ปกิณณกธรรม ตอนที่ 21


    ตอนที่ ๒๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่ติดข้องในสิ่งใดเลยทั้งสิ้น สบายกว่าไหม ไม่ต้องไปขวนขวาย ไม่ต้องไปลำบาก ไม่ต้องไปเดือดร้อน

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ โลกเจริญด้วยโลภะ เจริญทางด้านวัตถุ แต่ว่าผลคืออะไร ทุกคนอยากจะมีเงินมากๆ อยากจะมีวัตถุมากๆ ถ้าไม่ได้ทางสุจริต ก็ได้โดยทางทุจริต อย่างนี้ดีไหม โลกเจริญแบบนี้ดีไหม ซึ่งทำให้คนเกิดการทุจริต ทีนี้เวลาที่เรามีโลภะมากเหลือเกิน ทางสุจริตไม่ได้ ทางทุจริตได้ไหม บางคนถ้าสุจริตไม่ได้เขาต้องทุจริต ความทุจริตมีตั้งเเต่อย่างน้อยที่สุด จนถึงกว้างที่สุด สมมติว่ามีการเล่นไพ่ สนุกดี อยากชนะด้วย โกงนิดนึง ทุจริตหรือเปล่า เพื่อที่จะชนะ ไม่มากเลยเพียงแค่หยิบตัวนี้ไปแล้วก็หยิบตัวนั้นมานิดๆ หน่อยๆ เพื่อความสบายใจที่เราเป็นผู้ชนะ ตอนนี้ เราต้องการชนะ นี้แสดงให้เห็นถึงความโลภว่ามีทุกประการทุกอย่าง ทั้งในการละเล่น อย่างการแข่งขัน อยากชนะ นักมวยก็ดี หรือว่านักฟุตบอล ความที่ต้องการชนะ และอยากจะเป็นสุข ทำได้แม้แต่ทุจริตเล็กๆ และก็ทุจริตเล็กๆ ก็ใหญ่ขึ้น

    ผู้ฟัง เราชนะด้วยสุจริต?

    ท่านอาจารย์ ไม่เสมอไป ตราบใดที่เรายังมีกิเลส เพราะฉะนั้นเราบอกว่า ทุจริตเรื่องใหญ่เราไม่ทำ ใช่ไหม โกงเยอะๆ นี้เราไม่โกง แต่การพนันหรือการเล่นนิดๆ หน่อยๆ เราเอาอย่างนี้ก็ได้ใช่ไหม ใครจะรู้จิตซึ่งเป็นอกุศล และก็ทีละนิดทีละหน่อย ทีละเล็กที่ละน้อยมันก็เพิ่มขึ้น ถ้าอย่างนี้กล้าทำ ต่อไปก็กล้าอีก ต่อไปกล้าอีก ก็ลองคิดดูก็แล้วกันเรื่องภาษี เรื่องอะไรนิดๆ หน่อยๆ พวกนี้ ก็ไม่ใช่ว่าเราจะรอดพ้นไปจากอกุศลจิต เพราะฉะนั้นเราควรที่จะเห็นโทษของอกุศลว่า ถ้าตราบใดมีอกุศลแล้ว ก็ยังมีเหตุที่จะให้เกิดทุจริตได้ และทุจริตทุกคนก็มองเห็นเลยว่าเป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ไม่ชอบ คนอื่นทำน่ารังเกียจ แต่พอตัวเองทำ รู้สึกก็คนอื่นเขาก็ทำกัน ถ้าเป็นอกุศลเจริญ และเราจะรู้สึกยังไงกับอกุศลเจริญ กับกุศลเจริญต่างกันมาก และเราจะเลือกอย่างไหน ทั้งๆ ที่เรามีอกุศลเราก็ยอมรับว่า เป็น มี แต่กำลังอบรมจิตใจเพื่อที่จะให้เป็นกุศลเพิ่มขึ้น จนกว่าจะดับอกุศลหมด นี่คือจุดประสงค์ที่คนฉลาดจะมองเห็นได้ว่ากุศลต้องดี อกุศลต้องไม่ดี โดยความเป็นจริง แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็อย่าเพิ่งไปฝืนสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่หมายความว่าค่อยๆ อบรมจนกว่าจะเป็นได้ แล้วก็ต้องมองเห็นว่า ถ้าไม่มีกิเลสหรืออกุศลต้องดีกว่าแน่นอน เพราะฉะนั้นก็ต้องแล้วแต่กาล บางกาลเราก็ดี บางกาลเราก็ไม่ดี บางกาลก็ดีใหม่ บางกาลก็ไม่ดีใหม่ มันก็เป็นเรื่องที่เราบังคับไม่ได้ แต่ว่าความจริงก็เป็นความจริง ทุกคนอยากจะเป็นคนดี ทุกคนอยากจะทำดีที่สุด แต่เราก็อาจจะบอกตัวเองว่าทั้งๆ ที่พยายามก็ยังไม่สำเร็จก็ได้ แต่ก็ไม่ทิ้งความพยายาม ก็พยายามต่อไปอีกได้

    วันนี้มีเรื่องจิต และเจตสิก กับรูป

    สมาธิที่เป็นเจตสิก และเป็นเจตสิกประเภทกลางๆ เพราะว่าเจตสิกจะแบ่งเป็นประเภทกลางๆ ประเภทหนึ่ง และเป็นประเภทที่เป็นอกุศลประเภทหนึ่ง และเป็นประเภทดีอีกประเภทหนึ่ง ถ้าเป็นประเภทกลางๆ เขาจะเกิดกับจิตได้ทุกชนิด ถ้าเป็นอกุศลก็จะเกิดได้แต่เฉพาะอกุศลจิต ถ้าเป็นฝ่ายดีก็จะเกิดเฉพาะจิตที่เป็นฝ่ายดี จะไปเกิดกับจิตที่เป็นฝ่ายไม่ดีไม่ได้ เพราะฉะนั้นเอกัคคตาเป็นสมาธิที่เป็นฝ่ายกลางๆ เพราะเกิดกับจิตทุกดวง เจตสิกอะไรก็ตามที่เกิดกับจิตทุกดวงได้ เจตสิกนั้นเป็นฝ่ายกลางๆ เพราะว่าเกิดกับกุศลก็ได้ กับอกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ อันนี้ยังไม่ต้องทราบรายละเอียดก็ได้ เพราะว่าวันนี้เป็นเพียงเรื่องจิต เจตสิก รูป สิ่งที่เกิด และดับ ดับจริงๆ แต่สิ่งที่เกิดสืบต่อมา จนปรากฏ เราคิดว่า อันนั้นเป็นคน ที่กำลังพูดอยู่ แต่ไม่ใช่ ดับไปแล้ว และสิ่งใหม่ที่กำลังปรากฏนั้นกำลังเป็นของจริงที่เป็นปัจจุบัน สนุกไหมเรื่องชีวิต เรื่องโลก เรื่องสภาพธรรม เรื่องความจริง ไม่มีความเท็จ ของจริงทั้งหมด และลองคิดดูว่าของจริงซึ่งยาก แสดงว่าก่อนนั้นอวิชชาของเรามากแค่ไหน ถ้าเราฟังปุ๊บเข้าใจปั๊บ แสดงว่าปัญญาของเราสะสมมามาก เพราะฉะนั้นถ้าการฟังวันนี้ของเราเข้าใจ คราวต่อไปเราก็ฟังได้เร็ว ใครพูดเรื่องเจตสิกเราก็รู้ ใครพูดเรื่องจิตเราก็รู้ ใครพูดเรื่องรูปเราก็รู้ แปลว่าปัญญาของเราสะสม และปัญญาก็เกิดดับด้วย พอออกจากห้องนี้ไปอวิชชาก็มา ก็เป็นของธรรมดา

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ จิตคือสภาพรู้ กำลังเห็นขณะนี้ไม่ใช่ปัญญา เพียงเห็น แต่ไม่ใช่เข้าใจถูกต้อง ความเข้าใจถูกต้องจึงจะเป็นปัญญา ขณะใดที่เข้าใจถูก ขณะนั้นไม่ใช่เราแต่เป็นปัญญา วันนี้ก็ได้เจตสิกหลายอันแล้ว เอกัคคตาหรือสมาธิก็เป็นเจตสิก ปัญญาก็เป็นเจตสิก โลภะความติดข้องก็เป็นเจตสิก โทสะก็เป็นเจตสิก ทุกชื่อป็นเจตสิกหมดเลย วิริยะความเพียรก็เป็นเจตสิก ความเกียจคร้านก็เป็นเจตสิก ง่วงก็เป็นเจตสิก เป็นเจตสิกทั้งนั้น อะไรที่แปลกปลอมมาก็เป็นเจตสิกหมด แต่เกิดกับจิต หัวเราะเป็นเจตสิก ชอบเป็นโลภะ โทสะแล้วไม่หัวเราะ ก็ร้องไห้ เศร้าหมอง น้ำตาไหล หน้าดำ โลภะจะติดไม่ได้อยู่ก็คือพระนิพพาน กับโลกุตตรจิตคือจิตของพระอริยบุคคลที่กำลังมีนิพพานเป็นอารมณ์ คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ขณะที่กำลังมีนิพพานเป็นอารมณ์ขณะนั้นเท่านั้นที่โลภะไม่สามารถที่จะเฉียดเข้าไปใกล้ หรือที่จะไปรู้ลักษณะของนิพพานหรือสภาพธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม แต่นอกจากนั้นไม่พ้นอำนาจของการติดของโลภะเลย สวรรค์อยากไปไหม โลภะแล้ว อยากอะไรทุกอย่างหมดคือโลภะ อยากฟังธรรมเพื่ออะไร ถ้าเพื่อมีปัญญาแล้วไม่ใช่โลภะ แต่เพื่อเก่งกว่าคนอื่น มาแล้วใช่ไหม เพราะฉะนั้นธรรมเป็นเรื่องตรง เราจะรู้ว่า เราศึกษาธรรมเพื่ออย่างเดียวคือ เพื่อเข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อลาภ เพื่อยศ เพื่อสรรเสริญ เพื่อคำชมเชย หรือเพื่อความเก่ง ต้องรู้ว่าเพื่ออะไร ฟังเพื่ออะไร ถ้าเพื่อเข้าใจแล้วไม่ใช่โลภะแต่เเป็นกุศลเป็นธรรมที่ดีงาม ถ้าเป็นเรื่องของปัญญา และเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ละอกุศล โลภะเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นก็เฉียดไปเฉียดมากับโลภะอยู่เรื่อยๆ ต้องระวังเวลาที่จะทำบุญกุศลก็ให้ทราบว่า อย่าให้โลภะเฉียด จะหวังอะไรขณะใด ขณะนั้นก็คือโลภะทั้งนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าเรามีโลภะมากๆ

    ท่านอาจารย์ เคยเห็นคนมีโลภะมากไหม เคยเดินไปที่ไหนอย่างที่ตลาด ที่ขายของเยอะๆ จะเห็นลักษณะของคนที่มีโลภะมาก เห็นอะไรก็อยากได้หมดเลย ไม่เว้นเลยสักอย่างเดียวนั่นก็สวย นี่ก็ดี ทุกอย่างหมด นั่นคืออาการของโลภะ และถ้ามีโลภะมากๆ จะเป็นคนที่เห็นแก่ตัว สละไม่ได้ แล้วแต่การสะสม อย่างมีคนหนึ่ง เขาสะสมการติดในรสมาก อาหารอร่อย ถ้าเป็นอาหารที่ถูกใจ และบอกว่า อย่ามาขอเขา ขออะไรก็ให้ แต่ว่าอาหารจานนี้ไม่ให้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กำลังของโลภะมีมาก แล้วก็ถ้าเป็นอย่างนี้ไปหมดทุกทาง คนนั้นจะมีลักษณะยังไง และเราก็มองได้ว่า คนนั้นเป็นคนที่ใครๆ รัก เป็นคนที่ใครๆ ชมหรือเปล่า คงไม่มีใครชมอกุศลแน่ๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภะหรือโทสะ เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ควรจะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เวลานี้เรากำลังเป็นบ้าหรือเปล่า แต่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าขณะใดที่เป็นอกุศล ก็เป็นบ้าชนิดหนึ่ง ผิดปกติ แล้วแต่ว่าจะมากหรือจะน้อย ถ้าในระดับที่สามัญท่านใช้คำว่า สมโลภะ คือไม่ถึงกับรุนแรงหรือว่าทำทุจริต อย่างเราชอบขนมอาหารอร่อยพวกนี้เป็นสมโลภะ เป็นโลภะธรรมดาๆ ซึ่งทุกคนมี แต่ถ้ามีกำลังมากขึ้นนั่นก็เป็น วิสมโลภะ เพิ่มปริมาณ และก็ทำทุจริต แต่ว่าก่อนที่จะทำทุจริตหรือว่ามีปริมาณมาก ก็ต้องมาจากเล็กๆ น้อยๆ เพราะฉะนั้นตามความเป็นจริงแล้ว ควรจะเห็นภัย และโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย นี่คือผู้ที่มีปัญญา อย่าเห็นเพียงแต่ใหญ่ๆ แล้วคิดว่าไม่ดี แม้นิดเดียวก็ดี กลิ่นเหม็นนิดนึงก็เหม็น มากก็เหม็น ไฟนิดเดียวก็ร้อน มากก็ร้อน เพราะฉะนั้นก็ต้องเห็นโทษของอกุศล ไม่ว่าจะเล็กน้อยก็เป็นอกุศล ต้องยอมรับว่าเป็นอกุศล แล้วก็รู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่า ยังมี แล้วพระอริยะบุคคลท่านก็ละเป็นลำดับขั้น จะหมด ไม่มีสักประเภทเดียวก็ต้องเป็นพระอรหันต์ แต่ถ้ายังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ยังมีอกุศลอยู่

    จิต เจตสิกกับรูป รูปก็เป็นธรรมมี ๓ อย่าง แล้วทางธรรมจะใช้ศัพท์อีกคำหนึ่งคือ ปรมัตถธรรม มาจากคำว่า ปรมะ หรือ บรม ที่เราใช้ว่าใหญ่ หมายความว่า ธรรมที่เป็นใหญ่ ก็คือว่า ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงธรรมได้เลย เช่น แข็ง ลักษณะที่แข็ง ใครจะไปทำให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ ลักษณะแข็งเป็นลักษณะแข็ง แล้วเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง กลิ่นจะหอม รสจะหวาน ก็เป็นธรรมซึ่งใครก็ไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น น้ำตาลเป็นธรรมหรือเปล่า ถ้าพูดถึงหวานแล้วก็เป็นธรรม เป็นรส น้ำตาลเป็นชื่อ แต่รสหวานเป็นปรมัตถธรรม ปลามีจิตไหม มีเจตสิกไหม ต้องมั่นใจว่า ที่ใดที่มีจิตที่นั่นต้องมีเจตสิก จิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน จะมีจิตคู่กัน จะมีจิตโดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ จะมีเจตสิกโดยไม่มีจิตไม่ได้ จิตกับเจตสิกนี้อันหนึ่งอันเดียวกัน รู้อารมณ์เดียวกัน เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ถ้าพูดถึงจิต เราละเจตสิกไว้ที่เข้าใจ แต่หมายความว่าต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย อย่างน้อยที่สุด จิตขณะหนึ่งจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท ๗ ชนิด กำลังเห็น ที่เห็นมีเจตสิกเกิดกับจิต ๗ ชนิด กำลังได้ยินก็มีเจตสิกเกิดกับจิต ๗ ชนิด

    ผู้ฟัง เจตสิก มีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ เวทนาความรู้สึก ที่ใช้คำว่าความรู้สึกมี ๓ อย่าง คือรู้สึกเป็นสุขอย่างหนึ่ง รู้สึกเป็นทุกข์อย่างหนึ่ง รู้สึกเฉยๆ อย่างหนึ่ง ความรู้สึกเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ภาษาบาลีใช้คำว่า เวทนาเจตสิก เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ใน ๗ เจตสิกที่เกิดกับจิตทุกขณะมีอะไรบ้าง วันนี้ก็จำว่ามีเวทนาเจตสิก เพราะว่าทุกครั้งที่จิตเกิดจะต้องมีความรู้สึก เหมือนอะไรก็ตามมากระทบ พอกระทบ และจะต้องมีความรู้สึกทุกข์หรือสุขหรือเฉยๆ กำลังเห็น เฉพาะเห็นเฉยๆ มีเวทนาเจตสิก เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ไม่มีเวทนาเจตสิกได้ไหม เห็นเฉยๆ เปล่าๆ ต้องมีเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เวทนาแปลว่าเจตสิกที่รู้สึก เป็นความรู้สึก ซึ่งแต่ก่อนเราบอกว่า เป็นสุขหรือว่าเป็นทุกข์ เป็นชีวิตประจำวัน บางขณะแล้วก็เกิดความทุกข์ คิดไปคิดมาก็นั่งทุกข์เป็นทุกข์ขณะนั้นคือสภาพของเจตสิกชนิดหนึ่งซึ่งรู้สึกเป็นทุกข์ แล้วก็รู้สึกเป็นสุขรู้สึกเฉยๆ แล้วจิตจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ดวง หรือ ๗ ประเภท ประเภทหนึ่งซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกดวงก็คือ ความรู้สึก ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า เวทนาเจตสิก ถ้าไม่ได้เรียนเราคิดว่า เวทนาแปลว่าสงสาร น่าเวทนา และเราก็ออกเสียงว่าเวด-ทะ-นา แต่ว่าภาษาบาลีจริงต้องใช้คำว่า เว-ทะ-นา เจตสิก หมายความถึงเจตสิกที่รู้สึก ขณะใดที่รู้สึก ขณะนั้นไม่ใช่จิต แต่เป็นเวทนาเจตสิก และก็ต้องเกิดกับจิต เจตสิกจะไปเกิดกับอย่างอื่นไม่ได้เลย เกิดได้เฉพาะกับจิตเท่านั้น

    ผู้ฟัง จิตเป็นหัวใจหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ จิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้ ในการเห็น ในการได้ยิน ไม่ใช่สมอง สมองเป็นรูป หัวใจเป็นรูป จิตไม่ใช่รูป จิตมองไม่เห็น แต่หัวใจมองเห็น สมองมองเห็น แต่จิตมองไม่เห็น

    ผู้ฟัง ปกติแล้วเเมื่อพูดถึงกุศล ก็มักจะมุ่งไปในเรื่องของวัตถุทานเป็นสำคัญ แต่ทีนี้ในกรณีที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุทาน กุศลอย่างอื่นที่พอจะมาเป็นการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นปกติ คิดว่าน่าจะมีธรรมส่วนอื่นด้วย สังคหวัตถุ ๔ ซึ่งเป็นกุศลทั้ง ๔ ประการ อยากจะขอความกรุณาอาจารย์ได้มีคำอธิบาย

    ท่านอาจารย์ ต้องสนธนาธรรม ถ้าจะเป็นเรื่อง สังคหวัตถุ ก็สนทนาเรื่องสังคหวัตถุ ต้องแปลคำนี้ แล้วก็ต้องอธิบายว่าคืออะไร ไม่อย่างงั้นก็คงจะไม่มีใครเข้าใจ สังคหะ ก็จะเหมือนกับคำว่า สงเคราะห์ ที่เราใช้ในภาษาไทย วัตถุในภาษาบาลี ใช้คำนี้บ่อยๆ เป็นเรื่อง หรือเป็นสิ่ง หรือเป็นหัวข้อ หรือเป็นธรรมใดๆ ก็ตาม น่าจะใช้คำว่าวัตถุ เพราะฉะนั้น สังคหวัตถุ ก็เป็นธรรมที่สงเคราะห์ หรือช่วยในการที่จะให้ทุกคนมีความสุขในชีวิตประจำวัน ซึ่งมี ๔ อย่าง ได้แก่ ทาน การให้ ๑ ปิยวาจาคำพูดที่น่าฟัง ๑ แล้วก็อัตถจริยา การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ๑ และสมานัตตตา การมีตนเสมอ ๑ ๔ อย่างนี้ก็คงจะทำให้เรามีความสุขได้จริง ถ้าเราเป็นผู้ที่มีสังคหวัตถุแล้ว คนอื่นที่ได้รับสังคหวัตถุจากเราเช่น ทานการให้ การให้นี้เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น ให้ได้ทั้งหมด เป็นสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ เป็นวิชาความรู้ก็ได้ เป็นคำแนะนำก็ได้ ขณะใดที่มีจิตใจเป็นกุศลแล้ว ก็ให้สิ่งซึ่งตนสามารถจะให้กับคนอื่นได้ ถ้าเป็นคนที่มีความสามารถ ก็สามารถที่จะสอนหรือว่าถ่ายเทความรู้นั้นให้คนอื่น ขณะนั้นก็เท่ากับให้สิ่งที่เป็นประโยชน์เหมือนกัน แม้ว่าจะไม่ใช่วัตถุทาน แต่การให้ความรู้ความสามารถกับคนอื่นก็เท่ากับว่าเราสละสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้คนอื่น และคนที่ได้รับก็จะต้องมีความดีใจมาก เพราะฉะนั้นไม่ใช่การหวงแหนความรู้หรือว่า อย่างสมัยก่อนนั้น พอใครทำอะไรเก่งก็ไม่ยอมบอกใครเลย ก็คิดว่าคนอื่นจะทำ (ตาม) อาจจะไปเป็นอาชีพหรืออะไรก็ได้ แต่จริงแล้วให้ไปเถอะ เพราะเหตุว่าใครจะได้รับอะไรในชีวิตนั้นก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่ได้ทำแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับว่าเราไปบันดาลให้ แต่ว่าต้องอาศัยกรรมของเขาที่ได้ทำนั่นเอง เพราะฉะนั้นสำหรับในเรื่องของทานการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ให้ได้ทุกอย่างที่จะเป็นประโยชน์ วัตถุ เสื้อผ้า อาหาร ความรู้ ความสามารถที่จะช่วยคนอื่นได้รับสิ่งที่เป็นประโยชน์นั้น เป็นสิ่งที่ดีทั้งผู้ให้ และผู้รับ

    สังคหวัตถุที่ ๒ ก็คือ ปิยวาจา คำพูดที่น่าฟัง เป็นสิ่งที่สำคัญมากคำพูด อย่างที่โบราณว่า ปากเป็นเอก เลขยังเป็นรอง คือเป็นโท ก็แสดงให้เห็นว่าความสุขของเราในวันหนึ่งๆ จะขึ้นอยู่กับคำที่เราได้ยินได้ฟังได้มาก ถ้าเราได้ยินคำที่น่าฟัง ทำให้เรามีกำลังใจ ทำให้เรารู้สึกสบายแล้วก็อยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าบางคนอาจมีความท้อแท้ด้วยโรคภัย หรือว่าอาจมีความท้อแท้ในเรื่องปัญหาชีวิต หรือว่าความน่าเบื่อหน่ายต่างๆ เศรษฐกิจ รถติด อะไรก็ตามแต่เป็นความท้อแท้ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเราสามารถมีปิยวาจา คือคำที่ทำให้คนอื่นมีกำลังใจ สบายใจขึ้นอันนั้นก็เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นถ้าเราเคยเป็นคนที่พูดไม่น่าฟัง และบางคนก็อาจจะรู้สึกตัวแต่ก็ช้าไปแล้ว เพราะว่าติดนิสัย เคยใช้คำพูดอย่างนั้นบ่อยๆ แต่ถ้าได้ฟังถึงประโยชน์ของปิยวาจา เราก็จะเห็นจริงว่า แทนที่เราจะพูดอย่างนั้น เราพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ และประโยชน์ก็มีมากกว่าด้วย คือขณะนั้นจิตใจของเราเป็นกุศล และคนฟังก็สบาย มีคำพูดที่ฟังกันสบายทั้งวันก็คงจะดีกว่าได้ยินคำซึ่งฟังเเล้วก็ไม่สบายใจ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็เป็นสิ่งซึ่งสงเคราะห์ให้เราอยู่ด้วยความสุขในวันหนึ่งๆ

    สังคหวัตถุที่ ๓ ก็คือ อัตถจริยา การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ ช่วยเหลือคนอื่น เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ก็มีน้ำใจ ที่โต๊ะอาหาร ยื่นอาหารให้ รินน้ำให้ ยกข้าวให้ หรืออะไรก็ตามแต่ เห็นใครทำอะไร ของตก เก็บให้เลย ก็คือการกระทำสิ่งที่มีประโยชน์ นี้ก็จะได้เห็นว่า สิ่งที่เราประพฤติในชีวิตประจำวันที่เป็นประโยชน์นั้นมี ถ้าเรารู้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แล้วถ้าใครประพฤติอย่างนั้นเราก็ชอบ และในขณะเดียวกัน ถ้าเราสามารถจะประพฤติตนเป็นประโยชน์ เพราะว่าชีวิตวันหนึ่งๆ ก็ล่วงไป ทีละขณะ ทีละขณะจริงๆ เรียกกลับคืนมาไม่ได้เลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    28 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ