ปกิณณกธรรม ตอนที่ 12


    ตอนที่ ๑๒


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรานั้นลึกมาก เพียงขั้นฟัง กว่าจะค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจว่าเป็นความจริงอย่างนั้น ก็เพียงขั้นเข้าใจ ยังไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีหลายขั้น คือปัญญาขั้นฟังให้เข้าใจก่อนว่า นี่คือธรรม เป็นของจริง เป็นสัจจธรรม เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ถ้าได้ยินไม่เกิดดับ ก็ไม่มีการพิสูจน์ แต่เพราะได้ยินขณะนี้เกิดดับ เห็นก็เกิดดับ คิดนึกก็เกิดดับ แต่ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องรับความจริงเป็นขั้นๆ ว่า ปัญญาของเราเพียงแค่ฟังยัง ไม่สามารถที่จะไถ่ถอนความเป็นตัวตนได้ แต่มีหนทาง เพราะเหตุว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสรู้ แล้วทรงแสดงพระธรรมในสมัยโน้น ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมตามที่พระองค์ทรงแสดงมีมาก มีพระอรหันต์ในสมัยนั้นมากมาย มีผู้ที่มีปัญญาที่ยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์แต่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระอรหันต์มาก แต่ว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบันก็ยังมากกว่าผู้ที่เป็นพระสกทาคามี เพราะเหตุว่าต้องมีปัญญาสูงขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุอรหันต์ก็ต้องน้อยกว่าเพราะว่าเป็นปัญญาขั้นสูง แล้วพอมาถึงสมัยนี้ ห่างไกลมา ๒๕๐๐ กว่าปี การฟังพระธรรมก็น้อยมากหรือว่าเกือบจะไม่มีเลย เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่เริ่มแสวงหา แล้วก็สนใจอยากที่จะได้เข้าใจธรรมจะต้องเป็นผู้ที่มีทางเดียวคือ ฟังให้เข้าใจว่า ธรรมที่ได้ยินได้ฟังนั้นเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง หรือว่าเป็นเพียงธรรมซึ่งต่างคนต่างคิด และพยายามจะมีข้อปฏิบัติซึ่งความจริงหนทางปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น ต้องเป็นทางที่ทำให้เกิดปัญญา จะไปปฏิบัติแบบไหนยังไงก็ตาม จะไปนั่งสมาธิกี่วัน กี่เดือน กี่ปีก็ตาม ถ้าปัญญาไม่เกิด รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นสัจจธรรมในขณะนี้ ก็ไม่ใช่หนทางที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นหนทางที่จะดับกิเลส เพราะเหตุว่าการดับกิเลส กิเลสมีมากเหลือเกิน บางคนอาจจะบอกว่าไม่มี เคยมีคนที่บอกว่า เขาไม่มีกิเลส ไม่มีโลภะ วันหนึ่งก็เฉยๆ เพราะเหตุว่า ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงพอลืมตาตื่นขึ้นมา ก็มีความต้องการ มีความติดแล้ว จะทำสิ่งนั้น จะทำสิ่งนี้ ก่อนจะหลับก็คิดแล้วว่า พรุ่งนี้จะทำอะไร ก็เป็นเรื่องของความต้องการ เป็นเรื่องของความติดข้อง โดยที่คนนั้นก็ไม่รู้ว่านั่นเป็นสภาพที่เป็นโลภะ เป็นความติดข้อง เป็นความต้องการ เพราะฉะนั้นเขาบอกว่าเขาไม่มี เพราะเขาคิดว่า โลภะต้องเป็นขณะที่กำลังอยากจะได้อะไรอย่างมากๆ ทนไม่ได้ต้องไปซื้อไปหาหรือว่าไปทำขึ้นมาอะไรอย่างนี้

    แต่ความจริงให้ทราบว่า ธรรมทุกอย่างมีหลายระดับ ไฟที่ร้อนนิดหนึ่งก็ร้อน กองใหญ่ๆ ก็ร้อนมาก เพราะเหตุว่ามีจำนวนมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไฟแค่ไม้ขีดไฟนิดเดียวก็ไม่มีใครคิดว่าเป็นโทษ แต่พอไฟไหม้ ทุกคนก็บอกว่า ไฟนี้มีอันตรายมาก แต่ว่าต้องเห็นความจริงว่า ไฟจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะน้อยหรือจะมากก็ตาม เมื่อเป็นสภาพที่ร้อนก็เป็นสภาพที่ร้อน หรือกลิ่นที่เหม็นของที่ปฏิกูลแม้ว่ามีเพียงนิดเดียว ปริมาณน้อยก็จริงแต่ว่า กลิ่นนั้นเปลี่ยนไม่ได้ กลิ่นเหม็นก็คือเหม็น เพราะฉะนั้นเมื่อมีมาก อย่างผ่านกองขยะก็จะรู้สึกว่ากลิ่นรุนแรง แต่ว่าถ้าย่อยลงมาจนกระทั่งเหลือปริมาณน้อย เราก็เปลี่ยนสภาพของสิ่งนั้นไม่ได้ นี่คือความจริงที่ว่า แม้โลภะถ้านิดๆ หน่อยๆ เราไม่เห็นโทษ ทุกคนอยู่ในทุกวันนี้ ชอบโลภะมากเลย แต่ว่าไม่ชอบชื่อ ถ้ามีใครบอกว่า คนนี้มีโลภะมาก จะไม่ชอบเลย คล้ายๆ กับว่าเป็นการดูถูกว่า เป็นคนโลภโมโทสัน แต่ความจริงแล้วเขาพูดความจริง แต่เราไม่รู้เองว่า แท้ที่จริงแล้วทุกคนมีโลภะ แต่ถ้าเป็นโลภะที่เป็นปกติ ปกติจนไม่รู้สึกตัว ท่านเรียกว่า สมโลภะ หมายความว่า เป็นปกติ เกิดมานี้มีโลภะเป็นปกติ ตั้งแต่ลืมตาตื่น แม้แต่จะหวีผม แม้แต่จะใช้สบู่ในห้องน้ำก็จะต้องเลือกที่พอใจ แม้แต่อาหารบนโต๊ะตอนเช้า ก็ต้องเป็นอาหารที่ชอบ ไม่ว่าจะเช้า สาย บ่าย เย็น จะทำอะไรทุกอย่าง ก็เป็นไปด้วยความต้องการทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นให้เรารู้ความจริงว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมคือความจริง ให้เราเกิดปัญญา รู้จักตัวเรา แล้วก็จะรู้ได้ว่า ถ้าตราบใดที่ยังมีการยึดถือ ยังมีความติดข้อง เรื่องที่จะไปดับทุกข์ดับกิเลสนั้นเป็นอันว่าไม่มีทางเลยจนกว่าจะเห็นความเป็นอนัตตาว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นธรรม คือเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ว่าไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงธาตุหรือธรรมชาติหรือสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ยังไม่ถึงขั้นประจักษ์การเกิดดับ ลองย่อยตัวของเราออก ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีอากาศธาตุ มีช่องว่างแทรกคั่นอย่างละเอียดยิบ พร้อมที่จะตัดชิ้นส่วนชิ้นไหนออกได้หมด เอาไปแตกย่อย สับให้ละเอียดยังไงจนเป็นปรมาณูก็ได้ แม้แต่โต๊ะที่เห็นว่าแข็งแรง จับดูก็แข็ง หรือว่า ถ้าจะเป็นเหล็กหรือว่าจะเป็นวัตถุที่เป็นรูป เราก็คิดว่า ไม่มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ แต่ว่าตามความจริงแล้วมีอากาศธาตุคือช่องว่าง รูปที่ว่างคั่นแทรกอยู่ แตกทำลายได้ทุกอย่าง ไม่ว่าสิ่งที่เราเห็นว่า แข็งแรงมั่นคงสักเท่าไหร่ก็สามารถที่จะแตกย่อยได้ เพราะฉะนั้นรูปที่ว่า เป็นของเรา ลองพิจารณาดูแต่ละส่วนจริงๆ ถ้าสามารถที่จะแตกย่อย และตามความจริงของผู้ที่ตรัสรู้แล้ว ตรัสรู้ว่า กำลังแตกย่อยคือเกิดดับ รูปร่างกาย กำลังเกิดดับอยู่ทุกส่วน ทุกกลุ่ม เพราะว่า เมื่อย่อยออกไปแล้ว ส่วนที่เล็กที่สุดก็ไม่เที่ยงคือ เกิดขึ้น และดับไป ถ้าตามทางวิชาการแพทย์ก็คงจะไม่เป็นที่สงสัยว่า มีเซลล์อะไรที่เกิดดับ แล้วก็อาจจะมีอายุถึงเท่านั้นเท่านี้วัน แต่ว่าตามพุทธศาสนาแล้วรูปเกิดดับเร็วมาก แม้แต่ขณะที่เรากำลังนั่งอยู่ เราจะค่อยๆ มีรูปซึ่งทยอยกันเกิดดับ และก็บางรูปซึ่งทำให้เกิดโรคต่างๆ ก็มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้นตามอุณหภูมิคือ ความเย็นความร้อนในร่างกาย หรือว่าบางทีรูปนั้นก็เกิดจากอาหาร ก็ทำให้มีการที่เป็นโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า สิ่งซึ่งเรายึดถือว่าเป็นของเรา ถ้าจะมองในมุมที่กระจ่างขึ้นมาอีกนิดก็เหมือนกับ กองของฝุ่นที่ละเอียดยิบ ซึ่งมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดติดกัน อย่างตากับหู จริงๆ แล้วก็ห่างกันพอสมควรใช่ไหม และเป็นรูปซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ด้วย และมีกรรมที่ทำให้เกิดจักขุปสาทที่สามารถรับกระทบกับสีที่กำลังปรากฏทางตา นี่เป็นรูปพิเศษรูปหนึ่งซึ่งไม่มีใครทำให้เกิดได้ นอกจากกรรม เพราะเหตุว่า บางคนก็มีตาดี บางคนก็ตาบอด และสำหรับหูที่เรากำลังได้ยินในขณะนี้ให้ทราบว่า ก็เป็นเพียงรูป ซึ่งสามารถกระทบเสียง ซึ่งต้องเป็นกรรมอีกนั่นแหละ ที่ทำให้รูปนี้เกิด และรูปนี้เราไม่มีทางที่จะมองเห็นเลย ไม่มีใครเห็นจักขุปสาท ไม่มีใครเห็นโสตปสาท เพราะว่าสิ่งที่มองเห็นคือสีสันวรรณะต่างๆ ซึ่งเป็นรูปอีกชนิดหนึ่ง นี่แสดงให้เห็นว่า ที่ตัวของเรา เรายังไม่รู้เลยว่า มีรูปกี่ชนิด และรูปอะไรบ้าง และรูปแต่ละกลุ่มแต่ละประเภทนั้นเกิดขึ้นเพราะกรรม หรือเกิดขึ้นเพราะจิต หรือเกิดขึ้นเพราะอุตุ หรือเกิดขึ้นเพราะอาหาร เต็มไปด้วยความไม่รู้ แม้แต่ในเรื่องรูป แล้วก็มายึดถือว่า นี่คือเรา นี่คือตัวตน

    ถ้าได้ฟังพระธรรมมากขึ้น ก็จะเห็นธรรมแต่ละส่วน ละเอียดขึ้นจนกระทั่ง แม้ขั้นการฟังก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ไม่มีตัวตน แต่ดับกิเลสไม่ได้ เพราะเหตุว่า เป็นเพียงปัญญาขั้นฟัง ยังไม่ใช่ขั้นที่ประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้นต้องมีปัญญาอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่จะอบรมที่ใช้คำว่า ภาวนา หรือใช้คำว่า ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจคำว่า ปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนาจริงๆ แล้วไม่ใช่ไปนั่งหลับตาแล้วไม่รู้ความจริง ที่กำลังเห็นทางตา ที่กำลังได้ยินทางหู ที่กำลังเป็นสุขเป็นทุกข์ทางใจ ถ้าเป็นธรรมที่มีจริงแล้ว ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงต้องมีความรู้ที่ค่อยๆ ชัดขึ้น เพิ่มขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏ แล้วจะรู้จักตัวเอง แล้วก็จะรู้จักชีวิต แล้วก็จะรู้จักโลก เพราะเหตุว่า ถ้าเราจะถามกันเองก่อนศึกษาธรรมว่า โลกคืออะไร คำตอบก็อาจจะไม่ชัดเจนเลย แล้วก็ตอบกันมาคนละแบบสองแบบ บางคนก็บอกว่า โลกก็คือก้อนกลมๆ ที่เรากำลังยืนอยู่เดี๋ยวนี้แหละเป็นโลก ตอบอย่างนั้นก็ได้ใช่ไหม แต่ความจริงแล้วในพระพุทธศาสนามี โอกาสโลก มีสังขารโลก มีสัตวโลก นี้แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้ที่รู้แจ้งโลกจริงๆ ว่า โลกแท้ๆ หมายความถึงอะไร ภาษาไทยเราใช้คำในภาษาบาลี แต่ว่า ไม่ได้เข้าใจความหมาย ตามคำที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอย่างคำว่า โลก ภาษาบาลี โลกะ หมายความถึงสิ่งซึ่งเกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นโลก โลกก้อนโตที่เราคิดว่า เรากำลังอยู่ในโลกหรือกำลังยืนอยู่บนโลก ก็ไม่ต่างอะไรกับผงดินก้อนโตใหญ่ เพราะเหตุว่า เมื่อแตกย่อยละเอียด เป็นกลุ่มเล็กที่สุดที่มีอากาศธาตุแทรกคั่น ก็ไม่ต่างกับผงธุลี เหมือนกันไม่ว่าจะเป็นที่ตัวหรือจะเป็นที่โต๊ะ ที่เก้าอี้ ที่โลก ที่อะไร ถ้าเป็นรูปแล้ว ก็ต้องเป็นสภาพที่สามารถแตกย่อยทำลาย จนเป็นส่วนที่ละเอียดที่สุด เล็กที่สุด และส่วนนั้นก็มีเหตุที่จะให้เกิดขึ้น และเมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับไป เพราะฉะนั้นคำจำกัดความของโลกที่แน่นอนที่สุดคือ สิ่งที่เกิดดับ เราต้องค่อยๆ เปลี่ยนความเข้าใจจากเดิมของเรา มาสู่สภาพธรรมที่มีจริงๆ และเมื่อเป็นการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ธรรมหรือคำใดที่ตรัส คำนั้นจะไม่เป็นสองคือ จะไม่เปลี่ยนหรือจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เช่น โลกคือสภาพธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้น มีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกับโลกหรือเหนือโลกคือ โลกุตตระ ได้แก่ พระนิพพาน ซึ่งเวลานี้ไม่ได้ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย เพราะฉะนั้นมักจะได้ยินเสมอคือ นิพพาน แล้วก็บางคนพอได้ยินปุ๊บก็อยากไป เหมือนกับสถานที่สักแห่งหนึ่งซึ่งน่าจะไปเหลือเกิน แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ตราบใดที่ยังไม่รู้จักหรือยังไม่เข้าใจคำนี้ด้วยความหมายอันแท้จริง อย่าอยาก เพราะเหตุว่า ขณะนั้นจะเป็นอกุศล เป็นความติดข้อง เป็นความต้องการ ไม่ใช่เป็นความรู้จริงๆ ที่เห็นสภาพธรรมที่ต่างกันว่า สิ่งใดที่เกิด และดับไป ไม่มีใครไปบังคับบัญชายับยั้งได้ และสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ของเราด้วย เพราะฉะนั้นจะไปติดข้องยึดมั่นในสิ่งนั้นทำไม ในเมื่อถึงแม้ว่าเราจะไปติดข้องสักเท่าไหร่ ก็ไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นก็จะต้องมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเปรียบเทียบเห็นความต่างกัน เหมือนสีขาวกับสีดำ หรือความร้อนกับความเย็น คือ โลกเป็นสภาพที่เกิดดับ ส่วนสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเหนือโลกนั้นเป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิด เพราะฉะนั้นจึงไม่ดับ และไม่เป็นทุกข์ กว่าจะเข้าใจพระธรรมได้ก็จะเห็นได้ว่า ต้องฟังจริงๆ ต้องค่อยๆ เข้าใจขึ้น วันนี้อาจจะยังรู้สึกว่า ยังไม่ค่อยเข้าใจมาก แต่ก็ยังเห็นว่า พระพุทธศาสนาคือคำสอนเรื่องสิ่งที่มีจริง ให้เข้าใจโดยละเอียด โดยแจ่มแจ้ง ไม่ใช่เพียงคิดๆ เอา หรือว่า นิดๆ หน่อยๆ และก็พยายามจะไปดับกิเลส หรือไปพยายามที่จะให้เกิดความสงบสบาย แต่ว่าไม่รู้ความจริงของธรรม นั่นก็ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ตอนนี้ก็ขอให้เป็นการสนทนา ถ้ามีข้อสงสัยหรือมีเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับที่ได้ยินได้ฟังเพราะว่า เรื่องของธรรมต้องฟังบ่อยๆ แล้วก็ต้องฟัง แล้วคิด และพิจารณาด้วย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้พูดมาทั้งหมด ก็จะเน้นในเรื่องของสิ่งที่มีจริง และสิ่งที่มีจริงนั้นจะต้องรู้ได้ด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น จะต้องมีการฟังให้เข้าใจว่า การอบรมที่จะให้เกิดปัญญานั้นจะต้องอาศัยธรรมอย่างอื่นประกอบกันโดยเฉพาะในเรื่องของสติ ซึ่งเวลานี้ผมเข้าใจว่า คงจะมีอีกหลายท่าน อาจจะมีข้อสงสัยในลักษณะที่ว่า ลักษณะของสติ กับลักษณะของความคิดนั้น ไม่ใช่ธรรมอันเดียวกัน แต่อยากจะขอให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยอธิบายถึงความต่างกันว่า ขณะที่มีสติเกิดขึ้น หรือขณะที่เป็นเรื่องของความคิดนั้นจะมีลักษณะอย่างไร ขอความกรุณาท่านอาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบมีใครเคยได้ยินคำว่า สติ หรือยัง มีไหม น้อยท่านใช่ไหม พอจะบอกได้ไหม ว่า สติ คืออะไร ที่ได้ยิน เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นคำไหนที่ได้ยิน ก็ควรที่จะเข้าใจคำนั้นจริงๆ อย่าคิดว่า เข้าใจแล้ว แต่หมายความว่า สามารถที่จะบอกได้ถึงลักษณะนั้น เมื่อกี้พูดถึงเรื่องโลกต่อไปนี้คงไม่มีใครสงสัยใช่ไหม ถ้าได้ยินคำว่า โลก โลกในธรรมคือสิ่งที่เกิดดับ ทุกอย่างที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นคำนี้ ถ้าจะทำพจนานุกรมในภาษาธรรมขึ้นมา เราก็จำไว้ได้เลยว่า โลกคือ ธรรมที่เกิดดับ เพราะฉะนั้นถ้าดิฉันถามว่า ที่กำลังได้ยินในขณะนี้เป็นโลกหรือเปล่า จะตอบว่าอย่างไร ต้องเป็น คือต้องตรง ความจริงคือความจริงเพราะอะไร เพราะเกิดขึ้นแล้วก็ดับหมดไป แล้วถ้าไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่นอะไรเลย ไม่ลิ้มรสที่หวาน ที่เค็ม ไม่กระทบสัมผัสสิ่งที่อ่อน ที่แข็ง ไม่คิดนึก จะมีโลกปรากฏไหม ลองคิดดู โลกนี้ก็ไม่ปรากฏเลย อย่างตอนที่หลับสนิท โลกก็ไม่ได้ปรากฏ ใช่ไหม แต่ว่าไม่เที่ยง ไม่มีใครที่หลับสนิทตลอดเวลา ต้องตื่น ใครก็ตามซึ่งเกิดมาแล้วบอกว่า ฉันจะไม่เห็น ไม่ได้ยิน พวกนี้ไม่ได้เลย เมื่อเกิดมามีปัจจัยให้เกิด ก็มีปัจจัยให้เห็น โดยที่เราไม่ทราบเลยว่า เห็นเป็นผลของกรรม ที่เราบอกว่า เกิดมารับกรรมๆ ให้ทราบว่ารับกรรมตั้งแต่เกิดคือ ขณะแรกที่เกิดจนกระทั่งถึงขณะตาย แม้ขณะที่จะตื่นหรือจะหลับ จะเห็นหรือจะได้ยิน ก็เป็นผลของกรรมทั้งสิ้น นี่แสดงให้เห็นว่า คำพูดของเราไม่ใช่คำพูดลอยๆ ถ้าจะพูดเรื่องกรรมหรือผลของกรรมก็ต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ขณะไหน ถ้าบอกว่า เกิดมารับผลของกรรม เป็นผลของกรรมก็ต้องรู้ว่า เพราะกรรมจึงเกิด ถ้าหมดกรรมก็ไม่ต้องเกิด พระอรหันต์ก็ไม่ต้องเกิด เพราะฉะนั้นการเกิดจำแนกเราให้ต่างกัน เรามีรูปร่างหน้าตาต่างกัน เกิดที่ประเทศต่างๆ กันทั่วโลก มีผิวพรรณวรรณะต่างกัน และก็ตระกูลชาติต่างกัน ญาติพี่น้องต่างกัน ต้องเข้าใจว่ากรรมทำให้เกิดต่างกัน แล้วก็ทำให้เห็น ได้ยินสิ่งต่างๆ ต่างกัน แล้วก็ไม่ว่าจะตื่นหรือจะหลับ จะเป็นหรือจะตาย ก็เป็นเพราะกรรมทั้งสิ้น ถ้ายังไม่ถึงเวลาที่จะตายทำยังไงก็ไม่ตาย เพราะว่ากรรมยังทำให้เราต้องเห็นอยู่ ถ้าเราอยากจะหลับ แต่ว่า กรรมทำให้เราต้องกระทบกับเสียงที่น่ากลัว ฟ้าร้อง หรือว่าเสียงสุนัขเห่า หรืออะไรก็ตามแต่ ก็แสดงว่า เป็นผลของกรรมที่จะต้องได้ยินอย่างนั้น จึงหลับไม่ได้ แต่ว่าเมื่อหลับไปแล้ว จะตื่นเร็วคือตื่นก็คือเห็นอีก ได้ยินอีก ก็เพราะกรรมอีก เพราะฉะนั้นให้ทราบเรื่องว่า ถ้าเราพูดถึงการรับผลของกรรม หรือเป็นผลของกรรมก็คือ ตั้งแต่เกิดจนตาย และระหว่างเกิดจนตายก็มีการเห็น การได้ยินพวกนี้ แล้วก็ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรม แต่ให้ทราบว่า หลังจากเห็นทันที เกิดชอบ ไม่ชอบ เกิดโกรธ เกิดดีใจ เกิดเสียใจ เกิดต้องการ เกิดเมตตากรุณาพวกนี้ ไม่ใช่ผลของกรรม แต่เป็นกรรมใหม่ที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า เพราะฉะนั้นชีวิตของเราถ้าแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ๆ ก็คือ ขณะที่เป็นผลของกรรมส่วนหนึ่ง กับ ขณะที่เป็นกรรมที่จะให้เกิดผลข้างหน้าอีกส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นบางคนเห็น เห็นสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งไม่ชอบ โกรธ อีกคนหนึ่งมีเมตตา เป็นไปได้ไหม นี่แสดงให้เห็นว่า กรรมทำให้เห็นเหมือนกัน แต่จิตที่สะสมมาต่างกันคือ คนหนึ่งเห็นแล้วก็โกรธ ไม่ชอบกิริยาอาการอย่างนั้น แต่อีกคนหนึ่งเห็นแล้วก็มีเมตตา มีความกรุณาว่า เป็นเรื่องที่คนที่กำลังโกรธก็แสดงกิริยาอาการอย่างนั้นหรือว่า คนที่ไม่รู้ธรรมก็คิดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้น เห็นผิดเป็นชอบก็ได้ อะไรอย่างนี้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงว่า หลังจากที่เป็นผลของกรรมคือ เห็น แล้วต่อจากนั้น ไม่ใช่เรื่องของผลของกรรมแล้ว เป็นเรื่องของกรรมใหม่ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า ก็เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าจะพูดถึงสติ หมายความถึงสภาพธรรมที่ดีงาม ทุกอย่างที่พูดหรือได้ยิน ขอให้เข้าใจจริงๆ อย่าผ่านไปง่ายๆ ภาษาไทยเราก็ใช้สติผิดอีกเหมือนกัน เวลาไปที่โรงเรียน ครูประจำชั้นก็รายงานว่า คนนี้สติปัญญาอ่อน คนนี้สติปัญญาปานกลาง คนนั้นสติปัญญาดีมาก นี่คือการใช้ภาษาบาลี แต่ว่าไม่เข้าใจว่า สติไม่ใช่ปัญญา และสติจริงๆ คืออะไร แต่สติในทางพุทธศาสนาแล้ว ต้องหมายความถึงสภาพที่ดีงาม


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    26 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ