ปกิณณกธรรม ตอนที่ 353


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๓

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ ลองแยกวันนี้ ตั้งแต่เช้ามา มีจิตประเภทไหนบ้าง จิตได้ยินก็มี จิตเห็นก็มี จิตคิดนึกก็มี กุศลจิตมีน้อยกว่าอกุศลจิตมากมายทีเดียว รู้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วจะละตัวตน ละไม่ได้ เพราะฉะนั้น แทนที่จะไปนึกถึงเรื่องจะละตัวตน อยากจะละตัวตน ไม่อยากจะมีตัวตน ก็เริ่มเข้าใจว่า ถ้าปัญญายังไม่เกิด อะไรจะละตัวตน แล้วปัญญามีหรือเปล่า ถ้าปัญญาไม่มี อย่าหวังหรืออย่าฝันที่จะละตัวตน แต่ว่าค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม จึงจะรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน สิ่งนั้นเป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน นี่เป็นการอบรมเจริญปัญญาความรู้จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์เมื่อไร เมื่อนั้นก็จะละความเป็นตัวตนได้ แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วก็ไม่รู้อะไรเลย ช่วยบอกว่าทำอย่างไร แล้วก็จะละตัวตนได้ นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    ผู้ฟัง บุคคลเช่นใดจึงจะปฏิบัติสมถกรรมฐาน ข้อที่ ๑

    ท่านอาจารย์ คนนั้นต้องเกิดด้วยจิตที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะเหตุว่าการเกิดเป็นผลของกรรม แล้วลองดูกรรมของเราในวันหนึ่งๆ ว่า เราทำกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา หรือว่าทำกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะเหตุว่าโดยมากถ้าเราเพียงแต่จะคิดถึงเรื่องกุศลกรรมกับอกุศลกรรมว่าต่างกัน เพราะฉะนั้น การที่จะเจริญสมถภาวนาต้องไม่ใช่เรื่องของอกุศลกรรมแน่ ต้องเป็นเรื่องของกรรมฝ่ายดี แต่ว่าในชีวิต ตามความเป็นจริงของเรา เราทำกรรมประเภทไหนมาก แล้วก็ไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนๆ ด้วย แสนโกฏิกัปป์มาแล้วก็สามารถจะเป็นปัจจัยให้หลังจากที่จุติจิต ชาตินี้เกิด และดับไป คือ ตาย ปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้น แล้วกรรมไหนซึ่งจะให้ผลทำให้ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยปัญญา ถ้าเป็นกรรมที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ปฏิสนธิจิตก็ประกอบด้วยปัญญาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมสมถภาวนาต้องเป็นผู้ที่ปฏิสนธิจิตด้วยปัญญา แต่ว่าแม้ว่าจะเกิดเป็นคนที่ปฏิสนธิจิตประกอบด้วยปัญญา ไม่มีโอกาสได้ฟังเหตุผลเรื่องสภาพธรรม ที่จะมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ความต่างกันของกุศลจิต และ อกุศลจิตซึ่งสลับกันได้ เกิดดับสลับกัน อย่างในขณะนี้ ฟังพระธรรม ไม่ใช่ใครสักคนเดียว เป็นจิตประเภทไหน ฝ่ายดีหรือฝ่ายไม่ดี ต้องเป็นกุศลจิต เพราะเหตุว่าไม่ได้ฟังเรื่องอื่น แต่ว่าฟังเรื่องของจริง เรื่องธรรม ซึ่งสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ ขณะนี้เป็นกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ทั้งๆ ที่กำลังฟังเป็นกุศลจิต อกุศลจิตมีแทรกบ้างไหม มีการปวด เมื่อย หรือว่าคิดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้บ้าง หรือว่าง่วงจะหลับ อะไรอย่างนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีกุศลจิตตลอดเวลา เรื่องของสภาพธรรมเป็นเรื่องขณะจิตซึ่งตรง เพราะเหตุว่าไม่มีคน ไม่มีสัตว์ เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแต่ละขณะ อกุศลจิตก็ต้องมีปัจจัยเกิดขึ้น กุศลจิตก็ต้องมีปัจจัยเกิดขึ้น ถ้าบุคคลนั้นไม่พร้อม ไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะบริบูรณ์ที่จะรู้ความต่างกันของวาระจิต ที่เป็นกุศล และอกุศลสลับกัน บุคคลนั้นเจริญสมถภาวนาไม่ได้ หรือแม้สติปัฏฐานซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนาก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องตามๆ กัน ใครเข้าบอกว่า ทำสมถะ เราก็ทำสมถะโดยที่ไม่รู้ว่าสมถะคืออะไร หรือว่าใครจะบอกว่าทำวิปัสสนา อบรมเจริญวิปัสสนา แต่ไม่รู้ว่าวิปัสสนาคืออะไร เราก็วิปัสสนาไปด้วย นั่นไม่ใช่ปัญญาของเรา ปัญญาแม้เพียงที่จะรู้ความหมายของคำที่พูดก็ไม่มี คือใครบอกอะไรก็เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ จะต้องถามว่า สมถะคืออะไร ภาวนาคืออะไร

    สมถะ คือความสงบ ไม่ใช่ความสงบที่เราคิด คือ ไปนั่งคนเดียว แล้วก็ไม่คิดถึงอย่างอื่น แต่ความสงบที่นี่หมายความว่า จิตเป็นกุศลจึงสงบจากอกุศล แต่ว่าความสงบที่เป็นกุศลสั้นมาก สังเกตดูได้ อย่างเวลาที่คนจะทำบุญใส่บาตร ทำอาหารถวายพระ หรืออะไรต่างๆ จะเห็นได้ว่า กุศลจิตเกิดนิดหนึ่ง แล้วอกุศลจิตก็มากมายเหลือเกิน อาหารอร่อยไหม ไฟแรงไปหรือเปล่า หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็แสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้ เคยรู้สภาพของจิตซึ่งเกิดดับสลับกันจริงๆ เราเพียงแต่เรียกชื่อ พอเห็นดอกไม้สวยก็สวย และอีกคนก็บอกว่า โลภะ รู้จักชื่อ แต่สภาพที่กำลังติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ไม่เคยมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ในสภาพนั้น

    ผู้ที่ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ความต่างกัน ของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสลับกันเร็ว ผู้นั้นเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าเจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพราะฉะนั้น อย่าเพียงทำชื่อว่า กำลังทำสมถะ หรือว่าบอกคนอื่นเขาว่า เรากำลังทำสมถะ แต่พอเขาถามว่า สมถะคืออะไร ก็บอกว่า นั่งเฉยๆ ไม่ต้องคิดอะไร หรืออะไรอย่างนั้น นั่นไม่ใช่สมถะ แต่เราเองเรียก แต่ว่าไม่ใช่ความจริง

    ความจริงเรื่องของสมถะนี่ก็น่าจะเพิ่มเติม เพราะมิฉะนั้นแล้วบางคนก็อาจจะคิดว่า เป็นเรื่องของสถานที่ แต่ให้ทราบว่าจริงๆ แล้วต้องเป็นเรื่องของปัญญา การอบรมเจริญภาวนา มีกล่าวไว้ชัดในพระไตรปิฎกว่า ผู้ที่ปราศจากปัญญาแล้วเจริญไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าใครก็ตามที่บังเอิญ หรือว่าจงใจที่อยากจะสงบ ก็ไม่รู้จะสงบอย่างไร ก็ไปหยิบวิสุทธิมรรคมา แล้วก็มีเรื่องของกสิณ มีเรื่องของดินที่ทำเป็นวงกลม แล้วก็ให้ตั้งไว้ในระยะห่างกันเท่านั้นเท่านี้ แล้วก็ให้ดูดินสีอรุณนั้น เพื่อที่จะไม่ให้คิดถึงสิ่งอื่นที่จะเป็นรูปร่างสัณฐาน ที่จะทำให้เกิดโลภะ โทสะ แต่ไม่มีใครคิดหรือว่า เพียงดูดินเป็นมหากุศลญาณสัปปยุตต์หรือ เพราะเหตุว่า การอบรมสมถภาวนา ถ้าปราศจากปัญญาแล้วเจริญไม่ได้ ไม่อย่างนั้นแล้วใครก็ตามที่นั่งจ้องดิน แล้วก็บอกว่าเป็นกุศล ก็น่าแปลก กุศลนี้ง่ายเหลือเกิน ที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ต้องทำอะไรเลย นั่งจ้องดินก็เป็นกุศลได้อย่างไร

    แสดงให้เห็นว่า เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องใหญ่ อย่าคิดว่าโดยไม่รู้อะไร ก็จะทำได้ เพียงแค่การหยิบหนังสือมาแล้วก็อ่าน แล้วก็ทำ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องทำ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของปัญญาทั้งหมด

    แสดงให้เห็นว่า พระปัญญาที่ได้ทรงแสดงพระธรรมไว้ทั้งหมดเกื้อกูลผู้ที่สามารถที่จะศึกษาเข้าใจให้พ้นจากความเห็นผิดได้ มิฉะนั้นแล้วทั้งๆ ที่ไม่ใช่ปัญญาก็คิดว่าปัญญา ก็คงจะพอสมควรสำหรับสมถะที่จะเป็นข้อคิดว่า ต้องเป็นปัญญา อย่าทำเพียงชื่อว่า ทำสมถะ หรือว่าทำวิปัสสนา

    ผู้ฟัง ปัญหาเมื่อกี้นี้ถามว่า สบายกายก็ดี สบายใจก็ดี เป็นทุกข์ไหม

    ท่านอาจารย์ สบายใจก็ดี สบายกายก็ดี เป็นทุกข์ไหม อันนี้ไม่ใช่ทุกขเวทนา แต่ว่าเป็นสังขารทุกข์ เพราะเหตุว่าสังขารทุกข์หมายความถึง สภาพธรรมใดก็ตามเกิดแล้วดับ ถ้าประจักษ์จริงๆ ว่า ชีวิตนี้แสนสั้น สั้นกว่าที่เราคิด ย่อเหตุการณ์ทั้งหมดยาวๆ ทั้งวัน มาเหลือเพียงชั่วขณะจิตเดียว ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สภาพใดๆ ก็ตามซึ่งไม่เที่ยงขนาดนั้น สั้นขนาดนั้น แล้วเราจะยังคิดว่า เป็นสุขหรือ คือไม่ได้เกิดมาทำอะไรเลย เกิดมาเพียงทำหน้าที่ของธรรมนั้นๆ แล้วก็ดับ เร็วมาก อย่างจิตเห็นเกิดมาทำไม เกิดเพราะมีปัจจัยที่จะเพียงเห็น แล้วก็ดับ เท่านี้จริงๆ

    สภาพธรรมทั้งหมดในชีวิตที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เกิดขึ้นทำกิจของธรรมนั้น แล้วดับทันที จะเป็นสุขได้อย่างไร เร็วแสนเร็ว กำลังเกิดดับอยู่ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสังขารทุกข์สำหรับความรู้สึกเป็นสุขกายหรือใจ

    ผู้ฟัง ตรงนี้ก็คงจะชัดเจน ที่ว่าทุกข์ๆ ก็มีหลายอย่าง ทั้งสบายกายสบายใจ กุศลจิตกับอกุศลจิต ล้วนแต่เป็นสังขารทุกข์ แต่ว่าเราไม่ค่อยชินกับสังขารทุกข์ โดยมากมักจะชินกับทุกขเวทนา

    ท่านอาจารย์ หรือไม่ก็ชินกับคำว่า “สังขาร” แล้วก็เหมาเอาว่าตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า รูปร่างของเรานี่คือสังขาร แต่สังขารในพระพุทธศาสนานั้นกว้างมากกว่านั้น คือไม่ว่าจะเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป เป็นสภาพธรรมใดๆ ที่เกิดดับ เป็นสังขารทั้งนั้น

    สังขารทุกข์ คือ ทุกข์ของสังขารคือไม่เที่ยง เพราะเหตุว่าขณะนี้ยังไม่ต้องไปไหน สภาพธรรมเกิดปรากฏแล้ว เพราะฉะนั้น เหมือนกับว่ามีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิด หรือไม่มีเหตุปัจจัยที่จะให้สติเกิด เพราะว่าเราบังคับสติไม่ได้ ขณะนี้กำลังเห็นดับเลย แล้วก็มีเห็นเกิดสืบต่อ แล้วก็มีได้ยิน แล้วก็มีคิดนึก

    สติปัฏฐาน คือ เมื่อฟังเรื่องสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เข้าใจเพียงพอที่จะเป็นปัจจัยให้มีการระลึก ตัวจริงๆ ของธรรม ไม่ใช่เพียงเรื่องของธรรมเท่านั้น

    เวลานี้ถ้าไม่มีเสียงปรากฏเลย มีใครจะทำให้ได้ยินเกิดขึ้นบ้าง ถ้าไม่มีปัจจัยที่จะให้สัมมาสติระลึกลักษณะของสภาพนามธรรมหรือรูปธรรม ใครจะไปบังคับหรือไปพยายามอย่างไร ให้มีการระลึกที่ลักษณะของนามธรรม หรือรูปธรรม ก็ไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เป็นพระดำรัส เป็นพระพุทธพจน์ ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วไม่เปลี่ยน คือ ธรรมทั้งหลาย ทั้งหมด ทั้งปวง ทั้งสิ้น เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป

    ถ้ามีปัจจัยให้ได้ยินเกิด ได้ยินก็เกิด ถ้ามีปัจจัยให้มีสัมมาสติมีการระลึกขณะที่กำลังเห็น สัมมาสติก็เกิด โดยที่ว่าไม่มีใครพยายาม หรือว่าไปใช้ หรือว่าไปทำให้สติเกิดได้ แต่ต้องมีปัจจัยพอจากการฟัง แล้วก็เข้าใจจริงๆ ในเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม พอที่สติจะเกิด แล้วสติก็ดับ ไม่ใช่มีใครพยายามจะให้สติเกิดได้ตลอดเวลา

    ผู้ฟัง จิตกับเจตสิกต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็คงจะทราบแล้วว่า ถ้าเราแบ่งประเภทของธรรมที่มีจริงๆ ออกเป็น ๒ อย่าง ได้แก่ นามธรรมฝ่ายหนึ่ง รูปธรรมฝ่ายหนึ่ง รูปธรรมเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้น ก็ตัดออกไปเลย ธรรมชาติที่เป็นฝ่ายรูป ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน อย่างไร คือสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ทั้งสิ้น

    ถ้ากล่าวถึงจิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีอีกคำหนึ่งซึ่งคู่กัน เพราะเหตุว่าเมื่อมีสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ด้วย ภาษาบาลีเรียกสิ่งที่จิตกำลังรู้ว่า อารัมมณะ ซึ่งภาษาไทยเราตัดสั้นๆ ว่า อารมณ์ แล้วก็มาใช้ผิดๆ เข้าใจผิดด้วย อย่างบอกว่าวันนี้อารมณ์ดี เราเอาปลายเหตุ คือ วันนี้ตื่นมาทุกสิ่งทุกอย่างก็น่าพอใจ เห็นสิ่งที่น่าพอใจ ได้ยินเสียงที่น่าพอใจ จิตใจก็ใช้คำว่า อารมณ์ดี แต่ความจริงที่ใช้คำว่า อารมณ์ดี เพราะว่าจิตรู้แต่สิ่งที่ปรากฏให้รู้ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าพอใจ

    เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่า จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ถ้ามีจิตต้องมีอารมณ์ คือสิ่งที่ถูกรู้ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เช่นถ้าเราพูดลอยๆ ว่า เห็น เห็นเป็นจิต แต่ว่ารู้สึกสบาย หรือไม่สบาย หรือเฉยๆ ขณะที่เห็น ความรู้สึกสบาย หรือไม่สบายที่เกิดพร้อมกับจิตที่เห็น ขณะนั้น ความรู้สึกนั้นเป็นเจตสิก เพราะว่าเจตสิกหมายความถึงสภาพธรรมที่เกิดกับจิต จะไม่เกิดกับอย่างอื่นเลย เป็นนามธรรมซึ่งต้องเกิดกับจิตเท่านั้น แล้วก็รู้อารมณ์เดียวกับจิต คือถ้าจิตเห็นสิ่งใด เจตสิกแต่ละเจตสิกซึ่งมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท แล้วแต่ว่าเจตสิกประเภทไหนจะเกิดกับจิตประเภทไหน เจตสิกนั้นๆ ที่เกิดกับจิตที่กำลังรู้อารมณ์ใด ก็จะต้องรู้อารมณ์เดียวกับจิตนั้น

    แสดงให้เห็นว่า เจตสิกเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตรู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมจิต แล้วก็เกิดที่เดียวกับจิต อย่างที่ร่างกาย จะมีความรู้สึกเจ็บหรือปวด เจ็บหรือปวดไม่ใช่จิต แต่เป็นความรู้สึกเจ็บปวด เป็นเจตสิก ถ้าเป็นสิ่งอื่นซึ่งต่างจากการรู้ธรรมดาๆ เฉยๆ ลอยๆ สิ่งนั้นต้องเป็นเจตสิก เพราะเหตุวาเราเห็น แต่บางครั้งเราชอบ บางครั้งเราไม่ชอบ เพราะฉะนั้น เห็นเป็นจิต แต่ที่ชอบเป็นโลภเจตสิก ที่ไม่ชอบเป็นโทสเจตสิก

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ว่านามธรรมซึ่งเกิดมีเจตสิกกับจิตเกิดร่วมกันจิตก็จริง แต่ก็ต้องแยกประเภทว่า จิตนั้นเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ส่วนเจตสิกที่เกิดกับจิต ก็แล้วแต่ว่าเป็นเจตสิกประเภทใด เพราะเหตุว่าเจตสิกแต่ละชนิดก็ทำกิจของเจตสิกนั้นๆ เช่น จำ ความจำ พอเห็นแล้วก็จำได้ ลักษณะที่จำนั้นเป็นเจตสิก แต่จิตเห็น จิตไม่ได้จำ จิตไม่ได้รู้สึกเฉยๆ หรือเป็นสุข เป็นทุกข์ จิตเพียงรู้แจ้งอารมณ์ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นจะต่างกันอย่างชนิดซึ่งละเอียด และน้อยมาก เช่น ถ้าไปยืนอยู่ที่ฝั่งชายทะเล เห็นขอบฟ้า สีของน้ำทะเล หรือสีของขอบฟ้า ก็เกือบจะแยกกันไม่ได้ แต่จิตก็สามารถที่จะรู้ความต่าง เพราะว่าเห็นแจ้งในอารมณ์ที่ปรากฏที่ต่างกัน เพชรแท้กับเพชรเทียม จิตก็สามารถที่จะเห็นแจ้งในอารมณ์นั้น แล้วสัญญา ความจำ จึงจำความต่าง แล้วสามารถที่จะรู้ว่า อันไหนเป็นเพชรแท้ อันไหนเป็นเพชรเทียม

    จิตเป็นเพียงสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะ ต่างๆ ของอารมณ์ เสียงตนตรีมีหลายเสียง จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในเสียง แต่เจตสิกก็จำเสียงนั้น แล้วก็สามารถที่จะรู้ว่า เสียงที่ต่างกันนั้นเป็นเสียงอะไร แต่ว่าจิตเป็นเพียงสภาพที่รู้แจ้ง เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ แล้วเจตสิกแต่ละประเภทซึ่งมีทั้งหมดด้วยกัน ๕๒ ประเภท ก็เกิดขึ้นแล้วก็กระทำกิจของเจตสิกนั้นๆ เช่น อวิชชา เป็นสภาพที่ไม่สามารถที่จะรู้ หรือเข้าใจลักษณะที่เป็นจริงของสภาพธรรม

    ในปฏิจจสมุปบาท ที่ว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร เราก็อาจจะท่องจนชิน แต่ไม่รู้ว่ากำลังเห็นมีอวิชชาไหม เมื่อเห็นแล้วรู้ความจริงของสิ่งที่เห็นหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เที่ยวไปหาอวิชชา ก็อาจจะไม่พบ ทั้งๆ ที่อวิชชาก็เกิดขึ้น ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นก็ต้องมีอวิชชาเกิดด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่ามีสภาพธรรมมากมายที่เราจะต้องค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ถึงจะมีปัจจัยที่จะทำให้สัมมาสติเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ถูกต้องได้

    ผู้ฟัง ชีวิตคืออะไร คงถามมาในลักษณะในแง่ของพระอภิธรรม ชีวิตคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เอายากๆ ก็ได้ เพราะเหตุว่าอาจจะง่ายๆ มาแล้ว เพราะว่าแต่ละท่านก็คงจะเรียนกันมาพอสมควร ถ้าตอบโดยเจาะจงก็ได้แก่ ชีวิตตินทริยะ ซึ่งเป็นนามธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง ถ้าจะเจาะจงเฉพาะคำว่าชีวิต

    ผู้ฟัง จิตเมื่อจุติ แล้วไปเกิดที่ใด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จิตเก่า ไม่ใช่ว่าจิตนี้ดับแล้วไปเกิด ให้ทราบว่า จิตทุกขณะก็เหมือนไฟ ซึ่งถ้าไม่มีเชื้อไฟพร้อม ไฟก็เกิดไม่ได้ ยังไม่ใช่ว่ามีจิต แต่ว่าเมื่อพร้อมด้วยเหตุปัจจัยเมื่อไรก็เกิด อย่างปฏิสนธิจิต คือ จิตขณะแรกของชาตินี้ ชาตินี้เราก็ไม่พูดถึง เพราะว่า ปฏิสนธิจิตเกิดขณะแรกแล้วก็ดับไปแล้ว หมดทางที่จะแก้ไข ก็ต้องเป็นคนนี้แหละ ไปจนกว่ากรรมที่จะให้เป็นบุคคลนี้สิ้นสุดลงเมื่อไร จุติจิตก็จะเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อน เมื่อดับก็หมายความว่า สิ้นสุดสภาพความเป็นบุคคลนี้ แล้วกรรมหนึ่งซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ หรือชาติก่อน ในแสนโกฏิกัปป์ซึ่งสามารถจะเป็นชนักกรรม คือ กรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น จะเป็นปัจจัยทำให้ผลของกรรม คือ วิบากจิตทำกิจปฏิสนธิเป็นขณะแรก ไม่ใช่เกี่ยวกับจิตชาตินี้เลย จิตในชาตินี้แต่ละขณะที่เกิดแล้วดับ ก็ดับไปเลย เกิดเพราะเหตุปัจจัยใดแล้วก็ดับไป เหมือนไฟซึ่งไหม้เชื้อ แต่ละขณะที่แสงไฟเกิดเป็นไฟ เป็นเปลวไฟ เมื่อเกิดจากเชื้อไฟใดก็ดับ แล้วไฟขณะต่อไปก็เกิดจากเชื้อไฟต่อไป

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้มีปัจจัยให้จิตประเภทใดเกิด จิตประเภทนั้นก็เกิด แล้วสำหรับปฏิสนธิจิตก็เป็นผลของกรรมหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่เป็นพระโสดาบันบุคคล อกุศลกรรมก็จะทำให้เกิดในอบายภูมิ จากคนก็ไปเกิดเป็นนก เป็นปู เป็นปลา เป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เกิดในนรกได้ ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม แต่ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดในสุคติภูมิ คือ เกิดในมนุษย์ หรือสวรรค์ แต่ว่าถ้าไม่ถึงความสงบของจิตที่เป็นกุศลขั้นฌานจิตก็ไม่สามารถที่จะไปเกิดในพรหมโลกได้ ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนก็รู้ตัวเองพอสมควรว่า จะเกิดในภูมิไหน คือ ไม่ใช่รูปพรหมภูมิ แต่ว่าแม้ในกามภูมิก็ไม่รู้ว่าภูมิไหน แต่ถ้าเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้วก็แน่ใจว่า ไม่ไปสู่อบายภูมิ

    ผู้ฟัง รูปกับจิตอะไรเกิดก่อน เกิดหลัง

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงห่วง เรื่องเกิดก่อนเกิดหลัง มีความสำคัญอะไร เพราะว่าเห็นถามกันบ่อยเหลือเกิน รู้แล้วเป็นอย่างไร อะไรเกิดก่อน อะไรเกิดหลัง ช่วยอะไรได้ ให้ทราบว่า ตอนเกิดขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิตเกิดไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต แต่เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น เป็นจิตประเภทที่เป็นวิบากจิต แต่กรรมในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม ไม่ได้ทำให้แต่เฉพาะปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นวิบากจิตเกิด ยังทำให้ กัมมัชชรูป คือ รูปซึ่งเกิดเพราะกรรม เกิดพร้อมกับปฏิสนธิจิต

    ในขณะแรกของจิตที่เกิด จะเป็นจิต และเจตสิกซึ่งเป็นวิบาก และกัมมัชชรูป ทั้งนามธรรม และรูปธรรมเกิดเพราะกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย คือ กรรมที่จะให้ทำเป็นบุคคลนั้น เอาปัจจุบันชาตินี้ที่ทุกคนเกิดมาเป็นผลของกุศลกรรม มีใครรู้บ้างว่า เป็นผลของทานสมัยใด กาลใด หรือว่าเป็นผลของศีล หรือเป็นผลของวจีสุจริต หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ได้กระทำแล้ว แต่เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ต้องรู้ว่า เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่ง แต่ทำไมเราถึงมีรูปร่างหน้าตาซึ่งต่างกัน แม้แต่รูป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567