ปกิณณกธรรม ตอนที่ 309


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๐๙

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อสติไม่ได้เกิดระลึกถึงสภาพอะไรเลย ก็ไม่ได้มีการปฏิบัติเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติที่นี้คืออะไร ไม่มีการปฏิบัติหมายความว่าอย่างไร มรรคมีองค์ ๘ เป็นใครจะปฏิบัติ หรือว่าเป็นหน้าที่ของมรรคแต่ละองค์ที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่ของมรรคนั้นๆ

    ผู้ฟัง ตอนนี้ดิฉันยังไม่เข้าใจไม่ได้ตรง ถ้าเผื่อว่าจะไปคอยรอ ที่ว่าตรงนี้แข็ง หรือได้ยินเกิดขึ้น ตรงนี้ก็เหมือนว่าจดจ้อง

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจ ไม่มีรอ เพราะว่ามีสภาพธรรมตลอด จะไปรออะไร ไม่เคยขาดสภาพธรรมเลย แต่ว่าสติระลึกหรือไม่ระลึก ไม่ใช่ว่าต้องรออันหนึ่งอันใด

    ผู้ฟัง ตรงนี้ ที่เรียนว่า สติไม่ได้ระลึก

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร อยากให้ระลึก แล้วไม่ระลึกก็เดือดร้อนเมื่อไรจะระลึก นี้ไม่ใช่ความเห็นถูก ความเห็นถูก คือ ขณะนี้เป็นสภาพธรรม ฟังให้เข้าใจ แล้วก็เมื่อไรที่สติเกิด เมื่อนั้นก็มีปัญญารู้ว่า ขณะนั้นสติระลึก ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง แสดงว่าต้องฟังจน เป็นเหตุปัจจัยให้สติระลึกสภาพนั้นๆ

    ท่านอาจารย์ เคยหลงลืมสติมานานเท่าไร

    ผู้ฟัง ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ กี่ชาติ

    ผู้ฟัง นับไม่ถ้วน

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องทราบว่า มีเหตุที่จะให้หลงลืมสติมากกว่าสติเกิด

    ผู้ฟัง ขอถามอาจารย์ว่า มีพี่คนหนึ่งเขาบอกว่า สภาวะ คือแค่รูปธรรม ไม่มีนามธรรม ถ้าเป็นสภาวะ ถูกต้องหรือไม่ สภาวะจริงๆ ความหมายคืออะไร

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริงมีลักษณะ สภาวะ มีภาวะ มีลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นอย่างนั้น นามธรรม ก็ป็นสภาวะ ไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ต้องมีภาวะ มีลักษณะ ไม่มีลักษณะก็ไม่ใช่นามธรรม จะบอกได้อย่างไรว่า เป็นนามธรรม ถ้าไม่มีภาวะลักษณะให้รู้ว่าเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น เวลาได้ฟังต้องพิจารณา ต้องเข้าใจ ขณะนั้น เขากำลังพูดถึงรูป ๒ ชนิด คือ รูปที่เป็นสภาวะรูป กับรูปที่เป็นอสภาวะรูป ขณะนั้นกำลังพูดเรื่องรูป

    ผู้ฟัง จิตที่จะเป็นกุศลได้ จะต้องเป็นไปในทาน ศีล ภาวนา แต่ในที่นี้ท่านแสดงว่า ศีลเป็นเบื้องต้น สมาธิเป็นท่ามกลาง วิปัสสนาเป็นที่สุด ในขณะซึ่งท่านแสดงธรรม อันนี้ก็หมายความว่า ท่านพยายามที่จะให้เราปฏิบัติตาม ๓ ขั้นตอน เพื่อจิตเป็นกุศล คำถามของดิฉันคือ ศีล สมาธิ ภาวนา เข้าไปอยู่ในขั้นตอนไหน หรือว่าขั้นตอนทั้ง ๓ อย่าง ช่วยกรุณาขยายความด้วย

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีกาย มีวาจา ก็ต้องมีศีล แม้ว่าไม่มีทาน เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของ ละทานไว้ว่า เมื่อม่ศีลแล้วไม่มีการที่จะประทุษร้ายเบียดเบียนคนอื่น แล้วก็ยังสามารถที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ ทั้งศีล และธรรมที่ควรประพฤติ เพราะฉะนั้น ก็พูดถึงศีล สมาธิ ปัญญา ก็เป็นที่เข้าใจว่า เป็นเรื่องของการอบรม

    ผู้ฟัง อบรมเจริญกุศล ก็ถูกสอนว่า จิตที่จะเป็นกุศลนั้นต้องเป็นไปในทาน ศีล และภาวนา ทีนี้ไม่มีทาน ทานไปอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ เวลาที่มีทาน ขณะนั้นพูดไม่จริงหรือเปล่า ขณะเดียวกันนั้น

    ผู้ฟัง ขณะจิต ซึ่งให้ทาน พูดไม่จริงหรือเปล่า..

    ท่านอาจารย์ ฆ่าสัตว์ หรือ เปล่า ถือเอาสิ่งของที่คนอื่นไม่ได้ให้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ขณะนั้นจิตเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เป็นไปในทาน ในขณะที่ให้ แต่ในขณะที่ไม่ให้ เป็นไปในศีลหรือเปล่า หรือว่าละไว้ ไม่เจริญ เพราะว่าเมื่อเรื่องของกาย วาจามี ก็ต้องเป็นเรื่องของศีลด้วย

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดก็หมายความว่า ในขณะซึ่งเราให้ทาน มันจะเข้าไปอยู่ในเรื่องของศีล

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณสุรีย์อยากจะให้ครบ ศีลเป็นมหาทาน สงเคราะห์กันได้

    อดิศักดิ์ การที่จะไม่เกิด ท่านอาจารย์จะให้ความรู้ตั้งแต่เริ่มรู้จักปรมัตถธรรม และการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ การไม่เกิดเป็นสิ่งที่ยาก ยากกว่าการเกิด เพราะว่าเมื่อมีปัจจัยแล้ว สิ่งนั้นก็ต้องเกิดขึ้น เป็นธรรมดา แต่การที่จะไม่ให้สภาพธรรมซึ่งเมีเหตุปัจจัยเกิดสืบต่อ แล้วดับหมด ไม่มีการเกิดอีกเลย ก็ต้องเป็นสิ่งที่ยากมาก ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ ไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ทรงแสดง เราไม่สามารถที่จะพ้นจากการเกิดได้ เราก็ต้องเกิดอย่างนี้ เพราะว่าเคยเกิดมาแล้วนานแสนนาน ถึงแม้ว่าใครจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่มีเหตุที่จะให้เกิดก็ต้องเกิดเรื่อยๆ ไม่มีวันจบสิ้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ทำไมเราถึงต้องเกิดบ่อยๆ แล้วก็เกิดไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีการอบรมเจริญปัญญาที่จะออกจากการไม่เกิด คือ ไม่ให้มีการเกิดอีกต่อไป ออกจากสังสารวัฏ เป็นเพราะเหตุว่าเรามีความติดข้อง มีความพอใจ สังเกตดูได้ว่า ตั้งแต่เกิด เราต้องการหรือเราติดข้องอะไรบ้าง มากมายมหาศาลทุกวัน ไม่มีใครสักคน ซึ่งวันนี้ไม่มีความต้องการอะไร แต่ว่าความต้องการของเรา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วเราจะออกจากสังสารวัฏ หรือไม่เกิดได้ เมื่อไร เพราะเหตุว่าการเกิดย่อมมาจากความติดข้อง ไม่ว่าอะไรที่เรามีความต้องการ เราก็พยายามแสวงหาสิ่งนั้น หรือว่าทำสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น แล้วเราก็ยังต้องการอยู่ทุกวัน

    หนทางเดียว คือต้องเห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีนานแสนนาน กว่าจะได้รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ แล้วก็ทรงแสดงอริยสัจธรรม ซึ่งถ้าเราฟังแต่เพียงชื่อ เช่น ทุกขอริยสัจจะ หรือสมุทยอริยสัจจะ ทุกขนิโรธอริยสัจจะ และทุกขนิโรธคามีนีปฏิปทาอริยสัจจะ ถ้าพูดธรรมดา คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพียงชื่ออย่างนี้ก็ต้องศึกษามาก ที่จะค่อยๆ เห็นตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง สูตรนี้ เหตุที่จะให้ปฐม คือ ต้นตอ หรือเหตุที่จะให้เกิดสุข ทุกข์ ผมเข้าใจว่า ปฐมนี้คงจะเป็นหลัก เป็นต้นตอ เป็นแดน เป็นก่อน เป็นครั้งแรก ที่จะให้เกิดสุขทุกข์ ทีนี้ว่าในพระไตรปิฎกจำข้อความได้ว่า ทุกขะเมวะ สัมโพติ นอกจากทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิด ทุกขัง ติฏฏะ เวติจะ ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นดับไป นาญญัตะระ ทุกขา นิรุชฌะติ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ ท่านพูดถึงเรื่องทุกข์ทั้งสิ้นเลย ไม่มีพูดถึงเรื่องสุขเลย ท่านอาจารย์อย่างนี้มันจะเกี่ยวกับอะไร อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ความสุขนั้นชั่วคราว ไม่เที่ยง สิ่งใดก็ตามซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกที่เป็นสุข ความรู้สึกเป็นสุขไม่ได้ยั่งยืนเลย แล้วก็ไม่มั่นคงด้วย เวลาที่มีความรู้สึกเกิดขึ้น ที่เป็นสุขนิดหนึ่ง ต่อจากนั้นก็อาจจะไม่สุขแล้ว หรือว่าแม้ว่าเราจะมีความสุขจากวัตถุสิ่งนี้ แต่พอผ่านพ้นไปวัตถุสิ่งนั้น ก็ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขอีกแล้ว แสดงให้เห็นว่า ระหว่างที่เรามีชีวิตอยู่ เราก็แสวงหาเพียงความรู้สึกที่เป็นสุขแล้วก็รู้ด้วยว่า ความรู้สึกเป็นสุขนั้นก็ไม่ยั่งยืน แต่ก็ยังติดข้องคือต้องการแสวงหาแต่เพียงความสุข

    ผู้ที่จะเห็นความจริง ก็ต้องพิจารณาให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าที่ว่าเป็นความรู้สึกเป็นสุข แท้จริงคืออะไร เป็นเราหรือเปล่าบังคับบัญชาได้ไหม และสุขนั้นจะตั้งยั่งยืนตลอดไปได้หรือเปล่า เพราะว่าทุกคนเกิดมา ก็เพราะเหตุว่ามีจิต ถ้าไม่มีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือเป็นนามธรรม มีแต่ร่างกาย สุขทุกข์ใดๆ ก็ไม่มี แต่เพราะเหตุว่ารูปเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น รูปไม่เห็น รูปไม่ได้ยิน รูปไม่ได้คิดนึก แต่ว่าธาตุ หรือสภาพธรรมที่มองไม่เห็น แต่เป็นสภาพที่สามารถที่จะเป็นสุข เป็นทุกข์ คิดนึก เห็น ได้ยินต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่า ความสุขก็เป็นสภาพธรรม ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ของใคร ตรงกับคำว่า อนัตตา มีปัจจัยก็เกิดขึ้น เกิดแล้วก็ไม่เที่ยง

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ที่เกิดขึ้น ไม่ว่า จะเป็นความรู้สึก หรือว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม เมื่อเกิดแล้วไม่เที่ยง แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งซึ่งผู้มีปัญญา เห็นว่า แม้ว่าจะเกิดมาแล้วทุกวันก็มีชีวิตต่างๆ กัน บางคนก็มีชีวิตที่เป็นประโยชน์ แต่ว่าบางชีวิตก็ประโยชน์น้อยมาก แล้วก็ต้องจากโลกนี้ไป โดยที่ว่าผู้ที่ทำประโยชน์ก็มีส่วนของประโยชน์ ที่จะให้ผลมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร มีแต่ความติดข้องในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ สุข แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้ติดตามไปเลย มีแต่เพียงว่ามาสะสมความติดข้อง แล้วก็ต้องการความสุข แล้วก็แสวงหา แต่ความสุข บางคนก็ได้มาโดยชอบธรรม แต่บางคนก็ไม่ได้มาโดยชอบธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ว่า ความรู้สึกเป็นสุขเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดแล้วก็ไม่เที่ยง ต้องดับไป ในขณะนี้มีใครมีความรู้สึกเป็นสุขบ้างไหม เห็นดอกไม้สวยๆ สุขไหม ชอบ เดี๋ยวเห็นอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่ดอกไม้ สุขหรือทุกข์ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าประสบกับสิ่งที่น่าพอใจก็เป็นสุข ถ้าประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็เป็นทุกข์ รวดเร็วมาก ทางตาเห็นสิ่งที่ชอบใจ ทางหูอาจจะได้ยินเสียงที่ไม่ชอบใจ

    นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในขณะที่เห็นเพราะปัจจัยอย่างหนึ่งจึงทำให้เกิดความพอใจ ในขณะที่ได้ยินเพราะปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง จึงทำให้เกิดทุกข์ เพราะฉะนั้น สุขกับทุกข์มี เมื่อเกิดขึ้น ถ้าไม่มีการเกิดของสุข และทุกข์ สุข และทุกข์ ก็ไม่มี

    นี่เป็นแต่เพียงสภาพธรรมหนึ่ง แต่ว่าสภาพธรรมทุกอย่าง ไม่ใช่เพียงแต่สุข และทุกข์เท่านั้นที่เกิด ยังมีสภาพธรรมอื่นๆ อีกมากซึ่งเกิด แต่ว่าเมื่อเกิดแล้ว ด้วยความไม่รู้ก็ยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรา เช่นความรู้สึกเป็นสุข ของใคร ของเรา ทั้งๆ ที่ความรู้สึกเป็นสุข เกิดแล้วดับไปแล้ว อยู่ที่ไหน ไม่มีเหลือเลย มีแต่สภาพธรรมที่เกิดใหม่สืบต่ออยู่เรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจจริงๆ ด้วยการศึกษาให้เข้าใจว่า แท้ที่จริงก็คือสภาพธรรมที่เกิด และดับ ความเกิดดับของสภาพธรรมซึ่งสั้นมาก เร็วมากจะมีประโยชน์อะไร นอกจากเป็นทุกขลักษณะ คือทุกข์แท้ๆ ทุกข์จริงๆ

    เป็นแต่ละขณะเกิดขึ้น เป็นสภาพธรรมจริงๆ เมื่อเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยจะใส่ใจในใคร หรือในความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของใคร ขณะนั้นก็ดูข้างนอกก็เหมือนกับว่าเป็นผู้ที่อุเบกขา แต่ว่าความจริงขณะนั้นเป็นอะไรใครจะรู้ อกุศลมีถึง ๓ ประเภท โลภะ โทสะ โมหะ ที่เป็นรากเหง้าหรือมูลเหตุของอกุศลทั้งหลาย

    ถ้าไม่มีปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังฟังพระธรรมเรื่องนี้ ทราบได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้สภาพธรรม คำว่า ตรัสรู้ ไม่ใช่ โดยการไตร่ตรอง ไม่ใช่โดยการใคร่ครวญ คิด พิจารณาแล้วก็ออกมาเป็นคำเทศนา แต่ว่าเป็นการที่ทรงแสดงพระธรรมตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ตามที่ได้ทรงตรัสรู้

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เราเรียนเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ใครจะรู้จริงๆ ต้องเป็นบุคคลนั้น ในขณะนั้นด้วยปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่เราเอาเหตุการณ์หนึ่งมาวิเคราะห์ว่า ขณะนี้จะเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ถ้าเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แต่ว่าเมื่อฟังธรรมแล้วก็รู้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทรงแสดงโทษของอกุศลทั้งหลาย แล้วก็ทรงแสดงประโยชน์ของกุศลทั้งหลายไว้ในพระไตรปิฎกครบถ้วน แต่ใครปฏิบัติตามได้ ทั้งๆ ที่อ่านแล้ว กี่เล่มก็ตามแต่ โลภะก็มี โทสะก็มี โมหะก็มี เพราะว่ายังไม่ได้ดับ เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าเพียงแต่เราฟังเรื่องราว แล้วเราก็เป็นผู้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร การศึกษาธรรม มี ๓ ระดับ คือ ระดับที่เป็นปริยัติ ได้แก่การเล่าเรียนพระธรรม การฟังในขณะนี้เป็นปริยัติ เรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วเราก็ฟังเรื่องจริงของสภาพธรรม นั้น แต่ไม่รู้ตัวจริงของธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป

    การที่เราจะฟังธรรม เราก็รู้ว่า การฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ไม่ใช่หมายความว่า เมื่อฟังแล้ว เราไปเป็นผู้ที่วางเฉยได้ หรือว่าเป็นเมตตาบ้าง เป็นกรุณาบ้าง เป็นมุทิตาบ้าง เป็นอุเบกขาบ้าง แล้วแต่เหตุปัจจัยว่า ขณะนั้นมีปัจจัยที่อะไรจะเกิด จึงเห็นความเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมทั้งหลายได้

    คนที่ไม่ดีจะสามัคคีกับคนดีได้ไหม ธรรมต้องเป็นเรื่องคิด ต้องเป็นเรื่องพิจาณาในเหตุผล แม้ว่าผู้หนึ่งผู้ใดจะมี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ถ้ามีคนที่ไม่ดี แล้วก็ไม่เห็นความเป็นผู้ที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาของบุคคลนั้น จะสามัคคีกันได้ไหม

    ผู้ฟัง คิดว่าคนที่มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา จะมีความคิดที่จะสามัคคีต่อคนอื่น ไม่ว่าเขาจะมีจิตอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคนชั่วหรืออะไร คนที่ดีเขาก็สามัคคีได้ แต่คนที่ไม่ดีเขาก็ไม่มีจิตที่จะสามัคคี

    ท่านอาจารย์ สามัคคี คือ การอยู่ร่วมกัน คนชั่วจะอยู่ร่วมกับคนดี หรือจะไปอยู่ร่วมกับคนชั่ว

    ผู้ฟัง แล้วคำว่า สามัคคี จะทางโลกอย่างเดียว หรือว่า ถ้าทางธรรม กับทางโลกจะต่างกันไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาธรรมแล้ว โลกคือธรรม ธรรมคือโลก ไม่ได้แยกกัน เว้น โลกุตตรธรรมเท่านั้นที่ไม่ใช่โลก

    ผู้ฟัง มุทิตา ลักษณะสภาวะอาการของเขา เวลาผมเดินข้าม สะพานลอยข้ามถนนแล้ว เจอขอทานเอาธนบัตรใบละ ๒๐ บาทวางให้เขา เสร็จแล้วเขายิ้มหัวเราะ ผมสังเกตเห็น ผมรู้สึกยิ้มตามเขาด้วย สภาพอย่างนี้ มุทิตาหรือไม่ หรือว่าอาการแบบนี้เป็นลักษณะสภาวะของอะไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วติดที่ชื่อ ใช่ไหมว่า อย่างนี้เรียกว่า อะไร แต่สภาพธรรม เป็นจริงอย่างนั้นที่กำลังปรากฏ ซึ่งตามความเป็นจริงก็คือ บุคคลนั้นต้องมีปัญญาที่จะรู้ว่าขณะนั้น เป็น ความรู้สึกโสมนัส แต่ว่าโสมนัสที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เหมือนกับว่าเราทานอาหารอร่อยๆ ของผมเป็นแต่ลักษณะอย่างนั้น ผมคิดว่าเป็นมุทิตา หรือยินดีพอใจตามที่เขายิ้มหรือไม่

    ท่านอาจารย์ เวลารับประทานอาหารอร่อยทุกคำ มุทิตาทุกคำหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ทันหรอก

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ใช่มุทิตา

    ผู้ฟัง ยังมีคำถามที่เนื่องจากพระสูตร ข้อที่ ๑. การเกิดใน ปฐมสูตร นี้ หมายถึงอะไร มีอะไรบ้าง ข้อที่ ๒. ความหนาว ความร้อน ความหิวเป็นต้น เป็นการเกิดได้อย่างไร ช่วยกรุณาอธิบายให้พอเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ข้อความในอรรถกถา อธิบายว่า ปริพาชกถามท่านพระสารีบุตรถึงสุข ทุกข์ที่มีวัฏฏะ เป็นวง วัฏฏะ คือการเกิดวนเวียนชาติแล้วชาติเล่า แต่จริงๆ แล้วถ้าเราจะคิดให้สั้นกว่านั้น คือ คิดถึงขณะจิต เพราะว่าเวลาที่คิดถึงเรื่องจิต บางท่านอาจจะเข้าใจว่าจิตเที่ยงเป็นเวลานาน เมื่อเกิดแล้ว คือจิตนั่นแหละอยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย คือ ขณะที่จากโลกนี้ไป แต่ว่าผู้ที่ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงเรื่องของจิตละเอียดมาก ว่า จิตเป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัย เช่น ขณะที่เสียงกระทบ ขณะนั้นจิตได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินเสียง ที่เราคิดว่าเราได้ยิน ความจริงก็เป็นสภาพของจิตที่สามารถที่จะได้ยินเสียง สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะคิดนึก ก็เป็นลักษณะของจิตประเภทต่างๆ กัน

    ในที่นี้ มุ่งหมายการเกิด ซึ่งก็วนเวียนไปในภพต่างๆ หรือแม้ในชาติ หนึ่งก็วนเวียนไปทางตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง ไม่หยุดเลย เพราะฉะนั้น การที่จะดับทุกข์จริงๆ คือต้องกับการเกิด เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการเกิดแล้วทุกข์ใดๆ ก็ไม่มี

    ผู้ฟัง ยังมีต่อเนื่องอีก ข้อ ๑. อย่างไรที่เรียกสัมผัสท่อนไม้ จึงเป็นทุกข์ ข้อ ๒. การเกิดเป็นทุกข์ หมายถึงว่ามีลูกก็เป็นทุกข์ใช่ไหม แล้วคนที่ไม่มีลูก ก็ไม่ทุกข์ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้พูดถึงลูก หรือไม่ลูก แต่หมายความว่าการเกิดขึ้นต้องเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าเมื่อเกิดแล้ว มีไหนที่จะไม่รักไม่ชัง ที่จะไม่โกรธ ที่จะไม่โลภ ที่จะไม่ติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยที่ไม่รู้ว่า ขณะนั้น ถ้าไม่ติดข้องจะไม่ทุกข์ แต่ว่าห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องรู้ถึงสมุฏฐานของการเกิดว่า เกิดมาเพราะอะไร และที่จะไม่เกิดนั้น เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ข้อที่ ๓. คงได้ตอบกันหลายครั้งแล้ว ช่วยอธิบาย ๑. การเกิด ๒. เกิดทุกข์ เกิดสุข ให้ถามที่ละคำถาม จะมีอะไรเพิ่มเติม

    ท่านอาจารย์ ทุกคนก็มีสุข มีทุกข์เป็นประจำ ต้องบอกว่าเป็นประจำจริงๆ และอุเบกขา ซึ่งไม่ค่อยจะรู้ เพราะว่าวันหนึ่งๆ มีความรู้สึก จริงๆ แล้วก็ คือ เวทนาเจตสิก ๕ ประเภท เป็นสุขทางกาย๑ เป็นทุกข์ทางกาย๑ เป็นโสมนัส คือ สบายใจ หรือสุขใจ๑ เป็นโทมนัส คือ ทุกข์ใจ หรือไม่สบายใจ๑ และอุเบกขา คือ ความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์๑ เพราะฉะนั้น มีอีกชื่อหนึ่ง คือ อทุกขมสุขเวทนา หมายความว่า เป็นสภาพเวทนาซึ่งไม่สุข ไม่ทุกข์ อะไรจะมีมากว่ากันในวันหนึ่งๆ สำหรับความรู้สึก เมื่อมีชีวิตแล้วจะไม่มีความรู้สึกไม่ได้ เมื่อจิตเกิดที่ใดต้องมีความรู้เกิดร่วมกับจิตนั้นทุกครั้ง เพียงแต่ว่าเราจะรู้หรือไม่รู้ ส่วนใหญ่เราจะรู้เมื่อเป็นทุกข์ เป็นสุข เป็นโสมนัส หรือเป็นโทมนัส แต่อุเบกขานี้เราจะไม่ค่อยรู้เลย

    จากการตรัสรู้ก็ทรงแสดง สภาพความจริงของสภาพธรรมโดยละเอียดว่า จะพ้นจากเวทนาไม่ได้เลย เมื่อมีการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีจิต ไม่มีการเกิด เวทนาก็จะเกิดกับจิตนั้นไม่ได้ด้วย ไม่มีการที่จะเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือว่าเฉยๆ อีกต่อไป

    ผู้ฟัง เรื่องคนคบกัน ในลักษณะที่ว่า คนที่คบกันอยู่แล้วจะคบกันได้นานๆ ก็ ข้อ ๑. ไม่ควรที่จะคลุกคลีกันเกินไป ทำนองนั้น แล้วก็ข้อ ๒. อย่าห่างเหินจนเกินไป ข้อ ๓. ดิฉันไม่ค่อยจะแน่ใจว่า มันจะใช่หรือเปล่า ข้อ ๓. บอกว่า อย่าขออะไรในเวลาที่ไม่ควรขอ ท่านอาจารย์ ตรงนี้ไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงข้อนี้น่าจะเข้าใจง่าย เพราะว่าเวลาที่ไม่อยากจะให้ แล้วมีคนขอ หรือว่าสิ่งนั้นไม่น่าจะให้ ก็มีคนขอ

    ผู้ฟัง คือไม่คิดว่าอันนี้เป็นตัวสำคัญเลย ที่ว่า การที่จะคบกัน เกี่ยวกับเรื่องขอ

    ท่านอาจารย์ ด้วย การคบกันก็จะมีการให้ การรับ แต่ถ้ามีใครให้แล้วรับ ก็จะดีกว่าขอ ที่จะให้เขาให้ ใช่ไหม เพราะว่าการขอ ลำบากใจ คนที่จะขอก็ลำบากใจ ที่จะต้องขอ เพราะว่าถ้าไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องอะไรก็ไม่ต้องขอ ใช่ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567