ปกิณณกธรรม ตอนที่ 23


    ตอนที่ ๒๓

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลปากเกร็ดเวชการ

    พ.ศ. ๒๕๓๖


    ท่านอาจารย์ จิตลิ้มรสขณะที่กำลังรับประทานอาหาร เพลินเลย เป็นเรา แต่ความจริงทุกขณะที่รสปรากฏเพราะจิตลิ้มรสนั้น แล้วก็ทางกาย ขณะที่กระทบสัมผัส หรือมีความรู้สึกหนาว สบาย ไม่สบายกาย ขณะนั้นก็คือจิตที่กำลังรู้อารมณ์ที่กระทบ หรือถึงแม้ไม่มีอะไรมากระทบเลย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็คิด นี้คือลักษณะของจิต จิตคิดทีละคำ แล้วจิตก็ดับไปแต่ละคำ แต่ว่าเราไม่เคยประจักษ์ว่า จิตเกิดแล้วก็ดับ เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นเรื่อง นามธรรมกับรูปธรรมนี้ โดยขั้นการฟังนี่ต้องแยก จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีเรา มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม แล้วค่อยๆ เจริญปัญญา เข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ

    ผู้ฟัง ขออนุญาตเรียนถามต่อ ท่านอาจารย์ก็ได้พยายามพูดถึงเรื่องเหตุปัจจัยก็ดี เรื่องกรรมก็ดี ก็มีผู้สงสัยเกี่ยวกับเรื่องว่า ในปัจจุบันชาติก็ได้พยายามทำสิ่งที่ดี เป็นกุศลกรรม แล้วเวลาที่ผู้นั้นใกล้จะสิ้นชีวิตหรือใกล้จะตายแล้ว ก็มักจะมีคนเขาบอกว่า ให้มีการระลึกถึงผลบุญหรือว่าการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อไป ในลักษณะที่มีตัวมีตนไปทำ กับแล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัย ก็มีผู้สงสัยว่า การทำดีของคนเราที่ผ่านมาแล้ว จะไม่เป็นเหตุปัจจัยช่วยให้เราพ้นไปจากการที่ต้องไปเกิดในอบายภูมิไม่ได้หรือ หรือว่าแล้วแต่ ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นความคิด และทำให้คนเกิดความไม่มั่นใจ อันนี้ขอท่านอาจารย์ช่วยอธิบาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นคนที่เชื่อในเรื่องกรรม ก็ต้องรู้ว่ากรรมมี ๒ อย่าง คือ กุศลกรรม และ อกุศลกรรม ถ้าเป็นคนที่เชื่อเรื่องกรรม ก็ต้องเข้าใจ และกรรมมี ๒ อย่าง ไม่ใช่มีอย่างเดียว เมื่ออกุศลกรรมมีทำไปแล้วก็ให้ผล หรือ กุศลกรรมที่ทำไปแล้วก็ให้ผล แล้วแต่ว่ากรรมไหนจะให้ผลเมื่อไหร่ อย่างเราเกิดมานี้ มีใครบ้างที่ไม่เคยป่วยไข้ ขณะที่ป่วยไข้นั้น มีร่างกาย แล้วก็มีทุกข์เวทนาอาศัยรูปนั้นเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้นเราเกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยผลของกุศล แต่เราก็ยังมีกุศลกรรมในอดีต ที่ทำให้เราได้รับผล ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แล้วเวลาเราตายก็เหมือนกัน เราทุกคนก็มีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นถ้ากุศลกรรมให้ผลก่อเกิดในสุคติภูมิ ถ้าอกุศลกรรมให้ผล ก็เกิดในทุคติภูมิ ถ้าเราเป็นผู้ที่รู้เรื่องกรรม เราก็รู้ว่ามีกรรม ๒ อย่าง ทั้ง ๒ อย่างก็ให้ผลตามควร ตามเหตุ

    ผู้ฟัง กุศลกรรมที่แต่ละคนได้ทำไว้ในปัจจุบัน

    ท่านอาจารย์ และอกุศลกรรม พูดด้วย จะพูดแต่เฉพาะ กุศลกรรมอย่างเดียวไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าจะพูดถึงอกุศลกรรม ท่านอาจารย์ก็เคยเน้นอยู่เสมอว่า ถ้าไม่เป็นกรรมบถ ก็ยังไม่มีการให้ผลที่จะไปเกิดในอบาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ครบองค์ของกรรมบถ

    ผู้ฟัง ทีนี้ก็ปกติอาจจะไม่ถึงขั้นกรรมบถก็ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ถึงขั้นกรรมบถก็ให้ผลหลังจากปฏิสนธิ

    ผู้ฟัง ในปัจจุบันนี้แต่ละคนก็ได้มีโอกาสทำบุญ ทำกุศลคือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ แล้วอกุศลกรรมที่ครบองค์ พูดด้านเดียวได้ยังไง ถ้าพูดเรื่องกรรมก็ต้องพูดทั้ง ๒ ข้าง คือทางกุศลกรรม และอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง ทีนี้เวลาที่สมมติคนป่วยหนัก ใกล้สิ้นชีวิตแล้ว ก็มีญาติพี่น้องลูกหลาน มาพูดใกล้ๆ หรือว่ามาให้สติเตือนว่า ให้ระลึกถึงการที่ได้ทำกุศลต่างๆ จะมีประโยชน์หรือ มีผลจริงๆ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เราก็พูดได้ แต่ใครจะรับ ไม่ต้องตอนตาย เอาเดี๋ยวนี้เลย

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้มันยังไม่มีเหตุปัจจัยที่จะ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน จะตายขณะนี้ย่อมได้ ไม่มีใครรู้ว่า ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะตายเดี๋ยวนี้ทันทีที่ได้ยินก็ได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ ก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่มีใครไปยับยั้งได้ บางคนก็บอก ถ้าอย่างงั้น ตอนจะตายก็ทำใจดีๆ ไม่ต้องไปโกรธใคร ไม่ต้องโลภ ทำได้ยังไง ถ้าทำได้ทำเดี๋ยวนี้ ถ้าเดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ ก็หมายความว่า จะตายก็ทำไม่ได้ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว ทำไม่ได้เลย ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ดูเหมือนว่าก่อนจะตายอยากจะเป็นพระอรหันต์ ไม่ให้มีโลภ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้อะไรเลย แต่เหตุไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้น หวังก็หวังผิด หวังลมๆ แล้งๆ ไม่มีเหตุผล เมื่อไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อไม่ใช่พระอริยบุคคล แล้วหวังได้อย่างไรว่า อกุศลกรรมจะไม่ให้ผล

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์เคยพูดไว้ในเทป บอกว่า พระพุทธเจ้าแสดงว่า การที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นี้แสนยาก โอกาสที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลกนี้ก็แสนยาก เมื่อฟังทั้ง ๒ ประโยค ก็มานึกถึงชีวิตของแต่ละคนว่า เวลาที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ว่าเป็นสิ่งที่ยากแล้ว เวลาตายไป ก็อาจจะต้องไปเกิดในอบายภูมิมากกว่าที่จะกลับมาเกิดในมนุษย์ ก็เลยทำให้จิตใจ มันไม่ค่อยจะสดชื่นร่าเริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะทำยังไง ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า ไม่สดชื่นร่าเริงแล้วจะทำยังไง ก็รู้อยู่ นี้พูด แปลว่ารู้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ทำกุศล เท่านั้นเอง และจะต้องไปหวังอะไร ในเมื่อเหตุมีแล้ว ผลจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็เมื่อนั้น มานั่งคิดทำไมว่าจะให้ผลหรือเปล่า หรือว่าจะให้ตอนตายหรือเปล่า นี่เรื่องคิด แต่ด้วยความจริงก็คือว่า อะไรจะเกิดขึ้นย่อมมีเหตุ มีปัจจัย ที่เป็นอกุศลวิบาก คือผลที่ไม่ดี ทางตาหรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้การเกิดไม่ดี ก็ต้องเป็นผลของอกุศล เพราะฉะนั้นก็เริ่มเข้าใจความจริงว่า ไม่มีใครไปบังคับอะไรได้ แต่สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา เข้าใจเหตุผลให้ถูกต้อง เมื่อเข้าใจเหตุผลถูกต้องแล้วก็เป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้นก็รู้อยู่ว่า อกุศลก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก และกุศลก็เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวัน เมื่อได้ฟังคำอธิบายที่อาจารย์พูดถึงเรื่อง สังคหวัตถุแล้ว ก็คงจะเอามาเป็นการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่ดีในพระธรรมทั้งหมด แล้วแต่ขณะจิตที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นขณะใด เป็นขณะของสังคหวัตถุ หรือเป็นขณะของพรหมวิหาร หรือเป็นขณะของอนุสติ หรืออะไรก็แล้วแต่เป็นเรื่องซึ่งอบรมไป แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ก็คงจะต้องอาศัยการฟังมากๆ และฟังให้เกิดความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขาดการฟังไม่ได้เลย คำว่า สาวก หรือ สา-วะ-โก แปลว่าผู้ฟัง แล้วต้องปฏิบัติตามด้วย

    ฟังเฉยๆ ไม่พอ จะยอมรับไหมว่าต้องปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่ฟังเฉยๆ หรือว่าเพียงเข้าใจ

    ผู้ฟัง พูดถึงปฏิบัติก็คงจะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะปกติแล้ว เวลาที่หลงลืม มันก็ไม่ค่อยจะนึกถึงประโยชน์ที่จะให้กับบุคคลอื่น ถ้าพอนึกถึงก็เป็นส่วนน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นก็พิจารณาแล้วก็คือว่า หลงลืมสติมากกว่าที่จะมีสติมาก ท่านอาจารย์มีคำที่จะช่วยให้เกิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ช่วย ช่วยไม่ได้ ให้เข้าใจได้ แต่ช่วยไม่ได้ ทุกคนต้องมีความเข้าใจของตัวเอง ต้องมีปัญญาของตัวเอง เรากำลังฟัง เพื่อที่จะให้เกิดปัญญาของตนเอง

    ผู้ฟัง ตามที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องการปฏิบัติว่า การปฏิบัติคือการเข้าใจ สิ่งที่ฟังนี่แหละ หรือว่าการปฏิบัติคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เรื่องของธรรม เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าใจจริงๆ อย่าเพิ่งตามกันไปโดยไม่เข้าใจ หรือว่าอย่าคิดว่าเข้าใจแล้วทั้งที่ไม่เข้าใจเลย แม้แต่คำว่าปฏิบัติ ก็อยากจะรู้ว่าจะทำอะไร ถ้าภาษาไทยแล้วบอกว่าปฏิบัติคือ ทำ ใช่ไหม และจะปฏิบัติคือ จะทำ เพราะฉะนั้นคือจะทำอะไร ไม่ใช่ว่าเขาจะปฏิบัติ เราก็จะปฏิบัติ เขาปฏิบัติยังไงเราก็ปฏิบัติด้วย แต่เราไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นตั้งต้นตั้งแต่คำแรกว่า ปฏิบัติคืออะไร ถ้าปฏิบัติคือทำ ก็ต้องถามว่าทำอะไร ไม่อย่างงั้นก็ไม่เข้าใจ นอกจากว่าปฏิบัติไม่ใช่ทำ เพราะฉะนั้นปฏิบัติคืออะไร ทำหรือไม่ทำ

    ผู้ฟัง ขออนุญาตตอบว่า ปฏิบัติคือการที่เราฟัง และเข้าใจ เมื่อฟังแล้วเข้าใจแล้ว ระหว่างที่สภาพธรรมที่เกิดขึ้น สภาพรู้หรือว่า อาการรู้ ธาตุรู้ เกิดขึ้น ปรากฏการระลึกได้ทันว่า นี่คือ สมมติว่า เห็น เห็นแล้วก็ แทนที่จะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เห็นไม่ได้บอกอะไร คืออธิบายไม่ทราบว่าจะอธิบายถูกหรืออย่างไร ไม่ทราบ คือเห็นก่อน รู้ว่าเห็น เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เริ่มอย่างนี้เลย เริ่มว่าขณะนี้ทำหรือเปล่า คือปัญญา เข้าใจชัดขึ้นได้ จากคำที่เราใช้เป็นปรกติ จะทำให้เราเข้าใจธรรม เช่น เราจะถามอะไรหรือจะพูดอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราสามารถที่จะตอบเป็นความเข้าใจในธรรมย่อมได้ เช่นถ้าถามในขณะนี้ เป็นคำถามลอยๆ ทั่วไปว่า ขณะนี้ทำหรือเปล่า แค่นี้ จะตอบว่าไง ยังไม่พูดเรื่องทำอะไรทั้งหมด ทางตา ทางหู ก็ไม่พูดถึงนั้น เพียงแต่ถามว่าขณะนี้ทำหรือเปล่า ทำอะไรหรือเปล่า จะตอบว่ายังไง ทำอะไร

    ผู้ฟัง ทำให้เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วสภาพธรรม กำลังทำกิจการงานของสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนี้ ที่เห็น สภาพธรรมกำลังทำกิจของสภาพธรรม คือกิจเห็น สำหรับธรรมชนิดนี้ จะทำอื่นไม่ได้เลย นอกจากเห็น เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจได้ว่า ขณะที่กำลังเห็น เป็นสภาพ ธรรมชนิดหนึ่งซึ่งกำลังทำกิจเห็นนี้ จิตที่ทำกิจเห็นนี้ ทำอย่างอื่นไม่ได้ด้วย คิดไม่ได้ เอาจิตกำลังเห็นมานั่งนึกให้เป็นกุศล จะทอดกฐิน จะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะจิตขณะนี้ เพียงทำกิจเห็น กำลังทำหน้าที่เห็น เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าขณะนี้ทำอะไรหรือเปล่า ความถูกต้องก็คือ สภาพธรรมกำลังทำกิจของสภาพธรรม ไม่ใช่เราทำ ขณะที่กำลังได้ยิน ทำอะไรหรือเปล่า ไม่ใช่เราอีกทีทำ แต่สภาพธรรมทำ สภาพธรรมเกิดแล้ว ทำกิจอะไรทำกิจได้ยิน นี่คือความเข้าใจถูกต้องที่เรียกว่าไม่ใช่ไม่มีอะไร และไม่ใช่ไม่ได้ทำอะไร แต่ว่ามีสภาพธรรมที่กำลังทำกิจของธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือการที่จะเริ่มเข้าใจ แม้แต่คำที่เราถามกันว่า ขณะนี้ทำอะไรหรือเปล่า ตามความเป็นจริงก็คือ สภาพธรรมเกิดขึ้นทำกิจของสภาพธรรม อันนี้พอจะเห็นด้วยไหม เป็นธรรม และก็กำลังทำด้วย กำลังนอนหลับ ทำอะไรหรือเปล่า ทำกิจหลับ จริงๆ จิตเกิด แต่จิตไม่ได้เห็นตลอดเวลา ไม่ใช่ได้ยินตลอดเวลา ตอนหลับก็เป็นจิตอีกที่กำลังทำกิจภวังค์หลับ เพราะฉะนั้น ไม่มีสักขณะเดียวซึ่งไม่ได้ทำ แต่ไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียว เป็นสภาพธรรมแต่ละขณะซึ่งทำกิจแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าเวลานี้ ใครถามคนในห้องนี้จะเก่งมาก คือตอบได้จริงๆ ว่าต้องทำแน่ๆ ไม่ว่าจะหลับหรือจะตื่น ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจนั้นๆ

    ผู้ฟัง ที่นี้ถ้าปฏิบัติก็คือ มีสภาพธรรมอีกอันหนึ่ง ที่เขาทำหน้าที่รู้ว่า ทำอยู่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ คือกำลังจะใช้คำ ๒ คำ คือคำหนึ่งคือทำ อีกคำหนึ่งคือปฏิบัติ อันนี้ก็เป็นถ้าภาษาไทยเรา ซึ่งเราเอาภาษาบาลีมาใช้ และความกว้างของภาษาไทยเราจะไปใช้ในลักษณะไหนนี้ จะตรงกับภาษาบาลีหรือไม่ ซึ่งในธรรม มีหลายด้าน หรือว่าหลายความหมาย และหลายที่ เช่นถ้าเราใช้คำว่า ปริยัติหมายความถึง ศึกษา ปฏิบัติหมายความถึง อบรม ให้เกิดปัญญาตามที่ได้เข้าใจ ตามที่ได้ศึกษาแล้ว และปฏิเวธ ก็คือการประจักษ์แจ้งจากการอบรม เพราะฉะนั้น การใช้คำปฏิบัติก็มีในที่อื่นด้วย เพราะฉะนั้นจึงได้เป็นขั้นขั้นมาตั้งแต่ขั้นต้น ให้เราเข้าใจคำว่า ทำก่อน แล้วเราจะมาถึงการอบรม ซึ่งเป็นการที่ไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี ซึ่งกระทำกิจของสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละอย่าง ก็คือ โสภณเจตสิกนั่นเอง ต้องแยก จิต เจตสิก จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่นเห็น จิตรู้แจ้งในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาคือเห็นอย่างละเอียด แล้วก็เวลาที่จิตเกิดได้ยิน จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียง คือไม่ว่าเสียงจะเบา จะค่อย จะประณีต จะเป็นเสียงนก เสียงไก่ เสียงคนที่คล้ายกัน หรือว่าเสียงดุ เสียงอะไรก็ตามแต่ จิตที่ได้ยินก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งในเสียงนั้น นี่คือจิต แต่เจตสิกที่เกิดกับจิต เขาก็มีหน้าที่การงานของเขาเหมือนกันที่จะกระทำ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงการปฏิบัติธรรม ถ้าใช้คำว่าการปฏิบัติธรรม เราคงจะไม่ไปอบรมธรรมฝ่ายไม่ดี เพราะว่าธรรมฝ่ายไม่ดี ไม่ต้องอบรม เกิดอยู่เป็นประจำ เหมือนวัชพืช ไม่ต้องไปบำรุงเลย มีแต่จะต้องคอยปราบปราม เพราะว่าเขามีเหตุปัจจัยที่จะเกิดอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นธรรมฝ่ายดีต้องอบรมจึงจะเกิด และโดยเฉพาะปัญญาเกิดยากที่สุด ถ้าเป็นธรรมฝ่ายดีอย่างอื่น เช่นในเรื่องของทาน การให้ เรื่องของการวิรัติทุจริต ก็ยังไม่ยาก พอที่จะอบรม พอที่จะชี้แจงให้เห็นโทษได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง อันนี้เกิดยาก และก็โตช้า เจริญช้ากว่าอย่างอื่นด้วย นี่เห็นความต่างกันของสภาพธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม ก็คือการอบรมเพื่อที่จะให้ปัญญาเจริญ เพื่อที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นเจตสิกที่เป็นโสภณเจตสิกฝ่ายดี หลายชนิด ซึ่งต้องเกิดพร้อมกัน

    ผู้ฟัง มีความคิดคล้ายกับว่า เจตสิกนี้เป็นกริยาจิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เจตสิกไม่ใช่ กริยาจิต เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต พูดอย่างนี้พอที่จะเข้าใจได้ไหม อย่างโลภะ ความชอบ ความต้องการ ถ้าจิตไม่เห็นจะไปชอบอะไรได้ โลภะจะชอบอะไร ถ้าจิตไม่ได้ยินเสียง โลภะก็ชอบเสียงนั้นไม่ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจิตเกิดขึ้นได้ยินเสียงพร้อมกับโลภเจตสิก ถ้าในขณะนั้นชอบเสียงหนึ่งเสียงใด ถ้าไม่ชอบเสียงที่ได้ยิน ขณะนั้น โทสเจตสิกก็เกิดกับจิต หลังจากที่จิตได้ยินดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง คนละตัวเลยใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มีปรมัตถธรรม ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑ ต้องแยก ๔ อย่างนี้ปนกันไม่ได้เลย คือจิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกไม่ใช่จิต ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน รูปไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน นิพพานก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ต้องตั้งต้นที่ ๔ ถ้าไม่ตั้งต้นที่ ๔ และไม่มีทางที่จะเข้าใจธรรมได้เลย และ ๔ นี่ก็จะไปแยกเป็นขันธ์ ๕ ไปแยกเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปแยกเป็นอินทรีย์ ไปแยกเป็นปฏิจจสมุปาท ไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไรทั้งหมด จะพ้นจากปรมัตถธรรม ๔ ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความเข้าใจเรื่องจิต เจตสิก รูป แล้วก็เวลาที่พูดถึงธรรมหมวดใดก็ทราบได้ว่าพูดถึงจิต หรือพูดถึงเจตสิกประเภทใด หรือว่าพูดถึงรูปชนิดไหน

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์สกลถามเกี่ยวกับเรื่องท่อง พอท่านอาจารย์บอกไม่ต้องท่อง ผมรู้สึกสบายใจ ชอบ แต่ถ้าเพื่อศึกษานี้หมายความว่า ผมจะต้องจำท่องพวกชื่อ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ศึกษาคือฟังให้เข้าใจ ถ้าจะอ่านก็ได้ เพราะเหตุว่าอ่านก็คือ ความจำเสียง เหมือนกับฟัง ทุกครั้งที่เราอ่าน ไม่ว่าคำไหนทั้งสิ้นต้องมีเสียง และการจำสัญญาเสียงนั่นแอง ทำให้เราเข้าใจความหมาย เพราะฉะนั้นจะฟังทางหู หรือว่าจะอ่านทางตาหรืออะไรก็ได้ แต่หมายความว่าให้เข้าใจ นั่นคือการศึกษา ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ชื่อว่า ศึกษา

    ผู้ฟัง การที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องท่อง ในเรื่องของเมตตาก็ตาม หรือว่าในเรื่องของสังคหวัตถุ อย่างที่ท่านอาจารย์สกลกล่าวเมื่อกี้ ถ้าเผื่อจำไม่ได้ว่าทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา อะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น พรหมวิหาร อะไรต่างๆ เราต้องจำไว้ บางครั้งเราอาจจะมาพบอาจารย์ได้แค่เพียงเดือนละครั้ง แล้วอย่างนี้ถ้าเผื่อเราจะท่อง คงจะไม่เป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ โดยมากคนมักจะถามว่า จะเป็นอะไรหรือเปล่า ไม่มีกฎเลย ตามอัธยาศัย ตามอัธยาศัยจริงๆ สำหรับดิฉันไม่ชอบท่อง อะไรๆ ก็ไม่ชอบจริงๆ จะให้ไปสอบ ให้มานั่งท่องก็ไม่เอา คือไม่ต้องการอะไรที่จะได้จากการท่อง เพราะชื่อว่าท่องคือท่อง แต่ถ้าเข้าใจ ยอมทุกอย่าง ไม่ว่าจะอ่าน จะฟัง จะคิด จะถามอะไรก็ชอบ เพราะเห็นว่าทำให้เกิดความเข้าใจ แต่ถ้าเพียงท่องแล้วให้ได้อะไรมา เพราะการท่อง ไม่ต้องการเลย ไม่ต้องการไปท่องเพื่อที่จะได้ประกาศนียบัตร อะไรอย่างนั้น แต่ว่าต้องการที่จะเข้าใจ แต่ถ้าจะพูดถึงว่าจะท่องแล้วจะเสียหายไหม ไม่เกี่ยว ความเสียหายไม่ได้มาจากการท่อง หรือไม่ท่อง แต่มาจากว่าเราท่องเพื่ออะไร ถ้าเราอยากจะเข้าใจพระธรรม เราอ่านบ่อยๆ จำได้แน่นอน แล้วขณะที่อ่าน ไตร่ตรอง พิจารณา เห็นประโยชน์ ข้อสำคัญที่สุดคือ เห็นประโยชน์ เพราะว่า ถ้าเราจำหัวข้อได้ สังคหวัตถุมี ๔ ทาน การให้ เป็นประโยชน์ ในการสงเคราะห์ที่จะให้ทุกคนมีชีวิตประจำวันอย่างผาสุก นั่งท่องไป นอกจากนั้นก็ยังมี ปิยะวาจา คำพูดที่น่าฟัง เพราะว่าวันหนึ่งๆ ได้ยินแต่คำพูด เพราะฉะนั้นคำพูดไหนที่จะให้กำลังใจ ให้คนเกิดความสุขขึ้น ไปนั่งท่อง แล้วก็ อัตถจริยา การประพฤติตนเป็นประโยชน์ ก็มานั่งท่องอีกว่า นั่น ๑ นั่น ๒ นี่ ๓ แล้วก็ยังมี สมานัตตตา การมีตนเสมอนี่ ๔ จำหัวข้อ แต่ถ้ามีความเข้าใจ และเห็นประโยชน์ จากการอ่านแม้แต่ ทาน การให้ ประโยชน์อยู่ที่ไหน ประโยชน์จริงๆ ไม่ใช่หวังผล เพราะว่าบางคนมักจะทำอะไรโดยหวังผล นี่อกุศลแบ่งครึ่ง คือว่า แทนที่จะเป็นกุศล อกุศลก็ติดตามมาแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจคำว่า ทาน หรือ การให้จริงๆ เราจะเป็นผู้ที่ให้โดยไม่หวังอะไรทั้งสิ้น อย่างนี้จะดีกว่าเราท่อง สังคหาวัตถุ ๔ เพื่อหวังว่าเราจะทำแล้วเป็นกุศล แล้วเราจะได้กุศล แล้วเราจะได้รับผลของกุศล ถ้าอย่างงั้นการศึกษาธรรมก็ไม่มีประโยชน์ บอกได้เลยว่าเป็นการเพิ่มกิเลส

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 14
    29 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ