ปกิณณกธรรม ตอนที่ 33


    ตอนที่ ๓๓

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ผู้ฟัง ความหมายของคำว่า สหรคต

    ท่านอาจารย์ สหรคต จริงๆ แล้วไม่ใช่ภาษาบาลี ถ้าเป็นภาษาบาลีจะใช้คำว่า สหคต คำว่า สห หมายความว่า ร่วมกัน ด้วยกัน พร้อมกัน ภาษาบาลีจะใช้คำว่า สหคต คต แปลว่า ไป สหคต แปลว่า ไปด้วยกัน คือ จิตเกิดขึ้นพร้อมกับเจตสิก มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ตำราในภาษาไทยรุ่นหลังจะปนกับภาษาสันสกฤต จะเห็นได้ว่า ความนิยมภาษาบาลี ในสมัยเดิมค่อยๆ เปลี่ยนรูปไปใช้คำภาษาสันสกฤต แม้แต่ตำราพุทธศาสนา ซึ่งที่จริงแล้วไม่ถูก แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งได้กระทำกันมาแล้ว เราก็ต้องเข้าใจยุคสมัยว่า ไม่มีอะไรที่คงที่ ไม่มีอะไรที่แน่นอน ทุกอย่างจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราก็ควรจะยึดหลักที่ดีสำหรับตัวเรา คือว่า เราจะแก้คนอื่นก็คงไม่ได้ เพราะฉะนั้น ตำราพุทธศาสนาแม้แต่ที่แปลจาก ภาษามคธ ก็จะใช้คำที่มาจากภาษาสันสกฤต เช่นคำว่า สหรคต สำหรับดิฉันเองเวลาที่ลอกข้อความจากตำราอรรถกถา ก็จะต้องคงคำนั้นไว้ ในเมื่อภาษาที่เค้าใช้ในครั้งนั้นเขาใช้คำว่า สหรคต ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะไปแก้ตัวหนังสือของเขามาเป็น สหคตํ แต่ให้ทราบว่าความหมายเดียวกัน

    ผู้ฟัง คำว่า ปรมัตถ์ ปรมัตถ์ มี ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน จิต เจตสิก รูป นี้เป็นสังขารธรรม หมายความว่ามีสิ่งที่จะต้องมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แต่ถ้าเป็น นิพพาน แล้วจะไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เพราะฉะนั้น นิพพานจึงเป็นวิสังขารธรรม แต่อีกคำหนึ่งคือ สังขตธรรม

    ท่านอาจารย์ คำนี้คนไทยเราใช้น้อยมาก เพราะเหตุว่า เราจะใช้คำว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง แล้วเราก็ไม่เรียนว่า สังขารคืออะไร ก็คิดว่าร่างกายนั่นแหละสังขาร คือนักเดา ไม่ใช่นักเรียน ก็เลยเข้าใจผิดๆ ก็คิดกันเอาเองว่า สังขารคือร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่เที่ยง เวลาพูดถึงสังขาร ก็สังขารแบบนี้ทั้งนั้นเลย แต่จริงๆ แล้ว สังขาร หมายความถึงสภาพธรรมที่ปรุงแต่ง ส่วน สังขตะ หมายความถึง สภาพธรรมที่เกิดแล้ว เมื่อมีการปรุงแต่งเกิดแล้ว หรือเกิดขึ้น สิ่งนั้นดับไป ความหมายของ สังขตะ คือสภาพธรรมที่เกิดแล้ว เพราะสังขาร คือมีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว เกิดแล้วก็ดับแน่นอน สิ่งใดก็ตามที่เกิดที่จะไม่ดับนั้นไม่มี เวลานี้ ทุกอย่างกำลังเกิดดับ แต่ว่าถ้าไม่ใช่เป็นปัญญาที่ได้อบรมมา ไม่มีทางที่จะประจักษ์ แต่ว่าผู้ที่อบรมเจริญปัญญามาแล้วสามารถที่จะพิสูจน์ความจริง สิ่งใดก็ตามที่เป็นความจริง แทนที่เราจะต้องศึกษา ๒๐ ปีเข้าห้องทดลองแบบวิทยาศาสตร์หรืออะไร อันนั้นจะไม่ใช่การรู้สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ แต่ในเมื่อขณะนี้สัจจธรรมก็คือว่า สภาพธรรมเกิดแล้วดับอยู่ตลอดเวลา อย่างทาง ตา กำลังเห็น ไม่ใช่ทางหูที่ได้ยิน นี้แสดงให้เห็นแล้วสภาพธรรมจะเกิดพร้อมกัน ๒ อย่างไม่ได้ ทางตาต้องดับ และทางหูก็ต้องดับด้วย ในขณะที่มีทางตาเห็น นี่แสดงให้เห็นว่ามีอวิชชามากมายเหลือเกิน ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้อย่างนี้ ต้องอาศัยพระปัญญาคุณที่ทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดง และเราก็เริ่มตั้งแต่ฟังให้เข้าใจก่อนว่า สังขตธรรม หมายความถึง สิ่งที่เกิดแล้วเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง และสิ่งที่เกิดแล้วต้องดับ ถึงจะยังไม่ประจักษ์ ก็รู้ความจริงว่าต้องดับ แล้วก็ค่อยๆ ศึกษาไปจนกว่าจะประจักษ์ได้

    ผู้ฟัง ถ้าสภาพของนิพพาน ก็เป็นอสังขตธรรม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า ไม่ได้เกิดเลย เพราะไม่มีปัจจัยที่จะไปปรุงแต่ง ถ้ามีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น จะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดคือเป็นจิต หรือเป็นเจตสิก เป็นรูป อะไรก็ตามที่เกิดแล้วดับ สิ่งนั้นเป็น สังขารธรรม และปรมัตถ์ธรรมมี ๔ คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ นิพพานไม่เกิด ไม่ดับ เมื่อไม่เกิดแล้วจะดับได้ยังไง เมื่อไม่เกิดเพราะไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานนั้นเป็น วิสังขารธรรม ส่วนจิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม นี่กว้างที่สุด และต่อมาก็จะมีคำว่า สังขารขันธ์ ซึ่งแคบออกมาอีกว่าได้แก่ เจตสิก ๕๐ ดวง เพราะว่าแจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ ๑ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ ๑ เจตสิกที่เหลือ ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ นี่ความหมายอีกอย่างนึงแล้วจาก สังขารธรรม เป็น สังขารขันธ์ และ สังขาร ในปฏิจจสมุปบาท ที่ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยแก่สังขาร สังขารนั้นหมายความเฉพาะเจตนาเจตสิก ที่เกิดกับกุศลจิต และอกุศลจิตเท่านั้น ที่เป็นสังขาร

    ผู้ฟัง สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ คือการรับรู้

    ท่านอาจารย์ มิได้ (สังขาร) เป็นปัจจัยให้เกิดปฏิสนธิจิต และ จิตอื่นๆ สำหรับปฏิจจสมุปบาท

    ผู้ฟัง ทำไมถึงเรียก เจตนาเจตสิก ว่าเป็น อภิสังขาร

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า ปรุงแต่งยิ่งกว่าสังขารขันธ์อื่น เพราะเหตุว่าเป็น ตัวกรรม นับเป็นความจงใจ ตั้งใจ ที่จะกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม

    ผู้ฟัง และก็ต้องเกิดกับเจตสิกทุกดวงใช่ไหม เพราะ เจตนาเจตสิก อยู่ในเจตสิก ๗ ดวงที่ต้องเกิดร่วมกับจิตทุกดวง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าสำหรับ ปฏิจจสมุปบาท นั้น เฉพาะกุศล และอกุศลเท่านั้น ไม่นับวิบาก ไม่นับกิริยา

    ผู้ฟัง จะมีคำถามอยู่ข้างหลังที่ทบทวน อาจารย์ตั้งคำถามว่า ขันธ์อะไรไม่ใช่ปรมัตธรรม ดิฉันก็นึกว่า นิพพาน ก็ไม่ใช่ขันธ์ แต่นิพพานก็เป็นปรมัตถ์ธรรม ไม่ทราบว่าคำตอบที่ถูกจะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คำตอบที่ถูกก็คือ ไม่มี

    ท่านอาจารย์ การศึกษานี้ต้องกล้าพอที่จะตัดสินใจ เป็นเครื่องทดสอบเหตุผลว่า คนนั้นมีความมั่นใจในเหตุผลจริงๆ หรือเปล่า เพราะเหตุว่า ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง มั่นใจในเหตุผลต้องตอบตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง จะขออนุญาตกล่าวถึงเรื่อง รูป เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะว่า เรามองเห็นแล้วก็อยู่กับเราตลอดเวลา อย่างจิตนี้ยังมองไม่เห็น ก็ยังเดาเอาบ้าง แต่ รูป อยู่กับเรา ทุกคนก็มองเห็น มองไม่เห็นตัวเอง ก็เห็นของคนอื่น รูป จะเกิดด้วยก็จากเหตุปัจจัยด้วยกัน ๔ อย่าง ก็คือ กรรม อุตุ จิต อาหาร คำว่า อาหาร กับ โอชา จะมีความหมายเหมือนกันไหม

    ท่านอาจารย์ เหมือน แต่บางคนที่ไม่ได้ศึกษา อาจจะเข้าใจว่า อาหารที่เรามองเห็นตามร้าน ที่อยู่ตรงหน้าเราที่จะรับประทาน

    ผู้ฟัง อย่าง รส จะต้องหมายความว่า มากระทบ หรือจะใช้คำว่า ผัสสะ ที่ลิ้น แล้วก็จะแยกออกเป็นรสหวาน รสเค็ม รสเปรี้ยว อันนี้คือ รส แต่ถ้า โอชา ทำให้เลี้ยงร่างกายถึง ๒๘ รูป อยู่ได้เพราะอาหาร เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นเลยว่า รส กับ อาหาร ต่างกันอย่างไร อธิบายอย่างนี้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ คือว่าเวลานี้ เราจะพูดถึงรูป รูปมีจริง แล้วก็เริ่มด้วย มหาภูตรูป คือ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะว่าอยู่ที่ตัวเราแท้ๆ แต่เราไม่เคยรู้ความละเอียดของรูปเลย แต่เดี๋ยวนี้ให้ทราบว่า ใครจะเรียกว่าเลือด ใครจะเรียกว่าเนื้อ ใครจะเรียกว่าปอด ใครจะเรียกว่ากระดูก ก็ตาม แต่รูปใหญ่ๆ รูปจริงๆ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานที่ใช้คำว่า มหาภูต มี ๔ อย่าง ที่เราใช้คำว่าธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ๑ ธาตุน้ำ ๑ ธาตุไฟ ๑ ธาตุลม ๑ ธาตุดินก็ไม่ใช่ดินที่ปลูกต้นไม้ แต่หมายความถึงสภาพธรรมใดก็ตามที่มีลักษณะแข็ง หรืออ่อน นั่นคือลักษณะของธาตุดิน ในห้องนี้ มีธาตุดินไหม มีดินไหม มี และก็เป็นธาตุด้วย เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงที่เป็นรูปธรรม อะไรก็ตามที่แข็งที่สามารถกระทบสัมผัสได้นั่นคือธาตุดิน ที่ตัวเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า กระทบสัมผัสจริงๆ ไม่ต่างกับวัตถุอื่นเลย ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา กระทบทีไรก็คืออ่อนหรือแข็ง ถ้ากระทบหมอน กระทบเก้าอี้ กระทบอะไร ก็คืออ่อนหรือแข็ง เพราะฉะนั้นลักษณะของธาตุชนิดนี้ก็คืออ่อนหรือแข็ง และก็เปลี่ยนลักษณะของธาตุนี้ไม่ได้ด้วย แล้วก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของธาตุนี้ด้วย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น และปัจจัยที่จะให้เกิดธาตุดินน้ำไฟลม ก็คือ กรรม ๑ จิต ๑ อุตุคือความเย็นความร้อน ๑ อาหาร ๑ ที่ตัวของเรา ไม่มีใครสามารถจะสร้างได้เลย นอกจากกรรม เพราะเหตุว่าเวลาปฏิสนธิ ขณะจิตที่ปฏิสนธินั้น กรรมไม่ได้ทำให้แต่เพียงจิต ที่เป็นผลของกรรมเกิด แต่ทำให้รูปเกิดพร้อมกับจิตนั้นด้วย รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม ชื่อว่า กัมมชรูป เวลานี้ทุกคนก็ทราบ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้านี้เป็นผลของกรรม ทำให้เราสูงต่ำดำขาวต่างกันไป ไม่เหมือนกันเลย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดจากกรรม จักขุปสาทที่กลางตา บางคนก็ไม่มี เป็นคนตาบอด เพราะกรรมไม่ทำให้รูปนั้นเกิด แต่ว่าปกติแล้ว ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ในภูมิมนุษย์ กรรมก็จะทำให้เกิดจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ไม่ใช่เป็นแต่เพียงธาตุอ่อนหรือแข็ง แต่ว่าจะต้องมีส่วนที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถจะกระทบกับสีสันวรรณะต่างๆ เวลาที่ลืมตา หรือว่ามีส่วนที่มีคุณลักษณะพิเศษที่สามารถจะกระทบกับเสียงทำให้จิตได้ยินเสียงเกิดขึ้น มีส่วนที่ทำให้กระทบกลิ่น และก็มีจิตที่รู้กลิ่นเกิดขึ้น มีส่วนที่ทำให้กระทบกับลิ้น ทำให้จิตสามารถที่จะลิ้มรสนั้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่าที่ต่างกับรูปอื่นก็คือว่า รูปอื่นอย่างโต๊ะ เก้าอี้ ไม่มีจักขุปสาท ไม่มีโสตปสาท ไม่มีฆานปสาท ไม่มีชิวหาปสาท ไม่มีกายปสาท ไม่มีจิต แต่ว่ากัมมชรูป กรรมทำให้ตาหูจมูกลิ้น และประสาทกาย ซึมซาบอยู่ทั่วทั้งตัว ไม่กระทบอะไรเลย แต่รู้สึกปวดท้อง ก็เพราะเหตุว่ามีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว ที่กระทบกับสิ่งที่แข็งหรือว่าลักษณะที่เป็นลมที่ตึงที่ไหว ก็ทำให้ทุกขเวทนาทางกายเกิดขึ้น นี่ก็แสดงให้เห็นว่า มีรูปซึ่งเกิดเพราะกรรมพร้อมกับปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน ๔ รูป คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นี่พูดถึงแต่เฉพาะธาตุดินเท่านั้น มีข้อสงสัยไหมในธาตุดิน ไม่มี ที่ผมมีธาตุดินไหม มีแน่ และก็ที่กลางตา มีธาตุดินไหม มี ขึ้นชื่อว่าทั่วทั้งกายจะมีธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานคือธาตุดินน้ำไฟลม ส่วนจักขุปสาทนี้ เล็กมาก และก็อยู่ที่กลางตา มองก็ไม่เห็น กระทบสัมผัสก็ไม่ได้ แต่ว่าเรารู้ว่ามี เพราะอะไร เพราะว่าขณะนี้เห็น เพราะฉะนั้นก็ต้องมีรูปที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปนี้ต้องมีแน่ รูปนี้ก็เกิดขึ้นเพราะกรรมด้วย ไม่มีใครสามารถที่จะสร้างรูปนี้ได้เลย หรือว่าใครคิดว่าจะสร้างได้ ทำได้ มีข้อขัดแย้งมีข้อสงสัยไหม

    ผู้ฟัง ตรงที่เป็นปสาทรูปก็เป็นดินด้วย

    ท่านอาจารย์ ต้องมี ๘ รูปรวมกัน แยกกันไม่ได้เลย แต่แข็งไม่ใช่ลักษณะที่กระทบสี เป็นลักษณะที่แข็งเท่านั้น แต่ในส่วนที่แข็ง จะมีรูปที่เกิดร่วมกันอีกรูปหนึ่ง ที่ตรงกลางตาคือจักขุปสาทรูป ที่โสตปสาทรูปก็ไม่ใช่มีโสตปสาทรูปได้ลอยๆ จะต้องมีมหาภูตรูป ๔ มหาภูตรูป ๔ นี้เป็นพื้น ธาตุดินผ่านไปแล้ว พอถึงธาตุน้ำ ไม่มีใครที่จะกระทบสัมผัสธาตุน้ำได้เลย เรียกว่า น้ำ แต่ไม่ใช่น้ำที่เราดื่ม เพราะเหตุว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกาะกุมธาตุอื่นๆ ไว้ด้วยกันไม่กระจัดกระจายไปได้เลย นั่นเพราะเหตุว่ามีรูปชนิดหนึ่งซึ่งเป็นธาตุน้ำ เกาะกุมธาตุอื่นๆ ให้รวมกันอยู่ นี่คือลักษณะของธาตุน้ำ ซึ่งจะมีลักษณะที่ไหลเอิบอาบหรือเกาะกุม เวลาที่เรามีลักษณะของธาตุน้ำมาก ก็เรียกว่า น้ำ ใช่ไหม เอิบอาบไหล เกาะกุม แต่จริงๆ แล้ว อาจจะบอกว่า เป็นดินเหลว ลักษณะที่อ่อนมาก จะเหลวจนไหล แต่ก็ต้องมีธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไหลหรือเกาะกุม เพราะว่าดินนั้นแข็งเท่านั้นหรืออ่อนเท่านั้น จะไม่ไหลหรือจะไม่ก็เกาะกุมด้วย นี่คือธาตุน้ำ ซึ่งขณะใดก็ตามที่กระทบสัมผัส สิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยกายปสาท จะกระทบสัมผัสเพียงธาตุดินที่อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟที่เย็นหรือร้อน ธาตุลมซึ่งตึงหรือไหว แต่จะไม่มีการกระทบสัมผัสธาตุน้ำได้เลย นี้ทรงแสดงไว้จากการประจักษ์แจ้ง ทุกคนพิสูจน์ได้ เวลากระทบสัมผัส จะกระทบสิ่งที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหวเท่านั้น สำหรับธาตุน้ำก็คงไม่มีปัญหา ให้ทราบว่าทั้ง ๔ นี้ไม่แยกจากกัน มีธาตุดินที่ไหนต้องมีธาตุน้ำที่เกาะกุมที่นั่น แล้วก็มีธาตุไฟที่เย็นหรือที่ร้อน เวลากระทบอะไรเราก็รู้ได้เลยว่าสิ่งนั้นร้อนหรือเย็น

    ผู้ฟัง ธาตุไฟนี้หมายถึงเย็นด้วยหรือ

    ท่านอาจารย์ เย็นหรือร้อน รับประทานน้ำแข็งในลักษณะที่เย็นนี้ มีจริงๆ นั่นคือธาตุชนิดหนึ่งเป็นไฟร้อนหรือไฟเย็น ร้อนหรือเย็น ร้อนลงมาจนสุดขีด จนกระทั่งเลยลงไปอีกก็คือเย็น นี้ก็ ๓ ธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุสุดท้ายก็คือ ธาตุลม ได้แก่ลักษณะที่ตึงหรือไหว ทุกอย่างที่เคลื่อนไปได้ นั่นคืออาการของธาตุลม เพราะเหตุว่า ธาตุอื่นจะเคลื่อนไปไม่ได้เลย ๔ ธาตุ คงไม่สงสัยแล้วใช่ไหม จะไม่มีรูปอื่นโดยที่ไม่มี ๔ รูปนี้ ๔ รูปนี้ต้องเป็นใหญ่เป็นประธานจึงชื่อว่า มหาภูตรูป ภูต แปลว่า เป็น หรือ มี มหานี้ก็ใหญ่ ที่ไหนที่ไหนก็มีทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่า มีรูปที่ไหนต้องมีมหาภูตรูป ๔ แต่ทีนี้เราจะไม่ได้สังเกตว่านอกจากมหาภูตรูป ๔ แล้วยังมีรูปอื่นซึ่งรวมอยู่ จะใช้คำว่าปนอยู่ก็ได้ แต่หมายความว่ามีรูปอีก ๔ รูปซึ่งเกิดรวมกันโดยไม่แยกจากกันเลย ก็คือ สี ได้แก่ วัณณะ

    ผู้ฟัง วัณโณ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน เป็นภาษาบาลี จะใช้วัณโณ ภาษาบาลีเขามีเพศ เพศหญิงเพศชาย ใส่สระโอ สระอี แต่ภาษาไทยเราก็อิสระ วัณณะ วัณโณ ก็ได้ ก็หมายความว่า เราลืมไปว่าที่ไหนที่มีธาตุดินน้ำไฟลม ที่นั่นมีสี เป็นรูปอีกรูปหนึ่งที่สามารถกระทบกับจักขุปสาท ทำให้มองเห็น เวลาที่เราอยู่ในห้องมืด แสงสว่างไม่พอ ก็ไม่มีปัจจัยที่จะให้ปรากฏเป็นสีต่างๆ แต่ถ้ามีปัจจัยคือแสงสว่างพอ เมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็จะมีรูปสีนั้นปรากฏ อย่างที่โต๊ะนี้ จะเห็นได้ว่ามีสี ทุกแห่งที่เราเห็นธาตุดินน้ำไฟลม ถ้าด้วยตาแล้ว เราไม่เห็นลักษณะที่แข็งหรืออ่อน แต่เราเห็นสีสันวัณณะของสิ่งนั้น เพราะเหตุว่า รูปธาตุดินน้ำไฟลมจะมีอีกรูปหนึ่ง ซึ่งเกิดร่วมกับธาตุดินน้ำไฟลม คือ สี ภาษาบาลีใช้คำว่า วัณโณ ของจริงทั้งนั้นใช่ไหม

    ผู้ฟัง อยากจะกล่าวรูปทั้งหมดก่อนว่า ๒๘ มีอะไรบ้าง ประกอบด้วยอะไร แล้วเดี๋ยวเราจะอธิบายต่อไป

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางเสร็จวันนี้ ข้อสำคัญที่สุดไม่ใช่จบ ค่อยๆ ไปให้เข้าใจ ทุกคนที่ฟังเรื่องมหาภูตรูปให้เข้าใจเรื่องมหาภูตรูป ถ้าเข้าใจเรื่องมหาภูตรูป แล้วต้องเข้าใจ อุปาทายรูปอีก ๔ รูปที่รวมอยู่ แล้วก็ไม่ใช่เข้าใจแล้วทิ้งไป หรือลืม หมายความว่าพิสูจน์ได้กับตัวเองว่าไม่ว่าจะอยู่ในโลกนี้นอกโลกนี้ที่ไหนก็ตาม ให้รู้ความจริงว่า จะต้องมีรูปซึ่งแยกอีกไม่ได้แล้ว อย่างน้อยที่สุดต้องมีรูปรวมกัน ๘ รูป ให้เข้าใจแล้วให้จำได้ และไม่ไปท่อง คือว่า ถ้าพูดเป็นชื่อๆ ออกมา วันนี้ยังอาจจะต้องไปท่องไว้จะได้จำว่ามีอะไรบ้าง แต่วันนี้ที่ฟัง ไม่อยากจะให้ท่องเลย อยากจะให้เข้าใจ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ถ้าใครยังไม่รู้ชื่อภาษาบาลีก็จดไว้ ธาตุดินก็ได้แก่ปฐวีธาตุ ธาตุน้ำ อาโปธาตุ ธาตุไฟก็ได้แก่เตโชธาตุ ธาตุลมก็ได้วาโยธาตุ ใช้ภาษาอย่างนี้ พายุ ตัว ว กับ ตัว พ ใช้ด้วยกันได้ วาโย วายุ พายุ คือธาตุลม เตโชธาตุไฟ ปฐวีก็ธาตุดิน อาโปก็ธาตุน้ำ

    ผู้ฟัง อย่างที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ถ้าจะพูดกัน ๒๘ รูป รายละเอียด ๑ ชั่วโมงแค่นี้ก็ไม่พอ ปัญหาอื่นก็จะไม่ได้ถามกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เอาเรื่องธาตุทั้ง ๔ มีใครมีปัญหาไหม เอาให้กระจ่างชัดไปจะได้ไปพร้อมๆ กันได้ไม่ลืม แล้วก็ไม่ใช่อยู่ที่อื่น อยู่ที่ตัว และทุกสิ่งด้วย ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ไม่ใช่แต่ที่ตัวเท่านั้น ที่มีรูป ๘ รูป ที่ไหนก็มี ที่ไหนมีรูป ต้องมีรูปอย่างน้อยที่สุด ๘ รูป

    โอชะ ไม่ใช่รส แต่คนไทยเราบอกว่า อร่อย ก็เลยคิดว่าโอชา ของนี้โอชา อร่อยมาก แต่ความจริงไม่ใช่ โอชะ หมายความถึง ส่วนที่มีประโยชน์ของรูป ที่จะทำให้เกิดรูป เพราะว่าร่างกายเราเกิดจากกรรม เกิดจากจิต เกิดจากอุตุความเย็นความร้อน ถ้าไม่มีอาหารคือไม่รับประทานอาหารด้วย ร่างกายอยู่ไม่ได้ ไม่สามารถจะดำรงต่อไปได้ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยโอชารูป อาหารที่เรารับประทานเข้าไป ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้ร่างกายดำรงอยู่ เพราะเหตุว่าโอชารูปเป็นปัจจัยทำให้รูปอื่นเกิดขึ้นด้วย มองไม่เห็น ไม่ใช่รส ไม่ใช่เค็ม ไม่ใช่หวาน แต่เป็นส่วนที่เป็นประโยชน์ ในอาหารที่จะทำให้เกิดรูป ธรรมไม่ปนกัน แยกกันไปเลย ธาตุดินจะบอกว่าเป็นธาตุไฟก็ไม่ได้ ธาตุไฟจะมาบอกว่าเป็นธาตุลมก็ไม่ได้ ธาตดินคือดินอ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟคือเย็นร้อน ธาตุลมคือตึงหรือไหว ธาตุน้ำคือไหลหรือเกาะกุม จะเอาอะไรมาเป็นธาตุต่างๆ เหล่านี้อีกไม่ได้ ธาตุเหล่านี้คือแค่นี้ ๔ ก็ ๔

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    31 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ