ปกิณณกธรรม ตอนที่ 342


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๔๒

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๔


    ผู้ฟัง ผมขอย้อนกลับไปหาคำถามแรกที่ท่านผู้ฟังบอกว่า เวลานี้ชีวิตก็มีความสมบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้น การที่จะสนใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ดูเหมือนว่า จะไม่เห็นประโยชน์ของชีวิต ที่ว่าชีวิตกับการปฏิบัติธรรมเลย เพราะฉะนั้น ปัจจุบันนี้คงจะมีชีวิตของคนอีกเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ที่ว่าไม่ได้เดือดร้อนอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างมีความสมบูรณ์ แล้วทำไมจะต้องไปสนใจหรือไปปฏิบัติธรรม มีประโยชน์อะไร

    ท่านอาจารย์ พรุ่งนี้ก็ตายแล้ว สนุกเสีย มานั่งฟังทำไม ไม่ต้องฟัง ถ้าคิดอย่างนี้ หรืออาจจะเย็นนี้ตายก็ได้ ใครจะรู้ เพราะฉะนั้น คนนั้นต้องมีปัญญาขั้นหนึ่งที่จะเห็นประโยชน์ว่า เราอยู่ไปทุกวัน แล้วเราก็มีความสุขความสบายทุกวัน พอแล้วหรือคะ แค่นี้พอแล้ว นี่ก็คือคำตอบอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง เพียงแต่อยากมาเรียน อยากมารู้ว่า ทำไมถึงเป็นแบบนี้ๆ

    ท่านอาจารย์ นี่ก็คือไม่พอ ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่สุขสบายไปวันหนึ่งๆ โดยที่ว่า เท่านั้นพอ

    ผู้ฟัง มันเรียบๆ อยู่อย่างนี้ ก็เลย ความรู้สึกก็เลย อยากจะมาเรียน มารู้ มาศึกษาให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นในลักษณะอย่างนี้ ก็จะต้องเป็นธรรมที่ตรงกันข้าม คือเวลานี้มีคนมีความทุกข์ มีความเดือดร้อน เขาก็มาเรียนธรรม มาศึกษาเพื่อจะให้ธรรมผ่อนคลาย ก็ต้องมี ๒ ลักษณะ อีกชีวิตหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ดิฉันไม่เห็นน่าสนใจเลย ใครจะมีทุกข์มีสุขอย่างไร ให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้นแหละ ทำไมจะต้องว่า เขามีความทุกข์หรือเขาถึงมาเรียน เขามีความสุขหรือเขาถึงมาเรียน ไม่ต้องไปสนใจอะไรเลย คนที่มีความทุกข์ไม่มาเรียนก็มาก คนที่มีความสุขไม่เรียนก็มาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่ว่า เราจะต้องไปนั่งคิดว่า เขามาทำไม เพราะอะไรเขาถึงมา ถ้ามีความสนใจที่จะเข้าใจแล้ว ก็เป็นเรื่องของคนที่สะสมมาแล้ว ที่จะเห็นประโยชน์ คนที่ไม่เห็นประโยชน์ มีความทุกข์ก็ไม่มา มีความสุขก็ไม่มา ทำไมจะต้องคิดมาก

    ผู้ฟัง ก่อนจะเจริญสติได้ จำเป็นไหมที่จะต้องละอกุศลให้เบาบางก่อน

    ท่านอาจารย์ รู้สึกจะชอบกันจังเลย เรื่องเจริญสติ

    ผู้ฟัง ผมอยากจะทราบว่าคนที่เจริญสติ แล้วไม่ละอกุศล เป็นไปได้ไหม

    ท่านอาจารย์ คิดว่าคนเจริญสติ แล้วไม่มีอกุศลหรือ

    ผู้ฟัง ไม่ ไม่คิด

    ท่านอาจารย์ นั่นคือคำตอบ ถ้าสติปัฏฐานเกิด คนนั้นก็จะรู้ลักษณะของสติปัฏฐานว่า นี่คือขณะที่สติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะได้ฟังเรื่องเห็น เรื่องได้ยิน เรื่องสี เรื่องเสียง เรื่องอะไรก็ตามแต่ ฟังเรื่อง แต่ขณะใดที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด คนนั้นไม่มีทาง จะไปบอกว่า สติมีลักษณะอย่างนี้นะ สติมีกิจการงานหน้าที่อย่างนี้นะ สติเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นะ เขาไม่สามารถที่จะรู้ได้ เขาก็ไปพยายามควานหาสติอีก ว่า ไหนสติ สติเป็นอย่างไร แต่ขณะใดที่สติเกิด เมื่อนั้นก็หมดความสงสัยว่า ลักษณะของสติเป็นอย่างนี้ คือกำลังระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติในขณะนี้ตามความเป็นจริง แต่ต้องเข้าใจว่า ตามปกติ ตามความเป็นจริง ไม่ต้องสร้างอะไรขึ้นมาเลย ขณะนี้เห็นเป็นปกติ ถ้าเป็นสติก็คือ ค่อยๆ ที่จะเข้าใจว่า ขณะนี้เป็นสภาพรู้ แล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้มีจริงๆ แล้วก็ต้องเข้าถึงลักษณะ คือ อรรถของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือสิ่งซึ่งได้ฟัง แล้วก็จำ แล้วก็เป็นเหตุใกล้ คือเมื่อมีสัญญาที่มั่นคงที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ทำให้มีการระลึก แล้วก็ค่อยๆ ทีละน้อยที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจริงๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน แล้วก็รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ปรากฏทางตาก็คือความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ไม่ว่าใครจะพูดอีกร้อยครั้ง พันครั้ง กี่ชาติ กี่แสนชาติ ก็คือว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งแต่ละคนก็จะรู้สึกว่าจริงๆ แล้วต้องเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่าจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติได้

    ดิฉันก็ถามท่านผู้นั้นบอกว่า เห็นไข่ไก่ไหม แล้วก็ไข่ไก่จะเป็นขนมเค้ก ใช่ไหม จะเป็นหรือไม่เป็น แต่ว่าจากไข่ไก่ที่จะไปเป็นขนมเค้กทำอย่างไร ก็ต้องมีเครื่องปรุงหลายอย่าง เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นโสภณหลายๆ อย่าง แล้วก็ต้องมีบารมีหลายอย่างด้วย ไม่ใช่ว่า ไข่จะเป็นขนมเค้กไม่ได้ ไข่จะเป็นขนมเค้กได้ แต่กว่าไข่จะเป็นขนมเค้ก ต้องมีเครื่องปรุงอย่างอื่นฉันใด การที่ความเข้าใจของเราเรื่องของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เรื่องนามธรรม รูปธรรมมีในขณะนี้ ถ้าจะอุปมาก็เหมือนไข่ไก่ แต่ยังไม่เป็นขนมเค้ก จนกว่าเมื่อไรเราอบรมไป เจริญไป แล้วก็มีการที่จะมีบารมีต่างๆ เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้เรารู้ได้ว่า ในขนมเค็กจะต้องมีไข่ และไข่นี้ก็เป็นขนมเค้กได้ แต่ว่าไม่ใช่เพียงว่ามองเห็นไข่ แล้วก็ทำอย่างไรถึงจะเป็นขนมเค้ก โดยที่ไม่มีเครื่องปรุง ไม่มีอะไรเลย ไม่มีบารมี ไม่มีศรัทธา ไม่มีอะไรเลย มีท่านผู้หนึ่งท่านก็บอกว่า ท่านเคยพูดบอกว่าท่านมีความรู้สึกว่า ตายแล้วก็เกิดอีก ตายแล้วก็เกิดอีก น่าจะเบื่อสักทีหนึ่ง หรือว่าเมื่อไรจึงจะออกไปจากสังสารวัฏ คือ การตายแล้วเกิดได้ แต่ท่านผู้เดียวกันนี้บอกดิฉันว่า ไม่อยากให้สติปัฏฐานเกิดเลย คิดดู สภาพของจิต นี่แสดงอะไร แสดงความไม่มั่นคงของอธิษฐานบารมี เพราะเหตุว่าคนเราในบางครั้งก็อาจจะมีความรู้สึกจากการที่เคยสะสมมาว่า อย่างไรก็ต้องตายแน่ๆ แล้วตายแล้วก็ต้องเกิดอีกแน่ๆ แล้วเกิดอีก จะเกิดเป็นอะไรอีกก็ไม่รู้ แล้วเกิดอีกจะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมไหม จะได้อบรมเจริญปัญญาไหม ก็ไม่รู้ทั้งสิ้น ในชาติซึ่งไม่มีโอกาสที่จะมีโอกาสได้ฟังพระธรรมเลย แล้วก็ต้องเกิดอีกตายอีก ไม่รู้กี่ครั้ง กว่าจะได้ฟังพระธรรมอีก แล้วกว่าจะได้เข้าใจพระธรรมอีก กว่าจะได้เจริญปัญญาอีก ท่านผู้นั้นพูดเหมือนกับว่า ท่านเห็นภัยในวัฏฏะอย่างมากเลย ขณะนั้นที่บอกว่า ไม่น่าที่จะต้องเกิด แล้วก็เมื่อไรถึงจะออกไปจากสังสารวัฏเสียทีหนึ่ง แต่ท่านก็บอกว่าท่านไม่อยากให้สติปัฏฐานเกิดเลย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นที่พูดอย่างนั้น หมายความว่า ด้วยกำลังของโลภะที่ แม้ว่าจะรู้ประโยชน์ของสติปัฏฐานสักเท่าไร ก็ไม่อยากให้แม้สติเกิดในขณะที่ท่านกำลังมีโลภะ อันนี้แสดงให้เห็นว่าท่านยังไม่ทราบว่า หนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไกลแค่ไหน แล้วก็ไม่ใช่ถึงด้วยความอยากว่า เมื่ออยากให้สติเกิด หรืออยากมีปัญญาแล้วก็จะถึงพระนิพพานได้ ไม่ใช่ด้วยความอยากอย่างนั้นเลย

    ในขณะที่กำลังมีโลภะซึ่งทุกคนมี แล้วถ้าสติปัฏฐานสามารถที่จะเกิด ระลึกลักษณะของสภาพของโลภะ แล้วรู้ว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เห็น ไมใช่ได้ยิน ไม่ใช่โทสะ การที่รู้อยางนี้ ไม่ใช่ว่าจะทำให้คนนั้นถึงนิพพานทันที เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกลัว แม้แต่ในขณะที่โลภะเกิด สติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของโลภะ ไม่ควรที่จะให้ไม่อยากให้สติเกิด เพราะถึงแม้สติเกิดก็ไม่ได้มีกำลังมากมายมหาศาลอะไร ไม่ใช่ว่า อยากให้สติปัฏฐานวันนี้เกิดมากๆ เมื่อไร จะทำอย่างไร นั่นผิดทันที ไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า สติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ละเอียดมากๆ ละเอียดที่สุด ละเอียดจนไม่มีอะไรเหลือที่จะสงสัยว่าเป็นตัวตนได้ เพราะเหตุว่าทุกอย่างแม้แต่ความคิด หรือว่าลักษณะของเจตสิกต่างๆ ในรูปแบบไหนๆ สติปัฏฐานก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง อย่างโลภะ ขณะที่โลภะเกิด ก็ไปรู้ที่เวทนา

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ ไม่ได้หมายความว่าจิต เกิดขึ้นขณะหนึ่งไม่ได้มีเวทนา เวทนาเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพรู้สึกเกิดกับจิตทุกดวง

    ผู้ฟัง ก็ไปรู้สึกพอใจ

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ สติจะระลึกอะไร ไม่สำคัญเลย ไม่ใช่ไปบิดเบือนสติให้กลับ ไประลึกอย่างนั้น อย่างนี้ นั่นคือลักษณะของตัวตนซึ่งกำลังพากเพียรพยายามที่จะจัดแจง

    ผู้ฟัง แต่เราก็รู้ว่า นั่นเป็นโลภะ แต่ว่าจริงๆ แล้วเรารู้เวทนามากกว่า โสมนัส

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ ถ้าขณะนั้นก็ไม่ใช่รู้โลภะ ถ้าจริงๆ แล้วรู้โสมนัส ขณะนั้นไม่ได้รู้โลภะ รู้เวทนาทีละอย่าง

    ผู้ฟัง แล้วอย่างโทสะนี้ ยิ่งไม่รู้สภาพจิตใหญ่เลย รู้แต่เวทนา

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ ไม่ว่าอะไรเลย รู้อะไรก็ได้ ขอให้รู้ให้ทั่ว เราเข้าใจแล้ว เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ก็คือว่า เดี๋ยวนี้เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่กำลังพูด ที่กำลังคิด ที่กำลังเข้าใจอย่างนั้น คือขอให้รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ขณะไหน อย่างไรก็ได้ทั้งหมด สิ่งที่แล้วไปแล้วก็ผ่านไป เดี๋ยวนี้ขณะนี้กำลังคิดอย่างนี้ กำลังคิดต้องแยกจากเห็น ต้องแยกจากได้ยิน

    ผู้ฟัง แต่เราก็มักจะสังเกตุสิ่งอื่นประกอบด้วย เช่น ถ้าเกิดโทสะ เราก็มักจะสังเกตุความเร่าร้อน

    ท่านอาจารย์ ได้ทั้งหมด อะไรก็ได้

    ผู้ฟัง แล้วเราก็บอกว่ามันเป็นโทสะ จริง

    ท่านอาจารย์ เราพูดขณะนั้น ก็คือขณะนั้นกำลังมีคำเป็นอารมณ์ ต้องรู้ละเอียดถึงอย่างนั้น ชั่วขณะที่ต่างกันไป

    ผู้ฟัง คงไม่ได้ท่องเรารู้ว่านั่นเป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เรื่องรู้แล้วละทั้งนั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องไปติดที่อย่างหนึ่งอย่างใดเลย ยิ่งรู้ก็ยิ่งละ

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นความเข้าใจของผมส่วนตัวว่า ถ้ากุศลทั่วๆ ไปยังไม่เจริญ สงสัยว่าสติปัฏฐานคงจะไม่เกิดแน่ ชาตินี้

    ท่านอาจารย์ ก็ยังไม่เกิดก็ไม่เกิด แต่เวลาเกิดก็เกิด แล้วจะเป็นอนัตตา หรือว่าจะเป็นอัตตา สติ จะเป็นอนัตตา หรือจะเป็นอัตตา

    ผู้ฟัง ไม่ไปคัดค้านคำว่า อนัตตา แล้วพยายามพูดกับตัวเองเสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจที่เราอยากจะให้เป็น ให้เกิดได้

    ท่านอาจารย์ ลักษณะนี้เหมือนคอย

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดได้ก็ดี

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง แต่ว่ามันก็ไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าโลภะคอยขัดขวาง เป็นเครื่องเนิ่นช้า ทำไมไม่ปล่อย ไม่วาง รู้แล้วว่าเป็นอนัตตา แล้วจะไปหวังทำไม หรือว่าจะไปสิ้นหวังทำไม ไม่ใช่เรื่องของเรา วันหนึ่งๆ ก็อยู่ไป แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดเกิดขึ้นปรากฏ ไม่ใช่ไปฝืน ตัวที่ต้องการเป็นตัวที่ฝืนมากๆ เป็นตัวที่รอ ตัวที่คอย เมื่อไรจะโผล่มาให้เห็นหน้าสักทีหนึ่ง

    ผู้ฟัง ก่อนที่จะศึกษาธรรม สติขั้นทาน ขั้นศีล เราไม่ทราบเลย

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นสติปัฏฐานเกิด จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่เรา แล้วก็จะมีสภาพธรรมแต่ละอย่าง อย่างเวลาที่เรารับประทานอาหารอร่อย เราก็บอกว่าโลภะ ไม่ได้หมายความว่าเรารู้ลักษณะจริงๆ ของโลภะ เพียงแต่ว่าเราประเมินด้วยความเข้าใจว่า ขณะนี้ที่กำลังอร่อยต้องมีโลภะ แต่จริงๆ แล้วไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะ เพราะอะไร ขณะนั้นมีเห็น ขณะนั้นมีคิด แล้วถ้าจะรู้ลักษณะของโลภะ ต้องแยกออกว่า ไม่ใช่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ นั่นคือหมายความว่าสติระลึกลักษณะสภาพที่พอใจ รู้ในอาการที่พอใจ โดยลักษณะที่ไม่ใช่เราด้วย ไม่ใช่ว่าพอใครกำลังรับประทานอาหารอร่อย ก็ตอบได้ว่า โลภะ คนนั้นกำลังมีสติปัฏฐานเกิด นั่นผิด ใครๆ ก็พูดได้ กำลังโกรธ ก็บอกว่าโกรธ ก็พูดได้ แต่ไม่ได้หมายความ คนนั้นสติปัฏฐานเกิด ถ้าสติปัฏฐานเกิดก็หมายความว่า รู้ลักษณะของสภาพรู้ หรือนามธรรม ซึ่งไม่ใช่ตัวตน แล้วก็มีลักษณะจริงๆ ในขณะนั้นที่ต่างกับลักษณะอื่น สติจะระลึกที่ลักษณะของสภาพใด ก็รู้เฉพาะในลักษณะของสภาพนั้น ถ้ากำลังรับประทานอาหารอร่อย ก็บอกว่าโลภะ ทั้งๆ ที่ทางตาก็ไม่ได้รู้ว่า กำลังเห็นเป็นนามธรรมเป็นสภาพรู้ แล้วจะไปรู้เฉพาะลักษณะของโลภะ จริงๆ แล้วนึกถึงคำโลภะ นึกถึงชื่อโลภะ แล้วก็พูดออกมาว่า เป็นโลภะ แต่สติไม่ได้ระลึกที่ลักษณะโลภะ

    ผู้ฟัง ถ้าเราประเมินผลที่เราปฏิบัติ เจริญสติปัฏฐาน ประเมินผลของตัวเราเอง จะเป็นโลภะไหม อย่างความโลภ ความโกรธ ความหลงของเราลดลงหรือเปล่า มากน้อย แค่ไหน

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะมีปัญญา รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ไม่ต้องประเมิน

    ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ขณะไหนตลอดหมด ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นสติปัฏฐานหมด

    ผู้ฟัง มีขั้นละเอียด ขั้นหยาบไหม สติ

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่สติจะระลึกอะไรได้ หมายความว่าตอนต้นๆ จะระลึกทั่วทั้ง ๖ ทาง เป็นไปไม่ได้ จนกว่าจะชำนาญขึ้น

    เรื่องสติปัฏฐาน คือ สิ่งที่สติจะระลึกให้ถูกต้อง ขณะนี้ทุกอย่างเป็นธรรมหมด ไม่มีอะไรไม่ใช่ธรรม แต่ทำไมไม่เห็นว่าเป็นธรรม ไม่ใช่คนหนึ่งคนใดไม่เห็น อวิชชา ไม่สามารถจะเห็นได้ เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ว่า เป็นธรรม ต้องเป็นกิจของปัญญา ปัญญาสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง แล้วสามารถที่จะรู้ลึกลงไป กว้าง จนกระทั่งไม่เหลืออะไรที่จะเคลือบแคลงสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่คนที่ปัญญายังไม่เกิด ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญา คือ ขั้นแรกมาเจริญสติ ไม่มีการเป็นไปได้เลย บอกว่าโรงเรียนเขาสอนว่าอย่างนั้น โรงเรียนสอนเรื่องของที่เราจะบอกได้เลยว่า สมัยนี้เกือบจะพูดได้ว่า คนที่สอนพระพุทธศาสนาไม่ได้เรียนพระพุทธศาสนา แล้วเรายังจะเชื่อไหมที่เขาสอน ในเมื่อเขาไม่ได้เรียน เพราะฉะนั้น แต่ละคนมีตัวเองเป็นที่พึ่ง เราก็ต้องพิจารณาว่า อะไรมันเป็นอะไร เท่าที่เราได้ยินได้ฟังมาเรื่องธรรมอย่างนี้ มีเหตุผลไหม แล้วก็ได้ยินได้ฟังว่า มาเด็กๆ ก็มานั่งทำสติปัฏฐาน เจริญปัญญา วิปัสสนากัน มันเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อเด็กก็ไม่รู้เลยว่า กิเลสเป็นอย่างไร แล้วเด็กก็ไม่ได้อยากหมดกิเลส หรือแม้แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ยังไม่ได้อยากหมดกิเลส แล้วก็จะมานั่งทำสติปัฏฐานกัน เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย นอกจากว่าเป็นเรื่องไม่รู้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ขั้นก็คือว่า ต้องฟังให้เข้าใจจริงๆ เสียก่อน ไม่ต้องไปเอื้อมถึงสติปัฏฐาน ต้องใช้คำว่า เอื้อมถึง

    ผู้ฟัง อันนี้ ดิฉันอยากจะย้ำว่า เป็นอย่างนี้ ยังไม่ต้องเอื้อมถึงตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องไปทำด้วย ตัดปัญหาไปเลย จะไปวัด จะไปอุโมงค์ จะไปไหน อะไรๆ ไม่ต้อง เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เข้าใจอะไร เราก็ต้องเข้าใจธรรม นี่คือการอบรมเจริญปัญญาเป็นขั้นๆ จากการฟัง ถึงจะรู้ว่าเป็นธรรม ก็ยังมีกิเลส เพราะอะไร แสนโกฏิกัปป์ ทุกวันผ่านมาพร้อมกับอวิชชา และโลภะ และอกุศลตั้งมากมาย แล้วเราจะรีบทำชาตินี้ ดี๋ยวนี้จะไปตรงนั้นตรงนี้ให้สติปัญญาเกิดมากๆ มันไม่ใช่หนทางที่จะรู้ความจริง เพราะเหตุว่าความจริงในขณะนี้ คือ เห็นกำลังเห็น ได้ยินกำลังได้ยิน แล้วก็คิดนึกก็กำลังคิดนึก อาจจะเป็นโลภะ หรืออาจจะเป็นโทสะ หรืออาจจะเป็นสติ หรืออาจจะเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งสภาพธรรมมากมาย เพียงแค่ขณะจิตหนึ่งซึ่งเกิด มีสภาพธรรมตั้งหลายอย่าง ความรู้สึกก็มี ความจำก็มี มีมากล้นเหลือ ที่เราจะรู้โดยเราไม่ต้องไปไหน เราไม่ต้องไปทำอะไรมากลบเกลื่อนสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้น มีแล้วปรากฏ เพราะเหตุปัจจัย แต่ถ้าเราคิดจะทำทันที เราเคลื่อนไปแล้ว

    ผู้ฟัง พอเรามาเรียนธรรม เราเข้าใจว่า นี้มันเกิดขึ้นเองโดยเหตุปัจจัย โดยที่เราไม่ได้ทำ อย่างที่อาจารย์ว่า ดิฉันจะออกข้อคิดให้เห็นอย่างนี้ ธรรม

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณสุรีย์เข้าใจอย่างนี้ก็ดีมาก แสดงว่าเข้าใจว่า สติไม่มีใครทำได้เลย เช่นเดียวกับที่อกุศลจิต แต่ละประเภทเกิดขึ้น โดยเราทำขึ้นไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่มันเกิดขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่าเราไปเห็นดอกไม้ๆ ๆ ๆ ตลอดเวลาที่เราไปวันนี้ เข้าไปก็เห็นแต่ดอกไม้ มันก็เลยเห็นม็อบ กลายเป็นดอกไม้

    ท่านอาจารย์ จะด้วยประการใดๆ ก็ตาม ทุกขณะไม่มีใครสร้าง นอกจากเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ถ้าเสียงไม่กระทบหู ได้ยินก็ไม่เกิด ถ้าความเข้าใจขั้นฟังเรื่องสติปัฏฐาน ไม่มี สติก็เกิดระลึกไม่ได้ ไม่ว่าเราจะไปอยู่ที่ไหนทั้งหมด เราทิ้งไปได้เลย เรื่องจะทำสติ หรือจะไปหาสิ่งแวดล้อมให้สติ เพราะว่าขณะนี้มีสภาพธรรมแล้ว ถ้าเรามีความเข้าใจจริงๆ ถ้าเราเป็นคนที่ช่างสังเกตุ เราจะเห็นว่า ธรรมเป็นอนัตตา มันก็ช่วยให้เราไม่ไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา ถ้าเรามีความเข้าใจที่มั่นคงจริงๆ ในสภาพที่เป็นอนัตตา ต่อให้เราจะเรียนพระไตรปิฎกจบกี่รอบ หรือว่าพระอภิธัมมัตถสังคหะ พระสูตร พระอะไร ก็ตาม ทั้งหมด กี่ชาติ ลืมไปแล้วหมด แต่ชาตินี้สามารถจะเข้าใจความหมายของอนัตตา ความหมายของธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนได้ นี่คือจุดประสงค์ ไม่ใช่ให้เราไปนั่งท่อง นั่งเรียบเรียง อะไรต่ออะไร เป็นวิชาการต่างๆ แต่กำลังฟัง ให้รู้ว่าฟังเรื่องสภาพธรรม อย่างฟังเรื่องเห็น ไม่ใช่ให้ฟังแต่เรื่องเห็น กำลังเห็น เป็นสิ่งที่จะทำให้เราน้อมพิจารณาว่า ที่เรากำลังฟังว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า มีตัวจริงๆ ให้พิสูจน์ แต่ทำไมเราไม่พิสูจน์ เพราะว่าปัญญาเราไม่พอ แล้วเราจะไปที่อื่น มันก็ไม่มีประโยชน์ แต่ว่าถ้าเราฟังจนกระทั่งรู้ในที่สุด เรารู้จริงๆ ว่า ลักษณะรู้ สภาพรู้ ธาตุรู้ ก็กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ แต่ว่าพอเริ่มระลึกที่จะค่อยๆ เข้าใจ มันจะชัดเจนไปไม่ได้ มันไม่มีทาง เพราะว่าแสนโกฏิกัปป์มาแล้วก็ได้ อวิชชาเขาก็ไม่เคยจะมาพิจารณาว่า กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ กำลังได้ยินเป็นสภาพรู้ ต่อเมื่อไรเราได้ฟังพระธรรม แล้วเราก็เริ่มรู้ว่า ลักษณะของสภาพรู้ อาการรู้ ธาตุรู้มี แต่ว่าพอพระองค์ตรัสว่า เป็นสภาพรู้ แล้วจะให้เราเกิดการประจักษ์แจ้งทันที เหมือนท่านอื่นๆ ที่ท่านอบรมมานานแล้ว เป็นไปไม่ได้ ที่บอกว่า ไม่แน่ใจว่า ที่เรารู้ๆ จะถึงกาลหรือการประจักษ์แจ้งสภาพธรรมได้จริงหรือ ที่กำลังรู้ทีละเล็กทีละน้อย นามนั้นบ้าง รูปนี้บ้าง

    ผู้ฟัง กิเลสวันๆ มันเกิดมาก แต่ว่าสติปัฏฐานเกิดน้อย มันจะทันกันหรือ เพราะว่ากิเลสจะต้องท่วมทับกับกุศลทั้งหลาย มันคงจะไม่ทันกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วคำตอบดิฉัน คุณหมอจำได้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง คำตอบของอาจารย์นี้บอกว่าเป็น จิรกาลภาวนา ว่าน้ำที่มันหยดลงในตุ่มวันละหยด หรือนานๆ หยด มันก็มีวันเต็ม จะเมื่อไรก็เมื่อนั้น

    ท่านอาจารย์ แล้วอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราเริ่ม เริ่มจริงๆ ที่จะรู้ลักษณะของสภาพรู้ทางหนึ่งทางใดทีละเล็กทีละน้อย เราจะไม่รู้หรือว่า นี่เราเริ่ม เรายังรู้อย่างนี้ ถ้าเราเริ่มทางโน้นทางนี้ ลักษณะของนามนั้นบ้าง รูปนี้บ้าง ปัญญาเราจะไม่เจริญขึ้นหรือ เพราะถ้าปัญญาเจริญขึ้น ปัญญาจะไม่เติบโตสมบูรณ์ขึ้น จนกระทั่งสามารถจะทำกิจของปัญญาได้เต็มที่หรือ ถึงแม้ว่าอกุศลมีก็จริง แต่อกุศลไม่ใช่พละ ไม่ใช่สภาพที่มีกำลัง ปัญญามีกำลังกว่ามาก พวกศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ เขามีกำลังอย่างไร คือมีกำลังสามารถที่จะดับอกุศลได้

    เราก็รู้เลยว่า ความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย ที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ต้องเป็นความรู้ที่เพิ่มขึ้นได้ แล้วต้องรู้ชัดกว่านี้อีกได้ ต้องสามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นจริงอย่างนี้ได้ด้วย แล้วเมื่อไรปัญญาค่อยๆ รู้ อวิชชาก็ค่อยๆ คลาย แล้วจะรู้จริงๆ ว่า การคลายมันเป็นขณะไหน ลักษณะของการคลายคืออย่างไร ลักษณะของการประจักษ์แจ้งคืออย่างไร ลักษณะของการเริ่มอบรมคืออย่างไร ผู้นั้นรู้ด้วยตัวเอง เป็นปัญญาจริงๆ แล้วไม่กลัวเลย ไม่ว่าจะที่ไหน เพราะเหตุว่าไม่มีใครทำสติได้ จะต้องไปกลัวทำไม ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ไหน ใครๆ ก็ทำสติไม่ได้ แล้วสติจะปรากฏความเป็นอนัตตาว่า สิ่งที่เราคิดว่า สติจะเกิดไม่ได้ สติเกิดได้ เพราะเขาเป็น อนัตตา แล้วเวลาเกิด เราก็จะรู้ว่าเพราะอะไร สติจึงได้เกิด ถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการรู้ ไม่มีการเข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ สติจะระลึกไม่ได้ ระลึกไม่ถูก ไม่ใช่สติแน่ ถ้าเป็นความไม่รู้ หรือไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้พยายามเน้น ในเรื่องของการศึกษาเอาไว้มาก โดยเฉพาะถ้ามีโอกาส ก็คือว่าทั้งอ่าน ทั้งฟัง ทั้งสนทนา ทีนี้สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าการศึกษาในเรื่องของจิต เจตสิก รูป หรือว่าฟังเรื่องจิต เจตสิก รูปน้อย โอกาสที่สติปัฏฐานจะเกิด จะเป็นไปได้ หรือว่าจะต้องฟังเรื่องจิต เจตสิก รูปให้มากๆ จนกระทั่งเป็นความเข้าใจก่อนอย่างนั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ วันนี้ คุณศุกลคิดเรื่องอะไร

    ผู้ฟัง คิดทุกเรื่องที่เห็น ที่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ แล้วคิดเรื่องอะไรอีก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567