ปกิณณกธรรม ตอนที่ 351


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๑

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นอกุศลกรรม คือ กรรมที่ไม่ดี การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ อะไรก็ตามแต่ ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน เบียดเบียนคนอื่น ซึ่งเป็นอกุศลกรรม เมื่อกรรมซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ดีมี ผลก็คือว่าเกิดในภูมิที่ไม่ดี หรือว่าถ้าเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ในภูมิที่ดีแล้ว เราไม่ได้มีความสุขตลอดชีวิต บางขณะเราก็จะมีการเห็นสิ่งที่ไม่น่าดู ได้ยินเสียงที่ไม่น่าฟัง ได้กลิ่นที่ไม่น่าพอใจ ลิ้มรสที่ไม่อร่อย หรือว่าการกระทบสัมผัสสิ่งซึ่งไม่ทำให้สบายกาย สิ่งต่างๆ เหล่านั้น ขณะนั้นเราจะไม่ทราบเลยว่า เป็นผลของกรรมของเราเองที่ได้กระทำแล้ว

    เรื่องของกรรมเป็นเรื่องซึ่งยากที่จะเห็น เพราะเหตุว่าขณะที่กำลังกระทำกรรมก็ไม่รู้ว่า กรรมนี้จะให้ผลเมื่อไร แล้วเวลาที่กรรมให้ผล ซึ่งเกิดมาแล้วในชาตินี้แต่ละขณะที่กำลังเห็นเป็นผลของกรรมทั้งนั้น ที่กำลังได้ยินนี้ก็เป็นผลของกรรม เราก็ยังไม่สามารถจะรู้ได้ว่า เป็นผลของกรรมใดในชาติไหน แสดงให้เห็นว่า กรรมเป็นสภาพที่ปิดบังจริงๆ บุคคลที่กำลังกระทำกรรมก็ไม่รู้ว่า เป็นกรรม แล้วแม้กรรมให้ผลก็ยังไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ผลของกรรมที่ได้รับในขณะนี้เป็นผลของกรรมในชาติไหน อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ปกปิด แต่เป็นเรื่องที่พิจารณาให้เข้าใจในเหตุผลได้ว่า ถ้าเป็นกุศลกรรมก็ต้องเป็นเหตุให้กุศลวิบากจิตเกิดขึ้น ถ้าเป็นอกุศลกรรมก็ต้องทำให้อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้น แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะเลือกได้เลยที่จะให้มีแต่กุศลวิบาก ซึ่งเป็นผลของอดีตกรรมเท่านั้นในชาตินี้

    ชีวิตของสัตวโลก จึงแสดงให้เห็นถึงผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว แล้วก็ยังแสดงให้เห็นถึงกรรมที่กำลังกระทำอยู่ซึ่งจะให้ผลข้างหน้า โดยมากคนมักจะเกิดความสงสารคนที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก ได้รับอุบัติเหตุ หรืออย่างช้างฮันนี่ หรือว่าคนที่ถูกแก๊สลวกที่ถนนเพชรบุรี อะไรพวกนี้ ทุกคนก็รู้สึกว่ามีความสงสาร เด็กเอธิโอเปียบ้าง อะไรบ้าง ใครก็ตามที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก มีความรู้สึกว่า ไม่อยากให้เขาได้รับสภาพอย่างนั้น แต่เคยคิดบ้างไหมว่า สงสารเขาช้าไปหรือเปล่า ถ้าสงสารตั้งแต่ขณะที่เขากำลังทำอกุศลกรรม แทนที่จะไปรังเกียจ หรือเกลียด หรือโกรธ หรือชัง ว่าขณะนี้คนนี้กำลังทำอกุศลกรรม เพราะเหตุว่าใครก็ตามที่ทำอกุศลกรรม คนนั้นต้องได้รับผลของกรรมของเขา ไม่ใช่เราจะเป็นฝ่ายไปได้รับอกุศลกรรมที่เขาทำ ถ้าสงสารผลที่เขาจะได้รับข้างหน้า จากกรรมที่เขากำลังทำอยู่ ก็เท่ากับว่าเรามีความกรุณา หรือว่ามีความเมตตาในบุคคลซึ่งกำลังทำอกุศลกรรม ขณะนั้นเป็นกุศลจิต ลองคิดถึงจิตของเรา เวลาที่เราเห็นคนทำอกุศลกรรม แล้วเราเกลียด เราโกรธ ขณะนั้นจิตเป็นอะไร จิตของเราเองเป็นอกุศล ไม่ต้องไปกังวลกับกรรมที่เขาทำ เพราะว่าเขาต้องได้นับผลของกรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องของเรา แต่อย่างนั้นด้วยความไม่รู้ ก็ยังเกิดความโกรธบ้าง หรือบางคนก็บอกว่า เมื่อไรจะถูกลงโทษ เมื่อไรจะตาย หรือเมื่อไรจะเป็นอยางนั้น เมื่อไรจะเป็นอย่างนี้ ในขณะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า จิตในขณะนั้นเป็นอกุศลโดยไม่เห็นโทษ แล้วก็ต้องมีฉันทะ ความพอใจ ที่จะเป็นอย่างนั้นด้วย เพราะเหตุว่าบางคนก็ต้องบอกว่า ต้องให้เป็นอย่างนั้น คนอื่นบอกว่าเป็นอกุศลก็บอกไม่ได้ ต้องเป็น คือมีฉันทะพอใจที่ให้อกุศลจิตของตนเองเกิดขึ้นเป็นไปในขณะนั้น ด้วยความไม่รู้ในสภาพของจิตซึ่ง เป็นอกุศลที่จะทำให้เกิดอกุศลวิบากข้างหน้า

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่มีความรู้จริงๆ ในเรื่องสภาพธรรม ในเรื่องจิตแต่ละขณะแล้ว เราสะสมอกุศลด้วยความไม่รู้ แต่ขณะใดที่ปัญญาเกิด เราก็จะมีความเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น แล้วก็รู้ว่า ไม่มีใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรของคนนั้นเลย แล้วเรามากลัวเจ้ากรรมนายเวรที่ไหนกัน ทำไมเราไม่กลัวกรรมไม่ดี แทนที่จะไปกลัวเจ้ากรรมนายเวร เราควรจะกลัวอกุศลกรรม แล้วก็มีเจตนาที่มั่นคงที่จะละเว้นอกุศลกรรม ไม่ใช่ไปกลัวเจ้ากรรมนายเวร แต่กลัวอกุศลกรรม เห็นโทษแล้วก็ไม่กระทำ

    บางคนก็มักจะถามว่า ทำอย่างนี้ได้บุญมากไหม หรือว่าเป็นอย่างไรๆ เป็นกรรม โทษขนาดไหน คล้ายๆ กับว่า ไม่อยากจะได้รับผลของกรรมที่ไม่ดี แต่ไม่ได้กลัวหรือว่าเห็นโทษของกิเลส หรือเห็นโทษของอกุศล ซึ่งความจริงแล้วแทนที่จะไปกลัวอกุศลกรรม ถ้าเพียงแต่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็กั้นทุจริตกรรมแล้ว เราจะไม่มีสิทธิกำเริบถึงกับจะไปทำอกุศลกรรมใดๆ ได้

    เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ควรจะเห็นโทษของกิเลส แล้วก็จะเห็นโทษของอกุศลกรรม แทนที่จะไปกลัวเจ้ากรรมนายเวร ซึ่งขณะนี้ในที่นี้มีใครจะรู้บ้างว่าใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใคร ก็ไปนั่งกลัว ไปนั่งแผ่อุทิศ นั่งทำบุญอุทิศให้ แต่ในที่นี้ก็ยังไม่รู้เลยว่า ใครเป็นเจ้ากรรมนายเวรของใครบ้าง เพราะฉะนั้น แทนที่จะเกลียด จะโกรธ จะชัง ก็ควรที่จะมีเมตตากรุณากับทุกคนเสมอกัน แล้วก็ไม่ต้องไปกลัวเจ้ากรรมนายเวร เพราะเหตุว่าไม่มี

    ผู้ฟัง ที่ว่ากรรมเป็น ...

    ท่านอาจารย์ กรรมเป็นเหตุ เป็นจิตขณะหนึ่ง ถ้าห้ามได้ หรือช่วยเขาได้ก็ดี ทำได้หรือเปล่า ถ้าทำได้ก็ดี ขณะนั้นเป็นกุศลจิตที่คิดจะช่วยเหลือ ที่จะตักเตือน เพราะฉะนั้น บางคนคิดว่า ความรู้ต่างๆ ที่เป็นไปในทางโลก เป็นต้นว่า ถ้าทำอาหารอย่างนี้อร่อย หรือว่าถ้าป้องกันอย่างนี้ไฟจะไม่ไหม้ พวกประกันชีวิตเขาก็รู้ดี พวกประกันไฟเขาก็รู้ดี แต่ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า หรือเป็นแต่เพียงความต้องการที่จะไม่ให้ไฟเกิดขึ้น มันต้องยังคงเป็นความต้องการอยู่หรือเปล่า ที่จะไม่ให้เกิดภัยอันตรายต่างๆ

    นี่ก็เป็นเรื่องละเอียดมาก เพราะฉะนั้น ต้องยึดหลักว่า ถ้าไม่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนาแล้วก็ไม่ใช่กุศล

    สติปัฏฐานต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา มี ๒ อย่าง คือ สิ่งที่ปรากฏเป็นสีสันวัณณะ เป็นรูปธรรม ไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่คน เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เหมือนสิ่งที่ปรากฏในกระจก เวลาเรามองเข้าไปในกระจก เราคิดว่ามีคนอยู่ในนั้น ทุกคนส่องกระจกกันทุกวัน แล้วก็คิดว่า มีตัวคนอยู่ในกระจกนั้น ลืมตัวจริงๆ ข้างนอกด้วยซ้ำไป เห็นเป็นเรา เพราะว่าเราไม่มีโอกาสจะเห็นตัวเองเลย แต่พอส่องกระจกแล้วก็ยึดถือ ภาพในกระจกนั้นว่า เป็นเรา แล้วสิ่งที่อยู่ในกระจกก็มีมากมายหลายอย่าง แล้วแต่ว่าในที่นั้นจะมีอะไรบ้าง มีโต๊ะ มีตู้ มีกระดาษ มีอะไรในกระจก แต่ว่าความจริงไม่มีอะไรเลย ถ้ากระทบสัมผัสก็เพียงแข็ง เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏในกระจก ไม่ใช่ของจริง ไม่มีจริงฉันใด ขณะนี้ทางตาที่กำลังเห็นเป็นคนเป็นสัตว์ ก็เพราะนึกคิด ถ้าไม่นึกคิดแล้วก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้น จะไม่รวมความนึกคิดทางใจกับสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็ยังคงยึดถือว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เพราะเหตุว่าลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตานั้น เป็นรูปธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่ปรากฏทางอื่น ซึ่งต่างกับเสียง ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ระลึกอย่างนี้ จึงจะเป็นสติปัฏฐาน แต่ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่ระลึกอย่างนี้ ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ทางหู เสียงที่กำลังปรากฏกับความนึกคิดถึงคำ และความหมายต่างๆ ต้องแยกกัน ขณะที่เสียงปรากฏ ขณะที่กำลังคิดเป็นเรื่องราว เป็นกุศลอกุศลต่างๆ นั้น ไม่ใช่ขณะที่กำลังได้ยิน เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้น ไม่ได้ระลึกลักษณะของเสียงกับสภาพที่ได้ยิน เพื่อที่จะรู้ว่า เสียงไม่ใช่ได้ยิน เสียงเป็นสิ่งที่ปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยิน มีธาตุรู้เสียง คือ ได้ยินเสียง ถ้าระลึกถึงธาตุที่กำลังรู้ คือได้ยิน ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน ถ้ามิฉะนั้นแล้วก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน คือต้องรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จึงจะเป็นสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง อาจารย์กล่าวว่า เป็นปกติ ผมไม่ทราบว่าเป็นปกติ และมีความหมายลึกซึ้งเพียงใด คือคำว่า “ปกติ” ถ้าหากว่าผมอยากจะสำรวม หมายความว่า มีความรู้สึกว่า ผมควรจะสำรวมในอายตนะต่างๆ เป็นต้นว่า เรื่องอาหาร ถ้าหากว่าผมไม่อยากกินมาก สำรวมในการกินของผม ผมไปกินอาหารที่มีรสมาก หรือใช้น้ำจิ้ม หรือใช้อะไร จะถือว่าปกติไหม หรือถ้ามีน้ำจิ้มอยู่ข้างหน้า ผมก็กินเต็มที่เลย แบบนั้นจะถือว่าเป็นปกติไหม อย่างไรถึงว่าปกติ

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว รู้สึกว่าเป็นปัญหาซึ่งคนคิดถึงทางสายกลางบ้าง แล้วก็จะสำรวม หรือจะสำรวมอย่างไร แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องจะทำ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่จะต้องแก้ไขว่า ต้องเข้าใจจริงๆ ในสัจจญาณ คือ สัมมาสติเป็นสภาพที่ระลึกทันที เป็นปกติในขณะนี้ ไม่ใช่เราจะทำ เพราะฉะนั้น เวลาใช้คำว่า ผมจะสำรวมอย่างไร ในความคิดมีความรู้สึกว่าจะทำ คือจะสำรวมอย่างไร หรือว่าจะทำอย่างไร โดยมากคนที่ได้ยินได้ฟังเรื่องของการปฏิบัติ จะแปลเป็นภาษาไทยว่า “ทำ” เพราะฉะนั้น ในใจของเขา เขาคิดว่าต้องทำ แม้แต่ว่าในพระไตรปิฎกจะกล่าวว่า สังวรทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เขาก็คิดว่าต้องทำอีกเหมือนกัน แต่ว่าตามความจริงแล้ว ถ้าเรายังมีความเข้าใจว่าต้องทำ นั่นคือลักษณะของตัวตน มีตัวตนที่จะทำ ไม่ว่าจะดู หรือไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม แต่ถ้าในขณะนี้ทางตาที่เห็นธรรมดาๆ อย่างนี้ ไม่ได้คิดจะทำอะไรเลย แต่ระลึกได้ว่า เป็นสภาพรู้ ขณะที่กำลังระลึกว่า เป็นสภาพรู้ นั่นคือตัวสติ หรือว่าแข็งที่กำลังกระทบสัมผัส เพราะว่าเราก็สัมผัสแข็ง แล้วก็มีแข็งปรากฏ แต่ก็ด้วยความหลงลืมสติ คือ แข็งปรากฏแล้วก็หมดไป แล้วก็หมดไป โดยไม่มีความรู้ในลักษณะที่แข็ง หรือในสภาพที่แข็ง นั่นคืออาการของหลงลืมสติ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ไม่ใช่ว่าเราจะทำ หรือว่าเราจะสังวร หรือเราจะคิดว่า จะจิ้มดี หรือไม่จิ้มดี หรือจะจิ้มไปให้หมดเลย หรืออะไร แม้แต่ความคิดในขณะนั้นก็ต้องทราบว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีสภาพธรรมเลยสักขณะเดียวซึ่งไมได้เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะเหตุว่า ถ้าย่อชีวิตทั้งชีวิตให้สั้นๆ ลงจนกระทั่งเหลือเพียงขณะจิตเดียว เราจะเห็นได้จริงๆ ว่า ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรกับขณะจิตนี้ได้เลย เช่น เห็นในขณะนี้ ก่อนที่เราจะคิดไปทำขึ้นมาก็เห็นแล้ว หรือได้ยิน ก่อนที่เราจะไปทันคิดสังวรอะไร ก็มีการได้ยินเกิดขึ้นแล้ว

    ปัญญาก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีการทำ ไม่มีตัวตนที่ทำ แต่มีสติที่ระลึก แล้วก็จะเห็นความต่างกันว่า ขณะที่สติเกิด ไม่ใช่ขณะที่หลงลืมสติ เพราะว่าขณะที่หลงลืมสติก็แข็งธรรมดา แต่ไม่มีความรู้ในลักษณะที่แข็งกับในสภาพที่รู้แข็ง นี่คือแข็งธรรมดา เด็กๆ ก็ตอบได้ เผ็ด เปรี้ยว หวาน มัน อ่อน เสียง อะไรพวกนี้ก็ตอบได้หมด แต่นั่นไม่ใช่ลักษณะของการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ที่เราใช้คำว่า ปรมัตถธรรม สภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่เรียกชื่อ สภาพธรรมก็เกิดขึ้นทำกิจการงาน ตั้งแต่เกิดก็คือสภาพธรรมเกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิ แล้วก็ดับไป แล้วต่อจากนั้นสภาพธรรมก็เกิดขึ้นอีก คือ จิต เจตสิกต้องเกิดสืบต่อจากขณะแรก เป็นขณะที่ ๒ ทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติจากขณะนั้นจนถึงขณะนี้ แล้วต่อๆ ไปในสังสารวัฏ ไม่มีวันจบ คือไม่มีตัวตนทำ แต่ว่ามีสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ทำกิจ เช่น ในขณะนี้ สภาพธรรมกำลังเกิดขึ้นทำกิจเห็น นี่แน่นอนที่สุด แล้วเราก็ฟังมาว่า เป็นปรมัตถธรรม แล้วก็ไม่ใช่ตัวตน แล้วก็เป็นแต่เพียงธาตุรู้ หรืออาการรู้ แต่กว่าเราจะถึงลักษณะที่เป็นธาตุรู้ อาการรู้ เราต้องไม่ลืม แล้วก็มีปัจจัยให้สติเกิด ระลึกบ่อยๆ ถึงไม่บ่อยก็ไม่เป็นไร เพราะว่าบ่อยไม่ได้ในตอนต้นๆ ข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า อย่าไปติดสติ คืออย่าไปอยากให้มีสติ แต่ให้รู้ว่า ขณะใดสติเกิด ขณะใดหลงลืมสติ เพราะเหตุว่าเครื่องล่อของโลภะ หรืออวิชชานั้นมีมาก ไม่อยากอย่างนั้น ก็ต้องอยากอย่างนี้ พอรู้เรื่องสติก็อยากให้สติเกิด ถึงกับบางคนถามบ่อยที่สุดเลยว่า ทำไมสติถึงได้เกิดน้อย นี่คำถามหนึ่ง และอีกคำถามหนึ่งก็คือ ทำอย่างไรสติถึงจะเกิดมาก เพียงพูดแค่นี้ก็ส่องไปถึงว่า อะไรทำให้กล่าวอย่างนี้ ถ้าไม่ใช่โลภะ เพราะฉะนั้น โลภะก็อยู่เป็นประจำ ไม่ชอบทางน้ำจิ้ม ก็มาเปลี่ยนเป็นสติ อยากจะให้มีสติมากๆ อะไรอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่อดทน แล้วก็ใจเย็น แล้วก็เข้าใจคำว่า “บารมี” เพราะเหตุว่าถ้าเราไม่อดทนพอ โลภะกับอวิชชาก็พาเราให้ไปทำอย่างอื่น เช่น จะไปทำสำรวมบ้าง ไปนั่งหลายๆ ชั่วโมง หรือว่าพยายามที่จะทำอย่างหนึ่ง อย่างใด ซึ่งขณะนั้นให้ทราบว่าเป็นตัวตนทั้งหมด ลักษณะของสติ คือ การระลึกตรงลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ซึ่งกำลังมีอยู่เดี๋ยวนี้ ทุกทาง ทางตาก็เป็นปรมัตถธรรม ทางหูก็เป็นปรมัตถธรรม ก็ต้องฟังบ่อยๆ

    ผู้ฟัง ผมก็ฟังบ่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันที่อาจารย์กล่าว ผมก็ได้ฟังมานานแล้ว ผมก็เข้าใจว่า โดยความชื่นชอบ ผมจำ และเข้าใจ ผมก็เข้าใจที่อาจารย์พูด แต่ในขณะเดียวกันที่อาจารย์ให้ระลึกถึงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นที่เป็นปรมัตถ์ เราไม่สามารถที่จะหยุดได้ว่า สภาพที่เราเห็นเป็นแต่ทางตาเท่านั้น เสียงที่ได้ยินเพียงแต่ทางหูเท่านั้น พอเราเห็นทางตา เราก็ทราบทันทีว่าเป็นบุคคลไหน เป็นผู้หญิง ผู้ชาย เป็นชาติไหน เสียงเหมือนกัน เราได้ยินเป็นเสียง มอเตอรไซด์ เป็นเสียงรถทันทีเลย เราไม่สามารถไปหยุด

    ท่านอาจารย์ ถ้าหยุดก็ผิด เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้ว เราจะรู้ได้ว่าเรามีอวิชชา แล้วก็มีความไม่รู้อย่างมากมาย เพราะเหตุว่าเวลานี้จิตเกิดดับสืบต่อกันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการฟังให้เข้าใจว่า ทางตา ที่ได้ยินได้ฟังมาบ่อยๆ ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนี้เอง ลองเข้าใจคำนี้ว่า จริงหรือเปล่ามีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่เราเคยรู้ว่าเป็นคน แต่เราก็สามารถที่จะเริ่มต้น ที่จะเข้าใจว่า ที่เราเคยเป็นคน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นอะไร เป็นดอกกุหลาบ เป็นอะไร ก็เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาซึ่งคนตาบอดไม่มีทางที่จะเห็นเลย

    ลักษณะของรูปนี้ ธาตุนี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีจริง ทุกครั้งที่มีการเห็น จะต้องมีสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา แล้วตอนหลังเราจะค่อยๆ รู้ว่า ขณะที่รู้ว่าเป็นอะไรก็คือคิดนึก แต่ว่ามันจะไม่แยกออกจากกันทันทีอย่างใจที่เราได้ยินได้ฟังมา แต่เราจะเริ่มรู้ว่าในวันหนึ่งๆ เราเคยระลึกบ้างไหมว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ

    นี่คือจุดเริ่มต้นของการฟัง คือเริ่มระลึกว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ เคยเห็นเป็นคนก็เคยเป็นคน แต่ว่าขณะหนึ่ง สองขณะที่จะระลึกว่า สิ่งนี้ปรากฏ หรือเป็นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา เหมือนเงาในกระจก มีของในกระจกมากมาย แต่เราไปจับดู ไม่มีอะไรเลย เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน เหมือนเงาในกระจก ถ้าจับดูก็แข็ง แต่ว่าเวลาที่เราไม่กระทบสัมผัส เราก็เห็นเป็นคน เพราะฉะนั้น ต้องแยกจริงๆ ต้องรู้จริงๆ ว่า ทางตาอย่างหนึ่ง ทางหู อย่างหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้นทางกาย อย่างหนึ่ง นี่คือการอบรมปัญญา

    ผู้ฟัง ในจุดนี้ ผมเห็นว่าสำคัญที่สุด แล้วเป็นสิ่งที่ผมพยายามที่จะเข้าใจ ผมถึงได้ติดตามอาจารย์มาถึงจนกระทั่งบัดนี้ เพราะในจุดต่างๆ เหล่านี้ ผมจะไม่เชื่อในสิ่งที่อยู่ไกลตัวออกไป ผมได้คุยกับอาจารย์สมพรว่า ในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ผมก็เห็นว่าอดีตผ่านมาแล้ว ถ้าพูดถึงชาติก่อน ชาติที่ผ่านมา ผมก็เห็นว่าผ่านมาแล้ว เราผ่านมาจากเชียงใหม่มาถึงเชียงรายแล้ว ตอนเช้าเราทานอาหารแล้ว เรานั่งรถมาแล้ว เราแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว อนาคตเราก็ยังไม่เป็นเหตุปัจจัยก็ยังไม่เกิดขึ้น ปัจจุบันนี้ต่างหากสำคัญ ถ้าหากว่าพูดถึงว่า ชาติก่อน สี่อสงไขยมหาแสนกัป อะไร จุดนั้นผมว่าเป็นจุดที่ห่างตัว ผมไม่ได้มาบอกว่าจริงไม่จริงอย่างไร แล้วผมบอกว่าในขณะนี้ต่างหากที่สำคัญ

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าคุณชาญณรงค์จะถอยจากขณะนี้ไปทีละหนึ่งขณะ มันก็หลายหมื่นแล้ว หลายแสนแล้ว ด้วย

    ผู้ฟัง แล้วหลายหมื่น หลายแสนอะไร

    ท่านอาจารย์ ก็ขณะ ขณะจิต

    ผู้ฟัง ขณะจิตหรือ

    ท่านอาจารย์ ก็เกือบจะถึงแสนโกฏ มันก็จะเกิดขึ้นอย่างนี้แหละ ต่อให้อีกแสนโกฏิกัปป์ เราก็จะไม่พ้นจากการเห็น และขณะต่อไปก็เห็นอีก มันก็คือเห็นทางตา

    ผู้ฟัง ในจุดนี้ เป็นจุดที่สำคัญจุดหนึ่ง ที่ผมติดใจมากคือ ปรมัตถสัจจะกับสมมติสัจจะ มีรอยเชื่อมตรงจุดไหน

    ท่านอาจารย์ ไม่มี หมายความว่า สมมติสัจจะนั้น ไม่มีปรมัตถ์เลย

    ผู้ฟัง แต่ว่าพอเราเห็นปุ็บ ตาเราเห็นรูปปุ็บ แต่หลังจากนั้นเรานึกคิดว่ารูปนี้เป็นใคร นั้นเป็นสมมติสัจจะ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า วิถีจิตจะเกิดดับสืบต่อจากทางตาไปถึงทางใจ จากทางหูไปถึงทางใจ รวดเร็วมาก และก็สลับกันจนกระทั่งเหมือนกับมีคนที่กำลังนั่ง แล้วก็ทำอะไรต่างๆ

    ถ้าจะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ แล้ว ก็คือเรื่องลึกซึ้งที่เรารู้ว่า ไม่ผิดปกติเดี๋ยวนี้เลย แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ คือ สภาพธรรมเป็นอย่างนั้น ใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมไม่ได้เลย อย่างสิ่งที่ปรากฏทางตาเดี๋ยวนี้ จะให้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เปลี่ยนไม่ได้ เป็นอย่างนี้ คือ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าอวิชชาไม่สามารถที่จะเข้าใจ การเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมากของจิตแต่ละขณะ เพราะว่าถ้าจิตเกิดดับช้า ขณะทางตาดับแล้ว มันก็สบาย เราก็ไม่ต้องมานั่งยึดถือว่า เป็นตัวตน แต่เพราะเหตุว่าจิตต่อไปสืบต่อเร็วมาก แล้วไม่ใช่แต่เฉพาะทางตาด้วย ต่อไปถึงทางใจ กลับไปถึงทางตาอีก ต่อไปถึงทางใจ ถึงทางหูอีก ก็เลยเป็นโลกที่แน่น เหมือนกับว่า เป็นโลกที่เที่ยง แต่จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนาม อย่างศาลาทั้งหลัง เราก็คิดว่าคงจะเที่ยง ไม่เห็นเกิดดับ บางคนก็บอกว่า เวลาดับ ศาลาทั้งหลังจะดับไปได้อย่างไร คือเขาไม่เข้าใจรูปแต่ละรูปซึ่งจะต้องแยกออก เพราะว่าสิ่งที่เที่ยงทั้งหมดไม่มี แม้แต่ศาลาทั้งหลังก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ทุกกลาป

    ปัญญาจริงๆ ก็สามารถที่จะกระทบสัมผัส แล้วก็เมื่อปัญญาจริงๆ เกิดขึ้นก็รู้ว่า สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ สิ่งนั้นต้องเกิดมีขึ้น อย่างแข็ง เรากระทบทุกวัน ดูเหมือนกับว่า เก้าอี้มันอยู่ตรงนี้ พร้อมที่จะให้เรากระทบ กระทบเมื่อไร เก้าอี้มันก็แข็งเมื่อนั้น แต่ไม่ใช่ เพราะเหตุว่า จิตแม้แต่จะเกิดขณะหนึ่งก็มีเหตุปัจจัย แล้วรูปแข็งที่นี่ แม้แต่ที่จะเกิดเป็นรูปแข็ง ก็ต้องมีเหตุปัจจัย คือ จะเกิดจากกรรม หรือจะเกิดจากจิต หรือจะเกิดจากอุตุ หรือจะเกิดจากอาหาร

    เวลาที่เป็นปัญญาที่รู้ชัดประจักษ์แจ้ง พอสภาพธรรมใดก็ตามปรากฏทางทวารไหน ปัญญานั้นรู้ในขณะที่สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น แล้วก็รู้ถึงกลาปต่างๆ นี่คือการรู้จริงๆ ว่า ที่ว่าเกิดดับนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร แต่ขณะนี้กำลังเกิดดับจริงๆ ชั่วขณะที่กระทบแล้วสามารถที่จะรู้ได้ ปรากฏให้รู้ได้ เพราะว่าไม่ใช่มีกลาปเดียวที่ถูกสัมผัส เพราะฉะนั้น จิตก็เกิดดับ และก็สามารถที่จะรู้ความต่างกัน ก่อนนั้นต้องรู้กลาปก่อน สัมมสนญาณ รู้กลาป

    ผู้ฟัง สัมมสนญาณรู้กลาป

    ท่านอาจารย์ อุทยัพพยญาณรู้ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ที่ขาดสันตติ ต้องมีการเกิดขึ้น มีการดับไป

    ผู้ฟัง อันนี้มันไม่ใช่แข็งรอเราตลอดเวลา แต่ที่เราไปรู้แข็ง มันก็เป็นแต่ละขณะๆ ถูกไหม อันนี้เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง หมายความว่า ถ้าเรารู้แข็งตลอดเวลา แสดงว่า จิตต้องเกิดติดต่อตลอดเวลา แต่ธรรมชาติของจิตคงไม่ใช่เป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ จิตจะต้องเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว

    ผู้ฟัง สืบต่อกัน แต่คงจะมีอย่างอื่นมาเป็นอารมณ์มาบ้าง เพราะฉะนั้น ขณะที่จิตมีอารมณ์อย่างอื่น นอกจากทางกายทวาร ขณะนั้นแข็งต้องไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ที่กระทบ แข็งแค่นี้ แต่ว่าจริงๆ จิตเกิดดับที่รู้แข็งพร้อมทั้งกลาปต่างๆ เท่าไร ที่กำลังกระทบสัมผัส ก่อนที่จะมีการได้ยิน หรือมีการเห็น ตรงนี้ เราก็ไม่ต้องนับ ไม่ต้องพูดอะไรทั้งนั้น แต่รู้ความจริงว่า ที่เราคิดว่าไม่มีการเกิดดับ นี่มันไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ แล้วทุกอย่างเกิด ไม่ใช่ว่าไม่เกิด แล้วเกิดแล้วดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น โลกทั้งโลก หรือว่าแม้แต่ไม้ทั้งชิ้น หรืออะไรก็ตามแต่ที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะดับ เพราะเราไม่ได้ประจักษ์การเกิดขึ้นของรูปนั้น แต่ถ้ารูปนี้ไม่เกิด เราจะกระทบสัมผัสได้อย่างไร คิดดูสิ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567