ปกิณณกธรรม ตอนที่ 311


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ ในขณะนี้ ตามปกติธรรมดาจริงๆ กำลังเห็น ขณะที่กำลังเห็น มีแขน มีขา มีมือ มีเท้าอยู่ตรงไหนหรือเปล่า มีหรือไม่มี ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี นี่คิดใช่ไหม หรือว่าประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง คิด

    ท่านอาจารย์ ความจริง จริงๆ เป็นอย่างนี้ แต่ด้วยอวิชชา ด้วยความทรงจำในอัตตสัญญา เพราะเคยจำไว้ว่า มีเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ว่าตามความเป็นจริงในขณะนี้ เพียงชั่วขณะที่ได้ยินเท่านั้น แขนขามือเท้าตัวตนไม่มีเลย มีแต่เฉพาะสภาพที่กำลังรู้เสียง ขณะที่เสียงปรากฏ เพราะฉะนั้น ตัวของเราที่คิดว่า เป็นแท่งทึบ มีอากาศธาตุแทรกคั่น อย่างละเอียดยิบ พร้อมที่จะแตกสลายเป็นผงธุลีละเอียดเมื่อไรก็ได้ แต่ว่าเมื่อยังไม่เป็นอย่างนั้น ก็เลยยึดถือสภาพที่ประชุมรวมกันว่า เป็นร่างกายของเรา ว่าเป็นตัวตนของเรา ส่วนจิตใจของเรา มองไม่เห็นก็จริง แต่เมื่อมีการเห็น ก็เป็นเราเห็น เมื่อมีการได้ยิน ก็เป็นเราได้ยิน

    สภาพธรรมซึ่งมีจริงซึ่งเป็นทั้งรูปธรรม และนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่ละเอียดโดยสภาพลักษณะ เช่นลักษณะที่แข็ง ก็เป็นลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่เย็น ก็ไม่ใช่ลักษณะที่แข็ง เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ในขั้นต้น แล้วก็อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความเป็นจริงของสภาพนั้นๆ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละน้อย จนกว่าสามารถที่จะแทงตลอด ใช้คำว่า แทงตลอด หรือว่าประจักษ์ ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ขณะนั้นต้องไม่ใช่ปัญญาเพียงขั้นการฟัง แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏก็ไม่ผิดจากความเป็นจริงในขณะนี้ เพียงแต่ว่าความรู้ต่างกัน ความรู้ที่บอกว่าในขณะที่เห็นจะมีอย่างอื่นไม่ได้เลย นั้นเป็นเพียงขั้นคิด ขั้นเข้าใจ แต่ไม่ใช่ขั้นประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง จะใช้สติไประลึกหรือน้อมที่ตรงไหน ที่เป็นวิเสสลักษณะ หรือเป็นสามัญลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ได้ยินคำว่า โยนิโส ก็ยังไม่ทราบใช่ไหมว่า หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง พิจารณา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าแปลรวมๆ ไม่ได้แยกศัพท์ โยนิโสมนสิการ มนสิการหมายความถึงการสนใจ ใส่ใจ พิจารณาด้วยความแยบคาย คือ ด้วยความถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมนั้น แต่ว่าขณะที่กำลังคิดจะโยนิโส นี่เป็นคิด ไม่ใช่โยนิโสมนสิการเจตสิก คือ ไม่ใช่เจตสิกที่ทำหน้าที่นี้ แต่ว่าเป็นตัวตนที่จะทำหน้าที่แทนเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะได้ทราบว่า สภาพธรรมทั้งหมด ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิดแล้ว เช่นในขณะนี้เกิดแล้วทุกๆ ขณะ ตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีใครสามารถจะไปบังคับ หรือไปพยายามผันแปร ไม่เช่นนั้นแล้ว คนก็ต้องมีกุศลจิตตลอดเวลา เพราะว่าสามารถจะโยนิโสให้เป็นกุศล แต่ว่าตามความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น เวลาที่มีเหตุปัจจัยที่อกุศลเกิดแล้ว ใครทำให้อกุศลนั้นเกิด เราทำให้อกุศลเกิด หรือว่าใครทำ ถ้าไม่มีปัจจัย เช่น พระอรหันต์ซึ่งท่านดับกิเลสหมดแล้ว อย่างไรๆ อกุศลสักประเภทเดียวก็เกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่มีปัจจัยที่จะเกิด ดับกิเลสหมด แต่สำหรับคนที่ยังมีกิเลส ไม่จำเป็นต้องไปคิดจะโยนิโส หรือ อโยนิโส ถ้าคิดอย่างนั้นก็หมายความว่า เราจะทำด้วยความเป็นอัตตา คือ สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงขณะของธรรมได้ แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร จะเป็นอกุศล หรือกุศลอย่างไรก็เพราะสะสมมาที่เจตสิกนั้นๆ จะเกิดขึ้นทำกิจนั้นๆ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ควรที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ไม่ใช่เราทำ แต่ว่าเป็นสภาพของธรรม คือ จิต เจตสิก และรูปซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจการงานของสภาพธรรมนั้นๆ เช่น จิต จิตเห็น ใครจะทำหน้าที่แทนจิตนี้ได้ หรือโลภะเกิดขึ้นติดข้อง ติดแล้ว ขณะที่เกิดก็ติดทันที เพราะว่าลักษณะของโลภะเป็นสภาพที่ติด เมื่อเกิดแล้วต้องติดข้อง แล้วใครจะไปทำลักษณะติดข้องให้เป็นเราทำได้ ไม่มีใครที่สามารถจะทำอะไรได้เลย แต่สามารถที่จะอบรมสะสมความเข้าใจให้เข้าใจธรรมว่า เป็นธรรมจริงๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจใน ความหมายของคำว่า อนัตตา คือไม่มีเจ้าของ และไม่ใช่ของใคร ถ้าเป็นสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดก็เกิด แต่ถ้าไม่มีปัจจัยก็ไม่เกิด

    ผู้ฟัง ผมก็ขอสนับสนุนท่านอาจารย์โดยจะวิเคราะห์เรื่องศัพท์ คำว่า โยนิโส ที่คุณสุกิจพูด โยนิ แปลว่า ต้นกำเนิด หรือแหล่งที่มา ต้นตอ โส แปลว่าโดย บูรพาจารย์ อาจารย์ก่อนๆ ท่านสอนลูกศิษย์ว่า ให้แปลว่าโดยอุบายอันแยบคาย คำว่า โยนิโส นี่นะ ตัวเดียว แปลว่า โดยอุบายอันแยบคาย โยนิ แปลว่าต้นตอ หรือแหล่งกำเนิด โส แปลว่าโดย รวมกันแล้ว เป็นโยนิโส แปลว่า โดยอุบายอันแยบคาย บูรพาจารย์ท่านให้แปลอย่างนี้ เราก็แปลมาอย่างนี้ แต่ว่าความหมายของศัพท์คำว่า โยนิ แปลว่าต้นตอ หรือแหล่งกำเนิด โส แปลว่าโดย นี่แปลตามตัว เมื่อมาบวกเข้ากับ มนสิการ มนสิ แปลว่า ในใจ การ แปลว่ากระทำ รวมกันเป็น โยนิโสมนสิการ กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย คือมองให้ถึงต้นตอ อย่างที่ท่านอาจารย์ว่า ต้องถึงรู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม ถ้าไม่รู้ มันจะโยนิโสไม่ได้ นอกจากคิดเอา

    ท่านอาจารย์ คุณสุกิจ คงอยากจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ใช่ไหม เวลาที่บอกว่าปวดคอ แล้วก็จะระลึกลักษณะอะไร ถ้าคุณสุกิจไม่คิดถึงคอ แล้วก็ความปวด เขาก็จะมีลักษณะเฉพาะของเขา ซึ่งไม่เป็นอย่างอื่นเลย สภาพของความปวดจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เวลาที่เกิดปวดขึ้น ก็จะมีลักษณะของปวดปรากฏ แต่โดยมากเรามักจะไปคิดถึงเรื่องราวว่า ปวดคอ แต่ถ้าพิจารณาลักษณะของความปวดจริงๆ เท่านั้น ว่าลักษณะของสภาพธรรมนี้มีลักษณะอย่างนี้ ก็จะเห็นความเป็นธรรมว่า ใครสร้างความปวดนี้ขึ้นมาได้ ไม่มีใครสร้างธรรมอะไรขึ้นมาได้เลยสักอย่างเดียว แม้แต่ความรู้สึกปวด ก็เกิดขึ้นแล้วปรากฏ ถ้ายังไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ แล้วลักษณะของปวดก็จะไปเปลี่ยนเป็นลักษณะของสุข หรือทุกข์ก็ไม่ได้ ลักษณะของสภาพธรรมนั้น กำลังแสดงความเป็นธรรมที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ลักษณะนั้นเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แล้วเวลาที่คิดถึงคอ ลักษณะของคอเป็นอย่างไร เมื่อกี้มีลักษณะปวดแล้ว ใช่ไหม เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้ามีการอบรมเจริญปัญญาสามารถจะประจักษ์ทุกขเวทนา หรือความรู้สึกปวด ซึ่งเหมือนมาก แต่ว่าความจริงแล้วต้องเกิดดับสืบต่อเพิ่มขึ้น จนกระทั่งปรากฏเป็นความปวดมาก แต่ว่าเวลาที่ระลึกถึงคอ ไม่เกี่ยวกับปวดแล้ว ใช่ไหม ลักษณะของคอเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง มันก็ไม่รู้หรอก

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องราว ใช่ไหม เรื่องราวไม่มีลักษณะ จะเรียกว่าคอ จะเรียกว่าแขน ไม่มีลักษณะ แต่ลักษณะจริงๆ เมื่อสัมผัส กระทบ จะมีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ทั่วตัวแต่เราไปทรงจำไว้ว่า นี่เป็นคอ แต่เวลาที่มีลักษณะของสภาพธรรมที่แข็งเกิดขึ้น ถ้าไม่มีรูปอื่นปรากฏเลย จะเรียกตรงนั้นที่แข็งว่าคอ ได้ไหม เพราะว่าลักษณะจริงๆ ของสภาพนั้นเป็นอย่างนั้น จะต้องเอาสิ่งที่เราเคยยึดถือว่าเป็นเราทั้งหมดออก เพราะว่าความจริงไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ เท่านั้น แต่ละอย่าง ปรากฏจริงๆ แต่เพราะเหตุว่าความรวดเร็วก็ทำให้รวมกัน เป็นปวดคอ แต่ว่าตามความเป็นจริง ปวดก็อย่างหนึ่ง และที่ว่าเป็นคอมีลักษณะอย่างไร เวลาที่มีสภาพธรรมปรากฏ คอมีไหม

    ผู้ฟัง ก็มีแต่จำ ความจำว่า เป็นคอ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจความหมายของอนัตตา ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่รูปร่างทั้งแท่ง แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมใดปรากฏ ก็มีความเข้าใจชัดเฉพาะในลักษณะนั้น แล้วก็ไม่มีเราตรงนั้นด้วย เราอยู่ที่ไหนตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่ได้ปรากฏเลย ปรากฏเฉพาะส่วนที่แข็งที่กำลังปรากฏ แล้วก็เริ่มค่อยๆ เข้าใจในความเป็นธรรมของสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ที่ปรากฏให้ศึกษา จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ เป็นความรู้แจ้งชัดประจักษ์ลักษณะที่แท้จริงทางมโนทวาร หมดความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมนั้นจริงๆ จึงจะเป็นวิปัสสนาญาณได้

    ผู้ฟัง ลักษณะแข็ง

    ท่านอาจารย์ ลักษณะเจ็บ ใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แข็ง ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครทำแข็ง ใครสร้างแข็ง ใครจะโยนิโสมนสิการให้แข็งเกิดก็ไม่ได้

    ผู้ฟัง นี่คือลักษณะเฉพาะ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะเฉพาะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ขณะที่กำลังเข้าใจ คุณสุกิจต้องโยนิโสหรือเปล่า หรือว่าเกิดความเข้าใจเพราะฟังแล้วพิจารณา ถ้าเกิดไม่เข้าใจขณะไหน ขณะนั้นก็เป็นอโยนิโสมนสิการ แต่พอเข้าใจก็ไม่ใช่คุณสุกิจทำ แต่ว่าเพราะการสะสมมา การฟังเข้าใจขึ้นๆ ๆ ก็สามารถที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ตามลำดับ

    ผู้ฟัง สติระลึกหรือน้อมไปที่เวทนา คือความปวด มันก็จะหายไปหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมทุกอย่างเกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง มันจะหายไปหรืออย่างไร มันจะค่อยยังชั่ว หรือบรรเทาไปหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่มีอยู่ เข้าใจมากน้อยแค่ไหน ขั้นฟังเข้าใจว่า ไม่ใช่เรา ลักษณะบางอย่างเป็นนามธรรม ลักษณะบางอย่างเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็มีแต่นามธรรมรูปธรรม แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นเรา เพราะไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์แจ้ง ลักษณะของสภาพธรรม ที่เป็นนามแต่ละอย่าง ที่เป็นรูปแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เพียงแต่รู้อาศัยพยัญชนะนี้แหละ รู้ว่าเป็นรูป หรือเป็นนาม เท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมก็เป็นอย่างนั้น อย่างแข็ง ลักษณะสภาพแข็งไม่ใช่สภาพรู้ แต่สามารถปรากฏเมื่อกระทบกาย ซึ่งมีกายปสาทซึมซาบอยู่ทั่วตัว แข็งจึงจะปรากฏได้ ถ้าที่ใดไม่มีกายปสาท แข็งก็ปรากฏไม่ได้

    ผู้ฟัง ท่านผู้ฟังมี ๓ คำถาม คำถามแรก เราอยู่ในโลกนี้คนเดียวจริงๆ หรือ

    คำถามที่ ๒. คนเราส่วนใหญ่กลัวความตายเพราะเหตุใด

    ข้อ ๓. โทษของความติดข้องเป็นอย่างไรบ้าง ดิฉันเห็นว่ามีความสุขดี

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะเป็นสุขจริงๆ แต่ว่าสุขเพียงขั้นสุขเวทนา แต่ไม่ได้เข้าใจความสุขอีกระดับหนึ่ง คือ สุขด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง คำถามที่ ๑ อยากให้ท่านอาจารย์เน้นย้ำว่า คนเราอยู่ในโลกนี้คนเดียวจริงๆ หรือ

    ท่านอาจารย์ ก็น่าคิด เวลานี้ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตามากมายหลายอย่าง คงจะสงสัยว่า แล้วจะอยู่คนเดียวได้อย่างไร จริงๆ หรือเปล่า ถ้าถามกลับ เห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เห็นคนเดียว หรือคนว่าคนอื่นร่วมเห็นด้วย ในเห็นที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ของเรา

    ผู้ฟัง เท่าที่ฟัง ตอบตามทฤษฎี ก็เห็นคนเดียว

    ท่านอาจารย์ เวลาปวดเมื่อย ปวดคนเดียว หรือว่าคนอื่นก็ปวดด้วย

    ผู้ฟัง คนอื่นอาจจะปวดด้วย แต่ว่าเราก็ไม่ทราบ เราทราบแต่ว่าเราปวด

    ท่านอาจารย์ ขณะที่กำลังเป็นปวดของเรา มีของใครมารวมอยู่ด้วยหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เวลาที่รับประทานอาหารอิ่ม คนอื่นอิ่มด้วยไหม

    ผู้ฟัง เราอิ่ม

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วเราอยู่ในโลกของจิตหนึ่งขณะๆ ๆ ซึ่งต่างคนก็มีจิตแต่ละขณะ คนหนึ่งจะมีจิต ๒ ขณะไม่ได้เลย เพราะว่าจิตเป็นสภาพที่เป็นอนันตรปัจจัย ต้องจิตนี้ดับก่อน จิตอื่นจึงจะเกิดสืบต่อได้ มีผู้ถามบอกว่า แล้วจิตขณะนี้ มาจากไหน ก็บอกว่า ถ้าขณะก่อนไม่มี ขณะนี้จะมีไหม เพราะฉะนั้น ขณะต่อไปก็ต้องมี เพราะเหตุว่ามีขณะนี้ ซึ่งดับแล้วก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วที่ว่าเป็นเรา หรือแต่ละคน คือจิตหนึ่งขณะเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดแล้วก็ดับ สืบต่อไปตามการสะสม ทำให้ต่างคนต่างรู้ความเป็นจริงว่า แต่ละคนเหมือนกันไม่ได้แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความคิด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสุขทุกข์ต่างๆ ก็มีเหตุปัจจัย เฉพาะแต่ละคนที่เกิดขึ้นตามการสะสมของจิตแต่ละขณะ เพราะว่าจิตที่เกิดขึ้นแล้วดับไปก็จริง แต่ก็สะสมสืบต่อในจิตขณะต่อไป ทำให้อัธยาศัย แม้แต่อย่างละเอียดที่สุด การพูด การเดิน การนั่ง การนอน ก็ต้องเกิดจากจิตซึ่งเคยกระทำอย่างนั้นๆ มาจนกระทั่งชิน บางคนก็อาจจะสบาย ถ้านั่งขัดสมาธิ บางคนก็อาจจะสบายเวลาที่นอนท่านั้น ท่านี้ นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละคน ซึ่งเป็นความละเอียดมากของธรรม

    แสดงให้เห็นว่า ถ้าพิจารณาจริงๆ เราอยู่ในโลกคนเดียวกับความคิด แล้วความจริงที่คิดก็ไม่ใช่คนด้วย เป็นแต่เพียงจิต เพราะฉะนั้น ถ้าจะถอนชื่อ ทุกสิ่งทุกอย่างออกหมด แล้วก็พิจารณาสภาพธรรมแต่ละอย่าง แต่ละประเภทจริงๆ จิตก็เป็นจิต เป็นมนินทรีย์ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่น เวลาที่เราเห็นสีที่คล้ายคลึงกัน แต่จิตก็ยังสามารถเห็นความละเอียดของความต่าง ของความคล้ายคลึงนั้นได้ บางคนตาไม่ดี ก็อาจจะถามคนอื่นว่า นี่สีเหมือนกันหรือเปล่า ๒ สีนี้เหมือนกันหรือเปล่า แต่คนตาดีก็รู้ว่า ๒ สีนี้ไม่เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ความละเอียดของสภาพธรรมจริงๆ ที่จิตสามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเป็นสภาพธรรมที่สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง เมื่อเห็น ก็เห็นชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏว่าในขณะนี้ ใครจะมาบอกว่า ไม่ใช่สิ่งนี้ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งนี้กำลังปรากฏให้เห็น เวลาที่ได้ยินเสียง ใครจะบอกว่า ให้เป็นเสียงอื่น ไม่ใช่เสียงนี้ ไม่ใช่เสียงอย่างนี้ ก็ไม่ได้ เพราะว่าสภาพของเสียงที่ปรากฏอย่างไร ก็เป็นความจริงในขณะนั้น เฉพาะชั่วขณะที่ได้ยิน แล้วก็หมดไป

    แต่ละคน จะได้ยินแต่ละเสียง แต่ละคิด แต่ละเข้าใจ ก็แล้วแต่ ก็เป็นเฉพาะคนๆ จริงๆ ซึ่งไม่สามารถที่จะถ่ายทอดถ่ายเท หรือว่ายกย้ายไปให้ใครได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของการสะสมสภาพธรรมแต่ละขณะจริงๆ

    ลองพิจารณาดูว่า อยู่คนเดียวหรือเปล่า ถ้าขณะใดที่ไม่ได้อยู่คนเดียว หมายความว่าขณะนั้นไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้าขณะใดที่เริ่ม ที่จะเข้าใจสภาพธรรม แล้วพิจารณา แล้วมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ ขณะที่กำลังใส่ใจในลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง จะรู้ ๒ อย่าง คือ อย่างอื่นด้วยได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ก็จะค่อยๆ เริ่มเข้าใจ ควาหมายของคำว่า อยู่คนเดียว

    ผู้ฟัง คนเราส่วนใหญ่กลัวความตาย เพราะเหตุใด

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่อยากตาย เมื่อเกิดมาแล้วที่จะไม่มีความติดข้องในความเป็นไม่มีเลย ไม่มีเลย จริงๆ ขอให้มีอะไรปรากฏเถอะ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไร เพียงแค่เห็น ยังไม่รู้สิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็ติดแล้ว ต้องการเห็นอย่างหนึ่ง พอได้ยิน ไม่รู้ว่าเป็นเสียงอะไรทั้งหมด ก็ติด ต้องการได้ยิน ไม่มีใครไม่อยากได้ยิน ไม่มีใครไม่อยากเห็น ไม่มีใครอยากไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพราะเหตุว่าเป็นหน้าที่ของโลภะ สภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่จิต แต่ว่าเกิดกับจิต แล้วก็ดับพร้อมจิต แล้วไม่ว่าจิต มีอะไรที่เป็นสภาพที่จิตกำลังรู้ คือเป็นอารมณ์ โลภะก็มีความยินดีในลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เมื่อมีความติดข้อง แล้วเราจะปฏิเสธได้ไหมว่า เราไม่ติด เราตายก็ไม่เป็นไร หรือว่าเพราะเราติด เราจึงไม่อยากจะตาย คือไม่อยากจะจากสิ่งซึ่งมีอยู่ในโลกนี้ กลัวว่าจะไม่ได้เห็นอีกต่อไป จะไม่มีความเป็นบุคคลนี้อีกต่อไป แต่ความจริงความเป็นบุคคลนี้กับความเป็นบุคคลก่อน ชาติก่อนก็ไม่มีอะไรเหลือ ความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ อีกไม่นานก็จะจบ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ แล้วกรรมก็ทำให้เกิดใหม่เป็น บุคคลใหม่

    ถ้าพูดถึงว่า กลัวตาย คือกลัวจะพลัดพลากจากสิ่งที่ปรากฏทางตาทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ว่าก็ต้องเกิดอีก แล้วก็ติดอีก แล้วก็กลัวตายอีก ถึงจะกลัวตายสักเท่าไร ก็ต้องตาย จะกลัวทำไม แต่ก็อดกลัวไม่ได้ เพราะว่ายังไม่อยากจะจากสิ่งที่เรามีอยู่ในชาตินี้ จนกว่าเราจะรู้ว่า ตายแล้วก็ต้องเกิด อย่างไรๆ ก็ต้องเห็น ไปในสังสารวัฏ ไม่มีทางออกจากสังสารวัฏได้เลย ถ้าไม่อบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง โทษของความติดข้องเป็นอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ลองคิดในมุมกลับ ถ้าไม่ติด สบายไหม

    ผู้ฟัง น่าจะสบาย

    ท่านอาจารย์ แต่เพราะติดจึงอยากติดต่อไป ถ้ารู้จริงๆ ว่า ระหว่างไม่ติดกับติด เวลาติดต้องเป็นทุกข์ อยากจะได้สิ่งที่เราต้องการ ถ้าไม่ได้ก็เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราไม่ติดข้องมากนัก เริ่มเห็นความสุขขึ้นมาบ้าง คือ ไม่เดือดร้อน ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม แล้วถ้ามีความรู้มากขึ้น จนกระทั่งละความติดข้องได้ เป็นสมุจเฉท ต้องถึงความเป็นพระอรหันต์ แม้แต่พระโสดาบันท่านก็ยังมี โลภะ โทสะ โมหะ พระสกทาคามีบุคคล พระอริยบุคคลอีกระดับหนึ่ง สูงกว่าระดับพระโสดาบัน ก็ยังเป็นผู้ที่ติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ก็ติดข้องมาตั้งนานแสนนานในสังสารวัฏ แสนโกฏิกัปป์ แล้วจะทำให้สิ่งที่เคยติดข้องหมดโดยสิ้นเชิงไป โดยขั้นพระโสดาบัน หรือขั้นพระสกทาคามีไม่ได้ ต้องเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง คือ ขั้นพระอนาคามีบุคคล ไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ สิ่งที่กระทบกาย แต่ยังติดข้องในความเป็น จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง ถามว่า สติปัฏฐาน คือที่ตั้งของสติ เป็นอย่างไร

    อดิศักดิ์ ที่ตั้งของสติปัฏฐาน ก็มี ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ถ้าละเอียดก็ต้องท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าสติคืออะไร เป็นเราหรือเปล่า ธรรมดาสติเป็นโสภณเจตสิก ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิต เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี หมายความถึงขณะใดที่เกิดสติ สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมโดยประการที่เป็นกุศลขั้นต่างๆ เช่น สติที่เป็นไปในทาน มีการระลึกที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ เราก็มีอกุศลมาก ของเราทั้งนั้นเลย แล้ววันไหนจะให้อะไรใคร ถ้าสติไม่เกิด ไม่มีการให้แน่นอน ไม่มีการที่จะเป็นกุศล คิดถึงประโยชน์สุขของคนอื่น แล้วก็ต้องการให้สิ่งนั้น เพื่อเขาจะได้มีความสุข เพราะฉะนั้น ก็เป็นสภาพธรรม ลักษณะของสติจะต้องเป็นธรรมฝ่ายดี แม้เป็นไปในเรื่องของทาน แม้เป็นไปในเรื่องของศีล แม้เป็นไปในเรื่องความสงบของจิต แต่ขณะที่เป็นสติปัฏฐาน ต้องเป็นเรื่องของการที่เคยฟังธรรม จนกระทั่งมีความเข้าใจ จริงๆ ว่า ทุกอย่างในขณะนี้มีจริง เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เฉพาะอย่าง เช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา มี เห็นก็มี แต่ไม่เคยรู้ความจริงของเห็น และสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะพอเห็นแล้วก็จำได้เลยว่า เป็นอะไร เป็นเรื่องราว เป็นชื่อของสิ่งของต่างๆ เป็นของคนต่างๆ เรื่องราวที่ตามมาจากการเห็นมากมาย จึงไม่ได้รู้ความจริงของเห็น แล้วสิ่งที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน จะเกิดได้ต่อเมื่อมีความเข้าใจในสภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่เป็นตัวตนซึ่งเราจะทำให้สติปัฏฐานเกิด เพื่อเราจะได้รู้การเกิดดับของสภาพธรรม เพื่อเราจะได้หมดกิเลส นั่นเป็นเราทั้งหมด ไม่ใช่ปัญญา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567