ปกิณณกธรรม ตอนที่ 50


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๕๐

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ผู้ฟัง มีอารมณ์เดียวกันกับปัญจทวารวิถีที่เพิ่งดับ แล้วที่จะเป็นความนึกคิดช่วงไหน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่ใช่มีพวกนี้เป็นอารมณ์ ขณะที่เป็นมโนทวาราวิถี ไม่มีสี ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีโผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง เมื่อไม่มีอารมณ์ ก็เป็นความนึกคิด

    ท่านอาจารย์ ใช่ นึกคิด

    ผู้ฟัง ก็จิตดวงเดียวกัน มโนทวาราวิถี

    ท่านอาจารย์ จิตไม่มีดวงเดียวกัน ไม่มีจิตดวงเดียวกัน จิตแต่ละดวงเกิดแล้วดับทันที ไม่กลับมาอีก นี่คือไม่มีเราจริงๆ

    ผู้ฟัง หลังจากที่รู้เรื่องราวที่เป็นความคิดทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ ทางมโนทวารดับแล้ว จิตอะไรเกิด

    ผู้ฟัง ภวังคจิตเกิด

    ท่านอาจารย์ ต้องพูดถึงจิตแต่ละหนึ่งขณะ แต่ละวาระ แต่ละคำ ถึงจะชัดเจน พอดับแล้วเป็นไง

    ผู้ฟัง วิถีอื่นเกิด

    ท่านอาจารย์ วิถีอะไร

    ผู้ฟัง ก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ คิดใช่ไหม ถ้าจะคิดก็คือคิด อย่างคิด คำว่า “คิด” คือจิตรู้ใช่ไหม

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ คือขณะนั้น มโนทวารวิถีจิต มีคำว่า “คิด” เป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ส่วนจะคิดนานหรือไม่นาน

    ท่านอาจารย์ คิด “นาน” ก็เป็นมโนทวารวิถีจิตที่รู้ “หรือ” ก็เป็นมโนทวารวิถีจิตที่รู้ “ไม่” ก็เป็นมโนทวารวิถีจิตที่รู้ “นาน” ก็เป็นมโนทวารวิถีจิตที่รู้ ทุกขณะที่เกิดคิด ให้รู้ว่าเป็นจิตทั้งนั้น แต่ละคำ ถ้าไม่มีจิต คำนั้นก็ไม่มี คิดก็ไม่มี

    ผู้ฟัง ที่ว่ารู้นานหรือไม่นาน ความคิดที่เกิดขึ้นดับไป

    ท่านอาจารย์ ทีละ ๑ขณะ ทีละ ๑คำ สืบต่อกัน ถ้าเป็นชวนะก็ ๗ ขณะ คำว่า “คำ” คือ ชวนะ ๗ ขณะ มีคำว่า “คำ” เป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ที่ถามเพราะว่า บางทีคิด ก็คิดนานเหลือเกิน เรื่องเดียวกัน บางทีก็คิดนาน บางทีก็คิดไม่นาน

    ท่านอาจารย์ คิดได้ทีละกี่คำ

    ผู้ฟัง คิดได้ทีละคำ

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละวาระ ๑ คือคำ ๑ วาระ ๑ คือคำ ๑

    ผู้ฟัง ส่วนว่า จะเกิดขึ้นนาน กี่คำก็แล้วแต่ อยู่ที่ปัจจัยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่พูดมา นับได้กี่คำแล้ว นับได้หรือไม่

    ผู้ฟัง นับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ จะกี่คำ ก็กี่คำ นานหรือสั้นก็แล้วแต่ จะคิดเรื่องนี้สั้น จะคิดเรื่องนี้ยาว ก็แล้วแต่ แต่ให้ทราบว่าคิดนั้น คือจิตที่คิดทางมโนทวาร ทางตาเห็นไม่ได้คิด ทางหูได้ยินไม่ได้คิด จมูกได้กลิ่นไม่ได้คิด ลิ้นลิ้มรสไม่ได้คิด รู้โผฏฐัพพะ เย็นร้อน อ่อนแข็ง ตึงไหวไม่ได้คิด คิดทั้งหมดต้องเป็นทางมโนทวาร มากมายมหาศาล ไม่มีอะไรเหลือเลยก็คิดว่ามี นี่คือความไม่รู้ สีดับไปหมดแล้ว เสียงดับไปหมดแล้ว กลิ่นดับหมดแล้ว รสดับหมดแล้ว สิ่งที่กระทบสัมผัสก็ไม่ปรากฏ แต่คิดว่ามี ด้วย คิดว่ายังอยู่ด้วย คิดว่าเป็นคนนั้น คิดว่าเป็นคนนี้ นี่คือความไม่รู้ทั้งหมด

    ผู้ฟัง แสดงว่า ความจริงชีวิตเราก็ถูกลวงอยู่ด้วยความคิดตลอด

    ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรเหลือเลย เราคิดว่าไม่มีอะไรเหลือตอนตาย แต่ความจริงขณิกมรณะ ขณิกะคือ ขณะตาย ทุกขณะจิตเกิดแล้วดับ คือตายแล้วไม่กลับมาอีก เหมือนคนที่ตายสมมุติมรณะ จะไม่กลับมาเป็นคนนั้นอีกเลย หมดสิ้นสภาพความเป็นบุคคลนั้นโดยสิ้นเชิง แต่ก่อนที่จะตายขณิกมรณะ จิตเกิดดับหมดไปทุกขณะโดยไม่รู้ตัวเลย คิดว่ายังอยู่ แต่ความจริงไม่มี ถ้าจิตดับแล้วไม่เกิด หมดแน่นอนใช่ไหม แต่เพราะว่ามีสภาพธรรมที่เป็นจิตเป็นนามธรรมเกิดต่ออีก ก็เหมือนมีอยู่ตลอด พอถึงสมมุติมรณะ ก็ตายไปชาติหนึ่งแล้วเกิดอีก เราอยู่อย่างนี้ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง แต่ละชาตินานแสนนานเท่าไหร่

    ผู้ฟัง ความจริงมีแต่สภาพปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ แน่นอนเป็นธาตุซึ่งเกิดเพราะปัจจัยบังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เมื่อมีปัจจัย ธาตุชนิดนั้นก็ต้องเกิด

    ผู้ฟัง นอกนั้นเป็นความนึกคิด

    ท่านอาจารย์ ความนึกคิดเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งคิด มีแต่ธาตุทั้งหมด เราคิดแต่เรื่องเกิด เดี๋ยวนู่นเกิด เดี๋ยวนี้เกิด ทำอย่างนั้น ทำอย่างนี้แต่พระโพธิสัตว์คิดว่าเมื่อไหร่สิ่งต่างๆ ที่เกิดอย่างนี้จะหมด ไม่เกิดอีก นี่คือการเริ่มบำเพ็ญพระบารมี เพราะว่าเราไม่ใช่เห็นชาตินี้ชาติเดียว ใช่ไหม ได้ยิน ชาติก่อนๆ ก็เคยได้ยินแต่เป็นเรื่องราวของชาติก่อน พอถึงชาตินี้เราก็ลืมเรื่องราวของชาติก่อนเต็มไปด้วยสุข ทุกข์ของเรื่องราวในชาตินี้ แต่พอสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ก็หมดแล้ว ก็ตั้งต้นใหม่ สุขทุกข์ในเรื่องราวของชาติใหม่ เรื่องใหม่ พ่อแม่ใหม่ เพื่อนฝูงใหม่ บุตรธิดาใหม่ วงศาคณาญาติใหม่ ทรัพย์สมบัติใหม่ แล้วจะติดต่อไปอีก ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีหนทางเลยที่จะพ้นจากสังสารวัฎ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ สำคัญตรงที่คิด เหมือนกับที่อาจารย์บอกว่า สติต้องระลึกไปในตัวคิดที่เป็นสภาพรู้ ตัวคิด มันคิดตลอดเวลา แต่ว่าปัจจัยที่จะทำให้สติระลึกไปในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ คือตัวจิต อาจารย์บอกว่าเป็น จิรกาลภาวนา ซึ่งรู้สึกว่ายากจริงๆ

    ท่านอาจารย์ คุณชุมพรติดในเรื่องคิดใช่ไหม แล้วสีสันวัณณะ สวยไหม ติดไหม

    ผู้ฟัง ติด

    ท่านอาจารย์ เสียงชอบไหม

    ผู้ฟัง ชอบ

    ท่านอาจารย์ กลิ่น รส

    ผู้ฟัง ทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่มีที่ไม่ติด ต้องมีปัญญารู้ความจริงของทุกอย่างที่ติดที่ปรากฏให้รู้

    ผู้ฟัง ฟังที่ท่านอาจารย์พูด ทำให้เข้าใจว่า สติปัฏฐานที่อาจารย์หมายถึง คือการรู้สภาพธรรมทางทวารทั้ง ๖ แต่หลายท่านในที่นี้ คือได้ศึกษาพระสูตร คือสติปัฏฐานสูตร ก็จะมีคำถามในใจ นอกจากจะฟังท่านอาจารย์ก็มีการศึกษาด้วยว่า ที่ในพระสูตรแสดงบรรพต่างๆ และที่อาจารย์แสดงว่าเป็นการรู้สภาพธรรมทางทวารทั้ง ๖ จะตรงกับสติปัฏฐานในบรรพใด

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่า พระธรรมที่ทรงแสดงสอดคล้องกันทั้ง ๓ ปิฎกอันนี้ถูกหรือผิด ถูก ถ้ายังไม่สอดคล้องกันหมายความว่า ความเข้าใจของเรานี้ถูกหรือผิด ผิด เพราะฉะนั้นมีพระอภิธรรมไว้เพื่ออะไร สำหรับผู้ที่ต้องศึกษา ไม่ใช่เพียงฟังแล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้เลย แต่ผู้นั้นต้องรู้ในสภาพธรรม ในความเป็นธรรมต้องมีปรมัตถธรรมนี้แน่นอน ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป ไม่มีปรมัตถธรรม อะไรๆ ก็ไม่มี ใช่ไหม เพราะฉะนั้นพระสูตรที่ทรงแสดงไว้เป็นสภาพธรรมหรือเปล่า หรือไม่ใช่สภาพธรรม พระสูตรทั้งหมดที่ทรงแสดงเช่น อวิชชาเป็นธรรมหรือเปล่า สังโยชน์เป็นธรรมหรือเปล่า สติเป็นธรรมหรือเปล่า ทุกอย่างจะพ้นจากปรมัตถธรรมไม่ได้เลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นสติเป็นปรมัตถธรรมอะไร เป็นเจตสิกปรมัตถ์ เป็นสิ่งที่มีจริงแท้แน่นอนใช่ไหม และสติก็มีหลายระดับ สติที่เป็นไปในทาน เพราะไม่ใช่เราที่ระลึกที่จะให้ทาน ต้องเป็นกุศลจิตที่เกิดประกอบด้วยโสภณเจตสิก ๑๙ เพราะฉะนั้นสติขั้นทานไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้เกิดกับปัญญาก็ได้ ไม่มีปัญญาก็เกิดได้ สติขั้นศีลก็เช่นเดียวกัน พอถึงจิตสงบ ขณะนั้นก็ต้องเป็นสัมปชัญญะ คือประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นข้อความในพระไตรปิฎกจึงแสดงว่า ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ต้องประกอบด้วยสติ และสัมปชัญญะ คือไม่ใช่สติระดับที่เป็นทาน หรือเป็นศีล ถ้าเป็นไปในความสงบของจิตจริงๆ ที่จะอบรมให้สงบขึ้น ขณะนั้นก็ต้องมีสัมปชัญญะซึ่งประกอบด้วยปัญญาด้วย สติปัฏฐานมีความหมาย ๓ อย่าง สติที่เป็นอารมณ์ได้แก่ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทั้ง ๔ นี้ เป็นอารมณ์ของสติ นี้คือความหมายที่ ๑ อารมณ์ของสติ คือ สติปัฏฐาน และตัวสติเจตสิกซึ่งกำลังระลึกลักษณะของสภาพที่เป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ก็เป็นสติปัฏฐานเพราะว่า ไม่ใช่สติขั้นทาน ไม่ใช่สติขั้นศีล ไม่ใช่สติขั้นสมถะ และสติปัฏฐานความหมายที่ ๓ ก็คือว่า เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลาย ได้บำเพ็ญ หรือได้ดำเนินมาแล้ว นี่คือความหมาย เพราะฉะนั้นจะขาดการรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมได้ไหม แม้ว่าจะแสดงสติปัฏฐานสูตร สติปัฎฐานสูตร จะรู้สิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมหรือไม่ได้รู้ธรรมได้ไหม ไม่ได้เลย จึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ เพราะฉะนั้นผู้ที่อ่านสติปัฏฐานสูตร แต่ไม่ได้เข้าใจปรมัตถธรรม ไม่ได้ศึกษาพระอภิธรรม เขาจะทำหลายอย่างซึ่งเขาไม่รู้จักตัวธรรม คือไม่รู้ว่าธรรมคือสภาพที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ถ้าสภาพธรรมที่มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ แล้วสติระลึกจะไม่พ้นจากสติปัฏฐาน ๑ สติปัฏฐานใดใน ๔ สติปัฏฐานเลย ลองยกตัวอย่าง สภาพธรรมที่กำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ แล้วสติระลึกจะไม่พ้นจากสติปัฏฐาน ๑ สติปัฏฐานใด ในสติปัฏฐาน ๔ เลย จะพ้นไม่ได้ เพราะว่า พระอภิธรรม พระสูตร พระวินัย ต้องสอดคล้องกัน ถ้าไม่สอดคล้องเมื่อไหร่คือผิด คือไม่มีตัวธรรม ไม่มีปรมัตถธรรม และเราจะเรียนปรมัตถธรรมทำไมถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ไม่มีลักษณะที่มีจริงๆ ให้รู้ เพราะฉะนั้นพระสูตรทุกพระสูตรที่ทรงแสดง การรู้แจ้งอริยสัจจธรรมที่ ๑ คือ ทุกขอริยสัจจะ รู้ลักษณะของอะไร อะไรเกิด อะไรดับ ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่ปรมัตถธรรมมีลักษณะที่เกิดดับหรือเปล่า ต้องสอดคล้องกันหมด การอบรมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่ง ๑ ทุกขอริยสัจจะ คือการเกิดดับของสภาพธรรมก็ต้องเป็นปรมัตถธรรม ถ้าไม่ใช่ปรมัตถธรรมจะเกิดดับไม่ได้ ไม่มีลักษณะที่เกิดดับ ต้องพร้อมกันทั้ง ๓ ปิฎก และอรรถกถาต้องสอดคล้องกัน

    ผู้ฟัง สัมปชัญญะ แปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญา ไม่ใช่ปัญญาขั้นฟัง แต่เป็นปัญญาที่รู้ลักษณะพร้อมสติ มีลักษณะธรรมปรากฏ ปัญญารู้ว่าหลงลืมสติ ปัญญารู้ว่าสติเกิด เพราะฉะนั้นในขณะที่สติเกิดจะรู้ว่าไม่ใช่สติก็ไม่ได้ เพราะว่าต่างกับขณะที่เป็นไปทาน ขณะที่เป็นไปในศีล

    ผู้ฟัง คือต้องเกิดพร้อมกันใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน มรรคมีองค์ ๘ เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฐิ ขาดองค์นี้ได้ไหม ไม่ได้

    ผู้ฟัง ตรงสัมมาทิฎฐิ คือการระลึกรู้ คือการเรียนรู้ในสภาพธรรมที่แท้จริง

    ท่านอาจารย์ สัมมาทิฏฐิคือความเห็นถูกมีหลายระดับ ขั้นปริยัติ ขั้นปฏิบัติ ขั้นปฏิเวธ

    ผู้ฟัง ส่วนมากแล้วจะไม่เข้าใจตรงที่ว่า สิ่งเหล่านี้ก็ปรากฏอยู่ทุกขณะ แต่กลับระลึกไม่ได้เพราะความเคยชิน

    ท่านอาจารย์ สติไม่ได้เกิด สติมีลักษณะระลึก ขณะที่ระลึกไม่ได้คือสติไม่เกิด ในพระไตรปิฎกมีข้อความว่า มีสติ กับ หลงลืมสติ

    ผู้ฟัง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้หลายๆ ท่านที่ฟังแล้วก็ไปเกิดการทำขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ เกิดความเข้าใจหรือเปล่า ฟังได้ บางคนมีความสามารถในการฟัง แต่ไม่เข้าใจ บางคนมีความสามารถในการฟังเข้าใจ แต่แสดงไม่ได้ บางคนมีความสามารถในการฟังเข้าใจ และแสดงได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่า ฟังนะฟังได้ แต่เข้าใจหรือเปล่า

    ผู้ฟัง นั่งอยู่ที่นี่มีพร้อม แข็ง กลิ่น

    ท่านอาจารย์ ถ้าระลึกลักษณะที่มีจริงๆ จะต้องเป็นสติปัฏฐาน ๑ สติปัฏฐานใดใน ๔ จะไม่ใช่ว่าไม่มีใน ๔ เลย เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ชื่อเท่านั้นที่ต่างกัน ต่างโดยชื่อ แต่ไม่ได้ต่างโดยสภาพปรมัตถ์

    ผู้ฟัง ใน สติปัฎฐานสูตร ปปัญจสูทนีอรรถกถา มีข้อความตอนหนึ่งพูดถึงว่า ตรัสสมถะที่ได้มาแล้วด้วยอำนาจกายานุปัสสนาไว้ด้วยสติ ตรัสวิปัสสนาไว้ด้วยสัมปชัญญะ ตรัสพลังแห่งภาวนาไว้ด้วยการขจัดอภิชฌา และโทมนัสออกไป ตรงนี้จะเห็นว่าพูดถึงสมถะด้วย

    ท่านอาจารย์ สมถะ คืออะไร คือทุกคำที่เราได้ยิน ต้องเข้าใจให้ตรง และถูกต้อง ถ้าพูดถึงสมถะตรงนี้ สมถะคืออะไร ถ้าไม่ตอบหรือไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด ก็ตั้งต้นไม่ได้ เพราะว่าเราตั้งต้นด้วยความไม่รู้ เพราะฉะนั้นทุกคำเราต้องเข้าใจความหมายนั้นชัดเจนจริงๆ ว่าหมายความว่าอะไร คำว่าสมถะ หมายว่าอย่างไร คืออะไร ไม่ใช่เพียงเราอ่านแล้วเราก็ใช้ชื่อสมถะ แต่เรายังไม่รู้เลยว่าสมถะคืออะไร พอได้ยินคำว่าสมถะ ต้องรู้ตลอดว่าสมถะคืออะไร เริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นสมถะคืออะไร ถ้ายังไม่รู้หมายความว่า ข้อความตอนนี้เราไม่สามารถจะเข้าใจต่อไปได้ แต่ถ้าเรารู้ เราก็จะสามารถเข้าใจข้อความตอนนี้ต่อไปได้อีกเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจ คิดว่าสมถะ คืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งในกรรมฐาน ๓๘

    ท่านอาจารย์ อันนั้นคืออารมณ์ แต่ตัวสมถะคืออะไร

    ผู้ฟัง ตัวสมถะ คือสติตรงนี้เขาบอกว่า ด้วยสติ

    ท่านอาจารย์ มีกุศลจิตใดที่ไม่มีสติเจตสิกเกิดด้วยไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี เพราะฉะนั้นต่างขั้นกัน กุศลต่างขั้นกัน เพราะฉะนั้นความหมายของคำว่าสมถะเรายังไม่รู้เลย ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่า สมถะ คือ อะไร

    ท่านอาจารย์ สติเป็นสติแล้ว สมถะคืออะไร

    ผู้ฟัง สติที่เป็นไปด้วยอำนาจกายานุปัสสนา

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าพูดถึงสมถะก่อน ยังไม่พูดถึงตรงนี้ เพราะว่าสมถะทั่วไปไม่ใช่เฉพาะตรงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นคำว่าสมถะหมายความว่าอะไร คืออะไร เมื่อไหร่

    ผู้ฟัง ตามความเข้าใจ สมถะหมายถึงสภาพจิตที่เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ อันนี้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตเกิด ทำไมจึงเป็นสมถะ เวลาที่กุศลจิตเกิดทำไมจึงเป็นสมถะ เมื่อสักครู่บอกว่าสมถะได้แก่ขณะใดที่เป็นกุศลใช่ไหม อันนี้คือเมื่อไหร่เป็นสมถะแต่ว่าความหมายตรงตรงๆ ของสมถะคืออะไร ถ้ากล่าวว่าสมถะได้แก่ขณะที่จิตเป็นกุศล ก็จะต้องมีคำถามต่อไปว่า เพราะอะไรกุศลจึงเป็นสมถะ เพราะว่าการศึกษาธรรมถามไปได้เรื่อยๆ ตลอดจนกว่าแจ่มแจ้ง ถ้ายังไม่แจ่มแจ้งหมายความว่าเราติดแล้ว ตรงนั้นเรายังคลุมเครือหรือว่าเรายังไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจ และตอบคำถามให้ใจของเราเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้น คือไม่หยุดที่จะสอบจนกระทั่งเป็นความเข้าใจถูกต้อง เมื่อนั้นเราก็จะได้ความถูกต้อง เพราะฉะนั้น คำว่าสมถะคืออะไร

    ผู้ฟัง คือสภาพจิตที่เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ทำไมกุศลจึงเป็นสมถะ สมถะได้แก่สภาพจิตที่เป็นกุศลแต่ทำไมกุศลจึงเป็นสมถะ เพราะอะไร ความหมายของสมถะ คือสงบ สมถะไม่ใช่สมาธิ แต่สมถะสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้นขณะใดที่สงบจากอกุศลขณะนั้นเป็นกุศลจึงเป็นสมถะ เพราะสงบ กุศลทุกประเภทสงบจากอกุศล หากรู้ว่าจิตเป็นอกุศลเยอะ เพราะฉะนั้นคนที่มีปัญญาต้องมีปัญญา จึงสามารถที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องใช้คำว่าภาวนา เพราะคำว่าภาวนาที่นี่หมายความว่า อบรมให้เพิ่มขึ้น ให้มากขึ้น ให้เจริญขึ้น เพราะว่าทานก็นิดเดียว ศีลก็นิดเดียว วันหนึ่งก็ให้ทานไม่มากไม่บ่อย ศีลก็ไม่บ่อย เพราะฉะนั้นระหว่างที่ไม่มีทาน ศีล จิตจะไม่สงบเลย เดี๋ยวเป็นกุศล เดี๋ยวเป็นอกุศล เพียงแค่นี้ ที่เห็นไม่รู้แล้วว่าอกุศลติดตามมาทันทีที่เห็นแล้ว และทันทีที่เสียงได้ยินไม่รู้เลยว่าอกุศลหรือกุศลติดตามมา ส่วนใหญ่แล้วต้องเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าเรายังไม่มีการที่จะรู้ว่าลักษณะใดเป็นกุศล ลักษณะใดเป็นอกุศล ความไม่รู้นั้นเองก็ทำให้เป็นอกุศล เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่หลังเห็น หลังได้ยิน หลังได้กลิ่น หลังลิ้มรส หลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ตามด้วยอกุศล ผู้มีปัญญารู้ ผู้ไม่มีปัญญาบอกว่าฉันไม่มีอกุศล วันหนึ่งๆ ฉันไม่มีอกุศลเลย จะมาว่าฉันมีอกุศลได้ยังไง เพราะว่าไม่ได้ไปทำบาป ไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ ไม่ได้ไปเอาของของคนอื่นใช่ไหม คนที่มีปัญญารู้ จึงมีปัญญาที่รู้ว่า ถ้าจิตตรึกนึกถึงสภาพของจิตที่สงบ ไม่ใช่เรื่องของกุศล ถ้าเวลาที่นึกทาน บางคนเกิดความมานะความสำคัญตน เราสามารถที่จะให้ทานได้ถึงอย่างนี้ใช่ไหม บางคนก็เกิดโลภะติดข้องว่า จะได้ไปเกิดบนสวรรค์ ทานให้แล้ว จะได้มีทรัพย์สมบัติมากๆ อย่างนั้นจิตไม่สงบเลย แต่ผู้มีปัญญาจะรู้ว่า สภาพของจิตที่สงบคืออย่างไร ขณะนั้นไม่มีนิวรณธรรมเลย ไม่มีกามฉันทะ พยาปาทะใดๆ แล้วก็รู้ด้วยว่าอารมณ์ใดจะทำให้จิตเป็นกุศลเพิ่มขึ้นบ่อยๆ เพราะว่าการคิดของเราถ้าคิดด้วยอกุศลจิต อกุศลจิตก็เพิ่มขึ้น ถ้าคิดด้วยกุศลจิต ความสงบก็เพิ่มขึ้น หรือกุศลก็เพิ่มขึ้น อย่างคนที่มีเมตตาไม่ใช่จะเจริญเมตตา แต่อบรมให้มีเมตตา ไม่ว่าจะเจอใคร ทันทีเลย เมตตาเกิด ไม่ใช่มานั่งท่อง ขอสัตว์ทั้งหลายจงมีความสุข ท่องแต่ว่าจิตขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า นี่เป็นความต่างกัน เพราะฉะนั้นผู้ที่มีปัญญาก็สามารถที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า ถ้าตรึกหรือนึกถึงอารมณ์ใดแล้วเป็นกุศลเพิ่มขึ้น สงบเพิ่มขึ้น อารมณ์นั้นเป็นสมถะภาวนา หรือเป็นสมถกรรมฐาน หรือเป็นอารมณ์ของสมถะ ซึ่งก่อนพุทธกาลจะไม่มีพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เพราะไม่มีการตรัสรู้ ไม่มีการที่จะระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เวลาที่บางคนไม่รู้ นั่งท่องพุทโธ แต่เขาไม่สามารถที่จะมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ว่า ขณะที่นึกถึงคำพุท และคำว่า โธ จิตสงบหรือเปล่า เราท่องอะไรก็ได้ คำไหนก็ได้ แต่ไม่มีปัญญาพอที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสงบไหม แต่ขณะที่เราฟังธรรม หรือว่าอ่านพระธรรม แล้วมีความซาบซึ้งในพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะรู้เลยว่าขณะนั้นจิตของเราเกิดปีติ และก็มีความสงบ ขณะที่กำลังเข้าใจธรรม เขาสามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นอริยสาวก สมถะภาวนาของท่านเหล่านั้น จะเป็นพุทธานุสสติ ธรรมมานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นประเภทเหล่านี้ นี่คือการอบรมสมถภาวนา แต่สำหรับสติปัฎฐานซึ่งเป็นกุศล ซึ่งเกิดพร้อมกับสติสัมปชัญญะที่สามารถจะระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ขณะนั้นจะสงบไหม ที่กำลังรู้ลักษณะจริงๆ ประกอบด้วยปัญญาต่างระดับกับสมถภาวนา เพราะฉะนั้นก็ต้องรู้ว่ามีข้อความที่กล่าวว่า มรรคมีองค์ ๘ พร้อมทั้งสมถะ และวิปัสสนาสำหรับวิตกที่เป็นสัมมาสังกัปปะ และสัมมาทิฎฐิที่เป็นองค์ของวิปัสสนา นอกจากนั้นเป็นองค์ของสมถะ ก็แสดงให้เห็นว่าเราต้องศึกษาจริงๆ ให้เข้าใจจริงๆ ว่าสมถะคือสงบ เมื่อไหร่ถ้าเป็นอกุศลไม่ต้องพูดกันเลย สงบไม่ได้ ใครก็ตามที่จะไปนั่งพูด พุทโธ พุทโธ อยู่ ๑ ชั่วโมงโดยที่ไม่มีสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะสภาพของจิต จะบอกว่ากำลังทำสมถะภาวนา เป็นไปไม่ได้ หรือว่าไปดูซากศพแล้วก็คิดว่าตัวเองสงบ แต่ความจริงตกใจกลัว ขณะนั้นก็จะสงบไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจสภาพปรมัตถธรรม ไม่ว่าจะศึกษาหรือพบข้อความใดๆ ในพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรม ให้สอดคล้องกันด้วย

    ผู้ฟัง ในพระสูตรหลายแห่ง เราจะพบว่าพระภิกษุในครั้งนั้นจะมีการสาธยายด้วย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง การสาธยายพร้อมกับที่รู้สภาพจิตที่เป็นกุศลด้วย เป็นไปได้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นไปได้ เช่นในขณะนี้ สติปัฎฐานสามารถจะเกิดขึ้นแทรกคั่นได้เลย หรือสติที่เป็นความสงบประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่สติปัฏฐานเท่านั้นที่จะรู้ได้ ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานไม่มีทางจะรู้เลย ชื่อต่างๆ ในพระสูตร ข้อความต่างๆ ในพระวินัย หรือในพระอภิธรรม ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐานจะเป็นเรื่องราวทั้งหมด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ