ปกิณณกธรรม ตอนที่ 350


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๐

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ แม้ว่าจะไม่เรียกอะไรเลย ใครก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลง ลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ สภาพธรรมนั้นชื่อว่า “ปรมัตถธรรม” เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะของตน เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ แล้วก็สภาพธรรมนั้นจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ต่อเมื่อเข้าใจปรมัตถธรรม แล้วก็จะเข้าใจว่าบัญญัติธรรม ก็คือว่าขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่ปรมัตถ์ ขณะนั้นเป็นบัญญัติ อย่างเวลาที่เรานึกถึงสิ่ง หนึ่งสิ่งใด หรือเรื่องราว เช่น พัดลม รถยนต์พวกนี้จริงๆ แล้วเป็นสภาพของจิตที่คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่เราเห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ยังไม่แตกแยกกระจัดกระจายออกเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ขณะนั้นกำลังมีเรื่องราวที่คิดนึกเป็นอารมณ์ คือ มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น ก็มี ๒ อย่าง ปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะจริงๆ และบัญญัตินั้นก็เป็นเรื่องราวต่างๆ ซึ่งไม่มีลักษณะใดๆ เลยทั้งสิ้น ไม่มีการเกิดขึ้น ไม่มีการดับไป เป็นแต่ความทรงจำในเรื่องของสิ่งที่เห็นทางตา ได้ยินทางหู เป็นต้น ขณะนั้นเป็นบัญญัติ

    เพราะฉะนั้น ต้องแยก ๒ อันนี้ออกก่อน ถ้าไม่แยกก็จะไม่ทราบเลยว่า เรากำลังพูดถึงปรมัตถ์ หรือเราพูดถึงบัญญัติ แล้วบัญญัติก็คือขณะใดก็ตามที่กำลังเห็น ในขณะนี้ ปรมัตถธรรม คือสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นมีจริง นี่กำลังเห็นขณะนี้ มีสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งนี้ไม่ปรากฏทางหู ไม่ปรากฏทางจมูก สิ่งนี้ต้องกระทบกับจักขุปสาท คือ คนที่ตาไม่บอดก็มีการเห็นเกิดขึ้นในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ปรมัตถธรรมขณะที่กำลังเห็นก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม แล้วก็มีจิตที่เห็น พร้อมกับจิตที่เห็นเกิดขึ้นก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นปรมัตถธรรม ๓ คือ จิต เจตสิก รูป แต่ว่าเวลานี้ถ้าเห็นเป็นคน เห็นเป็นเสา เห็นเป็นพัดลม ขณะนั้นที่เห็นเป็นคน ไม่ใช่เป็นความรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม แต่เป็นการรู้บัญญัติ คือ การประชุมรวมกันของสิ่งที่ปรากฏทำให้มีความจำหมายสำคัญว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์

    ที่เราเกิดมาตั้งแต่เกิดจนตาย สภาพของจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่จิตทุกขณะเป็นสภาพรู้ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสิ่งที่จิตที่กำลังรู้ และสิ่งที่จิตกำลังรู้นั้น ภาษาบาลีใช้คำว่า อาลัมพนะ หรืออารัมมณะ ซึ่งภาษาไทยใช้คำว่า อารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อมีสภาพรู้คือจิต ก็ต้องมีอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่จิตรู้คู่กันทุกครั้ง จะมีแต่จิตแล้วก็ไม่มีอารมณ์ไม่ได้ หรือจะมีแต่อารมณ์โดยไม่มีจิตไม่ได้

    ต่อไปนี้ก็เริ่มที่จะรู้ว่า ขณะนี้กำลังมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ หรือว่ามีบัญญัติเป็นอารมณ์ นี่คือชีวิต บางขณะมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ บางขณะก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะที่เห็นเป็นคน เป็นสัตว์ ขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะที่รู้แข็ง รู้อ่อน รู้เสียง ขณะที่ยังไม่มีความนึกคิดว่าเป็นคน เป็นสัตว์ ขณะนั้นมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์

    นอกจากนั้นยังมีการสมมติเรียกชื่อต่างๆ เป็นพระราชา หรือเป็นชาวไร่ หรือว่าเป็นข้าราชการ ก็เป็นสิ่งที่สมมติให้เข้าใจเพิ่มขึ้นจากบัญญัติซึ่งหลังจากที่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์แล้ว ก็มีการจดจำรูปร่างสัณฐาน เป็นคนเป็นสัตว์ต่างๆ ซึ่งเป็นบัญญัติ แล้วก็ยังสมมติบัญญัตินั้นให้เป็นเรื่องเป็นราวเพิ่มขึ้นอีก

    อย่างเห็น ไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่ฝรั่ง เป็นสภาพธรรมที่เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สัตว์ก็เห็น แมว สุนัข ปลา ไก่เห็นหมด ลักษณะที่เห็นเป็นสภาพของจิตประเภทหนึ่งซึ่งกำลังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอารมณ์ แค่นี้เป็นปรมัตถ์ แต่ว่าเวลาที่เราคิดว่าเราเห็นสิ่ง หนึ่งสิ่งใด เช่น เห็นคน หรือว่าเห็นสัตว์ ขณะนั้นก็จำรูปร่างสัณฐานของสิ่งซึ่งเกิดดับอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความจำในลักษณะนั้นเป็นบัญญัติขึ้นว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นพัดลม แล้วก็ยังมีการสมมติเป็นชาติต่างๆ ด้วย เพิ่มขึ้นมาอีก

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เราต้องเข้าใจแยกปรมัตถธรรมซึ่งมีลักษณะจริงๆ ออก เราถึงจะละการยึดถือว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ตรงกับพระพุทธวัจนะที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คำว่าเป็น “อนัตตา” หมายความว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราก็อาจจะพูดตามไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่ขณะที่เห็น เห็นคน เห็นสัตว์ หรือว่าเป็นเราเห็น หรือสิ่งต่างๆ ก็เป็นของเรา ผมของเรา มือของเรา เท้าของเรา

    แสดงว่าเราจะต้องฟังพระธรรมจนกว่าเราจะเข้าใจจริงๆ ในความหมายของคำว่า “อนัตตา” เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอนัตตาโดยที่ว่า สัพเพ ธัมมาอนัตตา ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาแล้ว ต้องไม่เว้นสักขณะเดียวหรือสักสิ่งเดียว ตั้งแต่เกิดจนตายต้องเป็นธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด

    นี่กว่าจะเข้าถึงอรรถที่พระผู้มีพระภาคทรงบำเพ็ญพระบารมี แล้วก็ทรงตรัสรู้ สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงพระธรรมเพื่อที่จะให้ผู้ฟังค่อยๆ ฟังจนกระทั่งเข้าใจ จนกระทั่งสติเกิดเป็นการปฏิบัติกิจของสติที่จะระลึกรู้ความจริงที่ได้ทรงแสดง และตามที่เราได้ศึกษา และเราเข้าใจ จนกระทั่งประจักษ์จริงๆ ว่า ในขณะนี้ ทางตา สภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ก็คือว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีสภาพเห็น ทางหูก็มีเสียงที่ปรากฏ แล้วมีสภาพที่กำลังได้ยิน ซึ่งในขณะใดที่เห็น ขณะนั้นไม่มีได้ยิน เห็นต้องดับไปก่อน ขณะใดที่ได้ยิน ขณะนั้นก็ไม่มีเห็น ได้ยินต้องดับไปก่อน

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึง การเกิดดับสืบต่อกันอย่างเร็วมาก ของสภาพธรรมไม่ว่าจะเป็นนามธรรม คือ จิต เจตสิก หรือรูปธรรมซึ่งทุกคนก็มีตั้งแต่เกิดจนตายจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ แต่ก็ไม่ประจักษ์การดับ และการเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของรูป และนามทั้งหลายได้ จนกว่าการฟังนั้นจะเพิ่มขึ้น และความเข้าใจเพิ่มขึ้น ค่อยๆ อบรมไป

    ผู้ฟัง เรื่องการเจ็บ ที่จวนจะตายจริงๆ เจ็บหนักๆ จวนจะตาย จะให้พิจารณาอย่างนี้หรือไม่

    ท่านอาจารย์ ลืมอนัตตาหรือเปล่า คือ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ทุกคนโดยมากจะห่วงตอนตาย ตอนตายเป็นตอนสำคัญมากที่จะจากโลกนี้ไป แล้วก็จะไปที่ไหนก็ไม่สามารถจะรู้ได้ แต่ก็อยากไปดี แต่ที่มี ๒ ที่ดีกับไม่ดี เพราะฉะนั้น อยากไปที่ไหน

    ผู้ฟัง ผมไม่อยากไปที่ไหนสักที่

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ ต้องไป มีคนหนึ่งเขาบอกว่า ตายแล้ว เขาไม่เกิดอีก ถามว่าทำไม ตายแล้วเขาถึงจะไม่เกิด เขาบอกว่า เพราะเขาตั้งใจจะไม่เกิด เท่านี้เอง เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย นี่แสดงให้เห็นว่า ไม่เข้าใจในเหตุ และในผล ถ้าเป็นคนที่เข้าใจจริงๆ ในเรื่องเหตุผล ต้องรู้ว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเกิดขึ้นได้อย่างไร นี่คือผู้ที่เข้าใจเหตุผล เพราะฉะนั้น เมื่อจุติจิตเกิด และดับไป ต้องมีปฏิสนธิจิตเกิดต่อทันที บอกจะไม่ไปไม่ได้ ต้องไป แต่ว่าจะไปที่ไหน คำถามนี้แสดงถึงการห่วงใยว่า ใกล้ที่จะตาย วาระสุดท้ายจะทำจิตใจอย่างไร

    ผู้ฟัง เป็นอนัตตาจริงๆ มันไม่เกิด แต่เรื่องกลัว ผมว่ากลัวทั้งนั้น ทุกข์ทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ ที่จะไม่เกิดได้

    ผู้ฟัง ว่าเป็น เราเป็นทุกข์

    ท่านอาจารย์ ใครไม่เกิดได้ มีใครที่ตายแล้วไม่เกิด

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ มี

    ผู้ฟัง มีกิเลสหมด

    ท่านอาจารย์ ไม่ คนที่ตายจริงๆ ไม่เกิดอีกเลย มีไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าเกิดอีกหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าพูดอย่างนี้ว่า ไม่อยากจะเกิด ตายแล้วต้องไม่เกิดก็คือต้องการเป็นพระอรหันต์ มีบุคคลเดียว คือ พระอรหันต์ แล้วก็การเป็นพระอรหันต์เป็นด้วยปัญญา หรือว่าด้วยความพยายาม ด้วยความตั้งใจ

    พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา เช้า สาย บ่าย ค่ำ เราฟังธรรม นานเท่าไร แล้วที่จริงเท่าไรก็ยังไม่พอ ถ้าเรารู้สึกว่าบางคนเขาอาจจะบอกว่า เขาดี เขาเป็นคนดี ก็ยังดีไม่พอ ถ้าบอกว่าเข้าใจหรือฟังธรรม ฟังเท่าไรก็ยังไม่พอ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์ ก็ฟังไปอีก

    ผู้ฟัง สรุปแล้วการฟัง ถ้าไม่ฟัง ไม่มีทางที่จะเริ่มต้นใดๆ ทั้งสิ้น ฟังธรรมที่ถูกต้อง ไม่ใช่ฟังเปะปะไปมากมาย แล้วก็ใครจะมีบุญล่ะ ที่จะได้ฟังธรรมที่ถูกต้อง ตรงนี้เริ่มจาการฟัง ถ้าขาดการฟัง จะขาดทุกสิ่งทุกอย่าง พูดได้เลย

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด อย่าใจร้อน ใจเย็นๆ เพราะว่ากิเลสมากเหลือเกิน แล้วก็ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ แล้วยังถอยไปไม่รู้ว่ากี่ชาติ เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า วันนี้กุศลจิตเกิดมากหรืออกุศลจิตเกิดมาก แล้วเราก็จะไปหวังให้อกุศลจิตหมดไปเร็วๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นคนที่ตรง และก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ถ้าเป็นผู้ที่กุศลจิตเกิดน้อย และกุศลนั้นก็ยังไม่ใช่กุศลขั้นปัญญา เป็นไปในขั้นทาน หรือขั้นศีล ธรรมดาที่เราเคยมีอยู่ แต่ว่ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ยังไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้วแสดงเรื่องของปรมัตถธรรม คือ อนัตตา เราก็จะต้องเริ่มฟังจนกว่า เราจะเข้าใจ แล้วก็ด้วยความไม่ใช่ตัวตน ก็ไม่มีเราที่อยากจะหมดกิเลส แต่ว่ากิเลสนั้นไม่กลัวอะไรเลย นอกจากปัญญา ปัญญาอยู่ที่ไหน กิเลสก็จะอยู่ที่นั่นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น ปัญญานั้นก็ค่อยๆ เจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะกระทำกิจ ที่เรียกว่า กิจจญาณ คือ สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า สภาพธรรมในขณะนี้เป็นอย่างที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง เช่น ทางตาก็มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีจิตที่กำลังเห็น ไม่ใช่เราทั้ง ๒ อย่าง ไม่มีอะไรที่จะพึงยึดถือว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นชั่วขณะแล้วดับอย่างรวดเร็ว ถ้ายังไม่ประจักษ์ การเกิดดับ ก็ไม่มีการที่จะละการยึดถือว่า สภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่ายังคงอยู่ แล้วก็จะไม่ใช่ตัวตนได้อย่างไร แต่สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ ตัวตนจะอยู่ที่ไหน ก็ไม่มีทางที่จะไปยึดถือสภาพธรรมที่หมดไปแล้วว่า เป็นตัวตนได้

    เมื่อวานนี้ใครเห็นอะไรบ้าง เมื่อวานนี้เป็นตัวตนทั้งหมดเลย ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่สนุก ที่สุข ที่ทุกข์ แต่วันนี้ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่ดับไป หมดไป แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่ของเรา และไม่ใช่ตัวเรา แล้วไม่ใช่หมดไปแต่เฉพาะเมื่อวานนี้ แม้ขณะเดี๋ยวนี้ก็กำลังเกิดดับ กำลังหมดไปทุกขณะอย่างรวดเร็ว พอถึงพรุ่งนี้ เราก็บอกว่า เมื่อวานนี้ก็หมดไปอีกแล้ว แต่ว่าขณะนี้ ก่อนที่จะถึงพรุ่งนี้ ก็คือสภาพธรรมชั่วขณะซึ่งเกิดแล้วดับ

    อย่างก่อนที่จะถึงคำนี้ เราก็ได้ยินคำ ก่อนๆ มาตั้งหลายคำ ขณะนั้นจิตที่ได้ยินก็ดับไปหมดแล้ว ก็ไม่มีการที่จะไปยึดถือจิตที่เกิดแล้วดับไปว่า เป็นเรา เพราะไม่มีเหลือ อะไรก็ตามซึ่งเกิดชั่วขณะแล้วหมดไปไม่มีเหลือ จะยึดถือขณะนั้นว่า เป็นตัวตนจริงๆ เป็นเราจริงๆ เป็นของเราจริงๆ ก็ไม่ได้ แต่เมื่อไม่รู้อย่างนี้ จึงปรากฏว่ามีเราตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วทุกอย่างก็เป็นของเรา เรื่องเก่าๆ เรื่องอดีต นานเท่าไร ก็ยังไปคิดว่าเป็นเราอยู่นั้นแหละ ทั้งๆ ที่สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับหมดไป แล้วขณะนี้ก็กำลังเป็นจริงอย่างนี้ด้วย

    การที่จะดับกิเลสได้ ไม่ใช่เพียงฟังเผินๆ แล้วก็คิดว่า รู้แล้วว่าสภาพธรรมเกิดดับ แล้วก็ไม่ใช่ตัวเรา เพราะฉะนั้น ก็คิดว่าเป็นปัญญาที่รู้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็คงจะหมดกิเลสได้ แต่จะไม่หมดกิเลสเลย ตราบใดที่ปัญญายังไม่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมที่ต่างกันจริงๆ แต่ละขณะ เช่น ขณะที่เห็น ก็ไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ประจักษ์ลักษณะที่เห็นที่เกิดดับ ก็ไม่มีทางที่จะมานั่งนึกว่า ทั้งเห็นทั้งได้ยินไม่ใช่เรา เกิดดับไปเรื่อยๆ เพราะนั่นเป็นแต่เพียงความคิดนึก แต่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้งจริงๆ

    ธรรมเรื่องยาก แต่เป็นเรื่องที่เจริญอบรมจากการฟังให้รู้ว่ายาก แม้แต่ใครที่จะเป็นผู้กล่าวว่า ธรรมจริงแล้วยาก คนนั้นก็เป็นผู้ที่มีปัญญา แต่ถ้าคนที่ไม่มีปัญญาจะคิดว่าธรรมก็เป็นเรื่องง่ายๆ ธรรมดา แต่ว่าผู้ที่มีปัญญาแล้ว แต่ละคำที่ได้ยิน รู้ว่าเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งแล้วยากจริงๆ เช่น อนัตตา สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา จะฟังว่าเป็นสภาพธรรม ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะประจักษ์ แต่ต้องฟัง แล้วก็ต้องพิจารณา แล้วก็ต้องระลึกจนกว่าวันหนึ่งจะรู้ ซึ่งถ้าเป็นของจริง แล้วก็กำลังเกิดดับด้วย ทำไมจะรู้ไม่ได้ แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้

    นี่คือความต่างกันของอวิชชากับปัญญา ทั้งๆ ที่สภาพธรรมปรากฏ แล้วก็เกิดดับ อวิชชาก็เห็นไม่ได้เลย ไม่สามารถที่จะเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน แล้วเกิดดับ เพราะเป็น อวิชชา แต่ถ้าเป็นปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้ง มิฉะนั้นแล้วจะไม่มีพระอริยบุคคล ด้วยเหตุนี้เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านแสวงหาความจริง คือ สัจธรรม ซึ่งไม่ต้องไปแสวงหาที่อื่นเลย ขณะนี้เอง เดี๋ยวนี้เอง เป็นสัจธรรม ไม่ต้องไปที่อื่น กำลังเห็นเป็นของจริง เป็นสัจธรรม กำลังได้ยิน เป็นของจริง เป็นสัจธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาที่อื่น เพราะว่าแม้ขณะนี้ก็กำลังเห็น กำลังได้ยิน ถ้าเข้าใจว่า สัจธรรมคือที่อื่น หมายความว่าเข้าใจผิด ไม่รู้ว่าขณะที่เห็นนี้ ขณะนี้ ชั่วขณะนี้เองที่จริง ขณะก่อนดับไปแล้ว ขณะต่อไปยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ขณะไหนจริง คือ ขณะที่กำลังเห็น ขณะนี้แหละเป็นสัจธรรม ไม่ต้องแสวงหาที่อื่น ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะต่อไปก็ยังไม่เกิดขึ้น ขณะก่อนก็ดับหมดไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะที่เสียงกำลังปรากฏกับสภาพที่กำลังได้ยินเสียง ขณะนี้จริงเป็นสัจธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาที่อื่น ผู้ที่เข้าใจสัจธรรมก็จะฟังแล้วก็พิจารณา แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับไปได้ มิฉะนั้นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ต้องเป็นโมฆะ แต่ที่ไม่เป็นโมฆะ เพราะว่ามีผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญา แม้จากขั้นการฟัง จนกระทั่งขั้นที่สติระลึก จนกระทั่งในชาติก่อนๆ ซึ่งยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่มีปัญญาที่สะสมมาพอที่เมื่อได้ฟังอีก ก็สามารถที่จะเข้าใจ และระลึก และประจักษ์แจ้งในการเกิดดับได้

    แต่ละคนก็จะต้องมีขันติบารมี มีวิริยะบารมี แล้วก็มีบารมีอื่นๆ ด้วยที่เกิดจากการสะสม เพื่อที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน ซึ่งบารมีทั้งหลายนั้น ล้วนเป็นบริวารของปัญญาบารมี เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีปัญญาบารมีแล้ว บารมีอื่นก็เจริญไม่ได้ ขันติก็ไม่อดทนพอ ช้าไป เมื่อไรจะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม เมื่อไรจะประจักษ์การเกิดดับ บอกวิธีทำให้หน่อย โดยมากคนจะถามว่า ทำอย่างไร แต่คนนั้นต้องเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าไม่ใช่เรื่องทำ เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญา แล้วปัญญาไม่ใช่รู้อย่างอื่น คือ รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจจริงๆ อย่างนี้ ก็จะเป็นผู้ที่เพิ่มความอดทนขึ้น อดทนที่จะฟัง อดทนที่จะพิจารณา อดทนที่จะไตร่ตรอง จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น นี่ก็คือปัญญาที่เข้าใจถูกต้อง ก็จะทำให้บารมีทั้งหลายที่เป็นบริวารเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง เคยฟังธรรมที่อาจารย์แสดงว่า รู้กันหรือยังว่ากุศลแตกต่างกับอกุศลอย่างไร คำถามเพียงเท่านี้ กุศลแตกต่างกับอกุศลอย่างไร หรือบุญกับบาปแตกต่างกันอย่างไร บุญคืออะไร บาปคืออะไร เป็นปัญหาที่ฟังดูก็ง่ายๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่า อกุศลก็คือสิ่งที่เป็นโทษ แล้วก็เป็นการกระทำที่ไม่ดีไม่งาม ทั้งกาย วาจา ใจ ส่วนกุศลก็ตรงกันข้าม แล้วกุศลก็เป็นไปในเรื่องของทาน ในเรื่องของศีล ในเรื่องของภาวนา คือ การอบรมเจริญความสงบของจิตจากอกุศล แล้วการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง นี่เป็นเรื่องตำรา แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมนั้นเกิดดับสืบต่อเร็วมาก ต้องเป็นปัญญาพร้อมด้วยสติที่ระลึกทันในขณะที่สภาพธรรมนั้นกำลังปรากฏ คือ รู้ทันทีที่สภาพธรรมนั้นเกิด ถึงจะรู้ได้ว่าขณะนั้นจริงๆ เป็น กุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าคิดที่จะสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ขณะนั้นเป็นกุศลจิต มีเจตนามีความตั้งใจที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่นให้พ้นจากทุกข์ภัยต่างๆ แต่ว่าเวลาที่คิดจะทำบุญ แล้วก็ไปตลาดไปซื้อของ ระหว่างที่ไปตลาด ไปซื้อของ จิตใจในขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเป็นผู้ที่ตรง ถ้าเห็นผลไม้ที่ดีน่ารับประทาน ก็เกิดชอบ ถ้าเห็นผักที่เสียหรือว่าของที่ไม่ดี ขณะนั้นก็แม้ความขุ่นเคืองใจหรือความไม่ชอบเพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่า วันหนึ่งๆ ต้องเป็นผู้ที่ไว และละเอียดพอที่จะระลึกได้ ถึงจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล มิฉะนั้นเราก็พูดกันตามตำรา แม้แต่ในขณะที่กำลังนั่งอยู่ที่นี่ กุศลจิตก็มี อกุศลจิตก็มี ถ้ามีเสียงดัง เสียงหนึ่งเสียงใดกระทบ ขณะนั้นก็เกิดความรู้สึกอาจจะตกใจ หรือว่าไม่สบายใจ ไม่แช่มชื่น ขณะนั้นก็เป็นอกุศล ขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ ในช่วงขณะที่ฟังเข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นกุศล ขณะที่กำลังเมื่อย ขณะนั้นก็เป็นทุกข์ ขณะนั้นก็เป็นวิบาก คือ ผลของอกุศล แล้วก็ขณะที่ไม่ชอบ มีความรู้สึกว่า ไม่สบายใจเลยที่เมื่อยอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่เป็นกุศล อกุศล เกิดดับสลับกับไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งวิบาก คือ ผลของอดีตกรรมด้วย ก็มีทั้งจิตที่เป็นกุศล มีทั้งจิตที่เป็นอกุศล และมีทั้งจิตที่เป็นวิบาก แล้วถ้าศึกษาโดยละเอียดต่อไปก็จะรู้ว่า มีจิตอีกประเภทหนึ่งด้วย ซึ่งไม่ใช่ทั้งกุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่วิบาก คือ จิตที่เป็นกิริยา

    ผู้ฟัง การอุทิศส่วนกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรโดยทำบุญตักบาตรแก่ภิกษุสามเณร พอจะทดแทนกันได้ไหม ถ้าท่านเข้าใจคำว่า กุศล อกุศลแล้ว ขึ้นชื่อว่าบุญหรือบาปอยู่ที่จิต เรื่องบุญเรื่องกุศล อยากจะให้อาจารย์ช่วยตอบหน่อยดีไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ใครๆ ที่เป็นห่วง รู้สึกว่า จะเป็นเจ้ากรรมนายเวร ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มีเจ้ากรรมนายเวร กลัวมากเลย กลัวเจ้ากรรมนายเวรมากเลย

    ท่านอาจารย์ ในพระไตรปิฎกจะมีคำว่า เจ้ากรรม นายเวรไหม หรือว่าทุกคนมีกรรมเป็นของๆ ตน มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นทายาท มีใครที่เป็นเจ้าของกรรมของเราไหม คือเป็นศัพท์ภาษาไทยที่อาจจะใช้มานาน คำว่า “เจ้ากรรม” แล้วก็ไปคล้องกับคำว่า “นายเวร” แต่จริงๆ แล้ว มีใครทราบว่า ใครเป็นเจ้ากรรมนายเวร กันมาบ้าง แล้วเจ้ากรรมนายเวรจริงๆ หมายความว่าอย่างไร คือ เวลาที่จะพูดถึงอะไร ถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุผล เราก็จะพิจารณา แล้วก็เป็นผู้ที่ตรงจริงๆ เวลาที่เราทำอกุศลกรรม กรรมที่ได้ทำแล้วจะเป็นเหตุให้เกิดวิบากซึ่งเป็นผลของกรรมนั้น ถ้าเป็นอกุศลกรรม คือ กรรมที่ไม่ดี การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ อะไรก็ตามแต่ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้มาเป็นของ ตน เบียดเบียนคนอื่น ซึ่งเป็นอกุศลกรรม เมื่อกรรมซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ดีมี ผลก็คือว่าเกิดในภูมิที่ไม่ดี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567