ปกิณณกธรรม ตอนที่ 5


    ตอนที่ ๕


    ท่านอาจารย์ แต่ให้รู้ว่าเขาก็เหมือนเรา ถ้าเป็นมนุษย์ และเราไม่อนุโมทนา คนที่ตายไปก็ไม่แน่เสมอไปว่าเขาจะอนุโมทนาในกุศลที่เราทำ แต่ถ้าเราเป็นคนที่อนุโมทนาเสมอในกุศลที่คนอื่นทำ พอเราได้ยินว่าใครทำกุศล เราก็อนุโมทนา ถึงเราจะไปเกิดที่ไหน เราก็อนุโมทนา ขณะอนุโมทนาก็เป็นกุศลจิตของเรา ไม่ใช่แบบไปรษณีย์ที่ส่งของไปให้ ต้องเป็นกุศลของคนนั้นเอง

    เพราะฉะนั้นในเรื่องของทาน มี ๓ ประการคือ ทานมัย แปลว่า บุญสำเร็จด้วยการให้ ๑ แล้วก็ การอุทิศส่วนกุศลที่เราบำเพ็ญแล้วให้คนอื่นอนุโมทนา ๑ แล้วก็การอนุโมทนาในกุศลของคนอื่น ๑ มี ๓ อย่าง ถึงแม้ว่าเราไม่ได้ทำเอง เราเพียงอนุโมทนา ขณะนั้นจิตเราก็เป็นกุศล เพราะว่าถ้าเราไม่ชอบคนนั้น ต่อให้เขาทำดียังไงเราก็ไม่เห็นจะอนุโมทนาเลย เป็นคนตระหนี่แม้แต่การจะชื่นชมในกุศลของคนอื่น เห็นสภาพของจิตว่าน่าเกลียด ที่เป็นอกุศลธรรมได้ต่างๆ นานา แม้แต่สิ่งที่ดีที่คนอื่นทำก็หาข้อติหรือว่าไม่อนุโมทนา ขณะนั้นเป็นอกุศลของเราเอง เพราะฉะนั้นในเรื่องของท่านเวลาที่ทำบุญแล้ว ทุกครั้งควรอุทิศส่วนกุศล เพราะว่าผู้นั้นอาจจะอนุโมทนา พอกุศลจิตเขาเกิด ถ้าเขาเป็นเปรต แล้วก็สามารถที่จะพ้นสภาพความเป็นเปรตได้ เมื่อหมดกรรมนั้น เขาสามารถที่จะอนุโมทนา แล้วก็พ้นจากกรรมนั้นได้

    ผู้ฟัง ตามที่ท่านอาจารย์อธิบายมาเมื่อกี้ คือถ้าจิตวิญญาณเป็นกุศล ก็จะอนุโมทนา แต่ถ้าเราเกิดไปเจอจิตวิญญาณที่ไม่เป็นกุศล แล้วเราไม่ได้เป็นผู้กระทำให้เขาเลย จิตวิญญาณอันนั้นจะมีผลส่งทำให้เรามีความเป็นไปไหม เจ้ากรรมนายเวร อันนี้อยากทราบว่าเขาจะมีผลตอบสนองกับเราไหมซึ่งบางครั้งเราอาจจะทำสิ่งที่เรานึกไม่ถึง แต่เราไม่สามารถจะสัมผัสสิ่งนั้นกับเขาได้

    ท่านอาจารย์ อันนี้อยากจะแก้นิดนึง คือโดยมากเรามักจะใช้คำว่า วิญญาณ คือสิ่งที่เรามองเห็น แต่ความจริงแล้ววิญญาณ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่รูป ไม่มีรูปใดๆ เลย อย่างเสียง แม้ว่าเรามองไม่เห็น แต่เป็นรูป เพราะเหตุว่าเสียงไม่ใช่สภาพรู้ แต่ขณะที่กำลังได้ยิน ลักษณะที่ได้ยินมี คนตายไม่ได้ยินเพราะคนตายไม่มีจิตใจ แต่ขณะที่คนเป็นๆ ได้ยิน ลักษณะที่ได้ยินเป็นสภาพของจิตชนิดหนึ่ง แล้วเราจะเรียกว่า วิญญาณก็ได้ มโนก็ได้ มนัสก็ได้ คือ จิต เป็นคำที่ใช้แทนสภาพที่เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้นแล้วแต่ภาษา เหมือนอย่าง ผู้หญิง จะเรียกว่า นารีก็ได้ กุมารีก็ได้สตรีก็ได้

    เพราะฉะนั้น จิตซึ่งเป็นสภาพรู้ เราจะเรียกว่าวิญญาณก็ได้ เรียกมโนก็ได้ เรียกมนัสก็ได้ แต่สภาพรู้นี้ไม่มีใครเห็นเลย ทุกอย่างที่เห็นเป็นรูปในขณะนี้ทางตา ไม่ว่าจะมีรูปร่างเป็นสัตว์ เป็นนก เป็นคน เป็นเปรต เป็นยักษ์ เป็นอะไรก็ตามแต่ สิ่งที่ปรากฏให้เห็น เป็นรูป เราไม่สามารถจะเห็นจิตหรือวิญญาณได้ เพราะ จิต - วิญญาณ มีความหมายเดียวกัน เพราะฉะนั้นที่ว่า จิตวิญญาณของคนที่ตายไปแล้ว แล้วจะมาทำอะไรเราได้ไหม เหมือนกับเคยทำกรรมกันมาในอดีตเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างนั้นใช่ไหม

    พระพุทธศาสนาสอนในเรื่องของกรรม คือเหตุ ซึ่งจะทำให้เกิดผล คือวิบาก เพราะฉะนั้นคนอื่นทำให้เราไม่ได้ เราเองเป็นผู้ที่ทำกรรม เพราะฉะนั้นเราเองเป็นผู้ที่รับผลของกรรม ถ้าคนนั้นไม่มีกรรมของเขา สิ่งนั้นก็จะเกิดกับเขาไม่ได้ ไม่ต้องหวั่นเกรงอะไรเลยทั้งสิ้น ถ้าทำกรรมดี คนอื่นจะเปลี่ยนกรรมดีของเราให้เป็นอย่างอื่นได้ไหม ไม่ได้ใช่ไหม เพราะกรรมนั้นทำแล้ว เสร็จแล้ว เป็นสิ่งที่ดีด้วย ถ้าใครที่ทำอกุศลกรรม คนอื่นจะไปเปลี่ยนอกุศลกรรมนั้นให้เป็นกรรมดีได้ไหม เปลี่ยนเถอะคนนี้เขาทำดีมามาก ถึงแม้ว่าเขาทำชั่วครั้งเดียว เอาเถอะให้เขาไปเป็นกุศลกรรม เราอภัยให้ได้ แต่สิ่งนั้นเสร็จแล้ว จบแล้ว เป็นผลที่ได้ทำแล้ว เป็นกรรมแล้ว

    เพราะฉะนั้นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล และก็ชั่วขณะจิตที่เกิดแล้วก็ดับ ใครจะไปแก้ไขก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นทุกคนมีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เมื่อถึงคราวที่อกุศลกรรมให้ผล ไม่ต้องมีใครทำให้เลย เราตกบันไดเองก็ได้ มีดบาดเราเองก็ได้ แต่เวลาที่มีคนอื่นมาฟันเรา มาแทงเรา เรากลับคิดว่า เขาทำเรา ทำไมไม่คิดถึงเวลาที่เขาไม่ทำ แต่มันเป็นไปเองโดยที่ไม่ต้องมีใครทำ อย่างคนที่บ้านพัง เขาทำหรือเปล่า ผู้ร้ายที่ไหนมาทำหรือเปล่า ก็ไม่มีใครทำเลย ใช่ไหม แต่พังเองตามกรรมที่จะต้องเป็นไปอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ถ้าเราไม่เคยทำกรรมอย่างนั้น สิ่งนั้นจะเกิดกับเราไม่ได้ และก็ไม่ใช่ว่าคนอื่นทำให้ด้วย กรรมของเราทำ เมื่อถึงคราวถึงโอกาสที่กรรมจะให้ผล สิ่งนั้นก็ต้องเกิด เปลี่ยนแปลงอะไรก็ไม่ได้ ไม่มีใครมาทำเลย เราทำเองทุกอย่างได้ ตกบันไดได้ มีดบาดได้ อะไรได้หมดทั้งนั้น ถ้าเราทำกรรมดีอยู่เสมอ ก็ไม่ต้องห่วงเลย และก็ไม่ต้องไปเชื่อว่าคนอื่นจะมาทำร้ายเราได้ แต่ให้มั่นคงในกรรมของเราเองว่า ต้องเป็นสิ่งที่เราได้ทำมาแล้ว

    ผู้ฟัง ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า จิต แตกต่างจากคำว่า ความคิด แล้วขอสมมติว่าผู้ฟังเป็นเด็กประถมด้วย เพราะดิฉันมีปัญหาในเรื่องนี้มากเลย

    ท่านอาจารย์ แยกง่ายๆ คือ ธรรม สิ่งที่มีจริงในโลก หรือทั่วโลก ในจักรวาลทั้งหมดทุกแห่ง จะมีสภาพธรรมที่ต่างกันเป็น ๒ ลักษณะ คือ สภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้อย่างหนึ่ง เราจะใช้ภาษาบาลีว่า นาม หรือ นามธรรม ก็ได้ และสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้อีกอย่างหนึ่ง เราจะใช้คำว่า รูป หรือ รูปธรรม ก็ได้ ก่อนที่เราจะมาถึงคำว่า จิต หรือความคิด ให้ทราบว่าแยกสิ่งที่มีจริงๆ ออกเป็น ๒ อย่าง เพราะฉะนั้นวันนี้เราก็มีการบ้าน ถ้าใครอยากจะคิด อันนี้เป็น รูป หรืออันนี้เป็น นาม อย่าง ง่วง ง่วงนี้เป็นรูปหรือเป็นนาม รูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปไม่รู้อะไรเลย รูปไม่เจ็บ รูปไม่หิว รูปกินไม่ได้ เห็นไม่ได้ สุขไม่ได้ ทุกข์ไม่ได้ โกรธไม่ได้ อิจฉาไม่ได้ ริษยาไม่ได้ ลักษณะอื่นทั้งหมดเป็นนามธรรม ง่วงก็เป็นนามธรรม หิวก็เป็นนามธรรม อิ่มก็เป็นนามธรรม ชอบก็เป็นนามธรรม ดีใจก็เป็นนามธรรม จำได้ก็เป็นนามธรรม คิดก็เป็นนามธรรม โต๊ะคิดไม่ได้ เก้าอี้คิดไม่ได้ รูปคิดไม่ได้ แล้วก็นามธรรมมี ๒ อย่าง คือจิตกับเจตสิก เจตสิกเป็นคำใหม่ สำหรับคนที่ยังไม่ได้ฟังธรรมเลย หมายความถึงสภาพที่เกิดกับจิต คำว่าเจตสิก เกิดกับจิต อยู่กับจิต ไม่แยกออกจากจิตเลย

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า จิต เป็นแต่เพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่ว่ามีหลายประเภท ทำไมจึงมีจิตหลายประเภท เพราะเหตุว่าเจตสิกเป็นสภาพที่เกิดกับจิต มีหลายอย่าง เพราะฉะนั้นก็ทำให้ จิต ต่างออกไปเป็นชนิดต่างๆ อย่างโกรธ เป็นเจตสิก โลภเป็นเจตสิก เมตตาเป็นเจตสิก เพราะว่าจิตเป็นเพียงสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าเขาจะไม่จำอะไร จะไม่โลภ จะไม่โกรธ จะไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น อย่างขณะนี้ที่กำลังเห็น จิตเป็นลักษณะที่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา สามารถที่จะจำความละเอียดของทุกอย่างที่ปรากฏได้ รู้ด้วยว่าคนนี้ไม่ใช่คนนั้น หรือว่าแม้แต่เพชรเทียมกับเพชรแท้ สิ่งที่ปรากฏทางตาทำให้สามารถที่จะรู้ได้ เพราะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็นแจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ นั่นคือลักษณะของจิต แต่ว่าขณะที่กำลังจำ ไม่ใช่จิต เป็นเจตสิก

    เพราะฉะนั้น เจตสิกมี ๕๒ ชนิด ทำให้จิตต่างกันไปเป็น ๘๙ ประเภท จิตที่คิดไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่ได้ยินไม่ใช่จิตที่เห็น จิตที่คิดแม้ไม่เห็นไม่ได้ยินก็ยังคิดได้ คืนนี้ตอนนอนจะรู้เลยว่า ไม่เห็นอะไรได้ยินอะไรก็ยังคิด ขณะนั้นเป็นจิตกับเจตสิกซึ่งเกิดพร้อมกัน จะไม่มีการที่จิตเกิดโดยไม่มีเจตสิก เพราะเหตุว่าความหมายของสังขารธรรมคือสภาพธรรมซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จะเกิดตามลำพังไม่ได้ แม้แต่รูปจะไม่มีสักรูปเดียวซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีรูปอื่นเกิดร่วมด้วย สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดจะต้องมีสภาพธรรมอื่นร่วมกันเกิดปรุงแต่งเกิดขึ้น ไม่แยกกันทั้งนามธรรม และรูปธรรม เพราะฉะนั้น ความคิดก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งต่างกับจิตเห็น จิตได้ยิน

    เรื่องของตัวเราทั้งหมด แต่เราไม่เคยรู้เลยจนกว่าเราจะศึกษาธรรมโดยละเอียด เราจะเห็นความเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้ อยากจะเห็น แต่ถ้าตาบอดก็เห็นไม่ได้ อยากจะได้ยินแต่ไม่มีโสตปสาทก็ได้ยินไม่ได้ อยากจะคิดเรื่องดีๆ อ้าวคิดเรื่องที่ไม่ดีอีกแล้ว บังคับบัญชาไม่ได้ ตามการสะสม แต่ถ้าสะสมบ่อยๆ ในทางกุศลแล้วก็มีปัญญา ความคิดก็จะคิดในทางที่ดีเพิ่มขึ้น ในทางที่ถูกต้องเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง ในพุทธศาสนากล่าวว่า ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เมื่อคนที่ฟังฟังจบก็ย้อนถาม แล้วที่ยืนมันเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ที่ยืนอยู่นะมีไหม มี เป็นอะไร ก็เป็นคน เป็นคนใช่ไหม ตรงไหนเป็นคน ตั้งแต่ศีรษะจดเท้ารวมกันแล้วเป็นคน รวมแล้วจึงเป็นคนใช่ไหม แต่ถ้าไม่รวมแล้วเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ยังไม่ทราบว่ามันจะแยกตรงไหน

    ท่านอาจารย์ แต่หมายความว่า มี มีแน่ๆ เลย แล้วเราเคยว่าเป็นคนด้วย ลองกระทบ ลองจับดูที่ว่าเป็นคนสิ จับเรื่อยมาตั้งแต่ศีรษะจนถึงเท้า ลองจับดูสิ มีอะไร ก็จับแขน ที่นั่นหรือคือแขน จับจริงๆ กระทบอะไร

    ผู้ฟัง กระทบเนื้อ

    ท่านอาจารย์ เรียกว่าเนื้อใช่ไหม เอาจริงๆ ไปกว่านั้นอีก กระทบอะไร ถ้าไม่เรียกว่าเนื้อ ลักษณะอะไร สำหรับคนที่ไม่รู้อะไรเลย ยังไม่ต้องศึกษา

    ผู้ฟัง มีลักษณะไม่แข็งแต่ว่าอ่อนนุ่ม

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ ใช่ไหม ลักษณะที่แข็งหรืออ่อนนุ่ม ไม่เรียกอะไรเลยได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เรียกก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่เรียกเลย ไม่เรียกเลย มีจริงๆ ไม่เรียกได้ไหม สิ่งที่มี ไม่จำเป็นต้องเรียก บางทีรถยนต์คันหนึ่ง ส่วนปลีกย่อยในรถยนต์ อะไหล่แต่ละชิ้น เราก็เรียกไม่ถูก ทั้งๆ ที่มี เรารู้ว่ามี แต่เราเรียกไม่ถูก เพราะฉะนั้นสิ่งที่มี ไม่ต้องเรียกชื่อได้ไหม ได้ อันนี้เป็นประการแรก สิ่งที่มี ต้องมีแม้ว่าไม่เรียกชื่อเลย นี่ประการหนึ่ง หรือว่าสิ่งที่มี เคยเรียกชื่อนี้ เปลี่ยนเป็นชื่ออื่นได้ไหม ได้ อย่างแขน คุณสุกลเรียกว่า แขน ภาษาไทย ภาษาอื่นเขาไม่ได้แขน เขาเรียกภาษาอื่นได้ไหม ได้ แต่ว่าแขนหรือสิ่งที่คุณสุกลเคยยึดถือว่าเป็นแขน ลักษณะจริงๆ เพียงแข็ง แข็งมี ถูกไหม แข็งมี กระทบสัมผัสแข็ง แข็งมี มีก็ต้องบอกว่ามี ลองกระทบสัมผัส แข็งมีไหม มี แข็งมี สิ่งที่มีนั้นคือแข็ง เป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นความจริงเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มี มีจริงๆ จะบอกว่าไม่มีไม่ได้ สิ่งที่มีนั้นจะเรียกว่าอะไรก็ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเรียกอย่างนี้ก็ได้ เรียกอย่างอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีจริงๆ เราจะต้องเข้าใจเพิ่มขึ้นให้ถูกต้องว่า ลักษณะที่มีจริงๆ นั้น ไม่ใช่ตัวตน แข็งก็แข็ง ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง จะตอบเขายังไง

    ท่านอาจารย์ ก็มีแข็ง และสิ่งที่มีเป็นอะไร ก็ตอบว่ามีแข็ง มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีทุกอย่าง แต่ว่าเกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ใช่ตัวตน ความหมายว่าไม่ใช่ตัวตนที่นี่คือ ไม่ยั่งยืน แล้วก็ไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับบัญชาได้ ไม่ใช่ว่าสิ่งนั้นไม่มี สิ่งนั้นมี แล้วก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่สงสัยว่าคนฟังก็คงจะยังไม่ค่อยเข้าใจ เพราะว่าต้องอาศัยกาลเวลาที่จะต้องเข้าใจพิจารณาบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นความจริง

    เพราะฉะนั้นมีอีกคำหนึ่ง นอกจากคำว่า ธรรม แล้ว มีคำว่า ปรมัตถธรรม และ อภิธรรม ปรมัตถธรรม หมายความถึง สภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อ สิ่งนั้นก็มี หรือแม้ว่าจะเปลี่ยนชื่ออะไรก็ตาม สภาพธรรมนั้นก็คงเป็นสภาพธรรมนั้น อย่างภาษาบาลีใช้คำว่า โลภะ ภาษาไทยเราบอกว่า ความติดข้อง ความอยากได้ ความต้องการ ภาษาอังกฤษเรียกอีกคำหนึ่ง ภาษาอื่นก็เปลี่ยนไป แต่เปลี่ยนลักษณะของโลภะไม่ได้ จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ แต่ว่าเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมมันไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม

    ปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่เรียกชื่อเลยก็ได้ จะใช้ชื่ออะไรก็ได้ จะเปลี่ยนชื่อก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่มี คือมีปรมัตถธรรม มีธรรมจริงๆ จะเรียกก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ จะไม่บอกว่าเป็นตัวตน ไม่บอกว่าเป็นคน ไม่บอกว่าอะไร แต่ลักษณะของรูปก็เป็นรูป ลักษณะของนามก็เป็นนาม

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามอีกปัญหาหนึ่งครับคือ ในวันที่ ๔ เดือนหน้า เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็นวันวิสาขบูชา ทางราชการก็ได้มีการประกาศว่าเป็นสัปดาห์ส่งเสริมพุทธศาสนา และวัดต่างๆ ก็ได้มีการประกาศเชิญชวนให้พุทธศาสนิกชน ไปประพฤติปฏิบัติ ด้วยการให้ทาน รักษาศีล แล้วก็เป็นนั่งสมาธิกันในระหว่างที่มีการประกาศสัปดาห์ส่งเสริมพุทธศาสนา โดยความเป็นจริงแล้ว การปฏิบัติ เพียงแค่นี้ กับความหมายของคำว่า พุทธศาสนิกชน มันจะเพียงพอสำหรับเพียงแค่ ๔ วันหรือ ๕ วันแค่นี้ยังไงรึเปล่า

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เป็นกุศลอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าเรากำลังจะเข้าใจพระธรรม เป็นการส่งเสริมพระธรรม เพราะเหตุว่าถ้าเราจะส่งเสริมศาสนา หมายความว่าเราเข้าใจพระศาสนา คนที่จะพิทักษ์รักษาศาสนาคือคนที่เข้าใจศาสนา ถ้าเราไม่เข้าใจศาสนา และเราบอกว่ามาช่วยกันส่งเสริม มาช่วยกันพิทักษ์ แม้เราจะส่งเสริมอะไร ในเมื่อเราไม่เข้าใจอะไร ใช่ไหม

    แต่การส่งเสริมก็คือว่า เราเริ่มที่จะศึกษา และเข้าใจ เมื่อไหร่ก็ได้ที่มีโอกาสที่สมควร นั่นคือการส่งเสริมจริงๆ เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ใช่เป็นคนที่ขาดเหตุผล แล้วก็ทำสิ่งซึ่งทำไปโดยที่ว่าไม่เข้าใจ อย่างจะไปนั่งเฉยๆ และเราก็ไม่รู้ว่า พระธรรมว่ายังไง พระพุทธเจ้าสอนว่าอะไร แต่ว่าถ้าเราเริ่มเข้าใจพระธรรม ก็กำลังส่งเสริมแล้ว แล้วอาจจะส่งเสริมบ่อยกว่าเพียงแค่ ๑ สัปดาห์ใน ๑ ปีด้วย ถ้าเราฟังพระธรรมทุกวัน เกิดความเข้าใจทุกวัน และทำสิ่งซึ่งตอบแทนพระธรรมที่ได้ทำให้เราเข้าใจ เผยแพร่ช่วยกันให้คนอื่นเข้าใจขึ้น มีการแนะนำมีการอะไรก็ได้ที่จะทำให้เขาเกิดความรู้ความเข้าใจ นั่นคือการส่งเสริมพุทธศาสนา

    เพราะฉะนั้นการส่งเสริมเราก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ทำทุกอย่างด้วยปัญญา จะตรงตามที่พระพุทธเจ้า มุ่งหมาย ไม่ใช่ว่าให้เราเป็นผู้ที่ขาดเหตุผล ขาดปัญญา เวลานี้เราก็ส่งเสริมแล้ว เราก็ส่งเสริมมากกว่า ๑ สัปดาห์ด้วย ไม่ทราบยังสงสัยหรือเปล่า ถ้า ๑ สัปดาห์แล้วนั่งเฉยๆ เราส่งเสริมหรือเปล่า ไม่มีความเข้าใจเลย แล้วก็จะส่งเสริมกันยังไง ต้องเป็นคนกล้าหาญ ถูกก็คือถูก ผิดก็คือผิด มิฉะนั้นเราก็จะไม่ใช่ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน และเราก็ไม่สามารถที่จะรักษาพระธรรมหรือพระศาสนาได้ ถ้าเราเป็นคนที่ขาดเหตุผล แล้วก็ไม่กล้าไม่ตรงต่อเหตุผล เพราะว่าเรื่องจริงต้องจริงตลอดกาล แล้วก็เป็นเรื่องที่เปิดเผยด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะต้องไปแอบทำ

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจคำว่า เจริญปัญญา กับคำว่า ปัญญา ไม่เข้าใจ อยากจะให้ที่อธิบาย

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ต้องทราบว่า อะไรบ้างที่เป็นของจริง นี่คือการเริ่มต้นของปัญญา เพราะว่าปัญญา รู้สิ่งที่มีจริงๆ ขณะนี้อะไรเป็นของจริง ทางตาที่กำลังเห็น จริงแน่นอน ใช่ไหม ขณะนี้ทางหูที่กำลังได้ยิน จริงอีก เพราะฉะนั้นอริยสัจจธรรม หมายความถึง ปัญญาที่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงได้

    ก่อนที่เราจะศึกษาธรรม เป็นเราเห็น แล้วก็มีคน มีสัตว์ต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่มีจริง ละเอียดมากแล้วก็แยกออกละเอียดยิบทีเดียว อย่างเช่น ทางตา ถ้าถามจริงๆ เป็นการเริ่มต้นของปัญญาว่า เห็นอะไร เราจะเริ่มรู้ว่า คำตอบนั้น เป็นปัญญาหรือยังไม่ใช่ปัญญา ขณะนี้เห็นอะไร เพราะว่าการที่จะพูดถึงเรื่องปัญญาโดยมีตัวอย่าง ก็ยากนะ แต่ในเมื่อเรารู้ว่าปัญญาคือ ก่อนอื่นรู้ว่าอะไรมีจริง เห็น มีจริง นี้เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง ได้ยิน มีจริง นี้เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง คิดนึกมีจริง นี้เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นปัญญาก็จะต้องละเอียดต่อไปอีกว่า เห็นอะไร ตอบเลย เพื่อที่จะได้เป็นจุดตั้งต้น เพราะว่าปัญญาที่บางคนบอกว่า ให้ใช้ปัญญา ไม่มีปัญญาแล้วจะใช้ได้ยังไง ปัญญาไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่หมายความว่า เมื่อไม่มีก็ค่อยๆ ให้มีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งเจริญเติบโตขึ้น เหมือนอย่างคนที่อ่านหนังสือไม่ออก เราก็บอกให้ใช้ปัญญา ให้ใช้ปัญญา แล้วเขาจะเอาปัญญาที่ไหนมาอ่านหนังสือ เพราะเขาไม่มีปัญญาเลย แต่ถ้าเริ่มทีละนิดทีละหน่อย จนกระทั่งเขาค่อยๆ อ่านได้ทีละตัวสองตัวจนในที่สุดเขาก็สามารถที่จะอ่านได้ ฉันใด ปัญญาก็อย่างนี้ คือว่า ทีแรกทีดียวยังไม่มี แล้วก็ค่อยๆ มีขึ้น ไม่ใช่ว่าทุกคนมี และเอามาใช้ แต่ทุกคนเมื่อยังไม่มีก็เจริญให้มีขึ้น เพราะฉะนั้น ปัญญาคือ ความรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่มีจริง ถูกต้องตามความเป็นจริง ก่อนอื่นคือรู้ว่าขณะนี้ เห็น เป็นของจริง นี้เป็นปัญญาขั้นหนึ่ง เพราะฉะนั้นอยากจะถามให้ตอบต่อไป เพื่อจะได้เจริญปัญญาขึ้นว่า เห็นอะไร ตอบให้ตรงเลยว่าเห็นอะไร


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    23 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ