ปกิณณกธรรม ตอนที่ 31


    ตอนที่ ๓๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ใหญ่แล้วก็มีเด็กลูกหลานมาขอพร นี่เป็นโอกาสเลยว่า ถ้าต้องการพรอะไรก็ต้องทำความดีให้สมกับที่จะได้สิ่งนั้น มิฉะนั้นแล้วไม่มีโอกาสจะได้ ขอความสุขก็ต้องเป็นผลของความดี ขอลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ต้องเป็นผลของกรรมดี เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีกรรมดีแล้วไม่มีทางที่จะได้อะไรเลย

    ผู้ฟัง เวลาที่จะพูดให้กับผู้ที่เขามาขอพร จะใช้คำพูดอย่างไรจึงจะทำให้คนที่เขาฟังได้เกิดความเข้าใจ เพราะบางคนอาจจะไม่ต้องการเหตุผลมาก เพียงแต่ว่าได้ฟังผู้ใหญ่ที่เคารพ จะพูดอย่างไรดี

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องบอกให้เขาทราบว่า พรคือสิ่งประเสริฐ คือคุณความดี เพราะฉะนั้นเมื่อต้องการความดียังไงก็ต้องทำความดีตามที่ต้องการ พรคือความดี เป็นสิ่งประเสริฐ สิ่งประเสริฐคือความดี เพราะฉะนั้น มาขอพรก็คือทำทุกอย่างที่ดี บอกไปเลย จารไนให้ทราบว่า ความดีมีอะไรบ้าง จะต้องทำอย่างนี้ อย่างนี้ จึงจะเป็นพร ขอใครก็ขอไม่ได้ นอกจากต้องทำเอง และคนที่จะไปขอ ต่อไปนี้จะไปขอไหม

    ผู้ฟัง ถูกขอให้เป็นผู้ให้พร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ถูกขอแล้วจะไปขอไหม

    ผู้ฟัง ไม่ขอ

    ท่านอาจารย์ ไม่ขอแล้วใช่ไหม นอกจากทำกรรมดี บางคนก็ไปขอไม่ใช่กับมารดาบิดา มีใครที่จะให้ได้ ขอหมด ต้นไม้บ้าง อะไรบ้าง ที่ไหนที่ไหนก็ตามแต่ คิดว่าได้แล้วไปขอทั้งนั้น แต่ให้ทราบว่า ไม่มีเหตุผลเลย แทนที่จะขอ ทำความดีทันที แต่วิธีนี้อาจจะไม่อยากได้ คือไม่อยากจะทำความดีแต่อยากจะได้ผลของความดี ซึ่งก็ไม่เป็นเหตุเป็นผล

    ผู้ฟัง อยากจะถามท่านอาจารย์เรื่อง การอุทิศส่วนกุศล กับ การแผ่เมตตานี้เหมือนกันไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เราอุทิศส่วนกุศล ขณะนั้นจิตเป็นกุศล จึงจะอุทิศได้ ถ้าวันนั้นเกิดขี้เกียจ หรือว่าเกิดไม่อยากจะอุทิศ ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศล เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่ากุศลมีหลายอย่าง ทานการให้ ก็เป็นกุศล เมื่อให้แล้วอุทิศ ก็เป็นกุศล หรือว่าขณะที่คนอื่นให้ทานแล้วเรายินดีอนุโมทนาด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่สำหรับเมตตานั้น ต้องเข้าใจความหมาย หรือลักษณะของคำที่เราใช้ด้วย เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ คำว่าเมตตา มาจากคำว่าา มิตฺต ภาษาไทยเราใช้คำว่า มิตร คือความเป็นเพื่อน ตรงกันข้ามกับศัตรู เวลาที่เราพูดถึงเมตตาหมายความว่า ขณะนั้น เรามีความเป็นมิตร ความเป็นมิตรคือมีความหวังดี พร้อมที่จะเกื้อกูล ทำประโยชน์ให้กับบุคคลที่เป็นมิตร เพราะฉะนั้น มิตรจริงๆ จะช่วยเหลือทุกโอกาส จะมีความหวังดี และพร้อมที่จะเกื้อกูล ไม่มีการประทุษร้าย ไม่มีการแข่งดี แม้แต่แข่งดีก็ไม่มี จึงจะชื่อว่าเป็นมิตร ไม่มีการกล่าวร้าย ไม่มีการลำเลิก ทุกๆ อย่างที่ไม่ดี เราจะไม่ทำกับมิตรเลย เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปนั่งแผ่เมตตา ก็ควรที่จะรู้ลักษณะของจิตใจของเราว่า เราเป็นมิตรหรือไม่ใช่มิตรกับใคร เวลาที่เราเห็นคนตามท้องถนนหรือว่าในรถประจำทาง หน้าตาแปลกๆ อาจจะรู้สึกกลัว ขณะนั้นไม่ใช่มิตร แผ่เมตตาไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่เราอาจจะไปนั่งในห้องแล้วเราท่องใหญ่เลย ทั่วโลก ทั่วจักรวาล ที่ไหนๆ หมด ขอให้จงมีความสุขเถิดหรืออะไรอย่างนี้ นั่นเป็นเรื่องคำพูดแต่เรื่องไม่เข้าใจสภาพจิตว่า เราเป็นมิตรกับใครได้แค่ไหน เริ่มจากในห้องนี้ก็ได้ มองไปให้ทั่วเลย มีความเป็นมิตรจริงๆ กับทุกคน สนิทใจ พร้อมที่จะช่วยเหลือ มากน้อยแค่ไหน นี้คือเมตตา ยังสงสัยในเรื่องเมตตาไหม ความเป็นมิตร แต่ถ้ารู้ว่าทุกคนเกิดมาก็แสนสั้น อายุก็คงจะไม่มากเกินเป็นร้อยสองร้อยปีแล้วก็เราจะโกรธ ก็เท่ากับว่าเราสะสมความโกรธไว้ในใจของเรา ในเมื่อก็จะไม่เห็นกันอีก จะไม่พบกันอีกเลย พบกันชาตินี้แล้วใครจะรู้ว่าชาติไหนจะพบกันอีก ถ้าพบกันอีกก็คือไม่ใช่คนนี้แล้วใช่ไหม และก็ไม่ใช่คนนั้นแล้ว ก็เหมือนกับที่ชาติก่อน จะเคยพบกันหรือไม่เคยพบกัน จะเคยโกรธกัน หรือจะเคยรักกัน จะเคยชังกันยังไงก็ไม่รู้ทั้งนั้น แล้วทำไมจะสะสมความโกรธของเราไว้ติดตามไปในชาติต่อๆ ไป โดยที่ว่า คนนั้นก็ไม่มีอีกแล้ว และเราก็ไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะอยู่กันก็ไม่นาน ทำไมไม่เปลี่ยนสภาพของอกุศลหรือความเป็นศัตรู สู่ความเป็นมิตรจริงๆ ซึ่งจะมีผลอย่างมากทีเดียว สำหรับตัวเราเอง และคนอื่น และสำหรับทั่วโลก แทนที่จะไปนั่งทำสมาธิแล้วแผ่อะไรก็ไม่ทราบ แต่ว่าขณะใดที่เห็น เราเจริญเมตตาได้

    ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงเรื่องของการละกิเลส เวลาที่ฟังธรรม ส่วนเล็กๆ น้อยๆ รู้สึกว่า ไม่น่าจะเกิดความรู้สึกท้อแท้หรือหนักใจอะไร แต่พอได้ฟังเทปตอนหนึ่งของท่านอาจารย์เมื่อพูดถึงว่า แม้จะมีอกุศลเจตสิก ๑๔ ประเภท แต่จัดเป็นกิเลสถึง ๙ กองใหญ่ๆ แล้วเวลานี้ แม้แต่ชื่อยังจำไม่ค่อยได้ ตั้งแต่กองที่ ๑ คือ อาสาวะ ซึ่งเป็นสิ่งที่หมักดองอยู่ในจิตตลอดเวลา การที่จะรู้ทั่ว (ยังไม่ต้องไปคิดละ) ก็ยังไม่ค่อยจะรู้เลย ก็เลยคิดว่า ถ้าหากว่า ความรู้ที่เราได้ยินได้ฟังจากอาจารย์บรรยายมาทั้งหมดคงยังไม่เพียงพอจะทำให้เกิดสติปัญญาได้เลย เพราะฉะนั้น อาจารย์จะมีคำอนุเคราะห์อย่างไรบ้างไหมสำหรับการที่จะให้เป็นผู้ที่มั่นคงในการที่จะเห็นว่ากิเลสควรเป็นสิ่งที่ละ และกุศลเป็นสิ่งที่ควรเจริญ จนกว่าจะสิ้นชีวิตนี้

    ท่านอาจารย์ อนุโมทนาอยู่ตอนหนึ่งที่รู้ว่ากิเลสมีเยอะ มิฉะนั้นแล้วทุกคนก็จะหลงตัวคิดว่าดีแล้ว ไม่มีทางเลยซึ่งปุถุชนผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลสจะเป็นผู้ที่ดีแล้ว มีอีกมากมายซึ่งทุกวันนี้ไม่รู้เลยว่ากิเลสเพิ่มๆ เข้าไปเท่าไหร่ ดูเหมือนไม่น่ากลัวเลย เพราะดูทุกคนก็เรียบร้อย วันนี้ก็ไม่ได้กระทำกรรมอะไรทางวาจา ไม่ประทุษร้ายใช้วจีทุจริตคำหยาบคายอะไรที่ไหน ดูเหมือนกับว่าดี แต่จริงๆ แล้ว ถ้ารู้ว่า ความละเอียดของธรรมคือ ขณะที่เห็น เพียงเห็น ยังไม่ทันคิด ยังไม่ทันรู้เลยว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ขณะนั้น มีปัจจัยให้เกิดโลภะ โทสะ โมหะแล้ว หรือสำหรับผู้ที่เจริญกุศลมาก มีปัจจัยให้กุศลจิตเกิดแล้ว แต่ผู้นั้นต้องเป็นผู้ตรง ให้เห็นว่าแล้วจะแค่ไหน ขณะนี้เรากำลังนั่ง แล้วก็เห็นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ แต่ก่อนที่จะเห็นว่าเป็นใคร เพียงแค่เห็นนิดเดียวยังไม่ทันจะรู้ว่าเป็นใคร มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดอกุศล และกุศลแล้ว และปกติก็ต้องเป็นอกุศล ขณะที่กำลังนั่ง หรือนอนยืนเดินอยู่ที่ไหน ซึ่งไม่ใช่ขณะที่ฟังธรรม ไม่ใช่ขณะที่เข้าใจธรรม จะมีอกุศลวันหนึ่งๆ มากสักเท่าไร เพราะฉะนั้นต้องอาศัยการฟังพระธรรมให้เกิดความเข้าใจของตนเอง ไม่ใช่ไปอนุเคราะห์กันด้วยเรื่องอื่น แต่พระธรรมอนุเคราะห์ให้ปัญญาของผู้ฟังเกิด ต้องเป็นความเข้าใจของตัวเอง

    เพราะฉะนั้นผลของการฟังธรรมแต่ละครั้ง ให้ทราบว่า คือความเข้าใจ ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจเสียเวลามากๆ เลย ไม่ว่าจะฟังอะไรที่ไหน แต่ถ้าฟังแล้วเข้าใจสักนิดนึง นั่นคือประโยชน์แล้ว และยิ่งฟังบ่อยๆ ความเข้าใจทีละนิดทีละหน่อยก็เพิ่มขึ้นอีก ทำให้มีความเข้าใจถูกต้องตรงขึ้น นั่นคือประโยชน์ของการฟังธรรม ไม่ใช่ว่าไปอนุเคราะห์กันเรื่องอื่น แต่ให้เข้าใจขึ้นทีละเล็กที่ละน้อย

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องกิเลส ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเป็นกิเลสที่เกี่ยวกับความยินดีพอใจติดข้อง รู้สึกไม่เห็นว่าเป็นโทษเลย กลับมีความพอใจแล้วก็สบายใจด้วยซ้ำไป แต่สิ่งนั้นก็เป็นกิเลสแล้ว เราจะรู้สึกเดือดร้อนก็ต่อเมื่อเป็นลักษณะของโทสะอย่างเดียว โมหะนี่ยิ่งสบายมากเลย เพราะว่าเห็นแล้วไม่รู้นี้ รู้สึกก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร แต่ถ้าเห็นแล้วเกิดความชัง (ความชอบไม่เดือดร้อน) แต่ถ้าความชังแล้วเดือดร้อน อันนี้ก็เลยรู้สึกว่า คงต้องมีคำแนะนำที่ท่านอาจารย์พอจะพูดให้เป็นอนุสติได้มีการระลึกได้บ่อยๆ บ้าง

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ละโลภะได้หมดสิ้นเลยคือพระอรหันห์ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่เป็น ก็ยังมี (โลภะ) แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า “โลภะไม่ใช่เรา” นี่คือขั้นต้น

    ผู้ฟัง ถึงแม้จะมี จะเกิด ก็ไม่เดือดร้อน

    ท่านอาจารย์ คำว่าเดือดร้อนของคุณสุกล ไม่เดือดร้อนตอนที่กำลังเป็นโลภะ เพราะเหตุว่ากำลังชอบ กำลังเพลิน สบาย แต่จะต้องมีทุกข์ติดตามมาไม่จบสิ้น เหมือนคนที่จะรักษาโรค จะต้องรักษาให้ตรงสมุฏฐาน ต้องหาเหตุว่า ทุกข์เกิดจากอะไร คนที่ไม่รู้เหตุของทุกข์ ก็พ้นทุกข์ไม่ได้ และทุกข์เกิดจากโลภะด้วย ถ้าไม่มีโลภะได้ แสนสบาย สบายจริงๆ สบายทุกอย่างทุกประการ มีชีวิตอยู่เหมือนกับคนที่รอเวลางานเลิก คือจากโลกนี้ไปเท่านั้น เพราะว่าไม่มีตัวตน ไม่ติด ไม่ยินดีในสภาพธรรมด้วยความเห็นผิดว่า”เป็นเรา” นี่ยังเป็นเพียงพระโสดาบัน แต่ที่จะดับโลภะได้หมดสิ้นต้องเป็นพระอรหันห์ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครจะเห็นง่ายหมด แต่ว่าเริ่มเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย ความเข้าใจถูกคือปัญญา จะละความเข้าใจผิด จะละความเห็นผิดไปเรื่อยๆ จากเห็นว่าโลภะไม่เป็นโทษ จนกระทั่งเห็นโทษของโลภะว่าเป็นสมุทัย เป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ทั้งปวง

    ผู้ฟัง พูดถึงความรู้อย่างปกติธรรมดา นี่ก็ยังเข้าไม่ถึงความหมายที่ท่านอาจารย์พูดมาว่า โลภะเป็นสมุทัยหรือเป็นเหตุให้เกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเป็นการข้ามขั้นตอน เราต้องรู้ตามลำดับ อย่างอริยสัจจ์ ๔ ไม่ได้เริ่มต้นโลภะ แต่เริ่มต้นด้วยทุกขอริยสัจจ์ ซึ่งหมายความว่า ความจริงแท้คือความทุกข์ พูดอย่างนี้ทุกคนก็ไม่เห็น เพราะเหตุว่า ทุกข์ที่นี่หมายความถึง การเกิดขึ้น และดับไปอย่างรวดเร็วของทุกสิ่งทุกอย่าง สิ่งใดก็ตามซึ่งเกิด และตั้งอยู่เพียงนิดเดียว ชั่วนิดเดียวเองจะถือว่าสิ่งนั้นเป็นสุขได้หรือ แต่เมื่อไม่ประจักษ์ ก็ยังคิดว่าเป็นสุข ไม่เดือดร้อนเลย ทุกคนขณะนี้เพียงฟัง จิต เจตสิก รูป เกิดแล้วดับอย่างรวดเร็ว ก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ประจักษ์

    ผู้ฟัง พูดถึงทุกขเวทนานี้ จะจัดเข้าอยู่ในทุกขอริยสัจจ์

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดซึ่งเกิดขึ้น (แล้วดับไป เป็น ทุกขอริยสัจจ์) สภาพธรรมได้ที่เกิดขึ้นจะตั้งอยู่เพียงชั่วขณะสั้นๆ แล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง เรื่องนี้คงจะต้องเป็นความรู้ขั้นทุกเวทนาไปก่อน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ (ต้องเป็น) สติปัฐาน ทุกขเวทนาก็เป็นทุกข์ที่ทุกคนรู้จัก ไม่ต้องศึกษาพระพุทธศาสนาก็รู้ว่าเป็นทุกข์

    ผู้ฟัง ทุกขอริยสัจจ์ที่ว่าเป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วดับอย่างรวดเร็ว อันนี้ต้องเป็นเรื่องของความรู้ที่สูงมาก

    ท่านอาจารย์ ต้องประจักษ์แจ้ง จึงจะเป็นพระอริยะบุคคลได้ จากปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลสเป็นผู้ที่อบรมปัญญา จนรู้ความจริง จึงชื่อว่าอริยสัจจ์ ความจริงของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล ถ้าไม่ใช่พระอริยะบุคคลไม่รู้อย่างนี้ เพียงแต่ฟัง ฟังแล้วก็สบายๆ เฉย เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ แต่ว่าทุกคนก็ยังนั่งอยู่เป็นปกติดี นี้แสดงให้เห็นว่า ถ้ามองจริงๆ แล้วอวิชชาแค่ไหน ไม่รู้เลย แล้วก็ยังพอใจด้วย นอกจากไม่รู้ แล้วยังพอใจ มีทั้งสมุทัยด้วย

    ผู้ฟัง ทีนี้เมื่อพูดถึงความเห็นผิด มีกล่าวไว้เป็น ๒ ลักษณะ คือลักษณะหนึ่งที่กล่าวว่า เป็นสัสสตทิฏฐิ เห็นว่าเที่ยง และอีกลักษณะหนึ่งที่ว่าเป็น อุจเฉททิฏฐิ ที่เรียกว่าสูญ เมื่อพูดถึงความเห็นผิดทั้ง ๒ อย่างนี้ ไม่ทราบว่าอย่างไหนจะมีโทษมากกว่ากัน

    ท่านอาจารย์ ดิฉันไม่เคยจะไปคิดเปรียบคิดวัดอะไรเลย เพียงความเห็นผิด นั่นก็เป็นสิ่งที่เป็นโทษแล้ว ไม่ต้องไปเสียเวลาชั่ง ตวง อกุศลก็คืออกุศล แล้วก็มีหลายระดับ แม้แต่ความเห็นผิดแต่ละขั้น ก็ต้องมีระดับขั้นต่างๆ ด้วย

    ผู้ฟัง ปกติแล้ว เวลาที่เราพูดถึงความเห็นผิด เดี๋ยวนี้ก็เห็นผิดกันอยู่ตลอดเวลา ถ้าสติไม่เกิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็เห็นโทษของความเห็นผิด อันนี้ซึ่งจะนำมาซึ่งความเห็นผิดอีกเยอะแยะ

    ผู้ฟัง คือทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จริง ก็ต้องยอมรับว่าเป็นโทษที่ว่ายังไม่เห็นตามความเป็นจริง อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิด ไม่ใช่ความเห็นถูก ความเห็นผิดต้องเป็นอกุศล ความเห็นถูกเป็นกุศล

    ผู้ฟัง อย่างเวลานี้ที่ได้รับฟังมาบอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรม แต่เดี๋ยวนี้ผมเข้าใจว่า ทุกท่านเห็นปุ๊บก็คงเป็นคนเลย ถือว่าเป็นความเห็นผิดใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ายึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่เพียงสัญญา

    ผู้ฟัง เห็นเป็นหญิงเป็นชาย

    ท่านอาจารย์ มี ๓ อย่าง ความเห็นที่คลาดเคลื่อน ด้วยจิต ด้วยสัญญา ด้วยทิฏฐิ อันนี้เราก็จะก้าวไปลึก ซึ่งก็คงจะต้องอาศัยการฟัง ค่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ ค่อยๆ คิด ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะนี่เป็นเรื่องของจิต เจตสิก เพราะว่าความเห็นผิดด้วยทิฏฐินั้นด้วยเจตสิกประเภทหนึ่ง ด้วยสัญญาความจำก็เป็นเจตสิกประเภทหนึ่ง ด้วยจิตก็เป็นจิตปรมัตถ์

    พระพุทธศาสนาสอนให้มั่นคงในเรื่องของกรรมมาก เป็นปัญญาที่แน่นอนที่เป็นกัมมสกตาญาณ หมายความว่าเป็นผู้ที่รู้เรื่องกรรม และมีความเชื่อในเรื่องของกรรม และเราก็จะไม่ต้องไปโทษอย่างอื่นเลย และไม่ต้องไปกลัวภัยพิบัติใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าเป็นผู้ที่มีกรรมดี

    ผู้ฟัง เกี่ยวกับเรื่องการเห็นผิด ก็ต้องศึกษาให้เกิดปัญญาใช่ไหม ถึงจะลดการเห็นผิดได้เพราะบางคน บางครั้งเราก็เห็นว่าเขาเห็นผิด การจะลดการเห็นผิดได้จะต้องจากปัญญาใช่หรือไม่ หรือว่าจากกรรม

    ท่านอาจารย์ จะต้องเป็นเรื่องปัญญา ปัญญาคือความเข้าใจถูก ความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ไม่ใช่ตามความคิดเอาเองของแต่ละคน แต่ต้องตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ อย่างเราคิดว่าเที่ยง แต่ธรรมไม่เที่ยง ก็แปลว่า เห็นผิด เข้าใจผิด

    ผู้ฟัง คำที่ว่า แล้วแต่โอกาสของกรรม ถ้าสมมติว่าเราระลึกได้ตอนนั้น ก็ไม่ต้องไปเสียเวลาไปสร้างความดีตอนนี้อะไรเลย หมายความว่า เหมือนคล้ายๆ ว่าสามารถจะทำได้เมื่อตอนใกล้จะตาย มีเหตุผลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เหมือนกับเดี๋ยวนี้ ไม่รู้ว่าใครจะตายเดี๋ยวนี้ เป็นไปได้ไหม การตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร ขณะไหน ย่อมได้ พูดคำเดียวก็ตายไปก็ได้

    ผู้ฟัง แต่ว่าปกติแล้วที่เรามักจะเห็นคนตายก็คือเป็นคนที่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยใช่ไหม แล้วเราไปให้กำลังใจกับคนที่เค้ากำลังไม่มีทางจะเลือก แล้วก็ไปพูดที่ข้างหูว่า ให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้านะ พระธรรมนะ พระสงฆ์นะ อะไรทำนองนั้น แล้วถ้าสมมติมันเป็นสิ่งที่ทำได้ในขณะนั้น ก็แสดงว่ามันก็เหมือนทำขึ้นมาได้อย่างนั้นใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เหมือนกับเวลานี่ไง ที่เปรียบเทียบให้เห็นว่า ใครจะตายเดี๋ยวนี้ก็ได้ จะตายได้ไหม อาจจะมีใครตายก็ได้ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ เป็นไปได้ไหมหรือเป็นไปไม่ได้ คุณสุกลสามารถที่จะรู้ความตายของใครหรือ ว่าเดี๋ยวนี้จะตายไม่ได้ หรือแน่ใจจริงๆ

    ผู้ฟัง ยังไม่กล้าตอบ

    ท่านอาจารย์ เราพูดถึงโอกาสว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ใครจะตายเดี๋ยวนี้ก็ได้ ถ้ากรรมของคนนั้นถึงเวลาที่จะทำให้เขาตาย เป็นเรื่องของกรรมที่เราจะมีชีวิตอยู่หรือเราจะตาย ถ้ากรรมยังให้ผลอยู่ไม่ให้ตาย เราก็จะทำยังไงก็ตายไม่ได้ แต่เวลาที่กรรมสิ้นสุด (ที่ใช้คำว่า ถึงแก่กรรมกรรม) ที่จะให้เป็นบุคคลนี้ต่อไป จุติจิตก็เกิด ใครจะไปบอกให้จุติจิตเกิดเดี๋ยวนั่นเดี๋ยวนี่ก็ไม่ได้ เป็นเรื่องของกรรม เพราะฉะนั้นถ้าจะมีการให้ผลของกรรมที่จะทำให้สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้เดี๋ยวนี้ เป็นไปได้ไหม ในเมื่อบุคคลอื่นก็ทำไม่ได้ นอกจากกรรมเป็นไปได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถึงเราจะไปบอกคนที่กำลังป่วยหนัก เขาจะตายหรือไม่ตายก็ไม่รู้ เขาอาจจะหายก็ได้ หรือวันนี้ที่เรากำลังบอกเขา เขายังไม่ตาย เขาจะตายหลังจากนั้นก็ได้ใช่ไหม แต่ทุกคนก็เกื้อกูลกันด้วยธรรม ด้วยการพูดถึงสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ทุกโอกาส แต่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นเจ้ากรรมที่จะไปทำให้เขาเกิดกุศลจิต กุศลจิตจะเกิดหรือไม่เกิด แม้ในขณะนี้ อกุศลจิตก็ยังเกิดได้ แทรกนิดๆ หน่อยๆ เสียงดังก๊อกแก๊ก บางคนอาจจะไม่ทันรู้ตัวว่า หลังจากเสียงก๊อกแก๊ก อกุศลจิตเกิดแล้วมันไม่เหมือนเสียงอื่นใช่ไหม นี้ก็แสดงให้เห็นว่า บังคับบัญชาอะไรไม่ได้ ทุกอย่างต้องเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นการเกื้อกูลบุคคลใดก็ตาม โอกาสไหนก็ตาม นั่นก็เป็นกุศล ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะตายเมื่อไหร่ เขาจะตายกำลังฟังธรรมเดี๋ยวนี้ กลับไปบ้านป่วยหนัก พูดเท่าไหร่ก็ยังไม่ตายก็ได้ แต่เราก็เกื้อกูลทุกโอกาส เป็นการสั่งสมกรรม ซึ่งแล้วแต่ว่าจริงๆ ก่อนจะตาย กรรมนั้นจะให้ผลหรือกรรมอื่นจะให้ผล เราก็ไม่ทราบ แต่ว่าเป็นการสั่งสมกรรมดี ในขณะนี้ เรากำลังสั่งสมกรรมดี แม้ในขณะคนใกล้จะตาย เขาก็กำลังสะสมกรรมดี แต่ไม่แน่ว่ากรรมนั้นจะให้ผลหรือกรรมอื่นจะให้ผล ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เรื่องของกรรม และผลของกรรมนี้เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ซึ่งคนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องของกรรม และวิบาก

    ผู้ฟัง แล้วที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่าในเทป อุปมาเหมือนฝูงโคในคอก แล้วมีการเปิดประตูคอก ก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่าโคตัวไหนจะเป็นโคตัวแรกที่ออกจากคอกไป บางทีอาจจะมีทั้งโคแก่ โคหนุ่ม โคขี้โรคโคอะไรต่างๆ แต่พอตอนเช้าประตูคอกเปิด ตัวที่อยู่ติดประตูก็ได้ออกเป็นตัวแรก นี้เป็นคำอุปมาเรื่องอะไร

    ท่านอาจารย์ นั่นแสดงถึงกรรมใกล้จะตาย ซึ่งเมื่อกรรมนั้นให้ผล ก็แสดงอธิบายให้ฟังว่าให้ผลเหมือนอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นยังไม่ตาย สิ่งที่ไม่ควรจะให้มันผ่านไปก็คือการเจริญกุศลทุกประการ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนที่สุด โอกาสทองของทุกคนทีเดียว ขณะที่กุศลจิตเกิด เพราะวันหนึ่งๆ อกุศลเยอะ

    ผู้ฟัง พูดถึงการให้ทาน ส่วนมากมักนั้นเน้นในเรื่องของการถวายอาหารปัจจัยพระภิกษุ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า ทาน อยู่ที่ใจที่เป็นบุญเป็นกุศล ขณะใดที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เป็นจิตใจที่ดีงาม เพราะฉะนั้นเกิดขึ้นขณะใดเป็นสิ่งที่เป็นกุศลทั้งนั้น ถึงแม้ว่าไม่ให้อะไรเลย แต่เป็นมิตรกับคนอื่น ไม่เป็นศัตรูกับใคร ขณะนั้นก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้นกุศลมีถึง ๑๐ อย่าง บุญญกิริยาวัตถุ ๑๐ อย่าง ไม่ใช่ว่าเราเจาะจงว่าทานเท่านั้นที่เป็นกุศล แม้แต่การที่เรามีจิตเมตตาต่อคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศลด้วย

    ผู้ฟัง ยังติดใจคำที่ท่านอาจารย์พูดบอกว่า กรรม และวิบากนี้ไม่มีใครที่จะล่วงรู้ได้นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น คนที่เป็นปุถุชนนี้ก็ไม่สามารถที่จะล่วงรู้กรรม

    ท่านอาจารย์ คิดเองหมดเลย แต่ไม่ได้รู้จริง เพราะเหตุว่ากำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมอะไร ใครบอกได้ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า กรรม และวิบาก (ผลของกรรม) เป็นสภาพที่ปกปิด

    ผู้ฟัง สภาพเช่นนี้จึงทำให้ปุถุชนทราบได้ยากใช่ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    31 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ