ปกิณณกธรรม ตอนที่ 337


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๗

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง เมื่อตอนช่วงเช้าก็มีการสนทนากัน ในเรื่องลักษณะเหมือนกับว่า ผู้ที่มาฟังธรรมที่นี่ ที่สนใจที่ท่านอาจารย์บรรยาย เหมือนกับว่ายังคลุมเครืออยู่ว่า จะถูกหรือไม่ แต่สำหรับดิฉันมีความคิดว่า ท่านที่มาที่นี่เริ่มเข้าใจแล้วว่า ความต่างกันที่ท่านอาจารย์ได้นำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้แล้วท่านอาจารย์ก็นำมาบรรยาย คิดว่าตรงนี้เป็นช่องทางที่เขาคิดว่าใช่แล้ว สำหรับดิฉันคิดอย่างนี้ แล้วก็สหายธรรมหลายคนก็คงจะคิดว่า ตรงนี้เป็นทางที่เริ่มถูกแล้ว เช่นอย่างสมมติว่า ฟังทั่วๆ ไป บอกว่า อย่าผิดศีล ๕ นะ สอนแค่ตรงนี้อย่าผิดศีล ๕ นะ จะ “อย่า” ได้อย่างไร มันก็มีความเป็นตัวตน ตรงนี้ดิฉันก็ว่า มันก็จะเข้าท่าแล้ว ที่บอกว่าอย่าผิดศีล ๕ แต่พอมาฟังท่านอาจารย์แล้ว ขณะใดดีหรือชั่วก็รู้ ขณะนั้น แล้วก็รู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็ไม่ใช่เรา รู้สึกที่ได้ฟังท่านอาจารย์มา ท่านอาจารย์ไปไหนก็พยายามติดตามถามอยู่เรื่อยๆ เพราะดิฉันคิดว่า คำสั่งสอนตรงนี้มันตรง ดิฉันจะกราบอนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์ต่อไปเลย สำหรับที่ท่านอาจารย์ก็ได้กรุณาพูดมาถึงที่ว่า คน ก็คือบัญญัติ หมายความว่า คำว่าคนก็คือบัญญัติ คนจริงๆ คือปรมัตถธรรม ท่านอาจารย์ก็กรุณายกตัวอย่างว่า อย่างบอกว่า เห็นคน ไม่ใช่ตัวคนมากระทบที่จักขุปสาท มีแต่สีที่มากระทบที่จักขุปสาท แสดงว่าสีอยู่ที่ตัวคนนั้น ใช่ไหม ที่มากระทบที่จักขุปสาท เพราะฉะนั้น ตัวคนก็คือปรมัตถธรรม ตรงนี้หรือเปล่า หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ แม้ว่าใครจะไม่รู้จัก หรือว่าไม่เรียกชื่อ หรือว่าจะเรียกชื่ออะไรก็ตามแต่ ก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ ได้ เช่นความโกรธ ก็มีลักษณะซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง ขุ่นเคือง หยาบกระด้าง ประทุษร้าย ก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่ง เมื่อเกิดเมื่อไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น จะใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย หรือไม่เรียกอะไรเลย หรือไม่รู้ แต่สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสภาพธรรมนั้น โดยที่ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นั่นคือความหมายของปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีจริงๆ

    ปรมัตถธรรมมี ๓ คือ จิต๑ เจตสิก๑ รูป๑ นิพพาน๑ ถ้าพูดถึงปรมัตถธรรม ๔ ต่างกันเป็น ๔ ประเภท คือ จิตไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน เจตสิกไม่ใช่จิตไม่ใช่รูป ไม่ใช่นิพพาน รูปก็ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่นิพพาน นิพพานก็ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม จริงๆ มี ๔ แต่ใครจะรู้ ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสรู้ เพราะเมื่อเราเกิดมาเกิดมาด้วยความไม่รู้ แล้วก็มีความจำในสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สิ่งใดก็ตามที่กระทบตา เห็นแล้วไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น คิดต่อเป็นเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตามากมาย เมื่อกี้นี้รับประทานอะไร มองเห็น คิดหรือเปล่า หรือเห็นก็เห็น คิดแล้วยังรู้จักชื่อด้วย รู้แล้วก็ยังรู้วิธีทำด้วย หลายอย่างที่ติดตามสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่ไม่ใช่จิต เจตสิก รูป เป็นเรื่องราวของความคิดนึก เราใช้คำว่าบัญญัติ หมายรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร แต่ว่าลักษณะจริงๆ ก็คือปรมัตถธรรมซึ่งเกิดดับอย่างเร็วมาก เกินกว่าใครที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญาสามารถจะรู้การเกิดดับของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ แต่เป็นสัจธรรม

    การฟังพระธรรม ต้องรู้จุดประสงค์ด้วย ว่าไม่ใช่ฟังเปล่าๆ หรือว่าฟังด้วยความพอใจที่อยากจะฟัง แต่ฟังเพื่อมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่มีจริงๆ แล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงนั้น

    เพราะฉะนั้น เราก็จะรู้จุดประสงค์ของการฟังเพิ่มขึ้นว่า ฟังเพื่อเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ หรือว่าคำชมต่างๆ แต่ฟังเพื่อมีความเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งทุกชาติเป็นอย่างนี้ แต่ความเห็นถูกจะมากจะน้อยในชาติหนึ่งแค่ไหน หรือว่าในบางชาติอาจจะไม่มีเลย เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกของบัญญัติ แล้วก็คิดว่าบัญญัติจริง แต่ลักษณะที่มีจริงๆ ต้องเป็นจิต หรือ เจตสิก หรือรูป

    ผู้ฟัง สภาพธรรมปรากฏอยู่ตลอดเวลา ตรงนี้ก็เป็นเรื่องอัศจรรย์แล้วสำหรับดิฉัน เพราะว่าสภาพธรรมปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้รู้เลยว่า เป็นสภาพธรรมอะไร ทีนี้บางครั้งท่านอาจารย์ก็กล่าวบอกว่า สติเกิดระลึกทันที ตรงนั้นเป็นการเตือนแล้วว่า สภาพธรรมอะไรปรากฏระลึก ดิฉันว่า มันก็ไม่เย็น มันก็ไม่แข็ง ขณะนั้นได้เข้าใจเลยว่า เป็นลักษณะของโมหะ ท่านอาจารย์ คือลักษณะของมันไม่รู้อะไรเลย ตรงนี้จะเป็นเรื่องที่ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ธรรมทั้งหมดทุกคำที่ได้ยิน เราไม่ได้รู้จักตัวจริงเลย จนกว่าเมื่อไรที่สภาพธรรมนั้นเกิดปรากฏ แล้วก็รู้ตรงลักษณะนั้น แล้วก็จะรู้ว่า คือสิ่งที่เราเรียนมามากมายนั่นเอง เช่น ความติดข้อง ความเพลิดเพลินพวกนี้อยู่ในหนังสือเป็นโลภะ แต่เวลาที่โลภะเกิด หายไปไหน ความรู้ ที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมซึ่งมีลักษณะอย่างนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การศึกษาจึงต้องศึกษาเพื่อเข้าใจถูก เห็นถูกในตัวธรรมซึ่งมีจริงๆ เพราะฉะนั้น เราก็จะรู้ได้ว่า ไม่ว่าจะพูดถึงนิวรณธรรม โดยชื่อ โดยพยัญชนะต่างๆ กามฉันทนิวรณ์ หรือว่าพยาปาทนิวรณ์ หรือว่าคำใดๆ ในพระไตรปิฎก ทั้งหมดมีจริงๆ อยู่ที่ว่า เมื่อเกิดขึ้น และดับไปเร็วมาก จึงไม่รู้ จนกว่าสติสัมปชัญญะ หลังจากที่ฟังแล้วเข้าใจ พอสภาพธรรมใดเกิดปรากฏก็รู้ตรงลักษณะนั้น

    นี่คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ตัวธรรมว่า ไม่ได้อยู่ในหนังสือ แต่ทุกชื่อในพระไตรปิฎกอยู่ที่สภาพธรรมทั้งหมด ความสงสัยมีจริงๆ เมื่อไร นั่นคือคำที่ใช้ในพระไตรปิฎก เป็นภาษาบาลีว่าอะไร ก็เป็นเรื่องที่ว่ามีสภาพธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง พูดถึงเรื่องความละเอียดของธรรม อย่างลักษณะของทุกข์กายกับโทมนัส ละเอียด

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง ละเอียดมาก เกิดแล้วดับ เร็วมากด้วย ละเอียดมากด้วย เพราะฉะนั้น การศึกษาก็เพื่อที่จะให้เข้าถึงความรู้ถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มีปัจจัย เกิดแล้วก็ดับ อีกนานไหมกว่าจะรู้ หรือใครคิดว่าเร็ว มีท่านที่คิดว่าเร็วไหม

    ผู้ฟัง โดยสภาพของจิตมันจะซัดส่ายไป ที่นั่นบ้าง ที่นี่บ้าง รวดเร็วมาก ถ้าหากว่าเรา เอาจิตของเรามาจับอยู่ที่เข้า พุท ออก โธ หรือหายใจเข้า สัมมา หายใจออก อะระหัง อะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นการควบคุมจิตให้อยู่กับที่ เมื่อจิตอยู่กับตัวมากขึ้น ก็มีโอกาสที่เกิด กุศลจิต ก็น่าจะมีมากขึ้นด้วย ผมคิดว่าน่าจะมีอุบายในลักษณะนี้

    ท่านอาจารย์ คงจะห้ามความคิดของใครไม่ได้เลย เพราะว่าคนที่คิดอย่างนี้มี แล้วก็ได้กระทำตามความคิดนั้นด้วย แล้วที่คุณวิจิตรพยายามที่จะหาประโยชน์จากความคิดอย่างนั้น แล้วคิดว่าจะมีประโยชน์อะไรบ้าง เช่นคุณวิจิตรบอกว่า อย่างน้อยก็ผูกจิตไว้ ไม่ให้ไปอื่น แล้วผูกไว้ เราจะสามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้หรือเปล่า ผูกไปทั้งวันก็ไม่สามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ได้เลย เพราะทรงแสดงไว้ว่า มีหนทางเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อมีหนทางเดียว แล้วเราก็ยับยั้งความคิดของคนอื่นไม่ได้ เช่น คิดจะผูกจิตไว้ตรงนี้ ไม่ให้ไปคิดเรื่องอื่นเพื่อที่จะได้รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่คนนั้นลืมหนทางเดียวว่า หนทางเดียวไม่ใช่ไปผูก ไม่มีสอนไว้เลยว่า ให้ไปผูกไว้ แต่ใครจะมีกุศลจิต หรืออกุศลจิตเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ต้องมีความมั่นคง ด้วยเหตุนี้ อริยสัจ ๔ จึงมี ๓ รอบ กำกับไว้ไม่ให้หลงผิดว่าคนที่ยังไม่ถึงสัจจญาณ จะไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เลย

    สัจจญาณ คืออะไร สัจจะ ความจริง ญาณ คือ ปัญญา ปัญญาที่เข้าใจถูกจริงๆ ในอริยสัจ ๔ ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ถ้ามีความเข้าใจอย่างมั่นคงอย่างนี้ ก็จะไม่ไปทำอย่างอื่น ที่จะไปผูกอะไรไว้ เพราะว่าผูกทั้งวันก็จะไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่มีสติสัมปชัญญะ ซึ่งข้อความที่แสดงไว้หนทางเดียว คือ มรรคมีองค์ ๘ หรือองค์ ๕ เมื่อวิรัติเจตสิกไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน แล้วมรรคนั้นคือสติปัฏฐานนั่นเอง ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็ไม่ใช่มรรค เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน ก็คือขณะที่ให้ทานก็มีสติ แต่ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะที่วิรัติทุจริตก็มีสติ จึงวิรัติทุจริต แต่ก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงหนทางเดียว ซึ่งใครก็ปฏิเสธไมได้ ไม่ว่าใครจะไปทางไหน หลงไป หรือว่าไปผูกอะไรไว้ทั้งวัน อย่างไรก็ตามแต่ แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เพราะไม่ใช่หนทาง ซึ่งหนทางมีหนทางเดียวเท่านั้น คือ เมื่อสภาพธรรมใดปรากฏ ไม่ใช่บังคับให้สติไปรู้ ไม่ใช่พยายามให้เอาสติไปจดจ้องที่หนึ่งที่ใด เพราะขณะนั้นไม่เข้าใจความเป็นอนัตตา ไม่รู้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทำไมขณะนี้สติสัมปชัญญะไม่เกิด เพราะเหตุว่าไม่มีปัจจัยพอที่จะเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แต่ถ้าอบรมอย่างมั่นคง แล้วก็ได้ยินได้ฟัง ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ขณะนี้เป็น ธรรม เป็นเครื่องที่จะพิสูจน์ได้ว่า มีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏระดับไหน ถ้ายังไม่เข้าใจ แล้วก็ไปนั่งผูกไว้อีก ก็ออกนอกทางไปอีก แล้วเมื่อไรที่จะรู้ความเป็นจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่มีสัจจญาณ เข้าใจถูกต้องในอริยสัจ ๔ คือ ในทุกขสัจจะ สมุทัยสัจจะ นิโรธสัจจะ นิโรธคามินีปฏิปาทอริยสัจจะ ซึ่งถ้ามีความเข้าใจถูก ผู้นั้นก็จะไม่ไปทางไหนเลย เพราะรู้ถึงจะไปทางไหน ก็ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วเมื่อไรจะประจักษ์ ถ้าไม่ระลึก ไม่เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ก็ไม่มีทางที่จะคลายความไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีการคลายว่า เป็นเรา หรือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ เพราะว่าเรายึดถือสภาพธรรมเป็นเรา หรือว่าเป็นของเรานานมาก

    เพราะฉะนั้น การฟังธรรมจึงต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า หนทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้น จนกระทั่งประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้นคืออย่างไร ถ้าไม่มีสัจจญาณ ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่ใช่ไม่รู้อะไร แล้วก็ไปทำอย่างอื่น แต่ต้องพร้อมทั้ง สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ

    นิภัทร. ใน มหาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านพูดไว้แล้วว่า จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ ไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้มีราคะ จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน มีหมดเลย เรื่องจิต แต่ไม่มีคำว่า จิตฟุ้งซ่าน บังคับอย่าให้ฟุ้งซ่านนะ เอามาผูกไว้กับยุบบ้าง พองบ้าง หรือว่าพุทบ้าง โธบ้าง ไม่มี ไม่มีในสติปัฏฐาน ไม่มี เพราะฉะนั้น เราจะเชื่อพระพุทธพจน์ พระสูตรซึ่งเป็นพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เอกายโน เอยัง ภิกขเว มัคโค ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี่เป็นหนทางเดียวเท่านั้น เพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย เราจะเชื่อหรือเปล่า หรือว่าเรายังจะคิดมาก คิดไปเรื่อยๆ จะเป็นอาจินไตย คือ คิดมาก คิดไปแล้วมันจะฟุ้งซ่าน อย่าคิดมากเลยเถิด ให้ต้องมีธงบ้าง มีธงบ้าง อย่าเลยธง

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ คุณวิจิตร จะรู้ธรรม หรือจะผูก

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นเพียงแต่สมมติบัญญัติว่า ผูกไว้ แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ผูก

    ท่านอาจารย์ จะรู้ อบรมเจริญปัญญา เพราะฉะนั้น จะอบรมเจริญปัญญาไม่ให้ใจกระโดด หรือว่าจะอบรมเจริญปัญญาเพื่อให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง คงจะต้องประกอบคนละทาง

    ท่านอาจารย์ ประกอบได้อย่างไร คนละทาง ขณะใดที่ผูกไว้ไม่ให้โกรธ นั่นคือไม่ใช่การรู้

    ผู้ฟัง อย่างที่ที่มีในพระไตรปิฎก คือพระอะไร ทีเขาเรียกว่า ใบลานเปล่า คือ พระโปฐิละ รู้แต่ทฤษฎี มีปัญญามาก แต่ไม่เคยปฏิบัติเลย ผมอ่านมานี้ ก็น่าจะคิดว่า อยากจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

    อดิศักดิ์. ไม่ได้เป็นอย่างที่คุณว่าเลย ท่านเป็นอาจารย์ ลูกศิษย์ท่านเป็นพระอรหันต์มากมายเลย แต่ว่ามานะท่านจัด แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่คุณวิจิตรเข้าใจ ต้องเข้าใจใหม่ ถ้าจะอ่านพระไตรปิฎก ต้องไปอ่านจริงๆ และอ่านทุกพยัญชนะด้วย ท่านโปฐิละ ท่านไม่เคยเจริญสติปัฏฐานอย่างที่คุณพูด แต่ท่านมีมานะจัด แล้วในตัวอย่างนั้น พอไปพบสามเณร แล้วสามเณรก็ให้ท่านเดินลงน้ำ ท่านก็ยอมเดิน ก็แก้มานะท่าน พอบอกว่าจะจับไอ้ตัวที่ไม่น่าปรารถนาก็ต้องอุดรูเสีย ๕ รู แล้วจะจับได้ หมายถึง ทีละขณะ ทีละทวาร ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง ทีละอย่าง ไม่ใช่อย่างที่คุณเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ก็ได้ สภาพธรรมทั้งหมดจะเริ่มก็เริ่มในขณะนี้ ขณะนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ ลองคิดว่าจะเข้าใจด้วยการฟัง การไตร่ตรองให้ละเอียด หรือว่าจะผูก ผูกอย่างไรก็ต้องกลับมาฟัง

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ผูก เพียงแต่ว่าบัญญัติขึ้นมาว่า ทำอย่างไรก็แล้วแต่ให้จิตเราไม่

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นเราแน่นอน เพราะไม่ได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ขณะนั้นเป็นสมุทัย มีความต้องการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ยังไม่เห็นตัวสมุทัย ก็ละไม่ได้ ต่อเมื่อไรเห็น เมื่อนั้นจึงจะละได้

    ผู้ฟัง อยากจะถามท่านวิทยากรเหมือนกันว่า ผมควรจะทำอย่างไรดี ใจถึงจะไม่เป็นอกุศล โฆษณาบ้าง แล้วก็ฟังสะเปะสะปะไปบ้าง อะไรอย่างนี้ ผิดๆ ถูกๆ บ้าง มันก็เลยทำให้ใจไม่สบาย ขอฟัง ทำให้ใจสงบขึ้นบ้าง ดีไหม

    อรรณพ. เป็นความจริงอย่างนั้น เพราะว่ากุศลคือความเข้าใจธรรมเกิดแล้ว ไม่ใช่ว่าจะอยู่ยืนยาวไปทั้งวัน ทั้งสัปดาห์ ทั้งเดือน เมื่อกุศลดับไป ก็เป็นปัจจัยให้อกุศลเกิดได้ เพราะความเข้าใจมี เมื่อได้ฟังสิ่งที่รู้ว่าไม่ใช่เหตุไม่ใช่ผล อาจจะเป็นปัจจัยให้อกุศลจิตเกิด ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าแต่เดิมเราไม่ได้มีการศึกษาธรรม เราก็อาจจะชอบใจ ขณะนั้นก็อาจจะไม่มีโทสะ แต่เป็นโลภะที่เกิดประกอบพร้อมกับความเห็นผิด ยิ่งจะมีโทษมาก แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ แม้กุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ แต่ก็มิใช่ว่า เมื่อรู้ความจริงเช่นนั้นแล้ว เราก็ไม่เห็นโทษในความเป็นอกุศล เพราะว่าโทสะเกิดขึ้น โทสะก็เป็นอกุศล ย่อมที่จะสะสม แล้วก็ประทุษร้ายจิตใจ ในขณะนั้นขาดเมตตา เพราะฉะนั้น ถ้าเราเห็นประโยชน์ ตรงนี้แล้ว คือ ธรรมมีให้ศึกษา เป็นกาลขณะนี้ เช่น ขณะนี้เป็นกาลของการฟังธรรม และสนทนาธรรม แล้วก็ค่อยๆ สะสมไป ซึ่งในข้อความในพระสูตร จริงๆ ท่านก็เตือนอยู่แล้วว่า มิใช่ว่าอยู่ดีๆ กุศลจะเต็มเปี่ยมอย่างทะเล มหาสมุทร มิใช่ว่าจะเต็มเปี่ยมในทันที น้ำจากในทะเล มหาสมุทรก็ต้องมาจากแม่น้ำ ลำคลอง ถ้าไล่ไปแล้ว สุดท้ายก็มาจากหยาดฝนแต่ละหยดๆ กว่าที่จะเต็ม

    เพราะฉะนั้น ในเมื่อกุศลยังไม่เต็ม มีโอกาสของการฟังธรรม เป็นกาลของการฟังธรรม ก็ฟัง ขณะนั้นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้นแล้วดับไป แต่ก็สะสมเป็นการประทับรอยที่ดีในจิตใจเอาไว้ เมื่อมีเหตุปัจจัย กุศลก็จะเกิดขึ้น แล้วก็มีกำลังยิ่งขึ้นๆ โอกาสของการสนทนาธรรมก็สนทนาธรรม เป็นโอกาสของการที่กุศลที่จะเกิดขึ้น แล้วก็เป็นความสงบในชั่วขณะจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ควรที่กุศลดังนั้นจะเกิด แต่มิใช่ว่าด้วยความเป็นตัวตน แล้วโอกาสของการที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นการพิจารณาลักษณะสภาพธรรม เจริญสติปัฏฐาน วิปัสสนาในขณะนั้น ก็ไม่ควรที่จะให้ขณะล่วงไป ก็เป็นการสะสมกุศลทีละเล็กทีละน้อย เหมือนหยาดฝนแต่ละหยดๆ ที่จะยังให้น้ำนั้นค่อยๆ เต็มห้วยเต็มลำคลอง เต็มแม่น้ำ แล้วก็เต็มในมหาสมุทร เพื่อความสิ้นแห่งอาสวะในที่สุด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น เราควรจะฟังไปเรื่อยๆ เพื่อจะสะสมน้ำทีละหยดๆ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงเรื่องการฟัง ดิฉันคงจะสะสมเป็นอัธยาศัย เพราะว่าเป็นผู้ที่ชอบฟังมาก แต่ก็จะสังเกตุดูได้ ทุกคนฟัง แล้วแต่ว่าจะสะสมความสนใจที่ว่าจะฟังในเรื่องอะไร เพราะว่าวันหนึ่งๆ ก็มีเรื่องหลายเรื่อง เรื่องข่าวสารการบ้านการเมือง การต่างประเทศ ธุรกิจต่างๆ ก็มี ก็แล้วแต่จะสะสมมา แต่ประโยชน์ในการฟังต้องมี ถ้าเรามีการเห็นถูก มีความเข้าใจถูก แม้ว่าจะได้ยินได้ฟังธรรมซึ่งไม่ตรง แล้วก็ไม่ถูก แต่ก็รู้ว่า ผู้ที่มีความเห็นผิดอย่างไร ก็กล่าวตามความเห็นนั้น ซึ่งก็คงจะไม่มีใครสามารถจะไปเกื้อกูลได้ เว้นแต่ผู้นั้นจะได้สะสมการฟัง แล้วก็มีความพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ แล้วสามารถที่จะเลือกได้ว่า ที่ถูกควรจะเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตาม การฟัง อย่างที่คุณเด่นพงษ์ว่าเราเลือกไม่ได้เลย ช่องไหน สถานีไหน จะมีรายการอะไร โฆษณามากน้อยอย่างไรก็ตามแต่ ก็เป็นเรื่องที่เห็นความเป็นอนัตตาว่า โลกจริงๆ แล้วที่เราอยู่คนเดียว แต่เราลืมว่าขณะนั้นเราคิดว่าเราอยู่หลายคน อยู่กับสถานีวิทยุต่างๆ อยู่กับรายการต่างๆ แต่ความจริงโลกใบนี้ คือ ตัวจิตของแต่ละคนก็มีทางที่จะรู้อารมณ์ได้ คือ ทางตา๑ ทางหู๑ ทางจมูก๑ ทางลิ้น๑ ทางกาย๑ ทางใจที่คิดนึก๑ แค่นี้เอง อยู่คนเดียวกับความคิดของเรา ในขณะที่ได้ยิน ไม่ชอบ ก็คิดต่างๆ นานา ก็อยู่กับความคิดของเราเอง ซึ่งถ้าสามารถที่จะรู้ และเข้าใจถูก ในโลกของความคิดขณะนั้น ก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้น เป็นกุศล หรืออกุศล

    เพราะฉะนั้น ประโยชน์อยู่ที่ตรงรู้จักโลกตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังอะไรก็ตามแต่ แต่ก็ห้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก แล้วได้ฟังความเห็นอื่นที่ไม่ตรง ก็สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะไหนตรง ขณะไหนไม่ตรง เพราะว่าท่านเหล่านั้นท่านก็อ้างพระไตรปิฎก พุทธวจนะถูก แต่ความคิดที่เข้าใจในพุทธวจนะนั้นไม่ถูกต้อง เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า เป็นการยากจริงๆ พระธรรมไม่ใช่ที่เป็นของง่ายที่ใครจะศึกษาโดยไม่รอบคอบ แล้วสามารถที่จะเข้าใจถูกต้องได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ว่า ถ้าฟังมาก แล้วก็สามารถที่จะรู้ว่า ผิดตรงไหน ถูกตรงไหน ก็เป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง อบรมสติให้มันเกิดปัญญา เรามีความปรารถนาเพราะก็เกิดความยังต้องการอยู่ โลภะก็เข้าแทรก เราทำบุญ เอาอานิสงส์มาล่อเรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567