ปกิณณกธรรม ตอนที่ 27


    ตอนที่ ๒๗

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ผู้ฟัง อโนตตัปปะ (ไม่เกรงกลัว) กับ อหิริ (นี่ไม่ละอาย)

    ท่านอาจารย์ ไม่ละอาย ถ้าของร้อน เราไม่กล้าจับเพราะกลัวร้อน แต่ของไม่สะอาด ของเปื้อนๆ เราก็ไม่อยากจะจับเหมือนกัน แต่ว่าความรู้สึกคนละอย่าง

    ผู้ฟัง ละเอียดมาก มองดูคล้ายๆ

    ท่านอาจารย์ ต้องเกิดร่วมกัน ทั้งสองอย่างนี้เกิดร่วมกัน ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด แม้เพียงนิดเดียว ขณะนั้นมีโมหะ มีอหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึง คำบัญญัติ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็จะพูดอีกอย่างหนึ่ง อาจารย์กล่าวว่าไม่ว่าจะเป็นชาติไหน ภาษาใด ก็จะต้องมีสภาพธรรมปรมัตถ์เกิดเหมือนกันหมด

    ท่านอาจารย์ ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ทำไม บัญญัติ ถึงแตกต่างกัน จึงทำให้เราต้องไปเรียนภาษาโน้น ภาษานี้

    ท่านอาจารย์ ความจำในสิ่งซึ่งเป็นลักษณะของเสียงที่ทำให้เรารู้ความหมาย เสียงมีเสียงสูงเสียงต่ำ มีการออกเสียงจากฐานของเสียง ซึ่งทำให้เกิดอักขระ เป็นตัวอักษรต่างๆ ทำให้มีความจำว่าอักษรนี้หมายความว่าอะไร คำนี้หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง ความละเอียดของ อโหสิกรรม ฟังท่านอาจารย์มา จะมีด้วยกัน ๖ นัย คือกรรมในอดีตให้ผลในอดีตก็มี กรรมในอดีตไม่ให้ผลในอดีตก็มี กรรมในอดีตให้ผลในปัจจุบันก็มี กรรมในอดีตไม่ให้ผลในปัจจุบันก็มี และกรรมในอดีตจักให้ผลในอนาคต หรือว่ากรรมในอดีตจักไม่ให้ผล ในอนาคต

    ท่านอาจารย์ เมื่อกรรมทำแล้วคืออโหสิกรรม กรรมที่ได้ทำแล้วมีกาลที่จะให้ผลต่างกัน ไม่ใช่ว่าทำเดี๋ยวนี้ ได้ผลเดี๋ยวนี้ กรรมที่ทำแล้วในชาติก่อนซึ่งทุกคนก็เคยเกิดมาแล้วในชาติก่อน ทั้งๆ ที่เราก็จำไม่ได้ว่าชาติก่อนเราทำกรรมอะไรไว้ ไม่อยากจะให้ไปคิดถึงชาติก่อน ซึ่งเราจำไม่ได้ แต่ชาตินี้ เรารู้ เกิดมาเป็นคนนี้ ทำอย่างนี้มาแล้วตั้งแต่เด็ก และกำลังทำอย่างนี้อยู่ แต่กรรมที่เราทำตั้งแต่เด็กก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ผลในชาตินี้ หรือว่ากรรมที่เรากำลังทำเดี๋ยวนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะให้ผลเดี๋ยวนี้ แสดงให้เห็นว่ากรรมใดก็ตามที่ได้กระทำแล้ว แม้ในชาติก่อนที่ยังไม่ได้ผลก็มี ที่ให้ผลแล้วก็มี หรือที่จะให้ผลในชาติต่อไปก็มี ชาติก่อนฉันใด ชาตินี้ก็ฉันนั้น แสดงให้เห็นถึงกรรม กาลที่จะให้ผลว่า เป็นไปตามกำลังของกรรม เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ผู้ฟัง ขออนุญาตกล่าวถึงพระพุทธองค์ว่า ผู้ใดที่บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว หลังจากปรินิพพานแล้ว ก็จะไม่มีกรรมเกิดต่อ

    ท่านอาจารย์ ตราบใดที่ยังมีกิเลส จึงมีกรรม แต่ถ้าดับกิเลสแล้ว การกระทำใดๆ ไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากต่อไปข้างหน้า ขณะเห็นเป็นวิบาก ขณะได้ยินเป็นวิบาก เราต้องรู้ว่าคำว่า วิบาก คือผลของกรรมนี้คือขณะไหน กำลังเห็นเป็นผลของกรรม กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นผลของกรรมทั้งนั้น แต่หลังเห็นแล้ว สำหรับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ก็เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง สำหรับพระอรหันต์จะไม่เป็นกุศล และอกุศล เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นกุศลก็เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก ถ้าเป็นอกุศลก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นเมื่อดับกิเลสแล้วก็ไม่มีกุศลจิต อกุศลจิต ไม่มีกรรมอีกต่อไป

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงคำที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ถ้าเป็นความนึกคิดที่ตื้นๆ ก็จะแสดงความคิดเห็นว่าอย่างนี้จะถูกน้อยแค่ไหน ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา คือก่อนที่จะศึกษาธรรม ก็บอกตรงๆ เลยว่าไม่เชื่อ ไม่แน่ใจว่ามีพระพุทธเจ้าจริงหรือเปล่า แต่หลังจากที่ได้ศึกษาธรรม ฟังธรรมของพระพุทธองค์ แล้วก็ปฏิบัติตามที่ท่านอาจารย์สอน ก็เกิดผลขึ้นมากับตัวเราเองที่เรารู้ ทำให้เชื่อไปว่าพระพุทธองค์มีจริง ไม่ทราบว่าจะถูกหรือผิดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องเริ่มเข้าใจความหมายของคำว่า พุทธะ ซึ่งก่อนศึกษาอาจจะคิดว่าพระพุทธเจ้า เป็นคนที่มีรูปร่างหน้าตาอย่างพระพุทธรูป อาจจะคิดเพียงเท่านั้น แล้วพระองค์ก็สอนเรื่องให้เราทำดี ให้เราละชั่ว เราจะได้ยินคำว่า นิพพาน แล้วก็ยังไม่รู้ว่านิพพานคืออะไร เพราะฉะนั้นจะบอกว่าเรารู้จักพระพุทธเจ้าไม่ได้ จนกว่าจะเมื่อเราศึกษาพระธรรม เราจะถึงเข้าใจว่า แม้คำว่าพุทธะ คือผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือผู้ที่ตรัสรู้ความจริง แล้วความจริงนั้นไม่ใช่ขณะไหน เดี๋ยวนี้ ที่กำลังมีนี้เป็นของจริง แล้วคนที่สามารถจะสอนให้เราเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ และให้เราเกิดปัญญาขึ้น แล้วความจริงเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ทุกกาล ทุกสมัย ทุกขณะ เราก็รู้ว่าผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่ไม่ใช่เพียงความรู้ขั้นโลกๆ หรือขั้นครูบาอาจารย์ หรือเพียงศาสดา นักปราชญ์ นักจิตวิทยา แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรัสรู้จริงๆ จึงจะแสดงได้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีใครบ้างที่จะบอกเราอย่างนี้ก่อนที่เราจะศึกษา เราเกิดมาแล้วกี่ชาติ ชาติไหนที่เราจะได้ยินคำว่า อนัตตา ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา และทรงแจกแจงแยกละเอียดว่า ธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นอนัตตานั้น เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ค่อยให้เราเกิดปัญญาที่จะรู้จักความเป็นพุทธะของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถ้าไม่ศึกษา ไม่มีทางที่จะรู้เลยจริงๆ เพราะฉะนั้นเราก็จะเริ่มเห็นพระพุทธเจ้า อาจจะนิดๆ หน่อยๆ จนกว่าจะได้รู้แจ้ง อริยสัจจธรรมเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็มีความมั่นใจตามลำดับขั้น

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามอาจารย์เรื่องสติปัฏฐาน ฟังเทปอาจารย์แล้วอ่านในตำรา มีเข้าใจผิดนิดหน่อย ตามความเข้าใจ ก็คิดว่าสติปัฎฐานเป็นที่ตั้งของสติ เพื่อที่จะทำให้สติระลึกถึงสภาพของความเป็นจริงขณะที่ปรากฏ ให้เข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏขณะนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สติปัฎฐานมีความหมาย ๓ อย่าง ๑. หมายความถึงสิ่งที่สติระลึก เพราะสติเป็นสภาพที่ระลึกในทางที่เป็นกุศล ๒. หมายความถึง สติเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่ระลึก ๓. หมายความถึง สติปัฎฐาน เป็นหนทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลายดำเนิน ท่านไม่ไปทางอื่น ท่านไปกันทางนี้ เราอาจจะไปหลายทาง ไปดูหนัง ไปดูละคร ไปทำธุระ แต่พระอริยะทั้งหลาย ท่านดำเนินหนทางนี้

    ผู้ฟัง ส่วนมากพวกเรากำลังปฏิบัติอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่าใคร คนอื่นก็ยาก ต้องเฉพาะตัวเองว่ามีความเข้าใจในสติปัฎฐานขั้นไหน และก็สติปัฎฐานเกิดหรือเปล่า สติปัฎฐานจริงๆ แล้วคืออะไร คือสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ว่าปัญญาไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจโดยถูกต้อง เพราะฉะนั้นหลังจากที่ฟังธรรม แล้วก็เข้าใจในความเป็นธรรม ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหนเลย ทางตาที่กำลังเห็นธรรม เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้คือเห็น ต่างกับทางหูเป็นสภาพรู้เป็นธาตุรู้ เป็นธรรมอีกชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้นทั้งเนื้อทั้งตัวมีแต่ธรรมทั้งหมด คือรูปธรรมบ้าง นามธรรมบ้าง แต่เพียงฟัง ถ้าสติยังไม่เกิด ยังไม่ระลึกตรงลักษณะของรูปธรรม และนามธรรมแต่ละลักษณะ เพราะฉะนั้นสติปัฎฐาน คือเมื่อฟังแล้วไม่พลาดโอกาสที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะบางคนสนใจฟังธรรมจริง ฟังเพื่อประดับสติปัญญา ประดับความรู้ว่ามีจิต มีเจตสิก มีรูป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แต่หมายความว่า มีอาหารแต่ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รับประทานเลย รู้แต่เพียงวิธีปรุง วิธีทำ แต่ไม่เคยได้ลิ้มรสอาหารนั้น รู้แต่ว่าใส่อะไรบ้าง มีเครื่องปรุงอะไรบ้างเหมือนการศึกษาเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แต่ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่เพียงแค่ให้เราเข้าใจ เพราะว่าเพียงขั้นเข้าใจ ดับกิเลสไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความรู้แท้จริงขั้นประจักษ์แจ้ง เพียงขั้นฟัง เวลานี้เราจะฟังเรื่องอะไรก็ได้ เราอาจจะฟังเรื่องเกษตรกรรม เรื่องการปลูกกล้วย เรื่องอะไร แต่เรายังไม่ได้ลงมือทำ เพราะฉะนั้นเราฟังเรื่องธรรม เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แต่สติยังไม่ได้ระลึกที่จะรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ เกิดแล้วดับจริงๆ ทั้งๆ ที่ฟังว่าเกิดแล้วดับ ทางตาที่กำลังเห็นเกิดดับ เพราะว่าจิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว ขณะเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ทำกิจเห็นขณะนี้ ที่เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง เป็นหน้าที่การงานของจิต ขณะที่กำลังได้ยินเป็นจิตอีกชนิดหนึ่ง ทำกิจการงานได้ยิน สภาพธรรมที่เป็นรูปเห็นไม่ได้ ได้ยินไม่ได้ ทำกิจเหล่านี้ไม่ได้ เพราะกิจเหล่านี้เป็นของสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิต เพราะฉะนั้นขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ ดับเดี๋ยวนี้ และขณะที่ได้ยินเกิดขึ้นก็ดับด้วย นี่คือผู้ที่ประจักษ์แจ้ง เพราะเหตุว่า สติปัฎฐานเกิดระลึกลักษณะของธรรม ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นธรรม แต่ถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่าเป็นธรรมจริงๆ เพียงแต่ฟังเข้าใจโดยขั้นเข้าใจเท่านั้นว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็มีความรู้หลายขั้น คือจากขั้นฟัง มาถึงขั้นระลึกรู้ซึ่งเป็นขั้นปฏิบัติ และถึงขั้นปฏิเวธ ซึ่งประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่าสภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้เป็นความจริงตามที่ทรงแสดง ไม่ใช่คิดๆ เอา ประมวลเอา แล้วก็ไปบอกคนอื่นว่านี่มีจิตทางตา เห็นต้องดับไปก่อน และทางหูจิตได้ยินถึงจะเกิดขึ้น ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่เพราะเหตุว่าเมื่อได้ประจักษ์แจ้ง ก็ทรงแสดงหนทางดำเนินไปสู่การอบรมเจริญปัญญาที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม ซึ่งกำลังเกิด ดับ ในขณะนี้

    ผู้ฟัง ขั้นฟัง กับ ขั้นศึกษา และกว่าจะเข้าใจถึงขั้นปฏิบัติคงใช้เวลานาน

    ท่านอาจารย์ บางคนก็เข้าใจเร็วเพราะเหตุว่าสะสมเหตุมาก บางคนอาจจะเพิ่งเริ่ม เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ท้อถอย ในเมื่อมีของจริง และกำลังปรากฏ แต่ว่าโดยมากจะหลงลืมสติ เพราะระลึกไม่ได้ ด้วยเหตุนี้แม้ในครั้งพุทธกาล ผู้ที่ได้อยู่ใกล้พระวิหาร ไปเฝ้าเพื่อฟังธรรม หรือแม้พระภิกษุซึ่งบวชแล้ว และเวลาที่พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไป เพื่อที่จะทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกในที่อื่น พระภิกษุทั้งหลายท่านก็ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเพื่อฟังธรรม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมเพื่อให้ทราบว่าเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในสิ่งเราไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือว่าในสิ่งที่ได้ฟังแล้ว แต่ว่ายังเข้าใจพอ หรือว่ายังจะต้องเข้าใจมากกว่านั้นอีก เพื่อสติจะระลึกได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคน

    ผู้ฟัง เรียนถามอาจารย์เรื่อง มหาสติปัฎฐาน มี ๔ แล้วก็มีอะไร

    ท่านอาจารย์ ที่ใช้คำว่า มหาสติปัฎฐาน เพราะเหตุว่า มหา หมายความว่า มากมาย เยอะแยะ ทุกสิ่ง เพราะฉะนั้น สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมทุกสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่จำกัด ทางตาก็กำลังเห็น แล้วทำไมจะจำกัดไม่ให้ปัญญารู้ความจริงของสภาพเห็นที่กำลังเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตาก็มี ทำไมจะไปจำกัดว่าไม่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตาตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรมทั้งหมด และถ้าสามารถที่จะรู้ ขั้นเข้าใจ และขั้นที่สติระลึก ผู้นั้นก็กำลังดำเนินหนทางสู่ความเป็นพระอริยบุคคล เป็นหนทางที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยะทั้งหลายท่านได้ดำเนินไปแล้ว

    ผู้ฟัง ฟังมาว่า มีเรือล่ม แล้วก็จะต้องมาอยู่ในเรือเล็ก แล้วเรือเล็กก็จะบรรจุคนได้ ถ้าเกินอีกคน เรือเล็กก็ไม่สามารถที่จะนำคนกลับไปสู่ฝั่งได้ มีการจับฉลากกัน กลับกลายเป็นผู้หญิงคนนั้น ซึ่งเป็นภรรยาของกัปตันเรือ ที่จะต้องกระโดดน้ำลงไปเพื่อให้เรือกลับไปสู่ฝั่งได้ สามีทนไม่ได้ที่จะเห็นภรรยาทุรนทุราย เลยคิดว่าจะมีการถ่วงน้ำลงไปให้ตายเร็วขึ้นก็ได้มาบอกว่าผู้หญิงคนนั้น ที่ได้ถูกถ่วงคอก็เพราะว่ากรรมที่เขาเคยถูกถ่วงคอสุนัขเอาไว้ มาถึงในข้อแรก ก็คือกรรมของผู้หญิงคนนั้นก็คือที่เขาถูกถ่วงคอ เพราะว่าเขาเคยทำกับสุนัขไว้ กล่าวถึงทางสามีที่เค้าทำกับภรรยา จะเป็นการเริ่มวิบากต่อไปใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปถึงคู่นั้น คู่นั้นแสนนานมาแล้ว สามี ภรรยา สุนัข เรื่องราวใหญ่โต กรรมที่ทำแล้วเป็นของใคร กรรมที่แต่ละคนทำเป็นของใคร

    ผู้ฟัง เป็นของๆ แต่ละคน

    ท่านอาจารย์ เป็นของตัวเอง หมายความว่าผู้ใดทำกรรมใดแล้ว อกุศลจิตเกิด อกุศลกรรมได้สำเร็จลงไปแล้ว มีเหตุเกิดแล้ว ผลต้องมี ถ้าเราปลูกต้นมะม่วงทิ้งไว้ก็ต้องมีผล ต้องเจริญเติบโตแล้วก็มีผล เพราะฉะนั้นกรรมที่ได้ทำแล้ว ก็เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล เมื่อไหร่ก็ได้ ชาติไหนก็ได้ แต่ให้ทราบว่าเราทำเอง นี่เป็นเหตุที่ทุกคนจะไม่หวังพึ่งคนอื่น จะมีความมั่นคงในเรื่องของกรรม จะเป็นผู้ที่มีเหตุมีผล ไม่เชื่อง่ายๆ ไม่ต้องไปไหว้ใคร หรือทำอะไรใคร แล้วก็ให้เขาทำให้เราพ้นจากกรรมที่เราทำแล้ว ซึ่งเป็นไปไม่ได้ อกุศลกรรมเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก คือผลของอกุศล ถ้ากุศลกรรมก็เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก คือผลของกุศล และเราจะเห็นพระมหากรุณาคุณที่ทำให้เราเข้าใจถูก ไม่ไปโทษคนอื่น ไม่คิดว่าคนนั้นทำให้เรา คำพูดนี้จะไม่มีเลย หรือว่าทำไมถึงต้องเกิดกับเรา ก็เพราะต้องเกิดกับเราเพราะเราทำมาแล้ว ได้ทำกรรมไว้แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งนั้นก็ต้องเกิด ไม่ว่าชีวิตของเราจะได้สุขหรือทุกข์ ได้ลาภหรือเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ สรรเสริญหรือนินทา สุข ทุกข์ ไม่ใช่เพราะคนอื่นทำ แต่เป็นกรรมของเราเองที่ได้ทำแล้ว อย่างนี้ก็สบายใจ ไม่โกรธคนอื่น ไม่มีศัตรู เพราะว่าไม่มีใครทำให้ นอกจากกรรมของเราจริงๆ

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องโกรธ คือว่า มีคนที่ทำให้เราต้องโกรธ ผูกโกรธเขาอยู่ ขณะเดียวกันก็ได้ฟังคำของท่านอาจารย์มาเรื่อยๆ แต่ก็ยังโกรธอยู่ จนกระทั่งมาได้ฟังท่านอาจารย์บรรยายอยู่ตอนหนึ่ง ท่านอาจารย์ก็บอกว่า การที่เราจะไม่โกรธคน มันทำง่ายเหลือเกิน สตางค์ก็ไม่ต้องเสีย แต่ทำไมเรายังสละนี้ไม่ได้ ถ้าเรายังสละไม่ได้ เราจะมาศึกษาธรรม รู้สึกว่าห่างไกลกันมาก อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่ง ข้อที่สองก็คือ คนอื่นเขาไม่ดี ความไม่ดีต่างๆ ที่เขาทำขึ้น เราไม่ต้องไปดูเขา เขาจะไม่ดียังไงก็ช่างเขา แต่ตัวเราดีแล้วหรือยัง ถ้ายังไปโกรธเขาอีก แสดงว่าจิตเป็นอกุศลอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็ยังเป็นคนไม่ดีอยู่ ไม่ต้องไปว่าคนอื่น อีกข้อหนึ่งก็คือ คนที่เขาโกรธเรา เวลาที่เขาให้ของเรา เราก็มักจะไม่รับ ซึ่งเป็นความจริง คนนั้นพยายามจะง้อเราก็ไม่รับ พอมาฟังอาจารย์บอกว่าเราจะต้องรับของของเขา แล้วจะทำให้เราละคลายความโกรธลงได้ จาก ๓ ข้อที่ได้ฟังท่านอาจารย์ ก็ทำให้หายโกรธคนนั้นได้ จนกระทั่งมีการคุยกันขึ้นมา เขาก็แปลกใจ เขาก็ถามว่าทำไมดิฉันถึงหายโกรธเขาได้ ไม่มีโกรธ เขาก็แปลกใจว่าทำได้อย่างไร ก็บอกว่า ความไม่ดีของคนอื่นก็เป็นเรื่องของเขา แต่ว่าสำหรับดิฉันจะดูตัวเองว่าจะดีหรือไม่ดีแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนา เพราะว่าน้อยคนที่จะเห็นโทษของความโกรธ โดยเฉพาะขณะที่กำลังโกรธ ถ้าตอนที่ไม่โกรธจะเห็นโทษของความโกรธได้ไหมว่า ความโกรธไม่ดี แต่ตอนกำลังโกรธ ยากที่จะเห็นว่าขณะนั้นเป็นโทษ ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าสติเกิดระลึกได้จะเห็นได้จริงๆ ว่า ความโกรธนี้เป็นของใคร เป็นของเราที่จะสะสม และจิตของเรา จะเน่า จะเป็นโรค จะเป็นจิตที่แย่มากๆ เต็มไปด้วยอกุศลหลายชนิด โลภติดข้องไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง โกรธ และยังจะมีกิเลสอีกเยอะ เพราะฉะนั้นเอาจิตมาผ่าดูของแต่ละคน ต้องดำแล้วก็สกปรก และก็มากมายเหลือเกิน เพราะฉะนั้นถ้าเห็นอย่างนี้แล้วก็มีทางเดียวคือ รีบเร่งทำกุศลทุกประการ เพระเหตุว่าเพื่อที่จะขัดเกลาชำระล้างจิตที่ดำสกปรกออกไป เพราะว่าถ้ามองไม่เห็นว่าจิตสกปรก และจิตของเราเอง เราก็โกรธคนอื่น แล้วก็เห็นแต่ความไม่ดีของคนอื่น ในขณะนั้น คนนั้นกำลังสบายแต่เรากำลังเติมความดำความสกปรกให้กับจิตใจของเรา ซึ่งคนอื่นก็เอาความดำความสกปรกของจิตใจเราออกไม่ได้ นอกจากปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้นปัญญาจะทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจเหตุผลได้ตามความจริง เห็นอกุศลเป็นอกุศล แล้วก็เห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องที่ดูทีวี หลายคนติดดูกันอยู่มาก บางครั้งการดูทีวีมีประโยชน์เหมือนกัน คือถ้าสติเกิดในตอนนั้น บางครั้งดูไปแล้วก็ร้องไห้ น้ำตาไหล พอสติเกิด คิดว่าทำไมน้ำตาไหล แล้วก็ดูความรู้สึกอันนี้เรามีความเศร้า ทั้งที่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้เศร้าเลย อันนี้จะมีประโยชน์อะไรบ้างไหม

    ท่านอาจารย์ แม้แต่สติจะเกิด คือคนเราจะบังคับตัวเองไม่ให้ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ไม่ได้ บางทีคิดว่าจะอ่านธรรม เกิดไปดูทีวี ก็เป็นได้ทั้งหมด ข้อสำคัญที่สุดก็คือให้เข้าใจถูกต้องว่าธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ใครไม่มีโลภะ ถ้ายังมี ก็แล้วแต่ว่าขณะไหนจะมีปัจจัยให้โลภะประเภทไหนเกิด ใครไม่มีโทสะ เมื่อยังมีอยู่ก็ต้องมีปัจจัยที่จะทำให้โทสะเกิด แต่ว่าการที่เราสะสมอบรมอุปนิสัยในทางที่ดี ทีละเล็กทีละน้อย ก็จะทำให้เราคุ้นเคยกับสิ่งที่ดี การฟังธรรม ถ้าเราเห็นประโยชน์จริงๆ และเรารู้ว่าวันนี้เราโลภะเยอะ โทสะก็เยอะ โมหะก็ยิ่งมาก เพราะฉะนั้นสักครึ่งชั่วโมงของการฟังธรรม ตอนเช้า ตอนค่ำ เอามาบวกกัน เวลาที่เหลือก็เป็นของอกุศล เราจะยอมไหมที่จะพลาดโอกาสที่จะได้กุศล แม้เพียงสักครึ่งชั่วโมง ก็ยังเป็นอุปนิสัยที่จะสะสมไป ที่จะเห็นคุณค่า และระหว่างที่ฟังเราก็จะเป็นกุศลจิตด้วย

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังครึ่งชั่วโมงนี้ จิตก็ยังออกไปคิดอะไรอย่างอื่นอีก อกุศลแทรกอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า เราเริ่มจะรู้จักสภาพจิต และถ้าสติปัฎฐานเกิด จะรู้เลย สภาพธรรมที่เกิดดับอย่างเร็วนี้จะปรากฏเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามลึกนิดหนึ่งว่า ถ้าสมมติว่าฟังท่านอาจารย์อยู่ แล้วจิต คือฟังคือได้ยินทางหูแล้วเปลี่ยนเป็นทางมโนทวาร ไปนึกคิดเรื่องอื่น แสดงว่าจิตตอนนั้น มันจะขึ้นมาถึงปัญจทวาร แล้วก็เป็น สัมปฎิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ จะไม่ขึ้นถึง ชวนะ ใช่ไหม มันถึงตัดไปก่อนถึงได้ไม่เข้าใจเรื่อง

    ท่านอาจารย์ เราอย่าคิดเรื่องอย่างนั้นเลย เพราะว่าจริงๆ แล้วก็ ตลอดวิถีของปัญจทวาร จนกว่ารูปจะดับ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    30 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ