ปกิณณกธรรม ตอนที่ 359


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๙

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ จิตเกิดโดยไม่มีเวทนาเจตสิกไม่ได้ โดยไม่มีสัญญาเจตสิกไม่ได้ โดยไม่มีสังขารขันธ์ คือเจตสิกอื่นๆ ไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่ว่า ๗ ดวงนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ๗ ดวง นี้ครบ เป็น เวทนา ๑ เป็นสัญญา ๑ ที่เหลืออีก ๕ เป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่ตัวคุณศีลกันต์ ไม่ใช่ใครทั้งนั้น เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดแล้วดับ

    ผู้ฟัง หนูไม่เข้าใจตทาลัมพนจิต

    ท่านอาจารย์ ตทาลัมพนจิตต้องทราบว่า เป็นวิบากจิต ๑ แล้วก็เป็นกามภูมิ ไม่เกิดในรูปพรหมภูมิ อรูปพรหมภูมิเลย แล้วจะเกิดต่อเมื่อเป็นอารมณ์ของกาม คือ กามชวนะ เกิดต่อจากชวนจิต เมื่ออารมณ์นั้นยังไม่ดับ

    ผู้ฟัง เกิดต่ออย่างไหน

    ท่านอาจารย์ ธรรมดาเวลาชวนจิตดับแล้ว ก็จะต้องมีจิตอื่นเกิดต่อ ถ้าอารมณ์นั้นดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดต่อ แต่เมื่ออารมณ์ยังไม่ดับ จิตที่เกิดต่อ จึงไม่ใช่ภวังคจิต เพราะเหตุว่ารู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับเช่นเดียวกับชวนจิต จึงชื่อว่า ตทาลัมพนจิต

    ผู้ฟัง ทั้งหมด ๑๑ ดวง

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมด ๑๑

    ผู้ฟัง แล้วเกิดได้ทั้ง ๑๑ ดวงไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าคนนั้นเป็นใคร ถ้าเป็นสัตว์เดรัจฉาน อบายภูมิก็ไม่ครบทั้ง ๑๑ ถ้าเป็นทวิเหตุกบุคคลก็ไม่ครบ ทำไมถึงต้องไปสนใจล่ะ กำลังเห็นเดี๋ยวนี้น่าสนใจ กำลังได้ยินเดี๋ยวนี้ ก็น่าสนใจ ที่จะเข้าใจความจริงของธรรม

    ผู้ฟัง คำว่ารูปขันธ์ รูปขันธ์ก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร เช่น โต๊ะ ต้นไม้ แก้ว วิทยุ อะไรพวกนี้

    ท่านอาจารย์ จะไม่ใช่คำว่ารูปขันธ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่คำว่ารูปขันธ์ จะใช้คำว่าอะไร

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่ารูป คำเดียวได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ จะใช้คำว่ารูปก็ยังคงเป็นรูป จะเติมคำว่าขันธ์ หรือไม่เติมคำว่าขันธ์ ก็เปลี่ยนลักษณะของรูปนั้นไม่ได้ แต่ที่ใช้คำว่า “ขันธ์” เพิ่มขึ้น ก็เพื่อจำแนกธรรมออกเป็น ส่วนๆ ให้เห็นความต่างกันชัดเจน ว่ารูปขันธ์หมายความถึง รูปทุกรูปเป็นรูปขันธ์เท่านั้น จะเป็นนามขันธ์ไม่ได้ เป็นฝ่ายของรูปเท่านั้นเอง ถ้าไม่ใช่คำว่า รูปขันธ์ จะให้คำว่ารูปธรรมได้ไหม ได้ เพราะเหตุว่าหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ ถ้าไม่ใช้คำว่ารูปขันธ์ ไม่ใช่คำว่ารูปธรรม ใช้คำว่ารูปธาตุได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นสภาพที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพซึ่งเป็นเพียงธาตุแต่ละอย่างซึ่งไม่ใช่ใคร ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละอย่าง

    เรื่องธรรม ถ้าเข้าใจจริงๆ แล้วจะเห็นได้ว่า เพราะความเข้าใจเราจะไม่สงสัยเลย ถ้าใครพูดถึงรูปก็เข้าใจ ใครพูดถึงรูปขันธ์ก็เข้าใจ ใครพูดถึงรูปธาตุก็เข้าใจ ใครพูดถึงรูปธรรมก็ต้องเข้าใจว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ แต่สิ่งนั้นไม่รู้อะไรเลย รูปที่มีใจครองกับรูปที่ไม่มีใจครอง รูปนั้นต่างกันไหม

    ผู้ฟัง รูปนั้นไม่ต่าง

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง รูป คือ รูป

    ท่านอาจารย์ รูปก็ต้องเป็นรูป ไม่ว่าจะมีใจครอง ไม่มีใจครอง จะเปลี่ยนลักษณะไม่ได้

    ผู้ฟัง ทำไมต้องใช้คำว่า ใจครอง

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ามีจิตเกิดร่วม หรือว่าเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน อย่างรูปของคุณศีลกันต์ ก็อ่อนแข็งถ้ากระทบสัมผัส โต๊ะนี้ก็อ่อนแข็ง แต่ที่จะแยกความต่างว่า ๒ อย่างต่างกันที่รูปนี้ ไม่มีจิตเกิดร่วมด้วยเลย แต่รูปนี้มีจิตเกิดที่รูปนั้น จิตจะไม่เกิดที่อื่นเลยในภูมิที่ต้องอาศัยรูปเกิด ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องเกิดที่รูปทุกขณะจิตไป จะเกิดนอกรูปไม่ได้ ขณะนี้ไม่มีจิตที่ลอยอยู่ตามนี้ ตามโต๊ะ ตามเก้าอี้ ไม่มี

    จิตในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือ มีรูปเกิดร่วมด้วย ต้องเกิดที่รูป อย่างจิตเห็น เกิดที่ไหน คำตอบคำเฉลยมีแล้ว จิตทุกขณะทุกประเภทในภูมิที่มีขันธ์ ๕ คือในภูมิที่มีรูปด้วย ต้องเกิดที่รูป ไม่ใช่เกิดนอกรูปที่ไม่มีใจครอง นี่คือรูปที่ไม่มีใจครอง แต่นี้คือรูปที่มีใจ คือ จิตเกิดด้วย เกิดที่รูปนั้นด้วย เพราะฉะนั้น จิตทุกประเภทต้องเกิดที่รูป จิตเห็นเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่ตา

    ท่านอาจารย์ จิตเห็นเกิดที่ตา จิตเห็นดับที่ไหน ดับที่ตาด้วย เร็วมาก ขณะนี้จิตเห็นเกิดขึ้นแล้วดับแล้ว จิตได้ยินเกิดขึ้นที่ไหน ที่หู ดับที่ไหน ดับที่หู นี่คือความรวดเร็วว่าทันทีที่เกิดก็ดับ จิตได้กลิ่นเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่จมูก

    ท่านอาจารย์ ทำไมบอกว่าเกิดที่จมูก

    ผู้ฟัง เพราะว่ามันสัมผัสที่จมูก

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าถ้าไม่มีจมูก จิตนี้จะมาเกิดขึ้นรู้กลิ่นที่กระทบที่จมูกไม่ได้เลย เพราะว่ากลิ่นเองกระทบจมูกตรงไหนก็ดับตรงนั้น จิตรู้กลิ่นตรงไหนก็ดับตรงนั้น

    นี่คือขณะจิตที่แสนเร็ว เพราะความไม่รู้ จึงไม่รู้เลยว่าจิตนั้นเกิดดับ เพราะความเร็ว จิตที่ลิ้มรสเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง เกิดที่ลิ้น

    ท่านอาจารย์ ดับที่ไหน

    ผู้ฟัง ที่ลิ้น

    ท่านอาจารย์ จิตที่รู้เย็นหรือร้อน ตรงไหน เกิดตรงไหน

    ผู้ฟัง เกิดตรงที่กาย

    ท่านอาจารย์ ที่รู้เย็นหรือร้อน แล้วก็ดับตรงไหน

    ผู้ฟัง ดับตรงที่มันเกิด

    ท่านอาจารย์ นอกจากจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีจิตอื่นๆ อีกไหม

    ผู้ฟัง ก็มีที่ใจ

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ มีจิตอื่นๆ อีกมากไหม

    ผู้ฟัง มากมาย

    ท่านอาจารย์ มากกว่า แสดงให้เห็นว่า เห็นนี่สั้นมาก แล้วคิดสารพัดคิด ได้ยินก็สั้นมากแล้วคิดเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ก็แสดงให้เห็นว่า มีจิตประเภทอื่นๆ เกิดมากกว่าจิตเห็นจิตได้ยิน แล้วก็จิตที่คิดนึกเกิดที่ไหน

    ผู้ฟัง ที่ใจ

    ท่านอาจารย์ ใจตรงไหน ในภูมิที่มีขั้น ๕ จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้ ต้องเกิดที่รูป เพราะฉะนั้น จิตที่คิดนึกเกิดที่ไหน หรือตรงไหน

    ผู้ฟัง รู้สึกยังไม่รู้จักศัพท์ คือที่เกิดเขามีภาษาพระมีคำเรียก เรียกว่า วัตถุ วัตถุนี้แปลว่า ที่เกิด ที่อยู่ ที่อาศัย ที่เกิด มีอยู่ ๖ อย่าง จักขุวัตถุ คือ ปสาทรูปที่ตาเป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณ คือเห็น

    โสตวัตถุ คือ ปสาทรูปคือหูเป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ คือได้ยิน

    ฆานวัตถุที่จมูก คือ ฆานปสาทรูปเป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ คือได้กลิ่น

    ชิวหาวัตถุ คือชิวหาปสาทรูป คือที่ลิ้นเป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณ คือรู้รส

    กายวัตถุ คือที่กาย กายปสาทรูปเป็นที่เกิดของกายวิญญาณ รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เกิดที่กาย

    แล้วยังมีอีกอันหนึ่ง วัตถุเหมือนกันเรียกว่า หทยวัตถุ ที่เรารู้กันว่า หทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิต นอกจากที่ว่ามานี้ นอกจากตา หู จมูก ลิ้น กาย เกิดตรงนั้นหมด

    ท่านอาจารย์ หทยวัตถุเกิดที่ไหน คือ ถ้าตอบว่าใจ มี ๒ อย่าง ใจที่เป็นรูป คือ หัวใจ ใจที่เป็นนามคือจิต ซึ่งไม่ใช่หัวใจ แต่เป็นธาตุรู้ อย่างเห็น ไม่ใช่ตัวหัวใจเห็น แต่เป็น สภาพที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา คนตายไม่มีจิต ถึงมีตาก็ไม่เห็น เพราะฉะนั้น เห็นเป็นธาตุอีกชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ซึ่งเห็น กำลังเห็น เหมือนเสียงไม่รู้อะไรเลย แต่มีจิตที่กำลังได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏ คนตายก็ไม่ได้ยิน เพราะคนตายไม่มีจิตแล้ว เพราะฉะนั้น จิตเป็นนามธรรมซึ่งมองไม่เห็นเลย แต่ว่ามีคุณลักษณะสมบัติ ที่ว่า ไม่ว่าจะเกิดขึ้นขณะใด ต้องเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด รู้ที่นี่ไม่ใช่ว่าไปเข้าใจตามความเป็นจริง เพียงแต่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นบ้าง ให้ได้ยินบ้าง ให้ได้กลิ่นบ้าง ให้ได้รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งภาษาธรรมใช้คำว่า อารมณ์ หรือ อารัมมณะ สิ่งที่ปรากฏ

    เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ของจิตเป็นอารมณ์ แต่ไม่ตรงกับภาษาไทย อารมณ์ คือ เพียงเป็นสิ่งที่จิตรู้ อย่างเสียงเป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณ เป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน ขณะนี้เสียงในป่าไม่ปรากฏ แต่เสียงที่กำลังปรากฏ เพราะจิตกำลังได้ยินเสียง เสียงนี้จึงปรากฏ เพราะฉะนั้น เสียงที่จิตกำลังได้ยินเป็นอารมณ์ อารัมมณะของจิต

    ถ้ามีจิตต้องมีอารมณ์คู่กัน ทีนี้ ภาษาไทยเราบอกว่า วันนี้อารมณ์ดี พอจะทราบได้ไหมว่า เราพูดถึงปลายเหตุ คือเพราะเราเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี จิตใจเราสบาย เราก็บอกว่าวันนี้อารมณ์ดี แต่จริงๆ แล้วต้องตรงตามเหตุ คือว่า อารมณ์ดีในภาษาไทย เพราะจิตรู้สิ่งที่ดีทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ต้องเข้าใจความหมายให้ชัดเจนขึ้น อย่าได้ปนกับภาษาไทย คุณบง หทยวัตถุคืออะไร

    ผู้ฟัง หทยวัตถุคืออะไร ถ้าเผื่อว่าอยู่ในโลกนี้ เราก็ เรียกว่าหัวใจ เกิดที่หัวใจ

    ท่านอาจารย์ หทยวัตถุเป็นอะไร

    ผู้ฟัง หทัยวัตถุเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง ไม่ใช่จิต แน่นอนไม่ใช่จิต แต่ว่าจิตมาเกิดที่หทยวัตถุ

    ส . แล้วทำไมเรียกว่า หทยวัตถุ

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นที่เกิดของจิต

    ท่านอาจารย์ ที่ชื่อว่า หทัยวัตถุ เพราะเหตุว่าเป็นที่เกิดของจิต เว้น ๑๐ ดวง จิต ๑๐ ดวง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เหลือ ๗๙ ดวง

    ท่านอาจารย์ เกิดที่หทยวัตถุ จริงๆ แล้วไม่ใช่ ๗๙ เพราะต้องเอาอรูปพรหมออก

    ผู้ฟัง ออกไปอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะอรูปพรหมไม่มีรูปเลย

    ผู้ฟัง ออกไป ๔

    ผู้ฟัง ธรรม คือมิติที่เราสัมผัสได้ ในขณะเดียวกันมันมีความจริงอีกอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นมิติที่เราสัมผัสไม่ได้ ๑ อย่างทางวิทยาศาสตร์ เรื่องเวลา อันที่ ๒ ในความเชื่อของต่างๆ ที่ว่า มีสวรรค์ มีนรก ก็อาจจะคิดว่าจริง มีชาติก่อน ชาติหน้า

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ยังไม่ปรากฏในที่นี้ เพราะฉะนั้น จะให้เราเข้าใจทันทีโดยไม่รู้ขณะนี้ไม่ได้ แม้ว่าจะพูดเรื่องสวรรค์ นรก แต่ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเข้าใจสิ่งนี้แล้วก็จะหมดความสงสัยในเรื่องเวลา ในเรื่องสวรรค์ ในเรื่องนรก ต่อเมื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏนี้จริงๆ สิ่งอื่นยังไม่มี ยังไม่ปรากฏ กับสิ่งที่กำลังปรากฏ ความรู้ที่ถูกต้อง ความเข้าใจที่ถูกต้องจะรู้สิ่งไหน สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ หรือสิ่งที่ยังไม่มาถึง ยังไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง กระบวนการเรียนก็ต้องเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองสามารถสัมผัสได้ก่อน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องขณะนี้ ถ้าเข้าใจขณะนี้ได้ หมดความสงสัย เรื่องตายเรื่องเกิด เรื่องสวรรค์ เรื่องนรก เรื่องชาติหน้า ชาตินี้ แสดงว่าก่อนอื่นต้องเข้าใจสิ่งนี้ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่เห็นก็เห็น ได้ยินก็ได้ยิน ได้กลิ่นก็ได้กลิ่น ก็รู้ว่ามันจริง แต่ไม่รู้ว่ามันจะช่วยอะไรได้ ไม่เห็นเป็นประโยชน์เลย

    ท่านอาจารย์ ไม่เห็นได้เงิน ได้ทอง ไม่ได้ลาภ ได้ยศ ไม่มีใครให้เหรียญตรา แต่ว่าถ้าเราเป็นผู้ที่ต้องการที่จะรู้สัจจะ สัจจะ คือ ความจริง เราจะไปแสวงหาความจริงตรงไหน ถ้าไม่ใช่ตรงนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้ว่า เราไม่รู้ แล้วเราควรจะรู้ไหม ในเมื่อเราเกิดมาเราก็เห็น แต่เราก็ไม่รู้ความจริงของเห็น เราเกิดมาเราก็ได้ยิน แต่เราก็ไม่รู้ความจริงของได้ยิน ข้อสำคัญคือไม่รู้จักตัวเองเลยว่า แท้ที่จริงเป็นธรรมแต่ละอย่าง ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ยังไม่ใช่รู้ความจริงหรือ ที่เห็นกัน ทุกคนก็เห็น ยังไม่ใช่เป็นความจริงหรือ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น มีการเห็น หรือความรู้ที่เรียกว่า ๓ อย่าง คือ เห็นที่เป็นวิญญาณหรือจิต อย่างหนึ่ง เห็นที่เป็นสัญญาหรือความจำอย่างหนึ่ง แล้วเห็นที่เป็นปัญญาอีกอย่างหนึ่ง ต่างกัน

    ผู้ฟัง ก็เป็นแค่เห็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าเห็นธรรมดาอย่างนี้ เป็นจิตชนิดต่างๆ ประเภทต่างๆ หรือใช้คำว่าวิญญาณก็ได้ ไม่ต้องกลัวไม่ใช่ผี แต่วิญญาณหรือจิตเป็นความหมายอย่างเดียวกัน จะใช้คำว่าวิญญาณก็ได้ มโนก็ได้ มนัสก็ได้ หทัย บัณฑระได้ทั้งนั้น หมายความถึงนามธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น เราจะไม่ลืมคำที่เราได้ยินแต่ละคำ อย่างเราได้ยินคำว่า ธรรม เราได้ยินคำว่าปรมัตธรรม เราได้ยินคำว่า นามธรรม ได้ยินคำว่า รูปธรรม ไม่ต้องไปจด หรือไปคิดอะไรเลย ที่มีอยู่แค่นี้ พยายามเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะไหนเป็นนามธรรม ขณะไหนเป็นรูปธรรม แล้วเราก็จะก้าวต่อไปด้วยความเข้าใจของเราเองซึ่งไม่ใช่อาศัยกระดาษ ไม่ใช่อาศัยตำรา ถ้าเราไปจด แล้วเราจะเข้าใจได้อย่างไร แต่ว่าเวลานี้เราเข้าใจแล้วมีธาตุต่างกัน ๒ อย่าง อย่าลืม ธาตุหนึ่งเป็นธาตุที่ไม่รู้อะไรเลย แข็งใครจะไปกระทบสัมผัส จะเอาอะไรไปวางทับ แข็งก็ไม่รู้ แล้วมีสภาพที่รู้แข็ง พอกระทบสัมผัสก็รู้ว่าสิ่งนี้แข็ง

    สภาพรู้หรือธาตุรู้นั้นก็เป็นนามธาตุ นี่คือความรู้ธรรมดาทั่วไป เมื่อจิตหรือวิญญาณมีอยู่ที่ใดก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ในขณะนั้น อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า สิ่งที่ไม่รู้อะไรเป็นสิ่งที่มีจริง ทุกคนยอมรับ อย่างแข็ง มีไหม กระทบสัมผัสต้นไม้เราเรียกว่าต้นไม้ แต่จริงๆ แล้วแข็งปรากฏ กระทบสัมผัสช้อน จริงๆ แล้วแข็งปรากฏ ไม่ว่าอะไรก็ตามมีลักษณะที่แข็งปรากฏ เพราะฉะนั้น เมื่อแข็งเป็นรูปธาตุ ไม่รู้อะไรเลย แต่นามธาตุมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นขณะใดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดขณะนั้น

    นามธาตุจะรู้อะไร ในเมื่อมีรูปธาตุปรากฏ เพราะฉะนั้น นามธาตุก็รู้รูปธาตุนั่นเอง คือทางตา นามธาตุก็คือกำลังเห็นรูปธาตุที่ปรากฏ ทางหู นามธาตุก็กำลังได้ยินเสียงรูปธาตุที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น นามธาตุจึงรู้รูปธาตุ ที่รู้ว่ามีรูปต่างๆ มากมายในขณะนี้ ก็เพราะมีนามธาตุ ใช้คำว่านามธาตุก็ได้ ใช้คำว่าจิตก็ได้ ต่อไปจะรู้ว่านามธาตุไม่ใช่มีแต่จิตอย่างเดียว ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นนามธาตุที่เกิดพร้อมกันอีกอย่างหนึ่งคือ เจตสิก

    ผู้ฟัง คุณนิภัทรถามว่า รู้เรื่องเห็น เรื่องได้ยิน ประโยชน์ อยู่ตรงไหน เรื่องเข็งอย่างนี้ ประโยชน์มันอยู่ตรงไหน ยากอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าบอกว่ารู้จักตัวเอง ชักสนใจขึ้นมาหน่อยไหม

    ผู้ฟัง อย่างนี้สนใจ

    ท่านอาจารย์ แล้วยังกว้างออกไปอีก รู้จักโลกหมดเลยทุกโลก ทุกจักรวาล

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ยิ่งสนใจมาก แต่ถ้าบอกว่า มาศึกษาเรื่องแข็ง เรื่องอ่อน ไม่ไหว

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่ศึกษาเรื่องนี้ ก็จะทราบเลยว่า ยังไม่รู้จักโลก ต่อเมื่อรู้ตรงนี้เมื่อไร ชื่อว่ารู้จักโลกเมื่อนั้น รู้จักโลกหรือยัง บางส่วนคืออะไรที่รู้จัก

    ผู้ฟัง รู้จักว่า ตัวเองคิดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คิดดับไหม

    ผู้ฟัง ไม่คิด

    ท่านอาจารย์ ความคิดดับไหม

    ผู้ฟัง ไม่ ถ้าตราบใดที่คิดได้ ก็จะดับได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คิดกับเห็น เหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง เหมือนกันก็ได้ เพราะว่าคิดนี้ก็เห็นในใจ แต่ว่าเห็นก็คือเห็น

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังเห็น เป็นคิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เห็นตอนนี้ เห็นด้วยตา

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ถามว่าเห็นด้วยอะไร ขณะที่เห็นเดี๋ยวนี้เป็นคิด หรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นด้วย

    ท่านอาจารย์ พร้อมกันหรือ นี่คือความเข้าใจผิด พร้อมกันไม่ได้เลย คิดโดยไม่เห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็นไม่ใช่คิดแล้ว

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ตอบในแง่ของคำจำกัดความ

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริง เห็นไม่ใช่คิด เห็นคือเห็น คิดคือคิด

    ผู้ฟัง เห็นคือเห็นด้วยตา แต่ว่าเห็นอีกอย่าง คือ การที่เห็นในใจ

    ท่านอาจารย์ เห็นคือเห็น คิดคือคิด ได้ยินกับเห็นเหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือน ได้ยินกับคิดเหมือนกันไหม เห็นกับคิดเหมือนกันไหม

    ผู้ฟัง ถ้าจะอยู่ในคำจำกัดความที่ตรงตัวก็ต้องไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ ความจริงไม่เหมือน ไม่ใช่อันเดียวกัน ไม่ใช่ขณะเดียวกัน แต่เร็วมาก จนกระทั่งทำให้คิดว่า เป็นขณะที่ทั้งเห็นทั้งได้ยินด้วย นี่คือความรวดเร็วของจิตแต่ละชนิด ซึ่งเกิดดับสลับกันเร็วมาก ซึ่งจิตเห็นต้องอาศัยจักขุปสาท จิตได้ยินต้องอาศัยโสตปสาท ไกลกันมากเลย จากตาไปถึงหู มีอากาศธาตุแทรกคั่นอย่างละเอียดยิบ

    จะเป็นเหตุเดียวกันที่จะทำให้ทั้งเห็น และได้ยินพร้อมกันไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าถ้าปราศจากจักขุปสาท รูปที่สามารถกระทบกับสีสันวัณณะต่างๆ สิ่งที่ปรากฏ การเห็นก็เกิดไม่ได้ ต้องมีรูปนี้ สำหรับคนมีจักขุปสาท คือคนตาไม่บอดเท่านั้นที่จะเห็น แต่ถ้าคนนั้นมีโสตปสาท ยังได้ยิน ถึงแม้ว่าตาบอด

    นี่แสดงให้เห็นว่า จิตแต่ละขณะไม่ใช่ประเภทเดียวกัน เกิดดับสืบต่อห่างกันมากด้วย ถ้าเรียนจะรู้ว่า ที่ใช้คำว่า อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างจริงๆ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแต่ละอย่างจริงๆ แต่เพราะความเกิดดับสืบต่ออย่างเร็วมาก จึงไม่มีผู้ใดที่จะสามารถรู้แจ้งได้ว่า เป็นธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดดับ จนกว่าจะได้ฟัง แล้วปัญญาเจริญขึ้นเป็นขั้นๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงนี้ได้

    ผู้ฟัง ฟังแล้วผมเข้าใจว่า ในขณะที่เห็นกับได้ยิน มันเกิดพร้อมกัน แต่ว่าจากธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ แยกกันโดยเด็ดขาดเลย แต่ว่าเราศึกษาให้เข้าใจได้ว่า ธรรมแต่ละอย่าง ในขณะที่เห็นเหมือนได้ยิน มันเหมือนกับพร้อมกัน แต่ความจริงแล้วมันแยกโดยเด็ดขาด เราศึกษาให้เข้าใจได้ แต่ว่ายังคงไม่ประจักษ์ เพราะว่าผมเห็นกับได้ยินทีไร ผมก็มีความรู้สึกว่า มันพร้อมกันทุกที

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะยอมเห็นด้วยไหมว่า จิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วแสนเร็วจนทำให้ปรากฏเสมือนว่าพร้อมกัน นี่คือความเร็วมาก ถ้าช้าๆ ก็รู้ว่าต่างกัน แต่เพราะเร็วที่สุด เร็วจนนับประมาณไม่ได้ว่าเร็วอย่างไร จึงทำให้ปรากฏเสมือนว่าพร้อมกัน

    ผู้ฟัง ผมอยากจะให้ท่านอาจารย์สุจินต์ได้กรุณาอธิบายเจริญมรรคมีองค์ ๘ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้ชื่อศัพท์ เจริญ อบรมให้มีมากขึ้น มรรคคือหนทาง หนทางไปไหน เพราะว่าเราเกิดมาแล้วเราไม่รู้เลยว่า เรากำลังเดินทาง ถ้าเป็นอกุศลกรรมนำเราไปสู่อบายภูมิ เช่น เกิดในนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าเป็นกุศลกรรม คือ ทางที่เราไป กำลังทำอยู่ขณะนี้ ก็เป็นทางที่ไปสู่สุคติภูมิ แต่พระพุทธเจ้าท่านเดินหนทาง ที่ทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ซึ่งเราไม่เคยคิดเลยว่า เราจะต้องรู้สิ่งนี้ เพราะเหตุว่าเราไปโรงเรียน เราก็เรียนวิชาการต่างๆ ไม่มีใครที่โรงเรียนมาสอนเราว่า เราจะต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขณะนี้ เพราะฉะนั้น บางคนก็ถาม อย่างเมื่อวันก่อน คุณศุกลก็ตั้งประเด็นขึ้นมาว่า มีประโยชน์อะไรที่จะรู้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งทุกคนมีแค่ ๖ ทาง ในวันหนึ่งๆ ลองหาดูสิว่า นอกจากเห็น นอกจากได้ยิน นอกจากได้กลิ่น นอกจากลิ้มรส นอกจากรู้สิ่งที่กำลังกระทบสัมผัสกาย เช่น แข็งบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง แล้วใจที่กำลังคิดนึกเรื่องราวต่างๆ แม้ในขณะนี้ซึ่งทุกคนก็กำลังคิด

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า มีประโยชน์อะไรที่จะรู้เพียงชีวิตในวันหนึ่งๆ ซึ่งไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ทราบว่าคุณประดลเดชคิดว่ามีอย่างอื่นอีกไหม นอกจากตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่กำลังคิดนึก ๖ ทาง โลกไหนก็ได้ เมื่อวานนี้ก็ได้ เมื่อไรก็ได้ ยังมีทางอื่นอีกไหม

    ผู้ฟัง เท่าที่ผมพอจะได้ยิน มันคงเกี่ยวกับอารมณ์ คงไม่มีอีก ก็ลึกซึ้งไปอีก คงไม่มีแล้ว

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าขณะที่ทางตาเห็น กำลังได้กลิ่น กลิ่นปรากฏ กำลังลิ้มรส ซึ่งขณะนี้ไม่ได้ลิ้ม รสก็ไม่ปรากฏ แต่ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน เพราะฉะนั้น เวลาที่ลิ้มรสก็เป็นชั่วขณะจิตหนึ่งจริงๆ กำลังที่กระทบสัมผัสก็ต่างกันไป ส่วนทางใจ ไม่ต้องเห็นไม่ต้องได้ยิน ไม่ต้องได้กลิ่น ไม่ต้องลิ้มรส ใจก็คิดนึกได้ วันหนึ่งๆ หรือว่าทุกวันก็ไม่พ้นจาก ๖ ทาง

    เพราะฉะนั้น ๖ ทางนี้ สำคัญอย่างไร สำคัญเพราะเหตุว่าสุข ทุกข์ ของทุกคน เกิดเพราะทางหนึ่งทางใด ใน ๖ ทางตลอด อย่างเมื่อกี้นี้ก็ มองเห็นดอกไม้สวย มีคนเอาแจกันมา สำหรับทางตาต้องการเห็นสิ่งที่สวยๆ เพชรนิลจินดาทั้งหมด เสื้อผ้าที่ทุกคนใส่เวลานี้ ตามใจชอบ หมายความว่ามีความยินดีพอใจในสิ่งใดทางตา ก็แสวงหาสิ่งนั้น ทางหูก็เหมือนกัน เราแสวงหาเสียง ทางจมูกก็แสวงหากลิ่น ทางลิ้นก็แสวงหารส ทางกายก็แสวงหาสิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจก็คิดนึกเรื่องราว เช่น เราดูโทรทัศน์ มีแต่สีขาวๆ ดำๆ แต่ทำไมเราตื่นเต้น เราหัวเราะ เดี๋ยวเราก็พลอยโกรธคนนั้น เกลียดคนนี้ในโทรทัศน์

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567