ปกิณณกธรรม ตอนที่ 357


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๗

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ กุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากจิต เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผลของกรรม เกิดขึ้น เมื่อไร ขณะปฏิสนธิ ทำให้ปฏิสนธิเกิด อย่างการที่ทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ เป็นผลของกุศลกรรมที่ผ่านมาแล้วในอดีต แต่เราก็บอกกันไม่ได้เลย เพราะของคนนี้เป็นผลของทาน ของคนนั้นเป็นผลของศีล หรือว่าเป็นผลของอะไร แต่ต้องเป็นผลของกุศลกรรมแน่นอน เช่นเดียวกับเวลาที่เราเห็นแมวสีเทา เมื่อกี้นี้ก็เห็น แล้วยังจะมีนก มีผีเสื้อ พวกนี้ ก็ต้องเป็นผลของอกุศลกรรม แต่ชาติไหนก็บอกไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เหตุกับผลต้องตรงกัน

    ผู้ฟัง ทำไมต้องเป็นอกุศลกรรมด้วย ที่อาจารย์บอกว่าเห็นแมว ผีเสื้อ นกก็สวยดี ทำไมต้องเป็นอกุศลกรรม

    ท่านอาจารย์ สัตว์เดรัจฉานไม่สามารถที่พื้นฐานของจิต ที่จะอบรมเจริญให้สูง จนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ อะไรกั้นไว้ กรรมที่ได้กระทำไว้เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิ เป็นสัตว์ประเภทนั้นๆ ที่ไม่สามารถที่จะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง ขออนุญาตไม่ใช้ศัพท์ เพราะว่าไม่ค่อยเข้าใจ สมมติว่าเวลาเราทำคุณความดี เราไม่ได้ทำเพราะหวังว่าตัวเองจะมีวิบากที่ดีในชาติหน้า หรืออะไร แต่อยากจะทำเพื่อให้บรรพบุรุษของเราที่ตายไปแล้ว หรืออยากให้สรรพสัตว์ สรรพสิ่งทั้งหลายที่มีชีวิตได้มีความสุข เผื่อแผ่ไปด้วย แล้วเขาจะได้ไหมในส่วนนี้

    ท่านอาจารย์ ความสงสัยมีมากมายเลย แต่บางทีความสงสัยนี้ เราก็ยังไม่กระจ่าง แต่ความคิดของเรา เราให้เขา เขาจะได้รับอะไร คือพูดเหมือนให้ ให้ก็ต้องมีคนรับ แล้วเขาได้รับอะไร เราให้อะไร

    ผู้ฟัง บุญกุศล ถ้าพูดในแง่ถึงธรรมชาติ ต้องแน่นอนทีเดียว จริง คนนี้กิน คนนี้อิ่ม แต่ในเรื่องของธรรม หรือเรื่องของจิตใจ มันจะแปลกไปจากธรรมชาตินี้ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณรัศมีเคยชื่นใจเวลาคนอื่นเขาอิ่มไหม แล้วเวลาเห็นคนอื่นเขาทำความดี ชื่นใจด้วย ขณะที่ชื่นใจ และดีใจที่คนอื่นเขามีโอกาสทำกุศล ขณะนั้นจิตเป็นจิต ประเภทไหน จิตของคุณรัศมีเอง เป็นจิตประเภทไหน มี ๒ อย่าง กุศลหรืออกุศล ทำไมว่าเป็นกุศล ทำไมถึงว่าดี

    ผู้ฟัง เป็นคุณ ไม่เป็นโทษ เป็นดี ไม่เป็นชั่ว

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคุณรัศมียินดีด้วยในความดีของคนอื่น เราคงจะไม่ยินดีด้วยกับความชั่วร้ายของคนอื่นแน่ ถ้าคนที่อุปนิสัยไม่ดี เห็นใครทำไม่ดีก็ดีใจ อันนั้นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นกุศล ต้องรู้ด้วยว่า ทำไมว่าเป็นกุศล เพราะว่าเรายินดีด้วยในความดี แต่ถ้ายินดีในอกุศล ไม่ได้หมายความว่าจิตที่ยินดีขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว พลอยเป็นอกุศลด้วยกับอกุศลของคนอื่น

    เพราะฉะนั้น ต้องมีหลักที่จะรู้ว่า ที่ว่าดี เพราะอะไร ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ข้างหน้าต่อไปจะเป็นจิตที่เป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้น การรับผลของกรรม เราก็พูดกันไปเรื่อยๆ เหตุดี ผลก็ต้องดี กุศลกรรมก็เป็นเหตุให้เกิดผลของกุศลที่ดี แต่ถ้าเรายังไม่รู้ตราบใดว่า ในวันนี้ ขณะไหนบ้างเป็นผลของกุศลกรรม เราก็เพียงแต่พูด แต่ถ้าเราทราบว่า ผลของกุศล เริ่มตั้งแต่ขณะแรกคือปฏิสนธิจิต จิตที่เกิดขณะแรก ไม่ว่าจะในภพไหน ชาติไหนก็ตาม ขณะนั้นเป็นวิบาก คือ เป็นผลของกรรม แล้วแต่ว่าจะเกิดที่ไหน ถ้าเกิดในนรกต้องเป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งก็ไม่ยากเลย ถ้าจะเก็บเล็กผสมน้อยภาษาบาลีไปเรื่อย ผลของอกุศลกรรม เรียกเป็นภาษาบาลีว่า อกุศลวิบาก วิบากคือผลที่สุกงอมที่กรรมนั้นให้ผล เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดเป็นสัตว์ในนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย พวกนี้เป็นผลของอกุศลกรรม ตัวจิตที่เกิดเป็นผล ไม่ใช่เป็นเหตุ แต่ต้องเป็นผลของกรรมหนึ่งซึ่งเป็นอกุศลที่ได้ทำไว้แล้ว นี่คือการรับผลของกรรม แล้วถ้ายังมีชีวิตอยู่ ยังไม่ตายไปก็เพราะกรรมนั่นแหละทำให้ดำรงความเป็นสภาพบุคคลนั้นไว้ ระหว่างที่นอนหลับเป็นกุศลหรืออกุศล หรือเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง คิดว่าเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้ต้องทราบว่า ผลของกรรมตั้งแต่ขณะที่ ๑ คือ ขณะที่ปฏิสนธิ ขณะแรก แล้วกรรมนั้นก็ยังให้ผลต่อไปโดยดำรงภพชาติ ทำให้จิตเกิดดับสืบต่อไว้ ไม่ให้ตาย เพราะฉะนั้น ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ทั้งหมด เพราะกรรมนั้นยังให้ผลอยู่ ถ้ากรรมนี้สิ้นสุดที่จะให้เป็นบุคคลนี้เมื่อไร จิตขณะสุดท้ายจะเกิดขึ้น ชื่อว่า จุติจิต ทำกิจเคลื่อนพ้นสภาพความเป็นบุคคลนี้โดยสิ้นเชิง จะกลับมาเป็นบุคคลนี้อีกไม่ได้เลย ตอนหลับ ตื่นขึ้นยังเป็นบุคคลนี้ เพราะเหตุว่ากรรมที่จะทำให้สิ้นสุดยังไม่เกิด จุติจิตยังไม่เกิด

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า กรรมให้ผล คือไม่ใช่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดขณะเดียว นั่นไม่พอ ไม่พอที่จะให้ผลแค่นั้น แต่ยังต้องดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ไว้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดกรรมที่ทำให้เป็นคนนี้

    ขณะที่นอนหลับสนิท ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้คิดนึก อะไรเลยทั้งสิ้น แต่ไม่ตาย เพราะว่าขณะนั้นมีจิตซึ่งเกิดดับทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติ ความเป็นบุคคลนี้ นี่คือผลของกรรมด้วย นอกจากนั้นยังให้ผล คือ เมื่อตื่นขึ้นเห็น เพราะฉะนั้น ขณะนี้จิตเห็นเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม จิตได้ยินขณะนี้เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม ทางที่กรรมจะให้ผลมี ๕ ทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นอกจากนั้นแล้ว จำไว้ได้เลย ไม่ผิดเลย นอกจากนั้นแล้วไม่ใช่วิบากจิต เว้นโดยละเอียดทางมโนทวาร ซึ่งยังจะไม่พูดถึง แต่ให้ทราบว่า วันหนึ่งๆ รับผลของกรรมทางไหน เห็นสิ่งที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม เห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นผลของอกุศลกรรม ได้กลิ่นที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม ได้กลิ่นที่ไม่ดีเป็นผลของอกุศลกรรม วันหนึ่งๆ สังสารวัฏหรือภพชาติก็มีเพียงเท่านี้เอง เกิดมาเมื่อวานนี้ก็เห็น วันนี้ก็เห็น พรุ่งนี้ก็เห็น ชาติก่อนก็เห็น ชาติหน้าก็เห็น วันนี้ก็ได้ยิน เมื่อวานก็ได้ยิน ชาติก่อนก็ได้ยิน ชาติหน้าก็ได้ยิน ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จะให้คนอื่นได้รับผลของกรรมที่ทำ ให้เขาได้รับอะไร ที่ว่าทำบุญไม่ใช่เพื่อตนเอง แต่เพื่อคนอื่นให้เขาได้รับ หมายความว่าอย่างไร จะให้เขาได้รับอะไร

    ผู้ฟัง กุศลเดียว ตามที่เราเขาใจว่า สิ่งที่เป็นวิบากของเรา เราจะไปให้คนอื่นแทนได้ไหม เพราะว่านั่นคือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ คำตอบคือไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นในลักษณะนี้ก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่อุทิศส่วนกุศลให้คนอื่นรู้ และอนุโมทนาได้ ต้องเป็นกุศลจิตของเขาที่ อนุโมทนา

    ผู้ฟัง อันนั้นคือสิ่งที่หนูสงสัย แล้วที่หนูคิดว่า ที่ตอบว่านอนหลับนั้นเป็นกุศล เพราะว่าหนูไม่ได้คิดในช่วงตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งจุติเป็นกระบวนการเดียวกัน เราคิดว่า

    ท่านอาจารย์ ถ้านอนหลับเป็นกุศล ถ้าอย่างนั้นทุกคนนอนหลับก็เป็นกุศลมากๆ ยิ่งหลับนานก็ยิ่งเป็นกุศลมากๆ

    ผู้ฟัง คิดว่าเป็นกุศลแล้วตื่นมาสดชื่น

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ๆ เลย

    ผู้ฟัง อาจารย์จะพูดว่า ตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งจุติจิตเป็นกระบวนการเดียวทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นได้ว่า เราเข้าใจผิดมาก่อนหมดเลย แม้แต่หลับก็คิดว่าเป็นกุศล

    ผู้ฟัง ใช่ ก็ไม่ทราบว่า เราเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ

    ท่านอาจารย์ เราต้องเริ่มศึกษาใหม่หมด

    ผู้ฟัง ผมสงสัยต่อเนื่องว่า ผลของกุศลที่เราได้ทำปัจจุบันนี้ ที่เราจะอุทิศให้กับคนอื่น หมายความว่า ความดีที่เราทำไว้ อยากจะเกื้อกูลให้คนที่ตายไปก็ดี หรือว่าคนอยู่ก็ดี เขาจะได้รับอย่างไร

    ท่านอาจารย์ การอุทิศส่วนกุศลให้ผู้อื่นรู้ และอนุโมทนา ให้เขาเกิดกุศลจิต อนุโมทนา เท่านั้น

    ผู้ฟัง แล้วส่วนตัวเรา เราจะทราบได้อย่างไรว่า เขาได้รับ หรือไม่ได้รับ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทาง อย่างเวลานี้เรากำลังสนทนาธรรม มีใครรู้บ้างว่า คนอื่นเป็น อกุศลจิต

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่เราอุทิศส่วนกุศลให้ใครก็ตาม เราไม่มีทางจะรู้เลยว่า เขาเกิดกุศลจิตอนุโมทนาหรือไม่ แต่เราทำเพื่อเขาจะได้อนุโมทนา แต่จะอนุโมทนาหรือไม่อนุโมทนา ไม่ทราบ

    ผู้ฟัง ดังนั้นเมื่อเราอุทิศให้แล้วก็ปล่อยวางไว้เลย

    ท่านอาจารย์ เราจะไปทำอะไรได้

    ผู้ฟัง เราไม่ต้องคิดว่าเขาจะได้รับหรือไม่ได้รับ เพื่อไม่ให้เป็นอกุศลสำหรับตัวเรา

    ท่านอาจารย์ คิดก็ไม่มีประโยชน์

    ผู้ฟัง ใช่ เรานึกถึงสิ่งที่เป็นอกุศล สมมติว่าผมตอนนี้ผมจะตายแล้ว ผมเลยไปนึกว่า เมื่อวันก่อนไปฆ่ามดตัวหนึ่ง แล้วตายทันที ผมตกนรกใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ตามเหตุตามผล ถ้าจิตเศร้ามองเป็นอกุศลก่อนตาย เพราะกรรมหนึ่งซึ่งเป็นอกุศลกรรมเป็นชนกกรรม เป็นกรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เป็นกรรมที่มีกำลังทำให้จิตนึกถึงอกุศลกรรมนั้น เพราะขณะที่กำลังนึกถึงอกุศลกรรม ไม่ได้ฆ่ามด ฆ่าไปแล้วต่างหาก แต่มานึกถึงการฆ่ามด นี่แสดงให้เห็นว่า กรรมนั้นเป็นกรรมที่มีกำลังที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด จึงเป็นปัจจัยทำให้จิตนึกถึงกรรมนั้น ทำให้จิตเศร้าหมอง เมื่อจุติจิตดับ ปฏิสนธิที่เป็นอกุศลวิบากจิตเกิดทันทีในอบายภูมิ

    ผู้ฟัง แสดงว่าผมตกนรกเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ เป็นช้าง เป็นมด เป็นอะไรก็ได้

    ผู้ฟัง สรุปแล้วว่า ถ้าก่อนตายเราไปนึกถึงอกุศลกรรม

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องทราบว่า การที่เราจะนึกถึงอะไร บังคับไม่ได้เลย เราบังคับให้นึกเวลานี้ บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ แต่กรรมที่ได้กระทำแล้ว กรรมใดเป็นปัจจัย หมายความว่าเป็นปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมนั้นจะมีกำลังทำให้จิตนึกถึงกรรมนั้น

    ผู้ฟัง ก่อนตายเรานึกถึงสิ่งที่ดี แล้วจะดี

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรานึก จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล และอกุศลที่คิดนั้น เพราะว่าขณะที่คิด นั้นบางคนจะไม่รู้เลยว่า เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตที่คิด ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง สมมติว่าใกล้จะตายไม่ได้นึกถึงกรรมที่ไม่ดีของตัวเอง ไปนึกขุ่นใจ เห็นความประพฤติของคนอื่น

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าอะไรทั้งนั้น ต้องมีกรรมที่ได้กระทำสำเร็จแล้วครบองค์ที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดได้ เป็นปัจจัยที่ให้จิตขณะนั้นเศร้าหมองหรือผ่องใส จะเป็นการนึกถึงเรื่องใดก็ตาม หรือไม่นึกก็ได้ เห็นเป็นนิมิตต่างๆ ก็ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลให้คนอื่น ทีนี้ตามที่ได้อ่าน ได้ศึกษามา หรือรับฟังจากบุคคลอื่น อุทิศ หรือว่าผู้ที่จะรับ หรือว่าผู้ที่จะทำกรรม ก็คือสมมติเป็นพระสงฆ์ พระสงฆ์ คนที่จะรับปรารถนา บอกว่า ท่านว่าผู้ที่รับเป็นสื่อกลาง คล้ายบุรุษไปรษณีย์ไม่บริสุทธิ์ แล้วก็ไม่รู้จักวิธีการที่จะอุทิศส่วนกุศลไปให้กับคนนี้ ท่านบอกว่า คนๆ นี้จะไม่ได้รับส่วนกุศลนั้นๆ ผมอุทิศ ผู้ที่รับคือพระสงฆ์ คล้ายๆ กับไปรษณีย์ เขาบอกว่า ถ้าพระสงฆ์รูปนี้ไม่มีวิธี หรือว่าไม่รู้วิธีที่จะ

    ท่านอาจารย์ ไม่บริสุทธิ์

    ผู้ฟัง ไม่บริสุทธิ์ แล้วก็เขาบอกว่า บุคคลคนที่เราจะอุทิศส่วนกุศลนั้นจะไม่ได้รับ เท็จจริงแค่ไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่อนุโมทนา

    ผู้ฟัง ใครไม่อนุโมทนา

    ท่านอาจารย์ ผู้ที่เราอุทิศส่วนกุศลไปให้

    ผู้ฟัง เพราะ

    ท่านอาจารย์ เพราะรู้ว่าไม่บริสุทธิ์

    ผู้ฟัง แต่ถ้าใจของผู้ที่ให้บริสุทธิ์ คนๆ นี้จะได้รับหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ มากน้อยต่างกัน แต่ว่าผู้นั้นจะรู้ว่า การกระทำกุศลอันนั้น ผู้รับเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ขอบคุณมาก

    ท่านอาจารย์ เราจะอุทิศหรือไม่อุทิศ ถ้าเขาสามารถรู้ได้ โดยเราไม่อุทิศ กุศลจิตเขาเกิดอนุโมทนาก็เช่นเดียวกัน เหมือนกับขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ไม่จำเป็นต้องบอก แต่เห็นแล้วอนุโมทนาไหม รู้แล้วอนุโมนาไหม แต่ที่บอกยังมีการอุทิศส่วนกุศล เพราะเหตุว่าอยู่คนละภพ คนละภูมิ เพราะฉะนั้น เราไม่ทราบว่าเขาอยู่ที่ไหน แต่ถ้าอยู่ในภูมิที่สามารถจะรู้ และอนุโมทนาได้ เราก็ทำบุญ และก็อุทิศส่วนกุศล เพื่อให้รู้อย่างเดียว เพื่อเขาจะได้อนุโมทนา ถ้าเขาจะอนุโมทนาก็เป็นกุศลจิตของเขา เพราะฉะนั้น ได้ ไมใช่ได้รับเป็นวัตถุสิ่งของ แต่กุศลจิตเกิด แล้วภายหลังก็กุศลวิบากเกิด เพราะกุศลจิตของตัวเอง

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราทำบุญกับพระสงฆ์ด้วยความศรัทธา สมมติเกิดทราบว่า ประวัติท่านไม่ดี เกิดโกรธ คือมีอกุศลจิต อันนี้ก็กลายเป็นว่าทำบุญได้บาป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะเราเองต่างหากที่เป็นอกุศลจิต เรื่องของอกุศลของท่านเป็นเรื่องของท่าน เรื่องใจเราต่างหากที่จะต้องรู้ว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต เป็นอกุศลจิต เราทำสิ่งที่ดี พอแล้ว ไม่ต้องไปคิดมาก

    ผู้ฟัง มีผู้ถามว่า นาย ก. เขาซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล แล้วเขาถูกรางวัลที่ ๑ เป็นจำนวนมาก ถามว่าขณะนั้น นาย ก. ได้รับผลของบุญนั้นหรือยัง

    ผู้ฟัง ขณะที่รู้ว่าถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่ ยกตัวอย่างใหญ่ๆ ถึงจะเห็น เรื่องผลของบุญ มันชัดเจนหน่อย

    ผู้ฟัง เป็นกุศลวิบาก แต่ขณะที่ซื้อนั้นเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ เห็นสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือผลของการตรวจ มันก็เป็นเพียงตัวหนังสือ ไม่ว่าใครจะเห็น คนที่ไม่ถูกก็เห็น คนที่ถูกก็เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าเป็นกุศลวิบาก หรือเป็นอกุศลวิบาก สำหรับคนนี้เป็นอกุศลวิบาก สำหรับคนนั้นเป็นกุศลวิบาก กล่าวอย่างนั้นได้ไหม ไม่ได้ นั่นคือความเป็นตัวตน แต่ถ้าเป็นสภาพธรรมแล้วเปลี่ยนไม่ได้ ต้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครสามารถที่จะกล่าวได้ว่าขณะที่เห็นสิ่งนั้นเป็นกุศลวิบาก หรือเป็นอกุศลวิบาก อย่างได้กลิ่นปลาร้า บางคนอร่อยมากเลย หอมจริง อีกคนไม่ชอบกลิ่นนี้เลย เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าเป็นกุศลวิบาก หรืออกุศลวิบาก ไม่ใช่ใครตัดสิน ไม่มีคนตัดสินเลย ไม่มีคนตัดสิน ในตำราจะใช้ว่า ที่พอจะประมาณได้ก็คือ คนปานกลาง คนส่วนใหญ่ เป็นอย่างไรก็ควรจะเป็นอย่างนั้น นี่สำหรับคำวินิจฉัย แต่จริงๆ แล้วนั่นก็ยังไม่ได้อีก เพราะว่าจะต้องกว้างไกลไปถึงแต่ละโลก แต่ละประเทศอีก ที่จะเอาใครมาตัดสิน หรือเอาใครมาวัด ถ้าคนส่วนใหญ่นิยมในสิ่งนั้น แต่ว่าลักษณะจริงๆ เขาไม่เป็นอย่างนั้น คือเขาเป็นสภาพที่เป็นอนิฏฐารมณ์ แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะชอบก็ตาม เพราะฉะนั้น ก็ยังไม่สมควรอีกที่จะถือเอาว่าให้คนส่วนใหญ่เป็นคนตัดสิน ด้วยเหตุนี้เรื่องของกรรม และเรื่องของวิบากจึงเป็นเรื่องที่เกินวิสัยที่ใครจะบอกได้ เพราะเหตุว่าเห็นเกิดก่อนชอบหรือไม่ชอบ ก่อนที่จะรู้ว่าเป็นตัวเลขที่ตัวเองถูกด้วย เพราะว่าเห็นดับแล้ว ทางตา

    เรื่องของวิบาก แม้ว่าจะมีทางที่จะรับผลของกรรม คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่แม้กระนั้นก็บอกไม่ได้เลย ว่าสิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ หรือ อิฏฐารมณ์ นอกจากว่าส่วนใหญ่ที่พอจะประมาณได้ คือ สิ่งนั้นเกิดจากกุศลกรรมอย่างหนึ่ง และเกิดขึ้นเพื่อกุศลวิบาก คือ ผลของกุศลกรรมอีกอย่างหนึ่ง ที่เราเห็นดอกไม้สวยๆ เพื่อกุศลวิบากจะเห็น เช่นเดียวกับกลิ่นหอมๆ รสดีๆ เราอนุมานได้เพียงเท่านี้ หรือว่าการประดิษฐ์ทุกสิ่งทุกอย่าง น้ำหอมปรุงพิเศษ ชามีรส หรือว่ามีกลิ่นดอกไม้ต่างๆ ไม่ใช่เพียงแต่กลิ่นชาเฉยๆ แต่ยังมีความวิจิตรที่จะผสมส่วนของดอกไม้กลิ่นต่างๆ เข้าไปด้วย การกระทำใดๆ ก็ตามเพื่อกุศลวิบาก เพื่อความประณีตขึ้น อันนั้นเราพอจะอนุมานได้

    ผู้ฟัง ถ้ายกตัวอย่างลักษณะของจิตที่เป็นวิบากจิตที่ทำกิจเห็น ได้ยิน ก็ไม่สงสัย เพราะว่าอธิบายลักษณะรู้แจ้งอารมณ์ แต่ปัญหาที่เกิดคือ การรู้อารมณ์ของโมหมูลจิต เนื่องจากเป็นเพราะทำชวนจิต ใช่ไหม ที่ทำให้มันไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ กุศลจิต อกุศลจิต โลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ทำชวนกิจทั้งหมด

    ผู้ฟัง นั่นสิ จึงไม่ปรากฏลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ลักษณะของจิตจริงๆ แล้วต้องเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์

    ผู้ฟัง ทีนี้โมหมูลจิต

    ท่านอาจารย์ ด้วยเจ้าค่ะ ไม่ว่าจะเป็นโมหมูลจิตหรือวิบากจิต หรือกำลังนอนหลับสนิทก็ตามแต่ แต่ว่าลักษณะของจิตแล้วต้องเป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะในการรู้ รู้อย่างเดียว ไม่ทำอย่างอื่นเลย แต่วันหนึ่งๆ เราไม่ได้รู้ว่า นี่เป็นจิตที่กำลังเห็นอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ปรากฏจริงๆ ชัดแจ้ง เพราะจิตกำลังเห็น วันหนึ่งๆ เราไม่เคยทราบอย่างนี้ เห็นก็เห็นไป เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าเรารู้ลักษณะที่เป็นอินทรีย์ของจิตไม่ได้ ทั้งๆ ที่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย จิตจะต้องเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ลักษณะของจิตนั้นรู้จริงๆ รู้โดดเดี่ยว แล้วแต่ว่าอารมณ์ ขณะนั้นจะเป็นอะไร แต่เพราะเหตุว่าถ้าเป็นวิบากจิต เช่น ขณะปฏิสนธิเป็นผลของกรรม ซึ่งไม่ทันที่จะเกิดลืมตาขึ้นเห็น หรือว่าได้ยินเสียง ยังอยู่ในครรภ์ ตั้งแต่ขณะแรกเกิด ไม่มีทางที่จะรู้อารมณ์ใหม่ คือ อารมณ์ของโลกนี้เลย เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์จริง จิตจะเปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้เมื่อเทียบกับเจตสิก จิตต้องเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ แม้กำลังหลับก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากมาย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วยทำหน้าที่ต่างๆ กัน แต่อารมณ์ไม่ปรากฏ เพราะว่าเป็นภวังคจิตสืบต่อจากปฏิสนธิจิต เพราะฉะนั้น จิตต้องเป็นใหญ่เป็นประธาน ยู่ตลอด ไม่ใช่เจตสิก

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าในขณะจิตหนึ่งที่มีการเห็นการได้ยิน หรือจะหลับ หรือจะตื่นก็ตาม สภาพที่เกิดร่วมกันนั้นโดยจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน ส่วนเจตสิกแต่ละเจตสิก ก็แล้วแต่ว่าเจตสิกใดเป็นอินทริยะ คือเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ เจตสิกใดไม่เป็น แล้วแต่สภาพด้วย อย่างเวทนาเจตสิก เป็นเจตสิกที่รู้สึก ถ้าเป็นโทมนัส ความเสียใจ ขณะนั้นจะเห็นได้ว่า ชัดเจนแจ่มแจ้งมากกว่าจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เวทนาเป็นอินทรีย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอินทรีย์ต่างกันว่าขณะใด ขณะนั้นสามารถที่จะมีลักษณะของอินทรีย์ใดปรากฏ ซึ่งจิตเป็นมนินทรีย์ตลอด ตั้งแต่เกิดจนตาย แล้วก็มีเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วย บางเจตสิกก็เป็นอินทรีย์ เพราะฉะนั้น เมื่อเจตสิกใดที่เป็นอินทรีย์ มีกำลังที่จะปรากฏ ขณะนั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ แต่ลักษณะของจิตต้องเป็นใหญ่เป็นประธาน ด้วยเหตุนี้มหาสติปัฏฐาน ๔ จึงมีทั้งจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าแยกลักษณะของจิต ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานตลอดมาตั้งแต่เกิดจนตาย ส่วนอินทรีย์อื่นก็สลับกันเกิดกับจิต บางครั้งเป็นสุขก็เป็นสุขินทรีย์ บางครั้งเป็นทุกข์ก็เป็นทุกขินทรีย์ บางครั้งก็ป็นอุเบกขา ซึ่งเป็นอินทรีย์ด้วย เพราะว่าขณะนั้น อุเบกขากำลังเป็นใหญ่ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนลักษณะความเป็นใหญ่ของความรู้สึกไม่สุขไม่ทุกข์ ให้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เพราะว่าขณะนั้นกำลังเป็นความรู้สึกที่ไม่สุขไม่ทุกข์

    ผู้ฟัง โอกาสที่อุเบกขาจะเป็นอุเบกขินทรีย์ ควรจะเป็นอุเบกขินทรีย์ เฉพาะในกุศลจิตหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ตามธรรมดาแล้ว เวทนาทั้งหมดเป็นอินทรีย์ ถ้าคนที่เขามีความรู้สึกเฉยๆ ใครในโลกนี้ ก็จะไปเปลี่ยนลักษณะของอุเบกขินทรีย์ในขณะนั้นให้เป็นสุขินทรีย์ไม่ได้ คือความเป็นใหญ่ของเขาเป็นอย่างนั้น

    ผู้ฟัง อันนี้ย้อนมาถึงการระลึกถึงสภาพธรรมที่ปรากฏ โอกาสที่จะมีการระลึกลักษณะของโมหมูลจิต จะต้องใช้เวลาอีกนานไหม

    ท่านอาจารย์ โดยมากคนจะคิดว่าเมื่อไรจะรู้เจตสิกนั้น หรือว่าเมื่อไรจะรู้เจตสิกประเภทนี้ แต่ตามความจริงแล้ว พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนเรื่องละเจ้าคะ ตั้งแต่ต้นทีเดียว ถ้าตั้งจิตไว้ไม่ชอบ เกิดมีเครื่องเนิ่นช้า ขณะนั้นจะลืมว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ได้ไปตามทางของการละ เพราะเกิดความอยาก หรือเกิดความสงสัยว่าเมื่อไรจะรู้สิ่งนี้ หรือว่าต้องการจะรู้สิ่งนั้น แต่จริงๆ แล้วพระพุทธศาสนาสอนให้คนที่ไม่เคยเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567