ปกิณณกธรรม ตอนที่ 47


    ตอนที่ ๔๗

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นสภาพธรรมที่เป็นอนัตตาทั้งหมดว่าเดี๋ยวเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น แต่ว่าเรารู้ตามความเป็นจริงถูกต้องว่า อย่างนี้คืออย่างนี้ อย่างนั้นคืออย่างนั้น

    ผู้ฟัง เวลาจะใส่บาตร ส่วนใหญ่จะเป็นความคิดว่า อยากจะใส่บาตรวันนี้หรือวันนั้น มากกว่าที่จะคิดว่าได้มีการสละหรือได้ใส่บาตรลงไป เป็นความเคยชินใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ โลภะต้องการทุกอย่าง ติดข้องทุกอย่าง นอกจากโลกุตตรธรรม การใส่บาตรเป็นสิ่งที่ดี เป็นกุศล แต่โลภะก็อยากใส่บาตร เพราะฉะนั้นโลภะอยากไปหมดเลย อยากได้ทั้งกุศล ทั้งอกุศล ประโยชน์ของข้อความที่ว่า สติปัฏฐานเกิดแม้เพียงชั่วช้างกระดิกหู ไก่ปรบปีก หรืองูแลบลิ้น ที่เป็นการกล่าวเปรียบเทียบอุปมาไว้ว่าเร็วขนาดไหน ก็มีประโยชน์มาก เพราะเหตุว่า ถ้าไม่เคยเกิดเลย ก็ยังเกิดได้ แม้สั้นมากเร็วมาก เพียงหนึ่งขณะ หรือว่าน้ำหยดหนึ่งที่จะลงตุ่ม กว่าจะเต็ม ที่ละหนึ่งหยด นานๆ ครั้งหนึ่ง ก็ยังเต็มได้ เพราะฉะนั้นแม้เพียงขณะสั้นๆ ต่อไปเราก็จะคุ้นเคย จะค่อยๆ รู้ว่านี่คือขณะที่กำลังเริ่มที่จะรู้ลักษณะแท้จริงของสภาพธรรมที่เราได้เรียนมาฟังมานานแสนนาน แต่ประโยชน์ก็อยู่ตรงที่ระลึกลักษณะนั้นเพื่อที่จะรู้จริงๆ ว่าความจริงเป็นตามที่ได้เรียนมา ประโยชน์สูงสุดอยู่ตรงนี้

    ผู้ฟัง ข้ออุปมาข้อนี้ จะเอาไปใช้กับการเจริญสมถภาวนาได้ไหม อย่างที่พระพุทธเจ้าอุปมาว่า กุศลแม้เกิดสั้นๆ เหมือนงูแลบลิ้น เป็นกุศลที่เกิดในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แต่อุปมาอันนี้มีคนกล่าวโดยเอาไปเปรียบกับการเจริญสมาธิ จะสมควรไหม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเรื่องของสมาธิหรือเรื่องของสมถภาวนาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เพราะเหตุว่าถ้าไม่เข้าใจจริงๆ แล้วจะเป็นอกุศลหรือมิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้นอุปมาทั้งหลายก็ให้ทราบว่ามุ่งหมายเพื่ออะไร อย่างการที่เรามีความเพียร นานแสนนานจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง แต่ปัญญาก็ยังเห็นคุณค่าว่า เพียงครั้งหนึ่งก็มีประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงสมถะ หมายความว่าสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้นกุศลทุกประเภทต้องเป็นสมถะ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ แม้แต่มรรคมีองค์ ๘ ก็มีทั้งสมถะ และวิปัสสนา ส่วนสมถะที่ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่มีวิปัสสนาด้วย เป็นแต่เพียงความสงบของจิต ซึ่งกุศลทุกชนิดสงบแต่สงบสั้น เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่ากุศลน้อยมาก แค่นิดเดียว แล้วอกุศลก็มากมาย ผู้ที่มีปัญหาก็อบรมโดยการที่แม้ขณะนั้นไม่มีวัตถุที่จะให้ทาน หรือที่จะวิรัติทุจริต แต่ก็ยังมีการที่จะให้กุศลจิตเกิดบ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งสงบขึ้น นั้นเป็นผู้ที่ยังไม่รู้หนทาง แต่ถ้าเป็นผู้ที่รู้หนทางแล้ว ก็จะเห็นว่าต่างกัน เพราะแม้ว่าสติปัฏฐานเกิดน้อย แต่ก็เป็นหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม

    ผู้ฟัง ความสำคัญก็คือขอให้เป็นสัมมามรรค จะน้อยหรือมากอย่างไร ไม่สำคัญเท่าเป็นสัมมามรรคหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้อย่างนี้ จะไปทำอย่างอื่นไหม ต้องไปไหนหรือเปล่า ต้องไปทำอะไรหรือเปล่า แต่ไม่ใช่ไปทำอะไรเพื่อที่จะรู้สภาพธรรมใช่ไหม

    ผู้ฟัง ก็คือต้องเป็นอย่างนั้น เพราะทำอะไรไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจจริงๆ ถึงจะเป็นความเห็นถูก

    ผู้ฟัง ถึงแม้ อาจารย์จะสอนให้เจริญสติปัฏฐานบ่อยๆ แต่ก็ทำทาน ทำศีลไปด้วย

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ให้เจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว กุศลทุกชนิด กุศลเป็นธรรมฝ่ายดี อกุศลเป็นธรรมฝ่ายไม่ดี และเป็นอนัตตาทั้งหมด จะให้สติปัฏฐานเกิดโดยไม่มีกุศลอื่นไม่ได้ ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง จะให้มีแต่กุศลอื่นเกิดโดยไม่มีสติปัฏฐานก็ไม่ได้ คือให้มีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาจริงๆ และไม่หวัง ถ้าหวังมากก็คือโลภะเข้ามา เป็นอาจารย์เป็นลูกศิษย์กันต่อไปอีก

    ผู้ฟัง ที่เคยได้ยินคำกล่าวว่า สิ่งใดเป็นบาทของสิ่งใด ต้องทำสิ่งใดก่อนถึงจะได้สิ่งใด อย่างศีลเป็นบาทของสมถะ และวิปัสสนา เพราะฉะนั้นต้องรักษาศีล ต้องให้ทานก่อนถึงจะเจริญภาวนาได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนที่มีความเข้าใจธรรมแล้วเขาจะล่วงศีลไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ล่วง

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ห่วง ถ้ามีความเข้าใจธรรมแล้ว

    ผู้ฟัง แล้วอย่างคำว่า กตัญญู ถ้าเราจะไปดูที่เจตสิก ๕๒ มันไม่มีตัวไหนที่ชื่อว่ากตัญญูเจตสิกเลย อย่างนี้ถือว่ามันไม่มีองค์ธรรมหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ แต่มีไหม ความกตัญญูมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอะไรสักอย่าง

    ท่านอาจารย์ ปรมัตธรรมมีเท่าไหร่

    ผู้ฟัง มีจิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็น่าจะเป็นเจตสิก แต่ว่าดู ๕๒ ตัวแล้ว ไม่มีกตัญญูเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ไม่มี ไม่อย่างนั้นก็ต้องมีเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน ไม่มีกตัญญูเจตสิก แต่มีสภาพธรรมที่เป็นโสภณเจตสิก

    ผู้ฟัง คือเอาหลายตัวมารวมกันแล้วมาตั้งชื่อใหม่หรือ

    ท่านอาจารย์ เมื่อเป็นโสภณ ก็เป็นโสภณ ทำไมเราจะต้องเรียกอะไร

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดเราไม่เรียก เราก็ไม่สามารถระลึกรู้ได้ว่ามันเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ดี

    ผู้ฟัง เป็นกุศลแบบคลุมเครือ

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องเอาชื่อไปใส่ ถึงจะรู้จักตัวจริงหรือ

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีตัวจริง แล้วมันจะมีชื่อหรือ

    ท่านอาจารย์ มีตัวจริง ตัวจริงนี่จะเรียกอะไรก็ได้ หรือไม่เรียกอะไรเลยก็เป็นตัวจริงๆ

    ผู้ฟัง ตั้งชื่อไว้ เพื่อให้คนรุ่นหลังระลึกได้ว่าเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กุศลก็เป็นกุศล

    ผู้ฟัง กุศลก็มีตั้งหลายอย่าง

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ก็ไล่เรียงไปว่ากุศลมีเท่าไหร่ และปัญญาของเราก็ไปหาให้ได้ มันจะพ้นจากกุศลไปได้ไหม

    ผู้ฟัง พ้นไปไม่ได้แน่นอน แต่ว่าใน ๕๒ ตัว มันคือตัวไหน

    ท่านอาจารย์ ก็ตัวไหน ลองหาดูสิว่าเป็นตัวอะไร นี่คือปัญญาของเรา เขาบอกไว้ให้เลยว่า กุศลไม่ใช่อกุศล และกุศลเป็นไปในอะไรบ้าง หาดูให้เจอ นั้นคือปัญญาของเรา

    ผู้ฟัง สติปัฏฐานไม่เกิด คงจะเป็นแค่ความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ นี่ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด คือไม่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ตัวจริง แต่รู้เรื่องราวได้ เพราะฉะนั้นจะรู้อะไร จะรู้ตัวจริงหรือจะรู้เรื่องราว

    ผู้ฟัง อยากจะรู้ตัวจริง แต่ในเมื่อมันรู้ไม่ได้ ก็รู้เรื่องราวไปก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเรื่องราวก็ไปหาเรื่องราวว่าเวลากุศลเกิด เขามีทางของกุศลกี่ทาง ทางไหนบ้าง

    ผู้ฟัง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามันถูกหรือผิด

    ท่านอาจารย์ ก็มีบอกไว้ เวลากุศลจิตเกิด ทางของกุศล ที่ตั้งของการกระทำที่เป็นกุศลมีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ก็ต้องไปเรียนอีก แล้วตัวจริงของทาง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต จะมีทางไหม ถ้ากุศลจิตไม่เกิด จะมีการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นกุศลไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นจิตที่เป็นกุศล แล้วก็มีกายวาจาที่ทำให้เกิดการกระทำจากกุศลจิตนั้น

    ผู้ฟัง มันเหมือนคลุมเคลือมาก

    ท่านอาจารย์ ไม่คลุมเครือ หาให้เจอ แล้วมันเป็นปัญญาของใคร แล้วถ้าหาเองจะเป็นปัญญาของใคร มีจิต มีเจตสิก มีการกระทำของจิต เจตสิกที่ดีที่จะรู้ได้ว่านี่เป็นการกระทำของจิตเจตสิกที่ดี มีทางไหนบ้าง อะไรบ้างที่รู้ว่าเป็นการกระทำของจิตเจตสิกที่ดี ไปตีคนอื่นนี่เป็นจิตเจตสิกที่ดีหรือเปล่า เพราะฉะนั้นทางกิริยาอาการ วัตถุของการกระทำที่เป็นของจิตเจตสิกที่ดีคืออะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ บุญญกิริยาวัตถุมีเท่าไหร่

    ผู้ฟัง ๑๐

    ท่านอาจารย์ แล้วเมื่อสักครู่บอกว่าไม่รู้ได้อย่างไร บุญญกิริยาวัตถุ ถ้ากุศลจิตเกิด ก็จะมีกาย วาจา ใจที่เป็นกุศล แล้วแต่ว่าจะเป็นทางกาย หรือทางวาจา หรือทางใจ ก็หาไปว่าอยู่ตรงไหน

    ผู้ฟัง แต่ถามถึงคำว่า กตัญญู

    ท่านอาจารย์ กตัญญูหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ต้องตอบแทนพระคุณ

    ท่านอาจารย์ นั้นคือ กตเวที ถ้าเป็นคนไม่คิด ปัญญาจะไม่เจริญ และไม่ใช่ให้ไปคิดเรื่องอื่น ที่ทำไมทำไมทำไมแล้วรู้ไม่ได้ แต่สิ่งที่จะรู้ได้ คิดได้ ควรคิดให้เข้าใจขึ้น อย่างการนอนหลับสนิท ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะกตัญญูได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นทางที่จะรู้ว่ากตัญญูก็ต้องมีทางที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นที่เป็นการรู้คุณ คือทางไหน

    ผู้ฟัง ทางใจ

    ท่านอาจารย์ มันก็มี ๖ ทาง เพราะฉะนั้นถ้าเราศึกษาธรรม เราจะรู้จักว่าตัวธรรมจริงๆ พ้นไปจาก ๖ ทางไม่ได้ แล้วทางใจเป็นอย่างไร ถึงได้เป็นกตัญญู

    ผู้ฟัง คือรู้คุณ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคือการคิด ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยินใช่ไหม คิดก็เป็นเรื่อง ขณะนั้นคิดด้วยจิตประเภทไหนก็สามารถที่จะรู้ได้

    ผู้ฟัง ประเภทกุศลจิต แต่ประกอบด้วยเจตสิกใดไม่สามารถรู้ได้

    ท่านอาจารย์ โสภณเจตสิก

    ผู้ฟัง หมดเลยหรือ

    ท่านอาจารย์ ๑๙ ถ้าประกอบด้วยปัญญาก็เพิ่มอีก ถ้าประกอบด้วยวิรตีก็เพิ่มอีก ถ้าประกอบด้วยกรุณาหรือมุทิตาก็เพิ่มอีก ก็แล้วแต่ว่ามีอย่างหนึ่งอย่างใดเกิด

    ผู้ฟัง อย่างนั้น กตเวทีก็เหมือนกัน ๑๙ เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องมี ๖ทาง

    ผู้ฟัง ใช่ ทางใจเหมือนกัน แล้วก็เกิด

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจะเป็นทางกาย หรือว่าทางวาจา

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยพูดว่า แต่ละคนมีโลกแต่ละใบ หมายความว่า แต่ละคนก็มีความคิด

    ท่านอาจารย์ แต่ละคนก็มีจิต ๑ ขณะ แล้วจะไปเกี่ยวข้องกับจิตอื่นได้อย่างไร นอกจากคิด โลกใบนี้เต็มไปด้วยความคิด โลกนี้คือโลกของความคิด จากสิ่งที่เห็น สั้นมากนิดเดียว เหมือนกับความมืดมีอยู่ โลกนี้มืดจริงๆ ธาตุรู้นี้มืด ธาตุรู้ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่เย็นร้อนอ่อนแข็ง เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีจริงเมื่อเกิดแล้ว ไม่มีรูปใดๆ เจือปนทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นจะมืดแค่ไหน เราอยู่ในห้องมืด เราว่ามืด เพราะเรามีตาที่จะรู้ว่าขณะนี้ไม่สว่าง แต่ขณะนั้นไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ใดๆ ทั้งสิ้น ก็มีจิตที่สามารถจะรู้ได้ เพราะเป็นธาตุรู้ ความมืดขณะนั้นจะแค่ไหน แต่ก็มีทางที่จะเห็น สั้นมาก นิดเดียว เหมือนกับสิ่งที่มืดแล้วมีอยู่ ๕ จุดเล็กๆ แล้วก็จุดนี้สว่าง จุดนั้นเป็นเสียง จุดนั้นเป็นกลิ่น จุดนั้นเป็นรส จุดนั้นเป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงหรือไหว ซึ่งจุดสว่างเพียงนิดเดียว ก็หมดไป จำไว้เลยว่าสว่างนั้นมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เป็นคน เป็นสัตว์ เก็บไว้ สืบต่อมา พอหูได้ยินเสียงนิดเดียว เสียงธรรมดา จำความสูงความต่ำ เรื่องราวต่างๆ ไว้หมด เพราะฉะนั้นทั้งสี ทั้งเสียงในความคิดนึก และยังมีกลิ่น มีรส มีสัมผัส ก็เป็นโลกใบใหญ่ซึ่งมีคนเยอะ แล้วก็มีสิ่งต่างๆ มากมายแต่ความจริง ชั่วขณะที่จิตเกิดคิด โลกนี้ไม่ปรากฏเมื่อจิตเกิดแล้วดับคือตาย แต่เมื่อเกิดตรงไหน ก็รู้สิ่งนั้นใหม่ ในโลกนั้นต่อไป มีความทรงจำเรื่องโลกนั้นใหม่ต่อไป แต่ความจริง โลกคนละใบก็คือว่า ทุกคนนั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากจิตที่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ แล้วก็สะสมความคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ ไม่ลืมในชาติหนึ่ง จนกว่าจะตาย พอถึงชาติหน้า ก็ลืมชาตินี้สนิท เหมือนประตูที่ปิดสนิท มองเท่าไหร่ก็ไม่เห็นว่าข้างในมีอะไร เพราะว่าถูกปิดกั้นด้วยภพที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจะย้อนกลับไปถึงอดีตไม่ได้ ไม่มีทาง ข้างหน้าก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ที่ไหน แต่ขณะนี้ กำลังอยู่ตรงนี้ อยู่เหมือนกับอยู่กับคนหลายคน แต่ความจริงโลกใบนี้คือคิด มีคนเมื่อคิด มีสิ่งต่างๆ เมื่อคิด ถ้าไม่คิดก็ไม่มี หลับสนิทก็ไม่มีอะไรสักอย่าง ชื่ออะไรก็ไม่มี บ้านอยู่ตรงไหนก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี แต่พอตื่น โลกใบนี้ ความทรงจำเริ่มคิดปรุงแต่ง ทั้งๆ ที่ไม่เห็นก็คิดไปถึงเรื่องที่ผ่านมาแล้วได้ แล้วพอมีสิ่งใหม่ปรากฏกระทบ ก็เพิ่มความคิดเข้าไปอีก ก็เป็นโลกที่ยุ่งยาก สับสนเต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆ จนกว่าจะรู้ว่า เรื่อง ไม่ใช่สภาพปรมัตถธรรม ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม เรื่องอะไรก็ไม่มีทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องมาจากไหน ก็มาจากจิตที่คิด คิดถึงอะไรก็มีเรื่องนั้น แค่คิด พอไม่คิด สิ่งนั้นก็ไม่มีแล้ว จะมีอีกก็ต่อเมื่อคิดอีก

    ที่จริงการสนทนาธรรมหมายความว่าเราทุกคนที่มีความสนใจในพระธรรมคำสอน ได้ฟังจากวิทยุบ้าง ได้อ่านหนังสือบ้าง แต่จริงๆ แล้ว ประโยชน์สูงสุดของการเป็นพุทธศาสนิกชนก็คือเราศึกษาคำสอน ซึ่งต้องเข้าใจตั้งแต่คำแรก ขั้นต้น แม้แต่คำว่า ธรรม ถ้าเราไม่มีความเห็นที่ตรง และถูกต้อง เราจะไม่พบธรรมเลย และจะไม่ได้สาระจากธรรมด้วย เพราะฉะนั้นก่อนอื่น คำพูดตอนต้นๆ นี้ คิดว่าคงจะไม่มีอะไร แต่เบื้องต้นที่ถูกก็จะนำไปสู่ความถูกต้องยิ่งขึ้น แต่ถ้าความเข้าใจตอนต้นของเรายังไม่ครบ ยังไม่สมบูรณ์ ยังไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าเราจะอ่านพระธรรมมากมายสักเท่าไหร่ก็ตาม แต่ถ้าความเข้าใจขั้นต้นของเราไม่ถูก หรือว่ายังสงสัยยังคลางแคลง ความเข้าใจที่จะเพิ่มขึ้นก็จะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ตั้งแต่คำว่า ธรรม อย่าเพิ่งผ่านไปง่ายๆ เพราะคิดว่าเราชินกับคำนี้มานาน ตั้งแต่เกิดก็ได้ยินคำว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ว่าความจริงแล้ว เราเข้าใจจริงๆ หรือเปล่าว่าแต่ละคำหมายความว่าอย่างไร สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีใครจะมีปัญญาเสมอกับพระองค์ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาธรรมที่ทรงแสดงไว้ โดยละเอียด โดยรอบคอบ โดยไม่คิดว่าปัญญาของเรามีมากพอที่จะอ่านพระไตรปิฏก และอรรถกถาได้ทั้งหมดโดยแจ่มแจ้ง เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ถึงระดับนั้น เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็พอที่จะรู้จักตัวเองได้ว่าปัญญาของเราอยู่ระดับไหน แล้วเราสามารถจะเข้าใจอะไรได้ แต่เราก็ต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นจริงๆ ให้ถูกต้อง เช่นคำว่าธรรมที่เราได้ยินได้ฟังนี้ ถ้าจะพูดว่าศึกษาธรรม จะศึกษาอะไร ที่ไหน คงไม่ใช่ไปศึกษาหนังสืออื่นซึ่งคนโน้นก็เขียน คนนี้ก็เขียนแต่คนเขียนไม่ใช่คนที่ศึกษาธรรม แต่คิดธรรมเองว่าธรรมคงจะเป็นอย่างนั้น คงจะเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเราจะศึกษาจากพระไตรปิฎกโดยตรง เป็นสิ่งที่ปัญญาของเราก็ยังไม่ถึง จะศึกษาพระวินัยปิฎกหรือพระสุตตันตปิฎกหรือพระอภิธรรมปิฎก ทุกคนที่ได้มีโอกาสหยิบพระไตรปิฎกขึ้นมา ถ้าจะศึกษาพระไตรปิฎกจากปิฎกที่ ๓ คืออภิธรรมปิฎก ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ แน่นอน เพราะว่าในครั้งโน้น ผู้ที่มีปัญญาสะสมมาแล้วมาก สามารถที่จะฟังแล้วเข้าใจได้ทันที เพราะว่าบุคคลเหล่านั้นเกิดในสมัยที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้นเมื่อได้สะสมบุญมาพร้อมที่จะได้ฟังพระธรรม การฟังพระธรรมของคนยุคโน้นกับคนยุคนี้ ธรรมไม่ได้ต่างกันเลย ข้อความที่มีในพระไตรปิฎกที่แสดงกับคนในครั้งนั้น กับข้อความที่เราอ่านจากพระไตรปิฎกในสมัยนี้เหมือนกัน แต่ปัญญาของคนในครั้งนั้นสามารถที่จะเข้าใจได้ จนสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่คนสมัยนี้ แค่ธรรมคืออะไร ให้ฟังแล้วเข้าใจทันที ต้องเป็นสิ่งที่แสนยาก ต้องเป็นผู้ที่อบรมมานานมาก และจะเทียบเรากับคนที่ฟังแล้วบรรลุก็ยิ่งจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าแม้ในครั้งที่ยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่ฟังมีโอกาสเกิดในสมัยนั้น ได้เห็น ได้เฝ้า แล้วก็ได้ฟังพระธรรมมากเป็นหลายสิบปี แต่ไม่บรรลุอริยสัจจธรรม จนกระทั้งสิ้นชีวิตแล้วก็กลับมาลงมาเฝ้า ฟังธรรม จึงได้บรรลุก็มี เพราะฉะนั้นเราไม่ควรที่จะคาดหวังหรือคิดว่าเราจะได้อะไรจากพระธรรมระดับไหน เพียงแต่ว่า เวลาที่เราฟังพระธรรม มีเครื่องวัดว่าปัญญาความรู้ความเข้าใจธรรมของเราในการฟังมากน้อยแค่ไหน ต้องเป็นผู้ตรง ถ้ายังไม่เข้าใจก็คือไม่เข้าใจ ถ้าเป็นผู้ที่เริ่มจะเข้าใจก็คือเริ่มจะเข้าใจ เพราะฉะนั้นเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ ถึงจะได้สาระจากพระธรรม แม้แต่คุณธรรมของพระโสดาบันคืออุชุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติตรง ถ้าใครไม่ตรง ไม่มีทางที่จะได้สาระหรือความเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้นทุกคนที่กำลังฟัง ไม่ว่าจะฟังเมื่อไหร่ ที่ไหน ก็สามารถที่จะรู้ปัญญาของตัวเองว่าเข้าใจได้ระดับใด เช่นคำว่า ธรรม คำเดียว เข้าใจระดับไหน มีใครจะตอบไหม ผู้ที่ศึกษาปรมัตถธรรมแล้วต้องตอบได้ ธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง จริงเมื่อไหร่ เมื่อกำลังปรากฏ ถ้าขณะนี้ไม่ปรากฏ สิ่งนั้นจริงหรือเปล่า จริงไม่ได้เพราะไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะรู้ว่าธรรมคือสิ่งที่มีจริง ก็ต้องจริงในขณะที่ปรากฏ และถ้าธรรมนั้นไม่เกิดจะปรากฏได้ไหม ไม่ได้ นี้คือความที่เริ่มจะลึกซึ้ง คือสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ ต้องเกิด และถ้าศึกษาต่อไปจะรู้ว่าการเกิดของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ตามเหตุตามปัจจัย ซี่งไม่มีใครที่จะสามารถบังคับบัญชา หรือว่าเป็นเจ้าของเลย เพราะฉะนั้นธรรมจึงต้องสอดคล้องกัน ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถูกต้องตรงที่สุด ไม่ว่าใครจะยกธรรมหนึ่งธรรมใดขึ้นมา ก็จะเห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมนั้นๆ เมื่อมีความเข้าใจ ธรรมที่มีจริงกำลังปรากฏโดยความเป็นอนัตตา และการที่ธรรมหนึ่งธรรมใดจะเกิดต้องมีปัจจัย นี้แสดงสอดคล้องกันแล้วใช่ไหมว่าบังคับบัญชาไม่ได้ ถ้าไม่มีปัจจัยของสภาพธรรมใด สภาพธรรมนั้นก็เกิดไม่ได้ ต้องมีปัจจัยของสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้นจึงเกิดได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมไม่ใช่ศึกษาเพียงตัวหนังสือ แต่ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ต้องทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วคนอื่นไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนั้นได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    7 เม.ย. 2567

    ซีดีแนะนำ