ปกิณณกธรรม ตอนที่ 10


    ตอนที่ ๑๐


    ผู้ฟัง จะเป็นการคิดก่อนให้ แต่ไม่ได้หวังว่ามันจะเกิดจริงๆ เพียงแต่ว่าเป็นการคาดคะเน หรือว่าเหมือนกับเป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะล่วงรู้ได้ แบบนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วหวังบ้างไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้หวัง เพียงแต่คิด

    ท่านอาจารย์ คิดเฉยๆ แต่ไม่หวัง เข้าใจความคิดไหมว่า เพียงคิด คิดด้วยโลภะ ไม่ต้องอะไรเลย พรุ่งนี้วันศุกร์ แค่คิดอย่างนี้ พรุ่งนี้วันศุกร์ จิตอะไรคิด เพราะว่าจิตใจแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ แยกอย่างนี้ก็ได้ กุศลกับอกุศล จิตที่เป็นกุศล คือจิตที่ดีงาม คิดไปในเรื่องทาน ในเรื่องศีล ในเรื่องการช่วยเหลือคนอื่น ในเรื่องการทำตนให้เป็นประโยชน์ ในเรื่องการอบรมเจริญปัญญา ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่นอกจากนั้นแล้ว เป็นอกุศล คือคิดด้วยโลภะ หรือคิดได้โทสะ คิดด้วยความติดข้อง ถ้าไม่มีเรื่องในใจสักเรื่อง เราคงจะไม่คิดว่าพรุ่งนี้วันศุกร์ หรือว่า ถ้าเกิดคิดขึ้นมาว่า บางลำพู ก็คงจะมีอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งทำให้เราต้องคิด บางลำพู ใช่ไหม จะไปซื้อของที่นั่น หรือว่าจะไปธุระ หรือว่ามีเหตุการณ์ที่จะต้องเกี่ยวกับคำนั้น มิฉะนั้นแล้วคำนั้นก็คงจะไม่เกิด หรือว่าไม่มีจิตที่คิดถึงคำนั้น ให้ทราบว่า แม้ความคิดของทุกคน ไม่มีใครไปบังคับ ความคิดเกิดขึ้น และเราถึงได้รู้ว่า ขณะนั้นคิดเรื่องนี้ ใช่ไหม แต่มีสภาพมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ความคิดเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นขณะที่คิดในแต่ละวันที่ไม่เป็นไปในเรื่องทาน ไม่เป็นไปเรื่องศีล ไม่เป็นไปในเรื่องของการเจริญกุศลแล้วล่ะก็ ถ้าจิตใจไม่ขุ่นมัว ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตที่คิด เป็นจิตที่ติดข้องจึงคิดเรื่องนั้น เวลาที่ดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือพิมพ์ คิดหรือเปล่า คิดไหม คิด นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ที่จะไม่คิดไม่มีเลย เวลาที่ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูโทรทัศน์ คิดหรือเปล่า ก็คิดอีก เพราะฉะนั้นความคิดของเราวันหนึ่งๆ เป็นอกุศลมาก ที่กล่าวว่าไม่หวัง ก็ลองดูแล้วกันว่า เพียงแค่คิดว่าพรุ่งนี้วันศุกร์ ก็ยังคิดด้วยโลภะ จิตที่ติดข้อง เพราะฉะนั้นที่คิดแล้วบอกว่า ไม่หวัง นั้น จะเป็นจิตอะไรที่คิด ก็ต้องเป็นโลภะ เป็นความหวัง โลภะแนบเนียนมาก เราใช้เขาชื่อเดียวว่า โลภะ ความโลภ ความต้องการ ความติดข้อง แต่ลักษณะอาการของโลภะมีมากมาย เช่นคำว่า อาสา ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งของโลภะ ภาษาบาลีหมายความถึง ความหวัง เย็นนี้หวังอะไรบ้าง เพียงแต่ว่า จะรับประทานอะไร เห็นไหม โลภะแล้ว หวังที่จะรับประทานสิ่งนั้น สิ่งที่กำลังคิดอยู่ เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ลักษณะของโลภะนี้มีมากจนกระทั่งเราไม่รู้จัก เพราะว่าเขาอยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด ก่อนจะหลับ จิตเป็นอะไร พรุ่งนี้จะทำอะไร หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่พ้นจากโลภะ หลับไปกับโลภะคือเรื่องที่คิด ด้วยความติดข้องในเรื่องนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าจิตเป็นอกุศล มีอกุศลที่ต่างกันที่สังเกตได้ คือถ้าใจสบาย ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ถ้าใจไม่สบายขุ่นเคืองกังวลนิดหน่อย ขณะนั้นเป็นอกุศลอีกประเภทหนึ่งคือเป็นโทสมูลจิต เป็นจิตที่ประกอบด้วยโทสะความโกรธ เพราะฉะนั้นยากที่จะพ้น ที่จะกล่าวว่า ไม่หวัง ถ้าคิดจริงๆ แล้ว ก็เป็นความติดข้องซึ่งเราไม่รู้เองว่า ขณะนั้นเป็นความหวังชนิดหนึ่ง

    ผู้ฟัง โลภะที่ท่านอาจารย์ว่า มีเฉด คือเข้ม ไปจนกระทั่งถึงจางไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ทุกอย่าง ไม่ว่าโทสะก็เหมือนกัน ตั้งแต่จางจนกระทั่งถึงเข้ม

    ผู้ฟัง ทีนี่อย่างที่ท่านอาจารย์ว่าเมื่อกี้นี้ว่า พรุ่งนี้วันศุกร์ พรุ่งนี้วันศุกร์หวังอะไรไหม อาจจะไม่ได้หวังวันศุกร์ แต่เลยไปถึงวันเสาร์ คือนึกถึงวันศุกร์ว่า เหลืออีกวันเดียว ที่จะได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์ ครึ่งชั่วโมง พอถึงวันเสาร์จะได้ฟังเต็มชั่วโมงละ อันนี้ก็คงจะเป็นโลภะใช่ไหม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ คือถ้าเป็นไปในเรื่องของกุศล และจิตใจเบาสบาย ไม่ติดข้อง ต้องไม่ติดข้องด้วย ถึงจะเป็นกุศล แต่ถ้าติดข้องแม้นิดหน่อย ขณะนั้นก็เป็นอกุศล แต่ว่าอกุศลที่เบาบางที่จาง อย่างโลภะ ท่านใช้คำว่า สมโลภะ คือธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันระดับยังไม่สูงจนกระทั่งมองเห็น แต่ถ้าระดับที่ผิดจากปกติ ท่านใช้คำว่า วิสมโลภะ แสดงให้เห็นระดับที่เข้มขึ้น

    ผู้ฟัง ได้ฟังมาถึงตรงนี้ก็เลยข้องใจนิดหนึ่งที่อาจารย์อธิบายว่า ติดข้อง หรืออยากได้ แม้กระทั่งมาฟังอาจารย์บรรยาย อยากได้ปัญญา อันนี้ก็ยังถือว่า ติดข้อง กลายเป็นอกุศลจิต เรียนธรรมเพื่อให้ได้ปัญญา ทำไมยังเป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่อกุศลคือโลภะไม่สามารถที่จะติดข้องได้ หรือเป็นอารมณ์ได้ มีอยู่ ๙ อย่างเรียกว่า นวโลกุตรธรรม คือ นิพพาน โลภะไม่สามารถที่จะต้องการนิพพานได้เลย ไม่มีโอกาสที่จะเฉียดใกล้นิพพานได้ เพราะเป็นลักษณะที่ตรงกันข้าม และผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมมีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นพระอริยบุคคล คือโลกุตตรจิต ๘ ประเภท คือ โสตาปัตติมัคคจิต โสตาปัตติผลจิตของพระโสดาบัน สกทาคามิมัคคจิต สกทาคามิผลจิตของพระสกทาคามีบุคคล อนาคามิมัคคจิต อนาคามิผลจิตเป็นจิตของพระอนาคามีบุคคล อรหัตตมัคคจิต อรหัตตผลจิตเป็นจิตของพระอรหันต์ นี่แสดงให้เห็นว่า แม้พระอริยบุคคลที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ยังมีกุศลจิต และอกุศลจิต แต่ขณะใดที่กำลังประจักษ์แจ้งนิพพาน ขณะนั้นเป็นโลกุตตรจิต เป็นจิตที่เหนือระดับของโลก เพราะว่าโลกนี้เกิดดับ แต่ว่านิพพานไม่เกิดดับ เพราะฉะนั้นจิตที่ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เป็นจิตซึ่งพ้นสภาพที่รู้สิ่งที่เกิดดับ โลภะไม่มีโอกาสที่จะมีนวโลกุตตรธรรม ๙ เป็นอารมณ์ นอกจากนั้นแล้วทุกอย่างเป็นอารมณ์ของโลภะได้ เพราะว่าเกิดดับเร็วมาก ขณะที่คิดว่า อยากจะบวช บางคนก็คร่ำครวญเหลือเกินว่าอยากจะบวช กับขณะที่บวช ไม่เหมือนกัน หรือว่าขณะที่อยากจะให้ทาน กับขณะที่ตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะให้ทาน ก็ผิดกันแล้ว ใช่ไหม เรามีความตั้งใจ มีกุศลเจตนา พรุ่งนี้จะใส่บาตร ไม่ต้องมีความอยากอะไรเลย พรุ่งนี้จะใส่บาตรเป็นความตั้งใจแล้ว ไม่ใช่ว่าอยากจะใส่บาตรซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไรจะใส่ เพียงแต่อยากอยู่นั่นแหละ ใช่ไหม บางคนบอกอยากจะใส่ๆ แต่ยังไม่มีเวลา แต่ก็อยากจะใส่ แต่คนที่พรุ่งนี้จะใส่ ไปจัดซื้อหามา ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้นอยากนิดเดียว เป็นความติดข้อง แล้วก็เป็นสภาพธรรมซึ่งนำมาซึ่งทุกข์ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้สิ่งที่ต้องการ ลักษณะของกุศลเป็นสภาพที่เบา ไม่มีทุกข์เลย เพราะฉะนั้น นี่เป็นลักษณะที่ต่างกันของโลภะซึ่งเป็นอกุศล กับสภาพที่เป็นกุศลจิต ใกล้ชิดกันมาก ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอารมณ์ของโลภะได้ ขณะที่เรากำลังฟังธรรม และพิจารณาธรรม กำลังเป็นปัญญา ไม่ได้อยาก ขณะที่กำลังมีปัญญามีความเข้าใจ ไม่ได้อยากเลย แต่ว่าถ้าอยากจะมีปัญญา มาแล้วตัวอยาก ใช่ไหม แสดงให้เห็นว่า ทำไมไม่ฟังเลย ทำไมไม่พิจารณาเลย เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเลย

    ผู้ฟัง ก่อนที่เราจะเข้าถึงธรรม แล้วก็จะมุ่งสู่พระนิพพาน เพื่อจะต้องได้ปัญญาก่อน แต่นี่ปราถนาได้ปัญญาซึ่งเป็นสิ่งที่ดี อาจารย์ก็ยังบอกว่า ก็เกิดอกุศลจิตแล้ว คือคำว่า อยาก เข้ามา ถ้าไม่ปรารถนาที่จะได้สิ่งนี้ ก็คงจะไม่มีแรงบันดาลใจที่จะไปแสวงหา อันนี้ช่วยกรุณาอธิบายอีกสักหน่อย

    ท่านอาจารย์ คือเป็นการเกิดดับของจิตที่สลับกันเร็วมาก เร็วมากจริงๆ ขณะที่เราก็กำลังหยิบหนังสือธรรมขึ้นมาอ่าน หรือเปิดวิทยุฟัง ขณะนั้นไม่ได้อยาก กำลังทำอยู่แล้ว ใช่ไหม แต่ว่าอยากฟังแต่ก็ไม่ฟัง มีไหม อยากฟังอยากอ่านแต่ก็ไม่อ่าน

    ผู้ฟัง บางครั้งก็มี แต่ว่าโดยเมื่อตั้งใจแล้ว และยอมรับว่ามีความอยากเป็นตัวนำก่อน ก็มักจะลงไปทำ ได้มากหรือน้อยอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่ายังงงอยู่ว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งดีที่จะขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง แต่ยังอยู่ในข่ายของอกุศล

    ท่านอาจารย์ ลองคิดอย่างนี้ ถ้าบอกว่า อยากฟังพระธรรม แต่ในขณะนั้นไม่ได้ฟัง ลองคิดอย่างนี้ก่อน อยากฟัง แสดงให้เห็นว่ากำลังทำอย่างอื่น ใช่ไหม ซึ่งสิ่งนั้นต้องการมากกว่าธรรมอีก จึงได้ทำสิ่งนั้น เพราะเราจะทำสิ่งไหน หมายความว่า สิ่งนั้นจำเป็น แล้วก็มีประโยชน์ ในขณะนั้นกว่าอย่างอื่นเราจึงทำ ถ้าในขณะที่เราเพียงแต่อยากฟังธรรม ในขณะที่เรากำลังทำอย่างอื่น แสดงว่าจิตของเราติดข้องในอย่างอื่นมากกว่าการที่จะต้องการเข้าใจธรรมจริงๆ แต่ถ้าเราสามารถที่จะผละจากสิ่งนั้นได้ แล้วกุศลจิตเกิด ฟังทันที ไม่เหมือนกันใช่ไหม

    ผู้ฟัง ข้อนั้นใช่ ไม่เพียงแต่อยาก เพียงแต่หวัง อยาก อาจจะแปลเป็นว่าหวังก็ได้ แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ว่าจะทำ ทำแล้ว ผมก็ยังเป็นโลกิยบุคคลอยู่ อย่างไรๆ ก็ต้องมีตัว "อยาก" นำก่อน ก่อนที่จะได้ทุกอย่างที่จะทำ แม้จะทำดีหรือไม่ดี

    ท่านอาจารย์ นี่คือผู้ตรงๆ ต่อธรรม ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกคนยังมีโลภะ เว้นพระอรหันต์ประเภทเดียวที่ไม่มี พระโสดาบันก็มี พระสกทามีก็มี พระอนาคาก็มี ทั้งๆ ที่เป็นพระอริยบุคคลก็ยังดับโลภะไม่ได้ เพราะว่ามีทั้งอย่างเข้ม อย่างจาง

    ผู้ฟัง แต่ว่าถ้าไม่มีตัว "อยาก" ตัวนำนี้ซึ่งไปทางที่ดี ก็คงจะไม่มี ...

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ถูก เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมอื่นซึ่งไม่ใช่อยาก เช่น ความตั้งใจ เป็นเจตนา ถ้ามีความตั้งใจจริงๆ ที่จะทำ ขณะนั้นไม่ใช่อยาก

    ผู้ฟัง สภาพที่ตั้งใจ อย่างนั้นก็คงเข้าใจสภาพจิตผิดไป ควรจะใช้คำว่า "ตั้งใจ"

    ท่านอาจารย์ ตัวตั้งใจ เป็นเจตนา เป็นกรรม ไม่ใช่เป็นโลภะ คือตั้งใจจะทำ ตั้งใจกระทำ นั้นเป็นกุศล แต่ถ้าอยากแล้วก็เป็นโลภะ

    ผู้ฟัง รบกวนถามต่อ อยากแล้วไม่ทำ ที่ท่านอาจารย์พูดเมื่อกี้นี้ เกิดความสงสัยว่า มีความอยาก ๒ อย่าง อย่างเช่น กำลังฟังวิทยุอยู่ อยากจะฟังต่อของท่านอาจารย์สุจินต์ให้จบ แต่เผอิญ ไก่ที่อยู่ในเตา มันไหม้ กลิ่นจะโชย ก็ต้องละการฟัง เพื่อจะไปดูแลไก่อบอันนั้น กับการอยากอีกอย่างหนึ่งคือ ถ้าอยากจะไปดิสโก้ แต่ว่าแม่ห้ามไว้ไม่ให้ไปดิสโก้ เพราะฉะนั้นก็เลยละความอยากอันนั้น ก็คืออยากจะทำแต่ไม่ได้ทำ ๒ อย่างนี้ต่างกันอย่างไรกัน

    ท่านอาจารย์ พอไม่ได้ทำ ก็อยากอย่างอื่น คือ พ้นอยากไปไม่ได้เลย ไม่ได้ทำอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะหมดอยาก ก็อยากอย่างอื่นต่อไป เช่นกำลังทำอย่างนี้อยู่ พอมีไก่อบ ก็มีความอยากแทนกุศลจิต ถูกไหม คนที่จะศึกษาธรรม และเจริญในธรรมต้องเป็นผู้ตรง ตรงต่อสภาพธรรมจริงๆ กุศลคือกุศล อกุศลคืออกุศล ถูกคือถูก ผิดคือผิด มิฉะนั้นแล้วเอาผิดออกไม่ได้ เพราะไม่รู้ตรงที่จริงนั้นผิด ถ้าโลภะเป็นสิ่งที่เห็นง่าย เข้าใจง่าย ผู้มีพระภาคก็จะไม่ทรงอุทานหลังจากที่ตรัสรู้ว่า ได้พบนายช่างเรือน คือสภาพธรรมนี่แหละ ที่พาท่องเที่ยววนเวียนไปสังสารวัฏฏ์ แล้วก็มองไม่เห็นด้วย อยู่ประจำในใจตั้งแต่เกิดจนตาย หลังจากที่ปฏิสนธิขณะแรกที่จิตเกิด ชวนะเกิดพอใจในภพชาติทันที เป็นความรู้สึกที่เกิดต่อจากขณะที่เกิดขึ้นในโลกนี้เลย บางคนจะจากโลกนี้ไป ก็ยังไปด้วยความติดข้องประจำอยู่ตลอด ทิ้งยาก

    ผู้ฟัง มีผู้บอกว่า พอฟังแล้ว อันนั้นก็เป็นโลภะ อันนี้ก็เป็นโทสะ รู้สึกเป็นอกุศลเรื่อยทั้งวัน ชักจะท้อแล้ว แล้วก็หมดกำลังใจ ชักจะวิตกกังวล

    ท่านอาจารย์ สู้หลอกตัวเองว่า ไม่มี ไม่ได้ใช่ไหม อยากจะหลอกตัวเองต่อไป หรืออยากจะรู้ความจริง รู้จักตัวเองขึ้นให้ถูกต้อง วันนี้ตักตวงวัดอกุศลไม่ได้เลยว่ามากสักเท่าไหร่เพราะมากจริงๆ ชั่วขณะที่ฟังธรรม เป็นกุศล และขณะอื่นเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต สำหรับคนซึ่งสะสมกุศลมามาก วันหนึ่งกุศลมีโอกาสเกิดได้บ่อย แต่ไม่ใช่หมายความว่ามากเท่าอกุศล เพราะเหตุว่าทันทีลืมตาก็โลภะแล้ว แล้วจะให้บอกว่าอย่างไร ถ้าเป็นพระอรหันต์สิ ลืมตาแล้วไม่มีโลภะ แต่เมื่อไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริง การที่จะรักษาโรคก็ต้องรู้สมมติฐานของโรค ถ้าไม่รู้สมมติฐานแล้วจะละอย่างไร คนที่ไม่มีปัญญารู้ความจริง ไม่มีทางที่จะดับทุกข์ หรือดับกิเลสได้เลย เมื่อมีกิเลสก็ยังไม่รู้ว่าเป็นกิเลส แล้วจะละกิเลสได้อย่างไรเมื่อไม่รู้ว่าเป็นกิเลส แต่ผู้ที่รู้จักกิเลส สามารถที่จะละกิเลสได้ เพราะรู้ว่ากิเลสเป็นอย่างไร ถ้ารู้ตัวเองว่าเป็นคนไม่ดี แล้วก็จะได้ทำดี กับ คิดว่าตัวเองดีแล้ว พอแล้ว ก็ต่างกัน ใช่ไหม ถ้าใครเขาบอกเราว่าไม่ดี เราจะรับไหมว่า จริง ถูก ไม่ดีจริงๆ เพราะตั้งแต่ลืมตานี้ก็เป็นอกุศลมาเยอะเยะแล้ว

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้เน้นถึงเรื่องว่า ควรมีการฟังพระธรรม ทีนี้คงจะมีผู้สงสัยว่า แล้วจะต้องฟังไปนานซักเท่าไร เพราะว่า คงจะมีอีกหลายท่านสงสัยในเรื่องของการปฏิบัติว่า ถ้าไม่เข้าใจแล้วไม่ควรจะปฏิบัติ ก็ควรจะได้มีการเริ่มต้นฟังพระธรรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากๆ อยากจะขอให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยอธิบายว่า การฟังพระธรรม จะฟังไปนานสักเท่าไร หรือว่าพอที่ผู้ฟังจะพิจารณาว่า เป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้มีการระลึกได้ เพื่อที่จะได้เป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม อันนี้ขอกราบเรียนอาจารย์ด้วย

    ท่านอาจารย์ สิ่งไหนที่มีประโยชน์ มีวันพอไหม ถ้าเห็นประโยชน์จริงๆ จะมีวันพอไหม

    ผู้ฟัง ขออนุญาตตอบเดี๋ยวนี้เลย เพราะปกติในชีวิตประจำวัน ประโยชน์คือสิ่งที่จะต้องให้ความสะดวกสบายต่อชีวิต ต่อร่างกาย

    ท่านอาจารย์ คำถามว่า สิ่งไหนที่มีประโยชน์ ถ้าผู้นั้นเห็นประโยชน์ แล้วจะมีวันพอไหม อย่างการฟังธรรม ถ้าเห็นว่ามีประโยชน์แล้วจะมีคำถามว่า เมื่อไหร่จะพอ ได้ไหม ในเมื่อเห็นแล้วว่าเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง คงจะตอบว่าพอไม่ได้แน่นอน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์จริงๆ แล้วจะไม่มีคำถามนี้เลย ถ้ามีคำถามอันนี้ หมายความว่า อยากได้ เพราะฉะนั้นก็มากะเกณฑ์ว่า แค่นี้พอหรือยัง แค่นั้นพอหรือยัง เพราะว่าอยากจะได้สิ่งซึ่งเกิดจากการฟังธรรม แต่ถ้าเห็นจริงว่าพระธรรมมีประโยชน์ ขัดเกลากิเลส ขัดเกลาความไม่รู้ เท่าไรก็ไม่มีวันพอ เพราะว่าสิ่งที่มีประโยชน์จริงๆ เท่าไหร่ก็ไม่พอ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง ปกติแล้ว การปฏิบัติ ก็ควรที่จะได้มีการเริ่มต้น ถ้าขืนไม่เริ่มต้นปฏิบัติแล้วอาจจะตายไปซะก่อนโดยที่ไม่ปฏิบัติธรรม อันนี้เป็นความคิดที่เคยได้ยินได้ฟังมาอย่างนี้ ไม่ทราบว่าจะมีคำแนะนำ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเข้าใจว่า เป็นตัวเราปฏิบัติ จึงจะเริ่มต้น แต่ถ้ารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีหูกับไม่มีเสียง การได้ยินก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีการฟังธรรมเข้าใจ จะอะไรปฏิบัติ นอกจะคิดเองว่าตัวเรากำลังปฏิบัติ แต่ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา ปัญญาไม่เกิดปฏิบัติกิจของปัญญา ปัญญาไม่อบรมเจริญขึ้นเลย เพราะเหตุว่าปัญญาขั้นต้นไม่มี แล้วจะเจริญได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่า โลภะก็เป็นกิเลส โทสะก็เป็นกิเลส โมหะเป็นกิเลส แต่ทีนี้ว่า พอเป็นโลภะแล้ว รู้สึกว่า ไม่เป็นความเดือดร้อนของผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น เช่นมีความต้องการอยากได้แล้วก็ไปจัดหาซื้อมาได้ด้วยความสามารถ ก็ทำให้ไม่เห็นว่า แม้จะเป็นโลภะ แม้จะกล่าวว่าเป็นกิเลส ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตัวเอง และผู้อื่น แต่สิ่งที่ทุกคนกำลังมีความทุกข์ ความเดือดร้อนมาก รู้สึกจะเป็นเรื่องของโทสะ เวลาที่เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ จนกระทั่งบางครั้งมีความรุนแรงมาก แล้วก็แสดงออกมา แล้วก็มารู้สึกตัวทีหลังว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ก็เลยเกิดความเดือดร้อน ถ้าในทางปฏิบัติที่จะเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เราควรจะมีการแก้ไขอย่างไร เช่นลักษณะของโทสะ คือความเดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ อย่าคิดที่จะแก้ไข อบรมเจริญปัญญาให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีตัวเราจะไปบังคับ จะไปแก้ อาจจะคิดว่าหมดไปได้ประเดี๋ยวเดียว เพราะคิดอย่างนั้น เพราะทำอย่างนี้เพราะนับ ๑ ถึง ๑๐ บางทีต้องถึง ๑๐๐ ถึง ๑,๐๐๐ ก็แล้วแต่ แต่ว่าโทสะก็ยังจะต้องเกิดอีก ทำไมถึงได้พอใจเพียงเท่านั้นที่จะไม่มีสภาพธรรมนั้นเพียงชั่วคราว แต่ก็ต้องเกิดอีกเรื่อยไป ทำไมไม่หาหนทางที่จะให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็ไม่ให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นอีก ทำไมต้องการสิ่งซึ่งนิดเดียวหน่อยเดียวไม่เป็นสิ่งซึ่งให้ผลจริงจังด้วย เพราะเหตุว่าดับไม่ได้ ยังต้องเกิดอีก เพราะฉะนั้นก็ควรเป็นผู้ที่คิดจะดับกิเลส ไม่ใช่เพียงแต่ไม่ให้โลภะเกิด ไม่ให้โทสะเกิด เพราะว่าเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

    ผู้ฟัง เคยได้มีโอกาสคุยกับท่านที่มีความเดือดร้อนก็บอกว่า เวลานี้ก็พอจะแก้ปัญหานี้ได้ เวลาที่เกิดความโกรธ ความไม่พอใจ ก็เข้าห้องพระ แล้วก็ไปนั่งกำหนด พุทโธ พุทโธ เพื่อให้นึกถึงพระพุทธเจ้า ก็ทำให้จิตใจสบาย ก็เลยคิดว่าการปฏิบัติอย่างนี้ ช่วยให้ความโกรธลดน้อยลงไป อันนี้ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ แล้วก็โกรธอีก พอโกรธอีกก็มาเข้าห้องปฏิบัติ แล้วโกรธอีก ไม่มีทางหมด ก็ต้องโกรธอีก

    ผู้ฟัง คำแนะนำที่จะให้เป็นประโยชน์ และถูกต้องจริงนั่นคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เจริญปัญญา เพราะผู้ที่จะไม่โกรธต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล อยากจะมีตัวตน อยากจะมียาวิเศษ อยากจะมีอะไรก็ได้ที่ทำให้ไม่โกรธโดยไม่มีปัญญาเลย แล้วจะเป็นไปได้อย่างไร อะไรก็ได้ ต้องการทุกอย่าง นอกจากปัญญา ถ้าพูดอย่างนี้ ไม่ว่าอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ปัญญา กลัวปัญญา หรือว่าไม่ชอบปัญญา หรือเบื่อปัญญา

    ผู้ฟัง อยากเรียนถามต่อไป ทำอย่างไรถึงจะให้เกิดปัญญา


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    24 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ