ปกิณณกธรรม ตอนที่ 344


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๔๔

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๔


    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็เพียงปรากฏเฉยๆ ให้ใจนึกตามไป ในอาการสัณฐานของสีสันวัณณะที่ปรากฏ แต่ลักษณะแท้ๆ ของเขาคือ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ กว่าจะยกตัวตน คน สัตว์ ออกไปจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นปัญญาจริงๆ ก็ต้องเป็นจิรกาลภาวนา โดยที่ว่าธรรมดาปกติ ไม่ผิดปกติ แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้น อันนี้สำคัญที่สุด ขอให้เปลี่ยนจากการที่จะเจริญสติ จะทำสติ จะอะไรสารพัดอย่าง มาเป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ขอย้ายปัญหามาเกี่ยวข้องกับปริยัติสักเล็กน้อย ที่กล่าวว่า ขณะที่เจริญสติ หรือขณะที่สติเกิดขึ้นนั้น ที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ไปในขณะเดียวกัน จะเป็นอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เป็นอธิศีลอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นศีลปาติโมกข์ก็ต้องเป็นการประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ แต่ว่าที่เป็นอธิศีล เพราะเหตุว่าแม้เพียงกุศล หรืออกุศลที่เกิด ยังไม่ทันที่จะล่วงทุจริตกรรม ขณะนั้นสติปัฏฐานก็สามารถที่จะระลึกรู้สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ละเอียดขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นความหมายของอธิศีลในขณะนั้น ต้องเป็นขณะที่กำลังจะงดเว้น ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่งดเว้น อย่างทางตาที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง อย่างพิจารณาทางตา มันจะเป็นอธิศีลอย่างไร ตามปกติไม่ได้มีเจตนาจะไปทำปาณาติบาต หรือจะไปโกรธไปเคือง ขณะนั้นไม่มีความโกรธ ความผูกอาฆาตเลย ตามปกติอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ การทำปาณาติบาตก็ต้องเกิดเพราะอกุศลจิตที่มีกำลังแรงหลายวาระ กว่ากรรมนั้นจะสำเร็จ แต่ว่าอธิศีล เพราะเหตุว่าเป็นศีลที่ละเอียดยิ่ง แม้ยังไม่ถึงขั้นที่จะลงมือ หรือที่จะเตรียมการ สติปัฏฐานก็ยังสามารถรู้ในความละเอียดนั้นได้ เพราะฉะนั้น การวิรัติ การงดเว้น ก็ต้องละเอียดกว่า เพราะว่าไม่ต้องเลยไปจนกระทั่งถึงกำลังฆ่า เพียงแต่จะเงื้อมมือ หรือว่าจะหยิบสิ่งที่จะะประทุษร้าย ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพจิตในขณะนั้นได้

    ผู้ฟัง แล้วสำหรับในเรื่องขณะที่จะเงื้อมมือนั้น เรายกไว้ก่อน พูดถึง ขณะนี้ ในขณะที่นั่ง

    ท่านอาจารย์ ถึงแม้ในขณะนี้ก็ยิ่งละเอียดกว่า เพราะว่าไม่มีจิตที่คิดจะไปเงื้อมมือ ก็ยังรู้ได้

    ผู้ฟัง นี่คือความหมายที่ว่าเป็นการเจริญไตรสิกขาหรือ

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ เพราะรู้ละเอียดถึงสภาพของจิต ไม่ต้องปล่อยไปจนกระทั่งถึงให้เกิดการประทุษร้าย ซึ่งกว่าจะถึงประทุษร้าย อกุศลจิตก็ต้องเกิดมากหลายขณะแล้ว

    ผู้ฟัง อยากจะทราบ เพราะเหตุว่าคล้ายๆ ว่า ถ้าไม่รักษาศีล ไม่มีการสมาทานศีล มันจะเป็นการเจริญศีล สมาธิ ปัญญาในขณะไหน เจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ศีลคือความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่เป็นปกติ เพราะฉะนั้น คนที่ปกติไม่ฆ่า ไม่จำเป็นต้องสมาทาน

    ผู้ฟัง หมายความว่า ในความหมายของคำว่าปกตินั้น

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ เช่นเวลาที่เราสนุกมาก ไปดูดอกไม้สวยๆ แล้วเราก็บอกว่าโลภะ รับประทานอาหารอร่อยๆ แล้วเราก็บอกว่าโลภะ แต่ความจริงเรารู้หรือเราเข้าใจว่าเป็นโลภะ แต่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของโลภะ เพราะเหตุว่าทุกคนพูดได้ว่า ขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นแต่เพียงนามธรรมรูปธรรม เป็นแต่จิต เจตสิก รูป พูดได้ เดี๋ยวนี้ก็พูดได้ ไม่ใช่ตัวตน เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูปฉันใด เวลาที่อาจจะกำลังสนุกมากๆ รับประทานอาหารอร่อยๆ แล้วก็บอกว่าโลภะ ขณะนั้นก็เท่ากับว่า เป็นการนึกว่าเรารู้ ว่าเรามีโลภะ แต่ว่าจริงๆ แล้วเราไม่ได้รู้ลักษณะของโลภะจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นการรู้ลักษณะของโลภะจริงๆ แล้ว ต้องเป็นขณะที่สติระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกัน เช่น โลภะไม่ใช่จิตเห็น โลภะไม่ใช่จิตได้ยิน โลภะไม่ใช่จิตที่ลิ้มรส โลภะเป็นสภาพของความติดข้อง ความเพลิดเพลิน ความยินดี ความพอใจ เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นมีสภาพธรรมหลายๆ อย่าง แต่ว่าเพราะการที่เราศึกษามา เราก็รู้ว่า ขณะที่กำลังเพลิน กำลังพอใจ กำลังติดข้อง ขณะนั้นต้องเป็นโลภะแน่ๆ เราถึงกล่าวได้ว่า นี่กำลังเป็นโลภะ แต่ขณะที่กำลงพูดอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าสติระลึก รู้ลักษณะจริงๆ ของโลภะ เพียงแต่ว่าเรารู้ว่าเรามีโลภะ

    การที่เราจะเริ่มรู้ลักษณะของโลภะ หรือโทสะ หรือเมตตา หรือเห็น หรือได้ยิน หรือสี หรือกลิ่นก็ตามแต่ ก็จะต้องเป็นเพราะขณะนั้น สติเริ่มระลึกที่ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมแต่ละอย่าง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของนามที่ต่างกันกับลักษณะของรูป แต่ว่าไม่ใช่หมายความว่า เราจะไม่ได้มีความรู้ลักษณะของนาม และรูปเลย แต่หมายความว่าสติเริ่มที่จะระลึกตรงลักษณะ แต่ว่าในขณะที่ลักษณะของนามก็เกิดขึ้น ทำกิจของนามสั้นนิดเดียว ลักษณะของรูปจริงๆ แล้วก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วมาก

    เพราะฉะนั้น ที่จะบอกว่าเราได้รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้น ต้องหมายความว่าสติ ค่อยๆ ระลึก แล้วก็ค่อยๆ มีความเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้นๆ แต่ยังไม่ใช่การประจักษ์แจ้ง จนกว่าวิปัสสนาญาณจะเกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าก่อนนั้นจะไม่มี ความรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเลย แต่กำลังเริ่มที่จะค่อยๆ เข้าไปถึงความจริงที่เป็นลักษณะแท้ๆ ของนามธรรม และรูปธรรม แต่ว่าตราบใดที่นามธรรม และรูปธรรมยังไม่ปรากฏกับนามรูปปริจเฉทญาณ ขณะนั้นก็จะยังไม่มีความรู้ชัดในลักษณะแท้ๆ ที่ต่างกันจริงๆ ของนามธรรม และรูปธรรม อย่างขณะนี้ที่กำลังปรากฏ

    นี่เป็นความต่างกันของวิปัสสนาญาณ กับปัญญาที่เกิดจากการค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง ต้องการเจริญบารมีด้วย เพราะว่าเจริญปัญญาเท่านั้นไม่ได้เลย เพราะว่าเราเป็นคนที่มีโรค เดินไปไม่ได้ ต้องการบารมี แต่เราเริ่มรู้ลักษณะค่อยๆ เริ่มรู้ลักษณะ เพราะฉะนั้น เราเริ่มเจริญบารมีด้วย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ สะสมบารมี

    ผู้ฟัง ทีนี้พูดถึงว่าผู้ที่เขาได้รับความสำเร็จในเรื่องการเจริญสมถภาวนาถึงขั้นอุปจารสมาธิหรืออัปนาสมาธิ ก่อนการตรัสรู้นั้น เขาคงจะไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกัน ไม่สามารถที่จะรู้ว่า ลักษณะนามธรรมทางตาเป็นอย่างไร เพราะรู้แต่สภาพที่เป็นอกุศลเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ การเจริญสมถภาวนาต่างกับวิปัสสนาภาวนา จุดประสงค์คนละอย่าง ผลก็ต้องคนละอย่าง จะเจริญสมถภาวนา แล้วก็มา เป็นวิปัสสนาภาวนาไม่ได้ นอกจากว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน เมื่อเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว เลือกไมได้เลยว่าอารมณ์ใดจะปรากฏ ถ้าจิตของบุคคลนั้นสงบ สติปัฏฐานก็จะต้องรู้ความจริงของจิต ที่สงบว่าไม่ใช่ตัวตน เพื่อการละคลายการที่ยืดถือ และต้องการความสงบด้วย แต่ว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้จิตสงบขึ้น แล้วก็ปัญญาก็สามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนเลย ไม่ต้องไปบีบบังคับ ไปทิ้งความสงบ หรืออะไร เพราะว่าทำอะไรไม่ได้เลยทั้งสิ้น ถ้าเป็นปัญญาที่สมบูรณ์จริงๆ จะรู้ว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ต้องไปบังคับ หรือไม่ต้องกลัว ไม่ต้องตกใจ ไม่ต้องทิ้ง ไม่ต้องทำอะไรหมด นั่นคือหมายความว่าปัญญามีกำลัง เพราะฉะนั้น ต้องแยก ที่พระคุณเจ้ากล่าวถึง ผู้ที่เจริญสมถภาวนา ไม่ทราบ หมายความถึง บุคคลไหน ยุคไหน สมัยไหน เป็นใคร

    ผู้ฟัง ยุคก่อน

    ท่านอาจารย์ ถ้ายุคก่อนเป็นของแน่นอน ที่ว่าผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานด้วย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นอาฬารดาบส หรือว่าพวกอัญญเดียรถีย์ เขาก็ได้ฌาน ถึงอรูปฌานด้วย

    ผู้ฟัง เพราะเหตุว่ามันนานมาแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่า เป็นความจำที่ถูกต้องว่าผู้ที่เจริญปฐวีกสิณ ถ้าเป็นผู้ที่ได้นามรูปปริจเฉทญาณ

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงเกี่ยวกัน ปฐวีกสิณ ไม่ได้นามรูปปริจเฉทญาณ

    ผู้ฟัง ผู้ที่มีความประสงค์จะเจริญปฐวีกสิณ ดูเหมือนว่าจะเป็นในวิสุทธิมรรค แต่ว่าจำไม่ได้ มันนานแล้ว ว่า ถ้าเป็นผู้ที่ได้นามรูปปริจเฉทญาณมาแล้ว อุคหนิมิต เขาจะเกิดทันที

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวกันเลย ระหว่างสมถภาวนา กับวิปัสสนาภาวนา

    ผู้ฟัง ผู้ที่ได้รับความสำเร็จ ในเรื่องของวิปัสสนาญาณ โอกาสที่จะได้รับความสำเร็จทางสมถะมีมากกว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยว เพราะเหตุว่าสุขวิปัสสกะมีมากกว่า เขาจะไม่สนใจเลย เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ ไม่ใช่เพื่อไปให้สงบ แต่เพื่อปัญญาที่จะรู้แล้วละ จากโสดาบันเป็น พระสกทาคา เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง สมมติว่าถ้าเป็นกุศลจิตประเภทเมตตาเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เป็นเรื่องการอบรมนั้น เกิดขึ้นเพราะได้สะสมมา ใช่ไหม เกิดขึ้นเองก็ได้

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ เหมือนโลภะเกิดได้ โทสะเกิดได้ เมตตาเกิดได้

    ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่เรื่องภาวนา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เจ้าค่ะ ถ้าเป็นภาวนา หมายความว่าคนนั้นต้องการที่จะให้เมตตาของเขามั่นคง เพราะเขาเห็นโทษของอกุศล เขามีความรู้เพียงแค่ระงับ ถ้าเป็นสมถภาวนาแล้ว จะไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง ในส่วนตัวอาตมาเห็นว่า เมื่อมีความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐานแล้ว ควรจะเข้าใจถูกในเรื่องการเจริญสมถภาวนาด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อดับเป็นสมุจเฉท แต่สมถภาวนาไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท

    ผู้ฟัง แต่อันนี้ก็รู้สึกว่า สำหรับเมืองไทยทั่วๆ ไป ถ้าเผื่อในกลุ่มของผู้ที่สนทนาที่ฟังสติปัฏฐาน ก็ไม่มีปัญหา ทีนี้บางครั้งบางคราว เราอาจจะไปเจอผู้ที่เขาเป็นพุทธศาสนิกชน เขาก็มีศรัทธาเรื่องทาน เรื่องศีลดี แต่ว่าได้เคยฟัง หรือเชื่อเรื่องภาวนาในการทำสมาธิแบบจดจ้อง ทีนี้เผื่อมีการสนทนาธรรมกัน ก็ได้มีความเข้าใจเรื่องการอบรมสมถภาวนาที่ถูกต้อง ถึงจะเกื้อกูล หรือสนทนาธรรมกันได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่เข้าใจแล้ว ก็ไม่มีปัญหา เพราะเหตุว่า ก็ได้ฟังมาพอสมควร ดังนั้นอาตมาถึงบอกว่า เรื่องความเข้าใจในเรื่องของสมถภาวนา จำเป็นต้องหาความรู้อันนี้ไว้ด้วย

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ ถ้าจะให้ใครที่สนใจในการเจริญสมถภาวนาจริงๆ ต้องให้เข้ารู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ ไม่ว่าจะเป็นการเจริญสมถภาวนา หรือ วิปัสสนาภาวนา จะขาดสติสัมปชัญญะไม่ได้เลย แต่ต่างขั้น สติสัมปชัญญะของสมถ ต้องสามารถรู้ลักษณะที่ต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต

    ผู้ฟัง ก่อนที่จะไปกล่าวถึงกรรมฐาน ๔๐

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะเหตุว่านิวรณธรรม ได้แก่อกุศลทั้งหมด กามฉันทนิวรณ์ได้แก่ โลภมูลจิตในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ถ้าบุคคลนั้นไม่รู้ลักษณะของอกุศลจิต เขาจะรู้ว่า เวลา กุศลจิตเกิดไม่ใช่อกุศล เขาจะรู้ได้อย่างไร ไม่มีทางที่เขาจะรู้เลย

    ผู้ฟัง อาตมาถึงได้บอกว่า ถ้าไม่ไปฟังที่ท่านอาจารย์บรรยาย ก็คงจะหมดโอกาสเข้าใจ พอพูดถึงเรื่องสมถภาวนา จุดแรกทีเดียวมักจะมุ่งไปที่กรรมฐาน ๔๐ อันใดอันหนึ่ง โดยลืมถึงเรื่องที่ว่าจะต้องรู้จักลักษณะของสติกับสัมปชัญญะตามปกติเสียก่อน

    ท่านอาจารย์ คนสมัยนี้เข้าใจว่า เขาอ่านพระพุทธศาสนาได้ เขาคิดว่าเขาไม่ต้องศึกษา เพียงแต่ว่าเขาอ่านออก แต่เขาไม่ได้เข้าใจความหมาย ถ้าดิฉันจะอ่าน สอ มอ ถอ สระอะ ดิฉันก็อ่านได้ว่า สมถะ แต่ไม่ได้รู้เรื่องสมถะ เพียงแต่อ่านได้ คนยุคนี้สมัยนี้ไม่เข้าถึงพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเขาเทียบว่า เพียงคำสอนของพระองค์ที่เป็นพระไตรปิฎก เขาอ่านได้ เขาไม่ทราบว่า เขาอ่านได้ แต่เขาเข้าใจไม่ได้ ถ้าเขาไม่ได้ศึกษาตามลำดับจริงๆ

    อย่างสมถภาวนา คนยุคนี้ สมัยนี้ใช้ชื่อเหมือนกับวิปัสสนาภาวนา ก็เพียงแต่ใช้ชื่อ แต่ว่าข้อประพฤติปฏิบัติ ของเขา ไม่ใช่ทั้งสมถ ทั้งวิปัสสนา อย่างที่เขาใช้คำว่า สมถภาวนา แล้วเขาก็ไปอ่านจากตำรา ก็เลยทำให้เขาคิดว่า เขาต้องทำสมาธิ เขาต้องเลือกอารมณ์ตามจริต แล้วเขาก็เลยไปจ้อง แต่เขาไม่ได้รู้เลยว่า สัมมาสมาธิต่างกับมิจฉาสมาธิ อย่างไร แม้แต่ในขั้นต้นก็ไม่มีความรู้ แต่การที่จะเจริญสมถภาวนาได้ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่เห็นโทษของโลภะ จึงเจริญสมถภาวนา ที่ว่าเห็นโทษของโลภะจึงเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าทั้งวันตั้งแต่ตื่น โลภะหมด ถ้าขณะใดจิตใจไม่ขุ่นเคือง หรือว่าไม่เดือดร้อน ขณะนั้นก็ต้องเป็นโลภมูลจิต เพราะฉะนั้น คนที่จะเจริญสมถภาวนา เพื่อละโลภะ คนที่จะเจริญวิปัสสนาเพื่อละอวิชชา

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น คนรุ่นนั้นก็ต้องมีปัญญามาก

    ท่านอาจารย์ มีปัญญามากเจ้าค่ะ

    ผู้ฟัง รู้ว่าชีวิตประจำวัน หลังจากเห็น หลังจากได้ยินแล้ว จิตเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง ทั้งที่ไม่ได้เคยฟังธรรมเลย

    ท่านอาจารย์ แน่นอนเจ้าค่ะ เพราะว่ามีปัญญาต่างขั้น

    ผู้ฟัง ท่านที่รู้ว่าเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ พร้อมสติสัมปชัญญะด้วย ไม่ใช่ว่าเพียงนึกๆ เอาว่า ฉันมีอกุศล แต่ต้องรู้ขณะจิตที่เป็นอกุศล แล้วขณะจิตที่เป็นกุศลว่าต่างกัน ไม่อย่างนั้นจะเจริญสมถภาวนา ละนิวรณธรรมไม่ได้

    ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของโลภะ แต่คนสมัยนี้เห็นโทษของโทสะ แต่ไม่ใช่เห็นโทษจริงๆ เพียงแต่ไม่ชอบโทสะ แล้วก็อยากจะมีโลภะ โดยไม่รู้ตัวว่า ไม่ชอบโทสะ แต่อยากจะใจสบาย เพราะอยากใจสบายก็เลยทำสมาธิ ซึ่งเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญา แล้วไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่รู้ลักษณะของกุศลจิต เพราะแม้แต่จาคานุสติ สำหรับผู้ที่เจริญสมถภาวนา ยังต้องระลึกถึงสภาพจิตที่ปราศจากอกุศลในขณะที่ให้ เพราะเหตุว่าวันหนึ่งๆ ทุกคนมีการให้ แต่ว่าไม่ได้หมายความว่าทุกคนให้ด้วยสติสัมปชัญญะ ที่รู้ว่าขณะนี้กุศลจิตเป็นอย่างนี้ อกุศลจิตเป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่าแม้ในขณะที่ให้ กุศลจิต และอกุศลจิตก็สลับกัน กำลังถวายภัตตาหาร มีพริกมีอะไรที่ไม่ชอบนิดๆ หน่อยๆ จะต้องหยิบออกไป นั่นก็ กุศลจิต สลับกับอกุศลจิต จนกระทั่งรู้ไม่ได้ ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนาจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่รู้ความต่างกันว่า ไม่ใช่ไม่ชอบโทสะ จึงจะทำ หรือว่า จะเจริญสมถะ แต่ต้องเพราะเห็นโทษของโลภะ แต่คนยุคนี้ไม่มีปัญญาเลย ไม่ชอบโทสะ ไม่ใช่เห็นโทษของโทสะ แล้วก็ชอบโลภะ แล้วก็ไม่รู้ตัวด้วยว่า กำลังชอบโลภะ เพราะฉะนั้น แทนที่จะให้เป็นโทสะ เขาก็หันไปหาโลภะ เพราะเหตุว่าปัญญาไม่เกิด ไม่มีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ลักษณะของจิตที่ต่างกัน

    ผู้ที่ถวายทานมีสติสัมปชัญญะ สามารถที่จะรู้ขณะจิตที่สลับกันต่างกันระหว่างอกุศลกับกุศล ผู้นั้นสามารถที่จะเจริญจาคานุสติได้ แต่ถ้าใครที่เพียงให้ทาน แล้วก็ไม่รู้ลักษณะของกุศลจิต ไม่มีทางเลยที่จะเจริญจาคานุสติ เพราะเหตุว่าการให้ทานในขณะนั้นไม่ได้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ แต่ว่าการอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ต้องมีปัญญาที่รู้ลักษณะของจิตที่ต่างกัน จึงจะค่อยๆ กันนิวรณธรรมทั้ง ๕ ออกไปได้ ไม่ใช่แต่เพียงกามฉันทะนิวรณ์ พยาบาทนิวรณ์ ถีนมิทธะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา ทุกอย่างที่เป็นอกุศลทั้งหมด

    ผู้ฟัง ความซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธเจ้า เกิดได้โดยที่ไม่ต้องไปเจริญพุทโธ อะไรก็ได้ อย่างเช่น เมื่อวานฟังเรื่องอธิษฐานบารมี ตัวอย่างของพระพุทธเจ้า สมัยเป็นพระเตมีย์ ก็รู้สึกว่า เกิดความซาบซึ่งในการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า พูดบรรยายไม่ถูก แต่มันซาบซึ้ง

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ ธัมมานุสติได้

    ผู้ฟัง แต่ที่จะอบรมให้สงบ ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะอย่างว่า โดยการรู้ลักษณะจิตในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ เจ้าค่ะ แล้วก็รู้ด้วยว่าชั่วคราว เพราะเหตุว่าไม่รู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน นี่จึงเป็นความต่างกันของสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา คือ วิปัสสนาภาวนาสามารถที่จะรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่เรา เรื่องของวิปัสสนา เป็นเรื่องละโดยตลอด ตั้งแต่ขั้นต้น เจ้าค่ะ ถ้ามีการนึกจะทำ จะเอาเมื่อไรก็ เป็นอันว่าตั้งต้นผิด ไม่มีทางถึง ละโลภะไม่ได้เลย โลภะ เป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า

    ผู้ฟัง เรื่องการภาวนาทั้ง ๒ คือ สมถะ และวิปัสสนา ก็มีความเข้าใจว่า ผู้ที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ก็น่าที่จะต้องมีการเจริญสมถภาวนาก่อน อันนี้เป็นคำถาม แต่ว่ายังไม่ได้มีคำตอบ แต่อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ ขอคำอธิบายสักเล็กน้อย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะทราบว่า ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ปัญญารู้ ขณะนั้นมีทั้ง สมถะ และวิปัสสนา ไม่ต้องไปเสียเวลาทำสมถะอะไรต่างหากเลย

    ผู้ฟัง ความเข้าใจของผู้ที่คิดว่าจะต้องเจริญสมถภาวนาก่อน แล้วจึงจะเจริญสติปัฏฐานได้ บอกว่ามันเป็นเบื้องต้นของความสงบของจิต ที่จะนำไปสู่การพิจารณาสภาพธรรมต่อไป

    ท่านอาจารย์ ไม่มีในพระไตรปิฎก เพราะเหตุว่าถ้าจะพิจารณา มหาสติปัฏฐาน ๔ อย่างจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเริ่มด้วยสราคจิตตัง หมายความถึงโลภมูลจิต เพราะเหตุว่ามีเป็นประจำทุกวัน แล้วถ้าใครยังไม่รู้ลักษณะของโลภมูลจิต หรือจิตที่มีอยู่จริงๆ ผู้นั้นจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนไม่ได้ แล้วเมื่อไรจะรู้ลักษณะของโลภะ ถ้าโลภะไม่เกิดขึ้น แล้วสติระลึก และขณะที่โลภะเกิดขึ้นแล้วสติระลึก ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นทั้งสมถะ และวิปัสสนา ทำไมถึงจะต้องไปเจริญสมถะ ซึ่งเมื่อไรจะถึง ความสงบขั้นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แล้วก็ไม่มีความรู้เรื่องนามธรรม และรูปธรรมเลย ไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานเลย แล้วเมื่อไรถึงจะทำได้ อบรมได้ เจริญได้

    ผู้ฟัง มีคำพูดต่อไปอีกว่า ข้อปฏิบัติของผู้ที่สอน เขาก็สอนที่จะให้ละ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ไม่ใช่ว่าโลภะ โทสะ โมหะเป็นสิ่งที่ดี รู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วก็บอกให้ละ แต่วิธีละ เขาไม่ได้บอกว่า ควรจะละอย่างไร ก็ทิ้งไว้ให้เป็นที่เข้าใจของผู้ฟัง เลยไม่ทราบว่า ละไปทำไม ในเมื่อบอกละ แต่ไม่บอกถึงวิธี ก็ยังไม่บอกถึงว่า มันเป็นคุณ เป็นโทษอย่างไร อันนี้ก็เลยทำให้

    ท่านอาจารย์ ดิฉันจำได้ว่าดิฉันถามว่า จะให้ละโลภะอะไร คนที่ว่าจะละโลภะ

    ผู้ฟัง ดูเหมือนจะมีคำพูดของคนนั้นบอกว่า โลภะที่เป็นความยึดติด ยังยินดีพอใจในสมบัติของตัวเอง เพื่อที่จะได้มีการสละสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือสมบัติตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นพระอนาคามีบุคคล ถึงจะละโลภะประเภทนั้นได้

    ผู้ฟัง ขณะที่ผมเห็นคนแม่ลูกอ่อนอุ้มลูกขึ้นมาบนรถเมล์ แล้วผมนั่งอยู่ ผมเห็นแล้วผมก็รู้ทันทีว่า จะต้องลุกให้เขานั่ง เพราะว่าเขาเดือดร้อนมากกว่าเรา แล้วลุกไป ขณะนั้นมีเมตตา แล้วก็สัมปชัญญะมีด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ถามคนอื่น ต้องถามคนที่กำลังมีเมตตาขณะนั้น แล้วก็มีลักษณะ อาการนั้นปรากฏจึงรู้

    ผู้ฟัง ต้องตัวเราเองรู้

    ท่านอาจารย์ แน่นอน จะบอกคนโน้นมีไหมสัมปชัญญะ กำลังนั่งฟังธรรม คนนี้มีไหมสัมปชัญญะ กำลังนั่งฟังธรรม จะตอบได้อย่างไร ในเมื่อไม่เหมือนกัน

    ผู้ฟัง จะตอบชี้ชัดลงไปว่า ขณะที่มีเมตตา แล้วจะต้องมีสัมปชัญญะด้วย อย่างนี้ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ จะตอบได้อย่างไร ในเมื่อแต่ละคนไม่เหมือนกัน กำลังให้ทาน คน หนึ่งมีสัมปชัญญะ อีกคนไม่มี แล้วจะตอบได้ไหมว่า กำลังให้ทานนั้นมีสัมปชัญญะ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ตอบไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ผมเท่าที่เจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ปัญญาขั้นสติปัฏฐาน ยังไม่ไปถึงไหน แต่ว่า ที่เห็นประโยชน์อยู่ ก็คือว่า เมื่อเจริญสติปัฏฐานแล้ว ทำให้ สติขั้นสมถะนั้นเจริญขึ้นโดยแต่ก่อนไม่เคยมี

    ท่านอาจารย์ เราจะไม่เรียนสมถะ เราจะเรียกกุศลได้ไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567