ปกิณณกธรรม ตอนที่ 45


    ตอนที่ ๔๕

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ หน้าที่คือเข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง ละความเป็นตัวตน แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดเกิดก็ไม่หวั่นไหว ไปตามหนทางนี้เรื่อยๆ และเห็นโลภะเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น ถึงจะละได้ มิเช่นนั้นไม่มีทาง จะละโลภะกันแบบไหนเมื่อไม่เห็นโลภะ

    ผู้ฟัง โลภะ มันละเอียดตามเราขึ้นไปโดยที่นำหน้าเราอยู่ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนที่ไม่มีสติปัฏฐานเลย ฟังเรื่องโลภะ เรียกชื่อโลภะถูก พออร่อยก็โลภะ พอสนุกก็โลภะ แต่โลภะหรือเห็น หรือคิดนึกก็แล้วแต่ แต่ไม่สามารถจะรู้ลักษณะแท้ๆ ได้ เพียงแต่เรียกชื่อ เพราะโลภะ สั้นมาก ละเอียดมาก เร็วมาก อย่างรูปๆ หนึ่ง มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ขณะที่เห็นกับได้ยินซึ่งเหมือนพร้อมกัน จิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ เพราะฉะนั้น รูปๆ หนึ่งจะเกิดดับเร็วแค่ไหน นั่นคือรูป แต่นามธรรม ลองคิดดูว่าจะยิ่งสั้น และละเอียดกว่านั้นสักแค่ไหน แต่ว่าก็มีการเกิดดับสืบต่อ ให้สามารถระลึก และค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมมว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพรู้ ลักษณะนี้เป็นรูปธรรมแต่ละลักษณะ ทางตาก็อย่างหนึ่งกำลังปรากฏก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มีจริง ทางหูก็มีสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ พอกลิ่นปรากฏ ก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง รสปรากฏก็คือสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เย็นหรือร้อนก็อีกอย่างหนึ่ง นี่คือสภาพธรรมทั้งหมด ซึ่งปรากฏสั้นๆ เล็กๆ นิดเดียว ถ้าจะอุปมาเหมือนกับเราอยู่ในความมืดสนิท แล้วก็มีปสาท ๕ แห่ง แต่ทางกายจะซึมซาบอยู่ทั่วตัว แต่เวลาปรากฏจะไม่มีทั้งตัว เฉพาะตรงที่ปรากฏเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นการเพิกอิริยาบถ ซึ่งมันไม่มี เพราะว่าจิตจะเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ และก็รู้สึกเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างขณะที่กำลังนั่ง ทุกคนเห็น ปอดปรากฏหรือไม่ หัวใจปรากฏหรือไม่ เลือดเนื้อฟันแขนเท้า ปรากฏหรือไม่ ไม่ปรากฏ และแม้แต่อ่อนหรือแข็งยังไม่ปรากฏในขณะที่จิตกำลังเห็น นี่คือความรวดเร็ว นี่คือการที่จะไม่มีตัวตนเลย ตัวตนซึ่งใหญ่ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าจะสูงกี่ฟุตอะไรก็แล้วแต่ แต่เวลาที่ไม่มีตัวตน จะไม่เหลือเลย ไม่มีจริงๆ ขณะนี้คือความจริง แต่ปัญญาไม่ได้ประจักษ์ เพียงแต่กำลังคิดว่าเออจริง ขณะนี้ไม่มีอะไรปรากฏ ถ้าเห็นก็มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าได้ยินก็เฉพาะเสียง อย่างอื่นจะมารวมอยู่ตรงจิตที่กำลังรู้เสียงไม่ได้ ยังไงก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นจากเราทั้งตัว ก็เหลือนิดเดียว ความจริงคือเฉพาะสิ่งที่ปรากฏ เมื่อนั้นถึงจะทำลายความเป็นตัวตนที่รวมอยู่ทั้งตา หู จมูก ลิ้น แขน ขา ศีรษะ ผม เท้าอะไรทั้งหมด ซึ่งเป็นความทรงจำ แต่นี่เป็นอัตตสัญญาเพราะทรงจำ ถ้าเป็นอนัตตาเขาก็เริ่มทรงจำสภาพที่ไม่มีตัวตน แต่มีลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่สติกำลังระลึก และเป็นอย่างนั้นจริงๆ เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณประจักษ์หมดเลยไม่มีเหลือ เหลือเฉพาะสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ กับ สิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น จึงจะเห็นว่านั่นคือ ไม่มีเรา ไม่ใช่ขั้นคิด ไม่ใช่ขั้นพิจารณาไตร่ตรอง แต่เป็นขั้นที่สภาพนั้นปรากฏให้เห็นความจริงว่าเป็นอย่างนั้น เป็นจุดตั้งต้นของ อนัตตสัญญา ซึ่งจะต้องพิจารณานามรูปต่อไปอีกๆ เพราะว่ากิเลสมากมายเหลือเกิน

    ผู้ฟัง เคยฟังท่านอาจารย์ว่า คนที่เกิดสติปัฎฐานครั้งแรกจะไม่ชัด คือแยกไม่ออกว่า เป็นรูปหรือเป็นนาม ขณะนั้นใน ๖ ทวารต้องมีสิ่งที่เกิดขึ้น และปัญญาตรงนั้นเข้าใจอะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีแข็ง ธรรมดาเวลาสติปัฎฐานไม่เกิด เราไม่เคยศึกษาหรือค่อยๆ เข้าใจลักษณะที่ปรากฏว่าเป็นสภาพธรรม แข็งก็แข็งไป ตั้งแต่เช้านี่ไม่รู้กี่แข็ง กระทบที่นอน กระทบถ้วยแก้ว กระทบขันน้ำ ต่างๆ ก็มีแข็งตลอดเวลา แต่ไม่เคยศึกษาที่จะเข้าใจสภาพนั้นว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ชั่วขณะที่มีสภาพที่รู้แข็ง ถ้าไม่มีสภาพรู้แข็งขณะนั้นก็ปรากฏไม่ได้ และลักษณะที่แข็งสั้นมาก เล็กน้อยมาก เพราะขณะที่ลืมตาอย่างนี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏ และแข็งก็มี แต่ความจริงพร้อมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นการที่จะเข้าใจธรรมก็คือ รู้ลักษณะที่มีว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทาง และเวลาที่มีการระลึกลักษณะของสภาพที่แข็งก็เป็นธรรมดาๆ ธรรมต้องเป็นธรรมดา แต่เริ่มเข้าใจในลักษณะนั้นว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่า แข็งเคยรู้จักมาก่อนไม่ใช่สภาพธรรมเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่มีสัตว์ บุคคล ไม่มีวัตถุใดๆ ในสิ่งที่แข็ง แข็งปรากฏเฉพาะทางกายที่กระทบ จะหลับตา จะลืมตา แข็งก็ปรากฏได้ เพราะแข็งจะไม่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางหู แต่จะปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสกาย ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อยจนกว่าจะค่อยๆ รู้จริงๆ ว่าเป็นธรรม แม้แต่สภาพรู้ขณะนั้นที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ความจริงเป็นอย่างไร ก็ศึกษาให้เข้าใจตามความเป็นจริงเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง ขณะนี้เดี๋ยวนี้ตอนนี้ สติปัฎฐานก็ยังไม่เกิด จึงไม่ทราบว่าทิฎฐิเจตสิก กับ อัตตสัญญา ที่ทรงจำว่าเป็นตัวตน มันจะมีความใกล้เคียงกันมาก เพราะสติปัฎฐานยังไม่เกิด จากการเรียนรู้เรื่องบัญญัติ และจากการเรียนรู้เรื่องราว ก็พอจะเข้าใจ แต่พอพิจารณา มันไม่ใช่ตัวเดียวกันหรือเปล่า เพราะว่าถ้าจะอธิบายถึงอัตตสัญญาซึ่งความจำในความเป็นตัวตน ศึกษาเรื่องราวมันเป็นอย่างนี้ และทิฎฐิ คือการยึดถือว่าเป็นเราเป็นตัวตน การยึดถือกับการจำว่าเป็นตัวตนไม่ใช่ตัวเดียวกันหรือ

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิด

    ผู้ฟัง ความเห็นผิด สมมติว่าคนที่ฟังธรรมของอาจารย์สุจินต์แล้วทุกคน ฟังเข้าใจแล้วจะมีทิฎฐิความเห็นผิดไหม

    ท่านอาจารย์ ทิฎฐิเจตสิก เกิดหรือไม่เกิด เพราะเหตุว่ากิเลสมี ๓ ระดับ ที่เป็นอนุสัย ไม่ได้เกิดทำกิจการงานร่วมกับจิต อย่างเวลาที่นอนหลับสนิท คนที่ไม่ใช่พระโสดาบันก็มีอนุสัยกิเลสครบ ยังไม่ได้ดับไปเลย แต่เวลาตื่นขึ้น ก็แล้วแต่ว่าทิฎฐิเจตสิกจะเกิดทำกิจการงานหรือไม่เกิด ถ้าเกิด ก็เกิดร่วมกับจิตทำกิจเห็นผิด ขณะนั้นมีความเห็นในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล นั้นเป็นสักกายทิฎฐิ แต่ถ้าไม่เกิด มีแต่โลภะก็เป็นความรู้สึกติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นไม่ใช่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็ต้องแยก ๒ อย่างคือ โลภะไม่ใช่ทิฎฐิ

    ผู้ฟัง ถึงแม้เราจะมีความเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตาก็ตาม เรายังมีทิฎฐิเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต ต้องแยกก่อน ถ้าเป็นกุศลจิต ไม่มีทิฎฐิเจตสิกแน่นอน และเวลาที่เป็นอกุศลจิต ก็ต้องแยกว่า ขณะนั้นเป็นโทสะ โมหะ หรือเป็นโลภะ ถ้าเป็นโทสะ ทิฎฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ ถ้าเป็นโมหะ ทิฎฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยไม่ได้ ทิฎฐิเจตสิก จะเกิดร่วมเฉพาะกับขณะที่มีความติดข้องในความเห็นนั้น ถ้าขณะนั้นไม่มีความติดข้องในความเห็น แต่มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏขณะนั้นเป็นโลภะที่ไม่มีทิฎฐิเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ติดข้องในความเห็นนั้น และต้องอธิโมกข์ด้วยหรือเปล่า ที่อาจารย์กล่าวว่าเราต้องปักใจเชื่อมั่น

    ท่านอาจารย์ อธิโมกข์ เกิดกับจิตที่เป็นโลภมูลจิต ที่ไม่มีทิฎฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยก็ได้

    ผู้ฟัง งั้นก็แสดงว่าที่ปักใจเชื่อ

    ท่านอาจารย์ ปักใจในอารมณ์

    ผู้ฟัง ปักใจในอารมณ์จะมีทิฎฐิประกอบด้วยก็ได้ หรือไม่มีทิฎฐิประกอบด้วยก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะต้องเรียนว่า เจตสิกนี้ เกิดขึ้นกับจิตกี่ประเภท

    ผู้ฟัง เพราะว่า เท่าที่เราฟังธรรมของอาจารย์สุจินต์มา ก็มีความเข้าใจในระดับหนึ่งว่าธรรม ในขั้นเรื่องราวว่าธรรมเป็นอนัตตา คิดว่า ทิฎฐิเจตสิก คงจะเจือจางลงไปแล้ว หรืออาจจะไม่มีเลย เพราะว่าฟังอาจารย์แล้ว และก็คิดว่าเข้าใจคล้อยถามอาจารย์ได้พอสมควร

    ท่านอาจารย์ ไม่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นกุศลแน่นอน และในขณะที่เป็นโทสะก็ไม่เกิด ในขณะที่เป็นโมหะ ก็ไม่เกิด ในขณะที่เป็นโลภะติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส โดยที่ไม่มีความเห็นเกิดด้วยในขณะนั้นก็เป็นโลภะ แต่ไม่ใช่มีทิฎฐิเกิดร่วมด้วย ต้องเป็นความติดข้องในทิฏฐิ ในความเห็น

    ผู้ฟัง แต่จะเป็นอัตตสัญญา

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของสัญญาความจำ เพราะฉะนั้น วิปลาส จึงมีจิตตวิปลาส สัญญาวิปลาส ทิฎฐิวิปลาส

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์บอกว่าฟังธรรมให้เป็นอนัตตา จะต้องจรดกระดูกใช่ไหม ต้องลึกซึ้ง และอย่างที่อาจารย์บอกว่า หลังจากไม่มี แล้วมี แล้วก็ไม่มี มันเป็นความมหัศจรรย์ ผมฟังแล้วมันธรรมดาๆ

    ท่านอาจารย์ ธรรมดามาก เพราะเกิดมาก็เห็น เกิดมาก็ได้ยิน ธรรมดาจริงๆ เพราะไม่รู้ว่าเป็นธาตุที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ฟังแล้วไม่ได้เกิดปีติ ไม่เกิดความรู้สึกพิสดาร

    ท่านอาจารย์ ไม่เคยลองพิจารณาเลยหรือ สภาพเสียงมันไม่น่าอัศจรรย์หรือ มันเป็นธรรมชนิดหนึ่งเหมือนกับธาตุทั้งหลายที่เป็นธาตุ ธาตุเสียงไม่ต้องเอาตัวตน หรือเอาคนเข้าไปปนในนั้นเลย ธาตุเสียง มันเป็นธาตุชนิดหนึ่ง มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง มันไม่น่าอัศจรรย์หรือ อยู่ดีๆ ก็มีธาตุเสียงเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง มันไม่ตื่นเต้นเหมือนกับตัวอย่างที่อาจารย์เคยยก ดังตัวอย่างที่บอกว่า รังเกียจอกุศลเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้ารังเกียจอกุศลของคนอื่น จนขณะนั้นลืมรังเกียจอกุศลของตนเองที่รังเกียจอกุศลของคนอื่น อย่างนี้พูดแล้วยังวาบขึ้นอยู่ในใจอยู่

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอะไรเลยๆ และเกิดมีเสียงขึ้น มันไม่น่าอัศจรรย์หรือ ไม่มีอะไรเลย และเกิดมีเสียงขึ้น เพราะว่ามีเราที่ชินต่อเสียง แต่นี่เราก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ไม่มีอะไรเลย แล้วก็เกิดมีเสียงขึ้นมามันไม่น่าอัศจรรย์หรือ และเสียงนั้นปรากฏด้วยต้องมีสภาพที่รู้เสียง เสียงนั้นจึงปรากฏได้ไม่น่าอัศจรรย์หรือ

    ผู้ฟัง สำหรับผมไม่ แต่ท่านอื่นนี่ผมไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ เพราะดูธรรมดา เพราะเราชิน แต่พอไม่มีเรา แล้วเป็นธาตุทั้งหมดเลย ศึกษาโลกธาตุโลกธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะที่นี่หรือที่ไหน ในจักรวาลแสนโกฏิจักรวาล ก็เป็นแต่ธาตุแต่ละอย่าง ไม่มีความเป็นเราอีกเลย และความเป็นธาตุมันไม่น่าอัศจรรย์หรือว่า มันเกิดขึ้นมาได้ยังไง มันปรากฏได้ยังไง อยู่ดีๆ ก็ปรากฏได้ต้องมีธาตุรู้ ถ้าไม่มีธาตุรู้เสียงปรากฏไม่ได้เลย นี่เพราะเหตุว่าเราไม่เคยลึกซึ้งกับสภาพธรรมที่มี ฉะนั้นปัญญาของเราอยู่ตรงไหน มันไม่มีเลยเพราะว่ามันไม่มีความลึกซึ้งใช่หรือไม่ แต่ปัญญาจะรู้ และปัญญาจะเป็นรู้อื่นจากนี้ได้หรือไม่ สิ่งที่เราเป็นธรรมดาในชีวิตของเรา เหมือนไม่มีอะไร เหมือนไม่สลักสำคัญอะไร แต่ที่ปัญญาจะเกิดจะรู้แล้วว่าเป็นปัญญาระดับไหน ก็ต้องรู้ในสิ่งที่มีนั่นแหละ ถ้าเรารู้ในสิ่งที่มีเพียงนิดเดียว ก็แสดงว่าปัญญาของเรานิดเดียว แต่ถ้ารู้ในสิ่งที่มีนั้นมาก จนกระทั่งต้นตอ จนกระทั่งปัจจัยที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมนั้นๆ เราก็รู้ว่านั่นคือปัญญาทั้งหมด

    ผู้ฟัง นั้นหมายความว่าต้องเรียนมาก

    ท่านอาจารย์ แน่นอนในสิ่งธรรมดาๆ นี่แหละ แต่รู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น เห็นถูกมากขึ้นในความเป็นธาตุ ไม่ใช่เป็นเรา

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดว่า เสียงมีแล้วไม่มี เสียงมันก็เกิดดับ เราก็รู้ว่าบางครั้งมันก็เงียบ บางครั้งมันก็ดัง แต่ว่าถ้าเกิดรูปถ้าเกิดเห็นแล้วคนหายไปอย่างนี้น่าจะอัศจรรย์กว่ากัน

    ท่านอาจารย์ และเวลาที่เสียงปรากฏ คนมีไหม

    ผู้ฟัง เสียงปรากฏ คนก็มี

    ท่านอาจารย์ นั้น ไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่า เป็นธาตุจริงๆ จึงจะพบความน่าอัศจรรย์ว่า คนไม่มีเลย มีแต่ธาตุ แต่ละขณะซึ่งเกิด และเป็นสภาพของธาตุนั้นๆ ธาตุเสียงก็ไม่ใช่ธาตุรู้เสียง และขณะนั้นที่มีธาตุรู้เสียงกับเสียง ธาตุอื่นจะมีไม่ได้ ปรากฏไม่ได้เลย แน่นอนเด็ดขาดไม่มี เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้นแต่ไม่รู้ ไม่ประจักษ์ ก็ไม่น่าอัศจรรย์ เพราะมันต่อกันเร็วจนเหมือนธรรมดาใช่ไหม แต่ถ้าออกมาเป็นแต่ละอย่างๆ ที่มีปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ แล้วยับยั้งไม่ได้ด้วย ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้เลย ไม่มีใครไปหยุดยั้งหรือจะอยากให้เกิดขึ้น ไม่มีความเป็นเราอยู่ที่ไหนเลย

    ผู้ฟัง หรือว่าจนกว่าสติปัฎฐานจะเกิดก่อน ถึงจะอัศจรรย์

    ท่านอาจารย์ ก็สิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ก็คือของธรรมดา แต่ปัญญายังไม่เกิด มันก็ไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าปัญญาจะเกิด ปัญญาไม่ได้รู้อย่างอื่นเลย นอกจากทุกอย่างที่มีจริงในขณะนี้ตามปกติ แต่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ชัดขึ้น ละเอียดขึ้น แจ่มแจ้งขึ้น นั้นคือปัญญาเจริญขึ้นจึงรู้สิ่งที่กำลังปรากฏได้ตามปกติ ปัญญาจริงๆ ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏได้ตามปกติ ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ตามปกติของปุถุชน และพระอรหันต์ มันก็ไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ปุถุชน ไม่ได้มีปัญญา ต่างกันที่ปัญญา ความเป็นปุถุชน และพระอรหันต์ต่างกันที่ปัญญา ไม่ได้ต่างกันที่สภาพธรรมที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ท่านจะเห็น และหายไป

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร อบรมให้รู้ให้เข้าใจถูก ในสิ่งที่มีจนกระทั่งประจักษ์แจ้งว่า เป็นธาตุแต่ละอย่าง ไม่มีเรา ไม่มีอะไรเลย นอกจากสภาพธรรม เห็นสภาพธรรมว่าเป็นธรรม

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ ท่านมีทุกขเวทนาทางกายใช่หรือไม่ แต่ท่านไม่มีโทมนัสเวทนา ทางจิต ที่ประกอบด้วยอกุศล ไม่แน่ใจว่าท่านจะรู้สึกเจ็บหรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทุกข์ที่กายเป็นอย่างไร ทุกข์ที่กายที่ใช้คำว่า ทุกข์ที่กาย หมายความว่าอย่างไร ทุกข์นั้นต้องเกิดที่กายอาศัยกายจึงเกิดขึ้น ถ้าไม่มีกาย ทุกข์นั้นๆ ก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้นทุกข์ที่กายมีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง เช่น ป่วยไข้ สะดุดก้อนหินล้ม

    ท่านอาจารย์ เจ็บ คัน ปวด เมื่อย สารพัดอย่างซึ่งเกิดที่กาย ตรงกายนั่นแหละคือทุกข์กาย

    ผู้ฟัง พระอรหันต์ เวลาถูกมีดบาด ท่านจะเจ็บ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ทุกข์กายคืออะไร

    ผู้ฟัง ทุกข์คือเจ็บ

    ท่านอาจารย์ แล้วจะไม่เจ็บหรือ ถ้ามีกาย

    ผู้ฟัง เจ็บแล้วมันเข้าไปอยู่ในใจ

    ท่านอาจารย์ คนละอย่าง บางคนไม่มีทุกข์ใจแต่มีทุกข์กาย บางคนทุกข์กายไม่มีเลยแต่มีทุกข์ใจ ต้องแยกกัน กายไม่ได้เจ็บ หรือไม่ได้ปวดเลย แต่แสนจะเศร้า แสนจะโทมนัส แสนที่จะรำคาญใจ นั่นคือทุกข์ใจ แต่พระอรหันต์ท่านไม่มีทุกข์ใจเลย แต่เมื่อมีกายก็เป็นรังของโรคภัย และความเจ็บปวด

    ผู้ฟัง ในขณะที่ปัญจทวารวิถีเกิด จิตจะสามารถรู้ได้หรือ

    ท่านอาจารย์ ปัจจทวาราวัชชนจิต เป็นจิต

    ผู้ฟัง เป็นจิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นจิต ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ธาตุชนิดนี้เกิดแล้ว ต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้

    ผู้ฟัง มีอารมณ์ เป็นรูปปรมัตถ์ ใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้น เจ็บไม่ใช่ รูปปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ สภาพรู้ รู้รูป

    ผู้ฟัง ซึ่งสภาพรู้รูป เกิดทางมโนทวาร

    ท่านอาจารย์ สภาพรู้เกิดได้ทั้งนั้น ไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดก็รู้ได้ เราแยกว่าธาตุรู้ รู้ทางไหน ถ้าอาศัยตา ก็คือรู้ทางตา ถ้าไม่มีตาก็ไม่เห็น ถ้าอาศัยหู ก็รู้ทางหู ถ้าไม่มีหูก็ได้ยินเสียงไม่ได้ ถ้าไม่มีตาหู ก็ไม่ได้อาศัยตาหูจมูกลิ้นกาย ก็ยังคิดนึกได้ นั่นก็คือจิตที่คิดนึก เพราะฉะนั้นสภาพหรือธาตุรู้ ถ้าเกิดแล้วต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้ รู้โดยอาศัยทวารก็ได้ ไม่อาศัยทวารก็ได้ รู้ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ ใจก็ได้ ไม่อาศัยตาหูจมูกลิ้นกายใจเลยก็ได้ แต่ต้องรู้เมื่อเป็นธาตุรู้

    ผู้ฟัง แต่ว่าตอนที่มันรู้สึกเจ็บ ตอนที่กายวิญญาณเกิด คนละขณะ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีกาย แล้วจะเจ็บได้อย่างไร ไม่มีทางจะเจ็บได้เลย จะเจ็บตรงไหน ถ้าไม่มีกาย

    ผู้ฟัง เจ็บตรงใจที่คิดนึก

    ท่านอาจารย์ ไม่ เจ็บที่กาย ใช้คำว่าเจ็บ ปวด เมื่อย คัน ไม่สบายกาย ความรู้สึกไม่สบายกายทั้งหมด ต้องมีกายเพราะว่าเกิดตรงนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ตรงปัญจทวาราวัชชนจิตตรงที่เกิดชวนะวิถีโดยมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ชวนะจะเกิดเป็นกุศลหรืออกุศลมันไม่ได้เกี่ยวกับใจแล้ว

    ท่านอาจารย์ คนละทวาร ต้องแยกกันเด็ดขาด วาระทางปัญจทวาร ตลอดจนถึงชวนะ ตทาลัมพนะ ไม่ว่าจะเป็นทางตาหูจมูกลิ้นกายก็คือทางปัญจทวาร ถ้าทางมโนทวารก็ไม่มีทางปัญจทวารเลย มีแต่มโนทวาราวัชชนะ และกุศล อกุศล และ กิริยาจิตของพระอรหันต์

    ผู้ฟัง จะเป็นไปได้หรือไม่ว่า สมมติว่าวิบากรับมา ความรู้สึกเจ็บเกิดขึ้น แล้วพอมาทางชวนะวิถีเกิดเป็นกุศลสำหรับปุถุชนทั่วไป

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นสติปัฎฐานเกิด

    ผู้ฟัง ทางปัญจทวาร

    ท่านอาจารย์ เกิดดับสืบต่อเร็วมาก ปัญจทวาร กับมโนทวาร แยกไม่ออกเลย

    ผู้ฟัง ขณะแม้จะเป็นอกุศลวิบากแต่ว่า ชวนจิต จะเป็นกุศลก็ได้

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ อยากจะเข้าใจคำว่า อายตนะ ตามที่เข้าใจก็คือ อายตนะเป็นที่ประชุมร่วมกันของของ ๓ อย่าง ทีนี้การที่จะเข้าใจอรรถะของคำว่า อายตนะ เราควรจะเข้าใจยังไง

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าเป็นที่ต่อ ที่ประชุม หรือเป็นบ่อเกิด

    ผู้ฟัง ในด้านสติปัฎฐาน จะเข้าใจ อายตนะ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีจิต ซึ่งเป็นธาตุรู้ แต่ขณะนี้กำลังเห็น ที่เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ถ้าไม่มีจักขุปสาทเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีรูปารมณ์กระทบ เห็นได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แล้วเห็น เห็นเมื่อไหร่

    ผู้ฟัง เห็นเมื่อ ๓ อย่าง ประชุมกัน

    ท่านอาจารย์ เห็นเมื่อมีจักขุปสาทที่ยังไม่ดับ และรูปารมณ์ที่กระทบยังไม่ดับ นี่คือความหมายของคำว่า อายตนะ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    6 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ