ปกิณณกธรรม ตอนที่ 41


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า รูปที่เป็นรูปใหญ่ที่เป็นประธานมี ๔ รูป ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เอาแค่ ๔ ธาตุนี้ก่อน เพราะฉะนั้นธาตุไฟคืออุตุ เมื่อเกิดแล้วเป็นปัจจัยทำให้รูปอื่นเกิดด้วย เพราะฉะนั้น รูปของเราที่เจริญเติบโตมาเพราะอุตุเป็นปัจจัย เพราะฉะนั้นแล้วแต่อุตุซึ่งเกิดจากกรรมว่า อุตุนั้นจะมีขณะไหน จะทำให้คนสูงต่ำดำขาวอย่างไร เพราะว่าเป็นไปตามกรรมอีกเหมือนกันใช่ไหม บางคนก็เกิดมาก็ไม่สูงเลย บางคนก็รูปร่างกำลังพอดี แสดงให้เห็นว่า อุตุซึ่งเกิดเพราะกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ซึ่งทำให้รูปเกิด แสดงให้เห็นว่า ที่รูปของเราเจริญเติบโตมาทั้งหมดไม่ใช่เพราะกัมมชรูป เพราะเหตุว่ากัมมชรูปเล็กมาก นิดเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้นยังต้องมีอุตุชรูป และที่จะเคลื่อนไหวไปได้ก็เพราะมีจิตเป็นสมุฏฐาน ทำให้รูปนั้นเกิด และก็ยกมือเดินไปทำอะไรได้ทุกอย่าง ยิ้มบ้าง หัวเราะบ้าง พูดบ้าง ร้องไห้บ้าง มันก็เรื่องของจิตตชรูป แล้วก็เพียงเท่านั้นก็ยังไม่พอ แม้ว่าจะมีรูปซึ่งเกิดจากกรรม แม้ว่าจะมีรูปซึ่งเกิดจากจิต ยังต้องอาศัยอาหารที่มีโอชะอยู่ในอาหารนั้นรับประทานเข้าไป แล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดรูป เพราะฉะนั้นในร่างกายนี้ที่จะดำรงอยู่ได้จะขาดอาหารไม่ได้ เพราะอาหารเป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้รูปเกิด ด้วยเหตุนี้ในรูปของสัตว์บุคคลจึงมีรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ คือ มีทั้งรูปที่เกิดจากกรรม มีทั้งรูปที่เกิดจากจิต มีทั้งรูปที่เกิดจากอุตุ และมีทั้งรูปที่เกิดจากอาหารด้วย

    ผู้ฟัง ขอย้อนกลับไปที่ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องจิตที่เกิดก่อนจะดับไปก็เป็นอนันตรปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ก่อนจะดับไป จิตที่เกิดเป็นปัจจัยโดยเมื่อดับแล้ว ทำให้จิตขณะต่อไปเกิด

    ผู้ฟัง โดยอาศัยจิตดวงก่อน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตที่ดับไปนั้น จิตดวงต่อไปก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงรูปกลุ่มของรูปที่ดับไป เป็นปัจจัยให้รูปต่อไปเกิดหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง ความต่างของรูปธรรม และนามธรรม คือ นามธรรมจะเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นอนันตรปัจจัย แต่รูปไม่เป็นอนันตรปัจจัย

    ผู้ฟัง ฟังที่ท่านอาจารย์กล่าวอยู่ตอนหนึ่งว่า จักขุปสาทจะไม่มีในคนตาย และจักขุปสาทจะปนเปไปกับพวกดี เสมหะ

    ท่านอาจารย์ หมดแล้ว ไม่มีกรรมทำให้เกิดเลย ไม่มีแล้ว เหลือแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ตัวจักขุรูปที่เราเรียกว่า สสัมภาระจักขุ ตาทั้งหมด ไม่ใช่จักขุปสาท หมายเฉพาะสสัมภารจักขุ

    ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงจิต มีคำอธิบายว่าเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นอาการรู้ แต่โดยลักษณะจริงๆ ของจิต มีลักษณะ ๔ ประการคือ ๑. มีลักษณะที่รู้แจ้งในอารมณ์ ๒. เป็นความวิจิตรของจิต ๓. เป็นลักษณะของความคิดนึก ๔. เป็นการสั่งสมกรรมกิเลส เพราะลักษณะ ๔ ประการนี้เป็นลักษณะของจิตโดยเฉพาะ เพราะปกติแล้วเราพูดถึงสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรม ขณะที่ฟังท่านอาจารย์พูดก็รู้สึกว่า ความไม่มีตัวไม่มีตนนั้น มันก็เป็นไปได้ในขณะที่กำลังฟังชื่อเรื่องว่า สิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นตัวเรา แท้ที่จริงคือเป็นรูป เจตสิก และเป็นจิตเท่านั้น ไม่น่าที่จะทำให้เราต้องมานั่งเสียเวลาอบรมเจริญปัญญาอะไรมากมาย เพียงแต่เวลานี้ความเข้าใจในการฟังก็พอมีอยู่แล้ว แล้วการที่จะละหรือไถ่ถอนความเป็นตัวตนจะต้องอาศัยปัญญาขั้นไหนที่จะค่อยๆ หมดไป

    ท่านอาจารย์ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่ใช่เข้าใจชื่อ ไม่ใช่เข้าใจเรื่อง แต่เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏถูกต้อง

    ผู้ฟัง ขณะนี้เวลานี้ ถ้าจะถามว่า อะไรกำลังปรากฏ ก็คือว่า ทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏคือทุกคนกำลังมองเห็นอยู่ พอฟังท่านอาจารย์บอกเป็นจิตไม่ใช่เป็นเราก็เข้าใจได้ตามที่ฟัง แต่พอจบก็ยังเป็นเรารู้สึกว่าในขณะที่ฟังก็รู้ว่าเป็นเรื่องของจิต

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่อง ไม่ได้เข้าใจลักษณะ

    ผู้ฟัง การที่จะรู้ลักษณะของจิตได้ต้องอาศัยการปฏิบัติธรรมอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ปฏิบัติ เลิกคิดเรื่องปฏิบัติ เลิกจริงๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่ฟัง ถ้าเข้าใจนี่คือปฏิบัติ ไม่ได้ให้ไปทำอย่างอื่นเลย เวลานี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และต้องเข้าใจในขั้นฟัง แต่ว่าลักษณะจริงๆ ของธาตุที่กำลังเห็น กำลังรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เข้าใจลักษณะนี้ที่กำลังเห็น และเข้าใจสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏให้เห็น แล้วก็ให้คิดตามสิ่งที่ปรากฏ เข้าใจให้ถูกต้องทีละเล็กทีละน้อยนี่คือปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นอย่าไปคิดทำสติหรืออะไร เข้าใจขณะใดขณะนั้นสติเกิดแล้ว

    ผู้ฟัง ที่เรามองเห็น ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ความรู้สึกอ่อนแข็งอะไรก็ปรากฏพร้อมกันจนถึงขณะที่ว่าสติซึ่งเป็นอนัตตาเกิดขึ้นเอง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องเพราะเข้าใจ ไม่ใช่ลักษณะอย่างนั้นลักษณะเป็นอย่างนั้น แล้วแต่จะระลึกที่ลักษณะใด ขณะนี้เป็นสภาพธรรมทั้งหมด ยอมรับไหมเป็นสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้นแล้วแต่สติจะระลึกลักษณะสภาพธรรมใดก็เป็นธรรมหมดทุกอย่าง ไม่มีการเลือก และคนนั้นก็รู้เองว่า สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมใด เพราะกำลังค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของภาพธรรมนั้นที่จะเข้าใจในลักษณะสภาพธรรมนั้นเพราะสติระลึก ถ้าสติไม่ระลึกก็เข้าใจไม่ได้การไม่รู้หนทางที่จะทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทำไมต้องทำอะไรในเมื่อสภาพธรรมกำลังทำอยู่ จักขุวิญญาณก็กำลังทำกิจเห็น โสตวิญญาณก็ทำกิจได้ยิน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจอยู่ทุกขณะ แต่อวิชชาไม่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจการงานตามหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้นจากขั้นการฟัง และก็มีการระลึกได้แล้ว ก็ค่อยๆ รู้ความจริงทางตาที่กำลังเห็นหูที่กำลังได้ยินจนกว่าจะรู้ชัดขึ้น นี่คือปฏิบัติธรรมซึ่งไม่ใช่เรา สติปฏิบัติกิจของสติปัญญา ปฏิบัติกิจของปัญญาสภาพธรรมที่เป็นมรรคปฏิบัติกิจของมรรค ไม่ใช่เราทำ แต่ว่าเข้าใจค่อยๆ เข้าใจขึ้นเพราะจะมีสติทำไม ถ้าไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีความหมายเลย จะไปเอาสติมาทำไม แต่ที่อบรมเจริญสติก็เพื่อที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่เป็นเราจะอบรม สติเกิดระลึกเมื่อไหร่ ก็อบรมเมื่อนั้น อบรมไปทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง เวลาที่เรามอง

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องมองไป แค่ลืมตาก็เห็นแล้ว นั่นจิตเกิดดับนับไม่ถ้วนแล้ว ไม่ใช่ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นก็มีจิตหลายประเภทซึ่งเกิดดับสืบต่อเร็วมาก จิตใดที่เกิดแล้วดับแล้วก็หมดเลย ไม่มีเหลือที่จะเป็นเราได้เลย แม้ขณะเดียว แล้วเราจะอยู่ที่ไหน ถ้าปัญญาเกิด

    ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงสติ เป็นสิ่งที่เกิดยาก แต่ว่าความคิดเกิดเป็นประจำตลอดเวลา ถ้าสมมุติเราจะมีการสังเกตว่า ขณะใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถ้าปรากฏแล้วไม่ใช่เป็นลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามที่เราได้ศึกษามา ก็แสดงว่าขณะนั้นสติไม่เกิด มีแต่ความคิดที่เรา คิดถึงสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ เราไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากฟังพระธรรมแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เวลานี้ก็ฟังแล้ว ยอมรับว่าเข้าใจขึ้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้นอีก ไม่ใช่อยู่กับที่

    ผู้ฟัง เป็นความต้องการ สิ่งที่เราฟังมาศึกษามา เป็นที่สังเกตว่า ถ้าขณะใดสติไม่เกิด สิ่งที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๕ จะไม่มีลักษณะปรากฏ ก็คงเป็นชื่อ หรือเป็นเรื่องเป็นราวทั้งหมดก็เป็นอย่างนี้ไปตลอดทุกวันทุกคืน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นธรรมเครื่องเนิ่นช้าแสดงไว้ว่า โลภะอย่างหนึ่ง เป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า ไม่เห็นจำเป็นจะต้องต้องการอะไรเลย ต้องการอะไรนักหนา ในเมื่อทางตายังไม่รู้ ก็ค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ทางหูยังไม่รู้ ก็ค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะหวังอะไรเกินกว่านี้

    ผู้ฟัง ความก้าวหน้า

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่คือความก้าวหน้า

    ผู้ฟัง รู้สึกว่า ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ท่านอาจารย์ นั่นคืออะไร นั่นไม่ใช่ความก้าวหน้า นั่นคือการถอยหลัง เพราะว่าไม่พอใจ เพราะว่ามีความต้องการอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าเป็นความค่อยๆ เข้าใจขึ้นก็เป็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าต้องการมากกว่านี้ นั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ไหนๆ พูดถึงเรื่องปรมัตถธรรมแล้ว ถ้าจะไม่พูดถึงเรื่องการปฏิบัติ ก็จะดูเหมือนขาดอะไรไป

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่า คิดว่าจะทำ ไม่ได้คิดว่าจะเข้าใจ ที่เรามาฟังที่นี่ เพื่อที่จะเข้าใจ

    ผู้ฟัง คำว่า มิจฉาปฏิปทา คือการปฏิบัตในข้อที่ผิดจากการเจริญมรรค ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่ไม่ทำให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องทิ้งคำว่า ปฏิบัติ ไปได้เลย

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ต่อไปนี้ไม่ต้องใช้แล้วใช่หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องสนใจเลย

    ผู้ฟัง แล้วจะให้สนใจเรื่องอะไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฎ ตั้งเข็มใหม่ ไม่ต้องไปทำอะไรทั้งหมด ค่อยๆ ฟังให้เข้าใจ และรู้ตัวเองว่า ลักษณะสภาพธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือ ไม่ใช่เรื่องราว แต่มีจริงๆ กำลังเผชิญหน้า ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เพียงเข้าใจเรื่อง นี่คือการปฏิบัติธรรม ไม่ต้องไปนั่งทำอะไร หรือไม่ต้องคิดว่าจะปฏิบัติ ขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจขึ้นคือการปฏิบัติธรรมธรรม กำลังปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม สมควรแก่ธรรม คือ เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่มีใครพูดเรื่องปฏิบัติสนใจเรื่องปฏิบัติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง น่าจะหลงลืมไป

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีใครพูดคำนี้เลย จะสนใจไหมเรื่องปฏิบัติ เพราะได้ยินได้ฟังมาใช่หรือไม่ ถ้าเราไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟังเลย เราก็ไม่ต้องไปสนใจใช่หรือไม่ แต่เรามีความเข้าใจในพระธรรม เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มมากขึ้น เพราะทราบว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ทรงแสดงเรื่องของสิ่งที่มีจริงๆ ให้ปัญญาของเรารู้สิ่งที่มีจริงๆ โดยอาศัยการฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นี่คือการปฏิบัติธรรมซึ่งไม่ต้องไปทำอะไรอย่างที่คิดว่าฟังแล้วต้องปฏิบัติ

    สนทนาธรรมที่จังหวัดเชียงใหม่มีนาคมพุทธศักราช ๒๕๔๔

    ผู้ฟัง ปัญหาที่ขอถาม คือปัจจัยของการมีสติ และปัจจัยของการหลงลืมสติ เพราะคิดว่าตัวเองมีสติอยู่ตลอด หรือคิดว่าตัวเองหลงลืมสติอยู่ตลอด ผมว่าคงไม่ถูกต้องที่ผมเข้าใจอย่างนี้ ขอเรียนถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ จริงๆ ต้องเข้าใจว่าการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจธรรม ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องสติ เพราะว่าถ้าศึกษาโดยละเอียด สติเกิดกับกุศลจิตทุกประเภท แม้แต่ที่มานั่ง และมีศรัทธาเกิดเมื่อไรที่จะฟังธรรม ขณะนั้นก็ต้องมีสติเกิดแล้ว แต่ว่าไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างได้ ถ้าไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นสติจึงมีหลายระดับ สติขั้นทาน ขณะใดที่เราให้ทาน เป็นไปในการให้วัตถุที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ขณะนั้นไม่มีตัวตน เพราะว่าในพระพุทธศาสนาไม่มีตัวตน แต่มีสภาพธรรมฝ่ายดี และฝ่ายชั่ว ถ้าขณะที่ธรรมฝ่ายดีเกิด ความประพฤติก็เป็นไปทางกายทางวาจาใจที่ดี ขณะที่ให้ทาน ขณะที่มีศรัทธาที่จะฟังธรรม ก็มีสติ และก็มีโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดด้วย ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ตัตตรมัชฌัตตตา ถ้าศึกษาต่อไปก็เยอะ แต่ว่าเราไม่สามารถจะรู้ลักษณะสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมตามความเป็นจริง มีจริงๆ มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้นด้วย ใครก็บังคับบัญชาหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างเสียงมีปัจจัยก็เกิดเป็นเสียงนี้ แล้วก็เป็นเสียงอื่น มีตั้งหลายเสียง เพราะฉะนั้นแต่ละอย่างที่จะเกิด เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิด สั้นมาก เร็วมาก หมด เพราะฉะนั้นยากที่จะมีการระลึกลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ แต่ว่าเราไม่ต้องไปคำนึงถึง ว่าเกิดไปแล้ว ดับไปแล้ว ไม่กลับมาอีก ไม่มีอะไรเหลือ เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดสืบต่ออยู่เรื่อยๆ พร้อมที่จะให้มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ฟังให้เข้าใจขึ้น ให้เข้าใจขึ้น และรู้ว่าความเข้าใจธรรมมีหลายระดับ ขั้นฟังเข้าใจว่าขณะนี้กำลังฟังเรื่องของธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วไม่เคยเข้าใจถูกเลย ทางตาที่กำลังเห็นก็มี ทางหูก็เป็นธรรม ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด นี่คือขั้นฟัง และขั้นพิจารณาเริ่มจะเข้าใจ แต่ไม่ใช่ว่าเรารู้จักธรรม เพราะว่าตัวธรรมจริงๆ ต่อให้กำลังปรากฏอยู่ก็ไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียง หรือความคิดนึกทั้งหมดที่มี จนกว่าความเข้าใจของเราจะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นยังไม่ต้องไปคำนึงถึงเรื่องสติปัฏฐาน แต่ให้คำนึงถึงว่า เราฟังธรรม เรามีความเข้าใจเรื่องตัวธรรมที่กำลังปรากฏมากน้อยแค่ไหน เพิ่มขึ้น และเมื่อเพิ่มขึ้นแล้วก็เป็นปัจจัยที่จะให้สัมมาสติเกิดระลึก เพราะว่าฟังแล้วรู้แล้วว่า มีจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็มีลักษณะเฉพาะอย่างที่เป็นวิเสสลักษณะ เช่นเสียงไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏไม่ใช่อ่อนหรือแข็ง เพราะฉะนั้นธรรมแต่ละอย่าง ก็มีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นๆ ซึ่งถ้าปัญญาจะเกิด สติจะเกิด จะระลึก ก็คือเข้าใจลักษณะของธรรมว่าเป็นธรรมขึ้น พ้นจากการเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เป็นเรา เป็นเขา เป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ แท้ที่จริงแล้วลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมเท่านั้น ฟังเพื่อที่จะให้เข้าใจความจริงจนเวลาที่สติเกิดระลึก ก็เห็นความเป็นธรรมของสิ่งที่มีตามปกติที่เคยเป็น แต่ว่าตามปกติของเรา เป็นความเข้าใจผิด ความเห็นผิด การหลงลืมสติ คือแม้แต่ฟังก็ฟังเรื่องราว แต่เวลาที่จะมีความเข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม ต้องอาศัยสติปัฏฐานเท่านั้น ที่จะเกิดแล้วระลึกซึ่งไม่มีใครไปเร่งรัดให้สติปัฏฐานเกิดได้ อยากจะให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ ก็ผิดคือ ตัวอยาก จะเข้ามาแทน ทำให้ไขว้เขวไป เพราะว่า มีเรา มีความรักตน มีความอยากให้ตัวจากไม่ดีก็ดีขึ้นจากดีแล้วก็ให้มีปัญญา มีปัญญาแล้วก็ให้มีให้มากขึ้น คือมีแต่ตัวอยากที่จะนำ เพราะฉะนั้นการที่อริยสัจ ๔ เห็นยาก เพราะเหตุว่าจะต้องเห็นทั้ง ๔ อริยสัจจะโดยสัจจญาณ หมายความว่า ฟังพิจารณาเข้าใจว่าเป็นความจริง ซึ่งไม่มีใครไปสร้าง ไปบังคับ ไปพยายาม ไปอยากได้ แต่ว่าสภาพธรรมทุกอย่างในขณะนี้ เกิดเป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่นตามปัจจัยที่เกิดทำให้เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นการฟังที่ละเอียดขึ้น เข้าใจละเอียดขึ้น จะทำให้มีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเมื่อไหร่ที่สัมมาสติเกิด เมื่อนั้นก็จะเห็นความต่างของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิด เรื่องสติปัฏฐานอย่าเพิ่งคิดว่าจะปฏิบัติ หรือจะทำ เพียงสนใจศึกษาให้เข้าใจสติปัฏฐานเพิ่มขึ้นให้ถูกต้อง จะทำให้มีการรู้ว่า ขณะไหนที่สติเกิด กับหลงลืมสติ เพราะว่าสภาพธรรมไม่เปลี่ยนเลย แต่ว่าเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด ก็ผ่านไปดับไปโดยไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิดจะเหมือนเดิมคือเป็นปกติ บางทีท่านก็ใช้คำหลายคำอนุเคราะห์ให้เราเห็นให้ถูกต้องเช่นคำว่า อนุปัสนา อนุแปลว่าตาม เห็นตามไม่ใช่ไปทำขึ้น สภาพธรรมขณะนี้มีปรากฏ เห็นตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ ฉะนั้นจะไม่มีเราที่พยายามจะไปสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นแต่กลับระลึกลักษณะที่กำลังมีตามปกติถ้าเป็นการศึกษาก็จะทราบว่า แข็งเป็นสิ่งที่ปรากฏทางกายทวาร หรือ กายปสาท คือที่ตัวจะมีรูป เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่อ่อนหรือแข็ งตึงหรือไหว เย็นหรือร้อน เป็นลักษณะของรูปนี้ ที่สามารถกระทบได้ เพราะฉะนั้นขณะนี้ที่มีแข็งปรากฏเพราะมีกายปสาทเป็นกายทวาร เป็นสิ่งที่ใครจะไปบังคับไม่ให้เกิดไม่ได้ เดี๋ยวนี้มีแล้ว ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ต้องรู้ว่าสภาพธรรมทุกอย่างมีจริงเมื่อปรากฏ ปรากฏเมื่อเกิด ถ้าไม่เกิดก็จะปรากฏไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกอย่างที่กำลังปรากฏหมายความว่า เกิด จึงได้ปรากฏ และถ้าคิดพิจารณาให้ลึกซึ้ง ให้เข้าใจจริงๆ เมื่อกี้นี้ไม่มี ต้องมีขณะที่สภาพธรรมไม่ได้ปรากฏ แล้วเกิดปรากฏขึ้น เช่นเสียงเมื่อกี้นี้ไม่มี แล้วก็มีเสียงเกิดขึ้นปรากฏ แล้วเสียงก็หมดไป ฟังแค่นี้ก็รู้แค่นี้ แต่ถ้าศึกษาต่อไปแล้วพิจารณาถึงขณะที่ไม่มี เช่นขณะที่เป็นภวังค์ ตอนหลับจะเห็นได้ชัดกว่าตอนนี้ เพราะว่าตอนหลับอะไรๆ ก็ไม่ปรากฏเลย แต่พอตื่น ถ้าเสียงปรากฏก็หมายความว่า ขณะนั้นไม่ใช่หลับ จากที่ไม่เคยมีอะไรปรากฏเลย แล้วเกิดมีปรากฏ ถ้าเป็นเราเป็นชีวิตประจำวันไม่น่าอัศจรรย์ แต่ถ้าพิจารณาว่าเป็นธาตุหรือเป็นธรรม เสียงมีจริงๆ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีลักษณะที่ดังกระทบกับโสตปสาท เสียงมีได้ยังไง แค่นี้ก็น่าอัศจรรย์แล้ว จากการที่ไม่มีเสียงเลย และก็เสียงมี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    22 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ