ปกิณณกธรรม ตอนที่ 322


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๒๒

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๖


    ท่านอาจารย์ สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เรามองเป็นคน หรืออาจจะเห็นตัวเราเองตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเรา จากเพียงสิ่งที่ปรากฏ มีสิ่งใดปรากฏเหมือนเห็นขณะนี้ บ้างหรือเปล่า มิฉะนั้นก็ปนกันแล้ว ใช่ไหม ฝันกับตื่น แต่ที่ฝันกับตื่นต่างกัน เพราะว่าขณะตื่นมีสิ่งที่ปรากฏกระทบตาจริงๆ แล้วคิด แล้วแต่ว่าจะคิดถึงเรื่องอะไรก็ได้ คืนนี้จะฝันถึงห้องประชุมนี้ได้ไหม

    ผู้ฟัง ฝันได้ แต่จะฝันหรือเปล่าไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ แต่จะปรากฏเหมือนอย่างที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ คงไม่

    ท่านอาจารย์ ไม่ เพราะฉะนั้น แยกได้เลย สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างหนึ่ง ความคิดนึก และความทรงจำในสิ่งที่ปรากฏเป็นอีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่ปรากฏ แต่ว่าทรงจำไว้เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดมั่นคง เหมือนอย่างเวลาที่เราอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ก็จะมีสีดำสีขาว มีรูปภาพ อาจจะมีสีอื่นก็ได้ ถ้าเป็นภาพสีก็ได้ เราเห็นเป็นนายกรัฐมนตรี เห็นสีดำสีขาว เป็นนายกรัฐมนตรีได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ได้ เพราะอะไร จำไว้เท่านั้นเอง แต่ไม่มีนายกรัฐมนตรีอยู่ในกระดาษ ตัวจริงๆ ไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น เพียงสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ เราก็มีการเข้าใจในรูปร่างสัณฐาน แล้วทรงจำไว้มั่นคง ถึงโทรทัศน์ก็เหมือนกัน ไม่มีคนเลย แต่เราก็เรียกชื่อต่างๆ เป็นคนนั้น คนนี้ นิสัยอย่างนั้น นิสัยอย่างนี้ กำลังทำอย่างนั้น อย่างนี้ ก็เหมือนเดี๋ยวนี้ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเหมือนกันหมด คือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ว่าการคิดนึกทรงจำในสิ่งที่ปรากฏ แล้วแต่ว่าเราจะคิดนึกอะไร

    เรื่องของสิ่งที่ปรากฏขณะนี้ต้องปัญญารู้ชัด คือรู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรม ที่เพียงปรากฏทางตา ถ้ารู้ชัดจริงๆ สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาขณะนี้ดับ นี่คือรู้ชัด แต่ถ้ายังไม่รู้ชัด คือ ไม่เห็นดับสักที แล้วยังจำไว้ด้วยว่า เป็นคนนั้นคนนี้ ส่องกระจกก็ยิ่งมีเราเข้าไปในกระจก กระจก ๓ บานก็มีเรา ๓ คนอยู่ในกระจกนั้น ก็ยิ่งเป็นเรื่องราวซึ่งคิดนึกได้ต่างๆ นานาจากสิ่งที่ปรากฏทางตา เปรียบเทียบได้เวลาฝัน ไม่เห็น แต่ว่ามีเรื่องที่มาจากการเห็น อย่างวันนี้ ถ้าจะฝันถึงห้องนี้ คือมีเรื่องความทรงจำจากสิ่งที่เห็นตรงนี้ แล้วก็ไปนึกคิดมา ฉันใด ทางหู มีเสียงปรากฏ เป็นเรื่องราวอะไรหรือเปล่า เฉพาะเสียง เป็นสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่ทรงจำเสียงสูงต่ำเป็นภาษาต่างๆ ความคิดความเข้าใจเรื่องราวจากเสียงนั้นก็ไม่มี ฉันใด ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายก็เช่นเดียวกัน มี ๕ ทาง ทางกายจะรู้เฉพาะสิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ทางกายจะรู้ท่าทางได้ไหม

    ผู้ฟัง ทางกายจะรู้ท่าทางได้ไหม ก็คงไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ นี่คือรู้ชัด เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะปรากฏให้รู้ชัด ต้องมีลักษณะที่ปรากฏจริงๆ ทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง สำหรับทางใจ จิตคิดนึก มีแน่นอน เห็นนิดเดียว คิดเรื่องยาว ได้ยินนิดเดียว ก็คิดเรื่องยาวอีก ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ก็ยังคิดเรื่องยาวมาก คนนั้นเป็นอย่างไร พูดว่าอย่างไร ทำอะไร พรุ่งนี้ก็ยาวไปจนถึงปีหน้าก็ได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของความคิดที่ต้องรู้ว่า เรื่องใดๆ ที่มีเพราะจิตคิด เพียงจิตไม่คิดถึงเรื่องนั้น เรื่องนั้นไม่มี ไม่มีแน่นอน ขณะนี้ ถ้าไม่คิดถึงเรื่องใด เรื่องนั้นก็ไม่มี เพราะฉะนั้น การรู้ชัด คือรู้ว่าขณะที่คิดก็เป็นสภาพธรรมที่คิด เพราะฉะนั้น เราอยู่ที่ไหน สิ่งที่ปรากฏทางตาก็แค่ปรากฏทางตา แล้วก็ดับ เสียงที่ปรากฏทางหู ก็ปรากฏแล้วก็ดับ ทางจมูก กลิ่นปรากฏแล้วก็ดับ รสปรากฏทางลิ้นแล้วก็ดับ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ที่ปรากฏทางกายแล้วก็ดับ นี่คือลักษณะที่มีจริงๆ จิตคิดนึกก็เกิดแล้วก็ดับ ถ้ารู้ความจริงอย่างนี้ ชื่อว่ารู้ชัดไหม แล้วมีเราที่ไหน อยู่เฉพาะในความทรงจำซึ่งต้องค่อยๆ คลายจนกว่าจะดับหมด แล้วก็รู้ว่า ความจริงก็คือสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดดับเท่านั้นเอง จึงจะเป็นการรู้ชัดได้

    ผู้ฟัง ถ้าผมตั้งสมมติฐานว่าใน มหาสติปัฏฐาน อิริยาบถบรรพ บอกว่าเจตนารมณ์ก็เพื่อให้เราถอนความเป็นตัวเป็นตนออก ไม่ให้รู้ว่าเราเดิน ไม่ให้รู้ว่าเรานั่ง ในคำอธิบายของสติปัฏฐาน หรืออิริยาบถบอกว่า ไม่ใช่เราเดิน ไม่ใช่เรานั่ง เป็นแต่เพียงการทำงานของจิต แล้วทำให้เกิดวาโยธาตุ ทำไอ้โน่นไอ้นี่มันก็เลยเดิน มันก็เลยนั่ง ก็เลยนอน มันก็ถอนความเป็นตัวเป็นตนออกไปบ้างแล้ว วัตถุประสงค์ของการถอดถอนอย่างนี้ แทนที่จะไปดูเรื่องความแข็ง อ่อน หรืออะไรอย่างนั้น จะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ที่รู้อย่างนั้น ใครรู้

    ผู้ฟัง คนที่เจริญสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ทวารไหน ทางไหน ถ้ารู้จริงต้องมีทาง ที่สิ่งนั้นจะปรากฏลักษณะ ปรากฏลักษณะที่เป็นสิ่งนั้น ปัจจัตตลักษณะ แล้วก็เกิดดับด้วย ถึงจะชื่อว่ารู้จริง

    ผู้ฟัง อาจารย์คิดว่าไม่มีทางเลย

    ท่านอาจารย์ อย่างนี้ก็เพียงรู้ แค่คิดแล้วไม่รู้ลักษณะของคิดด้วยว่า แท้ที่จริงก็ไม่มีสัตว์บุคคลเลย ก็เป็นสภาพธรรมที่คิดแล้วก็ดับ เวลานี้ก็ไม่ได้คิดเรื่องนั้นแล้ว ดับไปแล้ว

    ผู้ฟัง ขอบคุณ

    นิภัทร. เข้าใจดีขึ้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ก็ได้บ้าง แต่คงต้องอีกนาน

    นิภัทร. ในท้ายของแต่ละบรรพของสติปัฏฐาน รู้ว่ากายมีอยู่ ก็เป็นแต่เพียงสักแต่ว่ารู้ เป็นแต่เพียงให้สติระลึกอาศัย เป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่น ตัณหา และทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ความถือผิด ความหลงผิด ความยึดมั่นผิด ตอนท้ายของสติปัฏฐานทุกอันท่านจะสรุปหมดเลย สรุปเพื่อจะให้เรารู้ว่า ที่ท่านพูดมาทั้งหมด ความมุ่งประสงค์มีอย่างนี้ ไปอ่านดูให้ดี ตอนท้ายๆ ของแต่ละบรรพ

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังมีกายทั้งตัวที่กำลังนั่ง หรือกำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน จะไม่เป็นเราหรือ จะไม่เป็นเราได้หรือ ในเมื่อก็ยังคงเป็นตัวทั้งตัว ตั้งแต่เกิดมาก็เป็นตัวนี้ ก็ยังคงเป็นเราอยู่นั่นเอง จนกว่าจะแตกย่อยด้วยปัญญาที่รู้ความจริงว่า ไม่มีอะไรเลย แต่ละอย่างก็เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทางเท่านั้น จึงจะค่อยๆ คลายความเป็นเรา จากสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรามา ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว แต่ว่านานมาก ที่ผ่านมาแล้วด้วย

    ผู้ฟัง รูปขันธ์ หมายถึงอะไร รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ แต่หนูไม่รู้จักลักษณะของเขาจริงๆ จำชื่อได้

    นิภัทร. รูปขันธ์ แปลตามตัว แปลว่ากองแห่งรูป คือว่ามันมีหลายอย่าง มีรูปหลายอย่าง รูปในอดีต รปในอนาคต รูปปัจจุบัน รูปไกล รูปใกล้ รูปละเอียด รูปหยาบ รูป ๑๑ อย่าง แต่ละอย่างๆ ท่านแจกในขันธ์แต่ละขันธ์ ท่านแจกเป็นแต่ละขันธ์ ๑๑ อย่าง อนาคต อดีต อนาคต ปัจจุบัน อัชฌัตติกะ รูปภายใน พาหิระ รูปภายนอก โอฬาริกัง รูปหยาบ สุขุมัง รูปละเอียด ทูเรรูป รูปเลว ปณีตัง รูปประณีต รูปไกล รูปใกล้ แต่ที่จริงในรูป ๒๘ รูป มีรูปที่เห็นได้ด้วยตารูปเดียวเท่านั้นเอง นอกนั้นไม่ได้เห็นด้วยตา คือ วัณณะรูปหรือรูปารมณ์เท่านั้นเองที่เห็นได้ด้วยตา แต่เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดีเย็น ร้อน อ่อน แข็งก็ดี ตึงไหว ก็ดีพวกนี้ ไม่ได้เห็นได้ด้วยตา ก็เป็นรูปทั้งนั้น

    ผู้ฟัง แต่ก็เป็นรูปขันธ์ด้วย ใช่ไหม หนูขออนุญาตถามอีกว่า จิต อารมณ์ แล้วก็เจตสิก อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร

    นิภัทร จิตก็สภาพที่รู้อารมณ์

    ผู้ฟัง อารมณ์กับเจตสิกนี้แตกต่างกันอย่างไร

    นิภัทร เจตสิก สภาพธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต เกิดกับจิต พร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกันกับจิต จิตรู้อารมณ์อะไร เจตสิกก็รู้อารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง อันนี้เข้าใจ แต่ว่าเจตสิกกับอารมณ์อย่างนี้ อะไรที่เป็นอารมณ์ หรือว่าเจตสิก

    นิภัทร เป็นได้ทั้งนั้น จิตก็เป็นอารมณ์ของจิตได้ เจตสิกก็เป็นอารมณ์ของจิตได้

    ผู้ฟัง อย่างคำว่า มัจฉริยะก็เป็นเจตสิก ใช่ไหม

    นิภัทร เป็นเจตสิกก็เป็นอารมณ์ของจิตได้ แต่ไม่ใช่จิตดวงนั้น จิตมันเกิดดับอยู่ตลอด อย่างสมมติว่า มัจฉริยะเกิด มีจิตอีกดวงที่รู้มัจฉริยะได้ มัจฉริยะเป็นอารมณ์ของจิตได้

    ผู้ฟัง มานะ ทิฏฐิ หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มานะก็เป็นความสำคัญตน

    ผู้ฟัง ยกตัวอย่างให้หนูฟังด้วย

    ท่านอาจารย์ เราเก่งไหม หรือว่าเราไม่เก่ง

    ผู้ฟัง ไม่เก่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่เก่งก็เป็นมานะ เก่งก็เป็นมานะ ไม่เก่งก็เป็นมานะ ความสำคัญตน หรือความสำคัญว่า มีเรา แล้วก็เราทั้งๆ ที่ไม่เก่งก็เป็นเราที่สำคัญตนอีกว่า เราไม่เก่ง คนอื่นเก่ง จริงๆ แล้วธรรมก็เป็นเรื่องที่ละเอียด ก็ขอสนทนาเพิ่มเติม เช่น ขันธ์ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ธรรมมี ๒ อย่าง

    ผู้ฟัง รูปธรรมกับนามธรรม

    ท่านอาจารย์ รูปธรรมกับนามธรรม ได้ยินคำว่า รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ขันธ์ใดเป็นรูป

    ผู้ฟัง รูปขันธ์

    ท่านอาจารย์ รูปขันธ์ ขันธ์ใดเป็นนาม

    ผู้ฟัง ก็มี นามขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดมี ๕ ขันธ์

    ผู้ฟัง ๕ ขันธ์ แล้วรูปขันธ์อีกขันธ์ ๑

    ท่านอาจารย์ รูปขันธ์ ๑ เป็นรูป แล้วที่เหลืออีกเป็นนาม เพราะฉะนั้น เป็นรูปขันธ์ ๑ เป็นนามขันธ์ ๔ นามขันธ์ ๔ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง นามขันธ์ ๔ มี นามขันธ์๑ เวทนาขันธ์ ๑ สัญญาขันธ์ ๑ สังขารขันธ์ ๑ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขันธ์ ๕ คือรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ต้องเป็นนามธรรมกับรูปธรรม เพราะว่าเป็นธรรมที่มีจริง รูปเป็นขันธ์ อะไร

    ผู้ฟัง รูปเป็นรูปขันธ์ ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ รูปทุกรูป หรือเปล่า หรือเฉพาะบางรูปที่เป็นรูปขันธ์

    ผู้ฟัง ทุกรูป

    ท่านอาจารย์ ทุกรูป เสียงเป็นรูปขันธ์ หรือเปล่า กลิ่น ทุกรูปไม่เว้นเลย นามขันธ์ ๔ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง นามหรือ นามก็มี วิญญาณขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เวทนาขันธ์ ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ นามขันธ์มี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก ขันธ์อะไรเป็นจิต ขันธ์อะไรเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง ขันธ์อะไรเป็นจิต ก็เป็นนามขันธ์

    ท่านอาจารย์ นามขันธ์ทั้งหมดเป็นจิต เจตสิก ๔ อย่าง เพราะฉะนั้น นามขันธ์ ๔ นามขันธ์ใดเป็นจิต นามขันธ์ใดเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง นามขันธ์ใดเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าพูดเรื่องอะไรไม่อยากให้เพียงผ่าน ไม่ได้เข้าใจจริงๆ แล้วก็ไปเพียงแต่จำไว้ แต่อยากจะให้พูดแล้วพูดเลย คือเข้าใจไปจริงๆ เลยว่าคืออะไร จะได้ไม่ต้องสงสัยลังเลอีกต่อไป อย่างขันธ์มี ๕ เป็นรูปขันธ์ ๑ เป็นนามขันธ์ ๔ นามขันธ์ คือ จิต และเจตสิก เพราะฉะนั้น นามขันธ์ ๔ ก็ได้แก่จิต และเจตสิกนั่นเอง แต่ว่าถามต่อไปว่าในนามขันธ์ ๔ นามขันธ์ใดเป็นจิต นามขันธ์ใดเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง นามขันธ์ใดเป็นจิต วิญญาณขันธ์เป็นจิต เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เป็นเจตสิก คำถามต่อไปหนูอยากทราบว่าธาตุ ๑๘ มีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ก่อนจะตอบขอถามก่อนได้ไหม เมื่อกี้นี้พูดคำว่า อารมณ์ หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง อารมณ์หมายถึงว่า จิตที่รู้อารมณ์ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ถามถึงจิต ถามว่า อารมณ์คืออะไร

    ผู้ฟัง อารมณ์ ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบแล้วจะไปพูดเรื่องธาตุ ต้องทราบก่อนตั้งแต่ต้น คือ จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่จิตรู้ นี่แน่นอนคู่กัน เพราะฉะนั้น สิ่งใดที่จิตรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต ที่กำลังรู้สิ่งนั้น เสียงในป่าที่ไม่มีใครได้ยิน ยังคงเป็นเสียง ใช่ไหม เกิดขึ้นเพราะการกระทบกันของๆ แข็ง แต่ว่าเสียงในป่าที่ไม่มีใครได้ยินเป็นอารมณ์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตได้ยิน เสียงนั้นจะเป็นอารมณ์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น อารมณ์หมายความถึงสภาพธรรมใดก็ตาม หรือแม้ไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริง จิตรู้สิ่งใด สิ่งที่ถูกจิตรู้ เป็นอารมณ์ ขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ของจิตได้ไหม

    ผู้ฟัง ขันธ์เป็นอารมณ์ของจิตได้ไหม ได้

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ทุกอย่าง ทุกอย่างจริงๆ จิตรู้สิ่งที่มีจริง กำลังเห็น มีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ ทางตา จิตก็เห็น เสียงมีจริง จิตได้ยินเสียงก็ได้ กลิ่นทุกกลิ่น รสทุกรส ลักษณะที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว อาการต่างๆ จิตก็สามารถที่จะรู้ได้ แม้เรื่องราวต่างๆ ที่ไม่มีเลย จิตก็คิดปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว เป็นความวิจิตรมาก จิตก็รู้ได้ แม้นิพพาน ซึ่งขณะนี้ไม่ปรากฏ เพราะมีจิตเห็น นิพพานจะปรากฏไม่ได้ นิพพานก็จะปรากฏเฉพาะกับปัญญา ที่ได้อบรมถึงขั้นที่ประจักษ์แจ้ง การเกิดดับของสภาพธรรม มีการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา เพราะเหตุว่าเป็นธรรม ปัญญานั้นก็จะต้องเจริญขึ้นจนกว่าจะรู้แจ้ง ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน ซึ่งจิตก็สามารถจะประจักษ์แจ้งได้ เมื่อปัญญาระดับนั้นเกิด

    เวลาที่ได้ยินคำไหนต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า อารมณ์ คืออะไรก็ได้ทั้งหมดที่จิตรู้ เป็นจิตก็ได้ เป็นเจตสิกก็ได้ เป็นนิพพานก็ได้ เป็นรูปก็ได้ เป็นบัญญัติเรื่องราวต่างๆ ก็ได้ จิตรู้รูปขันธ์ได้ไหม

    ผู้ฟัง จิตรู้รูปขันธ์ ได้

    ท่านอาจารย์ เวทนา ความรู้สึก เป็นอารมณ์ของจิตได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของจิตได้ ตอนนี้ก็ไม่มีข้อสงสัยแล้ว ใช่ไหม ในเรื่องจิต ในเรื่องอารมณ์

    ผู้ฟัง อกุศลจิต ๑๒ ดวง หนูเคยได้ยินทางวิทยุ มีโลภะ ๘ แล้วก็มีโทสะ ๒ ดวง แล้วก็โมหะ ๒ ดวง คำว่าดวงนี้หมายถึงอะไร

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับไหม

    ผู้ฟัง ดับ

    ท่านอาจารย์ ขณะหนึ่งจะเรียกว่า ดวง ๑ ก็ได้ อย่างเก้าอี้เราเรียกว่าอะไร ดวงหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เก้าอี้เรียกอะไร

    ผู้ฟัง เรียกเก้าอี้

    ท่านอาจารย์ เก้าอี้ไม่ได้มีตัวเดียวมีหลายตัว เรียกเก้าอี้เป็นตัว ใช่ไหม เรียกจิตแต่ละขณะว่าดวงก็ได้ แล้วก็หมายความถึงประเภทของจิตก็ได้ เพราะว่าจิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลาทุกๆ ขณะ จะใช้คำว่าทีละ ๑ ขณะ หรือทีละ ๑ ดวงก็ได้ แต่ถ้ากล่าวว่าจิตที่เกิดเป็นอะไร เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล นั่นก็เป็นประเภทของจิตที่เกิด ใช้คำว่าดวงหมายความถึงประเภทก็ได้ เช่น อกุศลจิตทั้งหมด มี ๑๒ ดวง คือ ๑๒ ประเภท เป็นโลภะ ๘ เป็นโทสะ ๒ เป็นโมหะ ๒

    ผู้ฟัง หนูไม่เข้าใจตรงที่คำว่า โมหะ และโทสะ

    ท่านอาจารย์ โทสะ รู้จักไหม เป็นจิตหรือเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ถ้าเกิดกับจิต จิตนั้นชื่อว่า โทสมูลจิต โทสเจตสิกจะเกิดร่วมกับโลภ เจตสิกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ โทสเจตสิกเกิดร่วมกับโมหเจตสิกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ โมหะเป็นเจตสิกซึ่งไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เกิดกับอกุศลจิตทุกประเภท ไม่เว้นเลย โมหเจตสิกเกิดร่วมกับกุศลเจตสิกได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น การเรียนไม่ใช่การจำชื่อ แต่เป็นความเข้าใจ

    สมพร. เราจำไว้ย่อๆ นะ ในกายานุปัสสนา กาย ท่านหมายถึงรูปกาย แต่ที่เราเรียนบางแห่ง กายหมายถึงนามกายก็มี กายหมายถึงนามกาย คือ เจตสิก ๓ อย่าง ๓ พวกเวทนา สัญญา สังขาร เป็นกายเหมือนกัน แต่จะพูดให้เต็มแล้วเรียกว่า นามกาย แต่ในที่นี้เรียกว่ารูปกาย คือกายเป็นรูป ไม่ใช่เป็นอย่างนาม นามก็คือเจตสิก เรียกว่ากายานุปัสสนา มีปกติพิจารณาเห็นกายในกาย เมื่อเราพิจารณาเห็นกายในกาย เห็นรูปนั่นเอง พิจารณาอย่างนี้บ่อยๆ ก็เป็นเหตุให้ละสัตตูปลัทธิ หรือความเห็นผิดว่า บังคับบัญชาได้ ความเห็นผิดนะ การบังคับบัญชาได้เป็นการเห็นผิด แท้จริงทุกอย่างบังคับบัญชาไม่ได้ เกิดเพราะปัจจัย

    อย่าลืมคำหนึ่งที่พระอัสสชิกล่าวกับอุปติสสะว่า เย ธัมมา เหตุปัพพวา ธรรมทั้งหลายมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสเหตุแห่งธรรม เหล่านั้น

    พระพุทธศาสนามีโดยย่อแค่นี้ เพราะฉะนั้น เมื่อฟังแค่นี้แล้วก็บรรลุมรรคผลได้ เราก็ฟังแล้วฟังอีก ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลได้ เพราะเราไม่ได้เป็นอัครสาวก เรามีปัญญาน้อย ต้องฟังอธิบายความหมายของพระพุทธพจน์ อธิบายแล้วอธิบายอีก ฟังซ้ำๆ ซากๆ จนกระทั่งเรียกว่า สนทนาธรรมเกิดขึ้น ทำให้ปัญญาเกิดขึ้น เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้ว เราก็รู้ตามความเป็นจริงว่า เราจริงๆ มันไม่มีเลย มีแต่ขันธ์ ๕ เมื่อเราไม่มีแล้ว สิ่งที่มีคืออะไร คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ หรือธาตุ ๑๘ ความเป็นรูปมีทั้งหมด ๒๘ แต่แท้จริงคนเราแค่ ๔ รูปก็รู้ไม่ไหว ดิน น้ำ ไฟ ลม ทุกคนมีรูปเพียง ๔ รูป แต่ยึดว่าเราตลอดเวลา แท้จริงไม่ใช่เรา ตัวทั้งตัวเป็นมหาภูตรูป หรือ ภู-ตะ-รูป ภูต แปลว่าเป็นแล้ว มีแล้ว รูปที่มีแล้ว เกิดจากกรรม เราพยายามศึกษาเรื่องขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นของยากจริงๆ

    ผู้ฟัง ตรงนี้มีคำถามจากผู้ร่วมสนทนาฝากมา สืบเนื่องจากที่ท่านอาจารย์ได้เคยบรรยายไว้ ให้สงเคราะห์ผู้อยู่ใกล้ก่อนคนไกลตัว คำถามคือว่า ควรสงเคราะห์ให้เงินแก่ผู้ที่อยู่ใกล้ ญาติพี่น้อง ที่มีฐานะเท่าๆ กันแต่เขาไม่ประหยัด หรือควรให้ผู้ที่เดือดร้อนขัดสนจริงๆ ก่อน

    ท่านอาจารย์ โดยมากพยายามหากฏเกณฑ์ พยายามมีรูปแบบ จะทำอย่างไร แต่แล้วแต่เหตุปัจจัยที่กุศลจิตเกิดเมื่อไร ที่จะให้ก็ให้เลย ที่สมควรไม่ใช่ให้โดยไร้ประโยชน์

    ผู้ฟัง ขอให้อธิบาย สติ กับ สัมปชัญญะ ทั้งทางโลก และทางธรรม

    อดิศักดิ์. สติก็เป็นเจตสิก สัมปชัญญะก็เป็นเจตสิก นี่ตอบตามธรรม ทั้ง ๒ ดวงก็เป็นเจตสิกทั้งคู่ ถ้าเผื่อว่าทางธรรมแล้วต้องเป็นการระลึกได้ที่เป็นกุศลเท่านั้น นึกได้ทางโลกๆ ที่เป็นอกุศล เขาก็บอกว่าเป็นสติ อะไรๆ หรือว่าสติ เดินแล้วไม่หกล้ม เดินแล้วไม่โดนรถชน นั่นสติชาวบ้าน

    สมพร. สติสัมปชัญญะ เวลาจะเกิดก็ต้องอาศัยจิต ถ้าไม่มีจิตก็เกิดไม่ได้ สติสัมปชัญญะ เหมือนอสัญญสัตตาพรหม มีแต่รูปอย่างเดียว

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567