ปกิณณกธรรม ตอนที่ 17


    ตอนที่ ๑๗

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ ทางตากำลังเกิด และดับขณะที่เห็น ทางหูขณะที่กำลังได้ยิน สภาพที่ได้ยินต้องเกิดขึ้น และดับ นี้คือชีวิตประจำวันซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดขึ้น และดับไป ต้องเข้าใจจุดนี้จริงๆ ก่อน ให้แน่ใจจริงๆ ในพุทธศาสนาไม่มีตัวตน ไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และดับไป เพราะฉะนั้นถ้ายังหลงติดยึดมั่นในตัวเรา ความทุกข์จะมากเหลือเกิน อยากให้เป็นอย่างนี้ อยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ว่า ใครจะเป็นอย่างไหนแล้วแต่บุญกรรมที่ทำมาทั้งหมด ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ก็รู้ว่า ไม่มีใครที่จะไปบังคับบัญชาอะไรได้เลยสักอย่างเดียว แต่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้สิ่งที่กำลังปรากฏจนกระทั่งเห็นว่า ไม่ใช่เราจริงๆ นี้คือจุดมุ่งหมายที่สุดที่มานั่งฟัง ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ และอาจจะฟังต่อไปอีก เพื่อจะละคลายการติดการยึดมั่นความสำคัญในตัวตนลง ซึ่งถ้าไม่มีตัวเรา จะสบาย และเบากว่ามีตัวเรา เพราะว่า เวลาโกรธเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง พอเป็นเราโกรธแล้วรู้สึกหนัก เราโกรธ แต่ถ้ารู้ว่า โกรธเกิดขึ้นเป็นของธรรมดากับทุกคน และหมดด้วย ไม่มีใครที่โกรธ และความโกรธนั้นไม่หมด ความโกรธไม่ใช่เรา ขณะนี้ทุกคนมีชื่อ และมีความสำคัญในชื่อ ถ้าเขาเรียกชื่อเราไม่เพราะ อาจจะเติมคำหน้าคำหลังอะไรเข้าไปก็ตามแต่ เราโกรธเหลือเกินว่า ทำไมเรียกอย่างนี้ ใช่ไหม แต่ถ้าเขาเรียกคุณ คุณนาย คุณหญิงหรืออะไรก็ตามแต่ ยศฐาบรรดาศักดิ์ใส่เข้าไป คนที่ไม่รู้จักธรรมจริงๆ อาจจะลืม เผลอไป รู้สึกว่ามีความสำคัญ มีความหมายเหลือเกินกับเพียงคำที่เกิดจากเสียง ซึ่งมาประกอบคำข้างหน้าหรือข้างหลังเท่านั้นเอง นี้คือความติดแม้ในชื่อ เพียงชื่อ แต่ความจริงเป็นสภาพธรรมทั้งหมดที่นั่งอยู่ที่นี่ แต่ถ้าไม่อาศัยชื่อ ไม่รู้จะเรียกอย่างไร ไม่รู้ว่าจะหมายความถึงสภาพธรรมไหน ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ชื่อนี้เป็นแต่เพียงคำสมมติเรียกสิ่งที่มีจริงๆ เพื่อให้เข้าใจ ต้องแยกให้ออก สภาพที่มีจริงๆ เป็นปรมัตถธรรม แต่ว่า ชื่อซึ่งใช้เรียก ไม่จริง ไม่มี แต่เป็นคำที่จำเป็นต้องใช้เพื่อให้รู้ว่าหมายความถึงสภาพธรรมอะไร ตอนนี้ยังอะไรที่จะสงสัยไหม เรื่องชื่อกับเรื่องตัวจริงๆ ธรรมจริงๆ

    อย่างได้ยิน ไม่มีชื่อ ได้ยินไม่ใช่ชื่อ คุณไข่ หรือ คุณไก่ อะไรเลย ใช่ไหม หรือเห็นเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีชื่อ ไม่มีฝรั่ง ไม่มีจีน ไม่มีไทย ไม่มีแขก ไม่มีพม่า ไม่มีปลา ไม่มีนก การเห็นเกิดขึ้นเห็นแล้วดับไป การเห็นมีจริงๆ การเห็นอยู่ตรงไหน ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นจริง มีจริงอย่างนั้น และภายหลังมาตั้งชื่อเอาเท่านั้นเอง เพื่อที่จะให้รู้ว่าอะไร เห็นที่ไหน แต่ว่า จริงๆ แล้วเป็นสภาพธรรมทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้น และดับไป และสภาพธรรมที่เกิดดับ ไม่ใช่เพียงแค่วันนี้หรือเมื่อวานนี้ นานแสนนานมาแล้ว และยังมีต่อไปอีก แต่ว่า ไปอย่างชนิดซึ่งไม่รู้สึกตัวเลย อย่างวันนี้ เมื่อกี้นี้กับเดี๋ยวนี้ คนละขณะแล้ว เห็นเมื่อกี้ ได้ยินเมื่อกี้ มีครบ กำลังรับประทานอาหาร ลิ้มรสก็มี ชอบไม่ชอบก็มี เห็นก็มี คิดก็มี ดับหมด เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังเป็นอย่างนั้น คือ ทุกๆ ขณะผ่านไปโดยที่ว่า ไปๆ เรื่อยๆ ถึงแสนโกฏิกัปป์ และต่อไปอีกเรื่อยๆ เรื่อยๆ นับไม่ถ้วน จะเป็นอย่างนี้ เหมือนอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าปัญญาไม่เกิด และไม่รู้ความจริง เพื่อที่จะละการยึดถือในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นต้องแยกสภาพธรรมที่มีจริงๆ กับชื่อเสียงต่างๆ ซึ่งไม่จริง

    ผู้ฟัง ขออนุญาตกลับไปที่เรื่องความเพียรทางกาย ทางใจ เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจที่ถูก คือ เท่าที่มีผู้สอนในเรื่องความเพียร คล้ายๆ ว่า ต้องการอยากจะให้ผู้ปฏิบัติได้มีความอดทนในการที่จะนั่ง เพราะปกติการนั่ง ถ้าเกินกว่าครึ่งชั่วโมงแล้ว จะรู้สึกกระสับกระส่าย ทีนี้เมื่อพิจารณาว่า ถ้าไม่อาศัยจิต แล้วกายคงจะไม่มีความหมายของคำว่า เพียร ได้เลย เพราะฉะนั้น เลยสงสัยว่า ที่กายต้องทนนั่งหรืออดทนนั่งต่อไป บางครั้งนานเป็นชั่วโมงหรือ ๒ ชั่วโมงได้ เพราะว่า เป็นสภาพของจิตที่ต้องการให้กายอยู่ในลักษณะอย่างนั้นๆ จึงเกิดความสงสัยว่า ถ้าจะพูดถึงความเพียรแล้ว ถ้าไม่พูดถึงจิต กายจะไปทำอะไรได้ ในเมื่อเปรียบเทียบคนตายกับคนเป็น ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายให้ละเอียด

    ท่านอาจารย์ เป็นที่รู้อยู่แล้วว่า รูปร่างกายไม่รู้อะไรเลย รูปไม่ใช่สภาพรู้ ถ้ากระทบสัมผัสที่กายของเรา ที่อ่อนหรือแข็ง กระทบสัมผัสหมอนหรือเก้าอี้ หรืออะไร ก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน คือ อ่อนหรือแข็ง ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งไม่ใช่สภาพรู้ ใครจะไปกระทบ จับกระแทกอย่างไร อ่อนแข็งตรงนี้ไม่เจ็บ ไม่รู้สึกอะไรเลย สภาพที่ไม่รู้อะไร มี เพราะฉะนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึงความเพียรซึ่งต้องเป็นนามธรรมแน่นอน เพราะว่า แข็งๆ เพียรทำอะไรไม่ได้ แต่ว่า ความเพียรได้ต้องเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของเจตสิก เป็นเรื่องของนามธรรม แต่ว่าความเพียรทางไหน จะเพียรด้วยกาย หรือว่าแม้กายของเราไม่ได้ทำอะไร แต่ความเพียรทางใจก็มี นี้คือการที่จะแยกลักษณะของความเพียรว่า แม้ว่า ความเพียรเป็นนามธรรมก็จริง แต่ว่า ความเพียรนั้นเป็นไปในทางกาย หรือเป็นไปในทางใจ บางคนไม่ขยัน เรารู้เลย คนนี้ไม่ขยันเลยแสดงว่า ไม่มีความเพียรทางกาย แต่ทางใจเขาเพียรได้ แต่บางคนทางใจเพียรไม่ได้เลย ทางกายนี้ งานต่างๆ ออกแรงได้ ทำอะไรได้ทั้งวัน แต่จะให้เพียรอ่านหนังสือ ไม่ยอม อย่างคนที่เขาอยู่ตามต่างจังหวัดไกลๆ เขาอ่านหนังสือไม่ได้ ก็พยายามที่จะสอนเขา เวลาที่เขามาทำงานที่บ้าน งานการที่เป็นกายเขาทำได้สารพัดอย่าง เขาทำได้ จะกวาดบ้าน ถูบ้าน ทำอะไร เก็บใบไม้อะไรได้ แต่พอบอกให้อ่าน ก. ไก่ เขียน ก. ไก่ หรืออะไรอย่างนี้ พอไปถึง ส. เสือ เขาก็เลิก เขาบอกว่า ไม่เอาแล้ว คืออยากจะอ่านก็อยาก แต่ว่า ความเพียรทางใจอย่างนี้ไม่มี แต่เขาสามารถที่จะมีความเพียรทางร่างกายได้ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่า ความเพียรจะเป็นนามธรรมเพราะว่า รูปธรรมเพียรไม่ได้ แต่แม้กระนั้น ความเพียรนั้นก็เป็นความเพียรไปในทางกายหรือว่า เป็นความเพียรไปในทางใจ พอจะชัดเจนหรือไม่ ยังสงสัยเรื่องนั่งเพียรอีกหรือไม่ เพียรนั่งหรืออะไร

    ผู้ฟัง คือเรื่องนี้มันเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติ เพราะว่า มีผู้ที่จะไปปฏิบัติธรรม และส่วนใหญ่จะมุ่งไปในเรื่องของการนั่ง โดยวิธีว่าอาจจะนั่งครั้งแรกในครึ่งชั่วโมง ต่อไปอาจจะเป็น ๑ ชั่วโมงอาจจะเป็น ๒ ชั่วโมง ถึง ๓ ชั่วโมง เพราะฉะนั้น คนที่นั่งได้นานๆ มักจะได้รับการยกย่อง และมีผู้กล่าวว่า นี้เป็นความเพียรที่ประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าไม่นั่ง ไม่พิจารณา โอกาสที่จะเกิดสติปัญญา หรือว่าสภาพธรรมจะปรากฏก็ไม่มี จึงคิดว่า คำว่า ความเพียรจริงๆ น่าจะเป็นการเน้น แต่ที่ท่านอาจารย์อธิบายอย่างชัดเจนอย่างนี้แล้ว เข้าใจว่า คงจะเป็นที่เข้าใจกันดี เพราะว่า เพียรในทางไหน คือว่า อย่างที่ยกตัวอย่างมา เช่น การยกตัวอย่าง การทำงาน การทำความสะอาด อะไรต่างๆ ก็ต้องอาศัยกาย ถ้าไม่มีกายก็ไม่มีส่วนที่จะไปทำความสำเร็จได้ อันนี้เข้าใจแล้ว ทีนี้เนื่องจากว่า ความเป็นตัวเป็นตนมีมากเหลือเกิน เวลานี้ถึงแม้ว่า จะได้ฟังคำอธิบายของท่านอาจารย์พูดถึงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีอะไรพ้นไปจากสภาพจิต เจตสิก และรูป แต่ถึงอย่างไรยังมีความยึดว่า เป็นตัวตน เป็นเราอยู่ตลอดเวลา มีการฟังพระธรรมส่วนไหนบ้าง ที่จะช่วยลดคลายความเป็นตัวเป็นตนได้บ้าง เพราะว่า เต็มไปทั้งวันเลยความเป็นตัวของเรา แม้แต่เสียงของเรา เห็นก็เป็นเราเห็น พูดก็เป็นเราพูด ขอให้ท่านอาจารย์อธิบายลักษณะด้วย

    ท่านอาจารย์ เริ่มตั้งแต่ที่เรากำลังนั่งอยู่คือ ให้รู้จริงๆ ไปเลยว่า ไม่มีเรา และคำถามต่อไปคือว่า เมื่อไม่มีเราแล้วมีอะไร ใช่ไหม สิ่งที่กำลังมีปรากฏให้เห็นทางตา ทางหู เป็นอะไรถ้าไม่ใช่เรา คือ เป็นของจริง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง โดยเกิดขึ้นให้รู้ว่า มี อย่างเสียง ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครได้ยิน แต่มีการได้ยิน และจะต้องได้ยินเฉพาะเสียงเท่านั้น จึงรู้ได้ว่า เสียงมี สำหรับคนที่มีโสตปสาท แต่ถ้าคนไหนหูหนวก อย่างไรๆ ก็ไม่ได้ยินเสียง ไม่สามารถที่จะนึกได้ว่า เสียงเป็นอย่างไรที่เขาว่า เสียง แต่ว่า คนที่มีหู ตอบได้ว่าดังๆ ใช่ไหม อะไรก็ตามที่เกิดดังๆ ขึ้นมา นั่นคือเสียง เพราะว่า เสียงต้องดังแน่ เสียงไม่ดังมีไหม ไม่มี แล้วแต่ว่า จะดังมาก ดังน้อย แต่ต้องดัง นี้คือ ลักษณะของเสียง เหมือนกับสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ถ้ามืดหมด มองไม่เห็นอะไร แต่เพราะสว่าง ถึงได้เห็นสีสันวรรณะต่างๆ แต่ที่กำลังเห็นเป็นสีสันวรรณะต่างๆ ให้ทราบว่า ตามความเป็นจริงแล้วเห็นเกินนี้ไม่ได้ ไม่มีใครเห็นแข็ง เห็นแข็งเห็นได้ไหม คือ การศึกษาธรรม ศึกษาได้หลายแบบ ถ้าศึกษาตามตำราอาจจะเร็ว เอาหนังสือมากางแล้วบอกว่า จิตมีเท่านั้น เจตสิกมีเท่านั้น รูปมีเท่านั้น จบ แต่ถ้าจะให้เข้าใจ คือ ความเข้าใจนี้สำคัญมาก ไม่ว่าจะฟังอะไร ต้องฟังเพื่อความเข้าใจอย่างเดียว แม้แต่คำว่า ธรรม ถ้าเข้าใจจริงๆ สามารถเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ เข้าใจจริงๆ ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่นี่แสดงให้เห็นว่า การฟัง ตราบใดที่ยังไม่เป็นพระโสดาบันแสดงว่า ความเข้าใจในเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง ยังไม่พอ คือว่า ยังไม่ประจักษ์แจ้ง เช่น ขณะนี้มีเห็น เห็นอะไรแค่นี้ต้องคิดแล้ว ถ้าตอบอย่างเดิมว่า เห็นคน ผิดหรือถูก เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ ผิดหรือถูก มี ๒ อย่าง ผิดหรือถูก อย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าบอกว่า เห็นคน ผิดหรือถูก

    ผู้ฟัง ถ้าเห็นเฉยๆ หมายถึงเห็น ตามองเห็น นี้คือคน นี้คือสัตว์ หมา แมว อันนี้เห็น

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วขณะที่เห็นนี้ เห็นสีสันวรรณะต่างๆ เท่านั้น ยังไม่เป็นตัวแมว ยังไม่เป็นอะไรเลย แต่ต้องเห็นสี ถ้าไม่มีสีเลยแล้วจะบอกได้ไหมว่า นี้เป็นโต๊ะ นั่นเป็นกระเป๋า นั่นเป็นเก้าอี้ไม่ได้ใช่ไหม แต่เพราะเหตุว่า สิ่งที่ปรากฏทางตามีสีต่างๆ และมีขอบเขต แม้แต่หน้าก็มีส่วนที่เป็นคิ้ว มีส่วนที่เป็นตา มีส่วนที่เป็นจมูก ปาก เพราะสี ถ้าขาวไปหมดเลย บอกได้ไหมว่า ผม หรือตา หรือหน้า หรือจมูกไม่ได้เลย นี้คือ ง่ายๆ ธรรมดา ใช่ไหมว่า ความจริงแล้วทางตา เห็นอะไรแค่นี้ ตามธรรมจริงๆ ที่ถูกต้อง ต้องเห็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่ว่า หลังจากนั้นแล้วคิด พอเห็นแล้วคิดทันที จึงได้รู้ว่า เห็นนก เห็นคน เห็นสัตว์ แต่ถ้าไม่คิด ถามว่า เห็นอะไร บางครั้งไม่ได้รู้ว่า เห็นสิ่งนั้นหรือเปล่า ยกตัวอย่างในห้องนี้ ถามว่า มีอะไรบ้าง สิ่งที่ปรากฏทางตา มีทุกสีแต่ว่า คิดถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งนั้น พอที่จะบอกไหมหรือว่า ไม่ทันคิด เวลาที่อ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์มีแต่สีดำกับสีขาว ไม่มีคนสักคนในนั้น หรือถ้าจะเป็นรูปภาพ รูปถ่ายในหนังสือพิมพ์ บอกได้ว่า นี้ไมเคิล แจ็คสัน หรือว่า นั้นใครก็ตามแต่ แต่จริงๆ ไม่มีคนนั้นเลยในหนังสือพิมพ์ มีแต่สีดำสีขาว และคิดเอาว่า สีดำสีขาวนั้นเป็นน้ำท่วมจังหวัดจันทบุรี หรือว่า เป็นประเทศนั้น ประเทศนี้ เหมือนเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้มีแต่เพียงสีที่ปรากฏ แต่ความจำของเราเหมือนเราอ่านหนังสือ คือ เห็นสีนี้ก็รู้ว่า เป็นใคร ชื่ออะไร เห็นสีนั้นก็รู้ว่า เป็นใคร ชื่ออะไร เหมือนเห็นตัวหนังสือ ทันทีนั้นจำได้เลยว่า เป็นภาษาอะไร เป็นเรื่องอะไร เพราะฉะนั้น ให้ทราบความต่างกันว่า เห็นคือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา นี้คือ ความจริง และหลังจากนั้นจึงเกิดการคิดนึกขึ้น ถ้าสัตว์เห็นหนังสือพิมพ์ จะรู้อย่างเราไหม เรื่องในหนังสือพิมพ์ไม่รู้แน่ แต่ว่า เห็นมี และเห็นเหมือนกันด้วย เราเห็นอย่างไร สัตว์ก็เห็นอย่างนั้น แต่หลังจากที่เราเห็นแล้ว เราอ่าน คือเรานึกถึงแต่ละคำ และรู้เรื่องด้วย แต่สัตว์เห็นแล้วอ่านไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีความคิดนึกเรื่องสิ่งที่สามารถจะนึกต่อหลังจากที่เห็นหนังสือพิมพ์ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาอะไร ตัวดำๆ ขาวๆ พวกนี้ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา และก็คิดเป็นเรื่องเป็นราวฉันใด ทางตาที่กำลังเห็นเป็นสีสันต่างๆ นึกเป็นโรงพยาบาล เป็นไฟฟ้า เป็นอะไรต่างๆ แต่ว่าเห็นต้องมี นี้คือการที่จะรู้ว่า ไม่มีตัวตน คือ มีแต่สภาพเห็น และมีการคิดนึก การคิดนึกก็จริง เห็นก็จริง เวลาที่เห็นแล้วคิด บางครั้งคิดเป็นสุข บางครั้งคิดเป็นทุกข์ อย่างดูรูปในหนังสือพิมพ์ เป็นรูปที่น่าสงสาร ใจของเราก็ไม่สบาย คนนี้ไม่มีขา ๒ ข้าง กำลังเดือดร้อนยากจน ต้องทำงานเลี้ยงแม่หรืออะไรอย่างนี้ มองดูแล้วคิดนึกไปต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น ในขณะที่คิดให้ทราบว่า มีความรู้สึกด้วย เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ทุกครั้ง นี้แสดงให้เห็นว่า มีสภาพธรรมในชีวิตประจำวันมากซึ่งไม่เคยรู้ และเข้าใจผิด ยึดถือสภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นว่า เป็นเรา กำลังเห็นก็ว่าเป็นเรา กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์เพราะนึกถึงเรื่องที่เห็นก็เป็นเราอีก พอจบเรื่องเห็น มาถึงเรื่องได้ยิน ใครมาเล่าเรื่องที่น่าสงสารให้ฟังก็เกิดสุขเกิดทุกข์เพราะการได้ยินนั้นต่อไปอีก นี้แสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ สุขทุกข์ เกิดจากทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก ทุกวันเป็นอย่างนี้ แต่ละวันๆ โดยที่ไม่รู้ตัวล่วงหน้าว่า ขณะต่อไป จะสุขหรือจะทุกข์ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ นี้คือ อนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เพราะเหตุว่า แต่ละขณะนั้นต้องเกิดขึ้น ที่จะยับยั้งไม่ให้เกิด ไม่ได้ ไม่มีใครต้องการความทุกข์ ไม่มีใครต้องการอุบัติเหตุ ไม่มีใครต้องการที่จะสูญเสียส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย แต่สิ่งใดที่จะต้องเกิด เกิดตามเหตุตามปัจจัย เลือกไม่ได้ว่า จะให้เป็นคนนี้ไม่เป็นคนนั้น ก็ไม่ได้ นี้แสดงถึงความเป็นอนัตตา และเป็นธรรม สุขไม่เที่ยง ทุกข์ไม่เที่ยง และเกิดจากการเห็นบ้าง การได้ยินบ้างในวันหนึ่งๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก วันนี้เป็นอย่างงี้ คืนนี้หลับไป พรุ่งนี้เหมือนเดิมอีก ตื่นขึ้นมาเห็นอีก ได้ยินอีก สุขอีก ทุกข์อีก ทางตาอีก หูอีก จมูกอีก ลิ้นอีก กายอีก ใจอีก และจบไปอีกวันหนึ่ง และตื่นขึ้นมาอีก เหมือนเดิมอีก อยู่อย่างนี้ เมื่อไหร่จะพ้นจริงๆ ที่จะไม่ยึดถือว่า เป็นเรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิด และดับ เกิด และดับ จริงไหม

    ผู้ฟัง

    ท่านอาจารย์ ใช่ เป็นความจริงหมายความว่า แล้วแต่ว่า เห็นแล้วจะนึกหรือว่าไม่นึก ใช่ไหม มีภาษาในโลกมากมาย ภาษาญี่ปุ่น ภาษาแขก ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาไทย ภาษาต่างๆ แล้วแต่ว่า สามารถที่จะนึกตามเส้นที่เห็นได้มากน้อยแค่ไหน

    ผู้ฟัง ... เราก็ฟังว่า มองเห็นคือ สีเท่านั้น และต่อไปนั้นเก็บไว้ก่อนเพราะยังมองไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ คือว่า ธรรมเป็นเรื่องที่ว่า เมื่อได้ยินได้ฟังครั้งแรก พิจารณาว่า จริงไหม ถ้าจริง แต่ยังไม่ได้ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ฟังต่อไปอีก พิจารณาต่อไปอีก เข้าใจค่อยๆ เข้าใจขึ้นอีกจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ เพราะว่า สิ่งใดที่เป็นจริงสิ่งนั้นพิสูจน์ได้

    ผู้ฟัง ขออาจารย์ …… อีกรอบหนึ่ง และอีกรอบหนึ่ง จดด้วย ปัญญาไม่เกิด สติไม่เคยเกิด บางครั้งก็เกิด บางครั้งก็รู้ คือ ตัวตนนั้นคงจะไม่รู้สึกว่า ธรรมนั้นอะไรเกิด คือ ตอนที่ว่า ได้ยินตอนนั้น เรียกอะไร เรียกไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ คือ ถ้าแยกโลกหรือจักรวาล โดยสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ลักษณะ ๑ เป็นสภาพรู้ อีกลักษณะ ๑ เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ถ้าจะเติมคำภาษาบาลีลงไป สภาพรู้เป็นนามธรรม คือ ธรรมเป็นธรรมทั้งหมดแต่ว่า ธรรมที่เป็นสภาพรู้นั้นเป็นนามธรรม ส่วนสภาพที่ไม่รู้เป็นรูปธรรม ต้องยอมรับความจริงเป็นขั้นๆ ว่า มีแน่ๆ นามธรรม ขั้นต้นรู้จักชื่อ คือ ได้ยินชื่อ และคุ้นหู ถ้าจะให้ไล่เรียงก็บอกได้ว่า ได้ยินนี้ไม่มีรูปร่าง แต่ว่า เป็นสภาพที่สามารถที่จะรู้เสียง กำลังได้ยิน ได้ยินเสียง รู้ว่าเสียงสูง เสียงต่ำ นั้นเป็นลักษณะได้ยิน มีจริง เป็นนามธรรม นี้คือ ความรู้ขั้นฟัง และความรู้ขั้นเข้าใจ และต้องมีความรู้ขั้นพิจารณาจริงๆ และมีความรู้ที่เริ่มจะเข้าใจขณะที่กำลังได้ยิน ต้องเพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่ง คือ เดี๋ยวนี้กำลังได้ยิน แต่กำลังฟังเรื่องการได้ยิน จนกว่าจะมีการรู้ลักษณะที่ได้ยิน นี้เป็นอีกขั้นหนึ่ง คือ สภาพธรรมที่มี ต้องอาศัยการฟังเป็นขั้นๆ และต้องใจเย็นๆ อย่ารีบร้อนไปไหน

    ผู้ฟัง เรียนถามว่า สภาพรู้ที่รับฟัง เราฟัง เราเกิดความเข้าใจ หรือเราพยายามศึกษา อ่านอะไร พยายามจะเข้าใจ คือว่า เดิมอาจจะนึกว่าเป็นความรู้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    27 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ