ปกิณณกธรรม ตอนที่ 328


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๒๘

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    อ.นิภัทร บุญกิริยาวัตถุในบาลีท่านบอกว่ามีอยู่ ๑๐ อย่าง แต่ท่านย่อลงมาเหลือ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา ทาน คือ ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ ๓ อย่างนี้อยู่ในทาน เรียกว่าทาน

    ส่วนอปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้เจริญ ไวยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายช่วยเหลือธุระประกอบกิจของผู้อื่น และศีลมัยด้วย รวม ๓ อย่างเป็นศีล ๓ เวยยาวัจจมัย อปจายนมัย ๓ อย่างเป็นศีล เหลืออีก ๔ เป็น ๖ แล้ว บุญกิริยวัตถุ ๑๐ ทาน ๓ ศีล ๓

    เหลือ อีก ๔ คือ ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม อย่างที่พวกเราฟังอยู่นี้ ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม ทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นให้ตรง รวมกับภาวนามัย อีก ๑ เป็น ๔ คือ ภาวนามัย ธัมมัสสวนามัย ธัมมเทสนามัย ทิฏฐุชุกรรม ๔ อย่างนี้อยู่ในคำว่า ภาวนา

    เพราะฉะนั้น บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ครบ ความไม่ประมาท คือในบุญกิริยาวัตถุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุทั้งหลาย อย่าลืม ครอบจักรวาลเลย ครอบพระไตรปิฎกเลย บุญกิริยาวัตถุ อย่าลืมว่า ไม่เห็นมีสติปัฏฐาน หรืออะไร อย่าไปคิดอย่างนั้น ครอบเลย อยู่ในส่วนนั้นแหละ ส่วนที่เป็นภาวนามัย ๔ อย่างนั้น รวมอยู่หมดทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นให้ตรง ตรงอะไร เดี๋ยวนี้ความเห็นของเรามันไม่ตรง มันเถลไถลไปตามรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ติดอยู่ในสมมติบัญญัติตลอด แทบว่าจะตลอดที่จะตรงตามธรรมน้อย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องทำความเห็นให้ตรงบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อจะได้มีกำลัง ทำให้เรามีสติปัญญาเพิ่มพูนขึ้นที่จะพิจารณาธรรมสูงๆ ขึ้น

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าอย่างไรๆ ทุกคนต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน แต่ว่าก่อนจะจาก ควรมีการระลึกถึงความจริงว่า วันหนึ่งเราก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่ถ้าจากไปด้วยจิตที่สะสมอกุศลไว้มาก เป็นผู้ประมาท กับจากไปด้วยการที่รู้ว่า เป็นผู้ประมาท แต่ก็ฟัง เพื่อที่จะได้เข้าใจ เพื่อวันหนึ่งความประมาทนั้นจะน้อยลง ไม่มีใครสามารถที่จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาทได้ นอกจากผู้ที่หมดกิเลสแล้ว

    เพราะฉะนั้น จากการที่กว่าจะถึงระดับนั้นกับการที่รู้ตัวตามความเป็นจริงว่า เป็นผู้ที่ประมาทมากหรือน้อย คนอื่นตอบได้ไหม ถ้าก่อนศึกษาธรรมคิดว่า เป็นผู้ที่ประมาทน้อย แต่ถ้ายิ่งศึกษายิ่งเข้าใจ ยิ่งรู้ขณะจิต ก็จะยิ่งทราบได้ว่า ขณะไหนเป็นขณะที่เป็นกุศล ซึ่งก็จะต้องน้อยกว่าขณะที่เป็นอกุศล กุศลก็มีตั้งแต่อย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ซึ่งต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ จึงสามารถที่จะรู้จักตัวเอง เพื่อการขัดเกลา มิฉะนั้นถ้าเราไม่รู้จักความละเอียด เราก็อาจจะละเพียงส่วนหยาบ แต่ว่ายังไม่ได้ขัดเกลาส่วนละเอียด เช่นในเรื่องของการให้ ที่ได้กล่าวถึงเมื่อกี้นี้ว่า บางคนเพียงแต่รู้ว่าถ้าให้ขณะนั้นก็จะทำให้ได้รับผลของกุศล คือ การให้ ถ้าให้มากก็จะได้รับมาก ก็เลยอยากจะให้มาก แต่ขณะนั้นไม่ได้ขัดเกลา เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นหวังอะไรหรือเปล่า ถ้าหวังขณะไหน ขณะนั้นก็จะต้องเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏจริงอยู่ เราไม่รู้ สติที่จะเกิด มันก็ไม่ได้เกิดอยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่ก็จะปนๆ กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรมัตถ์กับบัญญัติ แล้วมันยังมีสมมติบัญญัติอีก ซ้อนๆ กันอยู่ ปนๆ กันอยู่ตลอดเวลา อันนี้ สติตรงนี้มันกว้างเหลือเกิน คำว่า ประมาทหรือไม่ประมาท มันกว้างมาก ช่วยกรุณาให้มันสั้นเข้า เพื่อสติจะได้เกิด

    ท่านอาจารย์ คงยากการที่สัมมาสติจะเกิดระลึก ลักษณะของสภาพธรรมก็ต้องยากกว่าสติขั้นอื่น เพราะในเรื่องของทาน แม้แต่เพียงการให้ ก็ยังว่ายากแล้ว แต่ว่าการที่สติสัมปชัญญะจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมแล้วก็มีความเข้าใจถูก มีความเห็นถูก ต้องยากกว่า เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญกุศล ก็เป็นไปตามลำดับของความเข้าใจ โดยที่ว่าจะรีบร้อนอย่างไร จะอยากให้สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมสักเท่าไรมากๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าการฟังธรรมคือละความไม่รู้ สำหรับพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ละเอียด ลึกซึ้ง แล้วก็ยาก เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องทวนกระแสของความหวัง หรือความต้องการ เพราะว่าปกติเมื่อมีสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วไม่รู้ ย่อมติดข้อง เพราะว่าไม่รู้ว่า แท้ที่จริงขณะนี้สภาพธรรมกำลังเกิดดับ เมื่อเป็นสภาพธรรมที่ไม่ได้ประจักษ์ว่า เกิด ดับ เห็นว่าเที่ยง ก็มีความยินดี มีความพอใจต้องการในสิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นก็ต้องทราบว่า เราสะสมความติดข้องความไม่รู้ และความต้องการในสิ่งที่กำลังปรากฏตลอดชีวิตมานานแสนนาน ไม่ใช่ชาติเดียว

    เพราะฉะนั้น ก็อย่าเพิ่งหวังที่สติสัมปชัญญะจะเกิดบ่อยๆ แล้วก็มีปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริงที่กำลังเกิดดับ เป็นเรื่องของการอบรมอย่างละเอียดมาก คือด้วยความเข้าใจถูกในขั้นการฟังว่า ไม่มีตัวเรา ที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมขณะนี้เกิดแล้ว โดยที่ไม่มีใครทำ แต่ว่าเกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้ามีความเข้าใจมากขึ้น ก็จะคลายความเป็นตัวเราที่ต้องการผลของธรรม แล้วก็จะมีการปรุงแต่งที่จะทำให้สติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา มิฉะนั้นก็จะเป็นการที่ทำทุกอย่างด้วยความต้องการ ด้วยความเป็นเราตลอดไป ไม่ว่าจะได้ยินเรื่องธรรมฝ่ายดีประการใดก็อยากจะได้ธรรมฝ่ายดีนั้นๆ เช่น ทาน หรือศีล หรือภาวนา แต่ว่าตามความเป็นจริงให้เข้าใจถูกต้องในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพื่อละความไม่รู้ เพื่อละการติดข้อง จึงจะเป็นการเข้าใจคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ผู้ฟัง จากการอบรม ทั้งๆ ที่รู้ แต่รู้ผ่านไปแล้ว คนละขณะจิต ตรงนี้อาจารย์ช่วยอบรมหน่อย

    ท่านอาจารย์ ปกติทุกคนมีอกุศลมากกว่ากุศล ใช่ไหม เพราะฉะนั้น จะรู้อะไร รู้อกุศล แทนที่จะต้องการให้อกุศลนั้นหมด ไม่ให้มี แต่ก่อนอื่นต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง

    ผู้ฟัง แต่มีเหตุปัจจัยมันจะเกิด ก็ เกิด

    ท่านอาจารย์ เหตุปัจจัยของอกุศล เกิดมากหรือว่าของกุศลเกิดมาก

    ผู้ฟัง อกุศลเกิดมาก

    ท่านอาจารย์ แต่ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจในลักษณะของอกุศลนั้นว่า เป็นสภาพที่มีจริงๆ แล้วลักษณะนั้นเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น แล้วก็ดับไป

    ผู้ฟัง แล้วเหตุอกุศล เกิด จะไม่รู้ปรมัตถ์เลย มีแต่สมมติกับบัญญัติทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นเพราะความไม่รู้ ความรู้กับความไม่รู้จะเกิดพร้อมกันในขณะจิตเดียวไม่ได้

    ผู้ฟัง ทานโดยขัดเกลา ทำอย่างไร ไปทำทานโดยไม่ขัดเกลาทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ทำ หรือว่ารู้ว่าขณะนั้นเป็นอย่างนั้น เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นเรื่องของความรู้ ไม่ใช่เรื่องจะไปทำ แต่ถ้าไม่มีความรู้เลย ทำอย่างไร ทานเพื่อขัดเกลา

    ผู้ฟัง ผมอาจจะพูดไม่ถูก คือ ปฏิบัติทาน

    ท่านอาจารย์ ข้อคิดก็คือว่า เราทำได้ไหม หรือว่ามีความเข้าใจว่า ขณะนั้นจิตนั้นเป็นอย่างไร ขณะที่กำลังให้ทาน จิตในขณะนั้นเป็นอย่างไร แต่เราจะไปทำทานด้วยความขัดเกลา ความขัดเกลาสามารถจะทำได้ไหม หรือว่ามีปัจจัยปรุงแต่งที่ให้ขณะนั้นเป็นทานอย่างนั้น ถ้าใครก็ตามที่ไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเลย แล้วจะให้ทานด้วยความขัดเกลา ทำอย่างไร เป็นไปได้ไหม บอกให้ไปทำทานด้วยความขัดเกลา เป็นไปได้ไหม

    ผู้ฟัง อันนั้น คือคำถาม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่าไม่ใช่เรื่องทำ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจซึ่งปรุงแต่ง ทำให้ไม่ได้หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความติดข้องต้องการในผลที่ได้กระทำ

    ผู้ฟัง หมายความว่า ทำโดยไม่หวังผล จึงจะนับว่าเป็นการขัดเกลา

    ท่านอาจารย์ ด้วยปัญญาด้วยที่รู้จริงๆ ว่าผลที่ได้มาก็เพราะเหตุที่ถูกต้อง แล้วก็ชั่วคราวจริงๆ

    ผู้ฟัง ขอถามข้อ ๒. ปฏิบัติธรรมอย่างไรจึงจะเกิดปัญญา ปฏิบัติธรรมอย่างไรถึงไม่เกิดปัญญา

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันเลยกับข้อ ๑. ทำไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องทำ นี่คือการฟังธรรม ฟังให้เข้าใจว่า เป็นธรรม ถ้าสามารถที่จะเข้าใจได้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม ซึ่งไม่มีใครสามารถจะทำได้ แต่ทุกอย่างเกิดแล้ว ขณะนี้ใครทำ เหตุปัจจัยต่างหากที่ปรุงแต่งให้สภาพธรรม แต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นอย่างนี้ แต่ไม่ใช่มีใครไปทำ

    ผู้ฟัง คำพูดที่ว่า เมื่อมีโลภะ แล้วปัญญาจะไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกันไม่ได้แน่นอน โลภะเป็นธรรมฝ่ายไม่ดี เป็นความติดข้อง ส่วนอโลภะไม่ใช่ความติดข้อง เพราะฉะนั้น ธรรมฝ่ายดีจะเกิดกับธรรมฝ่ายไม่ดีไม่ได้เลย

    ขอถือโอกาสสนทนากับคุณจำนง จะสนใจเรื่องของความไม่ประมาท หรือสนใจเรื่องรอยเท้าช้าง

    ผู้ฟัง ที่จริงก็สนใจ ความไม่ประมาท

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจเรื่องความไม่ประมาทมากขึ้น ตรงนี้ก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้ายังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนั้นมาก และละเอียดก็จะเกิดความสงสัยในทุกอย่างที่ได้ยินแม้แต่รอยเท้าช้าง เพราะฉะนั้น คุณจำนงก็พูดถึงท่านพระนันทะ ใช่ไหม ท่านพระนันทะในอดีตปรินิพพานไปนานแล้ว แต่ในขณะนี้เราสามารถที่จะรู้จักธรรมซึ่งทรงแสดงที่มีกับเรา ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้เวลาที่เกิดกับบุคคลอื่น นอกจากเกิดขึ้นกับเราเท่านั้น ที่จะเห็นความไม่ประมาทจริงๆ เพราะว่าส่วนใหญ่ถ้าโดยตัวหนังสือ ฟังแล้วก็เห็นจริง ความไม่ประมาทมีประโยชน์ และโทษทั้งหลายก็มาจากความประมาท แต่จริงๆ แล้วเราไม่ประมาทแค่ไหน ทั้งๆ ที่อ่านดูก็เห็นคุณประโยชน์ของความไม่ประมาทอย่างมาก เห็นแล้วเป็นอย่างไร ในชีวิตจริงๆ เมื่อเห็นแล้วว่า ความไม่ประมาทมีประโยชน์อย่างนั้นๆ แต่ว่าเมื่อฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างไร ยังคงมากไปด้วยความไม่ประมาท เพราะมีเหตุอย่างไร จึงทำให้เป็นอย่างนั้น เช่น ไม่ประมาทในเรื่องของทาน แค่ไหน ใช่ไหม เริ่มสำรวจหรือเปล่าในเรื่องของทาน สิ่งที่มีอยู่แล้วก็เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น โดยที่ไม่เป็นประโยชน์กับตนเอง ประมาทหรือไม่ประมาท ให้หรือไม่ให้ นี่ส่วนหนึ่ง และถึงแม้ว่าขณะที่ให้ทานแล้ว จิตต่อไปเป็นอะไร จะเป็นกุศลไปได้ตลอดไหม ความไม่ประมาทที่กล่าวถึง ที่ทรงสรรเสริญไว้มากมาย ก็อยู่เพียงแค่ตัวหนังสือที่อ่านก็พบ ประโยชน์ของความไม่ประมาทมากมายเหลือเกิน ตั้งแต่เป็นวัฏฏะ จนกระทั่งเป็นวิวัฏฏะ เพราะฉะนั้น ก็ยังคงเป็นตัวหนังสืออยู่ แต่ถ้าเราสามารถจะพิจารณาเข้าใจธรรมที่เกิดกับตนเอง จะเห็นตัวเองตามความเป็นจริงว่า ดีมากหรือว่าดีน้อย ประมาทมากหรือว่าไม่ประมาทมาก

    นี่คือประโยชน์ที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมที่ตนเอง เพื่อจะได้เป็นผู้ที่ไม่ประมาท ถ้าไม่เห็นเราก็คงจะประมาทต่อไป เพราะว่าเรื่องของทานก็เป็นนานๆ ครั้งหนึ่ง อย่างวันนี้ ไม่ทราบว่ามีใครได้กระทำทานกุศลมากน้อยเท่าไร แต่ทานกุศล ถ้าจะมีเกิดขึ้นในวันนี้ ก็หมดไปแล้ว แล้วหลังจากนั้นเป็นอะไร เรื่องของกาย วาจา เยอะไหม เพราะว่าพอเจอใครก็พูด ก็ทัก ก็มีเรื่องต่างๆ แล้วขณะนั้น ศีล คือ ความประพฤติทางกาย ทางวาจา เป็นอย่างไร มีการที่จะนอบน้อมต่อบุคคลที่ควรนอบน้อม ช่วยเหลือบุคคลที่ควรช่วยเหลือ หรือว่ามีการละเว้นทุจริต แม้แต่เพียงเรื่องของวาจา ซึ่งบางทีเราไม่ทราบว่าวาจาทำให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะเหตุว่าเป็นวาจาที่ไม่ใช่เป็น ปิยะวาจา เป็นผรุสวาจา หรือคำที่ทำให้คนอื่นฟังแล้วก็ไม่สบายใจ

    นี่เราลืมคิด แล้วความไม่ประมาทที่เราฟังมามากมาย อยู่ตรงไหน ฟังเท่าไร วันนี้ก็อาจจะมีคนเอากลับไปบ้าน แล้วก็อ่านอีก แล้วความไม่ประมาททางกาย วาจา เป็นอย่างไร นี่ก็เป็นเรื่องที่การเข้าใจประโยชน์จริงๆ ย่อมเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่ง ไม่ใช่เราจะทำ หรือทำได้ แต่พระธรรมที่ทรงแสดงโดยละเอียดทั้งหมดเป็นความจริง ควรแก่การที่เราจะไตร่ตรองเข้าใจ แล้วเป็นปัญญาที่จะทำให้เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งบุญกิริยา คือสภาพของกุศลต่างๆ เจริญขึ้น แม้ว่าการเจริญของกุศลจะไม่มาก เพราะว่าบางคนฟัง ธรรมมานาน แล้วก็บอกว่ายังไม่เห็นก้าวหน้า ก็ไม่ทราบว่า จะให้ก้าวไปทางไหน แต่ถ้ารู้ว่า อกุศลที่สะสมมามากในสังสารวัฏ เทียบกับการฟังจะให้กุศลก้าวไปแค่ไหน หรือว่าจะให้ก้าวไปทางไหน บางคนก็จะให้ก้าวไปถึงจนกระทั่งถึงสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วเวลาที่สติเกิดขึ้นนิดหน่อย ก็อยากจะได้มากๆ อีก อยากจะได้จนกระทั่งถึงประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมขณะนี้หรือเปล่า ถ้าพูดว่า ไม่ก้าวหน้า หรือว่าไม่เจริญ แต่ตามความเป็นจริง ความก้าวหน้าก็ต้องเป็นไปอย่าง ตามสมควรแก่เหตุ คือ การฟัง มีการพิจารณา มีการเข้าใจธรรมที่มีจริงๆ โดยละเอียดอย่างไร เช่น เรื่องของศีล บางคนก็เป็นคนที่พูดน้อย ปลอดภัยดีไหม ไม่มีเรื่องมาก แล้วก็ไม่ต้องพูดเรื่องสิ่งที่ไม่จริงด้วย เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่พูดน้อย แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่พูดไม่จริง แล้วก็พูดสิ่งที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นประโยชน์ คำพูดนั้นก็ไม่น่าฟัง อย่างนี้ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นประมาทหรือไม่ประมาทในกุศล

    ประโยชน์จากการฟังแต่ละครั้ง เป็นเรื่องของธรรมที่จะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้มีความก้าวหน้า แต่ว่าไม่ใช่เป็นเรื่องตัวเราที่จะก้าว แต่ว่ากว่าจะก้าวออกจากอกุศลที่สะสมมานานมาก ให้ทราบว่า สะสมอกุศลมานานมาก แล้วที่จะก้าวออกไปจากอกุศลแต่ละครั้ง แต่ละประเภทของอกุศล จะต้องเป็นการสะสมของกุศลที่ ค่อยๆ เพิ่มกำลังขึ้น

    ชีวิตตามความเป็นจริงของแต่ละคน ถ้าเห็นว่า ยังไม่ก้าวหน้า หมายความว่าต้องการให้ก้าวหน้าไปแค่ไหน เพราะเหตุว่าก้าวหน้าจริงๆ คือ ก้าวจากความไม่รู้สู่ความรู้ แล้วก็ค่อยๆ ก้าวจากอกุศลไปสู่กุศลทีละเล็กทีละน้อย ในขั้นของทาน ในขั้นของศีล เรื่องของกาย วาจา ก็เป็นเรื่องที่ล่วงออกมาเป็นทุจริต ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต มีกำลังจนกระทั่งถึงกายทำให้เป็นกายทุจริต และวาจาก็เป็นไปในทางทุจริต นั่นคือมีกำลัง แต่เวลาที่ไม่มีใครทำอกุศลกรรมอย่างนั้น หรือทุจริตกรรมใดๆ ทางกาย ทางวาจา แต่ใจขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็น อกุศล นี่คือความละเอียดสำหรับผู้ไม่ประมาท เพราะฉะนั้น ผู้ไม่ประมาท ไม่ใช่คนอื่น แล้วผู้ประมาทก็ไม่ใช่คนอื่น ก็เป็นแต่ละคนที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ความไม่ประมาทจะเพิ่มขึ้น หรือว่ายังคงช้ามาก เพราะเหตุว่ากิเลสที่ได้สะสมมามีมาก นี่ก็ในเรื่องของกายวาจา จนกระทั่งถึงแม้ขณะนั้นเป็นผู้ที่ไม่กระทำกายทุจริต วาจาก็ไม่ทุจริต แต่ใจยังเป็นอกุศล ขณะนี้จะรู้แล้วว่า ประมาทหรือไม่ประมาท ที่จะเห็นว่า แม้ใจเป็นอกุศล จะเป็นกุศลได้อย่างไร

    ความสงบในชีวิตประจำวัน เมตตา ความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ขณะใดที่มีความเป็นมิตร ความเป็นเพื่อน ขณะนั้นสบายหรือเดือดร้อน ลองคิดดู นี่ก็เป็นเรื่องที่เรามองเห็น แต่ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำ แต่เป็นเรื่องความเข้าใจถูก ถ้าจะทำ ทำไม่ได้ เพราะบางคนบอกว่า ไม่เป็นมิตรกับคนนั้น ไม่เป็นมิตรกับคนนี้ เป็นไม่ได้ นี่คือจะทำ แต่ว่า ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วก็เห็นโทษของอกุศล เช่น ความหวังร้าย ตรงข้ามกับความเป็นมิตร แต่เวลาใดซึ่งไม่มีความหวังร้าย ไม่มีการแข่งดี ไม่มีความริษยา มีความเป็นเพื่อน พร้อมที่จะเกื้อกูลบุคคลอื่น ก้าวหน้าหรือเปล่า ไม่ประมาทหรือเปล่า หรือหวังจะหมดกิเลส ให้สติสัมปชัญญะ ระลึกลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งรู้การเกิดดับของสภาพธรรม นั่นก็คือผู้ที่ไม่ได้ฟังด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม แต่มีความเป็นเรา พอได้ยินก็ต้องการ ผลอันนั้น ทันที ต้องการมีสติ ต้องการมีปัญญา แต่ว่าจะมาจากไหน ไม่ใช่มาจากเรา ความเป็นตัวตน และความหวัง และความต้องการ เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด เพื่อที่จะให้ฟังแล้วก็พิจารณา แล้วเข้าใจทุกอย่างซึ่งเป็นธรรม ได้ถูกต้องว่าเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่มีตัวเราที่กำลังฟังธรรม เป็นตัวเราที่จะปฏิบัติธรรม หรือว่าเป็นตัวเราที่หวังจะหมดกิเลส ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น นี้ก็เป็นเรื่องประโยชน์ ที่ได้รับ ในเรื่องของการที่จะเข้าใจประโยชน์ ของความไม่ประมาท และถ้าเข้าใจแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าทั้งหมดที่เป็นกุศล ก็ต้องมีความไม่ประมาทด้วย

    ผู้ฟัง อย่างกุศลจิตหรืออกุศลจิต ชีวิตในประจำวันก็เต็มไปด้วยอกุศลจิต จากการเจริญสติปัฏฐาน ก็รู้ว่า ขณะนี้เป็นกุศลจิต อกุศลจิตส่วนมากเลย แล้วก็ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ได้ ถึงเวลาจะเกิด ก็เกิดแล้ว ก็รู้ว่า นี่ในขณะนี้ประมาทอยู่แล้ว ทำอะไรก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าหลายท่านคิดอย่างนี้บ้างหรือเปล่า คือมานั่งคิดถึงตัวเองว่าประมาท ไม่ประมาท คิดอย่างนั้นหรือเปล่า แล้วแต่บุคคล แล้วแต่การสะสม เพราะว่าความคิดก็เป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ แต่ว่าถ้ามีการระลึกได้ว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล ไม่ใช่เราประมาทอีกแล้ว แต่ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล หรือว่าถ้ามีความเข้าใจขึ้นอีกจากการที่ได้ฟังเรื่องของสภาพธรรม ปรมัตถธรรม ก็จะมีการรู้ลักษณะของสภาพนั้นในขณะนั้นว่า เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ขณะนั้นก็ไม่มีการที่จะเป็นเรา เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่ค่อยๆ คลาย ความเป็นตัวตน ก็ด้วยความเห็นถูกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในวันหนึ่งๆ อย่าคิดเรื่องจะทำ หรือว่าอย่าหวังที่จะได้ผลจากอะไรทั้งหมด เพราะเหตุว่าเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับเร็วมาก ขณะนี้ ไม่ต้องมีการรอ ธรรมหนึ่งธรรมใดที่สติสัมปชัญญะจะเกิดระลึก เพราะเหตุว่าปรากฏแล้ว ทางตากำลังมีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ให้เข้าใจถูก ทางหูมีเสียงปรากฏ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งหมดเป็นธรรมที่เกิดแล้วจึงปรากฏ ถ้ายังไม่เกิดปรากฏไม่ได้เลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567