ปกิณณกธรรม ตอนที่ 13


    ตอนที่ ๑๓


    ท่านอาจารย์ และสติจริงๆ คืออะไร แต่สติในพุทธศาสนาแล้วต้องหมายความถึง สภาพที่ดีงาม ถ้ากำลังเดินไปตามถนน แล้วก็สามารถที่จะข้ามถนนได้ปลอดภัย อย่าไปบอกว่าเขามีสติ เพราะว่า ถ้าใช้คำว่า สติ ต้องหมายความว่า เป็นไปในกุศลทั้งหมด คือเป็นไปในทานบ้าง เป็นไปในศีลบ้าง เป็นไปในการฟังธรรม หรือว่า การที่จิตใจสงบจากอกุศลหรือจากการอบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้นก่อนอื่นที่จะฟังธรรม ขอให้เข้าใจแต่ละคำให้ถูกต้อง แต่ส่วนสมาธิเป็นอีกลักษณะหนึ่ง สมาธิคือ ขณะที่จิตใจจดจ้องอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แน่วแน่มั่นคง อย่างเวลาที่เรากำลังตั้งใจทำงานหรือว่า เขียนหนังสือ หรือวาดรูป หรือว่า แม้แต่จะเดินไปตามถนน ปลอดภัย ขณะนั้นก็ไม่ใช่สติ แต่เป็นสมาธิได้ หมายความว่า มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะประคับประคองไม่ให้เป็นอย่างอื่น เพราะฉะนั้นเรื่องธรรมนี้เป็นเรื่องละเอียด อย่าเพิ่งรวดเร็วที่จะไปทำอะไรขึ้นมา แต่ว่า ให้เป็นความเข้าใจของเราเองว่า เมื่อฟังแล้วจะรู้ว่า ธรรมกับสิ่งที่เราเคยคิดมาก่อน ความหมายต่างกัน และเราจะรู้สึกว่า ถ้าเราฟัง และเข้าใจคำที่เราเคยใช้ให้ถูกต้องขึ้น นั่นคือ เราเริ่มเข้าใจธรรมทีละเล็กทีละน้อย และใจร้อนใจเร็วไม่ได้เลย แต่ละอย่างจะต้องเป็นเรื่องที่พิจารณาจริงๆ และเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังพูดจริงๆ และต้องเป็นไปตามขั้นด้วย ขณะนี้มีสติหรือเปล่า คนอื่นตอบให้ได้ไหม หรือว่าตัวเองต้องตอบเอง ตัวเองต้องตอบเอง ปัญญาของใครก็ของคนนั้น และถ้าทราบว่า สติเป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ขณะนี้โลภหรือเปล่า โกรธหรือเปล่า กำลังฟังเพื่อที่จะได้เข้าใจ เกิดปัญญารู้ถูกต้องในสิ่งที่มี ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนหรือเปล่า ถ้าขณะที่ความเข้าใจเกิดขึ้นแม้แต่ฟังเรื่องโลกแล้วจะรู้ว่า โลกที่เราเคยเข้าใจว่า กว้างใหญ่ แท้ที่จริงแล้วเป็นผงละเอียดๆ ซึ่งเกิดดับ แต่ว่าเกิดรวมกันติดกันเป็นก้อนใหญ่ จนกระทั่งทำให้เราเรียกสิ่งนั้นว่า โลก แต่ความจริงโลกทุกขณะจิตนี้ก็แตกย่อย และโลกไม่ใช่มีแต่โอกาสโลก คือโลกซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย แต่โลกยังมีความหมายที่ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้น และดับไปเป็นโลกทั้งหมด เพราะฉะนั้นกำลังเห็นในขณะนี้ก็เป็นโลก กำลังได้ยินในขณะนี้ก็เป็นโลก กำลังคิดนึกในขณะนี้ก็เป็นโลก เพราะถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีโลกใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ย่อโลกใหญ่แยกมาเป็นโลกเล็กๆ แต่ละใบ คือโลกของแต่ละคน จริงๆ นี่คือความหมายของโลก เพราะเหตุว่า เราคิดว่าโลกนี้มีคนเยอะ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วก็คือ เห็น มีแน่ๆ ใช่ไหม ขณะนี้เป็นโลกหนึ่ง หลังจากเห็นแล้วยังมีความคิดในสิ่งที่เห็นอีก นั่นก็เป็นโลกทางใจ เพราะเหตุว่า ที่จะห้ามว่าเห็นแล้วไม่ให้คิดถึงสิ่งที่เห็น เป็นไปไม่ได้ แต่เราไม่รู้ตัวว่า แท้ที่จริงแล้วทันทีที่เห็น เรามีความคิด โลกของความคิดเกิดต่อทันที เพราะฉะนั้นการฟังธรรม ต้องขอเรียนให้ทราบว่า มีโอกาสฟังเมื่อไหร่ ฟังเมื่อนั้น มีโอกาสอ่านเมื่อไหร่ อ่านเมื่อนั้น แล้วเราจะมีความเข้าใจว่า มีอีกมากมายเหลือเกินที่เราจะต้องค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่เพียงนิดหน่อย แต่ว่าเข้าใจถูก ดีกว่าเราฟังเยอะ แต่ว่าเราเข้าใจผิดๆ หรือว่าไม่เข้าใจจริงๆ เลย เพราะฉะนั้นสักคำหนึ่งที่เข้าใจก็มานั่งคิดว่า โลกจริงๆ นั่นก็คือ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ นี่คือโลก และก็โลกของแต่ละคนก็คือ เห็นขณะใดก็เป็นโลกขณะนั้น ได้ยินขณะใดก็เป็นโลกขณะนั้น เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ทุกคนอยู่คนเดียวในโลกกับความคิดนึกของเราเอง ของโลกใบนี้เอง แล้วแต่โลกใบนี้จะคิดนึกเรื่องอะไร ยากไหม เป็นของจริงที่ลึกลับคือ เรามองเห็นโลก เห็นคนโน้น เห็นคนนี้ เห็นเป็นตัวตน เห็นเป็นวัตถุ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ว่าตามความเป็นจริง และลึกลงไปกว่านั้น สำหรับผู้ที่ตรัสรู้ความจริง สามารถที่จะแยกสภาพธรรมออกเป็นแต่ละส่วนจริงๆ โดยละเอียด จนกระทั่งหาความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ บุคคล ไม่ได้เลย แตกย่อยสภาพธรรมแต่ละอย่างออกเป็นแต่ละลักษณะ แต่ละทาง การที่จะหมดกิเลสได้ ไม่ใช่ไปทำสมาธิแล้วไม่รู้อะไร แต่มีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นจนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งความจริงของสิ่งที่เป็นจริงในขณะนี้คือ กำลังเกิดขึ้น และดับไป ฟังดูยังเหมือนกับเป็นความคิดนึกใช่ไหม เรื่องการเกิดดับ เรื่องโลก เรื่องต่างๆ แต่ว่า สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนั้น จนกว่าเมื่อไหร่จะไม่ใช่เป็นเพียงความคิดนึก แต่เป็นการประจักษ์จริงๆ ก็จะรู้ว่า นี้คือพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง สนใจเรื่องของไตรสิกขา อยากจะเรียนถามถึงเรื่อง จิตสิกขา คือการศึกษาเรื่องจิต มีท่านบอกว่า คือการศึกษาให้รู้จักอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้นอยากเรียนถามอาจารย์ว่า การศึกษาให้รู้จักอารมณ์ของจิตเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ให้รู้จักอะไร

    ผู้ฟัง อารมณ์ของจิต แล้วก็ให้รู้จักจิตที่เป็นไปตามอารมณ์ ให้รู้จักจิตที่เป็นไปตามอารมณ์นี้คืออย่างไร แล้วการที่จะควบคุมรักษาจิตของตนให้มีความสงบจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง ๓ ข้อ

    ท่านอาจารย์ มีคำอะไรบ้างที่ทุกคนได้ยิน ลองหยิบมาเป็นคำๆ ที่ยังไม่เข้าใจ ตามที่กล่าวถึง ไตรสิกขาก็ยังไม่ทราบใช่ไหม ไตรแปลว่า ๓ สิกขาก็คือศึกษา แปลว่า การศึกษา ๓ อย่างพร้อมกัน คือเราจะต้องแปลหรือเข้าใจสิ่งที่ใครก็ตามพูด ไม่ใช่ว่า คิดว่าเข้าใจ ไม่พอเลย คิดว่าเข้าใจนั้นไม่ถูก ได้ยินคำไหนต้องเข้าใจชัดเจนในคำนั้น แม้แต่คำว่า ไตรสิกขา ไตร ทุกคนก็รู้ว่า จะใช้คำว่า ไตร หรือจะใช้คำว่า ตรี ก็หมายความถึง ๓ เข้าใจว่า ๓ และ สิกขาคือ ศึกษา โดยมากแต่ก่อนนี้เราก็คิดว่า ศึกษาคือการไปโรงเรียน หรือว่าการฟังตามมหาวิทยาลัยหรืออะไร สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ทำให้เราเกิดความรู้ ต้องศึกษา ไม่ศึกษาแล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นคำนี้ เพียงแต่ยังไม่ถึงคำถามจริงๆ เอาแต่เพียงคำแรกว่า ไตรสิกขา เราก็จะต้องเข้าใจว่า ได้แก่อะไร ไตรสิกขาในที่นี้คือ การอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไตรสิกขาที่ว่า มี ๓ คือ ศีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ซึ่งมีอีกคำหนึ่งที่อาจจะเพิ่มมาที่ทำให้ละเอียดขึ้นคือ อธิ เติมคำว่า อธิ ข้างหน้า อ.อ่าง ธ.ธง สระอิ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา บางคนก็อาจจะคิดว่า คงเป็นเรื่องง่าย สิกขา ๓ อาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาบ้าง แต่ความจริงแล้ว ต้องอาศัยความเข้าใจตั้งแต่ต้นเป็นลำดับ จึงจะสามารถเข้าใจสิกขา ๓ นี้ได้จริงๆ โดยถูกต้อง แม้แต่คำถามที่ว่า เมื่อกี้นี้คือ เรื่องอารมณ์ ขอเชิญทวนคำถามอีกครั้งได้ไหม ไตรสิกขากับอารมณ์

    ผู้ฟัง ศึกษาให้รู้จักอารมณ์ของจิตคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เท่านี้ ที่ว่า ไตรสิกขาคือ ศึกษาให้รู้อารมณ์ของจิตคืออย่างไร เราจะหยิบมาเป็นคำๆ ก่อนคือ ไตรสิกขา เราเข้าใจแล้วว่า ไม่ใช่ไปนั่งตามโรงเรียน หรือว่าไม่ใช่การศึกษาอย่างอื่น แต่ศึกษาในขณะนั้น เพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ถ้าใครสามารถที่จะประจักษ์แจ้งการเกิดดับของสภาพธรรมขณะนี้ได้ ผู้นั้นประกอบด้วยไตรสิกขาคือ ทั้งศีลสิกขา จิตตสิกขา และปัญญาสิกขา เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ไตรสิกขาไม่ใช่รู้อย่างอื่น ผลของการศึกษาหรือความเข้าใจอันนี้ ไม่ใช่เข้าใจอย่างอื่น แต่ไตรสิกขาคือ ขณะที่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ซึ่งเป็นอนัตตาของสภาพธรรมในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ใดกำลังประจักษ์แจ้ง ผู้นั้นมีไตรสิกขา คือทั้งศีล สมาธิ ปัญญา แต่คำถามที่ว่า เพื่อให้รู้อารมณ์ของจิต คำว่า อารมณ์ นี้คือขณะไหน อย่างไร ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียด เข้าใจผิดอีกแล้ว เราใช้ออกบ่อยในภาษาไทยใช่ไหม อารมณ์เสีย อารมณ์ดี อารมณ์บูด ก็แล้วแต่จะใช้กันไปใช่ไหม แต่ว่าความจริงถ้าเป็นคนที่เข้าใจธรรม อารมณ์ดีหมายความถึงสีสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สิ่งที่กระทบสัมผัสสบาย คือหมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ทั้งหมดคืออารมณ์ ขณะนี้มีใครไม่มีอารมณ์บ้าง ถ้าถามในความหมายเดิมใช่ไหม เขาอาจจะบอกว่าวันนี้ไม่มีอารมณ์ คือไม่สนุกหรือว่า ไม่มีอารมณ์จะเล่นหรือว่า จะไปทำอะไรสักอย่าง วันนี้ไม่มีอารมณ์ นั้นคือตามที่พูดกันในภาษาไทย แต่ถ้าพอพูดถึงธรรม ขณะนี้ใครไม่มีอารมณ์บ้าง มีไหมๆ ไม่มีเลย เพราะอะไร ต้องมีเหตุผลโดยตลอด ธรรมนี้ถ้าศึกษาโดยเหตุผลแล้วจะได้เหตุผลที่น่าศึกษาเพราะว่าเป็นสิ่งที่จริง และก็ปฏิเสธไม่ได้ ที่กล่าวว่า ไม่มีใครเลยซึ่งไม่มีอารมณ์ก็เพราะเหตุว่า ทุกคนต้องมีจิต ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งไม่มีจิต ยังไม่ตาย ยังนั่งอยู่ จะหลับหรือจะตื่นก็ต้องมีจิต เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตก็ต้องมีอารมณ์ จะกล่าวว่า มีจิตโดยไม่มีอารมณ์ไม่ได้เลย หรือจะกล่าวว่า มีอารมณ์โดยไม่มีจิตก็ไม่ได้ เพราะว่า อารมณ์ต้องเป็นสิ่งที่จิตรู้ ถ้าเป็นเสียงเปล่าๆ ซึ่งไม่มีจิตได้ยิน เสียงนั้นคือ สัททะ แต่ถ้าใช้คำว่า สัททารมณ์ ต้องหมายความว่า เป็นเสียงที่จิตกำลังรู้ กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้นที่จะกล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีอารมณ์ ผิด แต่ว่าเพราะความหมายที่เราเข้าใจแล้วว่า เมื่อยังมีจิตก็ต้องมีอารมณ์ ไม่ว่าจะหลับหรือจะตื่น

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจว่า จิตที่สงบทำให้เป็นสุข เพราะฉะนั้นเราจะมีวิธีทำจิตให้สงบได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ อนัตตาคืออะไร ต้องกลับมาหา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะเหตุว่า คำสอนของพระพุทธศาสนาที่ต่างกับศาสนาอื่นก็คือ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเรื่องอนัตตา ไม่มีสภาพธรรมได้ที่เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลแท้ๆ เป็นแต่สภาพธรรมแต่ละอย่าง แตกย่อยทุกอย่างออกได้ คือ รูปก็แตกย่อยออกไปละเอียดยิบ เป็นรูปแต่ละลักษณะ แตกย่อยจิตออกได้เป็นแต่ละขณะ ซึ่งเกิดดับเร็วยิ่งกว่ารูป แล้วก็มีจิตหลายประเภทด้วย เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า ไม่มีตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพของจิตแต่ละชนิด ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาสอนให้เกิดปัญญา เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ที่ใช้คำว่า สัจจธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง สัจจะ คือ จริง พระผู้มีพระภาคไม่ได้ไปให้เราทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ขณะนี้ เห็นจริง เป็นเราหรือเปล่า เมื่อไม่ใช่ตัวตน เป็นอะไร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอย่างไร ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพราะฉะนั้นปัญญาก็คือว่า รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ให้เรามีตัวตนที่จะไปบังคับ หรือว่าไปทำ โดยที่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ว่า ธรรมแม้แต่ความโกรธ ไม่มีใครชอบเลย ไม่มีใครอยากโกรธ แต่โกรธก็เกิด พอเกิดแล้ว โทษของความโกรธคืออะไร เผาคนที่กำลังโกรธนั่นเองให้ร้อนก่อนคนอื่นที่จะถูกโกรธ คนที่ถูกโกรธกำลังหัวเราะ สนุกสบาย ดูหนัง ดูละคร กำลังเล่นเทนนิสหรืออะไรก็ได้ แต่คนที่กำลังโกรธ ร้อนมาก หมายความว่า ไม่มีความสุขเลย ถึงแม้ว่า อาหารจะอร่อยหรืออะไร ทุกอย่างดีเพียบพร้อม แต่พอความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ปฏิเสธอารมณ์นั้นทั้งหมด มีความขุ่นเคือง มีความขัดใจสารพัดอย่าง อาจจะมีความผูกโกรธ หรือว่ามีความพยาบาท ถ้าโกรธเกิดขึ้นแล้ว มีหน้าที่อย่างนั้น ใครจะไปเปลี่ยนสภาพโกรธให้กลายเป็นสภาพของเมตตาก็ไม่ได้ หรือเวลาที่โลภะ ความต้องการ ความติดข้องเกิดขึ้น เกิดขณะใดเขาต้องพอใจ ต้องติดข้อง ไม่ว่าจะเป็นรูปที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหู หรือกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก อย่างคนที่ชอบน้ำหอม เราจะไปบอกเขาว่า อย่าไปซื้อแพงๆ หรือว่า อย่าไปติดเลย หรืออะไรอย่างนี้ เขาก็ไม่ยอมเพราะสำหรับเขามันหอม แล้วก็ยังจะต้องการ แต่คนที่เขาเห็นว่า มันเป็นสิ่งที่เล็กน้อยไร้สาระ หรือไม่ควรจะมีความติด เพราะเหตุว่าทางตาเราก็ติด มากๆ เลย ต้องมีรูปสวยๆ ทางหู เราก็ติดไว้เยอะ ต้องมีเสียงเพราะๆ และทางลิ้นไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ต้องชอบรสอาหารที่อร่อย ก็ติดไว้อีก ๓ ทาง ทางกายอีก แล้วยังต้องมาติดทางจมูกอีก มันก็ติดมากหมดเลยทุกทาง มีทางไหนที่จะหย่อน จะละ จะคลาย จะบรรเทาลงไปบ้างไหม ถ้าเราไม่เริ่มตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เมื่อไหร่เราจะเริ่มได้ นี้ก็เป็นแต่เพียงคำสอนทั่วๆ ไป ซึ่งไม่ใช่การดับกิเลส ถ้าดับกิเลสแล้วต้องด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นไม่ใช่เราจะไปบังคับธรรม หรือว่า ไปต้องการอะไรก็ให้ได้อย่างนั้น แต่ถ้าเรารู้ว่า สภาพธรรมทุกอย่างมีกิจการงาน มีหน้าที่เฉพาะของธรรมแต่ละอย่าง เช่น โทสะเกิดขึ้น มีลักษณะที่หยาบกระด้าง คนที่โกรธขึ้นมาจะหมดความอ่อนละมุนละไม ความอ่อนโยนหรืออะไรๆ ที่เป็นลักษณะที่ดี แต่จะมีความหยาบกระด้าง ตา กิริยา คำพูดแข็ง เสียงแข็งทุกอย่าง เป็นลักษณะอาการของความโกรธ เพราะว่า เมื่อโกรธเกิดขึ้นต้องมีลักษณะอย่างนั้น ต้องมีกิจการงานอย่างนั้น แล้วก็มีเหตุใกล้ที่จะให้เกิดเป็นไปอย่างนั้นด้วย ไม่มีใครสามารถไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่างได้ เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบถึงความเป็นอนัตตาว่า ถ้าเป็นปัญญา คือ ความรู้ที่ถูกต้องในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน จะไม่มีการพยายามด้วยความเป็นเรา เพราะว่า ถ้าทำได้ก็เก่ง มีความมานะ มีความเป็นตัวตนขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นก็ไม่มีทางที่จะหมดกิเลสได้เลย ด้วยเหตุนี้ พระธรรมจึงให้เราได้เข้าใจในเรื่องของอนัตตา คือสภาพธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และปัญญาก็มีหลายขั้น ปัญญาขั้นฟังเข้าใจเรื่องของธรรม ปัญญาที่กำลังพิจารณา รู้ลักษณะของสภาพธรรม และปัญญาที่ประจักษ์แจ้งธรรมตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเรื่องโทสะ แล้วก็ไม่อยากมีโทสะ เวลาที่ไม่สงบ ไม่อยากมีความสงบ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นถ้าไม่ใช่ปัญญาจริงๆ แล้ว ไม่ใช่โทสะก็ต้องเป็นโลภะ ส่วนใหญ่ของคนเราไม่ชอบความโกรธ เพราะฉะนั้นก็จากความโกรธหันไปหาความติดข้อง ไม่ชอบโทสะแต่ชอบโลภะ เอาไหมอกุศลทั้ง ๒ อย่าง จะแก้โทสะซึ่งเป็นอกุศลด้วยโลภะซึ่งเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นก็ยังคงติดอยู่ในอกุศล เพราะปัญญาไม่ได้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้าเป็นเรื่องของไตรสิกขาแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เข้าใจแต่เฉพาะจิต สภาพธรรมทุกอย่าง ที่ปรากฏแล้วเคยไม่รู้ ก็จะมีความค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ ที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ เป็นเรื่องใจเย็นๆ และอย่าคิดว่าจะทำ แต่ให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ ให้ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ยากกว่า ยาวกว่า แต่ว่า สามารถที่จะดับความไม่รู้ได้จริงๆ เพราะเหตุว่า ความรู้ค่อยๆ เกิดขึ้น และก็ต้องเป็นความรู้ถูก แม้แต่คำว่าอารมณ์ ต่อไปนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ทางพุทธศาสนาแล้วหมายความถึง สิ่งที่จิตรู้ ถ้ามีวิธีที่ทำได้ ไม่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เกิดปัญญา เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วปัญญานั้นเองจะทำกิจของปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาแล้วมีแต่โลภะ แล้วจะไปทำให้ไม่มีโลภะก็เป็นไปไม่ได้ ไม่มีปัญญาเลย ไม่ชอบโทสะ แต่ไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้นอยากเท่าไหร่ที่จะไม่ให้มีโทสะ โทสะก็ต้องเกิดเพราะเหตุว่า ปัญญาไม่เกิด เมื่อปัญญาไม่เกิด ตัวตนจะไปทำกิจของปัญญาก็ไม่ได้ ไม่มีตัวตนที่จะไปทำกิจอะไรได้เลยสักอย่างเดียว โลภะมีจริง มีลักษณะ มีกิจการงานของโลภะ โทสะมีจริง มีลักษณะ มีกิจการงานของโทสะ เมตตามีจริง มีกิจการงานของเมตตา กรุณามีจริง มีกิจการงานของกรุณา เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ เราจะรู้จักตัวเรา เดี๋ยวก็เกิดโลภะ เดี๋ยวก็เกิดโทสะ เดี๋ยวก็เกิดเมตตา เดี๋ยวก็เกิดกรุณา ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมทั้งหมด แต่เรายึดถือว่าเป็นเราทั้งหมดเพราะไม่รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นเอง ถ้าเราเป็นผู้ตรงต่อธรรม ไม่เข้าข้างตัวเอง เราจะรู้เลยว่า เราดีหรือไม่ดีแค่ไหน ความริษยาเกิดขึ้นมานิดหนึ่ง คนอื่นยังไม่ทันรู้ แต่เรารู้ ความตระหนี่เกิดขึ้นมา คนอื่นไม่รู้ แต่เราก็รู้ เพราะฉะนั้นเราจะรู้จักตัวของเราเองถ่องแท้ชัดเจน และถ้าเรารู้จักตัวเราเองถ่องแท้ ทะลุปรุโปร่งไปถึงคนอื่นหมด เหมือนกันทั้งหมด ใจอย่างไรทำให้เกิดคำพูดอย่างไร สิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ไม่ว่าคำพูดที่ไม่จริงก็ต้องมาจากอกุศล สิ่งที่ไม่ดี เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ดีทำไมต้องพูดสิ่งที่ไม่จริงใช่ไหม ถ้าดี และเป็นสิ่งที่พูดได้ เปิดเผยได้ คนอื่นก็ชอบ แต่ถ้าพูดไม่จริงนิดหนึ่งก็หมายความว่า มีสิ่งที่ไม่ดีซึ่งเราไม่ต้องการที่จะให้คนอื่นรู้ตามนั้น เพราะฉะนั้นก็พูดสิ่งที่ไม่จริง เพราะฉะนั้นก็ไม่มีใครจะแก้ไขตัวเองได้นอกจากปัญญา ซึ่งรู้จักตัวเองขึ้น และเห็นโทษด้วยว่า ถ้าตราบใดที่ยังมีสิ่งที่ไม่ดีอยู่ เราก็จะเป็นคนที่น่าเกลียด และมีความทุกข์มาก และจะได้รับผลของกรรมที่ได้ทำไปแล้วด้วย คนอื่นก็บันดาลให้ไม่ได้ แต่พระธรรมจะทำให้เราเริ่มขัดเกลาตัวของเราเพราะรู้จักตัวเราชัดเจนขึ้น ถ้าเรารู้ว่า ตัวเรามีสิ่งที่ไม่ดีเยอะๆ เราก็อยากจะให้น้อยลงใช่ไหม แต่วิธีที่จะให้น้อยลงก็ไม่ง่าย ต้องมีปัญญาเพิ่มขึ้น ถ้าไม่มีปัญญาก็น้อยไม่ได้

    ผู้ฟัง มีผู้สงสัยว่า พื้นฐานของการปฏิบัติเพื่อที่จะให้มาถึงจิตที่ไม่มีการยึดมั่นหรือถือมั่น เราควรจะทำตัวอย่างไร ในการปฏิบัติอย่างไร ถึงจะมาถึงจุดของการที่จะมีสติ ถึงจิต สภาพจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    26 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ