ปกิณณกธรรม ตอนที่ 42


    ตอนที่ ๔๒

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าพิจารณาว่าเป็นธาตุหรือเป็นธรรม เสียงมีจริงๆ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีลักษณะที่ดัง กระทบกับโสตปสาท เสียงมีได้ยังไงแค่นี้ก็น่าอัศจรรย์แล้ว จากการที่ไม่มีเสียงเลย แล้วก็เสียงมี ตัวเสียงเองก็เกิดจากการกระทบกันของสิ่งที่แข็ง แต่เสียงที่เกิดจากการกระทบกันของสิ่งที่แข็ง ถ้าไม่ปรากฏ เสียงนั้นก็ดับแล้ว ไม่ว่าจะเสียงที่ถนน เสียงในป่า เสียงในครัว เสียงในห้อง เสียงที่ไหนก็ตามแต่ มีเหตุปัจจัยก็เกิดแล้วก็ดับ ถ้าจิตไม่รู้ เสียงนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ได้มีความหมายหรือความสำคัญอะไรเลย ทุกอย่างต้องเกิด ต้องเป็นอย่างนั้น ที่เสียงเกิดแล้วจะไม่ดับ เป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าไม่มีจิตได้ยินก็ไม่มีการที่จะรู้เสียงนั้นเลย เพราะฉะนั้นเสียงจะมีในป่าหรือไม่มีในป่า จะมีในครัวหรือไม่มีในครัว จะมีที่นู่นหรือไม่มีที่นู่น ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้เพราะเหตุว่าเกิดแล้วดับแล้ว เพราะฉะนั้นขณะที่เสียงกำลังปรากฏ ความน่าอัศจรรย์ก็คือว่า แม้เสียงก็น่าอัศจรรย์ แล้วที่จะมีสภาพที่ได้ยินเสียง จากที่ไม่ได้ยิน แล้วมีธาตุที่เกิดได้ยินเสียงขึ้น นี่ก็เป็นการที่ไตร่ตรอง แล้วเราจะเข้าใจความหมายของคำว่า อายตนะ ซึ่งก่อนนั้นก็อยู่ในหนังสือ แต่ถ้าขณะที่มีการเกิดของสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใด โดยฐานะที่เป็นธาตุ ก็สามารถที่จะเข้าใจในธาตุทั้งหมดที่มีอยู่ตรงนั้นได้ เช่นธาตุรู้หรือสภาพรู้ ซึ่งได้ยินเสียง ถ้าธาตุนี้ไม่เกิด เสียงจะปรากฏไม่ได้เลย และการที่ธาตุได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินเสียง ไม่ใช่ว่าถ้าไม่มีหู (โสตปสาท) แล้วธาตุได้ยินจะเกิดได้ เพราะฉะนั้นทุกขณะที่เกิดปรากฏ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยมาก และปรากฏสั้นมาก แล้วก็ดับไป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า เราจะต้องเข้าใจความเป็นอนัตตาขั้นการฟัง โดยไม่ต้องไปห่วงสติปัฏฐานเลย แต่ว่าเมื่อใดก็ตามที่มีการระลึกสิ่งที่มีอยู่แล้วคืออนุปัสสนา ระลึกตามสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏ เช่นแข็งขณะนี้ มีการระลึกลักษณะที่แข็ง ถ้าโดยการศึกษาปริยัติแล้วเราทราบว่า ต้องมีกายทวารวิถีจิต คือ จิตที่อาศัยกายปสาทเป็นทวาร ทำให้กำลังรู้สิ่งที่แข็ง ซึ่งก็ดับ จิตที่รู้แข็งก็ดับ ลักษณะของแข็งก็ดับ ต่อจากนั้นเป็นภวังค์ ตามปกติทางใจจะรู้ต่อ ขณะนี้มีทั้งทางกายทวาร และมโนทวาร โดยที่ทางกายทวารนั้นก็ดับไป ภวังค์ก็คั่น ทางมโนทวารก็รู้ต่อ ปกติเวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด เราก็รู้เป็นเรื่องราว เรากำลังกระทบสัมผัสพรม หรือว่าช้อนส้อม ขันน้ำ แก้วน้ำ ในชีวิตประจำวัน เรารู้โดยไม่ต้องเรียกชื่อ แต่ว่ามีการรู้ความหมายของสิ่งที่กำลังปรากฏทางทวารนั้นๆ แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ก็ไม่ต่างกับการแข็งหรืออ่อน หรือเย็น หรือร้อนตามปกติ แต่ไม่ได้นึก เป็นช้อนเป็นส้อมอย่างที่เราเคยนึก เห็นปุ๊บรู้ปั๊บทันที แต่ว่าในขณะนั้นกำลังใส่ใจในลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ตรงนั้นคืออธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพราะไม่มีอะไรที่จะละเอียดเท่าสภาพธรรมคือจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้นขณะนั้นที่เป็นอินทรียสังวร รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตรงนั้น ขณะนั้นเป็นอธิศีล ไม่ว่าจิตจะเกิดยินดียินร้าย ชอบใจไม่ชอบใจ สามารถที่จะรู้ได้ในความเป็นนามธรรม ซึ่งปกติเราจะไม่รู้ว่า พอลืมตาขึ้นมา เราก็มีโลภะ ติดข้องแล้ว เราจะเอื้อมมือไปด้วยความต้องการ เราก็ไม่เคยรู้ลักษณะของความติดข้องที่ทำให้มีการไหวของกายไป แต่อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา กำลังเริ่มที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เหมือนปกติธรรมดา แล้วก็ดับ แล้วสภาพธรรมก็ปรากฏทางกายทวาร เกิดภวังค์คั่น และเกิดทางมโนทวารต่อ รวดเร็วมาก ซึ่งไม่ต้องคำนึงถึง เพียงแต่รู้ว่าขณะนั้นสติระลึก ขณะที่ใส่ใจในลักษณะนั้น คือสติปัฏฐานที่กำลังศึกษาลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ชั่วขณะที่สั้นมาก เพราะฉะนั้นก็เข้าใจได้ว่าปัญญาจะรู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ใช่ตอนฟัง ตอนฟังนั้นรู้เรื่องราว ทั้งๆ ที่ตัวสภาพธรรมก็กำลังปรากฏ แข็งก็มี เห็นก็มี เสียงก็มี แต่ว่าเมื่อสติไม่ได้กำลังระลึก คือกำลังฟังเรื่องราว จนกว่าเมื่อไหร่ที่สติระลึก คือใส่ใจในลักษณะนั้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อย ซึ่งนานมาก เพราะเหตุว่าสติก็ดับอย่างรวดเร็ว แต่ความเข้าใจเล็กน้อยว่า ขณะนั้นไม่ใช่การหลงลืมสติ ก็ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติกำลังระลึกลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ต้องมีสภาพธรรมที่สติกำลังระลึก นั่นคือปัฏฐาน ที่ตั้งของสติ และตัวสติที่กำลังระลึกก็เป็นสติปัฏฐาน และสติปัฏฐานนี้ก็เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยบุคคลทุกท่านเดิน ความหมายของธรรมที่เราได้ยินได้ฟังทั้งหมดก็อยู่ตรงนั้น มีความเข้าใจชัดเจนในสิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง และความเข้าใจธรรมทั้งหมดที่เรียนมาก็จะเพิ่มความเข้าใจเมื่อสติเกิด และระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ก็ช้ามาก และจะต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับความเข้าใจ แม้สติปัฏฐานจะเกิดก็ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะความอยาก แต่ต้องเป็นความเข้าใจชัดในอริยมรรคหรืออริยสัจจ์ ๔ ว่า ทุกข์คือสภาพธรรมที่เกิดดับ ซึ่งยังไม่ได้ประจักษ์ทันทีที่สติระลึก แต่โดยการศึกษาต้องเกิด ต้องดับ แต่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ก็ไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้ แต่ถ้าขณะใดที่ไม่มีการระลึก ก็หมดหนทางที่จะรู้การเกิดดับ เพราะฉะนั้นจึงรู้ว่า ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลทุกท่านต้องระลึกรู้ ต้องอบรมสติปัฏฐานซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งปกติมีองค์ ๕ เพราะไม่มีวิรตี ๓ แล้วก็มีความเข้าใจมั่นคงขึ้น และรู้ว่าโลภะเป็นสมุทัย ถ้าตราบใดที่ยังมีโลภะ ไม่มีทางที่จะถึงนิโรธสัจจะได้ เพราะโลภะแทรกเข้ามาอีก โดยการที่ต้องการที่จะให้สติเกิด เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความเป็นผู้ฉลาดที่จะต้องฟังด้วยดี ต้องพิจารณาโดยละเอียด ซึ่งขณะที่กำลังฟังด้วยดี เข้าใจละเอียดขึ้น จะละโลภะความต้องการ เพราะว่าไม่มีอะไรที่จะละโลภะได้ นอกจากความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น และรู้ว่าไม่มีหนทางที่ความเป็นตัวตนจะไปทำให้เกิดปัญญาขึ้นได้ จะไปนั่งจะไปเดินจะไปทำอะไรด้วยความต้องการ ไม่ใช่หนทางทั้งหมด แต่หนทางคือศึกษาให้เข้าใจขึ้น ซึ่งอริยสัจจ์มี ๓ รอบ คือสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เพราะฉะนั้นทั้ง ๓ จะประคับประคองไปตลอด แม้ว่าสติปัฏฐานเกิด ก็ยังจะต้องรู้ความจริงว่า ถ้ามีโลภะขณะไหน ไม่ใช่หนทาง ต้องรู้ทันที แล้วกลับมาระลึกลักษณะของสภาพธรรม แต่ไม่ใช่ด้วยความเป็นตัวตน เพราะฉะนั้นจะเห็นความเป็นตัวตนนั้นยากมาก และปัญญาต้องฟังอย่างละเอียด และรู้เข้าใจถูกต้องว่าตัวตนตรงไหน และดำเนินหนทางนั้นไปด้วยความเบาสบายที่รู้ว่าเป็นระยะทางที่ไกล แต่ต้องไปด้วยความเห็นถูก เพราะเมื่อมีความเห็นถูกก็ต้องนำไปสู่สิ่งที่ถูกขึ้น แต่ถ้ามีความเห็นผิด ก็ต้องนำไปสู่ความเข้าใจผิด ถ้ามีโลภะ โลภะก็พาไป ด้วยความต้องการทันที ไปไกลมากจนบางคนก็เข้าใจว่า รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะฉะนั้นมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นหนทางผิดก็มีทั้งรู้ผิด และพ้นผิดด้วย เพราะเข้าใจว่าพ้นแล้ว เพราะรู้แล้ว แต่ความจริงไม่ได้รู้ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ กำลังเห็นขณะนี้ จะคลายความยึดถือว่าเป็นตัวตน ต่อเมื่อปัญญาระดับไหน สติปัฏฐานเริ่มเกิดอย่างไร ทั้งๆ ที่กำลังเห็น ก็สามารถที่จะรู้ความต่างของการที่เริ่มจะค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยรู้ แต่เพราะความเข้าใจค่อยๆ มั่นคงขึ้น ขณะเห็นก็รู้ว่า ชั่วขณะที่ลืมตาก็มีสิ่งที่ปรากฏ ต่อจากนั้นก็เป็นเรื่องของความคิดมากมายมหาศาล ต่อกันไปทางมโนทวาร เพราะฉะนั้นการฟังเรื่องสติปัฏฐานก็เป็นเรื่องที่ฟังแล้วเข้าใจความละเอียด แล้วรู้ว่าเป็นหนทางที่จะต้องอบรม ที่ต้องรู้จริงๆ เข้าใจถูกจริงๆ

    ผู้ฟัง เท่าที่ท่านอาจารย์ได้อธิบายมา ก็พยายามฟังทุกคำพูด เข้าใจว่าสติที่จะระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรามีความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความเข้าใจ และความมั่นคงว่า ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา ไม่มีความพยายามที่จะไปสร้างหรือไปทำขึ้นมา เพราะว่าขณะนี้ธรรมปรากฏ อนุแปลว่าตาม รู้ตามที่ปรากฏ ที่เป็นอยู่ ที่มีจริงในขณะนี้ เพราะฉะนั้นก็ระลึกตามปกติ สิ่งที่มีจริงๆ ถ้ามีความเข้าใจก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อย จะหมดความสงสัยว่าเป็นคน เป็นศาลาในทันที เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องรู้ความต่างว่าขณะที่เห็น ก็คือชั่วขณะที่สีสันวรรณะต่างๆ ปรากฏ เพราะว่าแม้ว่ากำลังมีสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีใครยับยั้งความคิดได้เลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี หรือปุถุชนก็เหมือนกัน คือหลังจากที่ทางตาเห็น ภวังคจิตเกิดคั่น ทางใจก็รู้สิ่งที่ปรากฏต่อ แต่ความรู้ของคนที่ไม่ได้อบรมปัญญา กับความรู้ของคนที่อบรมปัญญาแล้วต่างกัน ความรู้ของคนที่ไม่ได้อบรมปัญญา รู้เรื่อง รู้ชื่อ รู้คำ รู้ความหมาย แต่ความรู้ของคนที่เริ่มอบรมปัญญา ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรม จริงๆ และความคิดนึกก็คิดถึงคน และสิ่งต่างๆ จากสิ่งที่ปรากฏ เอาเรื่องเอาราวทั้งหมด เอารูปร่างสัณฐานทั้งหมดมาจากสิ่งที่ปรากฏ เร็วมาก พอออกไปจากที่นี่ คิดถึงอะไรก็ได้ แต่สีสันวรรณะไม่ได้ปรากฏ แต่เรื่องราวปรากฏ ทุกครั้งที่เราคิดเวลาที่เราไม่เห็น ไม่ว่าจะคิดถึงอะไรก็ตาม จะคิดได้เพียงส่วนที่ทรงจำไว้ในรูปร่างสัณฐานถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นก็แยกได้ใช่ไหมว่า สีสันวรรณะที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างหนึ่ง และความคิดของเราที่ไปนั่งคิดว่ามีคนมีสัตว์ในสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ก็มีเรื่องจริง ซึ่งก็คงจะเล่าได้เพราะว่าเราไม่ได้กล่าวถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด ท่านผู้นี้แขวนผ้าเช็ดตัว ที่ผ้าเช็ดตัวก็มีรูปไก่ แล้วเขาก็สงสารไก่เพราะว่าหัวมันกลับ คิดดูถึงความวิจิตรของคน เพราะมันมีรูปไก่ที่ผ้าเช็ดตัวตราไก่ แล้วพอแขวนผ้าเช็ดตัวลงไป ไก่มันก็หัวคว่ำ ก็สงสารไก่ที่มันหัวคว่ำ ก็เลยบอกเขาว่าเรื่องธรรมดา เพราะอะไร เพราะเวลาเราดูโทรทัศน์มีใครในโทรทัศน์ มีละคร เป็นแม่ เป็นพ่อ เป็นคนโน้นคนนี้ ทารุณตบตี จริงๆ แล้วไม่มีอะไรเลย แล้วเราก็นั่งคิด เป็นชื่อเสียงเรียงนาม เป็นคนนั้นคนนี้ ก็ไม่ผิดกับไก่ที่มันหัวคว่ำอยู่ที่ผ้าเช็ดตัว นี่คือโทรทัศน์ที่มันไม่มี แต่ก็หลอกให้ความทรงจำของเรา จำไว้หมด คนนี้ออกมาแล้วกำลังพูดกับคนนั้น คนนี้เป็นพ่อคนนั้นเป็นแม่ ออกมาหมดเลย ชีวิตจริงขณะนี้ก็คืออย่างนั้น คือเมื่อลืมตาก็มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วเราก็ไปทรงจำ ซึ่งความจริง ไม่มีเลย สิ่งที่ปรากฏดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย ความคิดของเราแต่ละเรื่องแต่ละคำ คิดถึงเรื่องอะไร มีสิ่งนั้นชั่วขณะที่คิด แล้วก็ไม่มีการที่จะเป็นตัวตนได้จริงๆ เพราะเป็นแค่คิด เราจะคิดถึงส้ม ๑ ลูก ส้มนั้นมีที่ไหน นอกจากความคิดแล้วไม่มีเลย แต่พอคิดก็มีส้ม แต่ส้มจริงๆ นั้นไม่มี แต่ทรงจำไว้จากสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็เหมือนว่าสิ่งนั้นถ้าเป็นคนที่รู้จักกัน เป็นสุนัข เป็นลิง เป็นอะไรก็แล้วแต่ เราก็คิดว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ แต่ความจริงไม่มีเลย เพราะฉะนั้นสัญญาความจำของเราเป็นอัตตสัญญามาตลอด จำว่ามีสิ่งซึ่งไม่มี แล้วก็คิดว่ามีอยู่ แต่ความจริงสิ่งนั้นไม่มีเลย เพียงเราหลับก็ไม่มีอะไรเหลือ แล้วถ้าตายไปก็ยิ่งหมดเลย ความจำในทุกสิ่งทุกอย่างก็จะไม่กลับมาอีกเลย แต่พอตื่นสัญญาความจำที่เคยจำไว้วันก่อน ก็สามารถที่จะนึกได้ เกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถี คือเมื่อเกิด ไม่ใช่วิถีจิต จนกว่าจะมีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การนึกคิดเมื่อไหร่ ก็เป็นเรื่องราวเมื่อนั้น แล้วพอเป็นภวังค์ก็ไม่มีอีก แต่ในความจำที่เป็นอัตตสัญญา ไม่เคยลืม แสนโกฏิกัปป์มาแล้วที่จำว่ามี ก็ยังเหมือนมี จนกว่าความรู้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ ไม่ใช่การคิดนึกว่าเป็นสิ่งใด แต่มีการคิดนึกเกิดสืบต่อแน่นอน และมีการจำไว้อย่างมั่นคง จนกว่าอัตตสัญญามั่นคงจะค่อยๆ ลดลงด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นจะนานสักแค่ไหน และเป็นของจริงสักแค่ไหน ที่สามารถจะรู้ความจริงได้ไม่ว่าจะลืมตาหลับตาที่ไหนก็ตาม ก็มีการอบรมที่จะรู้ว่า ตอนที่เป็นภวังค์ สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่มี แล้วเกิดมีขึ้นได้ น่าอัศจรรย์ของความเป็นธาตุ ซึ่งมากระทบกันแล้วทำให้เกิดการเห็นทางตา แล้วก็หมดสำหรับผู้ที่ประจักษ์แจ้งจริงๆ แล้วก็รู้ว่าเป็นภวังค์ แล้วมโนทวารก็สืบต่อ สิ่งที่ปรากฏทางปัญจทวารทั้งหมด ทางมโนทวารรู้ต่อเหมือนกันหมดเลย เพราะฉะนั้นก็มีความเข้าใจ สามารถที่จะรู้ได้ว่าทางมโนทวารรับสิ่งที่ปรากฏทางปัญจทวารจริงๆ ทุกอย่างที่ทรงแสดงเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง และเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งไม่มีการที่จะไปรู้สิ่งอื่น นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดเมื่อสักครู่ว่า ชีวิตประจำวันของเรา เช่นการดูโทรทัศน์ เป็นความนึกคิดทั้งหมด แต่การที่ตาเรามองเห็นสิ่งที่ปรากฏ สมมติเราตั้งใจดูโทรทัศน์ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอะไร และที่เราเห็นเป็นเรื่องราวต่างๆ เป็นความนึกคิดถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็จะมีวิถีจิต ๖ ทาง ทางตาเห็น ต่างหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางใจคิดนึก แค่ ๖ ทาง ไม่ว่าจะคิดเรื่องคนเดี๋ยวนี้ หรือดูโทรทัศน์ก็เหมือนกัน ไม่มีความต่างกันทั้ง ๖ ทาง ไม่ว่าทางใจจะคิดอะไรก็รับต่อมาจากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จะโทรทัศน์หรือไม่โทรทัศน์ก็คือ คิด

    ผู้ฟัง มีอีกปัญหาหนึ่ง ผมคิดว่าผมยังไม่เข้าใจเรื่องของอนัตตา อยากจะได้รับคำอธิบายเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นทุกเรื่องที่พูดจะต้องเข้าใจว่าหมายความว่าอะไร เพราะฉะนั้นอนัตตาก็หมายความว่า ไม่ใช่อัตตา อัตตาคือเรา ตัวตนของเรา อนัตตาคือสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ แต่ไม่ใช่ของใครเลยสักคน เราไม่เคยคิดว่าธาตุนั้นเป็นเราใช่ไหม ธรรมก็คือธรรม แต่พอไม่รู้จักความหมายจริงๆ ทุกอย่างก็เป็นเรา แม้แต่เป็นธรรมหรือเป็นธาตุก็ยังเป็นเรา ด้วยความเห็นผิด ด้วยการที่ทรงจำไว้ว่าเป็นเรา แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าคิดถึงธาตุ ธา-ตุ หรือ ธรรม จะเห็นความไม่ใช่ตัวตนอย่างแน่นอน เช่นการได้ยิน ถ้ารู้ว่าเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ โต๊ะเก้าอี้ไม่มีจิต ไม่มีธาตุรู้หรือสภาพรู้ แข็งก็ไม่ใช่สภาพรู้หรือธาตุรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะรู้อะไรไม่ได้ แต่เวลาที่มีธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่แข็ง ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ถ้าพูดถึงความเป็นธาตุ ไม่มีใครบังคับบัญชาได้เลย เมื่อพูดถึงแข็ง คงไม่มีใครบอกว่า อย่าให้แข็งเกิด ถ้าพูดถึงเสียงก็คงไม่มีใครบอกว่า อย่าให้เสียงเกิด เมื่อมีปัจจัยเสียงก็เกิด ห้ามเสียงไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะเป็นธาตุหรือเป็นธรรม ถ้าเข้าใจความหมายของธาตุหรือธรรม ก็คือพ้นวิสัยที่ใครจะเป็นเจ้าของ หรือจะสร้าง หรือสามารถทำให้เกิดขึ้น แต่สิ่งนั้นมีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น โดยมากเราเข้าใจแค่รูปธาตุ แต่แม้นามก็เป็นธาตุด้วย เมื่อมีปัจจัยก็เกิดแต่ว่าต่างกับรูป ธาตุชนิดนี้ต่างกับรูป คือเมื่อเกิดแล้วต้องรู้เพราะเป็นสภาพรู้ ธาตุเค็ม ธาตุหวาน ธาตุโกรธ เป็นธาตุทั้งหมด เพราะฉะนั้นธาตุรู้เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องรู้ ก็จะเห็นความเป็นสาธารณะว่าธาตุเป็นธาตุ ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะของธาตุได้ เมื่อเป็นธาตุรู้ก็ต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นขณะนี้ใช้คำว่า จักขุวิญญาณธาตุ คือธาตุเห็น ต้องอาศัยจักขุปสาทกับรูปที่กระทบทางตา ธาตุชนิดนี้จึงเกิด ใครจะไปทำอะไรให้ธาตุชนิดนี้ไม่เกิด ในเมื่อจักขุปสาทมี รูปที่กระทบทางตามี สภาพเห็นหรือธาตุเห็นก็ต้องเกิด ทางหูเสียงมี แต่ถ้าไม่มีธาตุได้ยินเสียง เสียงก็ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นเสียงเองก็ไม่รู้เพราะว่าเป็นรูปธาตุ ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย แต่ธาตุอีกชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ เพราะฉะนั้นการกระทบกันของโสตปสาทธาตุ กับสัททธาตุคือเสียง ก็ทำให้เกิดธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้ยินเสียง แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็เกิดตามปัจจัย แล้วแต่ว่าจะเป็นรูปธาตุหรือนามธาตุ เวลานี้เราคิดว่าเราได้ยิน แมวได้ยินไหม สุนัขได้ยินไหม ถ้าเอารูปร่างออก ได้ยินเหมือนกันไหม คือเป็นธาตุที่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธาตุ ทั้งนามธาตุ และรูปธาตุ นั่นคือความหมายของอนัตตา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ถ้าเราศึกษาโดยละเอียดจะรู้ว่ารูปแต่ละกลาปที่เล็กที่สุด ที่มีอากาศธาตุแทรกคั่น บางกลาปเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน เจตนาความจงใจความตั้งใจเกิดกับจิต ดับกับจิต สะสมอยู่ในจิต พร้อมที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดเมื่อไหร่ก็ได้ เช่นคนที่ไม่มีโรค แล้วก็เกิดเป็นโรคร้ายขึ้นมา ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากกรรม ใครก็ไปทำอะไรไม่ได้เพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เป็นนามธรรมก็จริงแต่มีพลังมีกำลังมีสัตติที่จะเป็นปัจจัยให้รูปใดเกิดเมื่อไร่ ก็เกิดรูปนั้น แม้แต่จักขุปสาท ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกายทั้งหมด เป็นรูปที่เกิดจากกรรม ถ้ากรรมหยุดไม่ให้รูปนี้เกิด ใครก็ทำอะไรไม่ได้ และถ้ากรรมมีปัจจัยทำให้เกิดใครก็ไปทำลายไม่ได้ เพราะว่าเกิดแล้วดับ จะทันทำลายอะไรได้ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจความหมายของความเป็นธรรม ความเป็นธาตุจริงๆ เอาสิ่งที่มารวมกันออกเป็นหน่วยเล็กๆ แล้วก็รู้ที่มาที่ไปของสิ่งนั้นว่าเกิดเพราะอะไร เกิดแล้วก็ดับไปเกิดแล้วก็ดับไป ตัวเราอยู่ที่ไหน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    4 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ