ว่า ขณะที่คิด คิดเรื่องของสิ่งที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีสิ่งที่ปรากฏทางตาก่อน แล้วคิด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    15 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ