ปกิณณกธรรม ตอนที่ 11


    ตอนที่ ๑๑


    ผู้ฟัง แล้วถ้าอยากเรียนถามต่อไป คือทำยังไงถึงจะทำให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ มีทางเดียว ฟังพระธรรม เพราะว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมเพื่อใคร เพื่อสาวกคือผู้ฟัง แม้ท่านพระสารีบุตรก็ต้องฟังพระธรรม ผู้ที่บรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์แล้วยังฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็เห็นประโยชน์ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมแล้วยอมรับว่า ไม่มีสมบัติอื่นใดที่จะเท่าพระธรรม เพราะเหตุว่า เงินทองลาภยศทั้งหมด ก็ยังมีเวลาเสื่อมสูญได้ แต่ความเข้าใจที่ถูกต้องในธรรม ไม่สูญหาย และไม่ว่าคนนั้นจะประสบกับโลกธรรม เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เจ็บไข้ได้ป่วย มีความทุกข์ด้วยประการใดๆ ก็ยังเบาบางได้ เพราะรู้ว่าเป็นความจริงของธรรม ซึ่งไม่ใช่เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุปัจจัย ทำไมจึงต้องเกิด

    ส่วนใหญ่ก่อนที่จะศึกษาธรรม ก็มักจะถามกันสมัยหนึ่งว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา แต่ถ้าศึกษาธรรมแล้ว คำตอบก็คือว่า เพราะต้องเป็นเรา เป็นคนอื่นไม่ได้ เพราะทำกรรมอย่างไรมา ก็ต้องเป็นผลของกรรมนั้นที่คนนั้นจะต้องได้รับ ไม่มีคำถามอีกเลยว่า ทำไมถึงต้องเป็นเรา นอกจากอะไรจะเกิดขึ้นก็คือว่า เพราะต้องเป็นเราที่ได้กระทำสิ่งนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น ผลก็คือต้องรับกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ผู้ฟัง อยากเรียนต่อไปอีก เรื่องการฟังธรรม ก็ยอมรับการฟังธรรมเพื่อให้รู้ให้เข้าใจ เพื่อจะได้เกิดปัญญาใช่ไหม ทีนี้ความหมายของอาจารย์ที่ว่า ฟัง คงไม่มีความหมายตรงตัว คงจะหมายถึงการศึกษาธรรม เช่น การอ่านจากตำรับตำราต่างๆ หรือการได้ฟังจากผู้รู้แจ้งเห็นจริงนั้น ก็ยิ่งจะมีประโยชน์ แต่ถ้าโอกาสไม่มีแล้วอาจจะศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมโดยการอ่าน ก็อยากจะขยายความคำว่า ฟังธรรม จากท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง จะเป็นการสนทนา หรือว่าการอ่าน หรือการไตร่ตรองก็ได้ แต่ให้ทราบว่า คำมาจากเสียง ถ้าไม่มีเสียง คำจะไม่มีเลย ใช่ไหม นั่งเงียบๆ อย่างนี้ เพียงแต่มองเห็นสีต่างๆ แต่ไม่มีคำ เพราะไม่มีเสียง แต่เวลาที่นึกถึงคำหนึ่งคำใดก็ตาม เป็นการจำเสียงที่มีความหมาย อย่างคำว่าพรุ่งนี้วันศุกร์ มีเสียงไหม ที่เราจำได้ว่าพรุ่งนี้วันศุกร์ ต้องมีเสียง เพราะฉะนั้นการฟัง หรือการอ่าน ก็ไม่พ้นจากการที่จะจำเสียงซึ่งแสดงความหมายของสิ่งนั้นให้เข้าใจถูกต้อง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงพระธรรม นั่งเฉยๆ ไม่มีเสียงเลยจากพระโอษฐ์ ไม่มีคำใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจธรรมได้เลย แต่เมื่อได้ฟังแล้ว จำ แล้วก็เขียนจารึกไว้ ก็ยังคงเป็นคำ จากเสียงที่ได้จำไว้ และก็เข้าใจความหมายนั่นเอง

    เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า ฟัง หรือว่า อ่าน หรือว่าสนทนาอะไรก็ได้ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจถูก ความเข้าใจถูกซึ่งเป็นปัญญานั้นคือเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ให้ประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วเหมือนกำมือที่ว่างเปล่า คือพิจารณาแล้วไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของเราจริงๆ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีอากาศธาตุ ช่องว่างแทรกคั่นอยู่โดยละเอียดยิบ พร้อมที่จะแตกทำลายกระจัดกระจายเป็นผงธุลี เมื่อไรก็ได้ ขณะไหนก็ได้ นี่คือส่วนซึ่งเราเคยยึดถือว่าเป็นคิ้ว เป็นตา เป็นแขน เป็นขา ของเรา

    แต่ความจริงแล้วก็เหมือนกับกองดิน ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ รูป ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกไม่ต่างกันเลย แข็งที่นี่กับแข็งที่ตัวหรือแข็งที่ไหนๆ ก็คือลักษณะที่แข็ง เป็นธาตุแข็ง เย็นหรือร้อน ที่ไหนก็ตามก็คือลักษณะที่เย็นหรือร้อน แต่พอมาอยู่ตรงส่วนซึ่งมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น เราก็เลยยึดถือว่า นี่เป็นกาย หรือ ว่าเป็นของเรา แต่ความจริงตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าก็มีสมุฎฐานให้เกิดว่า รูปกลุ่มใดประเภทใดเกิดเพราะกรรม รูปกลุ่มใดประเภทใดเกิดเพราะจิต รูปกลุ่มใดประเภทใดเกิดเพราะอาหาร รูปกลุ่มใดประเภทใดเกิดเพราะอุตุ คือความเย็นความร้อน เพราะฉะนั้นก็มีสมุฎฐานทุกอย่าง สำหรับทุกสิ่งที่เกิด ไม่มีใครไปบันดาล และก็ไม่เป็นของใครด้วย เสียงที่ดับไปแล้วเป็นของใคร ได้ยินที่ดับไปแล้วเป็นของใคร ก็เป็นเพียงชั่วขณะจิตที่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วก็ดับ ตามเหตุตามปัจจัยที่สะสมมา ทำให้มีบุคลิกหรือว่าเป็นแต่ละบุคคลตามการสะสม แต่ก็คือจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อมานั่นเอง

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามอาจารย์ต่อไปอีก เรื่องการทำความดี มีบางท่านที่กล่าวว่า การทำความดี ถ้าทำความดีเพื่อตนเอง ไม่ไช่ความดีแท้ แต่ถ้าการกระทำความดีนั้น เพื่อผู้อื่น นั้นคือความดีที่แท้ อาจารย์มีความเข้าใจว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นความดีทั้งตนเอง และผู้อื่นมิยิ่งดีหรือ ไม่ใช่แต่เฉพาะตนเอง และก็ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้อื่น ทั้งตนเอง และผู้อื่นด้วย มีใครคิดว่า จะฟังธรรมเท่าไรจะพออีกรึเปล่า ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าเห็นประโยชน์ของธรรมน้อยมาก ยังไม่เห็นว่าจะต้องฟังไปตลอดชีวิต และก็ไม่ใช่ชาติเดียวด้วย ชาติไหนที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง ชาตินั้นประเสริฐสุด เพราะว่าไม่ใช่ว่าทุกชาติจะได้ฟัง

    ถ้าเกิดเป็นสัตว์ แมว นก หนู พวกนี้ก็ไม่มีโอกาสเลย ถ้าเกิดในประเทศที่ไม่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ไม่มีโอกาสอีก ถ้าไม่มีบุญที่สะสมไว้ในอดีต ก็ไม่มีโอกาสได้ฟังแน่นอน เพราะเสียงก็มีตั้งหลายเสียง แต่เสียงที่จะให้เข้าใจพระธรรม ต้องเป็นเสียงซึ่งบุญที่ได้กระทำมาแล้วเป็นปัจจัยทำให้ได้ยิน

    ผู้ฟัง คำว่า ทำความดี ในหลักของพุทธศาสนา คือทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กุศลกรรมบถ ๑๐ ทาน ศีล ภาวนา

    ผู้ฟัง หมายความว่า เริ่มตั้งแต่มีการบริจาค คือการให้ทาน แล้วก็อุทิศส่วนกุศลที่ได้กระทำแล้วให้กับบุคคลที่เป็นที่เคารพรัก แล้วก็เวลาที่เห็นผู้อื่นกระทำความดีหรือทำกุศลก็ขอให้มีจิตยินดี และอนุโมทนาไปด้วยกันใช่ไหม

    โดยความเป็นจริงแล้ว เรื่องการที่จะไปอนุโมทนาในความดีของผู้อื่นนั้น ก็ยังมีข้อยกเว้น ถ้าเป็นคนที่เราชอบหรือเป็นคนที่เรารัก เราพอใจ รู้สึกว่าการยินดีหรืออนุโมทนาไม่ยาก แต่ถ้าเป็นคนที่เราไม่ชอบหรือว่าเป็นคนที่เราเกลียด หมั่นใส้ ถึงแม้จะมีใครมาบอกว่า คนนั้นเขาเสียสละ เขาได้บริจาคทำประโยชน์แล้ว โดยส่วนลึกหรือใจจริงๆ ไม่ยินดีด้วยเลย

    ท่านอาจารย์ ก็แปลว่าขณะนั้นไม่เป็นกุศล ขณะที่ไม่ยินดีด้วย ขณะนั้นไม่ใช่กุศล

    ผู้ฟัง จะมีคำแนะนำยังไงบ้างที่พอจะช่วยให้เกิดประโยชน์ได้

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องมีปัญญารู้ว่าเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง แต่ว่ามันเกิดไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ เกิดไปแล้วก็แล้วไป สิ่งที่เกิดไปแล้ว ก็ไม่ต้องคำนึงถึง

    ผู้ฟัง เพราะปกติแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่เรามักจะเลือก เช่นเราจะช่วยเหลือสงเคราะห์ ก็มักจะช่วยคนที่เราชอบ เราพอใจ เรารัก เราถึงจะทำ ถ้าเราไม่ชอบ ไม่รักนี้ เราอาจจะมองผ่านไป จริงๆ แล้ว การช่วยเหลือสงเคราะห์นี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ว่าไม่ควรจะเลือกทำเฉพาะคนที่เราชอบ แม้คนไม่ชอบก็ควรจะทำด้วย อย่างงั้นจะถือว่าเป็นการทำความดีได้ไหม

    ท่านอาจารย์ อันนี้ ปัญญาก็เริ่มเกิดที่จะเห็นว่าควรอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญามั่นคงขึ้นก็จะทำตามนั้นได้มากขึ้น เพราะว่าก่อนอื่นก็จะต้องเห็นว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดควร แล้วก็ค่อยๆ กระทำไป สะสมไปในสิ่งที่ถูกที่ควร

    ผู้ฟัง แต่ว่าเป็นสิ่งที่ยากมาก

    ท่านอาจารย์ คนที่จะเป็นพระอริยบุคคล ก่อนเป็นพระอริยบุคคลก็มีกิเลสกันทั้งนั้น แต่ท่านอบรม ท่านสะสมเจริญได้

    ผู้ฟัง มีคำถามอีกเรื่อง ทุกคนบอกว่ามีกรรมเป็นของของตน แล้วตั้งแต่เกิดมา ถ้าบางคนอายุมาก ได้มีการกระทำทั้งที่เป็นบุญ และบาปมาก แต่เวลาตายไปแล้ว คงไม่ได้เอากรรมที่เราได้กระทำไปชาติในชาติหนึ่งๆ เอาติดตัวไปเพื่อจะได้ไปรับผลต่อไปข้างหน้า และส่วนที่เหลือตกค้างนั้น จะมีโอกาสให้ผลได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ตกค้างอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง หมายความว่ามันให้ผลไม่หมด มันตกค้างอยู่อย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ตกค้างอยู่ที่ไหน

    ผู้ฟัง ตกค้างอยู่ในจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจิตอยู่ที่ไหน กรรมที่ได้ทำแล้วก็สะสมอยู่ที่นั่น ไม่หลุดหายไป

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่โอกาสของกรรมที่ได้กระทำ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เรียนถามถึงหัวใจของพุทธศาสนาที่ว่า การละเว้นการกระทำความชั่ว อันนี้โดยวิจารณญาณแล้ว ก็คงจะเป็นที่พอเข้าใจกัน หรือว่าการกระทำความดี ทำยังไงบ้าง ก็คงจะพอเป็นที่เข้าใจพอสมควร แต่การทำใจให้บริสุทธิ์ มันคือมีความหมายแค่ไหน อย่างไรบ้าง อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่าการทำใจให้บริสุทธิ์จะต้องทำประพฤติปฏิบัติอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ทานก็คือการให้ โดยที่ไม่ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็ได้ อย่างที่ให้กันอยู่ แล้วก็ศีล ความประพฤติดีทางกายทางวาจาก็ทำกันอยู่โดยไม่ต้องมีปัญญาก็ได้ แต่ถ้าจะเป็นการชำระจิตให้บริสุทธิ์แล้วถ้าไม่มีปัญญาแล้ว ทำไม่ได้เลย ปัญญาต้องเริ่มตั้งแต่ปัญญาคืออะไร ปัญญารู้อะไร อย่างถูกต้องจริงๆ ไม่อย่างนั้น จิตก็บริสุทธิ์ไม่ได้ เพราะว่ายังมีอวิชชา บริสุทธิ์คือต้องดับกิเลสได้

    ผู้ฟัง อยากจะกราบเรียนให้ท่านอาจารย์อธิบายคำว่า เริ่มต้น จริงๆ คืออย่างไร เพราะโอกาสที่เราจะมาเริ่มต้นพร้อมกัน มันเป็นสิ่งที่คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเดี๋ยวนี้บางท่านก็อาจจะมีการฟังรายการธรรมอาจเป็น ๕ ปี ๑๐ ปี หรือ ๑ ปี หรือบางท่านก็เพิ่งจะฟังใหม่ๆ มาประมาณ ๓-๔ เดือนก็ได้ ที่นี้การเริ่มต้นจริงคืออย่างไร กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ที่จริงแล้ว ต้องการที่สุด คือ ต้องการให้เป็นการสนทนาธรรม เพราะว่าแต่ละคนก็คงจะมีธรรมที่ได้เคยฟังมาแล้ว และอยากทราบให้ชัดเจน ในสิ่งที่เคยฟังมาแล้ว สำหรับเรื่องการตั้งต้น ขอให้ทราบว่าถ้าเราฟังวิทยุ รายการที่มีข้างหลังหนังสือ ก็ถือว่าเป็นการตั้งต้นได้ หรือว่าจะอ่านหนังสือธรรม เล่มใดก็ได้ที่ได้รับไปแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของปรมัตถธรรมโดยสังเขป ถ้าสามารถจะมีเวลาที่จะอ่าน จะรู้ได้จริงๆ ว่านั่นเป็นตอนที่ตั้งต้น

    เพราะฉะนั้น จุดเริ่มต้นก็คือการฟังพระธรรม และก็ไม่ใช่เพียงฟังเฉยๆ ฟังแล้วก็พิจารณาหาเหตุผล เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่สอนให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง ผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง แล้วทรงพระมหากรุณาแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา ตลอดพระชนม์ชีพ นับตั้งแต่เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เดินทางไปโปรดปัญจวัคคีย์ ชีวิตประจำวันของพระองค์ได้กระทำกิจคือการแสดงธรรม ในวันหนึ่งๆ หลายครั้ง

    อย่างพวกเราที่สนใจธรรม ก็อาจจะรับฟังวิทยุตอนเช้า และตอนค่ำ ก็แค่ ๒ ครั้ง แต่พระผู้มีพระภาค ในวันหนึ่งๆ เมื่อเสด็จบิณฑบาต บางทียังเช้านัก ก็ยังไปสนทนาธรรมกับผู้ที่เห็นควรที่จะได้สนทนาธรรมด้วย เพื่ออนุเคราะห์คนนั้นให้เข้าใจ เพราะว่าพระองค์เป็นผู้ที่ไม่มีใครที่จะทำให้พระองค์ไม่สามารถที่จะอธิบายหรือว่าจะไปทำให้คนนั้นเกิดความเข้าใจผิดได้ ถ้ามีโอกาสได้ศึกษา ได้อ่านพระสูตรก็จะเห็นได้ว่า การสนทนาระหว่างผู้มีพระภาคกับใครก็ตาม ทำให้บุคคลนั้น เริ่มมีความเห็นที่ถูกต้องขึ้น นี่เป็นก่อนเวลาที่บิณฑบาต

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้จากตัวอย่างของการที่พระองค์ทรงอนุเคราะห์พุทธศาสนิกชนหรือใครก็ตามที่มีศรัทธาให้เกิดปัญญา ไม่ใช่เพื่อให้อย่างอื่นเลย เพราะว่าทุกคนเกิดมาในโลกนี้ ด้วยความไม่รู้ เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระอรหันต์ ถ้าเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่เกิดอีก พระอรหันต์คือผู้ที่ดับกิเลสหมด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพิจารณาความจริงตั้งแต่ต้นว่า แม้แต่ผู้มีพระภาค เมื่อประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ยังไม่ได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นต้องมีกิเลส จึงเกิด คนที่ไม่เกิด มีบุคคลเดียวเท่านั้นคือพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นเมื่อเกิดมาแล้ว ทุกคนมีความไม่รู้เรื่องของโลกนี้ เรื่องของตัวเอง เกิดมาเพราะอะไรก็ไม่ทราบ แล้วทำไมเราถึงเกิดมาต่างกัน ก็ไม่ทราบอีกเหมือนกัน บางคนเกิดมามีร่างกายครบถ้วน ไม่พิกลพิการ แต่บางคนก็สติปัญญาอ่อนหรือว่าอาจพิการ เป็นบ้า เป็นใบ้ หูหนวก ตาบอดมาตั้งแต่เกิด นั่นก็แสดงให้เห็นว่า ต้องมีเหตุสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างทุกประการที่เกิดขึ้นตั้งแต่เกิดจนตาย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไม่ฟังพระธรรม เราไม่มีโอกาสจะรู้จักตัวเรา แล้วก็ไม่มีโอกาสจะรู้จักโลก ไม่มีโอกาสที่จะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริงเรามีความไม่รู้ และมีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีกิเลสมากน้อยเพียงไร

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นการที่ดีที่สุด ที่จะรู้จักตัวเอง เพราะว่าสุขทุกข์ก็อยู่ที่ตัวเองแต่ละคน และบางคนในชีวิตก็มีแต่ความทุกข์ ที่เป็นความรู้สึกเศร้าหมองขุ่นเคืองไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต มีเหตุการณ์ความยุ่งยากต่างๆ โดยไม่รู้เหตุจริงๆ ว่าเหตุนั้นอยู่ที่ไหน และทุกข์ที่มีจะหมดสิ้นหรือบรรเทาไปได้อย่างไร แต่ทั้งหมดให้ทราบทุกอย่าง สามารถจะละคลายได้ด้วยปัญญา แต่ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีความเห็นที่ถูกต้องแล้วไม่มีทางที่ใครจะหมดความทุกข์ได้อย่างแท้จริง เพราะเหตุว่าความทุกข์มีหลายอย่าง เรื่องทุกข์กายเป็นเรื่องซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ เพราะเหตุว่าตราบใดที่เรามีร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีความทุกข์กายเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น บางคนนิ้วเท้าแตก ศรีษะเป็นแผลหรืออะไรเช่นนี้

    เพราะฉะนั้นก็จะแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีรูปร่างกาย และทุกข์กายเป็นทุกข์ประจำชีวิต แต่นอกจากทุกข์กายแล้ว ทุกข์ใจยังมีอีกมากมายมหาศาล เพราะเหตุว่าร่างกายก็แข็งแรงดี แต่ทำไมมีความทุกข์ใจไม่จบสิ้น บางคนเงินทองก็มีมาก แต่ก็ยังมีความทุกข์ใจอยู่นั่นเอง เป็นกังวลเรื่องเงินทองเรื่องไม่ทราบว่าจะจัดการยังไงกับเงิน บางคนก็ตีหนึ่งตีสองก็ยังนอนไม่หลับ ทั้งที่ไม่มีอะไรที่น่าจะต้องเดือดร้อนเลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่านอกจากเกิดมามีทุกข์กายแล้ว ก็ยังมีทุกข์ใจอีกมากมาย ซึ่งยากแสนยากที่จะดับให้หมดสิ้นไปได้ เพราะเหตุว่าทุกข์วันนี้อาจจะหมด แต่พรุ่งนี้ ก็มีทุกข์ไหม่มาอีกเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบ

    แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงจากการตรัสรู้ความจริง แล้วเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าคือทรงแสดงพระธรรมให้บุคคลอื่นได้ฟัง ได้เกิดปัญญาของตนเอง เพราะฉะนั้น การเริ่มต้นชีวิตของเราในพระธรรมก็คือฟังธรรมให้เข้าใจ ให้เกิดปัญญาของเรา เพราะเหตุว่า ตราบใดที่เรายังไม่ได้ฟังพระธรรม ปัญญาของเราจะเกิดไม่ได้ นอกจากเราคิดเอาเองว่าเราเข้าใจแล้ว แต่ว่าสิ่งที่เราคิดเราเข้าใจไม่ตรงกับที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ได้ เพราะเหตุว่าเรายังไม่ได้เทียบเคียงว่าพระพุทธเจ้าสอนว่าอะไร

    เพราะฉะนั้น ความเห็นของเราจะตรงกับพระธรรมที่ทรงแสดงหรือว่าจะต่างกันมากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นการเทียบเคียงก็คือว่า ขอให้เราฟังพระธรรมเพื่อที่เราจะได้ทราบว่า สิ่งที่เราเคยเข้าใจนั้นถูกต้อง หรือว่าผิดจากการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค ด้วยเหตุนี้ การฟังธรรมก็เป็นการเริ่มต้นของพุทธศาสนิกชนที่จะทำให้เข้าใจจริงๆ ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระปัญญาคุณ ด้วยพระบริสุทธิคุณ และ ด้วยพระมหากรุณาคุณ ถ้าเราไม่ฟังพระธรรมแล้ว ไม่มีโอกาสจะรู้เลย เราก็ไหว้พระ ไหว้รูป แต่ไม่ทราบว่าจะระลึกถึงพระคุณอะไร เพราะเหตุว่าไม่เข้าใจว่าพระคุณของพระองค์นั้นมีประการใดบ้าง

    แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมเราจะเริ่มเข้าใจขึ้นว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีพระปัญญาที่ได้สะสมมานานมากไม่ใช่ว่า ไม่รู้อะไรแล้วก็สอนตามความคิดตามเข้าใจ หรือว่าสิ่งที่สอนก็เป็นสิ่งซึ่งง่ายแสนง่ายซึ่งใครก็ฟังเข้าใจได้ ถ้าเป็นลักษณะนั้นแล้ว ก็ไม่ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๔ อสงไขย แสนกัปป์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้ว่าปัญญาของเราก่อนฟังธรรม เกือบจะเรียกได้ว่าไม่มี เพราะเหตุว่าจะตรงกันข้ามกับที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้

    แม้แต่คำที่ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เราเคยได้ยินคำนี้บ่อยๆ อนัตตา เป็นภาษาบาลี ตรงกันข้ามกับคำว่า อัตตา ถ้าอัตตาก็หมายความว่า ตัวตน เรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นเรา เป็นของเรา ตาของเรา ผมของเรา ทุกอย่างของเราหมด แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ของเราเลยสักอย่างเดียว ไม่มีอะไรเลยที่เป็นของเรา เราเกิดมา มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ตั้งแต่เกิดทุกๆ ขณะโดยที่ว่า เมื่อมีการเห็น เราก็ไม่เคยมานั่งคิดว่า ที่จริงแล้ว ทำไมจึงต้องเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาทคือประสาทตาที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่กำลังปรากฏ สีสันวรรณะต่างๆ โลกนี้ก็จะไม่ปรากฏเป็นความสว่าง จะเป็นโลกที่มืด เหมือนคนที่ตาบอด เพราะฉะนั้น แม้แต่เห็น ก็จะต้องมีเหตุปัจจัย ทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้เห็นตลอดไป เห็นแล้วก็หมดไป แล้วคิดเรื่องอื่น แล้วก็ได้ยินบ้าง แล้วกระทบสิ่งที่อ่อนที่แข็งบ้าง

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้แต่เห็นในขณะนี้ก็ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่เกิด เกิดแล้วก็ดับไป ตรงกับที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ คือ ไตรลักษณ์หรือไตรลักษณะ ลักษณะ ๓ อย่าง คือ เกิด สิ่งใดที่เกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับ ลักษณะที่เกิดดับนั้นไม่น่าพอใจเลย คือไม่ยั่งยืน การดับนี่ดับเร็วมากจนกระทั่งเราไม่รู้สึก นี่คือต้องอบรมปัญญาจนกว่าจะประจักษ์แจ้งการเกิดดับ ถึงจะเห็นได้ว่ามีการเกิดดับจริงๆ ในขณะนี้ แต่ถ้าใครยังไม่อบรมเจริญปัญญาถึงขั้นนี้ ไม่มีทางที่จะไปละความเป็นตัวตน ก็ยังเห็นว่าเป็นเราเห็น เวลานี้ เห็นอยู่ ไม่แสดงว่าดับเลย เพราะฉะนั้นก็ต้องมีเรา

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรานั้น ลึกมาก เพียงขั้นฟัง กว่าจะค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นความจริงอย่างนั้น ก็เป็นเพียงขั้นเข้าใจ ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    25 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ