ปกิณณกธรรม ตอนที่ 331


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าศึกษาธรรมแล้ว สิ่งใดๆ ก็ตามที่ได้มาด้วยเหตุ ก็เป็นสิ่งที่หมดไป ไม่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นลาภ ไม่ว่าจะเป็นยศ ไม่ว่าจะเป็นสุข ไม่ว่าจะเป็นสรรเสริญ ไม่มีสิ่งใดที่เที่ยงหรือยั่งยืนเลย ก็จะต้องหมดไป แม้แต่ผู้ที่ถูกสรรเสริญ หรือผู้ที่ได้ลาภ ก็ต้องจากโลกนี้ไป ต้องจากวัตถุต่างๆ แต่ก่อนจะไป ไปด้วยความรู้ ความเข้าใจในสิ่งที่ได้รับในชาติหนึ่งๆ ว่า เกิดขึ้นจากอะไร แล้วก็จะหมดไปได้อย่างไร ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครก็ไม่สามารถที่จะแสดงธรรม ก็ยังเข้าใจว่า เป็นเราตั้งแต่เกิดจนตาย

    ผู้ที่จะเห็นคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม แล้วก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่มีค่าเกินกว่าเลย ก็คงจะเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกในพระธรรมยิ่งขึ้น

    ประเชิญ. ขออนุญาตเสริมประเด็นนิดหนึ่งเพราะว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก่อนที่จะกล่าวถึงคุณของพระธรรม ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เห็นคุณจริงๆ เพราะว่าพระธรรมรัตนเกิดขึ้นแสนยาก บางครั้งในอรรถกถาท่านกล่าวว่า ตลอดพันโกฏิกัปป์เป็นอเนก หาฟังไม่ได้เลย ไม่ใช่ระยะเวลาที่สั้นๆ ไม่ใช่กัปเดียว ๒ กัป พันโกฏิกัปป์ หาฟังพระธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้น ในครั้งพุทธกาล ผู้ที่เห็นคุณของพระธรรม ท่านสละทุกสิ่งทุกอย่างในการที่มารับฟังพระธรรม ซึ่งในรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาที่ท่านอาจารย์ได้ บรรยายในเรื่องของกาลีอุบาสิกา หลายท่านคงจะได้รับฟัง ที่เป็นมารดาของท่านพระโสณะ ขณะที่ท่านฟังธรรม นางทาสีมาบอกว่า โจรกำลังเข้าบ้าน กำลังขนเอาเงินทองไป นางกาลีอุบาสิกาบอกว่า ให้โจรขนไปเถอะ ทรัพย์สมบัติให้ขนไปเถอะ ตอนนี้ท่านต้องการฟังธรรม อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่เห็นคุณของการฟังพระธรรม ซึ่งผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้วก็ได้ประสบสุขมากมายเป็นอเนก ไม่สามารถที่จะนับได้เลยว่า มีร้อยคน พันคน แสนคน โกฏิคน มีมากกว่านั้นมาก ซึ่งผู้ที่เป็นบัณฑิต ท่านแสวงหาธรรม แสวงหาความจริง และแสวงหาผู้ที่แสวงหาความจริง เป็นการกล่าวสิ่งที่มีจริง ทำให้ผู้ที่ได้ฟังเห็นประโยชน์ของการรู้ความจริง คือ สัจธรรม เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลกนี้

    ผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ จะเห็นว่า สิ่งที่เป็นเงินทอง หรือข้าวของในโลกนี้สำคัญกว่า อันนี้สำหรับผู้ที่ไม่มีอุปนิสัย และผู้ที่ไม่มีปัญญา ก็จะเห็นอย่างนั้น ซึ่งเราก็ไม่สามารถบังคับให้เขามาเห็นคุณค่าของพระธรรมได้เลย เหมือนกับรัตนะทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเพชรนิลจินดา เมื่อลิงก็ดี หรือไก่ทั้งหลาย เวลาแสวงหาอาหาร เจอของมีค่าก็เขี่ยๆ ทิ้งไป ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ ก็ไปกินสิ่งที่เขาเห็นว่า เป็นอาหาร ผู้ที่ไม่ได้สะสมมาก็ในลักษณะนี้ เห็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นของที่ไม่มีคุณค่า ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมซึ่งเป็นของที่มีคุณค่ามากที่สุดเลย

    ผู้ฟัง ในการฟังธรรมบางครั้งไม่สามารถเข้าใจ ตามความเข้าใจของผมมีหนี้กรรม อกุศลกรรมมาบัง เหมือนพระเจ้าอชาตศัตรู ในเหตุนั้นจะมีวิถีการเช่นไร เหตุการณ์เช่นนี้จึงจะหายไปได้

    ท่านอาจารย์ ขอเชิญคุณอรรณพ

    อรรณพ. ตราบใดที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นโลกของความคิดที่เป็นไปด้วยอกุศลต่างๆ ที่คิดว่าจะทำอย่างไรด้วยความเป็นเราที่จะทำให้สามารถพ้นจากกรรม ผลของกรรม เพราะฉะนั้น สิ่งเดียวที่มีประโยชน์ที่สุด คือการศึกษาพระธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจความเป็นธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ และในขณะที่กำลังนึกคิดว่า จะทำอย่างไรจึงจะทำให้พ้นจากกรรม ก็ตรึกจากเรื่องที่เคยได้ศึกษา แม้ว่าจะเป็นระดับคัมภีร์ต่างๆ เช่น เรื่องพระเจ้าอชาตศัตรูว่าจะทำอย่างไรจะพ้นจากกรรมที่ท่านทำไว้ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นเพียงความคิดนึกไม่ได้เข้าใจลักษณะสภาพธรรมเลยว่า แม้ความคิดนึกนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏแล้ว ขณะนั้นสำรวมอินทรีย์หรือเปล่า เราได้ศึกษากันถึงพระสูตร ในเรื่องของผัสสายตนะทั้ง ๖ ขณะที่คิดไป ก็เป็นความคิดทางใจที่เป็นไปด้วยความตรึก เป็นไปด้วยความที่อยากจะรู้ว่า ทำอย่างไรจึงจะพ้นจากกรรมที่ได้ทำไว้ ซึ่งในขณะนั้นมิได้มีการสำรวม ไม่ได้มีการรักษา ไม่ได้มีการฝึกฝนด้วยสติ ด้วยปัญญา ที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมในขณะนั้น คือความคิดในขณะนั้นตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ก็หวั่นไหวด้วยความยินดียินร้าย ด้วยความตรึกนึกถึงเรื่องราวต่างๆ พระธรรมที่จะช่วยเตือน และกล่อมเกลาเราได้ ตั้งแต่แรก ตั้งแต่ที่เริ่มที่จะสนใจในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่ใช่ไปคิดเรื่องอื่น หรือหาวิธีการ ซึ่งขณะนั้นก็ล่วงเลยขณะไป ขณะนั้นก็เกิดความทุกข์โทมนัสใจ ในเรื่องของที่เราคิดไป จะทำอย่างไรดีจะพ้นจากกรรมหรือไม่ ขณะนั้นเมื่อไม่สำรวมใจ ไม่ได้สำรวมอินทรีย์ ซึ่งจริงๆ แล้วในทุกขณะที่จิตเกิด มีสภาพธรรมประการหนึ่งคือผัสสะ ซึ่งกระทบแล้วก็ชักนำมาซึ่งการเกิดขึ้นของจิต และนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต คือ เจตสิก เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นล่วงเลยไป เป็นอกุศลที่ตรึกนึกถึงเรื่องต่างๆ จนกว่าที่จะเริ่ม สะกิดใจ จากความสำคัญของการที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ จึงจะเป็นจุดเริ่มที่ถูกต้องของการที่จะได้ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเอาไว้

    ท่านอาจารย์ จดหมายของท่านผู้ฟังก็เป็นความจริง เพราะว่าคนที่ไม่เคยทำอกุศลกรรมเลย มีไหม ไม่มี แล้วเวลาที่ทำไปแล้ว เราจะคิดถึงอกุศลกรรมที่เราได้ทำไปแล้ว มากหรือน้อย แล้วแต่บุคคล บางคนถึงว่าจะได้ทำอกุศลกรรมหนักไปแล้ว ก็ไม่คิดถึงเลยก็ได้ ยังคงไม่เห็นบาปเป็นบาป บุญเป็นบุญ ไม่เห็นคุณ เห็นโทษ อะไรเลยทั้งสิ้น ก็ยังคงกระทำต่อไป เพราะฉะนั้น ใครจะช่วย หรือว่าใครจะแก้ ไม่มีใครสามารถที่จะเป็นเรา หรือว่าสามารถที่จะให้ความรู้บุคคลนั้นได้เท่ากับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามีความมั่นใจมีศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวว่า พระธรรมที่ทรงแสดง จะสามารถช่วยให้เราเกิดปัญญาของเรา แล้วเห็นว่า สิ่งใดควร สิ่งใดที่ไม่ควร แม้แต่เพียงการที่จะคิดหรือไม่คิดถึง อกุศลกรรมที่ได้ทำไปแล้ว เพราะเหตุว่าการคิดถึงอกุศลกรรมที่ได้ทำไปแล้ว ก็มี ๒ อย่าง คิดด้วยความเป็นเรา ด้วยความเป็นห่วงตัวตน ตัวเราว่า จะต้องได้รับผลของกรรม นั่นก็เป็นความคิดด้วยความเป็นตัวตน แต่ก็ยังมีความเข้าใจในเรื่องกรรม และผลของกรรม อีกท่านหนึ่งก็อาจจะคิด แล้วก็รู้ว่า สิ่งใดที่ได้ทำไปแล้ว เกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ หรือว่าเพราะลาภ เพราะยศ เพราะสรรเสริญ เพราะสุข ทุจริตกรรมต่างๆ ทางกาย ทางวาจา ใครจะบอกได้ว่า ขณะนั้นจะต้องให้ผลแน่นอน แต่ว่าไม่มีใครสามารถจะไปลบล้างสิ่งที่ได้กระทำแล้ว แต่ว่าพระธรรมที่ได้ฟัง จะทำให้บุคคลนั้นเห็นว่า อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นประโยชน์ ปัญญาที่เกิดจากการเข้าใจพระธรรม ก็จะทำให้บุคคลนั้นประพฤติในทางที่ถูกต้อง

    บุคคลที่เข้าใจอย่างนี้ก็เริ่มเห็นโทษของอกุศล แล้วก็รู้ว่า อกุศลที่ได้ทำไปแล้วไม่ใช่แต่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนๆ ก็มากมายมหาศาล ไม่ทราบว่าใครจะได้ทำกรรมอะไรไว้ แต่สามารถที่จะเข้าใจพระธรรม แล้วก็กระทำความดีต่อไปให้ยิ่งขึ้น จนกระทั่งบางท่านถึงแม้ในอดีต ท่านจะเคยฆ่ามารดาบิดา เคยทำอกุศลกรรมไว้มาก แต่เมื่อในชาติสุดท้ายก็ได้เป็นอัครสาวก คือ ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า การกระทำทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายที่เป็นกุศลกรรมบ้าง อกุศลกรรมบ้างนั้น มีเหตุที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น แล้วก็กระทำไปด้วยความไม่รู้ แต่ว่า ถ้าได้ฟังพระธรรมแล้ว ความเข้าใจจะละเอียดขึ้น แล้วก็จะเป็นเหตุที่จะทำให้ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอารมณ์ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งได้ทรงแสดงไว้ในพระสูตรนี้ เรื่องของผัสสายตนะ ๖ การที่จะไม่หวั่นไหวได้ ลองคิดดูว่า ปัญญาระดับไหน บอกได้ ไม่ควรหวั่นไหว พูดได้ แต่เวลานี้กำลังเห็น หวั่นไหวหรือเปล่า ก็ยังไม่รู้เลย แล้วหวั่นไหวด้วยอะไร เพราะว่าสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก สืบต่อจนกระทั่งไม่เห็นลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมว่า นอกจากเป็นอนัตตา สิ่งใดที่เกิด สิ่งนั้นดับ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น อย่างไรๆ ก็ตาม ไม่มีใครสามารถที่จะให้ความรู้คนอื่นได้อย่างกระจ่าง เท่ากับว่าได้ศึกษาพระธรรม การศึกษาพระธรรมก็คือ สนทนาธรรม อ่านพระธรรม ไตร่ตรองพระธรรมที่ได้ยินได้ฟังด้วย จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของตัวเราเอง แล้วก็จะรู้ได้ว่า กิเลสที่มีอยู่มากมาย ไม่ใช่ว่าเราสามารถที่จะให้หมดไปได้ จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท อันนี้ก็จะได้ประโยชน์จากการเข้าใจพระธรรม

    ผู้ฟัง คำว่า รู้เรื่อง กับคำว่า รู้จัก ในธรรม ต่างกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ที่ว่าการรู้เรื่องราวกับการรู้สภาพธรรม เราใช้คำ ธรรมว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เห็นขณะนี้จากการฟังก็ต้องตอบได้ทุกคนว่า เป็นธรรม ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล สิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด นี่คือขั้นฟัง แล้วก็พิจารณาค่อยๆ เข้าใจ เห็น ขณะนี้มีจริงๆ ก็เป็นธรรม ถูกต้องไหม ทุกอย่างตั้งแต่เกิดจนตายที่มีจริงเป็นธรรมทั้งหมด เมื่อเป็นธรรมก็คือไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา เมื่อเป็นสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ ไม่ยั่งยืน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ฟังอย่างนี้ ขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้ เป็นธรรมหรือเป็นเรา นี่คือเครื่องพิสูจน์ว่า ความรู้ขั้นฟังนั้นอย่างหนึ่ง แต่ว่าความรู้ขั้นที่จะเข้าใจว่า ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรา จริงๆ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้ นั่นคือการรู้จักธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ว่ารู้เรื่องของธรรมว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เห็นก็เป็นธรรม ชอบก็เป็นธรรม ไม่ชอบก็เป็นธรรม เมตตาก็เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรมหมด แข็งก็เป็นธรรม เสียงไม่เห็นเลย ก็เป็นธรรม กลิ่นมองไม่เห็นก็เป็นธรรม คือถ้าเข้าใจว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ขั้นฟัง แต่ว่าถ้ายังไม่รู้ว่า ขณะนี้ที่เห็นจริงๆ เป็นธรรม ไม่ใช่เราอย่างไร เมื่อนั้นจึงจะเป็นการรู้จัก ตัวธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง การไหว้เจ้าตามประเพณีจีนนั้น ไม่ทราบว่า จะเป็นการทำบุญขั้นทานไหม แล้วจะเป็นบุญขั้นอุทิศส่วนกุศลได้ไหม กรุณาอธิบายพอเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เป็นประเพณีที่ทำกันมานานแล้ว จริงๆ แล้วมารดาบิดาเป็นผู้ที่มีบุญคุณสูงสุด แต่จะมีลูกคนไหนที่จะซาบซึ้งมากในพระคุณของมารดา เพราะว่าบางทีตอนเด็กๆ ก็จะทำสิ่งที่ไม่ดี หลายอย่างกับท่าน แต่พอโตขึ้นก็ค่อยๆ รู้ความว่า สิ่งนั้นไม่ดี แล้วควรจะมีความดีอย่างไรบ้าง อย่างที่ได้กล่าวถึงแล้วใน สิงคาลกสูตร แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็ควรจะทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นชาติใดภาษาใด กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล การระลึกถึงพระคุณของผู้ที่มีคุณ เช่น มารดาบิดา โดยมากเราจะไม่ได้ค่อยคิดถึงบ่อยๆ เทียบได้กับสมัยก่อน ทั้งๆ ที่ท่านก็มีคุณ แต่ว่าบางคนก็อาจจะปีหนึ่ง สงกรานต์ ก็ระลึกถึงคุณของมารดาบิดา หรือว่าอาจจะบ่อยกว่านั้นก็ได้ หรือว่าถ้าตามประเพณีของไหว้บรรพบุรุษ ก็เป็นการระลึกถึงคุณของบรรพบุรุษ แต่ว่ากุศลจริงๆ นอกจากการระลึกถึงแล้ว ถ้าท่านล่วงลับไปก็อุทิศส่วนกุศลให้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะเป็นประเพณีที่เคยทำมาคือการไหว้บรรพบุรุษ ถ้าไหว้เท่านั้นก็เป็นบุญสำหรับเราเอง แต่สำหรับตัวท่าน ถ้าท่านเกิดในภพภูมิซึ่งควรที่จะได้รับอุทิศส่วนกุศล เพราะว่าจริงๆ แล้วทุกคนก็จะอนุโมทนาในกุศล แต่ไม่อนุโมทนาในอกุศล เพราะฉะนั้น แทนที่จะเป็นเรื่องเพียงการไหว้วัตถุ หรือบูชาด้วยสิ่งต่างๆ ถ้าจะมีการทำกุศลแล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้ท่านในวันไหว้บรรพบุรุษ ก็จะเป็นกุศลจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็เพียงแต่มีการทำตามประเพณี และอาจจะมีการรื่นเริงหรือเปล่าไม่ทราบ เป็นวันพบปะญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง อันนั้นก็เป็นการที่ดี ไม่ว่าจะประเพณีของไทย หรือว่าประเพณีของจีน หรือประเพณีของชาติไหนก็ตามแต่ เวลาที่เราจะคิดถึงความดี ทำความดีร่วมกัน เราก็มีวันที่เราจะกำหนดไว้ว่า เป็นวันที่เราจะร่วมกันทำกุศล แล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษด้วย โอกาสไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นวันไหว้บรรพบุรุษ หรือว่าวันสงกรานต์ หรืออะไรก็มีความหมายเดียวกัน เป็นกุศลประเภทเดียวกัน คือเป็นการกระทำทานแล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้

    ผู้ฟัง การอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จำเป็นต้องเป็นการทำบุญผ่านสงฆ์หรือไม่ ทำบุญอย่างอื่นอุทิศส่วนกุศลได้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ได้ทุกอย่าง แม้แต่การฟังธรรม พอจบแล้ว เราก็จะอุทิศส่วนกุศลด้วย

    ผู้ฟัง ทุกข์กายเป็นวิบาก คือผลของกรรม ก็ต้องรับอย่างนั้น ท่านอาจารย์ก็กล่าวเหมือนกับว่า ทางทุกข์ใจเป็นทุกข์ที่ไม่จำเป็น ตรงนี้ดิฉันชอบมากเลย คือเป็นทุกข์ที่ไม่จำเป็น อยากจะกราบให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายถึงว่า มันไม่จำเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ กายก็ทุกข์อยู่แล้ว เจ็บปวด แล้วก็มีทุกข์ใจเพิ่มขึ้นมาอีก จะหนักเหมือนลูกศรดอกที่ ๒ ซึ่งยิงซ้ำที่แผลเก่า ก็ลองคิดดู ถ้าชอบหรือว่าต้องการ ก็จะเป็นอย่างนั้นต่อไป แต่ถ้ารู้ว่าไม่มีประโยชน์เลย แล้วต้องรู้หนทางด้วยว่า หนทางที่จะเป็นอย่างนั้นได้ คืออย่างไร เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรานึกอยากจะไม่ให้เกิดทุกข์ ก็จะไม่ทุกข์ได้ ไม่มีใครยับยั้งเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น ตราบใดที่ยังมีกิเลสก็ยังมีทุกข์ เพราะฉะนั้น ที่ทุกข์จะลดน้อยลงไปได้จริงๆ ต้องลดกิเลสลงไปด้วย ถ้ายังมีกิเลสอยู่เต็ม ทุกข์ก็ย่อมมาก ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลตามลำดับขั้น ถ้าท่านเป็นเพียงพระโสดาบันบุคคล ท่านก็ยังร้องไห้ ท่านก็ยังมีทุกข์ เพราะเหตุว่ายังมีเหตุที่ทำให้ทุกข์นั้นเกิดขึ้น ปัญญาที่จะละความทุกข์ได้ทั้งหมด ต่อเมื่อหมดกิเลส ก็ต้องเป็นไปตามลำดับ

    ผู้ฟัง เรื่องสภาพคิดที่ว่าจะเป็นทุกข์มันก็ห้ามไม่ได้ แต่ทีนี้ประโยชน์อยู่ตรงที่ว่า ถ้าเผื่อสติเกิดแล้วรู้ลักษณะว่ามันเป็นสภาพคิด ตรงนี้ก็คงจะพอที่จะทำให้กุศลเกิดได้บ้าง ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้หนทาง แต่ถ้าไม่รู้หนทางก็ไม่สามารถที่จะให้เป็นอย่างนั้นได้

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ประโยชน์ที่ก็ได้ฟังคำบรรยายมาว่า ขณะใดที่ระลึกรู้ตรงนั้น ก็เป็นประโยชน์แล้ว

    ผู้ฟัง ถ้าไม่ใช่ภพภูมิที่เป็นเปรต สามารถรับบุญกุศลที่อุทิศให้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ อนุโมทนาคือกุศลจิตที่ยินดีด้วยในกุศลของผู้อื่น คือแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำกุศลเอง แต่เวลาที่เห็นคนทำกุศล เราก็เกิดกุศลจิตได้ เป็นประเภทที่ใช้คำว่า อนุโมทนา ยินดีด้วยในกุศลของคนอื่น เพราะฉะนั้น ไม่ใช่หมายความว่า เขาส่งแล้วเรารับ แต่หมายความว่า ขณะใดก็ตามที่กุศลจิตเกิดยินดีกับกุศลของคนอื่น ขณะนั้นก็เป็นกุศลประเภทหนึ่ง ซึ่งธรรมเป็นเรื่องที่เราจะดูได้จากชีวิตจริงๆ ของเราว่าเรา เคยเป็นอย่างนั้นไหม แม้แต่ก่อนที่เราจะได้ยินคำว่า อนุโมทนา ไม่ใช่หมายความว่าพอเราได้ยินคำนี้ แล้วเราไปทำ แต่ว่าจิตใจของเรา แต่ไหนแต่ไรมาก็ได้ เวลาที่เห็นคนทำกุศล แล้วเราพลอยยินดีด้วยในกุศลของเขาไหม ถ้าพลอยยินดีด้วย ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตของเรา ไม่ใช่เขาเอามาให้ แต่ว่ากุศลจิตของตนเองก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก คือ ผลของกุศล ซึ่งก็ได้แก่ จิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นผลของจิตที่เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่า กรรมก็มีจริง เป็นเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต มีทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล ผลของกรรมก็มีจริงๆ ที่เป็นผลของกุศล ก็ชื่อว่า กุศลวิบาก ที่เป็นผลของอกุศล ก็ชื่อว่า อกุศลวิบาก แต่ข้อสำคัญก็คือว่า ถ้าไม่ได้ศึกษา เราก็จะไม่ทราบว่า ขณะไหนเป็นผลของกรรม เช่น ในขณะที่กำลังนั่งอยู่ขณะนี้ แล้วเห็น เคยทราบไหมว่า นี่คือผลของกรรม กรรมทำให้มีมีตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับเป็นทางที่ผลของกรรมจะเกิดขึ้น เมื่อกรรมเป็นนามธรรม เป็นจิต ที่ประกอบด้วยอกุศลเจตสิก หรือกุศลเจตสิก ตัวกรรมจริงๆ ได้แก่เจตนาเจตสิก แต่เนื่องจากจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน เราจะพูดรวมก็ได้ว่า กุศลจิต อกุศลจิต แต่จริงๆ แล้วเป็นเจตนา ซึ่งเป็นเจตสิก ชนิดหนึ่ง เมื่อเจตนาที่จะกระทำกรรมหนึ่งกรรมใด ที่เกิดกับจิตดับไปแล้ว ก็สะสมสืบต่อถึงกาลที่พร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้น ก็ทำให้จิต และเจตสิกประเภทวิบากเกิดขึ้น เช่น ในขณะที่กำลังเห็น เลือกไม่ได้เลยว่า จะเห็นอะไร แต่ว่าผลของกรรมก็จะทำให้เห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม เห็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เช่นเดียวกัน แล้วก็ตั้งแต่เกิด ที่เกิดต่างกันนี้ก็แล้วแต่กรรม เกิดเป็นคน เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เป็นอสุรกาย

    กรรมของใครที่ได้กระทำแล้วก็จะเป็นปัจจัย ให้วิบากจิตของคนนั้นเกิด ถ้าเราเกิดอนุโมทนาในกุศลของคนอื่น เป็นกรรมของเรา เป็นกุศลของผู้อนุโมทนา ซึ่งจะทำให้จิตซึ่งเป็นผลที่เป็นวิบากของบุคคลนั้นเกิดขึ้นในภายหลัง แต่ไม่ใช่เราไปรับ ใครส่งอะไรมาให้ แล้วเราก็รับ แล้วก็คิดว่า เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้ อุทิศให้จริง เจาะจงให้บุคคลนั้น แต่ว่าคนนั้นจะอนุโมทนาหรือไม่ เป็นเรื่องของจิตของคนที่อุทิศให้ เกิดอุทิศให้แล้วเขาไม่อนุโมทนา ชื่อว่าได้รับไหม ไม่ได้ ต้องเป็นขณะที่กุศลจิตของเขา เกิดแล้วอนุโมทนา เพราะฉะนั้น ก็เป็นกุศลประเภทหนึ่ง

    ผู้ฟัง สมถภาวนา แปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ สมถะ คือ สงบจากอกุศลด้วย ไม่ใช่ว่านั่งสงบอยู่คนเดียวในบ้าน หรือว่าตามชายทะเล ในป่า แต่ใจคิดถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ แล้วจะบอกว่าสงบไม่ได้ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วถ้าไม่ศึกษาพระธรรม เราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า สงบ เราคิดว่าวันไหน ไม่มีเรื่องวุ่นวาย ไม่มีเรื่องเดือดร้อน ไม่มีเรื่องกิจธุระการงานยุ่งเหยิง เราคิดว่าวันนั้นสงบ แต่จริงๆ แล้วขณะใดที่เป็นกุศล สงบจากโลภะ สงบจากโทสะ สงบจากโมหะ และสงบจากอกุศลเจตสิก ขณะนั้นจึงจะเป็นความสงบ อย่างในขณะนี้ ที่กำลังนั่ง แล้วก็ฟังพระธรรม ต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง สงบหรือไม่สงบ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567