ปกิณณกธรรม ตอนที่ 354


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๔

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ มีใครรู้บ้างว่า เป็นผลของทานสมัยใด กาลใด หรือว่าเป็นผลของศีล หรือเป็นผลของวจีสุจริต หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ได้กระทำแล้ว แต่เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ต้องรู้ว่า เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่ง แต่ทำไมเราถึงมีรูปร่างหน้าตาซึ่งต่างกัน แม้แต่รูป แต่จิตก็ยังจะต้องมีระดับที่ต่างกันว่า เป็นบุคคลที่ประกอบด้วยปัญญา หรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา ถึงแม้ว่าเป็นคนที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าเป็นผลของกุศลซึ่งผ่องใส ผลก็คือว่าจะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ประณีตเป็นส่วนใหญ่ในชีวิต

    การเทียบส่วนของผลของกรรมที่จะได้รับ ขึ้นอยู่กับสภาพของจิต ถ้าเป็นจิตที่ผ่องใสเป็นเหตุ อานิสงส์หรือผลก็ต้องมาก จะเห็นได้ว่าเมื่อกรรมต่างกัน ไม่ต้องเทียบระหว่างคนกับคนอื่น เฉพาะคนเดียว การทำกุศลแต่ละครั้งศรัทธาเท่ากันไหม ปัญญาเท่ากันไหม ความผ่องใสของจิตเท่ากันไหม แล้วกรรมไหนจะให้ผล เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็ทราบดีว่า การที่เราเกิดมาเป็นคนนี้ก็ต้องเป็นผลของกรรม แล้วก็ได้รับผลของกรรมตามขอบเขตที่กรรมนั้นสามารถจะประมวลมา ซึ่งกรรมทั้งหลายในชีวิตที่จะให้ได้

    นี่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน อย่าได้พึ่งพาอาศัยกรรมคนอื่น หรือคิดว่าคนอื่นจะช่วยเราได้ แต่ต้องเป็นเพราะกรรมของเรา เพียงแค่ปฏิสนธิจิต ก็ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรที่ไหนมาบันดาลให้เกิดเลย นอกจากกรรมของเราพร้อมทั้งกัมมชรูป ซึ่งในกัมมชรูปจะต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธาน

    รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูปจริง แต่ว่าแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ มหาภูตรูป ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นที่อาศัยของรูปอื่น เช่น สี กลิ่น รส โอชา และรูปอื่นๆ อีก ๒๔ รูป แต่ในมหาภูตรูป มีธาตุไฟ ซึ่งธาตุไฟซึ่งเกิดจากกรรม จะทำให้รูปอีกกลุ่มหนึ่งเกิด เป็นอุตุชรูป เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมต่างกัน ธาตุไฟต่างกัน อุตุชรูปต่างกัน แต่ละคนก็มีผิวพรรณวรรณะ มีความสูง ต่ำ ดำ ขาว หลังจากนั้นแล้วก็ ยังมีกรรมที่จะทำให้ตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดขึ้นเป็นไป

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความวิจิตร ซึ่งเพราะเพิ่งคุยกันเมื่อวันก่อนว่า ทำไมกรรมหรือว่า จิตช่างวิจิตรขนาดที่ว่าทำให้รูปเกิดได้ แต่รูปจำแนกออกเป็น ๔ สมุฎฐาน คือ รูปซึ่งเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฎฐาน อย่างต้นไม้ใบหญ้า กรรมไม่สามารถที่จะทำให้รูปซึ่งเกิดจากอุตุเกิดได้ ไม่ว่าจะเป็นเงาะ ทุเรียน มังคุด ข้าว หรือะไรก็ตามทั้งหมดเกิดเพราะอุตุเป็นสมุฎฐาน ซึ่งกรรมไม่สามารถที่จะทำให้รูปนั้นเกิด รูปที่เกิดจากจิต เฉพาะสิ่งที่มีชีวิตที่เกิดเพราะกรรมเท่านั้นซึ่งมีจิต ถึงจะทำให้รูปซึ่งเกิดจากจิตเป็นสมุฎฐานเกิดได้ แล้วเมื่อทุกคนมีกรรมเป็นของตน แล้วเป็นกรรมที่เนื่องกับรูป เพราะฉะนั้น เมื่อกรรมนี้ให้ผลจึงทำให้รูปเกิดได้

    นี่ก็เป็นความวิจิตรของสมุฎฐานของรูปที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ชีวิตที่เกิดมาก็มีจิต เจตสิก รูป ทั้งกัมมชรูป จิตตชรูป อุตุชรูป อาหารชรูป

    ผู้ฟัง คำถามต่อไป นิพพานคืออะไร ตอนนี้สูงลิบเลย มีกี่ชนิด

    ท่านอาจารย์ เห็นคืออะไร ได้ยินคืออะไร รู้หรือยัง ถ้ายังไม่รู้แล้วไปถามถึงนิพพาน จะรู้ได้ไหม ถามได้ แต่จะรู้ได้ไหม ถ้าตอบว่า นิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แต่เป็นปรมัตถธรรม เป็นธรรมที่มีจริง เป็นธาตุ เป็นนิพพานธาตุ เป็นอารมณ์ของโลกุตตรจิต ทุกคนก็รู้ว่า โลกุตตรจิตที่จะมีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ เพราะปัญญาได้อบรมจนถึงขั้นโลกุตตรปัญญา จึงสามารถที่จะหน่าย คลาย ความติดข้องในสังขารธรรม ในสังขตธรรม ในสภาพธรรมที่เกิดดับ โน้มไปสู่ธาตุซึ่งไม่เกิดดับ แต่เวลานี้ก็ยังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องของสภาพธรรม ที่ล้อมรอบตัวซึ่งเกิดดับ แล้วก็ยังติดข้องอยู่ แล้วก็ถามถึงนิพพาน เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะผ่านไป จนกว่าปัญญาจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เสียก่อน

    ผู้ฟัง คำถามนี้ก็คงจะมีบ่อยๆ จิตประภัสสรกับจิตที่ใกล้ตายต่างกันหรือเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ จิตประภัสสร หมายความถึงขณะนั้นไม่มีกิเลสเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ภวังคจิต และกุศลจิต

    ผู้ฟัง ภวังคจิตนี้ เป็นจิตที่ยังไม่มีกิเลสเข้ามารบกวนเลย

    ท่านอาจารย์ ภวังคจิตขณะนั้น ไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง จิตประภัสสรกับจิตที่ใกล้จะตาย ต่างกันหรือเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า ถ้าเราจะแบ่งจิตของเราออกเป็นประเภทใหญ่ๆ แบ่งได้อีกอย่างหนึ่ง คือ การจะศึกษาเรื่องจิต ศึกษาได้โดยหลายนัยจริงๆ แต่ว่าเป็นนัยซึ่งสอดคล้องกันทั้งหมด แล้วแต่ว่าเราจะพูดให้คนอื่นเข้าใจในลักษณะไหน

    ถ้าจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ แบ่งจิตออกเป็น ๒ ประเภท คือจิตที่สามารถที่จะรู้อารมณ์ได้โดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทาง หรือเป็นทวาร ก็มี เพราะว่าจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้ ไม่มีจิตสักขณะเดียวซึ่งเกิดขึ้นแล้วไม่รู้อารมณ์ เมื่อเป็นจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ และสิ่งที่ถูกรู้ก็คืออารมณ์ หรืออารัมมาณะ ซึ่งในขณะนั้นกำลังรู้

    ด้วยเหตุนี้ปฏิสนธิจิต จิตขณะแรก ทุกคนเปลี่ยนชื่อใหม่ อย่าไปเรียก จิตขณะแรกว่า จุติจิต เพราะเหตุว่าจุติหมายความถึงจิตขณะสุดท้ายที่ทำกิจเคลื่อนคือตาย แต่ปฏิสนธิจิตคือจิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิต เป็นจิตขณะแรกของชาตินี้ จิตที่เป็นปฏิสนธิจิต เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ขณะนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก เพราะฉะนั้น เป็นจิตที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดเลย แล้วหลงัจากนั้นแล้ว เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับ กรรมที่ทำให้เกิด ไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิด ทำให้ภวังคจิตคือจิตซึ่งเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต เพราะว่าปฏิสนธิจิตก็ต้องดับ จิตทุกดวงมีอายุเท่ากัน คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ ขณะเกิดก็ไม่ใช่ขณะดับ ขณะที่ตั้งอยู่ก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ ขณะที่ดับก็ไม่ใช่ขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ตั้งอยู่ ทั้งๆ ที่จิตเป็นนามธรรมที่มีอายุที่สั้นมาก พระผู้มีพระภาคก็ยังทรงแสดงความต่างกัน ของอนุขณะในจิตขณะหนึ่งๆ หรือดวงหนึ่งว่า ต่างกันเป็น ๓ ขณะย่อย คือขณะเกิด ขณะตั้งอยู่ ขณะดับไป

    เมื่อปฏิสนธิจิตดับ ภวังคจิตเกิดต่อ จิตทุกดวง ไม่ว่าจะเป็นภพนี้ ภพไหน จิตของเทวดา จิตของรูปพรหม ที่จะมีอายุเกินอนุขณะ ๓ อนุขณะนี้ไม่ได้เลย จิตมีอายุเท่ากันทั้งหมด คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประกอบด้วยอนุขณะ ๓ ขณะ เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตซึ่งมีอนุขณะ ๓ ขณะดับ ภวังคจิตเกิดสืบต่อ เรียกว่าขณะ ๑ ก็ได้ หรือว่าเรียก ๓ ขณะย่อยก็ได้ แล้วก็ดับ ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อโดยมีอารมณ์เดียวกับปฏิสนธิจิต คือ ไม่ใช่เห็น ไม่ใช่ได้ยิน ไม่ใช่ได้กลิ่น ไม่ใช่ลิ้มรส ไม่ใช่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส และไม่คิดนึกด้วย เวลาที่เรานอนหลับสนิท ไม่เห็นอะไรเลย ไม่ได้กลิ่นด้วย ทั้งๆ ที่คนตื่น ทั้งเห็น ทั้งได้กลิ่น ทั้งได้ยิน และอาจจะกำลังลิ้มรส กำลังกระทบสัมผัส แต่คนหลับสนิทจะไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และไม่ฝัน เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีการคิดนึกด้วย ขณะนั้นให้ทราบว่าเป็นภวังคจิต ซึ่งกรรมทำให้วิบากจิตเกิดสืบต่อดำรงภพชาติไม่ให้สิ้นความเป็นบุคคลนี้เลย จนกว่าจุติจิตจะเกิดเมื่อไร เมื่อนั้นคือสิ้นสุดผลของกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้

    ตราบใดที่ยังเป็นบุคคลนี้ หลับแล้วก็ตื่น เพื่ออะไร เพื่อที่จะรับวิบากทางตาคือเห็น วิบากทางหูคือได้ยิน

    ชีวิตของเราแบ่งออกเป็น ๒ ส่วนใหญ่ได้ คือส่วนหนึ่งเป็นวิบากเป็นผลของกรรม แล้วอีกส่วนหนึ่งก็คือเมื่อเห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล นี่คือกรรมใหม่ที่จะทำให้วิบากข้างหน้าเกิด เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า เวลาที่จิตเกิดโดยที่ไม่รู้อารมณ์ทาง ๖ ทวาร จะได้แก่ขณะปฏิสนธิ แล้วก็ขณะที่เป็นภวังค์ แล้วก็จุติจิต เพราะฉะนั้น จุติจิตไม่ใช่จิตเดียวกับปฏิสนธิ แล้วก็จะต้องเป็นจิตที่เป็นประเภทเดียวกับปฏิสนธิ และภวังคจิต แต่ว่าเป็นขณะสุดท้ายของชาตินี้

    ผู้ฟัง เราก็ศึกษากันว่า เมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้น จำเป็นไหมจะต้องระลึกลักษณะสภาพแข็งที่ไม่รู้อะไรเลย หรือว่าสภาพที่กำลังรู้แข็ง อย่างใดอย่างหนึ่ง พิจารณาสติระลึกรู้ตรงสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรมเกิดขึ้นปรากฏตามความเป็นจริงในขณะนั้น เป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้ จำเป็นไหม จะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือจะเป็นลักษณะว่า อันนี้สติเกิดแต่ยังไม่รู้ว่า เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เมื่อสติเกิด สติจะต้องมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ ที่เป็นปรมัตถเพราะเหตุว่าปกติธรรมดา สภาพธรรมปรากฏ อย่างแข็ง ปรากฏกับกายวิญญาณ ถูกไหม เราใช้ชื่อ เพราะว่าเราคุ้นเคยพอที่จะใช้ชื่อ แทนที่เราจะพูดว่าสภาพรู้ มันเป็นจิตหลายชนิด เป็นเจตสิกหลายชนิด แต่เราเจาะจงลงไปเลยว่า ปรากฏกับกายวิญญาณ หมายความว่ากายวิญญาณ ปกติธรรมดาก็รู้แข็ง แม้ว่าสติไม่เกิด เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด หมายความว่าแข็งนั้นปรากฏกับกายวิญญาณ และปรากฏกับสติปัฏฐานด้วย จึงชื่อว่าสติระลึกที่ลักษณะที่แข็ง มิฉะนั้นแล้วแข็งก็ปรากฏธรรมดากับกายวิญญาณธรรมดา เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรให้สติรู้ ไม่ใช่ไม่มีอะไรให้สติระลึก เพราะว่าปัญญาจะรู้สิ่งที่สติไม่ระลึกไม่ได้ ปัญญาจะต้องค่อยๆ รู้ในลักษณะของสิ่งที่สติกำลังระลึก

    ก็ต้องมีสภาพธรรมที่มีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏ ผู้นั้นสมบูรณ์พร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ จึงรู้ว่า สติระลึกที่ลักษณะของปรมัตถธรรมนั้น เพราะว่าตั้งแต่มานั่งที่นี่ ทุกคนก็มีแข็งปรากฏ คุณประทีปกำลังจับแก้วน้ำ มีแข็งแน่ๆ นั่นคือปรากฏกับกายวิญญาณ ผ่านแล้ว หมดแล้ว ดับแล้ว เร็วมาก เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็ว ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด แล้วก็สติปัฏฐานไม่ระลึกที่ลักษณะของแข็งซึ่งปรากฏนิดเดียว เพราะว่ามีเห็นแล้ว ก็มีได้ยินด้วย ที่เป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าขณะนั้นระลึกตรงลักษณะที่ไม่ใช่เพียงแต่กายวิญญาณรู้แข็ง แต่ยังมีสติที่ระลึกตรงแข็ง เพื่อที่จะรู้สภาพที่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะที่ต่างกันของสภาพที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรมในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าเราคิดว่าสติมี นึกขึ้นมาได้ แต่ไม่มีลักษณะของปรมัตถธรรมปรากฏ นี่คือความต่างกันของสติปัฏฐาน กับความคิดที่ว่า สติเกิดแต่ไม่รู้ว่าสติระลึกอะไร แล้วภายหลังถึงจะมาค่อยๆ รู้ว่า รู้อะไร ต้องมีลักษณะปรมัตถธรรมปรากฏ แต่ความรู้เท่านั้นที่ยังไม่ชัด เพราะฉะนั้น เพียงครั้งเดียวไม่พอ ต้องระลึกอีก แต่ต้องมีลักษณะที่เป็นปรมัตถปรากฏว่า สติระลึกลักษณะไหน ลักษณะของนามธรรมหรือว่าลักษณะของรูปธรรม

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจ เพียงแต่เรายังไม่รู้ว่าลักษณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ยังไม่รู้ชัด ในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม แต่ว่าสติกำลังเริ่มระลึก อย่างเราฟังเรื่องสภาพรู้หรือธาตุรู้ ก็มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ไม่มี ทั้งๆ ที่กำลังเห็น ก็เป็นอาการรู้ สภาพรู้ชนิดหนึ่ง แต่ความไม่รู้อาจจะไป จงใจทำบิดเบือนให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตรงนั้น ตรงนี้ขึ้น แทนที่จะเข้าใจว่าเป็นเพียงอาการ หรือลักษณะที่กำลังรู้ หรือเห็นสิ่งที่ปรากฏ แล้วสิ่งที่ปรากฏก็เป็นปกติ ไม่ต้องไปย่อให้เป็นเล็ก หรือไปทำอะไร เพราะว่าพอเริ่มทำ นี่คือสีลัพพตปรามาส ความเห็นผิด ความไม่รู้หนทางว่า เป็นปกตินั้นคืออย่างไร เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิด จะไม่ผิดปกติ แล้วก็จะมีลักษณะของปรมัตถธรรม กำลังปรากฏตามธรรมดาปรากฏ แต่ว่าปัญญาจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้ว่าจะเป็นทีละน้อยมากจนกว่าจะประจักษ์ชัด ซึ่งเป็นความสมบูรณ์ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะไปเตรียมตัวหรือคอยได้ เพราะว่าโดยมากตามสำนักปฏิบัติต่างๆ เขาจะเจาะจง อารมณ์ เพราะเขาคิดว่า เมื่อมีอารมณ์นั้นแล้ว สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับของอารมณ์นั้นได้ เพราะว่าเขากำลังไปจ้องว่า เมื่อไรจะปรากฏการเกิดดับ เขาไม่ได้อบรมปัญญาความรู้ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วเวลาที่ความรู้ชัดจะเกิด ไม่มีใครสามารถจะเดา หรือจะคาดคะเน หรือจะคอยได้ว่าจะรู้รูปอะไร จะรู้นามอะไร เพราะว่าเป็นเรื่องละตั้งแต่ต้น ละการที่จะไปติดในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จึงไม่มีการเลือก หรือว่าไม่มีการเจาะจง เริ่มเข้าใจว่า ลักษณะของสติปัฏฐานเป็นอนัตตาแท้ๆ คือ เกิดตามเหตุตามปัจจัยเมื่อกำลังระลึก ตรงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด แต่ไม่ใช่ว่าเวลาจะประจักษ์ จะเป็นวิปัสสนาญาณขั้นหนึ่งขั้นใด หรือว่าจะประจักษ์การเกิดดับ ไม่ใช่เราจะไปคิดว่า เพราะเรากำลังรู้ตรงนี้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องประจักษ์รูปนี้หรือนามนี้ แต่เป็นการเจริญอบรมหนทางที่จะให้ปัญญาที่สมบูรณ์ประจักษ์สภาพธรรมที่ตอนนี้ยังไม่เกิด เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่รู้ชัด ยังไม่คมกล้า แต่เวลาที่ถึงพร้อมด้วยเหตุปัจจัยจะเกิด จะเป็นสภาพนามธรรมใด รูปธรรมใด ไม่มีใครสามารถที่จะไปเจาะจง หรือว่าจะไปเตรียมไว้ว่า จะต้องเป็นนามนี้ หรือรูปนี้

    นี่แสดงให้เห็นว่ากำลังปูทาง เพื่อที่จะละคลายความเป็นตัวตน แล้วก็ประจักษ์จริงๆ ว่า ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร แล้วสภาพนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตามที่ปัญญารู้แจ้งชัดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกหรือใครเลือก เห็นความเป็นอนัตตาแท้ๆ ของสภาพธรรมที่ยังไม่เกิด แล้วเกิดปรากฏ แล้วหมด

    ผู้ฟัง ถ้าพูดไปโดยที่ไม่ระวัง มักจะไปปะปนกัน ความไม่รู้สภาวธรรมกับรู้ผิดไปจากความเป็นจริง เรื่องทิฏฐิคงไม่ได้มีตลอดเวลา แม้แต่เราทำบุญกุศล ก็ยังเห็นเป็นสัตว์ บุคคล

    ท่านอาจารย์ ธรรมดาแล้วก็ไม่ใช่การที่เป็นความเห็น เป็นสัญญาความจำ เพราะฉะนั้น ก็ต้องแยกว่าที่เห็นว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ด้วยอะไร ด้วยความจำ หรือว่าด้วยความเห็น ถ้าขณะที่เห็นผิดต้องมีความเห็น แต่ขณะที่มีสัญญาความจำว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ก็รู้ในสิ่งนั้นด้วยสัญญาความจำหมาย เวลาที่ปกติธรรมดาที่เราทำกุศลกัน เราจะไม่มีความคิดอย่างนี้ ไม่มีความรู้สึกอย่างนี้เลย เพราะว่ากุศลจิตเกิดก็เป็นสภาพของกุศลจิต จะไม่มีความเห็นเรื่องเป็นเราที่กำลังทำ แต่ว่าเป็นกุศลจิตที่เกิดเป็นไปในกุศลประเภทนั้นๆ แต่เวลาที่มีความรู้สึกว่า เป็นเรา ขณะนั้นต้องเป็นความเห็นผิด เป็นความเห็นว่า เป็นเรา จริงๆ แล้วเราไม่ได้รู้สึกตลอดเวลา เฉพาะตอนที่มีความเป็นเราขึ้นมา จะมีลักษณะ ๓ อย่างว่า เป็นเราด้วยตัณหา หรือว่าเป็นเราด้วยทิฏฐิ หรือว่าเป็นเราด้วยมานะ ๓ อย่าง ถ้าขณะใดที่เป็นเราด้วยมานะ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เราด้วยทิฏฐิ ขณะใดที่เป็นเราด้วยตัณหา ขณะนั้นก็ไม่ใช่ด้วยทิฏฐิ ไม่ใช่ด้วยมานะ

    ความเป็นเรามีได้ ๓ อย่าง เป็นเราด้วยตัณหา หรือว่าเป็นเราด้วยทิฏฐิ หรือว่าเป็นเราด้วยมานะ แต่ไม่เกี่ยวกับสัญญาความจำ ซึ่งเกิดต่อจากทางทวารทั้ง ๕ เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละตัวนี้ ถ้าไม่เห็นทิฏฐิตัวนี้ก็ละตัวนี้ไม่ได้ว่า ขณะนั้นตัวตนอยู่ตรงไหน ต่อเมื่อรู้จึงจะรู้ว่าเป็นสติที่กำลังระลึก แล้วจะต้องมีการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า เป็นสติที่กำลังระลึกจนกว่าจะเราออกไปจากสติที่กำลังระลึก เพราะว่าสักกายทิฏฐิ ๒๐ ก็เต็มหมดแล้ว ไม่เว้นขันธ์หนึ่งขันธ์ใดเลยว่า ขณะนั้นก็เป็นสติ เป็นสภาพของสติที่เกิด ไม่ใช่เราที่จะทำ หรือที่จะระลึก ความเป็นตัวตนของแต่ละคนก็มากมาย นับไม่ถ้วนกี่พันกี่ล้านตัน หรืออะไรเท่าไรก็ตามแต่ แต่ว่าเวลาที่สติเกิด จะค่อยๆ รู้ แล้วค่อยๆ คลาย ข้อสำคัญที่สุดคือว่า มีความรู้สึกว่า ค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรม แล้วไม่ต้องไปเป็นห่วงว่า ไปละได้เท่าไร หมดหรือยัง ตัวตนอยู่ตรงไหน ที่ยังไม่เกิด มีตัวตนไหม นั่นเป็นเรื่องของวิจิกิจฉาแน่นอน เป็นเรื่องของความสงสัย ซึ่งไม่ทำให้สามารถที่จะละ หรือรู้อะไรได้

    เพราะฉะนั้น กิจเดียว คือ อบรมเจริญความรู้เท่านั้น แล้วความรู้ก็จะทำหน้าที่ของเขา คือละความไม่รู้ เมื่อละความไม่รู้ ก็ละความสงสัย

    ผู้ฟัง จากการสนทนากับอาจารย์ท่านนี้ บอกว่าเท่าที่ฟังเทปของท่านอาจารย์มา ท่านอาจารย์เคยพูดอยู่เสมอ แล้วก็จำได้เลยบอกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เห็นทีไรก็เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เห็นเป็นสิ่งของ แล้วจะมองอย่างไรจึงจะไม่ให้เป็นคน เป็นสัตว์ ทีนี้พูดอย่างไร เขาก็ยังคิดว่า มันเป็นสิ่งที่เหมือนว่า เห็นก็เป็นคน

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วไมใช่มองอย่างไร แต่รู้ ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคคล รู้อย่างไรจึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่มองอย่างไร

    ผู้ฟัง อันนี้เข้าใจแล้ว เพราะว่า คำว่า รู้ มันจะต้องเป็นความรู้ที่เราจะต้อง อาจจะได้จากการฟัง จากการศึกษา

    ท่านอาจารย์ จะสังเกตได้ ถ้าเขาถามว่ามองอย่างไร เขาคิดที่จะทำ คือจะพยายามมองอย่างไร แต่เขาไม่ได้รู้ว่า รู้อย่างไร ที่รู้ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่ตัวตน มันเป็นเรื่องของความรู้

    ผู้ฟัง เพราะว่าอันนี้เท่าที่มีโอกาสสนทนากัน เป็นจำนวนไม่น้อยเลยมีความสงสัยว่า ทำไมเห็นทีไรเป็นคนเ ป็นสัตว์ทุกที แต่ว่าท่านอาจารย์เวลาที่มีการอธิบายเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หรือจะใช้คำที่เคยพูดบ่อยๆ ก็ตามแต่ สรุปแล้วต้องไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ รู้อย่างนี้ เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่ใช่รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล นี่คือความต่าง เห็นทุกคนเห็นเหมือนกัน เห็นคือเห็น แต่รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ต้องต่างกับที่เห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ผู้ฟัง ทีนี้ว่า ถ้าสมมติว่า บังเอิญเกิดจะไปเกื้อกูล หรือว่าพอจะอธิบายให้ได้รับประโยชน์บ้าง นอกจากการฟัง การศึกษาแล้ว ความรู้ในด้านปริยัติอย่างอื่น พอที่จะนำมาประกอบการพิจารณา

    ถึงจะต้องเห็นประโยชน์ของปริยัติ คือ การฟัง แต่ว่าความรู้ความเข้าใจธรรมที่ทรงแสดงด้วยภาษาบาลี หรือว่าอาจจะชาตินี้ต้องมาฟังเป็นภาษาไทย แทนเป็นภาษาบาลี แต่ก็เป็นคำที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องของคำ แต่ว่าเป็นเรื่องที่ว่าเมื่อฟังแล้วมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมหรือว่ารู้จักธรรม ต้องใช้คำว่า รู้จักธรรม เพราะว่ามีธรรมปรากฏ แต่ไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ไม่รู้ว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้น จะชื่อว่ารู้จักไม่ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567