ปกิณณกธรรม ตอนที่ 316


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๖

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ท่านอาจารย์ ถ้าวันนี้มีผู้ที่มีความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธที่กำลังเกิดเป็นไปในขณะนั้น เตรียมตัวมาก่อนหรือเปล่าว่า จะให้เป็นความโกรธในลักษณะอย่างนี้ๆ ในเรื่องนี้ๆ หรือว่าไม่มีการเตรียมเนื้อเตรียมตัวเลย พอเห็น พอได้ยิน หรือพอคิดนึกก็เกิดโกรธอย่างนั้นขึ้นมา ซึ่งความโกรธระดับนั้น เรื่องนั้นเปลี่ยนให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้เลย

    นี่คือความจริงในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ก็เปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ และเมื่อเห็นแล้ว นานาจิตตัง ตามการสะสม ใครจะคิดอย่างไร ใครจะรู้สึกอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมทั้งหมด แค่นี้ คือ ฟังให้เข้าใจว่า สิ่งที่จะต้องศึกษาที่ใช้คำว่า ศึกษาธรรม ก็ศึกษาให้เข้าใจยิ่งขึ้นในสิ่งที่มีจริงๆ แล้วก็สามารถที่จะปรากฏให้ศึกษาทุกขณะที่ได้ยินได้ฟัง ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องของสภาพที่มีจริงๆ ในขณะนี้ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดว่า ใครกำลังศึกษา ใครไม่ศึกษา คนโน้นถามกันว่า ศึกษาหรือเปล่า คนนี้ตอบว่าไม่ได้ศึกษา หรือคนโน้นศึกษา ก็ให้เข้าใจจริงๆ ว่าศึกษาธรรมแท้จริง คือศึกษาลักษณะของสภาพที่มีจริงจึงจะเป็นธรรม ถ้าไม่มีลักษณะนั้นจริงๆ ให้ศึกษา จะไปศึกษาอะไร จะเข้าใจอะไร แล้วธรรมนั้นจะอยู่ที่ไหน แต่ถ้ารู้ว่า ธรรมจริงๆ คือสิ่งที่เกิดขึ้นปรากฏ มีลักษณะเฉพาะอย่าง ตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดธรรมเลย เราก็จะเข้าใจว่า เรากำลังศึกษาอะไร ศึกษาเรื่องสิ่งที่มีจริง โดยการฟังแล้วฟังอีก บางท่านก็บอกว่า ก็เป็นเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ววันไหนใครไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นานแสนนานมาแล้วก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ต่อไปข้างหน้าก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วจะไปศึกษาอะไรอื่นที่ไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    นี่ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรม แล้วก็ยังไม่รู้จริงๆ ก็หวังหรือคิดจะศึกษาอื่น แล้วเข้าใจว่า อื่นนั้นคือธรรม แต่ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ เมื่อเริ่มฟังเมื่อไรก็คือเริ่มศึกษา เริ่มเข้าใจธรรมเมื่อนั้น แล้วแต่ว่าจะมีโอกาสฟังได้มากหรือน้อย ฟังแล้วจะคิดจะพิจารณา จะเข้าใจถึงความเป็นธรรมจริงๆ ของสภาพธรรมซึ่งเป็นธรรม แต่ความที่ยังไม่เข้าใจจริง ก็ยังไม่เห็นว่า เป็นธรรม หรือว่าบางครั้งอาจจะเขาใจนิดหนึ่งว่าธรรม แต่ว่าเพราะการฟังน้อย การพิจารณาน้อย ก็เลยเวลาที่สภาพธรรมปรากฏหรือเกิดขึ้น ก็ยังไม่เข้าใจว่าเป็นธรรม

    ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีความเข้าใจธรรม จึงเริ่มเห็นว่า เป็นสิ่งที่ละเอียด แล้วเป็นสิ่งซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ที่ความเป็นตัวตนจะไปพยายามเข้าใจธรรมก็ไม่ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่รู้ว่า ความเข้าใจวันนี้ ขณะนี้ เกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากการฟัง เกิดจากการอ่าน เกิดจากการคิด เกิดจากการพิจารณา ก็ต้องรู้ว่า ฟังอะไร คิดอะไร พิจารณาอะไร จึงจะเป็นการศึกษาธรรม ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ผู้นั้นก็จะศึกษาธรรมไปตลอด ไปเรื่อยๆ ไม่เดือดร้อน จะมีความเป็นตัวตนรีบร้อนไปศึกษาอะไรที่ไหน ในเมื่อสภาพธรรมก็กำลังมีปรากฏ ให้ศึกษา ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ความเข้าใจอันนี้ก็จะไม่หันเหไปทางอื่น แล้วก็รู้ว่า การศึกษาธรรม ก็คือการฟังเรื่องธรรม แล้วก็เมื่อไรที่ได้ฟัง เมื่อนั้นก็คือศึกษา

    ผู้ฟัง ผมขอย้อนถามตรงนี้คือที่ว่า มาสว่าง ไปมืด ในความเข้าใจของผม ผมเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องของผู้เบื้องต้นเลย เป็นเรื่องของกุศลกับอกุศล ผมก็พลอยคิดไปว่า ถ้าเกิดมาแล้วได้ประพฤติปฏิบัติที่มันเป็นกุศล กุศลกรรม เพราะว่าปกติชีวิตประจำวันต้องมีการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจตลอดเวลา การกระทำที่มันไม่ถูกต้องก็มี ที่เรียกว่าอกุศลกรรม ฉะนั้นถ้าเกิดทำแต่อกุศลกรรม น่ากลัวถ้าจะไปมืด ผมเข้าใจตรงนี้ ผมก็ยังไม่เข้าใจโดยละเอียดว่ามันคืออย่างไร อกุศลกรรมเกี่ยวข้องกับไปมืดไหม

    ธนิต ในเมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ มาสว่างแล้ว ขอว่าให้สนใจเถอะ เดี๋ยวจะไปมืดหนา อะไรอย่างนี้ ไม่ต้องไปคิดลึก

    เผชิญ จุดประสงค์ของคุณน้าก็ดีที่จะให้เข้าใจธรรมที่แท้จริง แต่อย่างที่ท่านผู้ถามได้ถาม ในพระสูตรก็มีเช่นเดียวกัน ท่านจะมีถึง ๔ คู่ เคยได้ยินใช่ไหม ที่ว่า สว่างมาสว่างไป สว่างมามืดไป มืดมาสว่างไป มืดมามืดไป ในทำนองนี้ก็มีเช่นเดียวกันในบุคคล ๔ จำพวก ในพระสูตร ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต หมวด ๔ แล้วก็มีบุคคล ๔ จำพวก ในอภิธรรมที่เป็นบุคคลบัญญัติ ท่านก็แสดงบุคคล ๔ จำพวก ลักษณะเดียวกัน เช่นเดียวกัน แต่ในที่นั้นท่านก็จะอธิบายเหมือนกับที่ท่านผู้ถามถามเช่นเดียวกัน คือ ลักษณะของมาสว่างคือเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาสกุลสูง มีโภคสมบัติเพียบพร้อมทุกอย่าง แต่ว่าเพราะทำอกุศลกรรมทำให้ไปเกิดในอบายทุคติ อันนี้สว่างมามืดไป ถ้าว่าเกิดมาในสกุลสูงแล้วทำกุศลกรรม ประพฤติความดีในชาตินี้ ตายจากชาตินี้ไปแล้วไปเกิดใน สุคติโลกสวรรค์ อันนี้ท่านก็แสดงว่า สว่างมาสว่างไป ส่วนมืดในพระสูตรตรงนี้ท่านได้กล่าวถึงตระกูลที่เป็นตระกูลต่ำ สำหรับมนุษย์ที่เกิดในสกุลต่ำ ท่านก็แสดงว่า มืดมา ก็คือมาเกิดในสกุลต่ำ ที่ถูกอกุศลกรรมเบียดเบียน ทำให้เกิดในสกุลต่ำ ที่สว่าง ที่เกิดในในสกุลสูง ก็แสดงถึงกุศลวิบากที่เป็นฝ่ายของกุศล ผลของกุศล ทำให้เกิดในสกุลสูง แต่ถ้ามาเกิดในสกุลต่ำแล้วฟังพระธรรม ประพฤติกุศลกรรม ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ทำให้ไปเกิดในสุคติ อย่างนี้ก็เรียกว่า มืดมาสว่างไป แต่ถ้าเกิดมาในสกุลต่ำแล้วยังประพฤติ อกุศลกรรมอยู่ ก็ไปเกิดในอบายทุคติวินิบาต นรก มืดมาก็มืดไป ทำนองนี้ท่านก็มีในพระสูตร ในอังคุตตรนิกายก็มี ในอภิธรรมก็มี

    ผู้ฟัง เรื่องปัญญาในสมถภาวนา สมมติว่า รู้จักสมถภาวนาแล้วเจริญสัมมาสมาธิ ค่อยๆ เจริญไป ทีนี้ไม่ทราบว่า ปัญญาในสัมมาสมาธิ จะในลักษณะเดียวกับวิปัสสนาภาวนาไหม ที่จะต้องค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นลำดับๆ ไปพร้อมกับสมาธิที่ค่อยๆ เจริญขึ้นด้วย หรือว่าเฉพาะสมาธิเท่านั้นที่จะแนบแน่นขึ้นแต่ปัญญาก็คือรู้ ที่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบความต่างกันของสมถภาวนา กับวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนาภาวนา เป็นการอบรมเจริญปัญญาถึงความเป็นวิปัสสนา คือเห็นแจ้งประจักษ์แจ้ง ลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เช่น สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมก็เป็นนามธรรม สภาพธรรม ที่เป็นรูปธรรมก็เป็นรูปธรรม สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเกิดแล้วดับ สภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมเกิดแล้วก็ดับ คือรู้ในความไม่ใช่ตัวตน แต่สำหรับสมถภาวนาเพื่ออะไร ต้องรู้ด้วย ในเมื่อวิปัสสนาภาวนาเพื่อรู้แจ้งประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม สมถภาวนา ไม่ใช่เพื่อการรู้แจ้ง ประจักษ์แจ้งความจริง สมถะ หมายความถึงสงบ หมายความถึงสงบจากอกุศล ซึ่งผู้ที่จะอบรมสมถภาวนาได้ ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาที่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะที่เห็น อกุศลจิตเกิดแล้ว ขณะใดที่ไม่ใช่ทานศีล ภาวนา ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

    เพราะฉะนั้น ผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะที่จะรู้ความต่างของขณะที่จิตไม่สงบ ที่เป็นอกุศล กับความต่างของกุศลจิตที่เกิด แล้วก็รู้เหตุว่าความสงบจะเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นกุศลได้มากน้อยแค่ไหน เพื่ออะไร เพราะเมื่อมีความสงบขึ้น ก็จะไม่มีความติดข้องในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา เมื่อบรรลุอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นของฌานจิต จะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบบสัมผัส ไม่คิดนึกเรื่องอื่น นอกจากรู้ในลักษณะของอารมณ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของความสงบ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็เหมือนกับไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการได้ยิน ไม่ต้องการได้กลิ่น ไม่ต้องการลิ้มรส ไม่ต้องการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่ต้องการคิดนึก ชั่วระยะที่สามารถที่จะสงบได้ ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่จะอบรมเจริญปัญญา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    นี่ก็เป็นความต่างกัน สมถภาวนาไม่ใช่หนทางที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาที่อบรมโดยระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนกว่าจะชิน จนกว่าจะไม่มีความสงสัยในลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์

    ข้อที่ ๑. การที่มีความเข้าใจว่า สติสามารถจะรู้บัญญัติได้ คือ เข้าใจว่าปรมัตถธรรม มี ๔ ได้แก่จิต เจตสิก รูป นิพพาน แล้วสติที่รู้บัญญัติคือรู้ความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นบัญญัติ อธิบายลักษณะของปรมัตถธรรม ความเข้าใจที่ว่าขณะจิตที่คิดถึงบัญญัติเหล่านี้ สติก็สามารถระลึกรู้บัญญัติเหล่านี้ได้ ถูกต้องหรือไม่อย่างไร

    ท่านอาจารย์ บัญญัติไม่เกิด และไม่ดับ ถ้าคิดถึงบัญญัติแล้ว จะรู้การเกิดดับของอะไร ขณะใดก็ตาม เช่น ในขณะที่กำลังเห็น มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เมื่อรู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร นั่นคือบัญญัติขณะที่ได้ยินเสียงแล้วรู้ว่า เสียงนั้นหมายความว่าอะไร ขณะที่กำลังรู้คำ รู้ความหมาย ไม่ใช่รู้ลักษณะของเสียงซึ่งเกิดดับ แต่ว่ารู้ความหมายรู้เรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติ

    จิตที่รู้บัญญัติเกิดดับ แต่บัญญัติไม่ได้เกิด ไม่ได้ดับเลย เพราะฉะนั้น เวลาที่จะใช้คำว่า สติรู้บัญญัติ ต้องหมายความว่าสติที่จะรู้บัญญัติ ต้องเมื่อขณะที่มีการรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วกุศลจิตเกิด มีการได้ยินเสียงทางหู แล้วกุศลจิตเกิด เช่นในขณะนี้ กำลังมีการได้ยินเสียง แล้วก็เข้าใจคำ ขณะที่เข้าใจคำ เป็นปัญญาซึ่งเกิดพร้อมสติ แต่เข้าใจคำ คือ เข้าใจเรื่องราว ไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีความแยบคายที่จะรู้ความต่างกันว่า ถ้าเป็นเรื่องราวของ ขณะที่กำลังได้ยิน ขณะที่กำลังเห็น ขณะที่กำลังได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วกุศลจิตเกิด ขณะนั้นเป็นเรื่องราว เป็นกุศลจิตที่เป็นไปในเรื่องราว เช่น เห็นพระพุทธรูป สภาพจริงๆ คือ เห็น แต่ว่าขณะที่นึกถึงรูปร่าง แล้วก็มีการคิดถึงว่าสิ่งนี้เป็นวัตถุที่ทำให้ระลึกถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ขณะที่คิดอย่างนั้นเป็นบัญญัติ แต่ว่าสภาพของจิตที่คิดเกิดดับ แต่บัญญัติไม่ได้เกิดไม่ได้ดับเลย

    ขณะใดที่บอกว่า สติรู้ลักษณะของบัญญัติ หรือกำลังรู้บัญญัติ สติรู้บัญญัติได้เมื่อกุศลจิตเกิด แต่ว่าสติไม่สามารถจะรู้ลักษณะของบัญญัติที่ไม่มีจริง เพราะเหตุว่าไม่มีลักษณะจริงๆ เหมือนอย่างเสียงมีจริง สีมีจริง กลิ่นมีจริง แต่บัญญัติไม่ได้มีลักษณะจริงๆ อย่างนั้น บัญญัติเป็นความทรงจำในรูปร่างสัณฐาน แล้วก็ในการคิดถึงเรื่องราวต่างๆ เรื่องราวต่างๆ เป็นบัญญัติของจิตที่คิดเท่านั้นเอง

    ถ้ามีการรู้บัญญัติก็หมายความว่า ขณะที่สติปัฏฐานเกิดจะมีการรู้ลักษณะของบัญญัติไม่ได้ เพราะว่าบัญญัติไม่มีลักษณะให้รู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมเกิดดับเท่านั้นที่จะเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้ เพราะว่าอบรมไปเจริญไป ละคลายไป ก็จะทำให้ประจักษ์การเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าสติเกิดรู้คำ เมื่อกุศลจิตเกิด ถ้าเป็นลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นลักษณะของสติปัฏฐาน เป็นลักษณะของการรู้คำ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เช่นการฟัง สุตตามยญาณ ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง ฟังเข้าใจขณะนั้นต้องมีสติ เพราะว่าเวลาใดที่ปัญญาเกิด ขณะนั้นต้องมีสติเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นลักษณะของสติปัฏฐาน คือเป็นสภาพที่รู้ ไม่ใช่ว่ารู้เป็นคำ เป็นเรื่องราว

    ท่านอาจารย์ มีลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จึงจะละความเป็นเราได้

    ผู้ฟัง ตรงนี้เพิ่งได้ยินท่านอาจารย์พูดชัดๆ ตรงนี้ที่ว่าสติ เกิดรู้คำ เมื่อกุศลจิตเกิด ซึ่งมันกับสติปัฏฐานเลย ใช่ไหม

    ผู้ฟัง อาจารย์ช่วยขยายความด้วย จิตที่รู้อารมณ์ อารมณ์เป็นสิ่งที่จิตรู้ เช่น คำว่า จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้ง มันไม่ใช่ประเด็นที่ทำให้สติน้อมไปถึง อันนี้ที่อยากจะให้ท่านอาจารย์บรรยายขยายความเรื่องนามธรรม เป็นรูป เป็นนาม มันยังไม่พอ แต่สติจะน้อมไป หรือจิตจะน้อมไป

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นพอรู้ว่า ธรรมคืออะไร แล้วก็ยังรู้ว่า ธรรมหลากหลายมาก มีมากมาย แต่ว่าถึงจะมากมายอย่างไร ก็มีลักษณะของสภาพธรรมที่ต่างกันเป็น ๒ ประเภท อันนี้คือการเริ่มต้นหรือตั้งต้น ที่จะรู้ความต่างว่า สภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นปรากฏ แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย สภาพธรรมนั้นเป็นส่วน หรือเป็นลักษณะ หรือเป็นประเภทที่เป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น เป็นรส เป็นสี เป็นเย็น เป็นร้อน เป็นอะไรก็แล้วแต่ ลักษณะซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น สภาพนั้นเป็นรูปธรรม อันนี้ก็ไม่มีปัญหา แต่ที่รูปธรรมใดๆ หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะปรากฏ เพราะเหตุว่ามีสภาพรู้ หรือมีธาตุรู้ ซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่ารูปธรรมไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย จำไม่ได้ คิดไม่ได้ ดีใจไม่ได้ เสียใจไม่ได้ รูปธรรมก็เป็นแต่เพียงลักษณะที่อ่อนหรือแข็งปรากฏได้ เมื่อมีการกระทบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วธาตุรู้สภาพรู้จึงรู้ว่า ลักษณะนั้น สิ่งที่มีที่ปรากฏให้รู้นั้นอ่อนหรือแข็ง แต่ว่าไม่สามารถจะบอกได้ด้วยเห็นว่า สิ่งนั้นอ่อนหรือแข็ง แต่ว่าต้องกระทบสัมผัส เช่นเดียวกับรสต่างๆ เพียงเห็น จะรู้ไหมว่า เปรี้ยว หรือหวานหรือ เค็ม แต่ต้องลิ้มเข้าไปในปากกระทบกับชิวหาปสาท รสนั้นจึงปรากฏกับสภาพที่กำลังลิ้มคือรู้รสนั้น

    เพราะฉะนั้น เพียงแค่ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมซึ่งมีจริงๆ ในชีวิตประจำวันก็ต้องไตร่ตรอง และเข้าใจก่อนว่า ๒ อย่างต่างกันจริงๆ ในบรรดา ๒ อย่างที่ต่างกันจริงๆ รูปธรรมคงจะไม่เป็นที่สงสัย แต่ว่าต้องเข้าใจว่า รวมทั้งรูปที่มองไม่เห็นด้วย เพราะบางคนคิดว่า รูปหมายความถึงเฉพาะสีสันวัณณะรูปภาพต่างๆ ที่เรามองเห็นด้วยตาจึงจะเป็นรูป แต่ว่าในทางพระพุทธศาสนากว้างขวางกว่านั้น แม้ว่ามองไม่เห็นเลย แต่ว่าเมื่อไม่ใช่สภาพรู้ ก็เป็นรูปธรรม ส่วนนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ก็จะมีลักษณะที่ต่างกันออกไปเป็น ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่งเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏทางหนึ่งทางใด เช่น ขณะนี้ที่กำลังเห็น เห็นเดี๋ยวนี้เองเป็นสภาพธรรมที่สามารถเห็น เป็นใหญ่ในการเห็น สามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ลักษณะละเอียดมากน้อยสีสันใกล้เคียงกันอย่างไรก็ตาม แต่จิตที่เห็น สามารถที่จะเห็นแจ้งในลักษณะนั้นเท่านั้นเอง แต่ว่าส่วนเวลาที่จิตเห็นจะเกิดขึ้น ก็จะต้องมีสภาพนามธรรมอีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้นร่วมกัน ปรุงแต่งอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น สภาพนามธรรมที่ต้องเกิดกับจิตทุกครั้งที่จิตเกิด ภาษาบาลีใช้คำว่า เจ ต สิ กะ แต่ว่าภาษาไทยก็เรียกกันสั้นๆ ว่า เจตสิก เป็นสภาพที่เกิดกับจิต แต่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์

    เวลาที่พูดถึงสติปัฏฐาน จะมีคำว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ได้ใช้คำว่า เจตสิกปัฏฐานเลย ใช่ไหม แต่ใช้คำว่า จิตตานุปัสสนา เพราะเหตุว่าในขณะนั้นพิจารณารู้ในธาตุซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ทางหนึ่งทางใด เช่นในขณะที่เห็น ขณะนี้ก็เป็นใหญ่เป็นประธานในการเห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่จิตได้ยินเสียง เป็นใหญ่เป็นประธานในการได้ยิน เพราะว่าขณะนั้นจะไม่มีสภาพธรรมอื่น ถ้าสติระลึก ก็จะมีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้ ลักษณะของเจตสิกจะไม่ปรากฏ ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการได้ยิน แต่ว่าเวลาที่เกิดความรู้สึกเจ็บทางกาย มี ใช่ไหม ขณะนั้นไม่ใช่สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ว่าเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สึกเป็นอารมณ์ จะดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ ก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่อีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของจิตซึ่งเป็นธาตุที่เป็นใหญ่ในการรู้ อารมณ์

    ด้วยเหตุนี้จึงต้องเป็นผู้ที่เข้าใจ ลักษณะของนามธรรมซึ่งต่างกับรูปธรรม แล้วเวลาที่มีสติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของนามธรรมเมื่อไร เมื่อนั้นปัญญาจึงจะรู้ว่า สติ ระลึกลักษณะของจิตที่เป็นใหญ่ในการรู้อารมณ์ หรือว่าขณะนั้นมีลักษณะของเจตสิกหนึ่งเจตสิกใดซึ่งสติกำลังระลึก จึงรู้ในความต่างของสภาพนามธรรม ๒ อย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่ว่าเราได้ยินชื่อ ว่าจิตมีราคะ สราคะจิตตัง ก็ให้รู้ แต่เมื่อรู้ลักษณะที่เป็นใหญ่ คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้ เป็นธาตุรู้ แล้วแต่ว่าธาตุรู้นั้น จะมีลักษณะอย่างไร ต่างกันอย่างไร เพราะว่าบางครั้งบางคราวก็มีลักษณะที่ติดข้องพอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ ถึงแม้ว่าจะเป็นสภาพที่ติดข้อง แต่ลักษณะของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่ในขณะนั้นต่างกับธาตุรู้ขณะอื่น ซึ่งไม่มีลักษณะของความติดข้องเกิดร่วมด้วย ผู้นั้นจึงสามารถที่จะรู้ว่า ขณะนั้นสติกำลังระลึกลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นจิต แต่ว่าธาตุรู้ซึ่งเป็นจิตในขณะนั้นต่างกับธาตุรู้ซึ่งเป็นจิตในขณะอื่น ไม่เหมือนกัน เพราะว่าจิตก็มีหลายประเภท

    ด้วยเหตุนี้ปัญญาที่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จึงตรง เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใด ก็รู้ในลักษณะของสภาพนามธรรมนั้น แล้วก็ถ้าเป็นการระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต จะเห็นความเป็นใหญ่ เป็นมนินทรีย์ในการรู้อารมณ์ ซึ่งต่างกับลักษณะของเจตสิกอื่นๆ

    จิตเป็นสภาพรู้ แต่เวลาที่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ปรุงแต่งให้จิตนั้นเป็นจิตที่เกิดร่วมด้วยกับโลภะ เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีสภาพของการติดข้องในอารมณ์ เกิดเพราะเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เจตสิกเป็นสภาพที่ปรุงแต่งเพราะเกิดกับจิต ทำให้จิตนั้นมีลักษณะประเภทที่ต่างกับจิตอื่น จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์

    ผู้ฟัง เพราะสติ และปัญญายังไม่ถึง ตรงนี้ใช่ไหม ที่ทำให้เราระลึกไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ คือต้องเริ่มรู้ว่าขณะไหนสติเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ นี่เป็นปัญญาที่รู้ในขณะนั้น ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ผม มีไหม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567