ปกิณณกธรรม ตอนที่ 305


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๐๕

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม จากผู้ที่ได้ตรัสรู้ความเป็นจริงของธรรม เป็นความถูกต้องทั้งหมด แต่ว่าการที่จะเข้าใจได้ถูกต้อง ก็ต้องอาศัยการพิจารณาในการฟังด้วย

    ผู้ฟัง ตอนแรกยังไม่ได้ฟังธรรม ยังไม่ได้มาฟังการสนทนาธรรม จะมีความรู้สึกว่า ตัวเองมีกิเลสน้อยมาก แล้วก็จะทำอะไรในสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร หลังจากได้มาฟังแล้ว จะรู้ว่า ตัวเองมีกิเลสมากเหลือเกิน ความโกรธก็จะโกรธมากที่สุดเลย คนข้างเคียง คนที่บ้าน ไม่ชอบให้ออกมาฟังธรรม เมื่อเรากลับไปถึง จะต้องถามแรกๆ ที่เรากลับไปเราก็จะมีการโต้แย้ง หลังจากที่เราได้ฟังธรรมแล้ว เราพยายามแยกคำ อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม ตัวของเราพยายามแยก พอหลังจากที่กลับไปถึงบ้าน ที่บ้านถามว่า ไปไหนมา ก็จะพยายามแยกคำว่า ไปแล้วก็ ไหนแล้วก็มา เพราะฉะนั้น ก็เลยทำให้เห็นว่า ตัวเองหลังจากที่ฟังธรรมแล้วได้ประโยชน์มาก แต่เวลานี้ความโกรธรู้สึกจะลดน้อยไป แต่เพราะว่าพยายามไปแยกเป็นคำๆ แล้วก็ไม่มีความหมายอะไร โดยที่ว่าเราจะไม่จับคำมารวมกัน แล้วทำให้เกิดความโกรธ สมัยแรกๆ จะโกหก ไปไหนมา พอระยะหลัง เดี๋ยวมันเป็นนิสัยก็จะไม่โกหก ก็เลยพูดตรงไปเลย

    ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เรื่องของการฟังธรรมก็เป็นเรื่องที่ว่า ฟังเพื่อที่จะเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็อย่าผ่านไปง่ายๆ โดยที่ว่ายังไม่ได้เข้าใจจริงๆ อย่างที่พูดว่า สักกายทิฏฐิ โดยคำแปล ฟังครั้งแรกก็อาจจะคิดว่า พอจะเข้าใจบ้าง แต่ว่าถ้าเข้าใจขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ เช่น คำว่า ทิฏฐิ หมายความถึง ความเห็น

    ความเห็น มี ๒ อย่าง ถ้าเป็นความเห็นถูกก็เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นความเห็นผิด ก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ว่าเวลาที่พูดถึงทิฏฐิทั่วไป ทางฝ่ายอกุศล จะไม่ใช้คำว่า มิจฉา ถ้าใช้คำว่าทิฏฐิ ทางฝ่ายอกุศล ก็เข้าใจได้ว่าหมายความถึง มิจฉา คือความเห็นผิด คนส่วนใหญ่คงจะไม่ชอบที่จะรู้ตัวเองว่าเห็นผิด แต่ว่าตามความเป็นจริงใครก็ตามที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย แล้วจะมีความเห็นถูกในสภาพธรรม หรือสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ เป็นไปไม่ได้ เพราะแม้แต่คำว่าธรรมที่เราได้ยินได้ฟัง ทราบไหมว่าอยู่ที่ไหน คนที่ฟังครั้งแรกจะไม่ทราบเลย ก็ไปหาธรรม หยิบหนังสือขึ้นมาก็คิดว่า ธรรมจะอยู่ที่นั่น แต่ว่าเมื่อได้ฟังบ่อยๆ แล้วมีความเข้าใจ ก็จะได้ทราบว่า ธรรมหมายความถึงธาตุ หรือสิ่งที่มีจริง แต่ว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย เป็นสิ่งที่มีไม่ใช่ไม่มี แต่ไม่เคยสนใจ ไม่เคยรู้ ตั้งแต่เกิด ก็เกิดมาแล้วก็ไม่รู้ว่ามาจากไหน และอะไรเกิด ก็เป็นเรา

    เมื่อไม่รู้ความหมายหรือว่าลักษณะจริงๆ ของธรรม ขณะนั้นย่อมมีความเห็นผิดในธรรมนั้นๆ โดยการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นเราหรือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น รูป ได้ยินคำว่า รูป คนใหม่ๆ ที่ไม่เคยฟังธรรมเลย ก็จะคิดถึงรูปภาพที่เห็น หรือรูปต่างๆ แต่ความจริง ความหมายของ รู-ปะ ในภาษาบาลีไม่ตรงกับภาษาไทยที่ใช้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังธรรม ฟังใหม่ ตั้งต้นใหม่ เข้าใจใหม่ ในสิ่งซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน เช่น คำว่า รู-ปะ หมายความถึงสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่มีจริง แต่ว่าสภาพนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่จำเป็นต้องมองเห็น แต่ว่าสภาพธรรมใดที่มีจริง มีจริง คือ มีลักษณะปรากฏให้รู้ว่า ลักษณะของธรรมนั้น หรือสิ่งนั้นคืออย่างนั้น ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น กลิ่น มีจริงหรือไม่มีจริง มี มองเห็น หรือมองไม่เห็น ไม่มีใครเห็นกลิ่น แต่กลิ่นมีจริง สภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย ไม่สุข ไม่ทุกข์ไม่เห็นไม่ได้ยินไม่คิดนึก สภาพธรรมนั้นๆ เรียกว่า รูปธรรม เป็นธรรมฝ่ายรูป คือมีจริงๆ ไม่สามารถจะรู้ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ก็มีธรรม ไม่ใช่ไม่มี มีธรรมทั้งหมดเลย ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ต้องไปหาที่อื่นเลย ถ้าขณะใดไม่เห็นว่า ธรรมเป็นธรรม ขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด ซึ่งมีหลายประการ เริ่มตั้งแต่การเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันปรากฏเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ด้วยความทรงจำว่า สิ่งนั้นมี และเที่ยง แม้ว่าสิ่งนั้นไม่ปรากฏ เช่น ถ้าจะนึกถึงคน พี่น้อง มิตรสหาย หรือบ้าน หรือวัตถุใดๆ ก็ตาม ในขณะที่ไม่ปรากฏ ในความรู้สึกเหมือนกับว่าสิ่งนั้นมีอยู่จริงๆ ยังมีอยู่ ยังไม่ได้หายไปไหน แต่ว่าตามความเป็นจริง ผู้ที่รู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏมีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ

    การฟังธรรมต้องค่อยๆ พิจารณาไป แม้แต่คำพูดที่ว่า สิ่งใดที่มีจริง มีจริงในขณะที่ปรากฏ และเพียงชั่วขณะที่ปรากฏ จริงหรือเปล่า การฟังธรรมต้อง ฟังแล้วฟังอีก แล้วก็ฟังบ่อยๆ แล้วก็ไตร่ตรองว่า คำนี้ถูกหรือผิด ถ้ายังไม่เห็นด้วย เพราะว่าไม่สามารถละความคิดนึกว่า ยังมีพ่อ มีแม่ มีเพื่อน มีฝูง มีบ้าน มีทรัพย์สมบัติแล้วจะบอกว่า สิ่งนั้นไม่มีได้อย่างไร นั่นก็ยังไกลไป แต่ที่ตัวที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ มีจริงๆ หรือเปล่า สิ่งที่เคยจำว่า เป็นปอด เป็นตับ เป็นแขน เป็นขา ปรากฏหรือเปล่า ผู้ที่ประจักษ์ธรรมตามความเป็นจริงรู้ว่า สภาพธรรมใดก็ตามที่ปรากฏ เพราะมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับเร็วมากทันที สิ่งใดที่ไม่ปรากฏ เช่น เสียงในป่า มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เพราะว่าพอต้นไม้ล้ม หรือว่ากระทบกันด้วยประการใดๆ ก็ตาม ที่ทำให้เกิดเสียง เสียงก็ดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่แม้ว่ามี เพราะปัจจัยทำให้เกิดขึ้น แต่เมื่อไม่ปรากฏสิ่งนั้นก็คือ เกิดแล้วดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น ที่ตัวทั้งหมดมีรูปธรรม แน่นอน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ถ้ากระทบสัมผัสจะรู้สึกแข็ง หรืออ่อน หรือเย็น หรือร้อน ทันทีที่กระทบสัมผัส เพราะสิ่งนั้นมีปัจจัยปรุงแต่งเกิด จึงสามารถกระทบได้ สัมผัสได้ ถ้าสิ่งใดที่ดับไปแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะกระทบสัมผัส แล้วก็ปรากฏสิ่งนั้นได้

    คำที่ว่าพระผู้มีพระภาค ตรัสดีแล้ว คำว่า ดีแล้ว ลึกซึ้งจริงๆ คือ ดีแล้วด้วยพระปัญญาคุณที่สามารถที่จะตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งมีอยู่เพียงชั่วขณะที่ปรากฏเท่านั้น ซึ่งเป็นการยากซึ่งจะไถ่ถอนความไม่รู้ หรือความเห็นผิดที่เคยยึดถือสภาพธรรม แม้ไม่ปรากฏ หรือแม้กำลังปรากฏ ก็ไม่รู้ความเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรมนั้นๆ

    การฟังธรรมต้องเป็นเรื่องตลอดชีวิต แล้วทุกคนที่ได้ฟังแล้ว ก็จะรู้ว่า ไม่ใช่ชาติเดียว ชาติเดียวไม่พอ เพราะเหตุว่าการที่จะรู้ความจริงจนกระทั่งบรรลุถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อที่จะประกอบด้วยพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณที่จะทรงแสดงพระธรรมไว้มากตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้มีโอกาสไตร่ตรอง และเห็นพระปัญญาคุณ ได้เห็นพระบริสุทธิคุณ ได้เห็นพระมหากรุณาคุณว่า ไม่ใช่เพื่ออย่างใดทั้งสิ้น แต่เพื่อให้ผู้ที่ฟังมีโอกาสที่จะพิจารณาสามารถที่จะเข้าใจความจริงของสภาพธรรม แล้วก็จากฝั่งนี้ไปสู่อีกฝั่งหนึ่งได้ มิฉะนั้นก็ไม่มีหนทางเลย ก็จะเลาะอยู่ทางฝั่งนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ วนเวียนไป ซ้ำไป ซ้ำมาทุกวัน แล้วก็ไม่ใช่เพียงแต่ชาตินี้ชาติเดียว

    ถ้าได้ฟังโดยละเอียดแล้วเห็นประโยชน์ ก็จะพิจารณาทุกสิ่งที่ได้ฟังแล้วก็ไตร่ตรองว่า เป็นความจริงหรือไม่จริง ถ้าเป็นความจริงประจักษ์ ตามความจริงนั้นหรือยัง ธรรมที่มีจริงทนต่อการพิสูจน์ สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ เพราะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ให้ไปแสวงหาสิ่งที่ไม่มี ไม่ใช่ให้ไปทำขึ้นมา โดยที่มีความเป็นเราทำขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา สามารถที่จะทำได้ แต่ธรรมไม่ใช่อย่างนั้นเลย ธรรมเป็นธาตุ หรือธรรม ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครสามารถดลบันดาลได้ แต่ว่ามีปัจจัยที่จะทำให้เกิดสภาพธรรมแต่ละอย่าง การฟังธรรมก็คือให้รู้จักธรรมซึ่งมีอยู่จริง ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกภพชาติ เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้งตามที่ได้ทรงแสดงไว้ได้

    อดิศักดิ์ คุณป้าสมหวังพอเข้าใจไหม ไม่ใช่ไปแยกคำ ที่ไปแยกคำนั้นไม่ใช่ ต้องอย่างที่อาจารย์พูดมา ต้องค่อยๆ เข้าใจธรรม ขึ้นว่ามีแต่รูปกับนามเท่านั้น ไม่ใช่ไปแยกคำ แล้วไปแปลความหมายกลายเป็น ไม่ใช่ เอกายโนมรรคแล้ว มรรคมีองค์ ๘ เป็นอีกต่างหากไปอีกวิธี ซึ่งคงไม่ใช่วิธีที่จะถึงพระนิพพานได้

    ผู้ฟัง วันนี้พอดีชวนเพื่อนที่ไม่เคยมาเลยจากอีกกลุ่มหนึ่งมาหลายท่าน ไม่เคยเลย หน้าแปลก หน้าใหม่ ก็อยากจะเอื้อเฟื้อเขานิดหนึ่งว่า เขาไม่เคยมาเลย แล้วมาฟังธรรมครั้งแรก ควรจะปฏิบัติตนอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เหมือนเดิม ไม่ต้องเปลี่ยน จะไปปฏิบัติ อะไรซึ่งไม่ใช่ความจริงตามที่ได้สะสมมา ไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแต่ว่ามีชีวิตตามปกติ แต่เพราะเห็นประโยชน์ของการฟังธรรม ก็ฟังต่อไป แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    นี่คือความหมายของภาวนา ภาวนา หมายความถึงอบรมให้สิ่งที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น ที่เป็นฝ่ายดี เป็นกุศลธรรม แล้วก็เมื่อมีแล้วอย่าเพิ่งคิดว่าพอแล้ว ยังจะต้องอบรมต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีพอ คนที่คิดว่า ตัวเองพอแล้ว จริงหรือเปล่า หรือว่าดีพอแล้ว ไม่จริง ดีเท่าไรก็ยังไม่พอ

    การที่จะเริ่มฟังธรรม มีความเข้าใจเพียงนิดเดียว เท่าไรก็ยังไม่พอ แม้แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านยังฟังพระธรรม ประโยชน์ของคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ประโยชน์ของคนที่ยังไม่ได้เคยฟังธรรมเลย ประโยชน์ของคนที่ยังไม่รู้ว่าพระธรรมคืออะไร คือต้องเริ่มจากการฟัง แล้วก็ค่อยๆ เห็นประโยชน์ขึ้น แต่ขอเรียนให้ทราบว่า ไม่มีอะไรที่จะมีประโยชน์ยิ่งกว่า ความเข้าใจพระธรรม

    ผู้ฟัง อาจารย์สุจินต์ได้กล่าวถึงเรื่อง มีจริงในขณะที่ปรากฏ คือขณะนั้นมีจริงในขณะที่ปรากฏ เช่น การฟัง การฟังก็ฟังเสียงที่มีจริงในขณะที่ปรากฏ ทีนี้การฟังธรรม คือ การฟังธรรมของเรารวมถึงการพิจารณาขณะที่ฟังหรือได้ยินเสียงนั้น หรือว่าหมายรวมถึงสิ่งที่มีจริงขณะที่ปรากฏ หรือว่าที่ ๓ ก็คือหมายความถึงว่าฟังเพื่อจะเข้าใจเรื่องราวของสภาพหรือลักษณะของอาการปรากฏของเสียงนั้น

    ท่านอาจารย์ การฟังธรรมต้องเป็นผู้ที่ใจเย็นๆ ไม่รีบร้อน แล้วก็พิจารณาให้ละเอียดเพื่อที่จะได้เข้าใจจริงๆ ตามลำดับ ไม่ว่าเรื่องทั้งหมดที่พูดมา เช่น สักกายทิฏฐิ ก็ได้กล่าวไปแล้ว แล้วพอมาถึง ๒๐ ก็ไม่ทราบว่า รู้จัก รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ขันธ์ ๕ หรือยัง เพราะว่าบางท่านเป็นผู้ที่ใหม่ จริงๆ สำหรับดิฉันเอง ตอนที่เริ่มไปศึกษาพระธรรมที่พุทธสมาคม ไม่รู้จักอะไรเลย เพราะเหตุว่าถ้าจะผ่านวัดก็อยากจะเข้าไปกราบ หรือว่าถ้าจะมีอะไรที่จะทำให้เกิดความสนใจก็ไป แต่ไม่มีโอกาสจริงๆ ที่จะศึกษา เพราะว่าที่วัด เวลาเข้าไปแล้ว ก็จะเห็น อย่างบางวัด ก็มีรูปภาพหรือรูปยักษ์ มีอะไรมากมาย แต่ว่าไม่มีคำสอนที่ว่า รูปขันธ์คืออะไร เวทนาขันธ์คืออะไร สัญญาขันธ์คืออะไร แม้แต่ธรรมก็ไม่รู้

    เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ใหม่จริงๆ ตั้งต้นจริงๆ แล้วสำหรับหลายคนที่นี่ ก็เข้าใจว่าคงจะเหมือนกับดิฉัน เมื่อ ๓๐ - ๔๐ ปีก่อน ที่ได้เริ่มเข้าไปศึกษาธรรม แต่ว่าเวลาที่ศึกษาธรรม ตรงไปที่การศึกษาพระอภิธรรม แต่ว่าการเข้าวัดก็ไปตามวัด ก่อนที่จะรู้ว่าธรรมคืออะไร อภิธรรมคืออะไร ปรมัตถธรรมคืออะไร รูปธรรมคืออะไร นามธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้น แม้แต่ขันธ์ ๕ ก็ไม่เคยได้ยิน ซึ่งก็จะต่างกับหลายท่านที่มี บรรพบุรุษ หรือบุพการี มีคุณพ่อ หรือว่าคุณแม่ หรือว่าพี่ป้าน้าอา คุณลุง คุณป้า คุณตา คุณยาย ก็อาจจะพาไปวัด แล้วก็เข้าหูบ้าง หรือว่าสมัยโน้นก็ไม่ได้มีวิทยุที่จะเปิดแล้วก็ให้เราได้ยินได้ฟังเรื่องต่างๆ เหล่านี้เก็บเล็กผสมน้อยมา แม้แต่สักคำหนึ่งก็ไม่มี

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่ทราบว่าแต่ละท่านในที่นี้ จะมีการตั้งตนเหมือนอย่างดิฉันหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นผู้ที่ตั้งต้นใหม่จริงๆ ก็จะไม่เข้าใจคำว่ารูปขันธ์ เวทนขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็นขันธ์ ๕ แล้ว ก็มีความยึดถือในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ รวมทั้งหมดเป็น ๒๐ อย่าง

    ถ้าเราจะตั้งต้นโดยการที่ว่า ไม่ว่าเราจะได้ยินได้ฟังอะไร ก็ให้เข้าใจจริงๆ อย่างที่คุณวีระกำลังพูด เพราะว่าหลายคนก็อาจจะคิดถึงเรื่องฟังธรรมแล้วต้องปฏิบัติ เข้าใจว่าอย่างนั้น จึงได้มีคำถามเมื่อกี้นี้ว่า เมื่อฟังแล้ว จะให้ทำอย่างไร คล้ายๆ กับว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร แต่ว่าตามความเป็นจริงไม่มีใครเปลี่ยนธรรมที่แต่ละคนสะสมมา ก็ยังคงเป็นคนเดิม แล้วแต่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งทุกคนก็ไม่สามารถที่จะรู้ตัวเองได้ว่า ต่อไปอะไรจะเกิดในชีวิต อาจจะพิกลพิการไป อาจจะได้ลาภ หรือเสื่อมลาภ หรืออาจจะอะไรก็ได้ แล้วแต่ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ แต่ว่าการที่เราได้มีโอกาสเข้าใจชีวิตจริงๆ ว่าเป็นธรรม แล้วก็ได้ยินคำว่า อนัตตา ที่กล่าวมานี้คือ ไม่ว่าจะกล่าวว่าเป็นธาตุ ไม่ว่าจะกล่าวว่าเป็นธรรม ก็แสดงความเป็นอนัตตาอยู่แล้วว่า ไม่มีใครสามารถที่จะเป็นเจ้าของ หรือว่าเปลี่ยนแปลง หรือว่าบันดาลให้เป็นไปได้

    ไม่ใช่ว่าพอได้ยินปุ๊บก็จะปฏิบัติทันที หรือว่าจะเข้าใจเรื่องซึ่งต้องอาศัยกาลเวลาตั้งหลายปี กว่าที่จะเข้าใจได้แม้ในเรื่องของสักกายทิฏฐิ ๒๐ เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เท่าที่ได้ฟังมาแล้วทั้งหมด ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็รู้ว่า หนทางที่จะเข้าใจธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องที่ง่าย หรือใกล้ เพราะเหตุว่าเป็นการศึกษาเริ่มที่จะเข้าใจพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมากมายหมาศาล ยิ่งฟังยิ่งเห็นตามความเป็นจริง แม้แต่ในข้อความที่ว่า ธรรมใดก็ตามมีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ แค่นี้ก็ต้องคิดแล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ขณะที่เราฟัง เรื่องของสภาพธรรมใดก็ตาม ในขณะที่มีจริงที่กำลงปรากฏเท่านั้น ให้เข้าใจตรงนั้นก่อน

    ตรงนี้หมายความถึงว่า ถ้าขณะนี้มีเสียงปรากฏ การฟังที่เราฟังตรงนี้ก็คือ เราฟังเรื่องเสียงมาจากสักครู่นี้ว่า เราพูดถึงเรื่องเสียงสภาพธรรมที่มีจริงขณะที่ปรากฏ แล้วขณะที่เสียงเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นเรื่องที่จะทำความเข้าใจกับเสียง ใช่ไหม ไม่ใช่ฟังอีก ไม่ใช่มาฟังเรื่องเสียงอีก

    ท่านอาจารย์ คงเข้าใจทันทีไม่ได้ เพียงแต่ว่าเริ่มเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร อยู่ที่ไหน แล้วเสียงทั้งๆ ที่เรามองไม่เห็นก็เป็นธรรม แต่ธรรมเป็นคำที่กว้างมาก แสดงรวมทั้งหมดทุกประเภท เพราะฉะนั้น เราก็เริ่มที่จะแยกประเภทของธรรมว่า ทุกอย่างเป็นธรรมจริง แต่ธรรมที่มีหลากหลายมากมายทั่วโลก ไม่ว่าในจักรวาลทั้งหมดก็เป็นธรรมนั้น มีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่งเป็นสภาพซึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นรูปธรรม แต่ถ้ามีแต่รูปธรรมอย่างเดียว ไม่มีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เช่นในขณะนี้ ถ้ามีแต่รูปธรรมเท่านั้น ไม่มีสักขณะเดียวที่เห็น หรือได้ยิน ก็จะไม่มีอะไร ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ ไม่มีความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้น แต่ว่าไม่ใช่มีแต่เฉพาะรูปธรรม ยังมีธรรมอีกชนิดหนึ่ง หรือธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ธาตุชนิดนี้ต่างกับรูปธรรม เพราะเหตุว่าเป็นธาตุซึ่งเมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่น เสียงที่คุณวีระยกตัวอย่าง เสียงปรากฏเมื่อไร

    ผู้ฟัง เมื่อขณะที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เมื่อมีสภาพได้ยิน ถ้าไม่มีการได้ยิน เสียงใดๆ ก็ไม่ปรากฏทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เสียงก็เป็นรูปธรรม ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไปเรื่อยๆ ตามเหตุตามปัจจัย แต่ขณะใดที่ปรากฏ หมายความว่าขณะนั้นต้องมีสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเราไม่รู้จักเลย แต่ว่าเมื่อสภาพนี้เกิดขึ้น ก็เป็นเราได้ยิน แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าธาตุรู้ไม่มี การได้ยินไม่มี ใครก็มีไม่ได้ที่จะได้ยิน แต่ว่าเมื่อมีการได้ยินเกิดขึ้น แทนที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งต่างจากรูปธรรม เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่สามารถจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ตั้งแต่เกิดจนตายไม่ขาดธาตุนี้เลย ทางตา ธาตุนี้ก็ทำหน้าที่เห็น คือรู้ว่าสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่น ขณะที่เสียงปรากฏ ธาตุนี้ก็เกิดขึ้น ได้ยินเสียงลักษณะของเสียง เฉพาะเสียงนั้นที่กำลังได้ยิน และเสียงก็ดับไป แล้วสภาพรู้ ยิ่งเกิดดับเร็วกว่ารูปธรรม เพราะเหตุว่าสภาพรู้ คือ จิต เกิดดับเร็วมาก รูปธรรมรูปหนึ่งจะมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ

    แสดงให้เห็นถึงความเร็วของสภาพธรรมทั้งนามธรรม และรูปธรรม ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงตรัสรู้ แม้ศาสตร์อื่น วิชาอื่น ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ระดับนี้ได้ เพราะว่าขณะที่มัวแต่คิดเรื่องธาตุต่างๆ ทั้งรูปธาตุกับนามธาตุก็ดับไปหมดอย่างเร็ว

    ผู้ฟัง ขณะที่มีเสียงเกิดขึ้นปรากฏขณะนี้ ก็มีทั้งได้ยินเสียงด้วย แล้วก็มีเสียงด้วย ถ้าเผื่อเสียงช้ากว่า คือ มีอายุมากกว่า ผมคอยพิจารณาแต่เสียงอย่างเดียวจะง่ายกว่า ไปคอยพิจารณาเรื่องการฟังเสียง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วก็ไม่ควรจะเป็นคุณวีระที่คอยพิจารณา แต่ว่าเป็นเรื่องของความเข้าใจธรรมตาม ลำดับเพิ่มขึ้น จนกระทั่งมีความมั่นคงในความเข้าใจว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีคุณวีระที่คอยพิจาณา แต่ว่าจะรู้ว่า สภาพธรรมมีหลากหลายมากมาย ที่เป็นรูปธรรมก็มีถึง ๒๘ รูป ที่เป็นนามธรรม ก็ไม่ใช่แต่เฉพาะจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่ยังมีนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต รู้สิ่งที่จิตรู้อย่างเดียวกัน ไม่ว่าจิตเห็น สภาพธรรมนั้นก็สามารถที่จะกระทำหน้าที่ของตนในสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ จำบ้าง หรือว่า รู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์บ้าง

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นนามธรรมซึ่งเกิดกับจิต เกิดในจิต ดับพร้อมจิต ทรงบัญญัติใช้คำว่า เจ-ตะ-สิ-กะ ในภาษาบาลี ซึ่งภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า เจตสิก ทิ้งหมดคำสุดท้าย สุ-ขะ ก็เป็น สุข ทุก-ขะ ก็เป็นทุกข์ จิ-ตะ ก็เป็น จิต นี่คือเราก็ใช่ตามแบบของเรา แต่ถ้าจะพูดคำให้ถูกต้องตามภาษาบาลีกับทั่วโลกที่ใช้ภาษาบาลีในพระพุทธศาสนา ก็ต้องออกเสียงให้ถูกต้อง แต่เราก็พูดแบบเรา คือ นอกจากจิตแล้ว ยังมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกัน คือ เจตสิกอีก ๕๒ ชนิด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567