ปกิณณกธรรม ตอนที่ 324


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๒๔

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ ในวันหนึ่งๆ กามฉันทะ คือ ความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสิ่งที่กระทบ ซึ่งเย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง รวมเรียกว่าโผฏฐัพพะ สิ่งที่กระทบกาย เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย เพื่อที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใด แล้วก็ติด ติดข้องในสิ่งนั้น เมื่อไม่รู้ความจริง จะไม่ให้ติดได้อย่างไร เช่น ทันทีที่เห็น ติดแล้วในสีสันวัณณะที่ปรากฏ แสวงหามากมายในสีสันวัณณะที่ปรากฏ พอเสียงปรากฏ แสวงหาไหม สละหรือเปล่า แต่ว่ามีความต้องการอย่างมากในเสียง ทุกอย่างไม่ว่าจะทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งหมดนี้คือกามฉันทนิวรณ์

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่ทรงแสดงให้รู้ว่า วันหนึ่งๆ แต่ละคนมีอกุศลมากไหม ความดี หรือจิตที่ดีเกิดเทียบกันได้ไหมกับอกุศลที่เกิดในวันหนึ่งๆ แม้แต่ในขณะที่นั่งฟังพระธรรม กามฉันทะเกิดบ้างหรือเปล่า เพียงชั่ว ๑ ขณะ ๒ ขณะ จนหลายขณะ จนกระทั่งไม่รู้ว่าเมื่อกี้นี้ฟังอะไร หรือพูดอะไร ก็เป็นไปได้ เพราะเหตุว่า เวลาที่อกุศลเกิดขึ้น ขณะนั้นก็กั้นความดี คือ การที่จะฟังด้วยความสนใจ ที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง นี่ก็เป็นนิวรณ์หนึ่งซึ่งต่อๆ ไป เราก็คงจะได้กล่าวถึงนิวรณ์อื่นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง วันนี้ที่ในหัวข้อสนทนาธรรม เป็นเรื่องของนิวรณ์ ตัวเองก็มาคิดว่า วันนี้ตั้งแต่มาฟัง ก็มีแต่นิวรณ์อยู่ตลอดเวลา รบกวนท่านอาจารย์ช่วยขยายความในส่วนที่ตัวเองยังไม่ค่อยเข้าใจนัก นั่นคือคำกล่าวที่ท่านอาจารย์เคยกล่าวว่า ศึกษาธรรม ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจคำว่า เป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ คงหมายความว่าให้นึกตามไปด้วย แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น แล้วก็ต่อไปคงจะได้ไตร่ตรอง แล้วก็พิจารณาเข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง แม้แต่ในเรื่องการเปลี่ยนอารมณ์ ที่คุณน้าเคยแนะนำ ให้นึกถึงเรื่องราวของธรรม คือแทนที่จะไปนึกถึงเรื่องราวอย่างอื่น ก็ได้ปฏิบัติตาม

    ท่านอาจารย์ แต่อย่างไรก็ขออนุโมทนาที่กล่าวว่า มานั่งที่นี่แล้วนิวรณ์มากมาย ก็เป็นผู้ที่รู้จักธรรมตามความเป็นจริง คือ ไม่บิดเบือน แล้วก็ไม่เปลี่ยน ถ้าธรรมชนิดไหนเกิดขึ้นก็ รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง เพราะระหว่างที่นั่งฟัง คงจะคิดอะไรไปตั้งหลายเรื่อง ถ้าคิดด้วยความติดข้อง ก็เป็นกามฉันทนิวรณ์ มีแน่นอน เวลาที่ไม่สบายใจ ขุ่นเคืองใจ ติดข้อง คิดเรื่องที่ไม่สบาย ในขณะนั้นก็เป็นนิวรณ์อีกชนิดหนึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล อีกชนิดหนึ่งคือ พยาปาทะ ได้แก่โทสะ หรือความไม่สบายใจ นี่ก็เป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้น วันนี้ที่ว่า เมื่อได้ฟังที่นี่แล้ว ประโยชน์คือ ให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟังคือ ให้รู้ว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ทุกคนมี แล้วก็เรียกชื่อให้เข้าใจว่า สภาพธรรมนั้นเป็น อกุศลธรรมประเภทไหน เพราะจริงๆ แล้วไม่พ้นจากโลภะ ความติดข้อง หรือไม่พ้นจากโทสะ ความขุ่นเคืองใจ เพียง ๒ ประการนี้ก่อน ก็จะเห็นได้ว่า เพื่อให้เข้าใจตัวเองตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม บังคับบัญชาไม่ได้ ที่จะไม่ให้ความขุ่นเคืองใจก็บังคับบัญชาไม่ได้ ที่จะไม่ให้เกิดความพอใจ ติดข้องในสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นธรรมทั้งหมด ฟังให้รู้ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เราทั้งหมด ทุกอย่างที่จะฟังต่อไปก็เป็นธรรมทั้งนั้น

    คงมีของหลายอย่างที่ชอบอยู่ ใช่ไหม ชอบเท่ากันหรือเปล่า ไม่เท่า นี่คือระดับที่ต่างต่างกันของความพอใจ ความโกรธก็เหมือนกัน ขุ่นใจนิดหน่อย ถึงกับพยาบาท จะเท่ากันไหม ไม่เท่ากัน แม้ในคนๆ เดียว เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ หลากหลายด้วยระดับต่างๆ ของโลภะ โทสะ ทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน การฟังแล้วก็มีความเข้าใจเล็กน้อย กับการฟัง แล้วก็ฟังบ่อยๆ ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ต่อไปก็จะเห็นความต่างของการเริ่มฟังกับการที่ฟังแล้วเข้าใจขึ้น ก็หลายระดับ

    ธรรมทุกอย่างที่จะกล่าวถึง ไม่ว่าจะเป็นจิตชนิดไหน เช่น จิตที่ติดข้องพอใจในรูปก็มีระดับต่างกัน ในเสียงก็มีระดับต่างกัน ทุกอย่างมีระดับต่างกันๆ ออกไปทุกวันเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็เป็น ๑ ไม่เป็น ๒ ตามการสั่งสมของแต่ละคน จะไม่มีการคล้ายกันเลย ทั้งๆ ที่ทุกคนก็มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีโลภ มีโกรธ มีหลง แต่ก็ยังไม่เท่ากันอีก ทางฝ่ายอกุศลฉันใด ทางฝ่ายกุศลก็ฉันนั้น ก็จะเห็นอัธยาศัยของแต่ละบุคคคลในพระไตรปิฎกหลากหลาย เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ก็หลากหลายอย่างนั้น แล้วต่อไปทุกวันในขณะนี้ก็จะหลากหลายไปเรื่อยๆ จะไม่มีการที่จะไม่หลากหลายเลย แต่ว่าทรงประมวลธรรมทั้งหมดเป็นประเภทๆ เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะหลากหลายอย่างไรก็อยู่ในประเภทนั้นแหละ ก็แสดงให้เห็นว่า โลภะก็เป็นประเภทหนึ่ง โทสะก็เป็นประเภทหนึ่ง กามฉันทนิวรณ์ ก็เป็นประเภทหนึ่ง พยาปาทนิวรณ์ก็เป็นประเภทหนึ่ง

    ผู้ฟัง ขณะที่ฟังธรรมขณะนี้ ตั้งใจฟังหรือเปล่า หรือไปคิดเรื่องอื่น เรื่องต่างๆ ก็เลยไม่ได้รสพระธรรม ต้องกราบท่านอาจารย์ด้วย จะเรียนถามท่านอาจารย์ บุรุษมีตาดีมองดูเงาหน้าของตนในภาชนะเต็มด้วยน้ำ ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง

    หัวข้อนี้ ดิฉันได้อ่านไปข้างหลังแล้ว จะ มีอยู่ ความหมายจะมีอยู่ทุกหัวข้อเลย ก็แปลกใจ เพราะว่าบุรุษมีตาดี แต่ทำไมไม่พึงรู้ไม่เห็นตามความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าดูน้ำที่ระคนด้วยครั่ง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง แสดงว่าตาดีก็จริง แต่ว่าไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงตรงนั้น

    อ.อรรณพ ปัญญา ปัญญาไม่รู้ ไม่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมสักที เห็นเป็นธรรมบ้างหรือยัง เห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาบ้างหรือยัง ก็เหมือนอย่างมีครั่ง คือกิเลสมันขวางอยู่ การเห็นธรรมเป็นธรรมพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้สิ่งที่ไม่มีใครรู้ แล้วมันจะง่ายได้อย่างไร พุทธ แปลว่าผู้รู้ รู้อะไร รู้สิ่งที่ไม่มีใครรู้ รู้สิ่งที่คนอื่นไม่รู้ สิ่งที่คนอื่นรู้ มันไม่สำคัญเท่า ที่พระพุทธเจ้ารู้สิ่งที่ไม่มีใครรู้ แล้วรู้สิ่งที่คนอื่นไม่รู้ด้วย สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ยาว ไม่ใช่สั้น ไม่ใช่กว้าง ไม่ใช่สัณฐานต่างๆ อย่างนี้แล้ว เริ่มจะเห็นตามความเป็นจริงขึ้นๆ ๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง เห็นขึ้น เข้าใจขึ้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย อย่างนี้ถึงจะเห็นตามความเป็นจริง ที่เห็นยังเห็นไม่ตามความเป็นจริง ก็เหมือนนี่แหละ ตาดีๆ ก็ยังไม่เห็นตามความเป็นจริงได้

    ผู้ฟัง รู้สึกจากประโยคตรงนี้ ก็จะมาเข้าเรื่องกับที่อาจารย์ได้แสดงอยู่ทุกวัน ที่ให้เห็นความแยกกันที่ว่า ทางทวารตากับปัญญาที่เกิดขึ้นรู้ แล้วก็มีหลายคนที่กล่าวว่า ที่พูดว่าเห็นตามความเป็นจริง พระพุทธองค์ไม่เคยตรัสไว้เลย แต่จริงๆ ดูแล้วกันสภาพตามความเป็นจริง มีอยู่ทุกทวาร ก็ต้องกราบเท้าท่านอาจารย์ เพราะท่านอาจารย์ได้กรุณามาแยกแยะ ให้เรามองเห็นความละเอียดของพระธรรม กราบขอบพระคุณ

    อ.อรรณพ เห็นตามความเป็นจริงพระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร อริยสัจ ๔ ต้องเห็นเป็นอริยสัจ ๔ เรายังเห็นไม่ได้ แต่เราอบรมขึ้นๆ ให้เห็นความเป็นจริงขึ้นๆ จริงจนเป็นอริยะ แต่ตอนนี้มันยังไม่จริงขึ้น มันยังเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ แม้กระทั่งทิฏฐิ ความเห็น ก็ยังเห็นไม่ตรง

    อ.อรรณพ อาจารย์กล่าวบอกว่า ยังเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ตรงนี้ คือจริงๆ แล้วการที่ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ก็ต้องเป็นไปตามปกติหรือเปล่า แต่ว่ามันเป็นความคิดนึกที่ต่อจากทางตา

    อ.อรรณพ ก็ใช่ คือความจริง เพราะยังไม่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นตามความเป็นจริง ตัวปัญญา ไม่ใช่ตาเนื้อ ไม่ใช่ สสัมภาระจักขุ ต้องเป็นตาปัญญา อย่าใช้คำว่าเห็น ใช้คำว่ารู้ดีกว่า รู้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ดิฉันสงสัยอยู่ว่า การที่เราเห็นเป็นคน มันจะเป็นผิดปกติหรือ

    ธ. ปกติ เพราะเป็นเรา แต่เห็นที่พูดเป็นภาษาไทย ถ้าเห็นที่เป็นความหมายของปรมัตถธรรม เป็นธาตุรู้ที่เรียกว่าจิตปรมัตถ์ เวลานี้รู้ชื่อรู้เรื่อง เรียนมากมายละเอียดเลย แต่ก็ยังไม่ได้รู้จัก ได้แต่รู้ชื่อ รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น เวลานี้ คือ เป็นปกติทุกทวาร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นเราทั้งนั้น แล้วการที่เป็นเราทั้งนั้น กว่าจะประจักษ์ หรือรู้จริงๆ ว่า มันเป็นธาตุ เป็นสภาวะ ที่พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติ เรียกว่า จิตปรมัตถ์ ก็คงจะอีกยาวนาน ถึงได้มีคำว่า จิรกาลภาวนา เวลานี้พอบอกภาวนาๆ นี่ ก็ไม่เข้าใจกัน จะไปอ่าน จะไปท่อง จะไปค้น จะไปทำ เป็นเราทั้งนั้น จริงๆ แล้วค่อยๆ ฟังเพราะว่าระดับจิตหรือฐานะ เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ สะสม เพราะฉะนั้น เวลานี้ผมยังเป็นเราอยู่เลย ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นเราเห็น เรารู้ เราได้ยิน นี่คือความเป็นปกติของปุถุชน

    ผู้ฟัง แล้วเมื่อไร ขั้นไหนถึงจะว่า ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ ธรรมที่ได้ยินได้ฟัง น่าคิด น่าไตร่ตรอง น่าพิจารณา เช่น คำถามที่ว่าเห็นเป็นคน มีใช่ไหม แล้วเห็นที่ไม่เป็นคน มีไหม

    ผู้ฟัง ตรงนี้ ท่านอาจารย์ จริงๆ เห็น ไม่ใช่เป็นคน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน เห็นเป็นคนมีไหม คือ ธรรมเป็นเรื่องจริง พิสูจน์ได้ทุกกาลสมัย แล้วจะไม่ปฏิเสธ แล้วจะไปบิดเบือนธรรมก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่ว่าเห็นเป็นคน มีไหม จริงไหม จริง มีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ใครจะปฏิเสธต้องแปลกมากเลย ถ้าปฏิเสธ เพราะว่าทุกคนก็เห็นเป็นคน แล้วเห็นที่ไม่เป็นคนมีไหม

    ผู้ฟัง เห็นที่ไม่เป็นคน ถ้าอบรมศึกษาแล้ว ก็จะมีได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังต้องทราบลำดับ ก่อนฟังเห็นเป็นคน เห็นเป็นสัตว์ เห็นเป็นวัตถุ เห็นเป็นสิ่งต่างๆ แล้วก็มีความยึดมั่นว่า เป็นคนจริงๆ แต่ลองค่อยๆ ฟังพระธรรม จากผู้ที่ทรงประจักษ์แจ้งสภาพธรรม ทรงตรัสรู้ และทรงแสดง เวลาที่เห็น แล้วก็เพียงแค่เห็นเท่านั้น ก่อนที่จะรู้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีไหม หรือพอเห็นก็ต้องเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทันทีทุกครั้ง

    ผู้ฟัง คงจะไม่จริง ยกตัวอย่าง นั่งในรถไฟ วิ่งเร็วๆ มองไม่รู้เลยว่าเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ ยังไม่ถึงรถไฟ สำคัญที่สุดคือขณะนี้ ขณะนี้เห็นเป็นคน แต่ลองคิดว่า ถ้าไม่มีเห็น จะมีความคิดว่า เป็นคนไหม ไม่เห็นอะไรเลยทั้งสิ้น แล้วจะมีความคิดว่ามีคนไหม

    ผู้ฟัง ถ้าตอนนั้นเราคิดถึงคน

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ เราลองค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณา เห็นโดยที่ไม่เป็นคน กับเห็นเป็นคน เห็นเป็นคนเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่จริงๆ ถ้าไม่มีเห็น ความคิดว่า เป็นคนจะมีไหม

    ผู้ฟัง คงไม่มี

    ท่านอาจารย์ ต้องมีเห็นก่อน ใช่ไหม เห็นนี้มีแน่ๆ แต่ว่าไม่มีใครรู้ความจริง ว่าขณะที่เห็นไม่ใช่เห็นคน เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นสีสันวัณณะต่างๆ นี่เป็นของที่แน่นอน เพราะเหตุว่าถ้าใช้คำว่าเห็นตราบใด หมายความว่าต้องมีสิ่งที่ปรากฏ ถ้าว่าเป็นคนก็ต้องมีแสงสว่าง มีสีต่างๆ ปรากฏ ถ้าเป็นเพียงสีเดียว อย่างหลับตา มีแสงพอสมควร อาจจะเป็นสีนวล สีแดง สีอะไรก็ได้ มีคนไหม ขณะที่มีแต่เพียงสีเดียว ไม่มี แต่พอแค่ลืมตา ต่างกันนิดเดียว ตอนหลับตากับลืมตา พอลืมตาต้องหลายสี มีคนแล้วใช่ไหม มีรูปร่างสัณฐานต่างๆ

    เห็นที่ไม่เป็นคนก็มี แน่นอน แต่ว่าเมื่อมีรูปร่างสัณฐาน และการเห็น ซึ่งความจริงเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับเร็วมาก แต่ว่าเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกระทั่งสัญญา ความทรงจำ ก็จำในรูปร่างสัณฐาน แล้วก็สามารถที่จะรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ก็เกิดขึ้นมีความทรงจำว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุ สิ่งต่างๆ

    เพราะฉะนั้น ต้องแยกเห็นที่ไม่ใช่เป็นคน เป็นแต่เพียงเห็น มีสิ่งที่ปรากฏจริง แล้วก็เวลาที่เห็นเป็นคน คือ มีการคิดนึกถึงรูปร่างสัณฐาน จึงมีความทรงจำว่าเป็นคน ต้องแยกการเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก จนกระทั่งถ้าไม่มีการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ไม่สามารถที่จะประจักษ์ความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลาย คือ สภาพธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิด เมื่อเกิดแล้วดับทันที เร็วมาก

    นี่เป็นสิ่งซึ่งทุกคนก็พิจารณาได้ว่า เมื่อไรจะประจักษ์ ไม่ใช่ถามใครว่า แล้วเมื่อไร แต่ว่าต้องเป็นปัญญาของตัวเองจริงๆ ว่า สภาพธรรมจริงๆ เป็นอย่างนี้ แล้วก็เป็นผู้ตรงว่า เมื่อไรเริ่มที่จะเข้าใจในสิ่งที่เห็นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน แล้วเป็นอะไร ในเมื่อกำลังเห็น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมก็เป็นสิ่งซึ่งเมื่อฟัง ประโยชน์ คือ เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ต้องไม่มีนิวรณ์ด้วย ถ้ามีนิวรณ์ก็จะไม่แจ่มแจ้ง เพราะว่าฟังแล้วก็ข้ามบางตอนไป เพราะเหตุว่ากำลังคิดถึงเรื่องอื่น แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ และคำที่มีจริง ซึ่งแสดงความจริงของสภาพธรรมไม่เปลี่ยน ไม่ว่ากี่ปี กี่ร้อยปี กี่ล้านปี จากพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งไปถึงกาลของพระพุทธเจ้า กี่พระองค์ สัจธรรม คือสัจธรรม ต้องเป็นอย่างนั้นไม่เปลี่ยน

    ผู้ฟัง หนูคิดว่าบางครั้งก็เห็นเป็นคน บางครั้งก็เห็นเป็นสี บางครั้งก็รู้ว่าเราเห็น บางครั้งก็ไม่ใช่เราเห็น เพราะฉะนั้น หนูคิดว่า คงจะไม่ต้องรอจนถึงกัปหน้า ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าผู้ที่ถามอยู่มากี่กัปแล้ว มีอายุมากี่กัปแล้ว ตั้งแต่สมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ๆ ๆ ๆ อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นี้ก็เคยได้พบ ได้เฝ้า ได้ฟังธรรม ตั้งแต่เริ่มตั้งความปรารถนา ในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าทีปังกร ได้รับคำพยากรณ์ว่า จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าข้างหน้าคือพระองค์นี้ ถอยหลังไป ๔ อสงไขยแสนกัป ไม่ใช่เดือน ไม่ใช่ปี แต่เป็นกัป และไม่ใช่กัปเดียว ๔ อสงไขยแสนกัป ผ่านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่ได้รับพยากรณ์แล้ว ๒๔ พระองค์ เราผ่านมาหรือเปล่า กี่พระองค์ ยังจะต้องผ่านไปอีกหรือเปล่า ไม่ใช่เรื่องที่เราจะคำนวณ ก็คิดว่าจะเมื่อไร แต่ว่าเป็นผู้ที่ตรง จากการฟังแล้วก็เข้าใจ แล้วก็รู้ว่า ขณะนี้กำลังฟังเรื่องของสภาพธรรมทั้งๆ ที่ธรรมแต่ละประเภทก็เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว โดยที่ว่าไม่รู้เลย เพียงแต่กำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรมเท่านั้น จนกว่าจะไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งปรากฏ เพราะว่าการปรากฏของสภาพธรรมน้อยมาก สั้นมาก เร็วมาก แต่ละขณะที่ผ่านไปเกิดแล้วก็ดับ แต่ว่าไม่รู้เลย เช่น เห็น ไม่ใช่เพียงขณะเดียวเลย ได้ยินไม่ใช่ขณะที่เห็น เพราะฉะนั้น เห็นกับได้ยินจะเกิดพร้อมกันไม่ได้เลย แต่ทั้งๆ ที่เหมือนเห็น ก็ยังได้ยิน แสดงว่า การเกิดดับสืบต่อรวดเร็วแค่ไหน แล้วทั้งๆ ที่เห็น และได้ยินก็ยังคิดนึกอีก

    เพราะฉะนั้น ให้เห็นว่ากว่าเราจะเข้าใจธรรม ตัวธรรมจริงๆ แล้วก็เห็นว่าไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่ใช่เพียงขั้นฟัง แต่ขั้นที่จะต้องอบรมถึงการประจักษ์แจ้ง การเกิดดับของสภาพธรรมด้วย เป็นเรื่องซึ่งผู้ที่ได้ฟังพระธรรมทุกคน เป็นผู้ที่เริ่มเป็นผู้ตรง แล้วก็เข้าใจความลึกซึ้งของธรรม แล้วก็รู้ด้วยว่า การที่จะอบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมได้ ต้องเป็นการอบรมตามลำดับ ไม่ใช่ว่าข้ามขั้น หรือว่าไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งไม่ฟังไม่เข้าใจเลย แต่ก็ปฏิบัติ และประจักษ์การเกิดดับ นั่นเป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่อริยสัจธรรม เพราะเหตุว่าไม่ได้ปรากฏกับปัญญา

    เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มจากขั้นฟังจริงๆ ในขณะที่ฟังอย่าประมาทว่า ได้ยินได้ฟังแล้ว พระสูตรนี้อ่านแล้ว วันหลังก็อาจจะผ่านอีก ก็คิดว่าเข้าใจแล้วอีก แต่ว่าความเข้าใจเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพราะว่าจริงๆ แล้วเรื่องของการที่จะแจ่มแจ้ง ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเพียงขั้นฟัง แต่จะต้องแจ่มแจ้งถึงลักษณะของสภาพธรรมด้วย

    ผู้ฟัง การที่จะมีสติรู้ว่าเห็นเป็นสีได้ จะต้องเกิดสลับกับการเห็นเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ เวลาที่ปัญญาเกิด ไม่มีความสงสัย แต่ขณะใดที่สงสัย หรือคิดว่า ขณะนั้นเป็นความคิด ที่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ขณะนี้ก็มีสติ ขั้นฟัง ซึ่งก่อนนี้ไม่เคยทราบเลย ขณะที่ให้ทาน ถ้าสติไม่เกิด ก็ไม่มีการให้ทาน ก็เป็นไปกับความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งเต็มไปด้วยอกุศล แต่เวลาที่กุศลแต่ละประเภทจะเกิด ถ้าไม่ทรงแสดงไว้จะไม่ทราบเลย ในความเป็นอนัตตาว่า ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นสภาพของโสภณเจตสิก นามธรรมฝ่ายดีซึ่งเกิดขึ้น ในขณะที่กำลังฟังแล้วมีความเข้าใจ ขณะนั้นก็มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ทั้งหมดที่เป็นชีวิตของเราก็สามารถจะเข้าใจในความไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เมื่อได้ฟังว่า เป็นเรื่องของสภาพธรรมแต่ละอย่าง นี่ก็เป็นขั้นเริ่มต้น เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนา มี ๓ ขั้น ปริยัติศาสนา ขั้นฟังเข้าใจ ถ้าไม่มีขั้นฟังเข้าใจ ปัญญาจะเจริญต่อไปถึงขั้นที่จะอบรมเจริญ รู้ลักษณะของสภาพธรรมจนประจักษ์แจ้ง เป็นไปไม่ได้ อย่าข้ามขั้น อย่าประมาท คิดว่าพระธรรมเป็นสิ่งที่เราเข้าใจแล้ว ไม่ต้องฟังมาก ฟังนิดๆ หน่อยๆ ก็เข้าใจได้ แต่ยิ่งฟังก็ยิ่งรู้ว่า ปัญญาของผู้ที่เริ่มฟังพระธรรม กับปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และผู้ที่รู้แล้ว ห่างไกลกันแค่ไหน ห่างไกลกันมาก ไม่ใช่ใกล้เคียงกันเลย แต่ว่าเวลาที่ฟัง ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น อบรมเจริญปัญญา จนสามารถที่จะถึงระดับของขั้นที่เข้าใจแล้วได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่ตรง

    ผู้ฟัง พอฟังเข้าใจแล้ว ฟังธรรมมาระยะหนึ่งแล้ว ก็เกิดมีความเข้าใจ แล้วสติเกิดบ้างไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีการถามคนอื่นเลย ธรรมเป็นเรื่องที่เมื่อเข้าใจแล้ว ขณะนั้นเป็นปัญญาที่รู้ถูกต้อง จะไม่มีคำถามอย่างนี้เลย เพราะฉะนั้น ก็ฟังจนกว่าจะเป็นความรู้ของตัวเอง

    ผู้ฟัง คำว่า ช่างมันเถอะ หมายถึงไม่ใช่ภาษาพูด ในใจ เราไม่ได้พูดออกมา มันจะอนุโลม อนุเคราะห์ อยู่ในคำว่า เมตตา ได้ไหม หมายถึงไม่ต้องพูดออกมา คำว่า ช่างมันเถอะ ที่เขาชอบพูดกัน

    ท่านอาจารย์ ช่างมันเถอะ จิตเป็นกุศล หรืออกุศล

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567