ปกิณณกธรรม ตอนที่ 40


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๐

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ บังคับให้ได้ยินแต่เสียงชมหรือเสียงเพราะก็บังคับไม่ได้ ไม่ได้บังคับให้คิดนึกในทางที่กุศล อย่าโกรธ อย่าโลภ อย่ามานะ อย่าริษยา ก็บังคับไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีทางเลยที่จะมีอัตตาที่จะไปบังคับสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตาได้ มีทางเดียวคือต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างตามความเป็นจริง เช่นอวิชชา ได้ยินบ่อย เป็นสภาพที่ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏหรือธรรมตามความเป็นจริง บางแห่งจะใช้คำว่า โมหะ หลง ที่นี่ก็คือว่า ไม่รู้ความจริงนั่นเอง เราศึกษาธรรมแล้ว ไม่ต้องไปหาธรรมที่อื่น ที่ตัวเองมีธรรมทุกอย่าง พร้อมที่จะให้พิสูจน์ พร้อมที่จะให้รู้จักตัวเองดีขึ้น ยังไม่ต้องไปนั่งทำอะไร จะประจักษ์การเกิดดับ ได้ญาณได้อะไร ไม่ต้องทั้งหมด เพียงแต่ว่าให้รู้จักตัวจริงของธรรมว่า ไม่ใช่อยู่ที่อื่น อยู่ที่ตัว ทุกอย่างที่ทรงแสดงไว้ แม้อวิชชานี้ ใครจะมาบอกเราว่า เรามีปัญญาเยอะ ใครรู้ว่า แต่ละคนมีปัญญาแค่ไหน ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักธรรม ก็อาจจะดีใจ มีคนชมว่ามีปัญญาเยอะ แต่ถ้าถามเขาคนที่ชมเราว่า ปัญญาคืออะไร ปัญญารู้อะไร ตอบได้ไหม ที่จะมาชมกันว่า คนนั้นมีปัญญเยอะหรือว่ามีปัญญามาก เพราะเขาไม่รู้เลยว่า ปัญญานั้นตรงกันข้ามกับอวิชชา อวิชชาไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม ใครรู้ลักษณะที่แท้จริงของธรรมเหล่านั้นบ้าง ถ้าขณะใดที่รู้ หมายความว่า เป็นปัญญาที่รู้ ไม่ใช่เรา ปัญญาก็ไม่ใช่เราอีก ไม่มีอะไรที่จะต้องมาตื่นเต้น ชื่นชม ยินดี เพราะเหตุว่า เป็นเพียงธาตุรู้ ธาตุที่เข้าใจถูกเห็นถูก ที่อาศัยการฟัง การพิจารณา แล้วก็ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น เข้าใจขึ้น แล้วก็ดับ ไม่มีของใครเลยแม้แต่ปัญญาก็ไม่ใช่ของเรา อวิชชาความไม่รู้ก็ไม่ใช่ของเรา ปัญญาก็ไม่ใช่ของเรา คนที่ศึกษาธรรมด้วยความจริงใจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่นเลยสักอย่างเดียว ไม่ใช่เพื่อให้คนชมว่าเก่ง ไม่ใช่เพื่อลาภสักการะ หรือว่าไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน ผู้นั้นจะรู้เลยว่าศึกษาธรรมนี้เพื่อเข้าใจถูกในสิ่งซึ่งไม่เคยเข้าใจ หรือว่าในสิ่งซึ่งเข้าใจผิด ในสิ่งซึ่งไม่รู้ ให้เป็นความรู้ขึ้น นี่คือประโยชน์สูงสุด จากอยู่ในโลกด้วยความไม่รู้ สู่โลกด้วยการเกิดปัญญาจริงๆ ที่รู้จักสภาพธรรม ปัญญาในพระพุทธศาสนาไม่ใช่ปัญญาที่ออกไปนอกโลก สร้างสิ่งต่างๆ ที่วิจิตรพิสดารขึ้น นั่นโมหะ และโลภะ ไม่ใช่ปัญญา ตราบใดที่คนนั้นไม่รู้ลักษณะภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน และก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลด้วย ทุกคนที่ได้เริ่มฟังธรรม และเข้าใจ ก็จะรู้จักสภาพธรรมทุกอย่างที่จะได้ฟังต่อๆ ไปขึ้น ด้วยตัวของตัวเอง เช่นอวิชชาความไม่รู้ เวลานี้ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่รู้อะไรบ้าง เยอะแยะ จะเอาออกหมดได้ไหม จะต้องเป็นนั่งอะไรทำอะไรให้หมดกิเลส นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่อวิชายังเยอะแยะ และอวิชชานี้ไม่รู้อะไร ไม่รู้ธรรมตามเป็นจริงขณะนี้ของสิ่งที่กำลังปรากฏทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นี่คือความไม่รู้ แล้ว้าเป็นความรู้ล่ะ จะรู้อะไร ที่เราจะค่อยๆ เข้าใจด้วยตัวเราเองจริงๆ คือว่า คำถามจะทำให้เราเข้าใจว่า ตัวเรารู้แค่ไหน รู้จริงไหม รู้อะไรบ้าง รู้ตื้นๆ รู้ลึกๆ หรือว่ารู้ละเอียด หรือว่ายังไม่ละเอียด ถ้าถามคำแรกว่าไม่รู้อะไร ก็ตอบได้ใช่ไหม ไม่รู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าเปลี่ยนคำถามว่า แล้วปัญญารู้อะไร

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เป็นจริงขณะนี้

    ท่านอาจารย์ อวิชชาไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วิชชาก็รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามความเป็นจริงนั่นเอง อวิชชากับวิชานี้ตรงกันข้ามกัน ขณะใดที่วิชชาเกิดคือความรู้เกิด ขณะนั้นจะไม่ใช่ความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ แต่ในขณะใดที่วิชชาไม่เกิด จะบอกว่ารู้แล้วได้ไหม ไม่ได้ ก็ยังคงไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง

    ผู้ฟัง ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า จิต เกิดแล้วก็ดับจะเป็นปัจจัยให้จิตดวงอื่นเกิดต่อ แต่สำหรับรูป ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ทำให้เกิดต่ออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจเรื่องของ ปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ก็จะเห็นความต่างกัน แยกขาดจากกันจริงๆ ว่า รูปธรรมนั้นไม่ใช่สภาพรู้ ที่ตัวของเรา ส่วนใดก็ตามที่เป็นรูปธรรม สิ่งนั้นจะไม่รู้อะไรเลย กระทบสัมผัสตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน บางขณะก็ตึงหรือไหว ลักษณะอ่อนหรือแข็งนั้นไม่ใช่สภาพรู้ แต่นั่นเป็นรูปธรรม และส่วน นามธรรม ก็ไม่ใช่รูปธรรมโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น แยกขาดออกจากกัน นามธรรมเป็นแต่เพียงธาตุรู้หรือสภาพรู้ ไม่ใช่รูปเลย แล้วถึงจะรู้สมุฏฐานของนามธรรม และรู้สมุฏฐานที่เกิดของรูปธรรมว่า ต่างกัน เพราะเหตุว่า สภาพรู้หรือธาตุรู้ เป็นนามธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าใช้คำตามภาษาวิทยาศาสตร์ เขาไม่ใช้คำว่าธรรม แต่เขาใช้คำว่า ธาตุ หรือ ธา-ตุ ซึ่งคนฟังแล้วก็รู้สึกว่าเข้าใจโดยวิธีนั้น แต่ความจริงแล้วเข้าใจเพียงลักษณะของรูปธาตุ ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้เลย จะแยกเป็นกี่ธาตุก็ตาม รูปธาตุทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ แต่ในทางธรรมหรือสภาวธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่มีแต่รูปธาตุ นามธาตุคือธาตุอีกชนิดหนึ่ง ธาตุเป็นธาตุ นั่นเอง แต่เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งธาตุนี้เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพที่รู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ ไม่ว่าจะเป็นทางหนึ่งทางใด ทางตามีอะไรปรากฏ ธาตุชนิดนี้ซึ่งเป็นธาตุรู้คือนามธาตุ ก็รู้สิ่งนั้น คือเห็นสิ่งนั้น ที่เห็นสิ่งนั้น คือธาตุรู้ นามธาตุ ทางหู ก็คือว่า เป็นธาตุรู้เสียง เสียงไม่รู้อะไรเลย แต่ธาตุรู้เสียงนี้มี ใช้คำว่า โสตวิญญาณธาตุ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าเราจะแยกวัตถุที่เป็นอัญมณีออกเป็นประเภทต่างๆ ก็จะเห็นว่า เพชรก็ไม่ใช่พลอย หรืออะไรอย่างนั้น แต่ละชนิดไป นามธาตุแต่ละชนิดนี้ก็เป็นแต่ละอย่าง จักขุวิญญาณธาตุ เป็นธาตุที่เฉพาะเห็นสี หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น จะไปปะปนกับโสตวิญญาณธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้เสียงไม่ได้เลย คนละธาตุ คนละชนิด คนละประเภท ดังนั้น นามธาตุ ก็แยกออกไปเป็นส่วนต่างๆ ธาตุต่างๆ แต่เป็นนามธาตุ คือเป็นธาตุรู้ ธาตุรู้ ก็ได้แก่ จิต และเจตสิก เราจะใช้คำหลายๆ คำ เพื่อให้เข้าใจว่า คำไหนที่เราเข้าใจได้ อย่างคำว่า จิต นี้ทุกคนเข้าใจได้ ก็ใช้คำนี้ แต่ว่าขยายความให้รู้ว่า จิตก็คือสภาพรู้ หรือ ธาตุรู้ นั่นเอง เป็นนามธรรม ซึ่งธาตุชนิดนี้ เป็นปัจจัย ในเมื่อเราพูดถึงสภาพธรรมที่มีจริงว่า ได้แก่ปรมัตถธรรม ๔ คือ ๑. จิต ๒. เจตสิก ๓. รูป ๔. นิพพาน นิพพานธาตุเวลานี้ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะเหตุว่าปัญญาขั้นโลกุตระเท่านั้น เจริญอบรมจนถึงขั้นพ้นจากการรู้โลกคือสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหล่านี้ สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะประจักษ์ลักษณะของนิพพานธาตุเมื่อไหร่ ก็สามารถที่จะมีนิพพานธาตุเป็นอารมณ์ คือรู้แจ้งในนิพพานธาตุเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นเวลานี้ก็กล่าวเฉพาะปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป แล้วก็แยกออกเป็นรูปธรรมคือรูปธาตุ ได้แก่รูปทุกชนิด ส่วนนามธรรมหรือนามธาตุนั้นได้แก่ จิต และเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้น และเป็นสภาพรู้ ธาตุชนิดนี้เป็นธาตุรู้ เกิดขึ้นขณะใดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ จะไม่รู้ไม่ได้ แต่รู้ในที่นี้ไม่ใช่ปัญญา ธาตุชนิดนี้ เป็นปัจจัย พอเราพูดถึงสภาพธรรมที่เกิด เราจะขาดคำว่าปัจจัยไม่ได้เลย หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งทำให้เกิดขึ้น และในเมื่อปรมัตถธรรมมีเพียง ๓ ที่เกิดขึ้น ยกนิพพานไว้ไม่กล่าวถึง จิต เจตสิก รูป ก็ต่างเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้ และรูปเองก็เป็นปัจจัยให้เกิดรูปด้วย หรือรูปเป็นปัจจัยให้เกิดจิตได้ โดยปัจจัยต่างๆ และจิตก็เป็นปัจจัยให้เกิดรูปด้วย ทั้ง ๓ ธาตุหรือสภาวธรรม ต่างก็เป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน ซึ่งก็จะต้องศึกษาโดยละเอียด แต่ขั้นต้นให้ทราบว่า เกี่ยวข้องกันทั้งหมด ไม่ว่าจะพูดเรื่องสภาพธรรม ไม่ว่าจะพูดเรื่องปัจจัย ก็คือสิ่งที่มีจริงๆ และถ้าใช้คำว่า เกิดขึ้น เราก็ต้องคิดถึงหรือเข้าใจถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นด้วย สำหรับจิตซึ่งเป็นนามธาตุ เป็นปัจจัยชนิดหนึ่ง ซึ่งทันทีที่ดับลง เป็นอนันตรปัจจัย ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น จนกว่าจะถึงจุติจิตของพระอรหันต์ซึ่งไม่เป็นอนันตรปัจจัย ใครจะบอกว่าจิตหยุดเกิด ไม่มีทาง ทันทีเดี๋ยวนี้ ให้ตายลงไป ก็ยังต้องเกิดอีก เมื่อมีปัจจัยคือยังมีกิเลสอยู่ ตราบใดที่ไม่ใช่จุติจิตของพระอรหันต์ ฉะนั้นจิต และเจตสิก ขณะนี้ที่เกิด เป็นอนันตรปัจจัย คือ เมื่อดับทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น นี่คือความต่างกันของนามธาตุกับรูปธาตุ ซึ่งเป็นอนันตรปัจจัยให้จิต และเจตสิกขณะต่อไปเกิด แต่รูปไม่ใช่สภาพรู้ ไม่มีการสะสมอย่างจิต ไม่มีการสั่งสมเลยที่จะให้เป็นโลภะ โทสะ โมหะ ได้ ไม่ใช่เรื่องของรูปเลย รูปเกิดขึ้นเพราะสมุฏฐาน ๔ อย่าง คือ กรรม เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดอย่างหนึ่ง จิตเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดอีกสมุฏฐานหนึ่ง อุตุ คือความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดอีกอย่างหนึ่ง และอาหารที่รับประทานเป็นคำๆ เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดอีกอย่างหนึ่ง รูปมีสมุฏฐาน ๔ อย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้ง ๔ อย่าง เป็นสมุฏฐานให้รูปรูปหนึ่งเกิด รูปประเภทหนึ่ง ชนิดหนึ่ง จะเกิดเพราะสมุฏฐานหนึ่งเท่านั้น รูปใดเกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นมีกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว ไม่มีจิตเป็นสมุฏฐาน ไม่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน ไม่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน และรูปใดซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นก็ไม่ใช่มีกรรม ไม่ใช่มีอุตุ ไม่ใช่มีอาหารเป็นสมุฏฐาน นี่คือลักษณะที่ต่างกันของนามธาตุกับรูปธาตุ ก็จะต้องทราบว่า สำหรับจิต และเจตสิกนั้นเป็นอนันตรปัจจัย เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อดับไปแล้ว เป็นปัจจัยทำให้จิตเจตสิกขณะต่อไปเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง หลังจากที่ตาเห็นรูปแล้ว เป็นวิบาก แต่ว่าหลังจากเห็นแล้วต้องมีการนึกคิดต่อ มันไม่ใช่วิบาก แล้วอะไรที่ทำให้เรานึกไปในทางดีบ้าง ไม่ดีบ้างแบบนี้

    ท่านอาจารย์ การสะสมของจิต

    ผู้ฟัง และสะสมตั้งแต่ชาติไหนๆ ก็ได้

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งแล้วดับ เป็นปัจจัยให้ขณะต่อไปเกิด จิตขณะต่อไปนี้เกิดเพราะจิตที่ดับเป็นปัจจัย อาศัยปัจจัยทุกอย่างของจิตดวงก่อน ทำให้จิตขณะต่อไปเกิด เราจึงแลกจิตกันไม่ได้ แลกความคิด แลกอัธยาศัยกันไม่ได้ เพราะว่าจิตที่ดับนี่เองก็สืบต่อไปถึงจิตขณะต่อไป เป็นอนันตรปัจจัย ทำให้จิตขณะต่อไปเกิด จิตขณะต่อไปเกิดเพราะจิตก่อนเป็นปัจจัย จึงมีทุกอย่างที่สะสมในจิตก่อน เกิดสืบต่อกันไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น เราจะไม่คิดไม่ดีก็ไม่ได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าได้เราก็เป็นพระอรหันต์ ก็สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย การฟังเป็นการสะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูก เป็นการสะสมศรัทธา เป็นการสะสมสติ เป็นการสะสมหิริ เป็นการสะสมโอตตัปปะ เป็นการสะสมอโทสะ อโลภะ เป็นการสะสมฝ่ายดี จนกว่าจะมีกำลัง อย่าปนกัน เรื่องของวิบาก ต้องเข้าใจว่า วิบากคืออะไร วิบากคือจิตประเภทหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกับเจตสิก โดยมีกรรมเป็นปัจจัย ยังไม่ต้องไปมโนทวาร ยังไม่ต้องไปไหนเลย ทุกอย่างที่ฟังแล้วต้องเข้าใจให้ตรงก่อน ไม่งั้นจะสับสน วิบากคืออะไร วิบากคือจิตประเภทหนึ่งซึ่งเกิดร่วมกับเจตสิก โดยมีกรรมเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เมื่อไหร่ ขณะปฏิสนธิขณะแรก ที่เกิดมาในโลกนี้ นั่นเป็นวิบาก คือเป็นผลของกรรมหนึ่ง เราทำกรรมไว้เยอะแยะมากมายเหลือเกินทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ให้ผลพร้อมกันทีเดียวไม่ได้ จะให้กุศลกรรม และอกุศลกรรมให้ผลพร้อมกันไม่ได้ จะให้กรรมหลายๆ อย่างมาให้ผลพร้อมกันก็ไม่ได้ แต่กรรมที่ได้ทำไปแล้ว กรรมหนึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้วิบากจิต วิบากจิตนี่คือผลของกรรม อย่าลืม ทำกิจปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นคนนี้ในชาตินี้ นี่ตอนหนึ่งแล้ว และขณะเดียวดับไป ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวสับสนอะไรอีก ที่จะรู้ว่าขณะไหนบ้างเป็นวิบาก คือขณะเกิด เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ไม่มีใครไปทำกรรมตอนเกิดใช่ไหม แต่ว่ากรรมทำแล้ว เพราะฉะนั้นกรรมหนึ่งซึ่งสุกงอมที่จะให้ผล ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็ปฏิสนธินั้นก็เกิดเพราะกรรมนั้น กรรมก็เลือกกันไม่ได้ กรรมก็ไม่ได้มาผลัดกัน แย่งชิงกันว่า กรรมนี้ให้ผล กรรมนั้นให้ผล ทุกอย่างเป็นอนัตตา แล้วแต่ว่า กรรมใดจะสุกงอมพร้อมเป็นปัจจัยที่จะให้ปฏิสนธิจิตเกิด ก็เกิดเป็นคนนี้ในชาตินี้ นี่คือผลของกรรม ปฏิสนธิจิต ซึ่งเมื่อดับไปแล้ว กรรมไม่ได้ให้ผลเพียงปฏิสนธิจิตเกิดเท่านั้น ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่มีความหมายเลย ใช่ไหม เพราะขณะที่เกิดขณะแรก ไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการคิด ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่วิบากจิตเกิดขึ้น จะเป็นบุคคลใด ภพไหน ภูมิไหน ชาติก่อนๆ เราเคยเกิดในพรหมโลก หรือว่าเทวโลก หรืออะไรก็ตามแต่ หรือเป็นสัตว์ เป็นนก เป็นแมวก็ตามแต่ แต่กรรมหนึ่ง ก็ทำให้เกิดเป็นคนนี้ แต่ตอนที่เกิด ขณะแรกที่เกิดในครรภ์ ไม่มีรูปร่างใหญ่โตอย่างนี้เลย แต่กรรมทำให้ปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิต และเจตสิกเกิดพร้อมกัมมชรูป คือกรรมนั้นทำให้รูปเกิดด้วย รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม เรียกว่า กัมมชรูป เราเห็นสมุฏฐานแล้วใช่ไหมว่า รูปที่เกิดเพระกรรม ในทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมทำให้กัมมชรูปเกิดด้วย กัมมชรูปที่เกิดอยู่ในครรภ์ ไม่มีใครมองเห็น ไม่ว่าจะเป็นในท้องแมว ท้องช้าง ท้องมด หรืออะไรก็ตามแต่ ซึ่งมีปฏิสนธิจิต เจตสิก และกัมมชรูป เล็กมาก แต่กรรมนั่นแหละ ก็ทำให้รูปนั้นเกิดทุกอุปปาทะ ฐีติ ภังคักขณะของจิต กัมมชรูปต้องเกิดอยู่ตลอดเวลา ในขณะนี้ ทำให้รูปร่างกายเจริญเติบโตขึ้น แล้วก็จำแนกออกไป แม้แต่จะเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ เป็นมนุษย์ เป็นอะไรก็ตามแต่ นั่นคือเรื่องของกรรมที่ทำให้กัมมชรูปเกิด จะพิกลพิการ จะมีนิ้วพิเศษ จะมีขาข้างเดียว หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นเรื่องของกรรม ซึ่งจะให้ผลหลังจากที่เกิดมาแล้ว รูปพวกนี้ก็เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ก็คงหมดความสงสัยว่า ในสัตว์บุคคลจะต้องมีกัมมชรูป ต้นไม้มีกัมมชรูปไหม ต้นไม้ไม่ได้เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย กัมมชรูปเป็นรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย ต้นไม้สักต้นหนึ่งก็ไม่ได้เกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย มีต้นไม้ต้นไหนบ้างซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย กรรมนี้หมายถึงเจตนาเจตสิก นอกจากตัวที่เป็นสัตว์บุคคลแล้วไม่มีกัมมชรูป ภูเขา ต้นไม้ แม้แต่เราจะมองเห็นสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวเหมือนต้นไม้บางชนิด ซึ่งเขาบอกว่าเหมือนกับกินสัตว์ ไม่มีจิต ไม่ได้เกิดเพราะกรรม เป็นการกระทบกระเทือนของรูปธาตุเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง พูดถึงสมุฏฐานที่เกิดของรูป กรรมเป็นสมุฏฐานไม่สงสัย จิตเป็นสมุฏฐานไม่สงสัย แต่อุตุที่เป็นเหตุให้รูปเกิด ทำหน้าที่อะไรในกลุ่มของรูปนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ คุณสุกลหมายความถึงนอกกายหรือในกาย

    ผู้ฟัง ถ้าจะอธิบายทั้งสองก่อนก็ได้ แต่ว่าเอาในกายก่อน เอาในกายก่อนแล้วเอานอกกายที่หลัง

    ท่านอาจารย์ เวลาที่กัมมชรูปเกิด ให้ทราบว่ามีเพียง ๙ รูป ในตัว ซึ่งเกิดเพราะกรรม คือ ๑. จักขุปสาท อยู่กลางตา ๒. โสตปสาท ซึ่งอยู่กลางหู ๓. ฆานปสาท ซึ่งอยู่กลางจมูก ทำให้กระทบกับกลิ่น ๔. ชิวหาปสาท ซึ่งทำให้กระทบกับรส ๕. กายปสาท ซึ่งทำให้สัมผัสกับสิ่งที่อ่อนแข็ง เย็นร้อน ตึงไหว นี่เป็นกัมมชรูป ๕ ทาง ก็ ๕ ทวาร ตา หู จมูก ลิ้น กาย และก็ ชีวิตรูป ซึ่งเกิดกับกลุ่มของรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน มันก็เป็นเรื่องยาวออกไป ก็ตัดรูปอื่นได้ อย่าง อิตถีภาวรูป ปุริสภาวรูป พวกนี้ก็ตัดออกไปก็ได้ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม หทยรูป แต่ก็ไม่จำเป็นต้องจำเดี๋ยวนี้หรือว่าไม่จำเป็นต้องรู้หมดเดี๋ยวนี้ แต่ควรจะเข้าใจคำว่ากัมมชรูป เพื่อจะได้รู้ว่า กัมมชรูป นี้เล็กแค่ไหน ที่กลางตา เปลือกตานี้ก็ไม่ใช่ตา ตาขาวก็ไม่ใช่ส่วนที่จะรับกระทบกับรูป ส่วนซึ่งเป็นจักขุปสาทรูปนี้เล็กมาก ส่วนของโสตปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป ฆานปสาทรูป กายปสาทรูป ก็ล้วนแต่เล็กๆ ทั้งนั้น แต่ร่างกายของเราใหญ่โต ไม่ใช่เต็มไปด้วยจักขุปสาทรูปทั้งหมด โสตปสาทรูปทั้งหมด เพราะฉะนั้น อุตุ ซึ่งเกิดพร้อมกับกัมมชรูป คือต้องทราบว่า รูป ที่เป็นรูปใหญ่ ที่เป็นประธานมี ๔ รูป ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เอาแค่ ๔ นี้ก่อน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ