ปกิณณกธรรม ตอนที่ 310


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๐

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ เพราะการขอลำบากใจ คนที่จะขอก็ลำบากใจที่จะต้องขอ เพราะว่าถ้าไม่มีปัญหา ไม่มีเรื่องอะไรก็ไม่ต้องขอ ใช่ไหม แต่เมื่อมีแล้วก็เป็นทุกข์ ที่จะต้องขอ ถ้าบุคคลนั้นให้ได้ ก็ดี ก็หายทุกข์ แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่สามารถจะให้ได้ ก็เป็นทุกข์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ผู้ขอก็เป็นทุกข์ที่ไม่ได้รับ ผู้ให้ก็เป็นทุกข์ที่ไม่ได้ให้ เพราะไม่สามารถที่จะให้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็อย่าเอาทุกข์ให้คนอื่น คือไม่ขอสิ่งซึ่งไม่ควรขอ

    ผู้ฟัง เรื่องทุกข์ คือ ผมเข้าใจว่า คำว่าทุกข์ หมายถึงสภาพที่ทนไม่ได้ ไม่ว่าใครจะทำให้เราไม่ชอบ หรือว่าเราทำตัวเราเอง เราก็เป็นทุกข์ได้ ทีนี้ ผมก็เลยมานึกถึงคำว่า ที่จริง ทุกข์ไม่ใช่ว่าเขาทุกข์ เราทุกข์ เขาเป็นคนทำให้เราทุกข์หรือเปล่า บางทีเขาพูดเสียงดัง เรารำคาญหู หรือเสียงหมาเห่า เรารำคาญ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราทุกข์ เราไม่ได้ทำของเราเอง คนอื่นทำให้เราทุกข์

    ท่านอาจารย์ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องเข้าใจตรงจริงๆ มิฉะนั้นแล้วเราก็จะเข้าใจผิด เช่น เวลาที่เราคิดว่า คนโน้นทำให้ คนนี้ทำให้ เราลืมเรื่องกรรมของเราเอง ทำไมเขาไม่ทำให้คนอื่น ทำไมต้องเป็นเรา ซึ่งสมัยหนึ่งก็จะใช้คำนี้กันมากเลยว่า ทำไมต้องเป็นเรา แต่คำตอบของธรรมคือ ต้องเป็นเรา เพราะว่าเราทำแล้ว เราได้เคยทำอย่างนั้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น ผลที่เราได้รับก็เหมือนกับที่เราเคยทำ ถ้าคิดอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ก็จะถูกต้อง ตามความเป็นจริงเป็นแต่เพียงความคิดนึกเรื่องราว แต่สภาพธรรมจริงๆ ก็จะไม่พ้นจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น แล้วก็เย็น หรือร้อน อ่อน หรือแข็ง ตึง หรือไหว ที่กระทบกาย สภาพธรรมจริงๆ มีเท่านี้ แต่ด้วยความคิดนึกปรุงแต่งด้วยความไม่รู้สภาพธรรมที่แท้จริงของธรรมเหล่านี้ ก็ยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล แล้วก็เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ทำให้เกิดสุข เกิดทุกข์ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า ห้ามไม่ให้มีการช่วยเหลือ ห้ามไม่ให้ไปบอกเขาว่า เขาทำไม่ถูก แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรม เพราะอะไร ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีคำสั่งในพระพุทธศาสนา มีแต่คำสอน คำเทศนา สำหรับคฤหัสถ์ ถ้าสำหรับบรรพชิตก็ด้วยพระปัญญาคุณที่ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่ออนุเคราะห์ในเพศบรรพชิตซึ่งเป็นผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน แล้วก็มุ่งมั่นที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศนั้น แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ใจของคนเต็มไปด้วยอกุศล หรือกิเลส ถ้าไม่ศึกษาธรรมคิดว่าเป็นคนดี หลายคนก็เข้าใจว่า ตัวเองดี แต่ถ้าศึกษาธรรมแล้ว ไม่ดีหรือดีมากกว่ากัน ถ้ารู้ความละเอียดของจิตใจก็จะเห็นได้ว่า ไม่ดีมาก แล้วคนอื่นล่ะ ถ้าเราไม่ดีอย่างนี้ คนอื่นเหมือนกับเราหรือเปล่า หรือว่ามากกว่าเรา

    นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ซึ่งเราไม่จำเป็นที่จะต้องคิดอย่างนั้น แต่ประโยชน์เกื้อกูลก็คือว่า ทางเดียวให้เขาเข้าใจพระธรรม จะโดยประการใดๆ ก็แล้วแต่ นั่นเป็นสิ่งซึ่งเมื่อเขาได้ข้อความเหตุผลของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ขึ้นอยู่กับปัญญาการพิจารณาของเขา ถ้าเขาแม้ฟัง แต่ก็ไม่ได้พิจารณาเหตุผลโดยความถูกต้อง ใครจะไปแก้คนนั้นได้ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย แต่ว่าผู้ที่ศึกษาธรรมสามารถที่จะเข้าใจได้ตามความเป็นจริงว่า เป็นเรื่องของความคิดนึกทั้งหมด เมื่อมีสิ่งใดกระทบตา คิดเรื่องนั้นยาว เมื่อมีสิ่งใดกระทบหู คิดเรื่องนั้นยาว แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้ก็ไม่มีปรากฏ เสียงที่เคยได้ยิน จะเป็นคำชม หรือคำติเตียนก็แล้วแต่ ขณะนี้ก็ไม่ได้ปรากฏ มีสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะสั้นๆ แต่ว่าเรื่องราวความคิดนึกในสภาพธรรมนั้นมากมาย ที่จะทำให้เกิดความสุข ความทุกข์ เมื่อศึกษาธรรมแล้วจะเข้าใจได้ แล้วก็รู้ว่า ที่เราคิดว่าเป็นคนอื่น คือความคิดนึกของเรา เพราะว่าคนอื่นคือปรากฏทางตา แล้วก็เสียงปรากฏทางหู หรือว่าจะกลิ่นปรากฏทางจมูก รสอาหารต่างๆ หรืออาจจะเป็นรสเนื้อ รสอะไรก็แล้วแต่ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น การกระทบสัมผัส กระทบกระทั่งกัน ก็คือการกระทบสัมผัสทางกายเท่านี้ เพราะฉะนั้น อยู่ในโลกของความคิดตลอดเวลา

    ตอนที่ทุกคนเกิด เห็นอะไรบ้าง ขณะแรกที่จิตเกิดในครรภ์ของมารดา เห็นอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ไม่เห็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ได้ยินอะไรบ้างไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งกระทบสัมผัส ไม่รู้ทั้งนั้น แต่มีจิตเกิดแล้ว ไม่มีแสงสว่างใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่มีอาหารเลย ขณะนั้นแม้ว่า จะไม่มีสิ่งใดๆ กระทบ แต่จิตซึ่งเป็นสภาพรู้ก็เกิดแล้ว พร้อมที่จะรับกระทบกับสิ่งที่กระทบตา เมื่อเกิดแล้วมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็พร้อมที่จะรับกระทบ แล้วแต่ว่าสิ่งนั้นจะกระทบจักขุปสาท โสตปสาท ชิวหาปสาท ฆานปสาท หรือกายปสาท เมื่อกระทบแล้วที่จะห้ามความคิดนึก เป็นไปไม่ได้ เพราะธรรมดาของสิ่งที่ปรากฏ ก็จะมีการคิดนึกถึงสิ่งนั้น ถ้าสิ่งนั้น ไม่ปรากฏเลย มีใครจะคิดถึงสิ่งนั้นได้บ้าง สิ่งที่ไม่เคยปรากฏ แล้วจะไปคิดถึงที่ไม่ปรากฏ จะชอบสิ่งที่ไม่ปรากฏ จะไม่ชอบสิ่งที่ไม่ปรากฏ ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสิ่งใดกระทบ หรือว่าจะเป็นทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สิ่งนั้นหมดแล้ว แต่ความทรงจำเก็บไว้ จำได้ว่า ตั้งแต่เด็กทำอะไรบ้าง เล่นอะไรบ้าง สนุกอย่างไรบ้าง นี่คือความจำทั้งหมด ในเมื่อเรื่องทั้งหมด หมดไปแล้ว ไม่มีทางที่จะกลับมาเป็นขณะนี้ได้เลย

    ถ้าเข้าใจจริงๆ ที่ว่า เป็นคน ในขณะนี้ทั้งห้องก็มีแสงสว่าง แล้วก็มีสีต่างๆ ปรากฏ แล้วก็มีความทรงจำในรูปร่างสัณฐานว่า เป็นคน เป็นแก้วน้ำ เป็นโต๊ะ ถ้าเป็นคนยังจำชื่อได้ด้วยว่า เป็นใคร นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ขณะที่เห็น แต่ต้องเป็นขณะที่คิด

    เพราะฉะนั้น ถ้าคิดถูกก็ไม่เป็นทุกข์ แต่ถ้าคิดผิดว่า มีคนจริงๆ ที่ทำให้เราเดือดร้อน ไม่คิดว่าเป็นเพราะเราทำกรรมไว้จึงต้องมีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย ที่จะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็คิดนึกเป็นเรื่องราวต่างๆ

    ผู้ฟัง อาจารย์กำลังสอนปรมัตถ์พวกเราอยู่ แต่ทีนี้ในสภาพเดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ปรมัตถ์

    ท่านอาจารย์ ใช่ ขณะนี้เป็นปรมัตถธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ผมฟังได้ แต่มันก็ยังอดหงุดหงิดไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนี้ไม่ใช่ธรรม หรือไม่ใช่ปรมัตถธรรม ไม่มีธรรม ตรงไหนเป็นธรรม ที่ไหนมี หาธรรมที่อื่นไม่ได้เลย ต้องเป็นสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ แล้วเข้าใจสิ่งที่มี ที่เคยเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรื่องราวต่างๆ ว่า แท้ที่จริงๆ เป็นธรรมหลากหลายชนิด มากมายหลายขณะ แต่ว่าธรรมไม่ไกลตัวเลย อะไรเกิด คือ ธรรมเกิด ธรรมอะไร จิต เจตสิก รูปเกิด ถ้าไม่มีธรรม คือ จิต เจตสิก รูป คนก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี

    เราก็ต้องเข้าใจถึงแก่นจริงๆ ถึงปรมัตถธรรมจริงๆ ว่า ความจริงที่เราไม่เคยเข้าใจมาก่อนเลย ไม่เคยคิด คิดไม่ถึงด้วยตัวของตัวเอง ต่อเมื่อได้ศึกษาธรรม แล้วจึงเข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้อะไร ทรงแสดงธรรมอะไร ซึ่งทั้งหมดก็เป็นอนัตตา ฟังอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าห้ามใคร หรือว่าบังคับใคร หรือว่าบอกใครให้ไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่หลง เป็นไปไม่ได้เลย จนกว่าเมื่อศึกษาธรรม มีความเข้าใจแล้วก็ยังแล้วแต่เหตุปัจจัยด้วย ว่ามีปัจจัยที่จะให้เกิดชอบ หรือว่ามีปัจจัยที่จะให้เกิดโกรธ ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง แต่ว่ามันเข้าใจยากเหลือเกิน เข้าใจยากจริงๆ

    อดิศักดิ์ เพราะว่าเราเอาเราเป็นบรรทัดฐานเข้าไปวัดกับธรรมของพระพุทธองค์ซึ่งลึกซึ้ง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น วิธีที่ผมควรจะทำก็คือว่า

    อดิศักดิ์ เวลานี้ที่ทำได้คือฟังธรรม ฟังปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ยอมแพ้แล้ว

    นิภัทร อย่าใจร้อน ต้องลูบๆ คลำๆ บ่อยๆ คือ สิ่งใดที่มันยาก สิ่งใดที่เราเห็นว่า มันเหลือวิสัยจริงๆ ถ้าหากเราตั้งใจจริงๆ สนใจ ใส่ใจอยู่บ่อยๆ บ่อยๆ สิ่งนั้นจะกลายเป็นของง่าย ของสะดวกขึ้น แต่ที่เราท้อถอย เพราะเราพอเห็นแล้วก็กลัวแล้ว ยังไม่ทันได้ทดลองเลย นี่เหมือนกัน ธรรมนี้เราคิดในทางธรรมอยู่บ่อยๆ บ่อยๆ บ่อยๆ ไม่คิดถึงเรื่องอื่นมากมายนัก ก็จะทำให้เห็นว่า ธรรมควรศึกษา ควรจะรู้ เพราะว่าไม่มีสิ่งอื่นแล้วที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้ เพราะว่าธรรมท่านพูดถึงเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป คือตัวเรานี้แหละ พูดง่ายๆ คือตัวเรา ถ้าเรายังจะทอดทิ้งตัวเรา แล้วใครจะมาช่วย

    ท่านอาจารย์ คุณเด่นพงศ์บอกว่ายากมาก ใช่ไหม ยิ่งพูดว่ายากเท่าไร ยิ่งเป็นการสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามากเท่านั้น คนที่คิดว่า ธรรมง่าย ไม่ได้สรรเสริญพระปัญญาคุณเลย เพราะง่ายเป็นของธรรมดา แต่ว่าเมื่อศึกษาแล้วจะรู้จริงๆ ว่า พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ที่ได้แสดงไว้ในพระไตรปิฎก ยิ่งทำให้เห็นพระคุณชัดเจนขึ้น แล้วก็ยิ่งรู้ว่า เป็นเรื่องที่ยากกว่าเรื่องอื่น จนกระทั่งแม้ครั้งเมื่อได้ตรัสรู้ก็ทรงไม่น้อมพระทัยที่จะแสดงพระธรรม เพราะเหตุว่าฝืนกระแสของโลภะ วันนี้ รับรองได้ว่า ไม่มีใครฝืนกระแสของโลภะ เคยฝืนบ้างไหม แล้วแต่โลภะจะให้ทำอะไร แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องของกุศล ก็แล้วแต่ศรัทธา สติ วิริยะ ปัญญาที่ได้สะสมมาที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดความคิด หรือการกระทำที่เป็นกุศล แต่ว่าวันหนึ่ง กุศลมากหรืออกุศลมาก เราก็พอจะรู้ว่า เราเป็นทาสของอะไร ของอกุศลทั้งนั้น ทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ทั้งโมหะ และถ้าไม่มีการศึกษา หรือว่าไม่มีปัญญาที่จะเข้าใจสภาพธรรม แล้วจะไม่ให้มีโทสะ และโลภะได้อย่างไร ถ้ายังคงมีโมหะ ความไม่รู้สภาพตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ลืม โอวาทปาฏิโมกข์ ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ความอดทน ความเพียร เพียรอย่างอื่นก็ยังทำได้ในทางโลก ขยัน ขันแข็งทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่ว่าเพียรที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นจึงได้ปรากฏ ถ้าไม่มีสภาพธรรมใดๆ เกิดในขณะนี้เลย อะไรจะปรากฏ แต่เพราะไม่รู้ว่า ขณะนี้ทุกอย่างที่เราคิดว่ามีอยู่ แท้ที่จริงตามความเป็นจริง คือ เกิดเมื่อมีเหตุปัจจัยเท่านั้น และเกิดแล้วก็ดับแล้วทันที

    นี่คือ พระปัญญาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มีหนทางอื่นไหม ที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ ไม่รู้แม้แต่ว่าปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร และทรงแสดงเรื่องอะไร แต่ถ้ารู้ก็จะเข้าใจได้ว่า ไม่มีใครพ้นจากธรรมได้เลย ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมแต่ละอย่างทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง คำว่า สะสมมาจากชาติก่อน

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมมี ๒ อย่าง คือ สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เช่น เสียงกลิ่น พวกนี้ ไม่ใช่สภาพรู้ แต่สำหรับสภาพรู้มี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก อาจจะเป็นชื่อใหม่ คือ เจตสิก แต่ทุกคนก็พอจะทราบหมายความถึงธาตุชนิดหนึ่ง ถ้าพูดถึงธาตุก็หมายความถึง สิ่งที่มีจริงๆ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น

    สิ่งที่เกิดมาแล้วทั้งหมด เราก็ควรที่จะรู้ความจริงของสิ่งนั้นว่า สิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ คืออะไร สิ่งที่มีจริงเดี๋ยวนี้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่มีใจสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ปรากฏไม่ได้ เพราะไม่มีสภาพรู้ที่เห็น ที่ได้ยินพวกนี้

    เพราะฉะนั้น ทราบได้ว่าที่ใดที่มีจิต ที่นั้นต้องมีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมอีกอย่างหนึ่งคือ เจตสิก โดยศัพท์ภาษาบาลี แปลว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดในจิต หรือว่าประกอบจิต เป็นนามธรรมซึ่งไม่มีรูปร่าง แล้วก็เกิดพร้อมกัน แยกไม่ออกเลย อย่างน้ำเวลาที่เราจะผสมน้ำเชื่อมเข้าไป หรือรสอะไรก็ตามแต่ เมื่อผสมเข้าไปแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะแยกสิ่งนั้นออกจากกันได้ ฉันใด จิตกับเจตสิกยิ่งกว่านั้น เพราะว่าเป็นนามธรรมเหมือนกัน แล้วก็อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เจตสิกในชีวิตประจำวันก็เห็นได้ เช่น รัก ชัง ฉลาด ขี้เกียจ ขยัน ทุกอย่างที่เราบอกว่า คนนั้นเป็นอย่างไร เราพูดถึงเจตสิก ซึงเกิดกับจิต

    เวลาที่ภาษาไทยใช้คำว่าจิต แล้วมีคำว่าใจด้วย จิตใจ จิตใจเขาเป็นอย่างไร จิตทุกคนมีเหมือนกันหมด คือเป็นธาตุที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ได้จำ ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะด้วย แต่ส่วนประกอบของจิตเป็นเจตสิก เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้น ดับจริงๆ คือ ไม่มีอีกเลย อายุของจิตหนึ่ง ขณะจะมีอนุขณะย่อยๆ อีก ๓ คือ ขณะที่เกิด ขณะที่ยังไม่ดับ คือ ขณะที่ตั้งอยู่ และขณะที่ดับ ทั้งๆ ที่เร็วมาก แต่ก็ทรงแสดงความต่างในจิตขณะหนึ่งว่า มีอนุขณะ ๓ ขณะ เมื่อพ้นภังคขณะไปแล้ว จิตนั้นไม่มีเหลือ ดับหมด แต่ธาตุรู้คือ นามธาตุ หรือจิต เป็นธาตุที่น่าอัศจรรย์มาก แม้มองไม่เห็น แต่ความสามารถหลากหลาย เช่น มีความสามารถในการที่จะสะสมสืบต่อทั้งหมดจากจิตดวงหนึ่งไปสู่จิตอีกดวงหนึ่ง

    พอจิตขณะแรกที่เกิดทำกิจสืบต่อจากชาติก่อน จึงชื่อว่า ปฏิสนธิจิต หรือปฏิสันธิจิต สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เมื่อจิตนั้นเกิดแล้วก็ต้องดับ ไม่ว่าจะเป็นในพรหมโลก ในมนุษยโลก ที่ไหนก็ตามที่จิตเกิด ที่จะไม่ดับไม่มี

    เมื่อจิตนั้นเกิดแล้วก็ดับ คือ ปฏิสนธิจิตต้องดับแน่นอน ทันทีที่เกิดทำหน้าที่สืบต่อจากภพชาติก่อน แล้วก็ดับ แต่จิตที่ดับไปนั้นเองเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่าทำให้จิตเกิดต่อ จิตอีกขณะหนึ่งเกิดต่อ ไม่มีวันหยุด จนกว่าจะถึงขณะที่เป็นจุติจิต ของพระอรหันต์ จึงจะสิ้นสุด ความเป็นปัจจัยของจิตได้

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเรามีจิต ถ้าจะประมวลก็คงนับไม่ถ้วน ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่มีใครสามารถที่จะไปคำนวณได้ว่า จิตเกิดดับมากแค่ไหน แต่ขณะใดที่จิตชนิดใดเกิดขึ้นแล้วดับไป ก็ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น สิ่งที่มีสะสมอยู่ในจิตขณะก่อนก็สืบทอดไปถึงจิตอีกขณะหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เมื่อเราเห็นอะไร เราก็จำได้ เราทำอะไรเราก็จำได้ ทุกอย่างเพราะจิตเกิดดับสืบต่อ จนกระทั่งขณะนี้ นี่คือการสะสมของจิต

    ผู้ฟัง สะสมกับสั่งสมนี้ เป็นคำที่ใช้แทนกันได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    เรณู การสะสมในชาตินี้ ไม่ว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือว่าไม่ดี ทั้งที่เราก็รู้ว่าสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ไม่ดีเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่เราก็ยังทำสิ่งที่ไม่ดีอยู่เป็นประจำ เราควรจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไร หรือน้อมคิดอย่างไร จึงจะทำให้การประพฤติปฏิบัติตนน้อมไปในทางที่ดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ ทำคงไม่ได้ แต่อาศัยการอบรม ถ้าทราบเรื่องของจิต เจตสิก รูป ซึ่งเราได้ยินอีกนัยหนึ่ง บ่อยๆ คือ ปรมัตถธรรม ๓ จิต เจตสิก รูป จำแนกโดยนัยของเทศนาของการยึดมั่นในปรมัตถธรรม ๓ นี้โดยขันธ์ ๕ โดยนัยของขันธ์ ๕ คือ รูปทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรูปในอดีต หรือรูปปัจจุบัน หรือรูปอนาคต เป็นรูปเลว หรือรูปประณีต หรือรูปหยาบ หรือเป็นรูปละเอียด หรือเป็นรูปใกล้ รูปไกล คือไม่ว่า จะเป็นชนิดหนึ่งชนิดใด เป็น รูปขันธ์ หมายความว่าเป็นส่วน หรือเป็นประเภท หรือเป็นกองของรูปเท่านั้น จะเป็นอิ่นไปไม่ได้เลย นี่ก็เป็นรูปขันธ์ ส่วนจิตก็เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะคำว่าจิตกับวิญญาณ ความหมายเหมือนกัน

    สำหรับเจตสิก ๕๐ เป็นเวทนาขันธ์ ๑ ได้แก่เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิกก็เป็นสัญญาขันธ์ ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์๑ เวทนาขันธ์๑ สัญญาเขันธ์๑ สังขารขันธ์๑ วิญญาณขันธ์๑ ไม่มีเราที่จะทำเลย ใช่ไหม ถ้าเข้าใจ จริงๆ คือปรมัตถธรรม ที่จำแนกโดยการยึดมั่นในรูป ในเวทนา คือ ความรู้สึก ในสัญญา คือ ความจำ ในสังขารขันธ์ สุขทุกข์ใดๆ ทั้งสิ้น โลภะ โทสะโมหะ พวกนี้ปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ไม่สามารถที่จะสะสมหรือทำอะไรได้เลย เพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้ เวทนาขันธ์ก็เป็นเพียง ความรู้สึก ขณะใดที่รู้สึกดีใจเสียใจแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่ได้สั่งสมอะไร สัญญาขันธ์จำ

    สัญญาขันธ์เป็นธรรมที่ปรุงหรือว่าช่วยสังขารขันธ์ตามสัญญาความจำ เมื่อจำอย่างไร เวลาที่จะคิด จะนึก จะตรึกตรองก็ตามที่สัญญาจำ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่เรากำลังฟังพระธรรม ถ้าใครมีสัญญาที่จำ แล้วก็พิจารณาไตร่ตรองเห็นประโยชน์จริงๆ ขณะนั้นสังขารขันธ์ก็จะปรุงแต่ง ไม่ใช่เราเลย แล้วแต่จะพิจารณามากน้อยแค่ไหน เห็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ขณะต่อไปก็เป็นขณะที่สังขารขันธ์ปรุงแต่งแล้ว

    ตัวของเรา บางขณะก็เป็นไปด้วยโลภะ บางขณะก็เป็นไปด้วยโทสะ บางขณะก็เป็นไปด้วยสติ และปัญญาตามการสะสม ซึ่งเราอยากจะให้มีปัญญามากๆ กันทุกคน แต่ก็เป็นไปไม่ได้ แล้วแต่สังขารขันธ์ แล้วแต่ว่าแต่ละครั้งที่ได้ยินได้ฟัง มีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ขณะนั้นไม่ใช่คิดว่า เราจะทำ แต่เป็นความเข้าใจถูก ไม่ว่าจิตใจของเราถูกปรุงแต่งแล้วเป็นอย่างไรเกิดขึ้น ขณะนั้นเราก็รู้ว่าเพราะเหตุปัจจัย เช่นถ้าวันนี้ไม่ได้ฟังเรื่องนี้ จะคิดเรื่องนี้ก็คงไม่ได้ แต่เมื่อได้ฟังแล้วจำได้ แล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็พิจารณาถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่ใช่เป็นประโยชน์ สังขารขันธ์ก็ปรุงแต่ง ที่จะให้สภาพธรรมต่อไปเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง จะให้ทานอย่างไร ให้ออกจากวัฏฏะ ในเมื่อจริงๆ แล้วปัญญายังไม่เกิด แต่เป็นเพียงความอยากที่จะออกจากวัฏฏะเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ถ้าปัญญายังไม่เกิดก็จะอยากออกจากวัฏฏะทำไมล่ะ

    ผู้ฟัง ก็ต้องอบรมให้เกิดปัญญาก่อน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นปัญญาเท่านั้น ที่จะต้องการออกจากวัฏฏะ

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่เรียกว่า อนัตตานั้น ต้องรู้จากวิปัสสนาญาณ จึงมีความรู้สึกว่า เข้าใจสภาพอนัตตานั้นได้ยาก อาจารย์กรุณาอธิบายคำว่า อนัตตา

    ท่านอาจารย์ เป็นความจริง คือใครจะมีความเข้าใจระดับไหน เป็นเรื่องของปัญญาที่ได้สะสมมาระดับนั้น ถ้าวิปัสสนาญาณยังไม่เกิด จะให้ไปรู้ลักษณะความเป็นธาตุ หรือความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมในขณะนี้ ซึ่งไม่มีตัวตนเลย มีแต่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้า เช่น ในขณะนี้ ตามปกติธรรมดาจริงๆ กำลังเห็น ขณะที่กำลังเห็น มีแขน มีขา มีมือ มีเท้าอยู่ตรงไหนหรือเปล่า มีหรือไม่มี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567